ประเด็นสำคัญ
- พรรคการเมืองไทยพึ่งพารายได้มาจากผู้บริจากรายใหญ่เป็นหลัก ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน และทำให้พรรคการเมืองเสี่ยงต่อการถูกครอบงำโดยนายทุน
- ควรเพิ่มรายได้ที่ภาครัฐอุดหนุนให้พรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองมีแหล่งรายได้ที่มั่นคง ไม่ต้องพึ่งเงินจากรายใหญ่มากเกินไป
- เมื่อเพิ่มรายได้จากภาครัฐแล้ว ควรมีมาตรการลดการสนับสนุนจากผู้บริจาครายใหญ่ และส่งเสริมให้ผู้บริจาครายย่อยบริจาคเพิ่ม
ที่ผ่านมาภาครัฐมักถูกตั้งคำถามว่าดำเนินนโยบายและบริหารประเทศในทิศทางที่มีแนวโน้ม “เอื้อนายทุน” ตัวอย่างเช่น นโยบายค่าไฟ[1]อ่านเพิ่มเติมได้ใน https://www.infoquest.co.th/2023/276182 การรีบประมูลธุรกิจปลอดภาษีอากร การจัดการบริหาร EEC[2]อ่านเพิ่มเติมได้ใน https://workpointtoday.com/ffp-37/ การปล่อยให้เกิดการควบรวมธุรกิจเจ้าใหญ่[3]อ่านเพิ่มเติมได้ใน https://themomentum.co/report-political-make-poor-people/ ฯลฯ
นโยบายเหล่านี้นำมาสู่ความสงสัยถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างนายทุนและนักการเมืองในประเทศไทย กลุ่มทุนภาคธุรกิจจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของภาครัฐมากแค่ไหน? ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกลุ่มทุนกับการเมืองจะส่งผลให้เกิดปัญหาประโยชน์ต่างตอบแทนในการผลักดันนโยบายหรือกระบวนการจัดหาผู้รับสัมปทานหรือไม่
101 PUB จึงขอชวนทุกท่านสำรวจสถานการณ์ที่มารายได้พรรคการเมือง ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญหนึ่งที่เปิดให้เหล่า ‘ผู้สนับสนุนรายใหญ่’ สามารถเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองได้ พร้อมกับหาแนวทางที่จะทำให้พรรคการเมืองมีรายได้ที่ยึดโยงกับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่พึ่งพาเฉพาะเงินจากคนรวยเท่านั้น เพื่อทำให้ ‘ประชาชน’ เป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงในการกำหนดทิศทางของพรรคการเมือง
จะทำพรรคการเมืองได้ต้องมีเงิน
พรรคการเมืองคือองค์กรที่รวมบุคคลที่มีอุดมการณ์และเป้าหมายคล้ายคลึงกัน เพื่อทำหน้าที่หลักสามประการคือ 1) จัดทำนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของประชาชน 2) คัดสรรตัวแทนทางการเมือง 3) กำหนดทิศทางของภาครัฐ[4]สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2565). พรรคการเมืองกับประชาธิปไตย: ทฤษฎี ความคาดหวัง และความเป็นจริง. ใน วุฒิสาร ตันชัย, ธีรพรรณ ใจมั่น, และ สติธร ธนานิธิโชติ, … Continue reading
การที่พรรคการเมืองจะสามารถทำหน้าที่เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพพรรคต้องมี ‘ทุน’ เพื่อนำไปสร้างความเข้มแข็งให้องค์กร ทั้งจ้างบุคลากร ลงทุนสำนักงาน สร้างเครือข่าย จัดหาสมาชิก อย่างน้อยตามที่กฎหมายกำหนด[5]มาตรา 33 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 5,000-10,000 คนตามระยะเวลาทำการของพรรค และต้องจัดตั้งสาขาพรรคให้ครอบใน 4 … Continue reading ยิ่งไปกว่านั้น แต่ละพรรคต้องมีทุนเพื่อใช้แข่งขันหาเสียงให้ได้รับเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในสภาและทำเนียบรัฐบาลด้วย พรรคการเมืองแต่ละพรรคจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องแสวงหาทุนให้เพียงพอสำหรับการทำภารกิจเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม แหล่งทุนที่พรรคหามาได้นั้นย่อมมีผลต่อทิศทางการทำงานของพรรค กล่าวคือหากพรรคมีรายได้ที่ยึดโยงกับประชาชนคนหมู่มาก พรรคจะพยายามทำหน้าที่สอดคล้องกับความคาดหวังของประชาชน สามารถผลักดันนโยบายที่ให้ประโยชน์ต่อคนหมู่มากได้โดยไม่ทำให้พรรคขาดแคลนทรัพยากรในการทำพรรค แม้อาจขัดผลประโยชน์คนบางกลุ่มก็ตาม แต่หากพรรคมีรายได้มาจากนายทุนไม่กี่ราย พรรคอาจตัดสินใจเอนเอียงไปตามความคาดหวังของนายทุนพรรค ไม่กล้าที่จะผลักดันนโยบายที่ขัดผลประโยชน์ต่อผู้สนับสนุนของพรรคได้ ถึงแม้ว่านโยบายนั้นจะให้ผลประโยชน์ต่อคนหมู่มาก เนื่องจากกังวลว่าพรรคจะขาดเงินทุนไปใช้บริหารพรรค
พรรคการเมืองไทยพึ่งพาเงินบริจาครายใหญ่เป็นหลัก
เมื่อเปิดดูรายได้ของพรรคการเมืองไทย 10 พรรคที่มีที่นั่งในสภาสูงที่สุด[6]โดยใช้ข้อมูลรายได้พรรคการเมือง 10 พรรคที่ได้ที่นั่งในสภามากที่สุดปี 2565 ที่เปิดเผยในเว็บ กกต. https://www.ect.go.th/ect_th/th/financial-statements-of-political-parties/ … Continue reading ซึ่งมีจำนวนเงินรวมกัน 693 ล้านบาท พบว่า เงินบริจาครายใหญ่ (บริจาคตั้งแต่ 1 ล้านเป็นต้นไป) เป็นรายได้ก้อนสำคัญที่สุด คิดเป็นสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่เงินที่มาจากประชาชนรายย่อยทั้งเงินบริจาค และเงินค่าสมาชิก (เงินบำรุงพรรค) รวมกันคิดเป็นเพียงร้อยละ 19.7 ของรายได้ของพรรคเท่านั้น ตามมาด้วยเงินระดมทุน เช่น การขายสินค้าที่ระลึกพรรค จัดเลี้ยงโต๊ะจีน เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 17.1 ของรายได้พรรค และเงินสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น เงินบริจาคภาษี และเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งมีที่มาจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง คิดเป็นร้อยละ 9.2 ของรายได้
การพึ่งพาเงินรายใหญ่ในระดับที่สูงมากเช่นนี้นำมาสู่ปัญหาทางการเมืองที่สำคัญสองประการ คือ
1) พรรคที่ไม่มีทุนหนุนหลังจะแข่งขันได้ยาก เนื่องจากพรรคที่สามารถพึ่งพิงเงินจากรายใหญ่จะมีทรัพยากรมากกว่า สามารถจ้างบุคลากร จัดกิจกรรม ทำนโยบาย สร้างเครือข่าย ลงทุนโฆษณาหาเสียงได้มากกว่า และกลายเป็นรู้จักของประชาชนในวงกว้างมากกว่า ในขณะที่พรรคที่ไม่มีทุนหนุนหลังจะขาดแคลนทรัพยากร ทำให้ขาดศักยภาพในการแข่งขันหาเสียง และไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนวงกว้าง จึงไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนมากนัก ถึงแม้ว่ามีอุดมการณ์และนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนจำนวนมาก
2) พรรคการเมืองที่พึ่งทุนหนุนหลังเสี่ยงต่อการถูกครอบงำ เนื่องจากพรรคต้องพึ่งพาเงินบริจาคจากรายใหญ่เพื่อให้สามารถแข่งขันกับพรรคอื่นได้ ผู้ให้ทุนรายใหญ่จึงมีอำนาจต่อรองให้พรรคการเมืองดำเนินการตามที่ตนต้องการได้ เช่น การผลักดันนโยบายที่ตนต้องการ และการกำหนดตัวผู้แทนที่พรรคจะส่งลงเลือกตั้ง เป็นต้น
พรรคการเมืองที่พึ่งพาเงินจากรายใหญ่เกินกว่า 80% ของรายได้ ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคไทยสร้างไทย ในขณะที่พรรคประชาชาติและพรรคก้าวไกล พึ่งพาเงินจากรายใหญ่ในสัดส่วนที่น้อยกว่า 20% ของรายได้พรรค[7]สามารถดูข้อมูลสรุปรายได้รายพรรคที่รวบรวมจากที่เว็บไซต์ กกต. เปิดเผยได้จาก https://docs.google.com/spreadsheets/d/1ezEjEwcMhWrtIJ-qRCa68w6dLDPiUcKherFGxu2tmpE/edit?gid=0#gid=0
สถานการณ์ที่พรรคต่างๆ พึ่งพารายได้จากรายใหญ่จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ปิดไม่ให้ประชาชนทั่วไปที่มีรายได้ไม่มากนักเข้ามามีบทบาททางการเมือง เนื่องจากตั้งพรรคไปก็แข่งขันได้ยาก จะลงสมัครในนามพรรคใหญ่ก็มีโอกาสน้อยที่จะถูกรับเลือกให้เป็นตัวแทน
ทุกพรรคต่างมีผู้อุปถัมภ์รายใหญ่
สถานการณ์ที่พรรคการเมืองต้องพึ่งพานายทุนเกิดขึ้นชัดเจนในช่วงใกล้เลือกตั้ง เนื่องจากเป็นช่วงที่ทุกพรรคต่างแสวงหาทรัพยากรไปใช้แข่งขันกับพรรคอื่น หากพรรคไหนสามารถระดมทุนจากกลุ่มทุนได้มากที่สุดพรรคนั้นจะมีแต้มต่อในการแข่งขัน และมีโอกาสที่จะได้ที่นั่งในสภาจำนวนมาก
ในช่วงใกล้เลือกตั้ง พรรคที่มีอำนาจต่อรองสูงต่างพึ่งพารายได้การบริจาคจากรายใหญ่ โดยหากดูรายได้จากการรับบริจาคของพรรคการเมือง 6 พรรคที่มี สส. มากที่สุดในช่วงก่อนเลือกตั้ง[8]คำนวณจากข้อมูลผู้บริจาคเงินตั้งแต่ 5,000 บาทเป็นต้นไปในช่วง มกราคม 2565 จนถึง พฤษภาคม 2566 (+เพราะอะไรถึงต้องเป็นช่วงนี้?) … Continue reading จะพบว่า 3 ใน 4 ของเงินบริจาคทั้งหมดมาจากผู้บริจาครายใหญ่ที่บริจาคตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้อย่างพรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐมีรายได้บริจาคมาจากรายใหญ่เกือบทั้งหมด เมื่อดูข้อมูลให้ลึกลงไปจะพบว่าแต่ละพรรคจะมีผู้บริจาครายใหญ่ที่โดดเด่น (บริจาคเกิน 5 ล้านบาท) ขึ้นไปประมาณ 2-5 ราย ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าผู้บริจาครายใหญ่โดดเด่นเหล่านี้คือผู้อุปถัมภ์หลักของพรรคการเมืองในช่วงใกล้เลือกตั้ง เช่น
– พรรคก้าวไกล เพื่อไทย และรวมไทยสร้างชาติ มีผู้บริจาครายใหญ่ที่โดดเด่น คือคนในพรรคเอง[9]ผู้บริจาครายใหญ่โดดเด่นที่เป็นคนในพรรคของพรรคก้าวไกลได้แก่ คุณอนันต์ ชัยสุริยเทพกุล (5.5 ล้านบาท) คุณพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ (5.4 ล้านบาท) … Continue reading
– พรรคภูมิใจไทยมีผู้บริจาคใหญ่ที่โดดเด่น เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง[10]ผู้บริจาครายใหญ่โดดเด่นที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างของพรรคภูมิใจไทยได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด น้ำก่ำก่อสร้าง (10 ล้านบาท) บริษัท … Continue reading
– พรรคพลังประชารัฐมีผู้บริจาคใหญ่ที่โดดเด่น เป็นบริษัทเปลือก (บริษัทที่มีรายได้ไม่สอดคล้องกับขนาดกิจการ) [11]ผู้บริจาครายใหญ่โดดเด่นของพรรคพลังประชารัฐที่เป็นบริษัทที่มีรายได้ไม่สอดคล้องกับทุนจดทะเบียนในช่วงก่อนการบริจาคได้แก่ บริษัท พาร์คเลน … Continue reading
– พรรคประชาธิปัตย์มีผู้บริจาคใหญ่ที่โดดเด่น เป็นกลุ่มนักธุรกิจหลากหลายอุตสาหกรรม[12]ผู้บริจาครายใหญ่โดดเด่นของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นนักธุรกิจได้แก่ คุณจีระศักดิ์ โกมุทกุล (10 ล้านบาท) คุณโชติ โสภณพนิช (10 ล้านบาท) บริษัท … Continue reading
การที่กลุ่มคนรวยหรือกลุ่มธุรกิจบริจาคเงินให้พรรคการเมืองในจำนวนมากๆ ไม่เกินปีละ 10 ล้านบาท เป็นสิ่งที่ทำได้และไม่ผิดกฎหมายในปัจจุบัน แต่สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนว่าการมีทุนเป็นเครือข่ายหนุนหลังกลายเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้หากพรรคการเมืองต้องการมีที่ยืนที่มั่นคงในแวดวงการเมืองในปัจจุบัน
นอกจากเงินรายใหญ่ที่ถูกเปิดเผยในข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว ผู้ชำนาญการบางท่านยังชี้ว่าพรรคการเมืองไทยอาจมีรายได้จำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ถูกบันทึกอยู่ในบัญชี เนื่องจากผู้บริจาคนั้นต้องการบริจาคเงินที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงพยายามหาวิธีหลบเลี่ยง[13]อ่านเพิ่มเติมได้ที่ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว & ณัชชาภัทร อมรกุล. (2564). โครงการศึกษาและพัฒนาระบบการเงินของพรรคการเมือง. สถาบันพระปกเกล้า. น.57 ดังนั้นพรรคการเมืองบางพรรคจึงอาจมี ‘รายใหญ่ตัวจริง’ บริจาคให้พรรคการเมืองโดยไม่ได้ส่งข้อมูลทางการเงินให้กับทาง กกต.
นอกจากนั้นผู้ชำนาญการยังชี้อีกว่าหากจะลดการพึ่งพาทุนใหญ่ด้วยการแก้กฎหมายลดเพดานการบริจาคเพียงอย่างเดียวย่อมไม่ใช่แนวทางที่มีเป็นไปได้ในทางปฏิบัติจริง[14]เรื่องเดียวกันหน้าเดียวกัน เนื่องจากในปัจจุบันพรรคการเมืองยังมีรายได้ที่มาจากช่องทางอื่น (เช่น รายได้จากรายย่อย และรายได้จากภาครัฐ) ไม่เพียงพอสำหรับใช้ขับเคลื่อนบริหารงานพรรค ดังนั้นพรรคต่างๆ จึงหันไปรับบริจาคจากรายใหญ่ผ่านช่องทางลับเพื่อทำให้พรรคยังดำเนินการต่อไปได้แทน ยิ่งส่งผลให้การเงินพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยากมากขึ้น
โจทย์สำคัญในประเด็นรายได้พรรคการเมืองจึงเป็นประเด็นที่ว่า “ต้องทำให้พรรคการเมืองมีรายได้ทางเลือกที่หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทุนใหญ่เพียงอย่างเดียวเพื่อให้แข่งขันในทางการเมืองได้” ซึ่งการเพิ่มรายได้อุดหนุนจากภาครัฐเป็นแนวทางที่จะทำให้พรรคการเมืองมีรายได้ทางเลือกมากขึ้น อันจะส่งผลให้มาตรการลดเพดานการบริจาคเพื่อลดอิทธิพลของทุนใหญ่ในทางการเมืองสามารถทำได้จริง
เพิ่มรายได้รัฐ เพิ่มทางเลือกพรรคการเมือง
ในปัจจุบันพรรคการเมืองของไทยพึ่งพารายได้จากภาครัฐเพียงแค่ประมาณ 9% ของรายได้ทั้งหมดของพรรค จัดว่าได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐต่ำคล้ายกับประเทศอิตาลี (0%)[15]ข้อมูลจาก Reed, Q., Jouan Stonestreet, B., Devrim, D., Krieger, T., Kubekova, V., Blomeyer, R., & Heinemann, F. (2021). Financing of political structures in EU Member States. Policy Department for Budgetary Affairs, European Parliament. และ อินโดนีเซีย (7%)[16]คำนวณเบื้องต้นจากรายได้จากรัฐใน Najib, A. A. (2023). STRENGTHENING DEMOCRACY THROUGH RECONSTRUCTION OF POLITICAL PARTY FUNDING ARRANGEMENTS IN INDONESIA. Russian Law Journal, 413–421. น. 415 หารด้วยรายได้พรรคการเมืองใน Pratama, H. M., Kahfi Adlan, & Maharddhika. (2021). … Continue reading ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้ต่างเผชิญกับสถานการณ์ที่พรรคการเมืองต้องพึ่งพารายได้จากรายใหญ่คล้ายกับไทย โดยทั้งประเทศอิตาลี[17]อ่านเพิ่มเติมกรณีอิตาลีได้ใน Reed, Q., Jouan Stonestreet, B., Devrim, D., Krieger, T., Kubekova, V., Blomeyer, R., & Heinemann, F. (2021). Financing of political structures in EU Member States. Policy Department for Budgetary Affairs, European Parliament. น.26-28และอินโดนีเซีย[18]อ่านเพิ่มเติมกรณีอินโดนีเซียได้ Pratama, H. M., Kahfi Adlan, & Maharddhika. (2021). Political Party Finance in Indonesia: A Never Ending Reform. ใน Political Party Finance Reform in Southeast-Asia. the United States Agency for International Development (USAID). ได้รับรายได้จากภาครัฐและรายย่อยไม่เพียงพอ จึงต้องไปแสวงหาแหล่งรายได้ที่มันคงด้วยการพึ่งพาเงินบริจาคจากผู้สมัครที่มีทุนในพรรคเป็นหลัก ส่งผลให้พรรคการเมืองเสี่ยงที่จะถูกครอบงำโดยนักการเมือง (ผู้ให้ทุน) รายใหญ่ในพรรคเพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขัน ในขณะที่พรรคที่ไม่พึ่งพาเงินรายใหญ่ไม่เสี่ยงถูกครอบงำก็ขาดแคลนทรัพยากรจึงเสียเปรียบในการแข่งขัน
ในทางตรงข้าม การได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐมากเกินไปก็ส่งผลให้พรรคการเมืองกลายเป็นองค์กรที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนได้ เช่น ประเทศสเปน[19]อ่านเพิ่มเติมกรณีสเปน Pujas, V., & Rhodes, M. (1998). Party Finance and Political Scandal in Latin Europe [98/10]. European University Institute. น.6-14 (80%)[20]ข้อมูลจาก Reed, Q., Jouan Stonestreet, B., Devrim, D., Krieger, T., Kubekova, V., Blomeyer, R., & Heinemann, F. (2021). Financing of political structures in EU Member States. Policy Department for Budgetary Affairs, European Parliament. น.15-16 ในทศวรรษ 1990 โดยหากพรรคการเมืองมีแหล่งรายได้มาจากเงินสนับสนุนของภาครัฐเกือบทั้งหมด จะส่งผลให้พรรคจะปรับแนวทางการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เข้าเกณฑ์การอุดหนุนของภาครัฐเป็นหลัก เช่น หันไปให้ความสำคัญกับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นหลักเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินอุดหนุนจากภาครัฐในระดับสูง โดยที่พรรคละทิ้งแนวทางการทำหน้าที่เป็นตัวแทนเชิงอุดมการณ์ให้กับฐานเสียง รวมถึงไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบสมาชิกและสาขาพรรคเพื่อสร้างความยึดโยงกับประชาชน นอกจากนี้พรรคใหญ่ๆ ในสภาอาจจับมือกันผูกขาดอำนาจปรับเกณฑ์กติกาทางการเมืองเพื่อไม่ให้พรรคอื่นๆ ขึ้นมาแข่งขันได้[21]อ่านเพิ่มเติมใน สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2565). พรรคการเมืองกับประชาธิปไตย: ทฤษฎี ความคาดหวัง และความเป็นจริง. ใน วุฒิสาร ตันชัย, ธีรพรรณ ใจมั่น, & … Continue reading เช่น ปรับเกณฑ์การให้เงินจากภาครัฐให้กระจุกตัวที่พรรคใหญ่ที่ครองอำนาจ
กล่าวคือเมื่อเงินสนับสนุนจากภาครัฐกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่สุดของพรรคการเมือง จะส่งผลให้พรรคห่างเหินจากประชาชน ละทิ้งหน้าที่ตัวแทนเชิงอุดมการณ์ของประชาชน และกลายไปเป็นองค์กรแขนขาของภาครัฐแทน[22]ปรากฎการณ์นี้ถูกนิยามว่าเป็นการเกิดขึ้นของโมเดล พรรคการเมืองแบบผูกขาด (Cartel Party) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน Katz, R. S., & Mair, P. (1995). Changing Models of Party Organization and Party Democracy: The … Continue reading พรรคการเมืองจึงไม่ใช่สถาบันการเมืองที่สะท้อนความต้องการที่หลากหลายของประชาชนอีกต่อไป
โดยสรุป หากภาครัฐอุดหนุนเงินให้พรรคการเมืองต่ำไปพรรคการเมืองที่จะแข่งได้ต้องพึ่งนายทุนเสี่ยงเจอปัญหาครอบงำพรรคโดยนายทุน แต่หากสนับสนุนมากไปพรรคขนาดใหญ่จะหวังพึ่งแต่เงินภาครัฐและผูกขาดไม่ปล่อยให้พรรคคู่แข่งอื่นๆ เติบโตได้ ดังนั้นภาครัฐควรให้เงินอุดหนุนแก่พรรคการเมืองในระดับที่ “เพียงพอเป็นทางเลือก” ของพรรค ไม่มากจนทำให้พรรคการเมืองยึดโยงกับภาครัฐ และไม่น้อยจนทำให้พรรคยึดโยงกับนายทุน
ตัวอย่างของการอุดหนุนเงินอย่างเหมาะสมคือประเทศเยอรมนี ที่คิดเป็นร้อยละ 32 ของรายได้พรรคการเมือง ทั้งยังยึดโยงกับเสียงประชาชนและกระจายให้กับพรรคต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เยอรมนีมีหลักในการออกแบบกลไกสนับสนุนเงินของภาครัฐที่จะไม่ลดทอนแรงจูงใจในการหาเงินสนับสนุนจากประชาชน โดยจะให้เงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองตาม[23]อ่านเพิ่มเติมได้ใน Federal Ministry of the Interior and Community. (ม.ป.ป.). Funding of political partie. The Constitution. https://www.bmi.bund.de/EN/topics/constitution/funding-of-political-parties/funding-of-political-parties-node.html 1) คะแนนเสียงโหวตเลือกพรรคการเมือง (คะแนนละ 0.83 ยูโร) และ 2) เงินบริจาคของผู้บริจาครายย่อย (โดยสมทบเพิ่มให้อีก 45% ของเงินที่รายย่อยบริจาคให้พรรคในจำนวนที่ไม่เกิน 3,300 ยูโร เช่น หากมีผู้บริจาค 1,000 ยูโร ภาครัฐจะสมทบให้เพิ่ม 450 ยูโร) กลไกประเทศเยอรมันออกแบบมีผลทำให้พรรคการเมืองมีรายได้เพียงพอ พรรคยังยึดโยงกับประชาชน และไม่สร้างอุปสรรคกีดกันพรรคตั้งใหม่[24]อ่านเพิ่มเติมกรณีเยอรมันใน Reed, Q., Jouan Stonestreet, B., Devrim, D., Krieger, T., Kubekova, V., Blomeyer, R., & Heinemann, F. (2021). Financing of political structures in EU Member States. Policy Department for Budgetary Affairs, European Parliament. น.25-26
เมื่อกลับมาพิจารณาในกรณีของไทย ซึ่งปัจจุบันได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐน้อยเกินไปมาก พรรคการเมืองจึงควรมีรายได้จากรัฐเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงินจนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินจากรายใหญ่ แต่ยังคงต้องทำกิจกรรมแสวงหาแรงสนับสนุนจากประชาชนเพื่อให้มีรายได้ที่มากขึ้น โดยอาจกำหนดให้พรรคการเมืองมีรายได้ที่มาจากภาครัฐประมาณ 30-40% ของรายได้ ซึ่งจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศเยอรมนีที่พรรคการเมืองมีรายได้ที่มั่นคงแต่ก็ยังยึดโยงกับประชาชน ด้วยเป้าหมายดังกล่าว ภาครัฐควรเพิ่มเงินสนับสนุนให้พรรคการเมืองเป็นประมาณ 550-800 ล้านบาท จากเดิมที่เคยจัดสรรให้กับพรรคการเมือง ในปี 2567 เพียง 140 ล้านบาท[25]ข้อมูลจาก ณัฐพล สงวนทรัพย์. (2567). กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง กกต. เผยยอดเงินอุดหนุนให้แก่พรรคการเมือง ประจำปี 2567 พรรคก้าวไกล … Continue reading
ปรับกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองให้เหมาะสม
ในปัจจุบันภาครัฐอุดหนุนเงินให้พรรคการเมืองผ่านกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ซึ่งกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองจัดสรรเงินให้กับพรรคต่างๆ ผ่านสองกลไกคือ 1) กลไกบริจาคภาษี 55 ล้านบาท และ 2) การจัดสรรด้วยกลไกเกณฑ์ของกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง 85 ล้านบาท
การจะเพิ่มเงินสนับสนุนจากภาครัฐสามารถทำได้ผ่านการขยายเงินขาที่กองทุนพัฒนาพรรคการเมืองฯ จัดสรรให้พรรคการเมืองต่างๆ โดยเกณฑ์กองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ซึ่งเกณฑ์ในการจัดสรรได้แบ่งเงินที่ใช้จัดสรรออกเป็นสามส่วน ซึ่งในแต่ละส่วนนั้นเป็นการจัดสรรให้บนหลักการที่แตกต่างกัน คือ[26]มาตรา 83 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
1) แบ่งเงิน 40% จัดสรรให้แต่ละพรรคตามสัดส่วนคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ (คะแนนเลือกพรรค) และในกรณีปีที่ไม่ใช่ปีถัดจากการเลือกตั้งจัดสรรให้ตามสัดส่วนเงินบริจาคภาษี[27]กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง. (2567). คู่มือ … Continue reading เพื่ออุดหนุนให้พรรคการเมืองตามการสนับสนุนของประชาชน
2) แบ่งเงิน 40% จัดสรรให้แต่ละพรรคตามสัดส่วนรายได้ที่มาจากเงินบำรุงค่าสมาชิก เพื่ออุดหนุนให้พรรคการเมืองตามการสนับสนุนจากฐานเสียง
3) แบ่งเงิน 20% จัดสรรให้แต่ละพรรคตามสัดส่วนสาขาที่แต่ละพรรคมี เพื่อจูงใจให้พรรคการเมืองขยายองค์กรเชื่อมโยงประชาชนในระดับท้องถิ่น เกณฑ์การจัดสรรเงินของกองทุนฯ ถือว่าสอดคล้องกับความต้องการทางการเมืองของประชาชน และสอดคล้องกับการส่งเสริมให้พรรคเพิ่มจำนวนสมาชิกและสาขาพรรคการเมือง
ด้วยรูปแบบการจัดสรรที่เป็นอยู่ทำให้เงินอุดหนุนไม่ได้เกิดปัญหากระจุกตัวอยู่ที่พรรคใหญ่ ไม่มีปัญหาพรรคใหญ่ผูกขาดได้รับเงินอุดหนุนเหนือกว่าพรรคอื่นจนทำให้พรรคอื่นไม่สามารถแข่งขันได้ โดยจากข้อมูลพบว่า เงินจากกองทุนดังกล่าวได้รับการจัดสรรให้กับพรรคที่ใหญ่ที่สุดสองพรรคเพียง 31% ของเงินที่จัดสรร และให้พรรคใหญ่ที่สุด 10 พรรครวมกันเพียง 55% ของเงินที่จัดสรร[28]คำนวณจากข้อมูลจาก ณัฐพล สงวนทรัพย์. (2567). กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง กกต. เผยยอดเงินอุดหนุนให้แก่พรรคการเมือง ประจำปี 2567 พรรคก้าวไกล … Continue reading
กล่าวคือ หากเพิ่มเงินที่กองทุนฯ จะจัดสรรให้พรรคการเมืองต่างๆ (ตามสัดส่วนสมาชิก คะแนนเสียง และสาขา) จากเดิม 85 ล้านเป็น 800 ล้าน น่าจะทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก มีช่องทางรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น และมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพานายทุน
อย่างไรก็ตาม การจัดสรรของกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองไปมีปัญหาอยู่ที่ 1) การจัดสรรด้วยกลไกบริจาคภาษียังขาดความเป็นธรรม และ 2) ข้อจำกัดในการใช้จ่ายทำให้เงินที่ได้รับขาดความคล่องตัวจึงจำเป็นต้องแก้ไขกลไกบางประการเพื่อทำให้การจัดสรรเงินของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นกระจายตัวอย่างเป็นธรรม และทำให้พรรคการเมืองสามารถนำไปใช้งานได้จริง
ในเรื่องแรก มาตรการบริจาคภาษีเป็นกลไกกระจายทรัพยากรให้พรรคการเมืองที่ไม่เป็นธรรม มาตรการบริจาคภาษี (อุดหนุนภาษี) คือการให้สิทธิผู้เสียภาษีสามารถนำเงินภาษีที่ตนเสียไปไม่เกิน 500 บาทไปบริจาคให้พรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบ เงินบริจาคภาษีจึงสะท้อนความชอบทางการเมืองของกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงถึงเกณฑ์ภาษีซึ่งมีจำนวนประมาณ 4 ล้านคนเท่านั้น[29]ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.posttoday.com/business/financial/690014 แต่ไม่ได้สะท้อนความชอบทางการเมืองของคนทั้งประเทศ
นอกจากนี้ เงินบริจาคภาษีก้อนนี้ยังถูกนำไปใช้เป็นฐานคำนวณการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองในปีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปีหลังเลือกตั้งแทนการใช้ผลคะแนนเลือกพรรคอีกด้วย ส่งผลให้การจัดสรรเงินของกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองในบางปีไม่ได้สะท้อนความต้องการทางการเมืองของคนทั้งประเทศ
ดังนั้นหากต้องการทำให้กลไกเงินอุดหนุนภาครัฐสะท้อนเจตจำนงของประชาชนวงกว้าง จึงควรยกเลิกมาตรการอุดหนุนภาษี และหันไปใช้กลไกกองทุนฯ อุดหนุนเงินให้พรรคการเมืองเป็นหลักแทน (โดยปรับไปใช้คะแนนเสียงเลือกพรรคในการคำนวนเงินอุดหนุนของกองทุนฯ ในทุกๆ ปี)
ในเรื่องสุดท้าย กฎหมายสร้างอุปสรรคไม่ให้พรรคสามารถนำเงินไปใช้ได้สะดวก เนื่องจากตามกฎหมายพรรคการเมืองในปัจจุบัน พรรคสามารถใช้เงินก้อนนี้ได้เพียงแค่ในการหาเสียงเลือกตั้ง การทำกิจกรรมพรรคการเมือง การพัฒนาส่งเสริมความรู้บุคลากรและประชาชน และการทำกิจกรรมที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด[30]มาตรา 84 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยอ่านรายละเอียดที่ กกต. กำหนดเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง. (2567). คู่มือ … Continue reading ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวสร้างข้อจำกัดให้พรรคไม่สามารถใช้เงินที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐได้อย่างไม่สามารถนำไปใช้จ่ายทั่วไปได้ เช่น ไม่สามารถจ้างพนักงานประจำ ไม่สามารถใช้จ่ายค่าสำนักงานได้ ฯลฯ เพราะฉะนั้นแม้เงินภาครัฐจะมากขึ้น แต่กฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนอาจผลักดันให้พรรคการเมืองต้องพึ่งพาเงินทุนจากเอกชนรายใหญ่อยู่ดี ดังนั้นเพื่อทำให้พรรคการเมืองสามารถนำเงินมาใช้จ่ายได้สะดวก ควรเปิดให้พรรคใช้เงินก้อนนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไปได้ด้วย[31]อ่านข้อเสนอเพิ่มเติมได้ที่ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว & ณัชชาภัทร อมรกุล. (2564). การเงินพรรคการเมืองไทย: ข้อมูลการสำรวจและข้อเสนอแนะ. สถาบันพระปกเกล้า. … Continue reading
ลดเพดานรายใหญ่ เพิ่มลดหย่อนรายย่อย
เมื่อภาครัฐสนับสนุนเงินให้พรรคการเมืองสูงขึ้นแล้ว การผลักดันมาตรการลดการพึ่งพาเงินจากนายทุนจึงเป็นไปได้มากขึ้น เริ่มต้นจากการลดเพดานเงินบริจาคลง โดยในปัจจุบันกฎหมายกำหนดเพดานที่บุคคลสามารถบริจาคได้ไว้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงและคิดเป็นถึง 15% ของรายได้พรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเพื่อไทย (ข้อมูลปี 2565) เพดานเงินที่มูลค่าดังกล่าวเปิดช่องให้ผู้บริจาครายใหญ่ไม่กี่รายสามารถบริจาคเงินในระดับที่สร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับพรรคการเมืองได้ นอกจากนี้เพดาน 10 ล้านบาทยังถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ อย่างในประเทศในยุโรป[32]ข้อมูลจาก Reed, Q., Jouan Stonestreet, B., Devrim, D., Krieger, T., Kubekova, V., Blomeyer, R., & Heinemann, F. (2021). Financing of political structures in EU Member States. Policy Department for Budgetary Affairs, European Parliament. น.20ที่มีค่าเฉลี่ยของเพดานอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท (53,000 ยูโร) ประเทศญี่ปุ่น[33]ข้อมูลจาก France, G. (2023). Limits on political donations: Global practices and its effectiveness on political integrity and equality. Transparency International.ที่ประมาณ 4.57 ล้านบาท (20 ล้านเยน) ประเทศอิตาลี[34]เรื่องเดียวกันที่ประมาณ 4 ล้านบาท (100,000 ยูโร) และประเทศฝรั่งเศส[35]เรื่องเดียวกันที่ประมาณ 3 แสนบาท (7,500 ยูโร)
การลดเพดานเงินบริจาคลงมาจะช่วยลดอิทธิพลของผู้บริจาครายใหญ่ลง แต่ก็ต้องไม่ลดเพดานลงมาจนต่ำเกินไปจนส่งผลให้พรรคการเมืองขาดรายได้และต้องแสวงหาเงินบริจาคนอกระบบอันทำให้ไม่สามารถตรวจสอบสถานะทางการเมืองของพรรคการเมืองได้ ดังนั้นเพดานที่เหมาะสมที่สุดควรลงมาอยู่ที่ 1 ล้านบาท
นอกจากนี้ การควบคุมการบริจาคของนิติบุคคลที่มีสัญญาสัมปทานภาครัฐก็เป็นอีกสิ่งจำเป็น โดยกฎหมายควบคุมการบริจาคเงินของไทยห้ามรับบริจาคครอบคลุมแค่นิติบุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทยและนิติบุคคลของภาครัฐเท่านั้น[36]มาตรา 74 75 และ 76 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ช่องว่างทางกฎหมายนี้อาจส่งผลให้นิติบุคคลที่มีสัญญาสัมปทานจากภาครัฐใช้การบริจาคเงินเพื่อจูงใจให้พรรคการเมืองดำเนินนโยบายทำสัญญาที่เอื้อประโยชน์ต่อตนได้ ดังนั้นในหลายประเทศจึงมีกฎหมายห้ามรับบริจาคจากธุรกิจที่มีสัญญาสัมปทานจากภาครัฐ[37]อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Hamada, Y., & Agrawal, K. (2021). Comparative Overview of Political Finance Systems in Indonesia, Malaysia, the Philippines and Timor-Leste: The regional context and the way forward. ใน Political Party Finance Reform in Southeast-Asia. USAID & Perludem & IDEA. น. 6-7 และในกรณีของไทยเองก็ควรออกกฎห้ามรับบริจาคจากธุรกิจที่มีผลประโยชน์จากภาครัฐด้วยเช่นกัน
และนอกจากการลดการบริจาคจากรายใหญ่ลงแล้ว ก็ควรส่งเสริมให้รายย่อยบริจาคเงินให้พรรคการเมืองมากขึ้นเช่นกัน เพื่อทำให้พรรคการเมืองมีแหล่งรายได้มาจากการสนับสนุนของประชาชนคนทั่วไปมากขึ้น
โดยแนวทางแรกคือ ควรเพิ่มเพดานลดหย่อนภาษีในกรณีบริจาคเงินให้พรรคการเมือง ซึ่งการลดหย่อนภาษีเป็นมาตรการแบบหนึ่งที่จูงใจให้คนมาบริจาคมากขึ้น ในปัจจุบันบุคคลธรรมดาสามารถนำเงินบริจาคให้พรรคการเมืองมาขอลดหย่อนภาษีได้เพียงไม่เกิน 10,000 บาทต่อคนต่อปี[38]มาตรา 47(ฎ) ประมวลรัษฎากร การแก้ไขเพิ่มเพดานลดหย่อนภาษีให้สูงขึ้นเป็น 100,000 บาทต่อคนต่อปีสามารถเป็นแนวทางสร้างแรงจูงใจให้คนทั่วไปบริจาคมากขึ้น
แนวทางต่อมา คือการเปิดให้พรรคการเมืองสามารถระดมทุนขายของออนไลน์ได้ ซึ่งในปัจจุบัน ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง[39]สำนักกิจการพรรคการเมือง. (2564). คู่มือการเงินและบัญชีของพรรคการเมือง. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง.น.4 อนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถระดมทุนได้เฉพาะที่ทำการพรรคและตามสาขาพรรค แต่ไม่สามารถระดมทุนผ่านช่องทางออนไลน์ได้[40]กรณี กกต. สั่งห้ามอนาคตใหม่ระดมทุนออนไลน์ โดยให้ขายของระดมทุนได้ที่ตั้งสำนักงานสาขาพรรคการเมือง บริเวณสถานที่จัดกิจกรรมระดมทุน … Continue reading ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลจากสาขาพรรคต้องเดินทางไปที่พรรคเพื่อจะสนับสนุนพรรคที่ตนชอบ ดังนั้นภาครัฐควรแก้กฎหรืออนุญาตให้ระดมทุนขายของออนไลน์ได้ เพิ่มความสะดวกให้ประชาชนสามารถสนับสนุนพรรคที่ตนชื่นชอบได้ง่ายขึ้น
ปฏิรูปพรรคการเมือง เรื่องใหญ่กว่าแค่เรื่องเงิน
ประเทศไทยในปัจจุบันเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่สร้างผลกระทบต่อคนจำนวนมหาศาล ปัญหาเหล่านี้ต้องการนโยบายที่แหลมคมเข้ามาจัดการ และพรรคการเมืองคือองค์กรที่เป็นความหวังของสังคมที่จะเป็นผู้ผลิตนโยบายที่ตอบโจทย์แก้ปัญหาให้สังคมไทยได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตามหากพรรคการเมืองอ่อนแอ ขาดความเป็นสถาบัน ไร้ศักยภาพความสามารถ ไม่ยึดโยงกับประชาชน พรรคนั้นก็จะไม่สามารถผลิตและผลักดันนโยบายที่จำเป็นให้กับสังคมไทยได้
การแก้ไขปัญหาที่มาการเงินของพรรคการเมืองเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้พรรคการเมืองยึดโยงกับประชาชนได้มากขึ้น แต่ถึงแม้ว่าจะทำให้พรรคการเมืองมีเส้นทางทางการเงินที่ยึดโยงกับประชาชนแล้วก็ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีประเด็นท้าทายอีกจำนวนมากที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎกติการการเลือกตั้ง ข้อบังคับเรื่องสมาชิกพรรค ความเป็นประชาธิปไตยในพรรค และอีกมากมาย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต่างมีนัยสำคัญต่อความเข้มแข็งของพรรคการเมืองทั้งสิ้น
หากต้องการให้พรรคการเมืองของไทยเข้มแข็งเป็นรากฐานที่มั่นคงให้กับประชาธิปไตยของไทย ย่อมจำเป็นต้องมีมาตรการที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปกับการปรับปรุงเรื่องรายได้พรรคการเมืองด้วย
↑1 | อ่านเพิ่มเติมได้ใน https://www.infoquest.co.th/2023/276182 |
---|---|
↑2 | อ่านเพิ่มเติมได้ใน https://workpointtoday.com/ffp-37/ |
↑3 | อ่านเพิ่มเติมได้ใน https://themomentum.co/report-political-make-poor-people/ |
↑4 | สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2565). พรรคการเมืองกับประชาธิปไตย: ทฤษฎี ความคาดหวัง และความเป็นจริง. ใน วุฒิสาร ตันชัย, ธีรพรรณ ใจมั่น, และ สติธร ธนานิธิโชติ, พิศพรรคการเมือง: หลากมุมมองหลายประเทศ (น. 1–31). สถาบันพระปกเกล้า. |
↑5 | มาตรา 33 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 5,000-10,000 คนตามระยะเวลาทำการของพรรค และต้องจัดตั้งสาขาพรรคให้ครอบใน 4 ภูมิภาคมิเช่นนั้นจะสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง |
↑6 | โดยใช้ข้อมูลรายได้พรรคการเมือง 10 พรรคที่ได้ที่นั่งในสภามากที่สุดปี 2565 ที่เปิดเผยในเว็บ กกต. https://www.ect.go.th/ect_th/th/financial-statements-of-political-parties/ ซึ่งข้อมูลที่เปิดเผยมีข้อจำกัดที่อาจจะไม่ครอบคลุมรายได้ทั้งหมดที่พรรคการเมืองได้รับจริง ๆ เช่น ตามข่าวแล้วประชาธิปัตย์ระดมทุนได้สูงถึง 210 ล้านบาท https://www.prachachat.net/politics/news-896235 แต่ตามบันทึกประชาธิปัตย์มีรายได้จากการระดมทุนเพียง 85.6 ล้านบาท |
↑7 | สามารถดูข้อมูลสรุปรายได้รายพรรคที่รวบรวมจากที่เว็บไซต์ กกต. เปิดเผยได้จาก https://docs.google.com/spreadsheets/d/1ezEjEwcMhWrtIJ-qRCa68w6dLDPiUcKherFGxu2tmpE/edit?gid=0#gid=0 |
↑8 | คำนวณจากข้อมูลผู้บริจาคเงินตั้งแต่ 5,000 บาทเป็นต้นไปในช่วง มกราคม 2565 จนถึง พฤษภาคม 2566 (+เพราะอะไรถึงต้องเป็นช่วงนี้?) โดยช่วงนี้เป็นช่วงที่แต่ละพรรคต้องเตรียมความพร้อมเพื่อจะลงแข่งขันในการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2566 เนื่องจากรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะหมดวาระช้าที่สุดไม่เกินกลางปี 2566 https://www.ect.go.th/ect_th/th/db_119_ect_th_download_22/ |
↑9 | ผู้บริจาครายใหญ่โดดเด่นที่เป็นคนในพรรคของพรรคก้าวไกลได้แก่ คุณอนันต์ ชัยสุริยเทพกุล (5.5 ล้านบาท) คุณพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ (5.4 ล้านบาท) ในขณะที่ของเพื่อไทยได้แก่ คุณพิชัย นริพทะพันธุ์ (12 ล้านบาท) คุณพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล (9 ล้านบาท) คุณวราวุธ ยันต์เจริญ (6 ล้านบาท) ในขณะที่ของรวมไทยสร้างชาติได้แก่ คุณดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง (10 ล้านบาท) |
↑10 | ผู้บริจาครายใหญ่โดดเด่นที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างของพรรคภูมิใจไทยได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด น้ำก่ำก่อสร้าง (10 ล้านบาท) บริษัท ไรท์แมน จำกัด (9.8 ล้านบาท) ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีรัมย์พนาสิทธิ (7.2 ล้านบาท) ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัค (6 ล้านบาท) |
↑11 | ผู้บริจาครายใหญ่โดดเด่นของพรรคพลังประชารัฐที่เป็นบริษัทที่มีรายได้ไม่สอดคล้องกับทุนจดทะเบียนในช่วงก่อนการบริจาคได้แก่ บริษัท พาร์คเลน แคปิตัล จำกัด (10 ล้านบาท) บริษัท เอทีแลนด์ จำกัด (10 ล้านบาท) |
↑12 | ผู้บริจาครายใหญ่โดดเด่นของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นนักธุรกิจได้แก่ คุณจีระศักดิ์ โกมุทกุล (10 ล้านบาท) คุณโชติ โสภณพนิช (10 ล้านบาท) บริษัท รักษาความปลอดภัย ทีเอสจี จำกัด (6 ล้านบาท) |
↑13 | อ่านเพิ่มเติมได้ที่ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว & ณัชชาภัทร อมรกุล. (2564). โครงการศึกษาและพัฒนาระบบการเงินของพรรคการเมือง. สถาบันพระปกเกล้า. น.57 |
↑14 | เรื่องเดียวกันหน้าเดียวกัน |
↑15 | ข้อมูลจาก Reed, Q., Jouan Stonestreet, B., Devrim, D., Krieger, T., Kubekova, V., Blomeyer, R., & Heinemann, F. (2021). Financing of political structures in EU Member States. Policy Department for Budgetary Affairs, European Parliament. |
↑16 | คำนวณเบื้องต้นจากรายได้จากรัฐใน Najib, A. A. (2023). STRENGTHENING DEMOCRACY THROUGH RECONSTRUCTION OF POLITICAL PARTY FUNDING ARRANGEMENTS IN INDONESIA. Russian Law Journal, 413–421. น. 415 หารด้วยรายได้พรรคการเมืองใน Pratama, H. M., Kahfi Adlan, & Maharddhika. (2021). Political Party Finance in Indonesia: A Never Ending Reform. ใน Political Party Finance Reform in Southeast-Asia. the United States Agency for International Development (USAID). น. 48 |
↑17 | อ่านเพิ่มเติมกรณีอิตาลีได้ใน Reed, Q., Jouan Stonestreet, B., Devrim, D., Krieger, T., Kubekova, V., Blomeyer, R., & Heinemann, F. (2021). Financing of political structures in EU Member States. Policy Department for Budgetary Affairs, European Parliament. น.26-28 |
↑18 | อ่านเพิ่มเติมกรณีอินโดนีเซียได้ Pratama, H. M., Kahfi Adlan, & Maharddhika. (2021). Political Party Finance in Indonesia: A Never Ending Reform. ใน Political Party Finance Reform in Southeast-Asia. the United States Agency for International Development (USAID). |
↑19 | อ่านเพิ่มเติมกรณีสเปน Pujas, V., & Rhodes, M. (1998). Party Finance and Political Scandal in Latin Europe [98/10]. European University Institute. น.6-14 |
↑20 | ข้อมูลจาก Reed, Q., Jouan Stonestreet, B., Devrim, D., Krieger, T., Kubekova, V., Blomeyer, R., & Heinemann, F. (2021). Financing of political structures in EU Member States. Policy Department for Budgetary Affairs, European Parliament. น.15-16 |
↑21 | อ่านเพิ่มเติมใน สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2565). พรรคการเมืองกับประชาธิปไตย: ทฤษฎี ความคาดหวัง และความเป็นจริง. ใน วุฒิสาร ตันชัย, ธีรพรรณ ใจมั่น, & สติธร ธนานิธิโชติ, พิศพรรคการเมือง: หลากมุมมองหลายประเทศ (น. 1–31). สถาบันพระปกเกล้า. น. 9-10 |
↑22 | ปรากฎการณ์นี้ถูกนิยามว่าเป็นการเกิดขึ้นของโมเดล พรรคการเมืองแบบผูกขาด (Cartel Party) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน Katz, R. S., & Mair, P. (1995). Changing Models of Party Organization and Party Democracy: The Emergence of the Cartel Party. Party Politics, 1(1), 5–28. |
↑23 | อ่านเพิ่มเติมได้ใน Federal Ministry of the Interior and Community. (ม.ป.ป.). Funding of political partie. The Constitution. https://www.bmi.bund.de/EN/topics/constitution/funding-of-political-parties/funding-of-political-parties-node.html |
↑24 | อ่านเพิ่มเติมกรณีเยอรมันใน Reed, Q., Jouan Stonestreet, B., Devrim, D., Krieger, T., Kubekova, V., Blomeyer, R., & Heinemann, F. (2021). Financing of political structures in EU Member States. Policy Department for Budgetary Affairs, European Parliament. น.25-26 |
↑25 | ข้อมูลจาก ณัฐพล สงวนทรัพย์. (2567). กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง กกต. เผยยอดเงินอุดหนุนให้แก่พรรคการเมือง ประจำปี 2567 พรรคก้าวไกล ได้รับการจัดสรรมากที่สุด 52.49 ล้านบาท. สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา. https://www.tpchannel.org/news/24485 |
↑26 | มาตรา 83 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง |
↑27 | กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง. (2567). คู่มือ การจัดสรรและการใช้จ่ายเงินอุดหนุนของพรรคการเมืองที่ได้รับจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองประจำปี พ.ศ. 2567. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. น. 7-8 |
↑28 | คำนวณจากข้อมูลจาก ณัฐพล สงวนทรัพย์. (2567). กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง กกต. เผยยอดเงินอุดหนุนให้แก่พรรคการเมือง ประจำปี 2567 พรรคก้าวไกล ได้รับการจัดสรรมากที่สุด 52.49 ล้านบาท. สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา. https://www.tpchannel.org/news/24485 |
↑29 | ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.posttoday.com/business/financial/690014 |
↑30 | มาตรา 84 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยอ่านรายละเอียดที่ กกต. กำหนดเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง. (2567). คู่มือ การจัดสรรและการใช้จ่ายเงินอุดหนุนของพรรคการเมืองที่ได้รับจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองประจำปี พ.ศ. 2567. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. น. 14-22 |
↑31 | อ่านข้อเสนอเพิ่มเติมได้ที่ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว & ณัชชาภัทร อมรกุล. (2564). การเงินพรรคการเมืองไทย: ข้อมูลการสำรวจและข้อเสนอแนะ. สถาบันพระปกเกล้า. น.111-112 |
↑32 | ข้อมูลจาก Reed, Q., Jouan Stonestreet, B., Devrim, D., Krieger, T., Kubekova, V., Blomeyer, R., & Heinemann, F. (2021). Financing of political structures in EU Member States. Policy Department for Budgetary Affairs, European Parliament. น.20 |
↑33 | ข้อมูลจาก France, G. (2023). Limits on political donations: Global practices and its effectiveness on political integrity and equality. Transparency International. |
↑34, ↑35 | เรื่องเดียวกัน |
↑36 | มาตรา 74 75 และ 76 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง |
↑37 | อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Hamada, Y., & Agrawal, K. (2021). Comparative Overview of Political Finance Systems in Indonesia, Malaysia, the Philippines and Timor-Leste: The regional context and the way forward. ใน Political Party Finance Reform in Southeast-Asia. USAID & Perludem & IDEA. น. 6-7 |
↑38 | มาตรา 47(ฎ) ประมวลรัษฎากร |
↑39 | สำนักกิจการพรรคการเมือง. (2564). คู่มือการเงินและบัญชีของพรรคการเมือง. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง.น.4 |
↑40 | กรณี กกต. สั่งห้ามอนาคตใหม่ระดมทุนออนไลน์ โดยให้ขายของระดมทุนได้ที่ตั้งสำนักงานสาขาพรรคการเมือง บริเวณสถานที่จัดกิจกรรมระดมทุน บริเวณสถานที่จัดประชุมใหญ่ของพรรคประจำปี สาขาพรรค หรือที่ทำการพรรคการเมืองประจำจังหวัด เท่านั้น https://www.khaosod.co.th/politics/news_1823584 |