“ผมเป็นกัปตัน (ทีมฟุตบอล) พาทีมได้แชมป์ สพฐ. ตอนนั้นแข่งกับหลายโรงเรียนเลย…เมื่อ 4-5 เดือนก่อน ผมไปสอบโควตานักกีฬาที่ใหม่ ได้เรียนฟรีด้วย แต่ไม่มีหอ ต้องนั่งรถไปแถวดินแดง ก็วันละราวๆ ร้อยบาท เรียนไม่ถึงสองอาทิตย์ก็ออก มันไกลเกิน”
เยาวชนอายุ 15 ปี กรุงเทพฯ
เด็กคือผ้าขาว คือรากฐานสำคัญและทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ – เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินและคุ้นเคยกับแนวคิดดังกล่าวเป็นอย่างดี และเราจะปฏิเสธได้หรือว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อกาลเวลาหมุนผ่านไปทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มเติบโตขึ้นมาแทนที่ เหมือนที่หลายคนเคยพูดไว้ ประเทศของเราจะก้าวไปทางไหน เด็กในวันนี้คือผู้ตัดสิน
อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศไทย แม้เราจะมีนโยบายและมาตรการหลายอย่างที่เกิดขึ้นเพื่อเด็กและเยาวชน ฟูมฟักให้พวกเขาได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ทว่าคำถามสำคัญคือนโยบายและมาตรการเหล่านั้นครอบคลุมจริงหรือไม่ ในเมื่อยังมีเด็กเปราะบางอีกจำนวนมากที่ผู้กำหนดนโยบายไทยมองไม่เห็น และนโยบายที่ออกมาก็ยังเป็นนโยบายที่คล้ายจะไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ซ้ำร้ายบางครั้งยังเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มใหญ่ช่วงชิงทรัพยากรไปจากคนกลุ่มน้อย
จากการสำรวจของศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) พบว่า เด็ก เยาวชน รวมไปถึงครอบครัวไทยบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชายขอบ เป็นกลุ่มที่มักถูกมองข้าม ละเลย และไม่ได้รับความเข้าใจที่เพียงพอ กล่าวคือบ้านไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกกลุ่ม ระบบรองรับนอกบ้านก็ได้รับการลงทุนน้อยเกินไป ประกอบกับระบบการศึกษายังมีปัญหาเชิงคุณภาพทำให้เยาวชนไม่สามารถหางานที่ดีตามฝันได้
ถ้าพูดให้ถึงที่สุด พวกเขาเหล่านี้ต่าง ‘ไม่ถูกมองเห็น’ อย่างแจ่มชัดจากผู้กำหนดนโยบายที่ควรมีบทบาทในการสนับสนุนและเอื้อให้พวกเขาสามารถที่จะเดินตามความฝันไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้
101 ชวนอ่านเก็บความสาระสำคัญบางส่วนจาก เด็กและครอบครัวไทยที่ไม่ถูกมองเห็น: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2024 นำเสนอโดย วรดร เลิศรัตน์ และสรัช สินธุประมา นักวิจัยจากคิด for คิดส์ อ่านภาพความเปราะบางที่ถูกซ่อนไว้ของสังคมไทยผ่านกลุ่มเด็กเปราะบาง 4 กลุ่ม พร้อมทิ้งประเด็นท้าทายสำหรับผู้กำหนดนโยบายไปจนถึงสังคมและปัจเจก ทำอย่างไรที่เราจะมองทะลุให้เห็นความเปราะบางเหล่านี้ พร้อมร่วมกันหาวิธีโอบอุ้มเด็กและครอบครัวเปราะบางเอาไว้ ให้พวกเขาสามารถเดินและเติมเต็มความฝันของตนเองได้
เพราะในบางครั้ง การกล้าที่จะฝันและเดินตามความฝันนั้นควรเป็นสิทธิพื้นฐานอย่างหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมี
เด็กและเยาวชนครัวเรือนเกษตร: ชีวิตไม่แน่นอนภายใต้ธรรมชาติ-ตลาดผันผวน
เด็กและเยาวชนที่อยู่ในครัวเรือนเกษตรกรถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ 40 และเป็นกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยที่ค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ทั้งยังมีทรัพย์สินการเงินที่ต่ำกว่าและอยู่ใต้เส้นความยากจนมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเกือบเท่าตัว
ทั้งนี้ แม้ปัญหาความยากจนกับอาชีพเกษตรกรจะเป็นอะไรที่ถูกพูดถึงมาหลายยุคหลายสมัย แต่สิ่งที่ลึกลงไปกว่านั้น แต่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงคือ ปัญหาความไม่แน่นอนของการทำการเกษตร ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนของรายได้
ถ้าให้เห็นภาพชัดขึ้น เกษตรกรมีรายได้ที่ไม่แน่นอนในแต่ละปี เพราะพวกเขาต้องอิงกับปัจจัยการผลิตที่มีความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นน้ำ สภาพอากาศ การใช้สารเคมีฆ่าแมลง หรือความเสี่ยงในการเจอแมลงและศัตรูพืช โดยกลุ่มที่มีแนวโน้มจะเจอภาวะดังกล่าวมากเป็นพิเศษคือ กลุ่มครัวเรือนเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน และยิ่งซ้ำเติมด้วยภาวะโลกเดือด (global boiling)
ไม่ใช่แค่ปัจจัยด้านธรรมชาติเท่านั้น แต่กลไกตลาดโลกก็มีผลเช่นกัน โดยผู้วิจัยยกตัวอย่างย้อนหลัง 10 ปีที่ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงปริมาณผลผลิตและราคาผลผลิตในแต่ละปีอาจสูงได้ถึงร้อยละ 9-10 โดยในปี 2013 ราคาผลผลิตลดลงประมาณร้อยละ 10 ภายในปีเดียว แต่เมื่อขยับมาที่ปี 2020 ปริมาณผลผลิตลดลงถึงร้อยละ 15
ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าปัจจัยต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอน แถมมาตรการของรัฐบาลที่ควรจะออกมาช่วยเหลือตรงนี้กลับกลายเป็นมาตรการในเชิงอุดหนุน เช่น มาตรการจำนำข้าว ประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งไม่สามารถเป็นเบาะรองรับความไม่แน่นอนทางรายได้ เพราะเงินช่วยเหลือเทไปที่เกษตรรายใหญ่มากกว่า
นอกจากรายได้ไม่แน่นอน ผู้วิจัยชี้ว่าเกษตรกรยังต้องพบกับปัญหารายได้ไม่คงที่ กล่าวคือในช่วงหนึ่งปี ครัวเรือนหนึ่งอาจจะมีกำไรจากการเกษตรที่เป็นตัวเงินในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวและการขายผลผลิตใหม่ๆ แต่ถ้าฤดูกาลทำการเกษตรลากยาวหลายเดือนก็ยิ่งต้องใช้เงินหลายเดือน ทำให้มีแนวโน้มลดลงและวนไปเรื่อยๆ ทำให้เกษตรกรต้องไปหารายได้ทางอื่น อาทิ การรับจ้างทั่วไป ซึ่งอาชีพเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรหรือทรัพยากรธรรมชาติซึ่งจะผันผวนไปในทิศทางใกล้เคียงกัน
เมื่อขยับมาที่ผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ในระยะสั้นหรือช่วงที่ขาดรายได้ ผู้วิจัยชี้ว่าครอบครัวเกษตรกรจำเป็นต้องลดการอุปโภคบริโภคลง แม้ว่าครอบครัวส่วนมากจะพยายามทำให้เด็กได้รับผลกระทบเป็นคนสุดท้าย กล่าวให้ชัดขึ้นคือ ผู้ใหญ่ยอมอดยอมหิวมากกว่าปล่อยให้ลูกหลานอด แต่หากขาดรายได้ไปมาก เด็กก็จำเป็นต้องแบกรับผลกระทบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดการบริโภคอาหาร ลดจำนวนเงินค่าขนมที่นำไปโรงเรียน และซ้ำร้าย หากมีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่เข้ามาช่วงที่ขาดรายได้มากๆ เช่น เปิดเทอมใหญ่ ครอบครัวก็อาจจะต้องหันไปหาการกู้ยืมเงินเพื่อนำเงินมาหมุน
นอกจากการขาดรายได้แล้ว เยาวชนยังอาจต้องช่วยครอบครัวทำงานด้วย โดยเฉพาะในครอบครัวที่ประสบปัญหารุนแรง และแม้เด็กจะพยายามเลี่ยงเวลาเรียนแล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดจากการทำงานหนักย่อมกระทบชีวิตการเรียน ทำให้เด็กอ่อนเพลีย เรียนได้ไม่เต็มที่ เสียเวลาการเรียนรู้ ไปจนถึงการต้องหยุดเรียนชั่วคราวเพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว
สิ่งที่น่ากลัวกว่าผลกระทบระยะสั้นที่กล่าวมาคือผลกระทบระยะยาว กล่าวคือแม้ครอบครัวส่วนมากจะพยายามให้บุตรหลานตนเองเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทว่าเมื่อรายได้ไม่แน่นอนทำให้เยาวชนไม่กล้าที่จะฝันกว้างไกลหรือคิดทะเยอทะยานท้าทาย เพราะเมื่อเด็กไม่รู้ว่ารายได้ในสัปดาห์หน้า เดือนหน้า หรือฤดูกาลหน้าจะเป็นเช่นไร พวกเขาจึงไม่กล้าลงทุนกับสิ่งที่จะเห็นผลระยะยาวอย่างการศึกษาหรือการเรียนในระดับสูงขึ้น แต่เลือกจะจำกัดความฝันของตัวเองไว้ที่เป้าหมายที่เห็นได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน และชัดเจน จนบางครั้งสิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กเลือกลาออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานหารายได้
อีกปัจจัยที่มาประกอบกันคือบริบทสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชนบทที่ทำให้เด็กไม่อาจคิดฝันถึงงานที่กว้างไกลกว่าขอบเขตเดิมได้ ผู้วิจัยค้นพบว่างานร้อยละ 90 ที่อยู่ในชนบทหรือภาคการเกษตรเป็นงานที่ใช้ทักษะต่ำถึงปานกลาง ทำให้เด็กจำนวนมากฝันถึงอาชีพในอนาคตได้อย่างจำกัด เช่น พนักงานทวงหนี้นอกระบบ คนขายของชำ พนักงานร้านสะดวกซื้อ เด็กปั๊ม ไปจนถึงกรรมกรก่อสร้างหรือคนขับรถโดยสาร
และเมื่อไม่อาจฝันได้กว้างไกล พวกเขาก็ไม่เห็นความจำเป็นต้องเดินต่อไปในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น
ไม่ใช่แค่เรื่องปัจเจกหรือสภาพแวดล้อม แต่ระบบการศึกษาก็มีผลเช่นกัน รายงานฯ บ่งชี้ว่า การศึกษาที่เข้าถึงยากและมีคุณภาพต่ำเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เด็กหลายคนรู้สึกว่าเรียนไปไม่คุ้มค่า หากเจาะจงไปในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ที่มีครัวเรือนเกษตรกรหนาแน่น เด็กต้องพบกับอุปสรรคหลายอย่างในการเข้าสู่ระบบการศึกษา อาทิ สถานศึกษาอยู่ห่างไกลบ้านของเด็ก ทำให้เด็กจำนวนมากต้องนั่งรถข้ามอำเภอ หรือแม้กระทั่งข้ามจังหวัด เพื่อไปโรงเรียนในทุกๆ วัน
ถ้าพูดให้ชัดขึ้น ครัวเรือนเกษตรกรต้องใช้ค่าเดินทางไปเรียนสูงกว่าครัวเรือนในเมืองถึงร้อยละ 0.3 ทั้งที่มีรายได้ต่ำกว่า
จะเห็นว่าการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มนี้มีต้นทุนสูงและต้องเจอกับอุปสรรคเยอะ ซ้ำร้ายพวกเขายังรู้สึกว่าผลที่ได้รับกลับมาไม่คุ้มค่า โดยผลการประเมินจากการสอบ PISA ปี 2022 พบว่า คุณภาพการศึกษาชนบทต่ำกว่าการศึกษาในเมืองหรือประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ครอบครัวก็ยังไม่สามารถผลักดันพวกเขาได้ เพราะครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากเป็นครัวเรือนแหว่งกลางและมีช่องว่างระหว่างวัย ประกอบกับการที่ผู้ปกครองในครัวเรือนเกษตรกรไม่อาจเข้าถึงการศึกษาได้สูงนัก ยังไม่นับว่าครัวเรือนแหว่งกลางมักมีสมาชิกที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมากขึ้น อาทิ ผู้ป่วยหรือผู้ป่วยติดเตียง จึงต้องหาผู้ดูแลหรือผู้หารายได้ทดแทน และหลายครั้ง เด็กคือผู้ที่ต้องรับบทบาทนี้ ทำให้เขาไม่กล้าฝันไกลและไม่กล้าเติมเต็มความฝันของตน
แม้คำว่าความฝันอาจฟังดูนามธรรม แต่ผู้วิจัยชี้ว่าความฝันคือสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้ เพราะก้าวแรกที่จะบอกได้ว่า เราจะเดินไปได้ไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราฝันได้ไกลแค่ไหน และในขณะเดียวกันเด็กจะกล้าฝันไกลแค่ไหนขึ้นกับว่าสังคมและรัฐบาลสนับสนุนเขามากแค่ไหนด้วย
ดังนั้น ผู้วิจัยจึงให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า รัฐบาลควรพยายามเติมรายได้พื้นฐานด้วยการเติมเงินอุดหนุนของเด็กวัยเรียนให้เพียงพอ เป็นเครื่องป้องกันจากความไม่แน่นอนของรายได้จากการเกษตร รวมถึงแก้ปัญหาค่าเดินทางด้วยการจัดตั้งระบบรถโรงเรียนหรือรถสาธารณะเชื่อมเด็กกับโอกาส
ที่สำคัญ การลงทุนในคุณภาพการศึกษายังเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ซึ่งรัฐควรเร่งลงทุนควบคู่กับการกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจ และสามารถจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ให้มากที่สุด โดยไม่ลืมส่งเสริมทักษะการเลี้ยงดูให้ผู้ปกครองในเชิงรุก เพื่อเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กกล้าฝันและเติมเต็มความฝันมากที่สุด
เด็กและเยาวชนจนเมือง: เมืองศูนย์กลางแห่งโอกาสกลับกลายเป็นอุปสรรคความฝัน
กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของประเทศไทยและเป็นแหล่งรวมประตูแห่งโอกาสหลายอย่าง ถ้าให้เห็นภาพชัดขึ้น มหาวิทยาลัยร้อยละ 21 ของประเทศอยู่ที่กรุงเทพฯ มีงานทักษะสูงคิดเป็นถึงร้อยละ 19.6 และแม้จะเป็นเพียงจังหวัดเดียว แต่กลับมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศ
ไม่เกินจริงหากจะบอกว่ากรุงเทพฯ คือเมืองแห่งโอกาสที่โอบรับเอาความเจริญไว้กับตัว และดึงดูดผู้คนจำนวนมหาศาลตามจังหวัดต่างๆ ให้เดินทางเข้ามาไขว่คว้าโอกาสที่นี่
แต่หากเรากำลังคิดว่า เด็กที่อาศัยอยู่ในเมืองจะมีโอกาสมากกว่าเด็กจากชนบทแล้วละก็ นั่นอาจไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง เพราะเมืองแห่งโอกาสกลับกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความฝันเด็ก เด็กจนเมืองไม่อาจเข้าถึงโอกาสหลายอย่างเพราะต้นทุนแฝงบางอย่าง
นักวิจัยฉายภาพว่า คนจนเมืองในกรุงเทพฯ มีหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มชุมชนเมือง กลุ่มที่อยู่ในแคมป์ก่อสร้าง เด็กเร่ร่อนหรือไร้บ้าน แต่ที่มีจำนวนมากที่สุดคือเด็กที่อยู่ในชุมชนแออัดที่มีประมาณ 633 ชุมชนในกรุงเทพฯ และเป็นที่อยู่ของครัวเรือนประมาณ 1.4 แสนครัวเรือน และในจำนวนแสนกว่าครัวเรือนนี้เองที่มีเด็กอยู่ถึงประมาณ 1.7 แสนคน มากกว่าครึ่งต้องอยู่ในบ้านที่มีสภาพไม่ค่อยดี (ร้อยละ 63) หรือทรุดโทรมไม่แข็งแรง (ร้อยละ 70) ซ้ำยังมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายเกือบ 5 พันบาท และมีอัตราการพึ่งพิงสูง
หากให้ไล่เรียงชีวิตคนคนหนึ่งเป็นไทม์ไลน์ การเข้าไม่ถึงโอกาสเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของชีวิตคนจนเมือง ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า เด็กอายุ 3-18 ปีเกือบ 8 แสนคนไม่มีชื่อในระบบการศึกษา และเป็นการตกหล่นตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงร้อยละ 40 ซึ่งจะทำให้เด็กกลุ่มนี้พลาดโอกาสการได้มีพัฒนาการสมวัยและขาดการสะสมต้นทุนสำหรับทักษะระยะยาวของชีวิต
อีกประเด็นที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงคือ สุขภาพช่องปาก นักวิจัยชี้ว่าเด็กที่เป็นคนจนเมืองเข้าถึงบริการทันตกรรมน้อยมาก ซึ่งจะกระทบกับการบดเคี้ยวเรื้อรัง ปวดฟันเรื้อรัง ทำให้มีสมาธิในการเรียนน้อยลง และกระทบการเรียนรู้ในระยะยาว
ขยับมาที่เรื่องอาชีพ จริงอยู่ว่างานทักษะสูงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ แต่งานเหล่านั้นก็สูงเสียจนหลายคนไม่อาจเอื้อมถึง โดยเฉพาะคนจนเมือง ที่แม้จะมีโอกาสเรียนจบสูงกว่าพ่อแม่ของตนเอง แต่กลับเลื่อนฐานะไม่ได้ และประเด็นที่น่าสนใจคือ คนชานเมืองสามารถเลื่อนฐานะจากรุ่นพ่อแม่ได้ไวกว่าคนในเมือง เพราะมีงานที่สอดคล้องกับวุฒิการศึกษาและทักษะของเขามากกว่า
อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญของคนจนเมืองคือ ‘ความแพง’ ของการศึกษา ซึ่งหมายถึงทั้งค่าใช้จ่าย เช่น ค่าชุดนักเรียน ที่แม้จะมีการอุดหนุนชุดนักเรียน แต่ร้อยละ 90 ของเด็กและเยาวชนในชุมชนจนเมืองไม่มีเงินออม ทำให้ไม่มีกระแสเงินสดสำรองจ่ายเงินไปก่อนได้ อีกประการหนึ่งที่คล้ายกับเด็กจากชุมชนเกษตรกรรมคือค่าเดินทาง ที่แม้ระยะทางไปถึงโรงเรียนจะใกล้กว่าระยะทางที่เด็กในต่างจังหวัดต้องเผชิญ แต่ด้วยลักษณะโครงสร้างขนส่งมวลชนของกรุงเทพฯ ไม่ได้เอื้อให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเดินทางได้ง่ายๆ อีกทั้งค่าเดินทางเฉลี่ย 30-100 บาท/วัน ก็สูงเกินกำลังรายได้ของเขา
ความแพงคืออีกด้านของการศึกษาคือค่าเสียโอกาส เพราะหลายครั้งที่การไปโรงเรียนสำหรับเด็กยากจนหมายถึงการต้องเลือกโอกาสหนึ่งและละทิ้งอีกโอกาสไป ตัวอย่างเช่น เด็กที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมากต้องหยุดเรียนในช่วงประเพณีถือศีลอดของชาวมุสลิม เนื่องจากช่วงนั้นจะมีการให้ทานตามความเชื่อ (ซะกาต) ซึ่งคนมักเลือกให้เงินกับเด็กมากกว่า ทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องถูกพาไปตระเวนตามมัสยิดต่างๆ ใจกลางเมืองเพื่อขอรับทาน หรือในภาพรวม กรุงเทพฯ มีงานมากมายที่ทำให้เด็กเข้าถึงง่าย เด็กหลายคนจึงยอมออกจากระบบการศึกษาเพื่อทำงาน หรือเปลี่ยนจากการศึกษาในสายสามัญไปที่สายอาชีพแทน เพราะมองว่าเป็นแหล่งประกันรายได้ให้ครอบครัวได้ดีกว่า
ไม่ใช่แค่การขาดแคลนทุนทรัพย์หรือเงินทอง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เด็กจนเมืองขาดแคลนคือทุนทางสังคม หลายครัวเรือนอยู่ในลักษณะทุนทางสังคมติดลบ ถ้าพูดให้ชัดขึ้น งานวิจัยฉายภาพว่าในกรุงเทพฯ การใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนที่ ‘ยากจนที่สุด’ และครัวเรือน ‘บนสุด’ ต่างกันถึง 12 เท่า และไม่ใช่แค่คุณภาพการศึกษา แต่เด็กจนเมืองที่เรียนในเมืองต้องตกเป็นเป้าการถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง ทำให้เด็กจำนวนมากไม่อยากกลับไปโรงเรียนอีก
เพราะฉะนั้น เมื่อเราพูดถึงเด็กที่หลุดจากออกระบบการศึกษา อาจไม่สามารถมองได้ว่าเกิดจากการละเลยของผู้ปกครอง ติดเพื่อน หรือแค่ไม่อยากไปโรงเรียน แต่ต้องตั้งคำถามและมองไปถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำว่าทำให้เขาไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเพื่อนได้หรือไม่ มีอะไรมากไปกว่าระดับปัจเจกที่กีดกันเขาออกจากโอกาสทางการศึกษาหรือไม่
อีกเรื่องที่อาจคาดไม่ถึงคือ ทุนทางสังคมที่ติดลบรุนแรงในระดับผู้ใหญ่ย่อมส่งผลกระทบกับเด็กด้วย นักวิจัยเล่าประสบการณ์จากการลงพื้นที่ว่า ในชุมชนแออัดมักมีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกัน ทว่าด้วยภาวะความยากจนบีบให้คนยากจนส่วนหนึ่งต้องแบ่งพรรคแบ่งพวกและแก่งแย่งผลประโยชน์กันจากภายนอก ทำให้เด็กพลอยติดร่างแหความขัดแย้งและเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือบางส่วน เพียงเพราะผู้ปกครองไม่ชอบหน้ากัน
เช่นเดียวกับอีกหลายเรื่อง สถานการณ์ทุนสังคมที่ติดลบของคนจนเมืองถูกซ้ำเติมให้แย่ลงด้วยโรคระบาดและการทำให้กลายเป็นย่านผู้ดี (gentrification) กล่าวคือในช่วงโรคระบาด โรงเรียนต้องเปลี่ยนจากการเยี่ยมบ้านเป็นการคุยโทรศัพท์ ซึ่งยากกว่าการเยี่ยมบ้านเสียอีก อีกทั้งครูหลายคนก็ไม่สามารถกลับเข้าไปในชุมชนได้แม้โรคระบาดจะสงบแล้วเพราะการไล่รื้อ ยิ่งสร้างบรรยากาศของความไม่ไว้วางใจให้เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ครูเข้าใจปัญหาของนักเรียนได้น้อยลง และทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น
โควิด-19 ยังทำให้ผู้ประกอบอาชีพหาบเร่แผงลอยที่เป็นอาชีพหลักของคนจนเมืองลดลงอย่างมาก ทั้งจากต้นทุนสูง นโยบายการจัดระเบียบเมือง การเปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภคของคนเมืองที่หันไปใช้บริการ food delivery แทน กระทบกับผู้สูงอายุที่ประกอบอาชีพนี้มานานและหาอาชีพใหม่ไม่ได้
ถ้าพูดให้ถึงที่สุด หลายคนอยู่ที่กรุงเทพฯ มาราว 40-50 ปี แต่การพัฒนาเมืองระยะหลังที่มองไม่เห็นหัวคนจนเปลี่ยนสถานะพวกเขาจาก ‘ผู้บุกเบิก’ เป็น ‘ผู้บุกรุก’ และเมื่อเราพูดถึงคนจนเมือง นั่นไม่ได้หมายรวมแค่คนในเมือง แต่ปัญหาความยากจนในเมืองล้วนเชื่อมกับนอกเมืองไปจนถึงประเทศ เพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้ตั้งอยู่โดดๆ โดยไม่เชื่อมต่อกับใคร ปัญหามากมายที่รายล้อมกรุงเทพฯ ทำให้ขนาดของปัญหาใหญ่ขึ้น ประกอบกับการที่กลไกหลายอย่างของเมือง อาทิ กลไกคุ้มครองเด็ก ไม่ได้สัดส่วนกับปัญหา ทำให้เอกชนและมูลนิธิต้องเข้ามาปิดช่องโหว่
ในตอนท้าย ผู้วิจัยเสนอแนะวิธีการช่วยให้คนจนเมืองหลุดจากวงจรดังกล่าวว่า รัฐบาลควรพยายามทำความเข้าใจเงื่อนไขชีวิตคนจนเมืองให้มากขึ้น รวมถึงพยายามลดต้นทุนโอกาสให้เขาเข้าใกล้ความฝันได้มากขึ้น เพราะความช่วยเหลือของรัฐปัจจุบันเป็นแบบเฉพาะหน้าที่ช่วยแค่ให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไป แต่ไม่ช่วยให้ตั้งตัวได้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว คนกลุ่มนี้อยากประกอบอาชีพเพื่อแบ่งเบาภาระและส่งลูกหลานเข้าเรียน รัฐจึงควรมองถึงการสร้างอาชีพให้คนกลุ่มอื่นด้วย
อีกส่วนหนึ่งคือ การอุดหนุนด้านการศึกษาที่ควรครอบคลุมค่าใช้จ่ายอื่น อาทิ ค่าเดินทาง และการพัฒนาบริการสาธารณะหลายๆ อย่างของกรุงเทพฯ นั่นหมายรวมถึงการที่รัฐอาจช่วยเติมทรัพยากรและปล่อยมือจากส่วนกลาง ปล่อยให้ท้องถิ่นมีอำนาจการบริหารจัดการที่คล่องตัวมากขึ้น
เพราะถ้าพูดให้ถึงที่สุดแล้ว การจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับทุนทางสังคมอาจต้องมองไปถึงแนวโน้มทิศทางการพัฒนาเมือง ให้สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง (the rights to the city) ทำให้คนจนเมืองมีโอกาสในการร่วมคิดและร่วมวางแผนออกแบบเมือง ซึ่งจะเป็นเมืองที่สมดุลและทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสได้อย่างเสมอภาค
สามเณร: ร่มกาสาวพัสตร์ไม่ใช่ทางเลือกเสรี แต่คือ ‘ทางรอดที่มืดมน’
หากพูดถึงการเป็นสามเณรแล้ว หลายคนอาจติดภาพว่าเป็นนักบวชรุ่นเยาว์ในพุทธศาสนาที่บวชเพื่อเรียนธรรมะต่างๆ แต่งานวิจัยฉบับนี้ชี้ว่า ภาพดังกล่าวอาจไม่ใช่อย่างที่คิดเสมอไป
ผู้วิจัยชี้ว่า ไทยมีสามเณรระยะยาวอยู่ประมาณ 73,620 รูป ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.7 ของจำนวนประชากร 7-19 ปี โดยพื้นที่ที่มีสามเณรหนาแน่นที่สุดคือในภาคเหนือและพื้นที่กรุงเทพฯ ประเด็นที่น่าสนใจคือ จำนวนสามเณรเพิ่มขึ้นเกินครึ่งในช่วงโควิด-19 ซึ่งสวนทางกับจำนวนสามเณรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ไม่ได้มาจากการสนใจศาสนาขึ้นอย่างกะทันหัน แต่สะท้อนให้เห็นปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังการบวช ดังที่ผู้วิจัยได้ลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อสัมภาษณ์สามเณรที่บวช และพบว่าไม่มีใครตอบว่าบวชเพราะสนใจหรืออยากศึกษาศาสนาเลย แต่การบวชมาจากเหตุผลสองประการ
ประการแรก คือ ปัญหาความยากจน เพราะเมื่อครัวเรือนไม่มีรายได้พอที่จะเลี้ยงดูบุตรหลาน จึงตัดสินใจส่งให้ลูกหลานเข้าสู่รั้ววัดเพื่อให้เข้าถึงอาหาร ที่อยู่อาศัย ปัจจัยดำรงชีพพื้นฐาน และการศึกษาผ่านการเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ ซึ่งจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ข้อมูลปัจจุบันจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่า เด็กอายุ 7-19 ปีมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 54) อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงเด็ก เท่ากับว่าเด็กจำนวนมากอยู่ในภาวะเสี่ยงรายได้ไม่เพียงพอ ประกอบกับเหตุผลประการที่สองคือครอบครัวไม่สมบูรณ์และไม่พร้อมดูแล โดยสามเณรจำนวนมากมักมาจากครอบครัวที่ไม่พร้อมหน้าหรือครอบครัวมีปัญหา และไม่มีญาติที่พร้อมจะอุปการะ
ถ้าพูดให้ถึงที่สุด การเพิ่มขึ้นของสามเณรในช่วงโรคระบาดที่ผ่านมาเป็นภาพสะท้อนของปัญหาความยากจนและครอบครัวไม่สมบูรณ์
อย่างไรก็ดี แม้การบวชและโรงเรียนพระปริยัติธรรมจะเหมือนเป็นทางรอดของเด็กหลายคน แต่ทั้งวัดและโรงเรียนพระปริยัติธรรมไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสมให้เด็กคนหนึ่งสามารถเติบโตและมีการเรียนรู้ได้ตามช่วงวัย เห็นได้จากสถิติที่น่าสนใจว่า ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญมีอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคันสูงมาก (ร้อยละ 30 สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมีแค่เกือบครึ่งหนึ่งที่เลือกจะศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต่อ) โดยสาเหตุของการออกกลางคันมีหลากหลาย ทั้งสถานการณ์รายได้ของครอบครัวดีขึ้น หรือมีทางเลือกอื่นในชีวิต
แต่ที่น่าสนใจคือ สามเณรจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถเติบโตและเรียนรู้ได้ในพื้นที่วัดอย่างมีความสุข ทำให้พวกเขาต้องออกไปเพราะ ‘ทนอยู่แบบนี้ไม่ได้’
ถ้าให้ขยายความในประเด็นนี้ สามเณรรู้สึกว่าตนเองติดแอกทางศีลธรรมบางอย่าง เพราะการเป็นนักบวชทางศาสนาทำให้สามเณรต้องปฏิบัติตนตามข้อกำหนดทางศีลธรรม ซึ่งหลายครั้งขัดกับพัฒนาการตามช่วงวัยที่ควรจะเป็น ซึ่งต้องการกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การออกกำลังกาย การคิดเชิงสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ หรืออิสระในการแต่งกาย แต่สิ่งเหล่านี้ถูกห้ามในพื้นที่วัดภายใต้บริบทของศาสนจักรไทย ซึ่งมีลักษณะยึดติดและเป็นอำนาจนิยมในระบบการปกครองสงฆ์
ลักษณะดังกล่าวนี้เองทำให้การคิดวิพากษ์ในรั้ววัดแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ขณะที่คุณค่าและการควบคุมตัวเองก็ถูกผูกติดกับศีลและการปกครองของพระผู้ใหญ่ที่สามารถควบคุมตนเองได้อย่างเหมาะสม พร้อมไปกับการที่การมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกรั้ววัดเป็นสิ่งที่ถูกมองว่า ผิดธรรมชาติ ทำให้สามเณรที่เป็นวัยรุ่นคนหนึ่งไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์หรือทักษะได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งจะกระทบกับการใช้ชีวิตในสังคมภายนอกเมื่อออกจากรั้ววัดต่อไป
แอกทางศีลธรรมยังครอบคลุมถึงการทำผิดพลาดไม่ได้ ซึ่งขัดกับธรรมชาติการเรียนรู้ของวัยรุ่นที่จำเป็นจะต้องเคยทำผิดพลาดและเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น แต่การมองสามเณรเป็นนักบวช และการทำผิดพลาดเท่ากับการทำให้ศาสนามัวหมอง อาจเป็นที่ติฉินนินทาของชุมชนและสังคมรอบข้าง จึงมักลงท้ายด้วยการที่วัดอาจบีบให้สามเณรออกจากพื้นที่วัด
และแม้สามเณรบางส่วนจะสามารถปรับตัวและอยู่ในระบบได้ในระยะยาว แต่จากการลงพื้นที่ของนักวิจัยพบว่า สามเณรเกือบทั้งหมดตัดสินใจสึกหลังจากจบมัธยมปีที่ 3 หรือ 6 มีจำนวนน้อยมากที่มีความฝันว่าอยากจะเป็นเจ้าอาวาสหรืออยู่ในรั้ววัดต่อ คล้ายคลึงกับเด็กกลุ่มอื่นที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมไม่ได้ช่วยเติมเต็มหรือขยายความฝันนอกรั้ววัดของเขา ซึ่งมาจากการที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมมีทรัพยากรจำกัดและขาดแคลนครู อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำสูง เพราะยิ่งวัดใหญ่ อยู่ในพื้นที่ชุมชนที่มีชื่อเสียง ก็สามารถระดมทรัพยากรเพื่อจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้มากกว่า
นักวิจัยชี้ว่า ในแง่หนึ่ง ปัญหานี้เกิดจากบทบาทที่ทับซ้อนกันของโรงเรียนและวัด คือเป็นทั้งศาสนสถานและสถาบันจัดการศึกษา หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว วัดอาจไม่ควรถูกบีบให้ทำหน้าที่จัดการศึกษาเช่นนี้ เรื่องนี้จึงสะท้อนถึงความขาดแคลนของนโยบายรัฐ ทั้งสวัสดิการเงินโอน เงินอุดหนุนสำหรับเด็กในวัยเรียน หรือเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐาน รวมถึงสถานรองรับเด็ก
ในตอนท้าย งานวิจัยจึงกล่าวถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า รัฐควรแก้ปัญหาด้วยการสนับสนุนให้เด็กได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น รวมถึงแก้ปัญหาความยากจนในครัวเรือน เปิดโอกาสให้เด็กได้อยู่พร้อมหน้ากับผู้ปกครอง พร้อมไปกับการเพิ่มโอกาสและลดต้นทุนการศึกษาให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และในกรณีที่เด็กไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ ควรสนับสนุนการรับอุปถัมภ์เด็กในรูปแบบครอบครัวอุปถัมภ์และจัดสถานที่รองรับของรัฐให้เพียงพอและเหมาะสม
นอกจากนี้ ในระยะเปลี่ยนผ่าน ยังควรปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ อนุญาตให้สามเณรได้เรียนวิชาร่วมไปด้วย เพื่อทำให้สามเณรที่ฝันจะออกมาใช้ชีวิตนอกวัดสามารถปรับตัวและเติมเต็มความฝันของตนเองได้ในที่สุด
นักเคลื่อนไหวทางการเมือง: บาดแผลและความหวังหลังควันจาง
กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นกลุ่มที่เคยอยู่กลางสปอตไลต์ของสังคม โดยเฉพาะในช่วงการชุมนุมปี 2563-2564 แต่ในปัจจุบัน กระแสดังกล่าวเริ่มซาลง โดยที่สังคมส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่า เด็กอายุน้อยกว่า 18 ปีคนแรกที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมในปี 2563 ยังคงอยู่ภายใต้การคุมประพฤติซึ่งจะสิ้นสุดลงในปีนี้
งานวิจัยฉายภาพว่า นับตั้งแต่การชุมนุมในปี 2563 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 1,954 คน และมีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถึง 286 คน นอกจากนี้ ยังมีการติดตามคุกคามถึงบ้านที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุค คสช. และยังมีอยู่แม้จะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผู้วิจัยแยกเยาวชนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือสายจัดชุมนุม ปราศรัย หรือประสานงานต่างๆ เช่น แกนนำนักเรียนนักศึกษา ม็อบโบว์ขาว ที่จำนวนหนึ่งกลับไปเรียนหนังสือหรือทำงานต่อ และกลุ่มที่สองคือเยาวชนสายทะลุ เช่น กลุ่มทะลุแก๊ส ที่ถูกบีบด้วยเงื่อนไขต่างๆ อาทิ ความจนตรอกช่วงโควิด-19 หรือบางคนต้องถูกไล่ออกจากบ้าน
แม้เรื่องการถูกไล่ออกจากบ้านหรือปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวจะถูกมองว่าเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเรื่องในบ้านใครบ้านมัน แต่จริงๆ แล้ว รัฐหรือกลไกภายนอกมีบทบาทสำคัญมากและเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความขัดแย้งไปถึงจุดแตกหักได้ เพราะลำพังความเห็นต่างในบ้านอาจจะสามารถพูดคุยหรือหาทางแก้ไขกันได้ แต่หากมีกลไกภายนอกเข้ามากดดันร่วมด้วย อาทิ การติดตามบ้าน การกดดันไม่ให้จัดกิจกรรม หรือที่แยบยลและรุนแรงที่สุดคือกลไกทางสังคม อาทิ การกดดันผ่านญาติพี่น้อง จนลามไปถึงการที่คนนามสกุลเดียวกันบังคับให้เด็กและเยาวชนดังกล่าวย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน
เรื่องเหล่านี้เกิดเป็นบาดแผลในจิตใจที่จารไว้และไม่เลือนหายแม้เวลาจะผ่านมาหลักปี ผู้วิจัยชี้ว่า เยาวชนกลุ่มทะลุจะได้รับบาดแผลรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น เด็กที่ถูกบุกจับในบ้านตนเองยังหวาดผวาทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ในตอนเช้า และบ้านกลายเป็นที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเขาอีกต่อไป หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่โดนดำเนินคดีใดๆ แต่มีเพื่อนที่โดนจับหรือถูกบังคับให้ลี้ภัย ก็กลายเป็นแผลในใจว่าเขาไม่อาจพาเพื่อนกลับมาได้ และไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ได้
บาดแผลเหล่านี้จะสมานไม่ได้เลยหากรัฐยังเดินหน้าสร้างแผลใหม่อยู่เรื่อยๆ โดยหลังการเลือกตั้งปี 2566 ผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 36 คน และ 2 ใน 3 เป็นเยาวชนอายุ 15-25 ปี และแม้จำนวนหนึ่งจะได้ประกันตัวหรืออยู่ในระหว่างรอลงอาญา แต่เรื่องนี้กลายเป็นกรอบชีวิตของเขาทำให้ต้องละทิ้งความฝันหลายๆ อย่าง เช่น การไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ
ในตอนท้าย นักวิจัยชี้ว่า เยาวชนเหล่านี้ยังมีความหวัง และไม่ได้หวังแค่กับคนในรุ่นของเขา หรือหวังแค่ถึงอิสรภาพของตนเองหรือของเพื่อน แต่พวกเขาหวังไปถึงการให้ความยุติธรรมกลับคืนสู่สังคม หวังถึงการนิรโทษกรรมให้กับคนที่เคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี หากจะทำเช่นนั้นได้ สังคมต้องพูดไปถึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านความยุติธรรม ที่อยู่บนความปรองดอง ความจริง และความรับผิดชอบ เพราะการนิรโทษกรรมไม่ใช่แค่การออกกฎหมาย แต่ต้องมาพร้อมกับการชดเชยและเยียวยาผู้เสียหาย พร้อมกับการไต่สวนความจริงเพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมถึงการปฏิรูปอำนาจสถาบันการเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงออก
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่เพื่อสร้าง แต่เพื่อหล่อเลี้ยงให้ความยุติธรรมคงอยู่ในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
Hidden in plain sight เมื่อความเปราะบางถูกหลายอย่างบังตา
เด็กจากชุมชนเกษตรกรรม เด็กจนเมือง สามเณร และผู้ชุมนุมทางการเมือง – เราเคยอาจเดินสวนกับเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือทั้ง 4 กลุ่มในทุกๆ วัน โดยที่ไม่ทันสังเกตหรือไม่ทันรับรู้ความเปราะบางที่ซ่อนอยู่ภายใต้นั้น ด้วยภาพและมายาคติของการเป็นประเทศเกษตรกรรม ความศิวิไลซ์ของเมือง ร่มกาสาวพัสตร์ และอุดมการณ์ทางการเมือง อาจกลายเป็นเหมือนม่านบดบังความเปราะบางของเด็กกลุ่มเหล่านี้ไม่ให้ถูกมองเห็นหรือไม่เลือกที่จะมองเห็น ผลักไสพวกเขาไปอยู่ที่ชายขอบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง กลายเป็นความเปราะบางที่ถูกซ่อนอยู่ในที่แจ้ง ทว่ายากเหลือเกินที่จะมองเห็น
นี่จึงเป็นโจทย์ท้าทายใหญ่ของคนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับรัฐในฐานะผู้ที่มีอำนาจและข้อสั่งการในมือ ทำอย่างไรที่จะออกนโยบายที่เหมาะสมและรองรับเด็กเปราะบางได้จริงๆ โดยที่ไม่เป็นนโยบายที่ออกจากหอคอยงาช้าง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กและเยาวชนคือทรัพยากรของประเทศ ยิ่งในยุคที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มขั้น เด็กหนึ่งคนย่อมหมายถึงทรัพยากรที่มีค่ามหาศาลของประเทศ
และไม่ใช่แค่รัฐเท่านั้น แต่เด็กเปราะบางเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ประเด็นท้าทายจึงตกไปอยู่ที่สังคม ชุมชน หรือแม้กระทั่งปัจเจกด้วยเช่นกัน กล่าวคือทำอย่างไรที่จะเราจะลบภาพมายาคติเดิมๆ ที่เคยมี มองให้เห็นความเปราะบางที่ซุกซ่อนเอาไว้ข้างใน และโอบรับเด็กกลุ่มนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพื่อให้เขาสามารถเติบโตโดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถบรรลุความฝันของตนเองได้ดีกว่าเดิม
เพราะถ้าพูดให้ถึงที่สุด ไม่ควรมีใครเกิดมาพร้อมกับการถูกจำกัดความฝันและสิทธิ
อ่านเพิ่มเติม
เด็กและครอบครัวไทยที่ไม่ถูกมองเห็น: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2024