สินค้าจีนทะลัก

สินค้าจีนทะลักล้น ปล้นคนไทย ถึงเวลารัฐ strike back?

101 PUB

11 December 2024

สินค้าจีนราคาสบายกระเป๋าถาโถมเข้ามาอยู่รายรอบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยอย่างแยกไม่ออก ตั้งแต่อาหารที่กิน เสื้อผ้าที่ใส่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงของจิปาถะหลากหลายในชีวิตประจำวัน ธุรกิจจีนก็แทรกซึมเข้ามามีบทบาทในแทบทุกกิจกรรม อย่างคืนนี้ (12/12) หลายคนก็คงเตรียมกดซื้อของด้วยคูปองลดราคาจากแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์สัญชาติจีน

แน่ล่ะว่าใครๆ ก็ชอบของถูก แต่สินค้าจีนถูกๆ พวกนี้อาจเป็นเหมือน ‘แอปเปิลอาบยาพิษ’ ภายนอกดูหอมหวานกรอบ แต่ถ้ากัดไปสักคำ ก็อาจส่งผลปล้นทำลายธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคมไทยในระยะยาวอย่างยากจะฟื้นคืน

ไม่ใช่ว่าการค้าเสรีหรือการนำเข้าสินค้าจากจีนหรือต่างประเทศเป็นเรื่องไม่ดี แต่การค้าเสรีจะก่อประโยชน์สำหรับทุกคนได้ ก็ต่อเมื่อสินค้าและผู้ประกอบการไทย-เทศ ‘แข่งขัน’ กันอย่าง ‘เป็นธรรม’ โดยรัฐบาลกำกับดูแลตลาดและส่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจอย่างเหมาะสม ปัญหาทุกวันนี้คือสถานการณ์สินค้าจีนในไทยอยู่ตรงข้ามกับเงื่อนไขดังกล่าว

101 PUB โดยความร่วมมือกับ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) ชวนผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งผู้ประกอบการใหญ่น้อย นักการเมือง ข้าราชการ องค์กรประชาสังคม และสถาบันวิชาการ มาล้อมวงสนทนา พิจารณาปัญหาสินค้าจีนล้นทะลัก สำคัญอย่างไร? คนไทยถูกปล้น-ได้รับผลกระทบอย่างไร? เกิดจากสาเหตุใด? แล้วรัฐบาลไทยควร strike back แบบไหนจึงจะสามารถรักษาผลประโยชน์ของสังคมไทยได้ดีที่สุด?

ผู้ซื้อปลื้มใจสินค้าถูกในวันนี้ แต่คนไทยอาจต้องเสียใจในวันหน้า

หากมองผิวเผิน การหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจีนช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อหาสินค้าราคาถูก แต่หากมองลึกลงไป สถานการณ์เช่นนี้อาจบ่อนทำลายผู้ประกอบการ เศรษฐกิจ และสังคมไทยในระยะยาว เพราะสินค้าจีนกำลังแทนที่สินค้าไทย ทั้งในตลาดภายในและตลาดส่งออก ผู้ประกอบการซึ่งผลิตสินค้าประเภทเดียวกับที่จีนได้เปรียบและไหลทะลักเข้ามา จึงขายของได้ลดลง ตัวอย่างอุตสาหกรรมสำคัญที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีน ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ เหล็กกล้า อะลูมิเนียม พลาสติก และเคมีภัณฑ์[1]ณชา อนันต์โชติกุล และคณะ. 2024. เมื่อสินค้าจีนบุก ไทยเตรียมรับมืออย่างไร ?. KKP Research. URL: https://media.kkpfg.com/document/2024/Sep/KKPResearch_e-commerce-fuel-surge-in-chinese-import.pdf

          ที่มา : ณชา อนันต์โชติกุล และคณะ (2024)

ผู้ประกอบการจีน-ทุนจีนยังล้นทะลักพ่วงมากับสินค้าเหล่านั้น เข้าเบียดขับแทนที่ผู้ประกอบการไทยในแทบทุกขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิตและการค้า (supply chain) รวมถึงการเป็นตัวกลางขนส่ง ผู้จัดจำหน่ายสินค้า ไปจนกระทั่งร้านค้าส่งและค้าปลีก

ที่สำคัญ ทุนจีนและทุนต่างประเทศอื่นยังครอบครองแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ได้เกือบทั้งหมด ตัวกลางและแพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจ ถ้าจีนควบคุมได้ ย่อมสามารถเอื้อให้สินค้าจีนขายแทนที่สินค้าไทยได้มากขึ้น ลดผลประโยชน์ของคนไทยจากการค้าขายกับจีนยิ่งขึ้นไปอีก

ที่มา: Momentum Work (2024)[2]Momentum Work, (2024), Ecommerce in Southeast Asia 2024, URL: https://momentum.asia/product/ecommerce-in-southeast-asia-2024/

ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะรายย่อย (SMEs) จึงมีแนวโน้มอยู่รอดและเติบโตยากขึ้น จ้างงานและลงทุนในประเทศลดลง หรือต่อให้ลงทุน เม็ดเงินก็รั่วไหลออกนอกประเทศเยอะ กระทบรายได้เข้ากระเป๋าของพวกเราทุกคน

สำหรับธุรกิจหลายประเภท หากปิดตัวลงไปแล้ว ยังยากจะฟื้นคืนกลับมา โดยเฉพาะในธุรกิจที่ต้องอาศัยการลงทุนตั้งต้น มีการประหยัดต่อขนาด และมีการเรียนรู้จากประสบการณ์สูง หมายความว่าทุนจีนอาจกลายเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงน้อยรายในอนาคต กลายเป็นการเพิ่มอำนาจตลาดให้กับทุนจีนในการกำหนดราคาสินค้าและบริการมากขึ้น อะไรที่ปลื้มปริ่มว่าแสนถูกในวันนี้ อาจขึ้นราคาพรวดพราดให้เสียใจภายหลังก็ได้ ธุรกิจบางประเภทยังเกี่ยวพันถึงความมั่นคงในชีวิตพวกเรา ถ้าจีนคุมได้ ย่อมส่งผลให้ชีวิตเราอยู่ในกำมือผู้อื่นมากยิ่งขึ้น

แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์เป็นตัวอย่างที่ดี ค่าธรรมเนียมหลายอย่างที่เคยฟรี (โดยเฉพาะที่เก็บจากฝั่งผู้ขาย) ตัวเลือกขนส่งที่เคยหลากหลายและอิสระ เริ่มจะหดหาย-เปลี่ยนแปลงไป ในยามที่แพลตฟอร์มไม่กี่รายสามารถคุมตลาดและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลตลาด ได้แทบเบ็ดเสร็จ

สินค้าจีนไม่ได้แข่งขันแบบ ‘แฟร์ๆ’: รัฐจีนอุดหนุน ทุนจีนทุ่มตลาด

เนื้อหาเศรษฐศาสตร์เสรีมักพร่ำสอนว่า การค้าเสรี-เปิดกว้างสำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศและการแข่งขันทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าคุณภาพดีในราคาถูก ผู้ประกอบการที่สู้ราคาไม่ได้ ต้องขายแพงหรือกำไรน้อยแล้วอยู่ไม่รอด ก็แปลว่าไม่ถนัดผลิตสินค้านั้น ก็จะปรับตัวไปผลิตสินค้าอื่นที่ถนัดกว่า ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมี ‘ประสิทธิภาพ’ มากขึ้น

คำอธิบายแบบนี้จะพอเป็นไปได้จริง (ถ้าคุณเชื่อว่าคำอธิบายนี้ถูกแต่แรก) ก็ต่อเมื่อการแข่งขันที่ว่านั้น ‘แฟร์’ – ก็ต่อเมื่อสนามแข่งขัน ‘เป็นธรรม’ สำหรับผู้เล่นทุกคน (level playing field)

ในบริบทที่ผู้ผลิตจีนเผชิญปัญหาเศรษฐกิจในประเทศจีนชะลอตัว โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิดและวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ผู้บริโภคจีนลดการจับจ่ายใช้สอย ผู้ผลิตจีนจึงต้องระบายสินค้าที่ผลิตได้ล้นเกิน (oversupply) ส่งออกไปยังต่างประเทศ รวมถึงไทย ซึ่งจีนสามารถผลิตสินค้าด้วยต้นทุนต่ำ เพราะผลิตปริมาณมาก (economy of scale)

หากการที่สินค้าจีนตีตลาดได้มากเป็นเพราะประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นภายใต้การแข่งขันเสรี ก็อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่นัก แต่สาเหตุหลักของปัญหาสินค้าจีนล้นทะลักในเวลานี้คือ สินค้าจีนอาจไม่ได้เข้ามาแข่งขันอย่างเป็นธรรม ประเด็นใหญ่ที่ผู้มีส่วนได้เสียตั้งคำถามคือ สินค้าจีนราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศอื่นได้ เพราะรัฐบาลจีน ‘ให้เงินอุดหนุน’ ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการขนส่ง และต้นทุนอื่น – จ่ายต้นทุนส่วนหนึ่งแทน เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถส่งออกสินค้าไปตีตลาดต่างประเทศได้ในราคาต่ำกว่าต้นทุนจริง – รายงานของสหภาพยุโรประบุว่า ในปี 2019 รัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุนภาคเอกชนประมาณ 1.7% ของ GDP สูงกว่าประเทศอื่นอย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา : DiPippo et al. (2022)[3]DiPippo, G., Mazzocco, I., & Kennedy, S. (2022). Red Ink: Estimating Chinese Industrial Policy Spending in Comparative Perspective. Center for Strategic & International Studies. https://www.csis.org/analysis/red-ink-estimating-chinese-industrial-policy-spending-comparative-perspective

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังอาจดำเนินมาตรการช่วยเหลือที่ไม่ใช่การอุดหนุนเงินด้วย เช่น ภายใต้บริบทที่ทุนจีนครอบครองตัวกลางการค้าและแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ รัฐบาลจีนอาจมีข้อมูลว่า สินค้าประเภทใดจะล้นตลาดหรือขาดตลาดในช่วงเวลาใดของปี แล้วเปิดให้ผู้ประกอบการจีนเข้าถึงข้อมูลได้ ผู้ประกอบการจีนจึงสามารถวางแผนส่งสินค้าเข้ามาตีตลาดในไทยได้ถูกเวลา

ผู้ประกอบการจีนยังมีพฤติกรรมในลักษณะ ‘ทุ่มตลาด’ (dumping) คือยอมขายสินค้าแบบขาดทุนเพื่อแย่งลูกค้าจากคู่แข่งรายอื่นในตลาด หากเป็นทุนใหญ่ที่แบกรับภาระขาดทุนได้มากและนาน ก็จะสามารถกำจัดคู่แข่งออกจากตลาดได้ จนท้ายที่สุด ก็จะกลายเป็นผู้คุมตลาดรายใหญ่ วิธีดังกล่าวเป็นการกำจัดคู่แข่งอย่างไม่เป็นธรรม มิได้แข่งขันกันด้วยการพัฒนาสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตดังที่ควร

ตัวอย่างรูปธรรมคือกลยุทธ์การตีตลาดแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ของจีน เช่น การลดราคามากในเทศกาลโปรโมชัน (11.11 12.12 ฯลฯ) การแจกคูปองลดราคา การงดเว้นค่าจัดส่ง และการดำเนินธุรกิจขนส่งเองโดยคิดค่าธรรมเนียมต่ำจนขาดทุน เพื่อดึงดูดและเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาซื้อของในแพลตฟอร์มตน เมื่อเป็นที่รู้จักแล้ว ก็เปิดระดมทุนหาเงินมาอุดหนุนสินค้าให้สามารถลดแลกแจกแถมได้นานขึ้น – ทำลายคู่แข่งในวงกว้างและมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้น แม้ปัจจุบันจะยังมีแพลตฟอร์มมากกว่าหนึ่งแห่งแข่งกันตัดราคาทุ่มตลาดและผู้บริโภคได้ประโยชน์อยู่ แต่ก็ไม่แน่ว่าสถานการณ์การแข่งขันจะย่ำแย่ลงหรือไม่ในอนาคต

รัฐไทยเอื้อประโยชน์-ปล่อยปละการค้าที่ไม่เป็นธรรม

ความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันยังเกิดจากนโยบายและการบังคับใช้นโยบายของไทยเอง สินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาทสามารถนำเข้าได้โดยไม่เสียภาษีศุลกากรขาเข้า รัฐบาลยังปล่อยให้ผู้ประกอบการจีนจำนวนมากหลบเลี่ยงหรืออาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายดำเนินธุรกิจโดยไม่จดทะเบียน ไม่เสียภาษีนิติบุคคล และไม่อยู่ภายใต้กฎระเบียบและการกำกับดูแล ขายสินค้าที่ไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ผ่านการประเมินมาตรฐานคุณภาพ ต้นทุนของพวกเขาจึงต่ำกว่าผู้ประกอบการไทยที่ต้องดำเนินการดังกล่าวทั้งหมด

ปัญหาข้างต้นหลายประเด็นมีตัวบทกฎหมายกำกับดูแลแล้ว แต่ขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเสมอภาค บางส่วนอาจเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐจงใจให้นำเข้าสินค้าและดำเนินธุรกิจได้โดยไม่ควบคุม บางส่วนอาจเกิดจากหน่วยงานรัฐไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ขาดกำลังคน งบประมาณ และเครื่องมือ ส่งผลให้ไม่สามารถกำกับดูแลได้อย่างทั่วถึง เช่น ไม่สามารถตรวจสอบตู้ขนส่งสินค้าได้ทุกตู้ ต้องใช้วิธีสุ่มตรวจ และไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจจีนที่ต้องสงสัยว่าผิดกฎหมายได้ทั้งหมด

นอกจากขาดการบังคับใช้นโยบายที่เอื้อให้เกิดการแข่งขันเป็นธรรมแล้ว รัฐบาลยังขาดนโยบายส่งเสริมผลิตภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพัฒนาทักษะแรงงาน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ตลอดจนส่งเสริมอุตสาหกรรมและการส่งออก เป็นเหตุให้ธุรกิจไทยแข่งขันได้น้อยลงอย่างต่อเนื่อง

การกีดกันทางการค้ากับจีนอาจไม่ใช่ทางออก?

ทุกครั้งที่พูดคุยถึงปัญหาสินค้าจีนล้นทะลัก ข้อเสนอแรกๆ ที่มักปรากฏคือ ไทยควรดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ากับจีน ปกป้องผู้ประกอบการในประเทศเข้มข้นขึ้น (protectionism) โดยเฉพาะในบริบทที่สินค้าจีนไหลบ่าเข้ามาแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม ขายในราคาถูกแบบเทียมๆ จากการอุดหนุนของรัฐบาล และใช้กลยุทธ์ทุ่มตลาดมุ่งกำจัดผู้ประกอบการไทย

อินโดนีเซียมักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างประเทศที่ใช้นโยบายดังกล่าว โดยรัฐบาลดำเนินมาตรการ (1) เก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด หากสินค้านำเข้าเหล่านั้นมีราคาที่ต่ำกว่าทุน (2) เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนบางประเภทสูงถึง 200% (3) มาตรการปราบปรามการนำเข้าผิดกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น (4) กำหนดโควตานำเข้าในสินค้าที่มีการนำเข้ามากขึ้นอย่างรวดเร็ว และ (5) ควบคุมไม่ให้โซเชียลมีเดียต่างประเทศเปิดธุรกิจซื้อขายสินค้าได้ เว้นแต่จะเข้ามาจดทะเบียนในประเทศ[4]ณชา อนันต์โชติกุล และคณะ. 2024. เมื่อสินค้าจีนบุกไทยเตรียมรับมืออย่างไร ?. KKP Research. URL : https://media.kkpfg.com/document/2024/Sep/KKPResearch_e-commerce-fuel-surge-in-chinese-import.pdf

ในกรณีประเทศไทย ปรากฏข้อเสนอนโยบายปกป้องผู้ประกอบการเฉพาะในอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม และอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น คุ้มครองให้ธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์สัญชาติไทยยังเป็นผู้เล่นสำคัญที่มีบทบาท เนื่องจากเป็นเสมือนโครงสร้างพื้นฐานในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งควรจัดการโดยคนในชาติ และให้ผลตอบแทนต่อคนในชาติ[5]ทั้งนี้ในหลายๆ ประเทศธุรกิจ e-commerce เจ้าสำคัญก็ยังเป็นบริษัทสัญชาตินั้น เช่น ประเทศญี่ปุ่น (Rakuten) เกาหลีใต้ (Naver) … Continue reading

แม้อาจเป็นไปได้ แต่ก็ต้องพิจารณาข้อจำกัดในการเลือกนำนโยบายข้างต้นมาใช้ เพราะไทยพึ่งพาจีนมากกว่า และมีอำนาจต่อรองกับจีนต่ำกว่าอินโดนีเซีย[6]ประเทศอินโดนีเซียที่เป็นประเทศใหญ่ ประชากรมาก มีทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ที่ประเทศจีนต้องการ หากผลักดันมาตรการตอบโต้จีนที่รุนแรง อาจส่งผลให้รัฐบาลจีนโต้กลับและสร้างผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยได้ เช่น จีนอาจยกระดับภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย หรือจีนอาจประกาศยับยั้งไม่ให้คนจีนมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการปกป้องผู้ผลิตในประเทศด้วยการยกระดับกำแพงภาษีอาจไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง ในกรณีอินโดนีเซียเองก็ถูกตั้งคำถามว่าการยกระดับกำแพงภาษีช่วยทำให้การขาดดุลการค้ากับจีนลดลงหรือไม่ มาตรการดังกล่าวยังมีผลกระทบที่ต้องระวังอีกมาก เช่น หากดำเนินมาตรการปกป้องบางอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการปกป้องอาจจะได้รับผลกระทบเกี่ยวเนื่องไปด้วย เนื่องจากต้องใช้วัตถุดิบที่ราคาสูงขึ้นจากมาตรการปกป้องอุตสาหกรรม

ฉะนั้น นโยบายกีดกันทางการค้ากับจีน-ปกป้องผู้ประกอบการในประเทศเข้มข้นขึ้นจึงอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับปัญหาสินค้าจีนล้นทะลักในเวลานี้

รัฐบาลต้องสร้างสนามแข่งขันที่เป็นธรรมสำหรับทุกสินค้า-ทุกผู้ประกอบการ

เมื่อปัญหาคือสินค้าและธุรกิจจีนไม่ได้แข่งขันกับสินค้าและธุรกิจไทยอย่างเป็นธรรม หนึ่งในทางออกที่เป็นไปได้คือ รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎระเบียบและกำกับดูแลสินค้าและธุรกิจจีนด้วยมาตรฐานเดียวกันกับสินค้าและธุรกิจไทย สร้างสนามแข่งขันที่เป็นธรรมยิ่งขึ้นสำหรับทุกฝ่าย

รัฐบาลต้องนำสินค้าและธุรกิจจีนทั้งหมดเข้าสู่ระบบ ทำให้สินค้าจีนต้องจ่ายภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงได้รับการประเมินมาตรฐานคุณภาพสินค้า ขณะเดียวกัน ก็ต้องนำผู้ประกอบการเข้าจดทะเบียนในระบบ เสียภาษีนิติบุคคล ตลอดจนอยู่ภายใต้กฎระเบียบและการกำกับดูแล เช่นเดียวกันกับสินค้าและธุรกิจไทย

ทั้งนี้ ภาครัฐอาจไม่จำเป็นต้องผลักดันกฎหมายอะไรเพิ่มเติม แต่ต้องหาวิธีทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบังคับใช้กฎกติกาที่มีอยู่ เช่น เพิ่มงบประมาณและจำนวนบุคลากรในหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าไทย ให้สามารถเพิ่มจำนวนโกดังสินค้าที่ตรวจ ป้องกันการเล็ดลอดของสินค้าผิดกฎหมายจากจีน รวมถึงเพิ่มจำนวนบุคลากรหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบธุรกิจต่างด้าว เพื่อทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบธุรกิจที่จดทะเบียนผิดกฎหมายในไทยได้ละเอียดมากขึ้น

ในกรณีประเทศอินเดีย รัฐบาลเพียงแค่เข้มงวดกับกฎระเบียบควบคุมธุรกิจ ส่งผลให้ธุรกิจจีนที่ทำผิดกฎหมายจำนวนมากต้องขึ้นศาลทันที[7]https://www.the101.world/india-trade-measures-against-china/ การเกิดคดีข้อพิพาทของธุรกิจจีนช่วยลดอิทธิพลของธุรกิจจีนในระบบเศรษฐกิจอินเดีย และผลักดันให้เกิดการเจรจาทางการค้าระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลอินเดีย

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาสินค้าจีนจำนวนมากที่เข้ามาโดยไม่ถูกกำกับควบคุมจากภาครัฐนั้นเข้ามาผ่านการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มของจีน ดังนั้นหากต้องการจะให้กฎกติกาบังคับใช้กับสินค้าจีน ต้องผลักดันให้แพลตฟอร์มของต่างชาติเปิดเผยข้อมูลกับรัฐบาลให้มากที่สุด เพื่อให้ภาครัฐสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมทางการค้าในแพลตฟอร์ม

ในประเทศจีน ธุรกิจแพลตฟอร์มต่างชาติที่เข้าไปในประเทศจำเป็นต้องจดทะเบียนและวางเงินประกันไว้กับรัฐบาลจีน โดยประเทศจีนจะใช้ AI ตรวจทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นในแพลตฟอร์มเชื่อมกับฐานข้อมูลภาษี ส่งผลให้สินค้าที่ขายในแพลตฟอร์มต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลจีนทุกชิ้น และหากจับได้ว่ามีสินค้าที่นำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายหรือไม่ปฏิบัติตามกติกาของจีนอยู่ในแพลตฟอร์ม ภาครัฐจะหักเงินค่าปรับออกจากเงินประกันที่ธุรกิจแพลตฟอร์มวางไว้[8]https://www.the101.world/fair-game-talk-brief/

แนวทางแบบประเทศจีน เป็นแนวทาการกำกับควบคุมการนำเข้าสินค้าและแพลตฟอร์ม e-commerce ของต่างชาติ ที่น่าสนใจที่ประเทศไทยน่าศึกษามาปรับใช้

เดินเกมรุกให้ธุรกิจไทยโตไปด้วยกันกับจีน

หากการไหลเข้ามาของสินค้าจีนไม่ได้เป็นผลมาจากการทุ่มตลาดหรืออุดหนุนโดยภาครัฐ (dumping) เป็นการชั่วคราวเพื่อระบายสินค้าออกนอกประเทศ แต่เป็นผลมาจากการที่ภาคการผลิตจีนมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงกว่าประเทศอื่น สามารถส่งออกสินค้าราคาถูกได้ในระยะยาว มาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมยิ่งไม่ใช่มาตรการที่สามารถตอบโจทย์ได้ในระยะยาว

โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทยจึงเป็นเรื่องว่าเราจะปรับตัวอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากบริบทแบบใหม่ (new normal) ที่สินค้าจีนมีราคาถูก

การนำสินค้าจีนราคาถูกมาต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ของไทยเอง น่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้คนไทยได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตที่มีจีนเป็นผู้นำ ซึ่งหากจะวางบทบาทเป็นผู้ต่อยอด ผู้ประกอบการของไทยจะต้องมีความสามารถในการสร้าง ‘นวัตกรรม’ เช่น ธุรกิจติดตั้งเครื่องปรับอากาศ โดยอาจนำเครื่องปรับอากาศราคาถูกจากจีนมาพัฒนาระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถใช้คอมเพรสเซอร์แอร์ตัวเดียวเชื่อมกับแอร์ภายในบ้านสี่ตัว เป็นต้น ซึ่งประเทศจีนก็ใช้วิธีการนำสินค้าจากประเทศอื่นมาพัฒนาต่อยอดยกระดับนวัตกรรมภายในประเทศมาก่อน

หรือในอีกเส้นทางหนึ่ง เราสามารถเน้นไปผลิตสินค้าที่ธุรกิจจีนไม่เก่งมากนัก โดยประเทศจีนเก่งในการผลิตของคุณภาพคุ้มค่ากับราคา (ของราคาถูก) ดังนั้นประเทศไทยจึงยังมีโอกาสในสินค้าตลาดพรีเมียม หรือเน้นไปที่สินค้าอย่าง เวชภัณฑ์ยารักษาโรค เครื่องสำอาง สมุนไพร อาหาร เครื่องมือแพทย์ ซึ่งสินค้าเหล่านี้จากไทยยังเป็นนิยมในประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ในการยกระดับนวัตกรรมของภาคธุรกิจหรือผลักดันให้ภาคธุรกิจหันไปผลิตสินค้าพรีเมียม ภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเติบโตของนวัตกรรม แต่ที่ผ่านมารัฐไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมมากนัก เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมนวัตกรรมมีจำนวนมาก มีความทับซ้อน ขาดการบูรณาการ ขาดประสิทธิภาพในการทำงานส่งเสริมภาคธุรกิจ นอกจากนี้ หน่วยงานวิจัยยังขาดการส่งเสริมให้มีนักวิจัยหน้างานที่มีหน้าที่นำงานวิจัยไปประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ โดยที่ผ่านมาภาครัฐให้นักวิจัยที่ทำงานเชิงวิชาการต้องรับภาระประยุกต์งานเพื่อให้สามารถใช้งานในเชิงพาณิชย์ด้วย ขณะเดียวกัน การส่งเสริมยกระดับทักษะแรงงานก็ยังไม่ตรงจุด ไม่สร้างแรงจูงใจที่เป็นรูปธรรมพอให้แรงงานต้องการเข้าร่วมโครงการยกระดับ

การรวมกลุ่มในภูมิภาคเพื่อเจรจากับจีนเป็นกุญแจความสำเร็จ

การดำเนินนโยบายทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจำเป็นต้องอาศัยการเจรจาประนีประนอมและประสานความร่วมมือกับจีน เพื่อป้องกันมิให้มาตรการของไทยนำไปสู่ความขัดแย้งกับจีน อีกทั้งยังเอื้อให้สามารถขับเคลื่อนมาตรการได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

รัฐบาลจีนมีศักยภาพและอาจให้ความร่วมมือในการจัดการสินค้าและธุรกิจจีนผิดกฎหมายในประเทศไทย ไทยยังน่าจะได้รับความร่วมมือจากจีนให้สามารถผลักดันมาตรการควบคุมธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์สัญชาติจีน ให้ไทยจัดเก็บภาษีและควบคุมมาตรฐานคุณภาพสินค้าในระดับเดียวกับที่รัฐบาลจีนบังคับใช้ในประเทศตนเอง การเจรจายังอาจเปิดความเป็นไปได้ใหม่ในการดึงดูดการลงทุนจากจีนอย่างถูกกฎหมาย ภายใต้เงื่อนไขที่ธุรกิจจีนต้องใช้ปัจจัยการผลิตภายในประเทศไทยมากขึ้นด้วย (local content requirement)

ในการเจรจากับจีน ประเทศไทยควรรวมกลุ่มกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาคล้ายคลึงและเชื่อมโยงกัน เพื่อให้สามารถต่อรองกับจีนได้อย่างมีน้ำหนักและจัดการปัญหาสินค้าจีนล้นทะลักในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

ต้องผ่าตัดใหญ่รัฐไทย ธุรกิจและประเทศถึงไปต่อได้

ท้ายที่สุด ปัญหาสินค้าจีนล้นทะลักยังสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐ ทั้งการที่รัฐไทยกำกับควบคุมไม่ทั่วถึงจนทำให้เกิดปัญหาที่สินค้าและธุรกิจจีนที่ลักลอบเข้ามาผิดกฎหมาย รวมถึงการที่รัฐไทยไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจภายในประเทศยกระดับนวัตกรรมสามารถแข่งขันกับธุรกิจในต่างประเทศได้ การปฏิรูปภาครัฐจึงเป็นวาระที่ต้องทำไปพร้อมกับการสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้า และการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย

หนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหามาจากวัฒนธรรมกลัวเสียหน้าและเกรงใจต่อผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในภาครัฐ ไม่ต้องการระบุผู้รับผิดและยอมรับผิด ส่งให้ภาครัฐไม่สามารถถอดบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีต พลาดโอกาสที่จะปรับตัวรับมือต่อปัญหา

นอกจากนี้ ระบบของรัฐราชการไทยอาจไม่เหมาะต่อการส่งเสริมนวัตกรรมทางธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากไม่สามารถรับความล้มเหลวได้ ไม่ต้องการเสี่ยง และต้องการความสำเร็จที่รวดเร็ว ความคาดหวังดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงของการลงทุนสร้างนวัตกรรม ซึ่งมีโอกาสล้มเหลว มีความเสี่ยง ต้องรอคอยการเติบโตนาน แต่หากประสบความสำเร็จก็จะได้ผลตอบแทนที่สูง ดังนั้นภาครัฐจึงไม่ค่อยส่งเสริมธุรกิจที่กำลังเริ่มต้นพัฒนา แต่มักจะส่งเสริมให้กับธุรกิจที่ประสบความสำเร็จไปแล้วและอาจไม่ต้องการการสนับสนุนแล้ว

ในทางกลับกัน รัฐบาลจีนกลับมีกลไกที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ โดยรัฐบาลจีนได้ออกแบบกติกาที่สร้างแรงจูงใจให้รัฐบาลแต่ละมณฑลต้องแข่งขันกันพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นภาครัฐของจีนจึงกล้าเสี่ยงกล้าเดิมพันในการส่งเสริมธุรกิจ และตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลจีนมีการลงทุนส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจ ลงทุนสร้างผู้เชี่ยวชาญ ช่วยอุดหนุนดึงให้ธุรกิจมาลงทุนในมณฑลตัวเอง การที่รัฐบาลของจีนอุดหนุนในธุรกิจอย่างหนักจึงช่วยผลักดันให้ธุรกิจหลายเจ้าในจีนเติบโตมีความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างรวดเร็ว

การเข้ามาของสินค้าจีนจึงเป็นสัญญาณเตือนถึงบริบททางเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่กระตุ้นให้ไทยต้องกลับมาพิจารณาทิศทางการวางบทบาทตนเองในเวทีการค้าโลก รวมถึงเตือนให้รัฐต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของภาครัฐอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะสายไป

References
1 ณชา อนันต์โชติกุล และคณะ. 2024. เมื่อสินค้าจีนบุก ไทยเตรียมรับมืออย่างไร ?. KKP Research. URL: https://media.kkpfg.com/document/2024/Sep/KKPResearch_e-commerce-fuel-surge-in-chinese-import.pdf
2 Momentum Work, (2024), Ecommerce in Southeast Asia 2024, URL: https://momentum.asia/product/ecommerce-in-southeast-asia-2024/
3 DiPippo, G., Mazzocco, I., & Kennedy, S. (2022). Red Ink: Estimating Chinese Industrial Policy Spending in Comparative Perspective. Center for Strategic & International Studies. https://www.csis.org/analysis/red-ink-estimating-chinese-industrial-policy-spending-comparative-perspective
4 ณชา อนันต์โชติกุล และคณะ. 2024. เมื่อสินค้าจีนบุกไทยเตรียมรับมืออย่างไร ?. KKP Research. URL : https://media.kkpfg.com/document/2024/Sep/KKPResearch_e-commerce-fuel-surge-in-chinese-import.pdf
5 ทั้งนี้ในหลายๆ ประเทศธุรกิจ e-commerce เจ้าสำคัญก็ยังเป็นบริษัทสัญชาตินั้น เช่น ประเทศญี่ปุ่น (Rakuten) เกาหลีใต้ (Naver) แสดงให้เห็นว่าประเทศเหล่านี้ก็อาจให้ความสำคัญกับการมีธุรกิจ e-commerce ของตัวเอง
6 ประเทศอินโดนีเซียที่เป็นประเทศใหญ่ ประชากรมาก มีทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ที่ประเทศจีนต้องการ
7 https://www.the101.world/india-trade-measures-against-china/
8 https://www.the101.world/fair-game-talk-brief/

วิจัย/เขียน

วรดร เลิศรัตน์

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ค่าแรง 400 เลื่อน-ล่ม-ลดสเป็ค

ประเมินนโยบายการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่ยังไม่เพียงพอต่อแรงงาน แต่ก็อาจปรับเร็วเกินจนเผชิญแรงต้านรุนแรง

เปิดโจทย์การแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัล: เมื่อกฎหมายไม่ทันตลาด เราควรเดินหน้าอย่างไร

ไทยยังกำกับดูแลได้แพลตฟอร์มดิจิทัลได้ไม่ดีพอ และร่างกฎหมายใหม่ก็อาจไม่เข้ากับบริบทตลาดไทย แล้วทางเดินของหน่วยงานกำกับดูแลควรเป็นเช่นไร?

12 December 2024

From New Fair Game to New Fair World: ปรับมุมมองเศรษฐกิจไทย สร้างโลกการแข่งขันที่เปิดกว้างและเป็นธรรม

101 ชวนอ่านสรุปความจากงานเสวนาโต๊ะกลม ‘New Fair Game: โลกใหม่ของการแข่งขันที่เป็นธรรม’ ร่วมหารือข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการกำกับการแข่งขันที่จะกระทบต่อรากฐานเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

6 December 2024

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.