ค่ายทหารในเมืองหลวง 5,200 ไร่ ควรเปลี่ยนเป็นอะไรบ้าง?

หนึ่งในวาระของการปฏิรูปกองทัพที่มักถูกยกขึ้นมาพูดถึงคือการย้ายหน่วยทหารออกจากเมืองหลวง คำถามที่ตามมาคือ พื้นที่ดังกล่าวควร ‘เปลี่ยน’ ให้เป็นอะไร? เนื่องในวาระวันกองทัพไทย 101 PUB ชวนอ่าน 2 บทความที่นำเสนอว่าพื้นที่ในเมืองควรถูกใช้สอยอย่างไร พื้นที่แบบไหนที่ยังขาดแคลนและควรมาแทนที่ค่ายทหารที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 5,200 ไร่ ในกรุงเทพมหานคร

หน่วยทหารในกรุงเทพมหานคร

กองทัพบกมีที่ดินในการครอบครองมากถึง 4,558,481 ไร่ หรือราว 1.41% ของที่ดินทั้งประเทศ[1]ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. “เมื่อที่ดินทหารขวาง (การพัฒนา) เมือง สู่จินตนาการถึงอำนาจประชาชนที่เหนือกองทัพ”, 2564. https://plus.thairath.co.th/topic/speak/100515. แม้ไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดของที่ดินทหารในกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อพิจารณาจากแผนที่ดาวเทียม สามารถประมาณพื้นที่ของที่ดินแปลงใหญ่อันเป็นที่ตั้งหน่วยทหารสำคัญได้ดังนี้

หน่วยทหารพื้นที่ (ไร่)
กรมทหารราบที่ 11 และพื้นที่ต่อเนื่อง (บางเขน)2,700
กรมทหารม้าที่ 1 และหน่วยอื่นๆ บนถนนทหาร (ดุสิต)970
กองพลทหารม้าที่ 2 และกรมทหารราบที่ 1 (พญาไท)750
กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 5 (หลักสี่)350
กองรักษาการณ์ มณฑลทหารบกที่ 11 (หลักสี่)215
กรมการสารวัตรทหารบก (พญาไท)160
กองพันทหารสื่อสารที่ 1 (สาทร)75
รวม5,220
หมายเหตุ: เฉพาะหน่วยทหารขนาดใหญ่ ไม่รวมอาคารสำนักงานและที่ดินอื่นๆ ของกองทัพ

ในปี 2018 มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทัพบก เพื่อร่างแผนจัดระเบียบที่ตั้งหน่วยทหาร พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในเวลานั้น กล่าวว่า “หน่วยตรงพื้นที่ใดที่ไม่มีความจำเป็นอาจทำเป็นปอดของกรุงเทพฯ เป็นสวนสาธารณะ คณะกรรมการฯ จะไปหารือกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม” [2]ข่าวสด. “ผบ.ทบ.แจงแล้ว ย้ายค่ายทหารออกนอกเมืองจริง แย้ม ‘ยุบ’ บางหน่วยด้วย!” ข่าวสด, 2561. https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_1542146. โดยจะเริ่มดำเนินงานใน 30 กันยายน 2019 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านมากว่า 4 ปี ได้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมเพียงหน่วยเดียวคือ การย้ายกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 พร้อมเรือนจำชั่วคราวสำหรับ ‘คดีความมั่นคง’ จากเขตดุสิตออกไปยังถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ [3]มติชนสุดสัปดาห์. “เปิดปูมคุกคดีความมั่นคง ‘มทบ.11’ ก่อนย้ายที่ใหม่ ภายใต้ชื่อ ‘เรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้อง’”. มติชนสุดสัปดาห์ (blog), 2562. … Continue reading การย้ายหน่วยทหารออกนอกกรุงเทพจึงยังคงเป็นนโยบายที่นักการเมืองหยิบยกขึ้นมานำเสนอ เพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นจริงตลอดมา เช่น ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2022[4]The Active. “(ว่าที่) ผู้ว่าฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร ในดีเบต ‘ปลุกกรุงเทพฯ’ | The Active”, 2565. https://theactive.net/data/bangkok-gubernatorial-debate/. รวมถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2023[5]เดลินิวส์. “‘เสรีพิศุทธ์’ เปิดนโยบายเด็ดเก็บอาวุธ หยุดความตาย ย้ายค่ายทหารพ้นกทม.” เดลินิวส์ (blog), 2566. https://www.dailynews.co.th/news/1703086/. แต่ข้อที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก คือเมื่อย้ายหน่วยทหารเหล่านี้ออกไปแล้ว ที่ดินเหล่านี้ควรถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่แบบใด

1. เปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง

บ้านเช่าที่มั่นคง: ทางแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตเมือง

ปัจจุบันราคาบ้านมีแนวโน้มเติบโตเร็วกว่ารายได้  การมีบ้านสักหลังจึงกลายเป็นฝันที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับคนเมืองส่วนใหญ่  โครงการสร้างบ้านของรัฐที่ผ่านมาก็ตั้งอยู่ไกลจากศูนย์กลางของเมืองและโครงข่ายขนส่งมวลชน  บ้านที่ตอบโจทย์ควรอยู่ใกล้แหล่งงาน รวมถึงปรับเปลี่ยนจากการขายขาดเป็นเช่าระยะยาวซึ่งสอดรับกับแนวโน้มการจ้างงานที่ยืดหยุ่น และวิถีชีวิตที่เคลื่อนย้าย

ในกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ทหารขนาดใหญ่อย่างน้อย 4 บริเวณในรัศมี 5 กิโลเมตรจากย่านศูนย์กลางธุรกิจ ได้แก่ พื้นที่ทหารในเขตสาทร ราชเทวี พญาไท และดุสิต

พื้นที่ทหารในเขตพญาไทมีเนื้อที่ประมาณ 750 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างถนนพหลโยธินช่วงสถานีรถไฟฟ้าสนามเป้ากับถนนวิภาวดีรังสิตช่วงสโมสรกองทัพบกถึงโรงพยาบาลทหารผ่านศึก หากนำที่ดินผืนนี้มาพัฒนาใหม่จะสามารถสร้างบ้านได้มากถึง 100,000 หน่วย โดยยังมีพื้นที่เชิงพาณิชย์สำหรับเป็นแหล่งงานและรายได้ รวมถึงมีพื้นที่สาธารณะสำหรับศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน แหล่งเรียนรู้ โรงพยาบาล สวน และบริการสาธารณะอื่นอีก 500 ไร่

อ่าน: บ้าน (เช่า) มั่นคงสำหรับทุกคน: ทางแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตเมือง
โดย วรดร เลิศรัตน์

2. เปลี่ยนเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป  พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด สนามกีฬา คือแหล่งเรียนรู้ 3 ลำดับแรกที่เด็กและเยาวชนไทยตอบว่าอยากให้มีใกล้บ้านมากที่สุด จากผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์ 

ผลสำรวจเยาวชน 2022 ยังพบว่า 1 ใน 3 ของเยาวชนในกรุงเทพฯ ไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้เลย  อุปสรรคสำคัญที่สุดคือการที่แหล่งเรียนรู้ตั้งอยู่ไกล โดย 41% เห็นว่า ระยะทางและการเดินทางเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถไปสถานที่เหล่านี้ได้มากนัก หน่วยทหารที่กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวนมากอยู่ติดกับแนวรถไฟฟ้า เช่น กรมทหารราบที่ 11 และกองพลทหารม้าที่ 2 (สายสีเขียวอ่อน) กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 5 (สายสีชมพู) ทั้งยังมีพื้นที่ขนาดใหญ่เกินพอที่จะพัฒนาเป็นได้ทั้งสวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด สนามกีฬา co-working space หรือศูนย์ฝึกทักษะอาชีพ

อ่าน: เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง
โดย สรวิศ มา

3. เปลี่ยนเป็นพื้นที่ของทุกคน

พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เรียนรู้ เป็นเพียงความเป็นไปได้ส่วนหนึ่งจากความต้องการที่มีมากมายนับไม่ถ้วนของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพ  ในอนาคต ไม่ว่าพื้นที่ ‘ความมั่นคง’ เหล่านี้จะถูกเปลี่ยนให้เป็นอะไร ประชาชนควรมีส่วนร่วมตัดสินใจ ร่วมสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับเมืองที่เป็นของทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนให้เป็นสวนสาธารณะตามที่คณะกรรมการที่กองทัพบกตั้งขึ้นมาหารือกันเอง

คุณอาศัยอยู่ใกล้ หรือเคยเดินทางผ่านหน่วยทหารในโพสนี้บ้างหรือไม่ คุณคิดว่าพื้นที่แปลงต่างๆ เหล่านั้นควรเปลี่ยนให้เป็นอะไรได้อีกบ้าง?

References
1 ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. “เมื่อที่ดินทหารขวาง (การพัฒนา) เมือง สู่จินตนาการถึงอำนาจประชาชนที่เหนือกองทัพ”, 2564. https://plus.thairath.co.th/topic/speak/100515.
2 ข่าวสด. “ผบ.ทบ.แจงแล้ว ย้ายค่ายทหารออกนอกเมืองจริง แย้ม ‘ยุบ’ บางหน่วยด้วย!” ข่าวสด, 2561. https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_1542146.
3 มติชนสุดสัปดาห์. “เปิดปูมคุกคดีความมั่นคง ‘มทบ.11’ ก่อนย้ายที่ใหม่ ภายใต้ชื่อ ‘เรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้อง’”. มติชนสุดสัปดาห์ (blog), 2562. https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_183893.
4 The Active. “(ว่าที่) ผู้ว่าฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร ในดีเบต ‘ปลุกกรุงเทพฯ’ | The Active”, 2565. https://theactive.net/data/bangkok-gubernatorial-debate/.
5 เดลินิวส์. “‘เสรีพิศุทธ์’ เปิดนโยบายเด็ดเก็บอาวุธ หยุดความตาย ย้ายค่ายทหารพ้นกทม.” เดลินิวส์ (blog), 2566. https://www.dailynews.co.th/news/1703086/.

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

วรดร เลิศรัตน์

วิจัย/เขียน

สรวิศ มา

เรียบเรียง/นำเสนอ

สรัช สินธุประมา

บทความที่เกี่ยวข้อง

บ้าน(เช่า)มั่นคงสำหรับทุกคน: ทางแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตเมือง

101 PUB ชวนผู้อ่านสำรวจปัญหาคนเมืองไม่สามารถมีบ้านที่ดี ชี้ถึงช่องโหว่ของหนึ่งในนโยบายสำคัญอย่างการสร้างบ้านขายให้ครัวเรือน พร้อมทั้งเสนอแนวทางเปลี่ยนนโยบายไปสู่การสร้างบ้านเช่าที่มั่นคง

เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง

101 PUB ชวนสำรวจพฤติกรรมการไปแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนไทย ผ่านผลสำรวจเยาวชน (Youth Survey 2022) และนโยบายสำหรับแหล่งเรียนรู้ควรปรับทิศทางไปอย่างไร

‘มอเตอร์ไซค์’ เส้นเลือดเลี้ยงชีวิตกรุงเทพฯ ที่ถูกมองข้าม: 3 ข้อเสนอนโยบายเพื่อผู้ขับขี่

‘มอเตอร์ไซค์’ เส้นเลือดเลี้ยงชีวิตกรุงเทพฯ ที่ถูกมองข้าม: 3 ข้อเสนอนโยบายเพื่อผู้ขับขี่

101 PUB ชวนทำความเข้าใจความสำคัญของมอเตอร์ไซค์ต่อกรุงเทพฯ สำรวจปัญหาของผู้ขับขี่ และเสนอแนวนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีสิทธิบนท้องถนนเสมอหน้ากับผู้ใช้ถนนกลุ่มอื่นมากขึ้น

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.