สุขภาพเด็กแรกเกิดไทย เรื่องใหญ่ที่ยังต้องกังวล

ประเด็นสำคัญ

  • อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 8 ปีหลัง


  • ความสูญเสียเกิดขึ้นมากที่สุดในพื้นที่ยากจน และเหลื่อมล้ำมากที่สุดในเด็กวัยแรกเกิด


  • สวัสดิการเด็กปฐมวัยมีช่องโหว่ในช่วง 0-2 ปี แม่มีสิทธิ์ฝากครรภ์และทำคลอดฟรี แต่เมื่อออกจากโรงพยาบาลไปแล้วกลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐจนกว่าจะโตพอเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

สุขภาวะเด็กแรกเกิดไทย

4 สัปดาห์แรกของชีวิตคือช่วงเวลาที่เปราะบางที่สุดของเด็กแรกเกิด อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดภายใน 28 วัน (Neonatal Mortality Rate  หรือ NMR) จึงเป็นเครื่องชี้วัดสถานการณ์สาธารณสุขด้านแม่และเด็กตัวสำคัญที่ถูกใช้ทั่วโลก  แม้ NMR ของไทยจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก และบรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกซึ่งควรมีค่าน้อยว่า 12 รายต่อทารก 1,000 คน[1]World Health Organization. (n.d.). Neonatal mortality rate (0 to 27 days) per 1000 live births) (SDG 3.2.2). Retrieved October 25, 2022, from https://www.who.int/data/gho/data/indicators/indicator-details/GHO/neonatal-mortality-rate-(per-1000-live-births) แต่แทนที่จะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ตัวเลข NMR จากกระทรวงสาธารณสุขไทยกลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 8 ปีหลัง[2]ระบบสารสนเทศสนับสนุนด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม. 2565. “อัตราการตายทารกแรกเกิดภายใน 28 วัน (Neonatal Mortality Rate : NMR).” 2565. นอกจากนี้อัตราทารกแรกเกิดไร้ชีพ (still birth)[3]ระบบสารสนเทศสนับสนุนด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม. (2565). อัตราส่วนทารกแรกเกิดไร้ชีพ (Still Birth). http://dashboard.anamai.moph.go.th/dashboard/stillbirth/index?year=2021 และสัดส่วนเด็กแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยก็ยังเพิ่มสูงขึ้นด้วย[4]ระบบสารสนเทศสนับสนุนด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม. (2565). ร้อยละของทารกแรกเกิดน้าหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม. http://dashboard.anamai.moph.go.th/dashboard/lbw?year=2022

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดน้อยลงอยู่แล้ว สุขภาวะของสตรีตั้งครรภ์และเด็กแรกเกิดก็ยังถดถอยลงด้วย

สุขภาวะเด็กแรกเกินในไทยน่าเป็นห่วง

ความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ลืมตาดูโลก

ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบสาธารณสุข ที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดลดลงอย่างมาก จากราว 11 รายต่อทารก 1,000 คนในปี พ.ศ.2545 เหลือเพียงราว 4 รายต่อทารก 1,000 คนในปัจจุบัน[5]ตัวเลขจากการประมาณการณ์ของ The United Nations Inter-agency Group for Child Mortality Estimation (UN IGME) ที่มา: https://childmortality.org/data/Thailand  กระนั้นตัวเลขดังกล่าวเป็นค่าเฉลี่ยรวมระดับประเทศ ซึ่งยังคงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติให้ต้องพิจารณากันต่อไป

ความเหลื่อมล้ำกันในระดับพื้นฐานที่จะมีชีวิตรอดปลอดภัยนี้ เป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก  กระทั่งในประเทศพัฒนาแล้วก็ยังคงพบว่าช่องว่างความเหลื่อมล้ำภายในไม่ลดลงหรือกระทั่งถ่างกว้างออก[6]Harpur, A., Minton, J., Ramsay, J., McCartney, G., Fenton, L., Campbell, H., & Wood, R. (2021). Trends in infant mortality and stillbirth rates in Scotland by socio-economic position, 2000–2018: A longitudinal ecological study. BMC Public Health, 21(1), 995.  ทารกที่เกิดในครอบครัวผิวดำในอังกฤษมีโอกาสรอดชีวิตถึงวันเกิด 1 ขวบเพียงครึ่งเดียวของทารกผิวขาว[7]Office for National Statistics. (2021). Births and infant mortality by ethnicity, England and Wales. ทารกในครอบครัวชนพื้นเมืองออสเตรเลียเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างฉับพลันหรือไหลตายมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นมากกว่า 3 เท่า[8]Shipstone, R. A., Young, J., Kearney, L., & Thompson, J. M. D. (2020). Applying a Social Exclusion Framework to Explore the Relationship Between Sudden Unexpected Deaths in Infancy (SUDI) and Social Vulnerability. Frontiers in Public Health, 8. งานวิจัยในสหราชอาณาจักรพบว่าเมื่ออัตราการเสียชีวิตของทารก (Infant Mortality rate) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง พ.ศ.2556-2560 ความสูญเสียเพิ่มขึ้นมากที่สุดในพื้นที่ยากจนซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรงมากขึ้นอีก[9]Taylor-Robinson, D., Lai, E. T. C., Wickham, S., Rose, T., Norman, P., Bambra, C., Whitehead, M., & Barr, B. (2019). Assessing the impact of rising child poverty on the unprecedented rise in infant mortality in England, 2000–2017: Time trend analysis. BMJ Open, 9(10), e029424.

ในประเทศไทย นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันในนาม “30 บาทรักษาทุกโรค” มีผลลัพธ์ทางสาธารณสุขอย่างเห็นได้ชัด  อัตราการเสียชีวิตของทารกลดลงทันที 13-30% ตั้งแต่ปีแรกของการดำเนินงาน[10]Gruber, J., Hendren, N., & Townsend, R. M. (2014). The Great Equalizer: Health Care Access and Infant Mortality in Thailand. American Economic Journal. Applied Economics, 6(1), 91.  อย่างไรก็ตาม การศึกษาผลการดำเนินงานระยะยาวในปี พ.ศ.2557 กลับพบว่าความเหลื่อมล้ำด้านอัตราการมีชีวิตรอดบรรเทาลงในกลุ่มประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปเท่านั้น แต่ยิ่งถ่างกว้างออกมากที่สุดในเด็กเล็กวัย 0-4 ขวบ[11]Aungkulanon, S., Tangcharoensathien, V., Shibuya, K., Bundhamcharoen, K., & Chongsuvivatwong, V. (2016). Post universal health coverage trend and geographical inequalities of mortality in Thailand. International Journal for Equity in Health, 15(1), 190. ดังนั้น แม้กระทั่งในช่วงที่อัตราการเสียชีวิตลดลงในภาพรวม สำหรับพ่อแม่เด็กอ่อนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ความเศร้าตรมนี้ยังคงได้รับการบรรเทาลงอย่างเชื่องช้า

ตัวเลขอย่างเป็นทางการของไทยมีค่าต่ำมากมาโดยตลอด ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็บข้อมูลสถิติไม่ทั่วถึงในพื้นที่ห่างไกล เช่น เด็กบางรายอาจเสียชีวิตก่อนที่จะได้รับการแจ้งเกิด[12]Lumbiganon, P., Panamonta, M., Laopaiboon, M., Pothinam, S., & Patithat, N. (1990). Why are Thai official perinatal and infant mortality rates so low? International Journal of Epidemiology, 19(4), 997–1000. หมายความว่าตัวเลขจริงของไทยอาจมีค่าเฉลี่ยและความเหลื่อมล้ำมากกว่าที่เห็น และแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ พ.ศ.2557  เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งจึงอาจเป็นผลของการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านข้อมูลสุขภาพ (Health Data Center) ที่ครอบคลุมและสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้นด้วย  การมีข้อมูลที่แม่นยำยิ่งขึ้นทำให้ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาเร่งด่วนนี้  อย่างไรก็ดี มาตรการที่ได้ประกาศออกมา เช่น การเพิ่มจำนวนครั้งฝากครรภ์ฟรีจาก 5 เป็น 8 ครั้ง[13]สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.). (2565). ยกระดับการให้บริการฝากครรภ์ เน้น ‘คุณภาพ-เท่าเทียม.’ https://www.nhso.go.th/news/3451 อาจยังไม่เพียงพอต่อการพลิกสถานการณ์ที่น่ากังวลนี้

ช่องว่างของสวัสดิการเด็กเล็ก

สวัสดิการสำหรับสตรีมีครรภ์ในไทยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเปิดให้ฝากครรภ์ได้ฟรีทุกที่ ทุกสิทธิ์ และสนับสนุนค่าทำคลอด ทว่าเมื่อออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ทารกแรกเกิดซึ่งเปราะบางที่สุด กลับเป็นวัยที่ได้รับสวัสดิการจากรัฐน้อยที่สุด

หากพิจารณานโยบายสวัสดิการและสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กของไทย จะพบว่าเต็มไปด้วยโครงการแนะนำวิธีการเลี้ยงดู ส่งเสริมภาวะโภชนาการ และติดตามพัฒนาการเด็กโดยกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากวัยแรกเกิดเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการที่เด็กจะมีพัฒนาการสมบูรณ์แข็งแรงในระยะยาว ทว่าสวัสดิการที่จะสนับสนุนให้แม่สามารถให้นมลูก และมีเวลาเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพตามคำแนะนำเหล่านั้นมีน้อยมาก[14]คณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ กลุ่มกระทรวง คณะที่ 2. (2562). การพัฒนาเด็กปฐมวัย. และหากมีก็ครอบคลุมประชากรจำนวนน้อยมากเช่นกัน นโยบายส่งเสริมการตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการของกระทรวงแรงงานซึ่งร่วมกับมาตรการลดหย่อนภาษีให้นายจ้างของกระทรวงการคลัง นำมาสู่การจัดให้มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการได้เพียง 96 แห่งในปี พ.ศ.2565[15]สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล. (2565). กสร. ชู ‘วันสตรีสากล’ ลุยจัดสวัสดิการนอกเหนือกฎหมาย แนะกฎหมายควรรู้ส่งเสริมแรงงานหญิง. … Continue reading

การเลี้ยงดูเด็กอ่อนวัยก่อนอนุบาลหรือก่อนถึงเกณฑ์เข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงเป็นห้วงเวลาที่ครอบครัวไทยต้องดิ้นรนและช่วยเหลือกันเอง  การอุดช่องโหว่นี้อาจทำได้หลายวิธีด้วยกัน อาทิ ขยายสิทธิลาคลอดและวันลาเลี้ยงลูกให้ครอบคลุมช่วงวัยดังกล่าว   เพิ่มเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดให้เพียงพอและถ้วนหน้า ไปจนถึงการจัดสวัสดิการในรูปแบบที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น อุดหนุนเป็นของใช้จำเป็นให้กับแม่แรกคลอด 

ตัวเลขการเสียชีวิตของทารกเพียง 1 คน หรือช่วงเวลาในการสร้างพัฒนาการที่เด็กคนหนึ่งพลาดโอกาสไป เป็นความสูญเสียที่ประเมินไม่ได้ ชดเชยให้ไม่ได้ไม่ว่าด้วยวิธีใด  ปัญหาข้างต้นนี้จึงควรถูกผลักดันให้เป็นวาระเร่งด่วน  ยื่นมือเข้าช่วยเหลือทุกครอบครัวอย่างทันท่วงทีและทั่วถึง

References
1 World Health Organization. (n.d.). Neonatal mortality rate (0 to 27 days) per 1000 live births) (SDG 3.2.2). Retrieved October 25, 2022, from https://www.who.int/data/gho/data/indicators/indicator-details/GHO/neonatal-mortality-rate-(per-1000-live-births)
2 ระบบสารสนเทศสนับสนุนด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม. 2565. “อัตราการตายทารกแรกเกิดภายใน 28 วัน (Neonatal Mortality Rate : NMR).” 2565.
3 ระบบสารสนเทศสนับสนุนด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม. (2565). อัตราส่วนทารกแรกเกิดไร้ชีพ (Still Birth). http://dashboard.anamai.moph.go.th/dashboard/stillbirth/index?year=2021
4 ระบบสารสนเทศสนับสนุนด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม. (2565). ร้อยละของทารกแรกเกิดน้าหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม. http://dashboard.anamai.moph.go.th/dashboard/lbw?year=2022
5 ตัวเลขจากการประมาณการณ์ของ The United Nations Inter-agency Group for Child Mortality Estimation (UN IGME) ที่มา: https://childmortality.org/data/Thailand
6 Harpur, A., Minton, J., Ramsay, J., McCartney, G., Fenton, L., Campbell, H., & Wood, R. (2021). Trends in infant mortality and stillbirth rates in Scotland by socio-economic position, 2000–2018: A longitudinal ecological study. BMC Public Health, 21(1), 995.
7 Office for National Statistics. (2021). Births and infant mortality by ethnicity, England and Wales.
8 Shipstone, R. A., Young, J., Kearney, L., & Thompson, J. M. D. (2020). Applying a Social Exclusion Framework to Explore the Relationship Between Sudden Unexpected Deaths in Infancy (SUDI) and Social Vulnerability. Frontiers in Public Health, 8.
9 Taylor-Robinson, D., Lai, E. T. C., Wickham, S., Rose, T., Norman, P., Bambra, C., Whitehead, M., & Barr, B. (2019). Assessing the impact of rising child poverty on the unprecedented rise in infant mortality in England, 2000–2017: Time trend analysis. BMJ Open, 9(10), e029424.
10 Gruber, J., Hendren, N., & Townsend, R. M. (2014). The Great Equalizer: Health Care Access and Infant Mortality in Thailand. American Economic Journal. Applied Economics, 6(1), 91. 
11 Aungkulanon, S., Tangcharoensathien, V., Shibuya, K., Bundhamcharoen, K., & Chongsuvivatwong, V. (2016). Post universal health coverage trend and geographical inequalities of mortality in Thailand. International Journal for Equity in Health, 15(1), 190.
12 Lumbiganon, P., Panamonta, M., Laopaiboon, M., Pothinam, S., & Patithat, N. (1990). Why are Thai official perinatal and infant mortality rates so low? International Journal of Epidemiology, 19(4), 997–1000.
13 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.). (2565). ยกระดับการให้บริการฝากครรภ์ เน้น ‘คุณภาพ-เท่าเทียม.’ https://www.nhso.go.th/news/3451
14 คณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ กลุ่มกระทรวง คณะที่ 2. (2562). การพัฒนาเด็กปฐมวัย.
15 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล. (2565). กสร. ชู ‘วันสตรีสากล’ ลุยจัดสวัสดิการนอกเหนือกฎหมาย แนะกฎหมายควรรู้ส่งเสริมแรงงานหญิง. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/52312

อินโฟกราฟฟิก

รายงาน/บทวิเคราะห์ฉบับเต็ม

วิจัย/เขียน

สรัช สินธุประมา

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

‘กล่องแรกเกิด’ ความเท่าเทียมก้าวแรกของชีวิต

101 PUB ชวนสำรวจสถานการณ์สุขภาพแม่และเด็กไทยวัยแรกเกิด พร้อมนำเสนอทางเลือกในการจัดสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงิน หรือ ‘กล่องแรกเกิด’ (baby box) เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้มีโอกาสเริ่มต้นก้าวแรกของชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน

101 In Focus Ep.157: ‘กล่องแรกเกิด’ ความเท่าเทียมก้าวแรกของชีวิต

101 In Focus ชวนคุยกันเรื่องข้อเสนอทางเลือกในการจัดสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงิน คือ ‘กล่องแรกเกิด’ (baby box) เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้มีโอกาสเริ่มต้นก้าวแรกของชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน

สังคมแบบไหนที่คนไทยอยากมีลูก?

101 PUB ชวนผู้อ่านสำรวจเหตุผลจากงานวิจัยว่าเพราะอะไรคนสมัยนี้จึงไม่อยากหรือไม่พร้อมมีลูก รวมถึงนำเสนอทางออกและความเป็นไปได้ทางนโยบาย

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.