เด็กและเยาวชนไทยขาดโอกาส – ประเด็นนี้ถูกกล่าวถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าส่งผลกระทบต่ออนาคตของชาติ สภาพเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศ อย่างไรก็ดี แม้จะมีความพยายามลงแรงเพื่อแก้ไขปัญหาความเปราะบางของเด็กและเยาวชนหลายครั้งหลายหน แต่ดูเหมือนว่าเด็กและเยาวชนบางกลุ่มยังคงร่วงหล่นจากกระบวนการช่วยเหลือเรื่อยมา
อาจเพราะเด็กและเยาวชนบางกลุ่ม ‘ไม่ถูกมองเห็น’ จากผู้กำหนดนโยบาย
ท่ามกลางความพยายามแก้ไขปัญหาความเปราะบางของเด็กและเยาวชน โจทย์สำคัญจึงเป็นคำถามว่าเรา ‘มองเห็น’ และ ‘เข้าใจ’ ปัญหาของเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนเปราะบางอย่างครบถ้วนแล้วหรือยัง มีช่องโหว่หรือบาดแผลความเจ็บปวดใดที่รอดสายตาไปหรือไม่ หรือทำอย่างไรให้ทั้งสังคม ‘มองเห็น’ ปัญหาเสียที
เพื่อถอดบทเรียน ทำความเข้าใจ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาของเด็กและครอบครัวเหล่านี้ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ 101 PUB ชวนสำรวจการขาดแคลนโอกาสในเด็กและเยาวชนที่ ‘ไม่ถูกมองเห็น’ จากหลากหลายมิติ โดยร่วมกันสะท้อนและหาคำตอบกับ ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูโรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ จังหวัดนครสวรรค์, สหรัฐ สุขคำหล้า อดีตสามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ, สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอินทร์แก้ว โอภานุเคราะห์กุล กองบรรณาธิการ The101.world เป็นผู้ดำเนินรายการ
หมายเหตุ : เรียบเรียงจากวงเสวนา ‘เปิดหน้าต่างบานถัดไป: เข้าใจเด็กและครอบครัวที่ไม่ถูกมองเห็นให้มากกว่าเดิม’ ที่ต่อยอดจากรายงานเด็กและครอบครัวไทยที่ไม่ถูกมองเห็น: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2024 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567
ต้องมองให้เห็นศักยภาพและความเป็นไปได้ที่หลากหลายของ ‘ครู’
ในฐานะครูผู้มีประสบการณ์สอนทั้งในและนอกเมืองหลวง ร่มเกล้า ช้างน้อย สะท้อนว่าปัญหาของเด็กจากครอบครัวคนจนเมืองและครอบครัวเกษตรกรในต่างจังหวัดเป็นความเจ็บปวดที่มีลักษณะ ‘คนละเรื่องเดียวกัน’ กล่าวคือ ขาดแคลนทั้งโอกาสและความสามารถในการฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า
“ผมไปเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคนช่วงที่ยังสอนอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งผมพบว่ามีเด็กบางคนอาศัยอยู่ในค่ายคนงานก่อสร้าง ที่อยู่อาศัยมีแค่เวิ้งเล็กๆ ให้นอน มีครัวอยู่ข้างเตียง ส่วนห้องน้ำต้องใช้ร่วมกับคนงานคนอื่น ผมพยายามตามหาเขาแต่ก็หาไม่เจอ รู้แค่ว่าไปทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์” ร่มเกล้าระบุ
แม้เด็กบางคนจะมีทุนทรัพย์เพียงพอให้เรียนหนังสือได้ แต่การมาโรงเรียนกลับพรากเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ไปมากเกินควร โดยร่มเกล้ายกตัวอย่างถึงนักเรียนบางคนที่อยู่ไกลจากโรงเรียนมากจนต้องตื่นตั้งแต่ตีสามเพื่อเตรียมตัวขึ้นรถตู้ให้ทันเวลา ขณะที่เวลาเฉลี่ยในการเดินทางมาโรงเรียนอยู่ที่หนึ่งถึงสองชั่วโมง
“อดีตโรงเรียนที่ผมเคยสอนตั้งอยู่บริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า แต่บ้านของนักเรียนบางคนอยู่บางใหญ่ บางบัวทอง หรือศาลายา เด็กที่อยู่แถวศาลายาต้องตื่นประมาณตีสามตีสี่เพื่อไปขึ้นรถตู้ให้ทัน หากพลาดไปสักสิบห้านาทีก็มาโรงเรียนสายแล้ว” ร่มเกล้ากล่าว
ปัจจุบัน ร่มเกล้าย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ประสบการณ์จากการสอนที่นี่ทำให้เขาพบว่าอาชีพในฝันของเด็กหลายคนถูกจำกัดอยู่ที่ข้าราชการหรือเกษตรกรเท่านั้น เด็กส่วนใหญ่ไม่ฝันเข้าทำงานในบริษัทเอกชนเนื่องจากต้องเดินทางเข้าอำเภอเมือง ซึ่งลำพังแค่เดินทางมาโรงเรียนด้วยรถคอกหมูก็กินเวลามากแล้ว
“รถคอกหมูต้องเก็บตกเด็กตามเขาใกล้จังหวัดกำแพงเพชรมาเรียนด้วย ทำให้มีการเคารพธงชาติสองครั้ง ส่วนตอนเย็นเด็กต้องขึ้นรถกลับบ้านพร้อมกันทำให้ไม่มีกิจกรรมหลังเลิกเรียนเลย แม้แต่ซ้อมวงโยธวาทิตก็ทำได้แค่ช่วงแปดโมงถึงแปดโมงยี่สิบนาทีเท่านั้น ขณะที่ช่วงเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังหรือช่วงฝนตกไฟดับเป็นช่วงที่เด็กไม่มาโรงเรียน”
มลพิษทางอากาศเป็นอีกปัญหาที่กระทบการเรียนการสอน ร่มเกล้าชี้ว่าที่นครสวรรค์มีปัญหาการเผาขยะเยอะ อย่างไรก็ดี นักเรียนซึ่งเป็นคนในพื้นที่อธิบายว่าในเมืองอาจมีเจ้าหน้าที่ดูแลขยะให้ แต่พื้นที่นี้ไม่มีเจ้าหน้าที่เก็บขยะ จะให้ฝังก็ไม่รู้ต้องฝังที่ไหนอย่างไร การเผาจึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ยังไม่รวมปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษาและงบประมาณที่จำเป็นต่อการพัฒนาโรงเรียน ซึ่งร่มเกล้าชี้ว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเนื่องจากครูในโรงเรียนมีกำลังใจและให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของนักเรียนมาก
เมื่อถามถึงนโยบายหรือแนวทางส่งเสริมให้ครูในฐานะผู้อยู่ ‘หน้างาน’ ให้สามารถสนับสนุนเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นจากการให้ความช่วยเหลือของรัฐ ร่มเกล้าประกาศว่าเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจในการตัดสินใจและปฏิบัติงาน
“สิ่งที่ทำให้ครูมีความสุขกับหน้างาน คือการเซ็ตซีโร่ (set zero) โครงการ บางครั้งมีคำสั่งโครงการแต่ไม่มีงบประมาณและไม่เติมบุคลากร ครูจึงต้องรับผิดชอบโครงการพร้อมกับสอนหนังสือไปด้วย อย่างผมมีสอนสามสิบสองชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นผู้ช่วยฝ่ายวิชาการ และยังต้องแบ่งเวลามาทำโครงการด้วย เช่น โครงการเตรียมเด็กให้พร้อมสอบ PISA ที่ผมเป็นหัวหน้างาน” ร่มเกล้าเผย ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าไม่ได้ปฏิเสธโครงการที่ดีและมีประโยชน์ แต่โครงการเหล่านั้นต้องตอบโจทย์ปัญหาที่นักเรียนในพื้นที่กำลังเผชิญ ขณะที่บุคลากรหน้างานควรต้องรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเช่นกัน
“ทำให้สนุกขึ้นก็ได้ สมมติมีงบประมาณหนึ่งร้อยล้านบาทในนครสวรรค์ เราอาจให้ครูแต่ละโรงเรียนเสนอโครงการเพื่อของบประมาณ โครงการก็จะไม่กลายเป็นภาระแต่เป็นสิ่งที่ครูเลือกเอง ซึ่งโครงการที่ว่าอาจกินเวลาหนึ่งถึงสองปีก็ได้ เมื่อแก้ไขปัญหาสำเร็จก็ไปทำอย่างอื่น โครงการควรมีอยู่เพื่อแก้ปัญหา ถ้ามีโครงการอยู่ตลอดสิบปีที่ผ่านมาโดยปัญหาไม่ถูกแก้ไขก็ควรจะถูกตั้งคำถาม” ร่มเกล้าเสนอ
ร่มเกล้าเชื่อว่าการกระจายอำนาจจะทำให้โครงการพัฒนามีความหลากหลายยิ่งขึ้น ขณะที่งบประมาณก็จะถูกกระจายอย่างทั่วถึงยิ่งขึ้นเช่นกัน ทั้งยังเพิ่มความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานซึ่งเป็นผลดีต่อการอุดช่องโหว่ทางโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่ตกสำรวจ จากนั้นเขายกตัวอย่างความสำเร็จของโรงเรียนขอนไม้ที่ทำโครงการเปลี่ยนแปลงที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งผู้ริเริ่มชักชวนให้นักการภารโรงในโรงเรียนมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อร่วมดูแลเด็กๆ และถ่ายทอดทักษะชีวิตที่ตนมี
แม้การกระจายอำนาจการตัดสินใจอาจไม่ราบรื่นในระยะแรก โดยเฉพาะเมื่อครูต้องเปลี่ยนผ่านจากผู้ปฏิบัติตามคำสั่งเป็นผู้คิดค้นหนทางใหม่ แต่ร่มเกล้าเชื่อว่าการได้ลองผิดลองถูกเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ทั้งสำหรับครูและนักเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางการจัดการเรียนรู้ในระยะยาว
นอกจากการมองเห็นและเชื่อมั่นในศักยภาพของครูในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการควรหาทางร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ด้วย โดยร่มเกล้าบอกว่ากระทรวงศึกษาธิการ “ต้องไม่คิดว่าตนเองแก้ไขได้ทุกปัญหา” พร้อมยกตัวอย่างปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน โดยชี้ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีบริการให้คำปรึกษาออนไลน์อยู่แล้ว หากทำงานร่วมกันอาจเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณการนำนักจิตวิทยามาประจำในโรงเรียนได้
ต้องมองให้เห็น ‘บาดแผล’ หลังม่านใบเสมา
การขาดแคลนทุนทรัพย์และโอกาสทำให้เด็กและเยาวชนจากหลายครัวเรือนเลือก ‘บวชเรียน’ เพื่อเข้าถึงการศึกษา ทว่าร่มกาสาวพัสตร์ไม่อาจทอดเงาให้พวกเขาอิงอาศัยได้ตลอดรอดฝั่งหรือกระทั่งอิงอาศัยอย่างมีประสิทธิภาพ สหรัฐ สุขคำหล้า หรืออดีต ‘สามเณรโฟล์ค’ ชี้ให้เห็นการกดทับและพัฒนาการวัยเด็กที่แหว่งวิ่นไปบ้างในโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ
“เราเป็นเด็กธรรมดาที่หล่อปูนทำอุปกรณ์ยกน้ำหนักและเล่นฟุตบอลในวัด แต่ไม่อาจแสดงออกได้เพราะอยู่ใต้ร่มศาสนา ทั้งที่มันเป็นกิจกรรมของเด็ก
“เพื่อนชาวเขาในโรงเรียนทะเลาะกันเรื่องความเชื่อบ้าง พวกเขาไม่เชื่อว่าศาสนาพุทธดีเลิศเพราะนับถือศาสนาผีอยู่แล้ว เวลาผมไปบ้านเพื่อน บางคนก็ถอดผ้าไตรไว้ที่บ้านแล้วไปทำนา สวมเสื้อผ้าตามประเพณีและทำบุญเลี้ยงผีอยู่ในเขา” สหรัฐกล่าว
ความฝันของสามเณรหดแคบเช่นเดียวกับโอกาสเล่นสนุก สหรัฐชี้ว่าทางเดียวที่สามเณรจะได้ดีในโรงเรียนวัด คือต้องอยู่ในแผนกบาลีและมีโควตาไปกรุงเทพฯ หรืออยู่ที่วัดอารามหลวง ทั้งยังเล่าว่าหากวัดไหนมีผู้เรียนบาลีเยอะ เจ้าอาวาสอาจได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นระดับเจ้าคุณโดยที่วัดก็จะได้รับเงินนิตยภัตมากขึ้น ตามมาด้วยแรงศรัทธาและเงินบริจาคที่มากขึ้นเช่นกัน
เมื่อสหรัฐสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียน เขารู้ว่าโอกาสเข้ากรุงเทพฯ หรือหาวัดอยู่อาศัยนั้นน้อยมาก เพราะเล่าเรียนภาษาบาลีเพียงหนึ่งถึงสองประโยคเท่านั้น
“เพื่อนผมที่เข้ากรุงเทพฯ ต้องเดินหาเจ็ดถึงแปดวัดกว่าจะหาที่อยู่ได้ โชคดีที่วัดสุทธิวรารามยังให้เข้าอยู่ เพราะเห็นว่าเป็นคนภาคเหนือด้วยกัน” สหรัฐระบุ
แม้ได้อาศัยที่วัดในกรุงเทพฯ ก็ใช่ว่าอุปสรรคต่อความก้าวหน้าจะหมดสิ้น สหรัฐอธิบายว่าวัดในกรุงเทพฯ เป็นที่พูดถึงกันในเรื่องการใช้ระบบ ‘สายโลหิต ศิษย์ข้างเคียง และเสบียงหลังวัด’ ซึ่ง ‘สายโลหิต’ หมายถึงการที่พระตำแหน่งสูงมักเป็นคนของเจ้าอาวาสทั้งหมด ส่วน ‘ศิษย์ข้างเคียง’ หมายถึงใครที่เข้าหาเจ้าอาวาสได้ดีก็มีโอกาสเข้าประโยชน์มากกว่า ขณะที่ ‘เสบียงหลังวัด’ หมายถึงคนนอกที่สนิทกับเจ้าอาวาสจนได้ผลประโยชน์จากที่ดินของวัด
หลังผันตัวเข้าเส้นทางการเมืองในฐานะผู้ช่วยหาเสียง สหรัฐเชื่อว่าวิธีการแก้ไขปัญหาใต้ร่มศาสนาที่ต้นเหตุ คือการกระจายอำนาจในการตัดสินใจและจัดสรรงบประมาณ เพราะการกระจายอำนาจเหล่านี้จะทำให้ครัวเรือนมีกินมีใช้มากขึ้น และทำให้เด็กและเยาวชนจากครัวเรือนเหล่านี้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น
“เหมือนรัฐมองเราเป็นเด็กที่ยังไม่โต” สหรัฐกล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า “หน่วยราชการในต่างจังหวัดมีศักยภาพสูงในการสร้างงานและสร้างคน คนก็พร้อมถ้ารัฐให้โอกาส”
ต้องมองให้เห็นความหละหลวมในการคุ้มครองเด็ก
สำหรับผู้มีประสบการณ์ในการช่วยเหลือกลุ่มเด็กไร้รัฐและไร้สัญชาติอย่างสุรพงษ์ กองจันทึก เขามองว่าการคุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาการเด็กเป็นสิ่งที่มีหลักการรองรับอยู่แล้ว ดังนั้น การยังมีเด็กที่ ‘ไม่ถูกมองเห็น’ จึงเกิดจากความหละหลวมในการยึดถือและปฏิบัติตามหลักการ
สุรพงษ์อธิบายว่าประเทศไทยเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยสิทธิเด็กปี 1989 โดยได้กำหนด ‘ข้อสงวน’ สำหรับการปฏิบัติตามข้อที่เจ็ดของอนุสัญญา ได้แก่ข้อที่ระบุว่าเด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังเกิด และจะมีสิทธิที่จะมีชื่อนับแต่เกิดและสิทธิที่จะได้สัญชาติ ตลอดจนสิทธิที่จะรู้จักและได้รับการดูแลจากบิดามารดาตน อย่างไรก็ดี เขาชี้ว่ารัฐเพิกถอนข้อสงวนนี้ตั้งแต่ปี 2553 แต่การรับรองสิทธิมิตินี้กลับยังไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร เพราะมีเด็กนับล้านที่ยังไม่ถูกจดทะเบียน ไร้ชื่อ ไร้สัญชาติ และไม่ถูกนับเป็นมนุษย์ตามกฎหมาย
นอกจากนี้ สุรพงษ์ชี้ว่าทั้งบ้านพักเด็กและครอบครัวและสถานสงเคราะห์ไม่อาจเติมเต็มสิทธิในการได้รับการดูแลจากบิดามารดาอย่างแท้จริง เนื่องจากเด็กถูกโยกย้ายอยู่ตลอดเวลา
“สมมติเด็กแรกเกิดคนหนึ่งได้อยู่ที่สถานสงเคราะห์ปากเกร็ด พออายุหนึ่งขวบก็ต้องย้ายไปอยู่อีกตึกและเปลี่ยนพี่เลี้ยง เจ็ดปีต่อมาก็ต้องย้ายไปอยู่บ้านพักสำหรับสตรีซึ่งเปลี่ยนคนดูแลอีกรอบ นี่หรือคือการดูแลแบบพ่อแม่ เราแยกเด็กตามช่วงเวลาได้ด้วยหรือ ซึ่งทุกอย่างเป็นอันจบเมื่ออายุครบ 18 ปีเพราะสถานสงเคราะห์เหล่านี้สังกัดกรมกิจการเด็ก” สุรพงษ์กล่าว
มากไปกว่าปัญหาการดูแลของบ้านพักและสถานสงเคราะห์ สุรพงษ์ชี้ว่าการดูแลสิทธิเด็กยังได้รับผลกระทบจากความทับซ้อนของภาระหน้าที่ระหว่างกรมต่างๆ ด้วย เช่น กรมกิจการเด็กที่ควรดูแลทั้งเด็กและครอบครัวกลับเห็นว่าภาระงานด้านครอบครัวเป็นหน้าที่ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ขณะที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวก็มุ่งดูแลแต่สตรีเป็นหลัก
อีกประเด็นน่าสนใจที่สุรพงษ์เสนอ คือรัฐไม่มีความคิดหรือตระหนักถึงความสำคัญของการที่เด็กต้องมีพ่อแม่ เพราะหน่วยงานจำนวนมากไม่ยอมจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมโดยอ้างว่าพ่อแม่ไม่พร้อม เอกสารเด็กไม่พร้อม หรืออ้างว่ามีความเสี่ยงจนต้องได้รับการสงเคราะห์ต่อ แต่ขณะเดียวกันก็ปล่อยให้เกิดดูแลอย่างที่เป็นอยู่โดยที่รัฐไม่เข้ามาดูแลและจัดการมากกว่านี้
ไม่เพียงแค่นั้น สุรพงษ์ชี้ว่ากฎหมายเป็นอีกช่องโหว่ที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา กล่าวคือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ระบุไม่ให้จ้างงานผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ขณะที่นิยามของ ‘เด็ก’ ตามกฎหมายคือผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะฉะนั้น เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวนมากจึงออกจากระบบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน เปลี่ยนจากอาชีพนักเรียนเป็นลูกจ้างในภาคครัวเรือนและการเกษตรเพื่อหารายได้เพราะเงินอุดหนุนจากรัฐไม่แน่นอนและไม่เพียงพอ
หากถามว่าต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร นอกจากอุดช่องโหว่ที่กล่าวไป สุรพงษ์เห็นว่ารัฐต้องมีบทบาทส่งเสริมศักยภาพของครัวเรือนและภาคเอกชนในการคุ้มครองและสนับสนุนเด็ก เช่น ส่งเสริมการจดทะเบียนบ้านเรียนหรือการจัดการศึกษาทางเลือกอื่นๆ
“หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลการศึกษามองว่าตนเองมีอำนาจกำหนดว่าใครควรได้รับการศึกษา ทั้งที่มาตรา 12 ของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติก็อนุญาตให้ผู้ปกครองและกลุ่มต่างๆ จัดการเรียนการสอนเองได้ หน่วยงานภาครัฐกลับไม่ให้การสนับสนุน ประชาชนกลับไม่ได้รับอนุญาตเมื่อขอจดทะเบียนเพื่อจัดตั้งอย่างถูกต้อง ทั้งที่บอกว่าตัวเองมีงบประมาณน้อยและไม่มีครู” สุรพงษ์ระบุ
ต้องมองให้เห็น ‘ระบบ-ทัศนคติ-วัฒนธรรม’ ที่บังตา
สิ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าไม่ถึงโอกาส ธานี ชัยวัฒน์แบ่งออกเป็นสามประเด็น ได้แก่ ระบบ ทัศนคติ และวัฒนธรรม
ว่าด้วยเรื่อง ‘ระบบ’ ธานีอธิบายว่าการอ้างถึงประชากรกลุ่มยากจนในไทยจะใช้คำว่า ‘ยากจนข้นแค้น’ ที่แปลจากคำว่า ‘poverty’ ในภาษาอังกฤษ
“คำว่า ‘ยาก’ หมายถึงใช้ชีวิตยากและมีการศึกษาน้อย ‘จน’ คือรายได้น้อย ‘ข้น’ คือใช้แรงกายอย่างเข้มข้น ส่วน ‘แค้น’ คือเจ็บแค้นจากความอยุติธรรม ซึ่งคำนี้มีความหมายเชิงระบบด้วย ที่น่าสนใจคือช่วงหลังเราใช้คำว่า ‘ความจน’ ทั้งที่เมื่อก่อนเราใช้คำว่า ‘ยากจน’ ซึ่งเหมาะกับไทยมากเพราะการมีรายได้น้อยในไทยทำให้แย่ทุกด้าน ถ้าเกิดมาจนในไทยก็อาจมีสุขภาพและการศึกษาแย่ ซึ่งหลายประเทศไม่เป็นเช่นนี้เพราะภาวะสุขภาพและการศึกษาไม่สัมพันธ์กับความยากจน เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องทำทั้งระบบ” ธานีกล่าว
ต่อมาคือเรื่อง ‘ทัศนคติ’ ธานีอธิบายว่าทัศนคติมีอิทธิพลต่อการแก้ปัญหาการขาดโอกาสของเด็กและเยาวชน พร้อมชี้ว่าการเรียกเด็กและเยาวชนที่ไม่ถูกมองเห็นว่า ‘กลุ่มเปราะบาง’ เป็นปัญหา เพราะความเปราะบางหมายถึงการไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงได้ เป็นคำจากสังคมตะวันตกซึ่งมุ่งสร้างระบบป้องกันความเสี่ยงในชีวิตประชาชน แต่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้แตกสลายซ้ำแล้วซ้ำเล่าและต้องการระบบฟื้นฟูหรือระบบที่ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นมากกว่า
“เมื่อก่อนเราใช้คำว่า ‘ด้อยโอกาส’ ซึ่งดีกว่าคำว่า ‘เปราะบาง’ เพราะเปราะบางหมายถึงการต้องมีระบบป้องกัน เท่ากับว่าหากคุณจนก็ต้องมีชีวิตจนๆ นี่แหละ อย่าหวังมาก อย่าเสี่ยงมาก อย่าลงทุนมาก เพราะเป็นการเข้าไปเผชิญในสิ่งที่ตนเองไม่ควรมี นี่เป็นทัศนคติที่ไม่ส่งเสริมให้พวกเขาเติบโตขึ้น” ธานีอธิบาย
จริงอยู่ที่หลายภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนโอกาสของเด็กและเยาวชน แต่ปัญหากับไม่ถูกคลายปมและแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งประเด็นนี้ ธานีเชื่อว่าเป็นเพราะ ‘วัฒนธรรม’ บางประการทำหน้าที่รองรับระบบที่เป็นอยู่
“เมื่อรัฐไม่สามารถรับประกันการมีชีวิตที่ดีได้ ชุมชนและครอบครัวจึงกลายเป็นกลไกประกันความเสี่ยง เราจึงสร้างวัฒนธรรมครอบครัวหรือการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง สมมติว่าครัวเรือนหนึ่งร้อยพวงมาลัยขาย ลูกคนโตอาจซื้อดอกไม้ แม่ทำหน้าที่ตัดโบว์ พ่อทำหน้าที่ร้อยมาลัย ส่วนเด็กมีหน้าที่เอาพวงมาลัยไปขาย ทำให้มีห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของการผลิตเพื่อการอยู่รอดของครอบครัว ฉะนั้นการดึงเด็กออกมาจึงไม่ได้เป็นการช่วยเหลือเด็กคนนั้น แต่เป็นการทำลายระบบการผลิตในครัวเรือนที่เป็นสมดุลของเขา” ธานีระบุ
วัฒนธรรมเช่นนี้หล่อเลี้ยงการไร้ความฝันและไร้ความหวัง และเมื่อผสมซ้ำเติมด้วยคุณภาพการศึกษาและความยากจน เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาสจึงยิ่งถูกดึงออกจากการศึกษาและอาจเผชิญความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการพยายามหารายได้ด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม เช่น การจำหน่ายภาพโป๊เปลือยทางอินเทอร์เน็ต การค้ายาเสพติดหรืออาวุธปืน เป็นต้น
“ผมเชื่อว่าการศึกษามีความสำคัญทั้งต่อเด็กและสังคม โจทย์สำคัญจึงเป็นการยกระดับการศึกษาโดยมองครอบครัวของเด็กด้วย กล่าวคือ พ่อแม่ต้องเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี พี่น้องต้องได้รับความเป็นธรรม พร้อมไปกับการสร้างความหมายให้การศึกษาและการเลื่อนชนชั้นอย่างถูกวิธีผ่านการศึกษา” ธานีกล่าว
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ธานีเห็นว่าความพยายามยกระดับการศึกษามีความท้าทายสองประการ หนึ่งคือการศึกษาไม่ใช่ต้นทางของปัญหาสังคมแต่เป็นปลายทางของปัญหา สองคือต้นทุนในการจัดการศึกษาปรากฏให้เห็นในระยะสั้นแต่ผลลัพธ์กลับเป็นผลลัพธ์ระยะยาว โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการลงทุนด้านการศึกษา
แนวทางการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับธานี คือ การทำให้เด็กด้อยโอกาสมีโอกาสมากขึ้น พร้อมกับการสร้างกลไกป้องกันการถอยหลัง โดยแบ่งได้เป็นสี่แนวทาง ได้แก่
แนวทางแรกคือการมีพื้นที่สาธารณะ (public space) ที่เป็นเบาะรองรับการถดถอย ไม่ให้กลายเป็นการถอยหลังระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันไม่มีพื้นที่ตรงกลางที่เป็นข้อต่อให้เด็กและเยาวชนปรับปรุงพัฒนาตนเอง ทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากหันเหไปเลือกทางที่ผิด
แนวทางที่สองคือการเสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจ (economic empowerment) ธานีเห็นว่าเดิมสังคมไทยมีการเสริมสร้างพลังทางสังคม หรือการเกื้อกูลกันในสังคม ขณะที่การเสริมสร้างพลังทางการเมืองก็มีแนวโน้มดีขึ้น แต่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการเปลี่ยนครัวเรือนที่ต้องรับการอุดหนุนจากรัฐให้เป็นผู้สร้างผลิตผลป้อนกลับสู่ระบบ ยังไม่เป็นที่กล่าวถึงมากนัก
แนวทางที่สามคือการขยายนิยามความสำเร็จในการศึกษาให้กว้างขวางขึ้น เพื่อตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กที่มีความถนัดหลากหลาย
ขณะที่แนวทางสุดท้ายคล้ายคลึงกับแนวทางที่ผู้ร่วมเสวนาคนอื่นๆ เอ่ยถึง กล่าวคือ การประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ โดยรัฐ เพื่อแก้ไขการขาดแคลนโอกาสของเด็กและเยาวชน