จะแก้ ‘สุขภาพจิต’ ได้แค่ไหน ด้วยนโยบายแก้ ‘ยาเสพติด’ ?

แม้นโยบาย ‘Quick Win’ จะสามารถจัดตั้ง ‘มินิธัญญารักษ์’ ได้ครบทุกจังหวัดไปตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่โมเดลที่ประสบความสำเร็จของการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดแบบกระจายออกและใกล้ชุมชนมากขึ้น ทำให้ยังคงมีการเปิดมินิธัญญารักษ์เพิ่มเติมตลอดปี 2024 ที่ผ่านมา ไม่น้อยกว่า 15 แห่ง[1]รวบรวมโดย 101 PUB

นอกจากนี้ นโยบายด้าน ‘สุขภาพจิต’ ยังคืบหน้าไปอย่างมากทั้งในด้านการทำโทรจิตเวช (Telepsychiatry) ที่เริ่มต้นใช้งานเต็มรูปแบบ ให้บริการไปแล้วไม่น้อยกว่า 8.7 หมื่นครั้ง ในปีที่ผ่านมา[2]กรมสุขภาพจิต. 2024. https://dtc.dmh.go.th/SysReport201Dashborad# และที่สำคัญที่สุดคือการปรับเปลี่ยนระดับโครงสร้างการบริหารงาน ถ่ายโอนภารกิจบำบัดยาเสพติดจากกรมการแพทย์ให้กับกรมสุขภาพจิต[3]Hfocus. 2024. ‘กรมการแพทย์ เซ็นมอบอำนาจภารกิจบำบัดยาเสพติดให้กรมสุขภาพจิตแล้ว’. Hfocus.org. 2024. http://www.hfocus.org/content/2024/10/32032. ซึ่งจะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยยาเสพติดต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกันยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทิศทางนโยบายข้างต้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะแม้การทุ่มแก้ปัญหาผู้ป่วยยาเสพติดที่มีแนวโน้มคลุ้มคลั่งอาละวาดจะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข แต่เรื่องของ ‘สุขภาพใจ’ ก็ยังมีอีกหลายด้านเช่น ‘ภาวะซึมเศร้า’ ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายที่รัฐยังคงขาดยุทธศาสตร์เพื่อรับมืออย่างเป็นระบบ

รัฐเอาจริง ยกระดับการแก้ปัญหายาเสพติด

ราว 40% ของผู้ป่วยจิตเวชไทยเป็นผู้ป่วยที่ใช้สารเสพติด[4]Hfocus. 2024. ‘เปิดไทม์ไลน์ควบภารกิจจิตเวชสารเสพติด “กรมการแพทย์-กรมสุขภาพจิต” ตามนโยบาย “สมศักดิ์”’. Hfocus.org. 2024. http://www.hfocus.org/content/2024/07/31056. ที่ผ่านมา การบำบัดไม่ประสบความสำเร็จ ราว 57.5% กลับไปเสพซ้ำ เพราะขาดการยอมรับจากชุมชนและสังคมรอบข้าง[5]อรอุษา พรมอ๊อด. 2023. ‘มินิธัญญารักษ์ พร้อมไหม? ย้ายผู้เสพจากคุกมาอยู่ในโรงพยาบาล’. 2023. https://policywatch.thaipbs.or.th/article/life-5. จึงเป็นที่มาของนโยบายตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชเพิ่ม จากเดิมที่มีเพียง 37 แห่งใน 30 จังหวัด ขยายให้ครบทุกจังหวัด ไปจนถึงให้การบำบัดฟื้นฟูโดยชุมชนเป็นฐาน (CBTx) เพื่อให้การบำบัดเกิดขึ้นใกล้ชุมชนมากที่สุด

นโยบายเหล่านี้ได้รับการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ในรัฐบาลประยุทธ์ ภายหลังเหตุกราดยิงในจังหวัดหนองบัวลำภูซึ่งทำให้การรับมือผู้ป่วยจิตเวชที่เสี่ยงก่อความรุนแรง (SMI-V) กลายเป็นวาระสำคัญเร่งด่วน มีการนำร่องโครงการซึ่งในเวลาต่อมาถูกเรียกว่า ‘มินิธัญญารักษ์’ พร้อมทั้งจัดทำแผนเพิ่มกำลังคนด้านจิตเวชตั้งแต่ปี 2022[6]กรมสุขภาพจิต. 2022. โครงการเพิ่มการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพจิตเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพจิต. ซึ่งทำให้การเดินหน้าต่อในรัฐบาลเพื่อไทยทำได้อย่างรวดเร็วในลักษณะเดียวกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งเป็นส่วนผสมของการทำงานจากส่วนราชการและแรงหนุนจากรัฐบาลที่ช่วยให้นโยบายเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้

ผลที่เห็นได้ชัดคือในปี 2024 มีการรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเป็นผู้ป่วยในมากถึง 180,575 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 22.7%[7]กระทรวงสาธารณสุข. 2024. คำนวนโดย 101 PUB จากการเพิ่มจำนวนเตียง ขณะเดียวกัน ผลลัพธ์ของการนำร่องในเฟสแรกก็ทำให้โมเดลนี้ได้รับการยอมรับ และทำให้การถ่ายโอนภารกิจจากกรมการแพทย์ให้กรมสุขภาพจิตเป็นไปอย่างราบรื่น[8]Hfocus. 2024. ‘“กรมการแพทย์” หนุนปรับภารกิจดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดร่วม “กรมสุขภาพจิต”’. Hfocus.org. 2024. http://www.hfocus.org/content/2024/07/31136.

ดาบสองคมของการคุมเข้ม ‘โรคจิตเวช’

การตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างรวดเร็วเป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่องที่น่ากังวล ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาในเชิงบริหารจัดการ เช่น จัดงบประมาณไม่เพียงพอจนทำให้มินิธัญญารักษ์บางแห่งบำบัดได้ไม่ครบระยะเวลาตามแผน[9]Thai PBS. 2024. ‘ตัดงบฯ มินิธัญญารักษ์ กระทบผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด’. Thai PBS. 2024. https://www.thaipbs.or.th/news/clip/214154. หรือการที่บุคลากรไม่พร้อมจนเกิดกรณีทำร้ายผู้ป่วยเสียเอง[10]The Active. 2024. ‘สธ. สั่งทบทวนระบบดูแล “ผู้ป่วยจิตเวช” หลังกรณีเจ้าหน้าที่ รพ.กันทรลักษ์ ซ้อมคนไข้ดับ’. 11 December 2024. https://theactive.thaipbs.or.th/news/publichealth-20241211-2. ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือมาตรการซึ่งออกแบบมาเพื่อดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่เสี่ยงก่อความรุนแรง อาจทำให้การดูแล ‘สุขภาพใจ’ ในมิติอื่นถูกเบียดบัง และเสี่ยงสร้างผลไม่พึงประสงค์ตามมา

เพื่อตอบสนองต่อการเร่งรัดนโยบายและโจทย์ด้านยาเสพติด มินิธัญญารักษ์จำนวนหนึ่งถูกจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ทหารและตำรวจ ตัวอย่างเช่น มินิธัญญารักษ์อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจัดตั้งขึ้นในค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 20 วันก่อนนายกรัฐมนตรีเดินทางไปติดตามการดำเนินงาน และถูกนำเสนอว่าเป็น “การประยุกต์ใช้สาธารณสุขและวิธีทางทหารบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด”[11] กรมประชาสัมพันธ์. 2024 แม้จะพบว่าวิธีการนี้ใช้ได้ผลดี แต่หากพิจารณาถึงความต้องการดูแลจิตใจในภาพรวม รัฐอาจต้องคำนึงว่ายังมี ‘ผู้ป่วยใน’ จากอาการอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้าอีกราว 5 หมื่นคนต่อปี ซึ่งต้องการใช้โครงสร้างพื้นฐานทางจิตเวชนี้ร่วมกันด้วย

นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามโครงการมินิธัญญารักษ์ ที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 16 จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2024

ความคืบหน้าด้านนโยบายสุขภาพจิตอีกด้านหนึ่งได้แก่ การผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสุขภาพจิต ซึ่งมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งเป็นการจัดตั้ง ‘กองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ’ ให้อำนาจกรมสุขภาพจิตควบคุมข้อมูลข่าวสารที่คุกคามสุขภาพจิต เพื่อคุ้มครองสังคมจากการนำเสนอ ‘ข่าวปลอม’ และเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของประชาชนโดยเฉพาะในสื่อออนไลน์[12]Hfocus. 2024. ‘ร่างพรบ.สุขภาพจิต ผ่านรับฟังความคิดเห็น หนุน 98% เห็นด้วยตั้งกองทุนเฉพาะ’. Hfocus.org. 2024. http://www.hfocus.org/content/2024/08/31365. แม้ร่างนี้จะยังอยู่ในขั้นตอนปรับปรุงก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี แต่ควรต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่ากฎหมายลักษณะนี้อาจนำไปสู่การปิดกั้นการนำเสนอข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนได้เช่นกัน

สุขภาพใจที่ไม่ใช่โรค โจทย์ใหญ่ที่ยังไม่ได้แก้

ปี 2024 มีผู้ป่วยซึมเศร้าในระบบ 1,372,573 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 5.6% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีผู้เผชิญภาวะยากลำบากทางจิตใจอีกจำนวนมากซึ่งไม่ได้เข้ารับการรักษาในระบบสาธารณสุข ซึ่งอาจมีทั้งผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการ และผู้ที่ยังไม่ได้เป็น ‘โรค’ ผู้ที่มีปัญหานี้อาจไม่ได้เสี่ยงคลุ้มคลั่งทำร้ายคนอื่น และไม่จำเป็นต้องถูกนำไปกักตัว แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ ‘หลบหนี’ ไปจากภาวะดำดิ่งในใจตัวเองได้ยาก

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามจากภาคประชาสังคมและเอกชนในการสนับสนุนการสร้าง ‘สุขภาวะทางจิต’ (mental well-being) เพื่อ ‘ดูแลจิตใจก่อนจะป่วยเป็นโรค’ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมุ่งหวังที่จะสร้างทางเลือกใหม่ๆ เช่น ทำให้เข้าถึงนักจิตวิทยาการปรึกษาและนักบำบัดได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าที่ยังเพิ่มขึ้นก็แสดงให้เห็นว่ายังมีคนจำนวนมากที่ร่วงหล่นไปจนถึงขั้นที่ต้องพบจิตแพทย์ ซึ่งเป็นบุคลากรที่ยังมีน้อยและไม่กระจายตัวเพียงพอ การแก้ปัญหานี้จึงยังต้องการการขับเคลื่อนในระดับนโยบายรัฐเพื่อขยายการดูแลให้ครอบคลุมนอกพื้นที่การแพทย์มากขึ้นด้วย

101 PUB พบว่าในปี 2024 มีแนวโน้มทางนโยบายที่เริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลจิตใจลักษณะนี้มากขึ้น เช่น มีการจัดสรรงบประมาณจากสปสช.ให้สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพิ่มเป็น 70 ล้านบาท[13]The Coverage. 2024. ‘“สมศักดิ์” เผย 1 ต.ค.นี้ สายด่วนสุขภาพจิต เพิ่มบริการ ให้คำปรึกษาผ่าน “เทเลเมดิซีน” | TheCoverage.info’. 2024. https://www.thecoverage.info/news/content/7448. (จากเดิม 5 ล้านบาท) ซึ่งน่าจะช่วยให้สามารถเพิ่มจำนวนนักจิตวิทยาและคู่สายให้บริการได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงการ ‘เพิ่มนักจิตบำบัดในระบบบริการให้คำปรึกษา’ เป็นครั้งแรกในแผนการพัฒนาของกรมสุขภาพจิต[14]กรมสุขภาพจิต. 2024. นโยบายการพัฒนางานสุขภาพจิต ประจำปีงบประมาณ 2568. https://dmh.go.th/intranet/p2568/policyDMH2568.pdf 

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาซึมเศร้ายังคงต้องการยุทธศาสตร์และการผลักดันนโยบายในระดับโครงสร้างการบริหารราชการ เช่นเดียวกับกรณีของปัญหายาเสพติด เพราะงานดูแลจิตใจในโลกที่พลิกผันนี้ คงไม่ใช่งานที่กรมสุขภาพจิตเพียงหน่วยงานเดียวจะทำได้อย่างรอบด้าน เช่น แนวโน้มที่คนมองหาทางเลือกอื่นๆ เพิ่มขึ้นทำให้เกิดพื้นที่สีเทาของการล่วงละเมิดผู้รับบริการจิตบำบัด ซึ่งจะต้องอาศัยการผลักดันกฎหมายที่จะสามารถใช้กำกับดูแลนักจิตบำบัดอย่างเหมาะสมต่อไป


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ รีวิวนโยบายรัฐบาลส่งท้ายปี 2024 ของ 101 PUB

References
1 รวบรวมโดย 101 PUB
2 กรมสุขภาพจิต. 2024. https://dtc.dmh.go.th/SysReport201Dashborad#
3 Hfocus. 2024. ‘กรมการแพทย์ เซ็นมอบอำนาจภารกิจบำบัดยาเสพติดให้กรมสุขภาพจิตแล้ว’. Hfocus.org. 2024. http://www.hfocus.org/content/2024/10/32032.
4 Hfocus. 2024. ‘เปิดไทม์ไลน์ควบภารกิจจิตเวชสารเสพติด “กรมการแพทย์-กรมสุขภาพจิต” ตามนโยบาย “สมศักดิ์”’. Hfocus.org. 2024. http://www.hfocus.org/content/2024/07/31056.
5 อรอุษา พรมอ๊อด. 2023. ‘มินิธัญญารักษ์ พร้อมไหม? ย้ายผู้เสพจากคุกมาอยู่ในโรงพยาบาล’. 2023. https://policywatch.thaipbs.or.th/article/life-5.
6 กรมสุขภาพจิต. 2022. โครงการเพิ่มการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพจิตเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพจิต.
7 กระทรวงสาธารณสุข. 2024. คำนวนโดย 101 PUB
8 Hfocus. 2024. ‘“กรมการแพทย์” หนุนปรับภารกิจดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดร่วม “กรมสุขภาพจิต”’. Hfocus.org. 2024. http://www.hfocus.org/content/2024/07/31136.
9 Thai PBS. 2024. ‘ตัดงบฯ มินิธัญญารักษ์ กระทบผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด’. Thai PBS. 2024. https://www.thaipbs.or.th/news/clip/214154.
10 The Active. 2024. ‘สธ. สั่งทบทวนระบบดูแล “ผู้ป่วยจิตเวช” หลังกรณีเจ้าหน้าที่ รพ.กันทรลักษ์ ซ้อมคนไข้ดับ’. 11 December 2024. https://theactive.thaipbs.or.th/news/publichealth-20241211-2.
11  กรมประชาสัมพันธ์. 2024
12 Hfocus. 2024. ‘ร่างพรบ.สุขภาพจิต ผ่านรับฟังความคิดเห็น หนุน 98% เห็นด้วยตั้งกองทุนเฉพาะ’. Hfocus.org. 2024. http://www.hfocus.org/content/2024/08/31365.
13 The Coverage. 2024. ‘“สมศักดิ์” เผย 1 ต.ค.นี้ สายด่วนสุขภาพจิต เพิ่มบริการ ให้คำปรึกษาผ่าน “เทเลเมดิซีน” | TheCoverage.info’. 2024. https://www.thecoverage.info/news/content/7448.
14 กรมสุขภาพจิต. 2024. นโยบายการพัฒนางานสุขภาพจิต ประจำปีงบประมาณ 2568. https://dmh.go.th/intranet/p2568/policyDMH2568.pdf

วิจัย/เขียน

สรัช สินธุประมา

สร้างสรรค์ภาพ

สรัช สินธุประมา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปรึกษาหัวใจกับใครก็เหมือนกัน? แนวทางกำกับมาตรฐานนักจิตวิทยาการปรึกษา-จิตบำบัดอย่างสมดุล

ปัญหาการอวดอ้างชื่อและล่วงละเมิดผู้รับบริการ เรียกร้องให้ต้องมีการกำกับนักจิตวิทยาการปรึกษา/จิตบำบัด แต่การสร้างมาตรฐานให้การดูแลหัวใจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

กินยาต้านเศร้า vs เข้าวัดปฏิบัติธรรม: สองทางที่เลือกไม่ค่อยได้ของคนซึมเศร้า

เยียวยาจิตใจด้วยชีวการแพทย์ด้านเดียวอาจไม่พอและไม่ยั่งยืน แต่ทางเลือกอื่น เช่น การพบนักจิตวิทยาการปรึกษาก็ยังเป็นเรื่องยากในประเทศไทย

Policy What! EP.18: นโยบายสุขภาพจิต นอกกรอบ ‘การแพทย์’

แค่เพิ่มจิตแพทย์ เพิ่มการเข้าถึงบริการ เพียงพอแล้วหรือยังกับการดูแลสุขภาพใจคนไทย นโยบายรัฐต้องคิดถึงอะไรอีกบ้างเพื่อแก้วิกฤต ‘ซึมเศร้า’ ให้ถึงรากปัญหา ติดตามรับฟังในรายการ Policy What!

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.