มองความเหลื่อมล้ำผ่านข้อมูลฝุ่น: เมื่อปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพฯ เสียงดังกว่าต่างจังหวัด

เมื่อลมหนาวพัดเข้าสู่ประเทศไทย เหมือนเป็นธรรมเนียมที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) จะกลับมาปกคลุมท้องฟ้าทั่วทุกภูมิภาคจนกระทบกับสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้คน เกิดเป็นเสียงเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจังทุกปี

แต่เมื่อสถานการณ์ดูจะคลี่คลายลง โดยเฉพาะเมื่อปริมาณฝุ่นในกรุงเทพฯ เบาบางลงไป ความสนใจของสังคมต่อประเด็นการแก้ปัญหาฝุ่นก็เหมือนจะค่อยๆ ซาลงเช่นกัน ก่อนจะวนมาพูดถึงอีกครั้งเมื่อละอองฝุ่นกลับมาในปีถัดไป

ในความเป็นจริง ฝุ่นพิษขนาดจิ๋วนี้อยู่กับเราเกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่สถานการณ์สาหัสกว่าพื้นที่อื่นอย่างชัดเจน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2023 จังหวัดเชียงใหม่ไต่ขึ้นไปอยู่ในอันดับ 5 ของเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก พร้อมกับค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของจังหวัดลำปางและพะเยาที่พุ่งสูงถึง 200 อยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก เช่นเดียวกับหลายจังหวัดในภาคอีสาน อย่างอุบลราชธานี มุกดาหาร และนครพนมที่ค่า AQI อยู่ในช่วง 100-150 ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า แม้วันนี้คนกรุงเทพฯ จะหายใจได้สะดวกขึ้น แต่ประชาชนในอีกหลายจังหวัดของประเทศยังคงเผชิญอันตรายจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในขั้นสาหัสและได้รับการเหลียวแลจากรัฐและสังคมน้อยกว่า

101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ลองคลี่ข้อมูลคุณภาพอากาศรายวันตลอด 1 ปีในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคอย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และสระบุรี จากฐานข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษและรวบรวมโดย World Air Quality Project พบว่า แม้ช่วงพีคของปริมาณฝุ่น PM2.5 ในเกือบทุกจังหวัดจะกินเวลาประมาณ 2 เดือนในช่วงธันวาคม-กุมภาพันธ์ แต่คุณภาพอากาศในช่วงเวลาที่เหลือก็ยังไม่ถือว่าเป็น ‘อากาศสะอาด’ ทั้งตามมาตรฐานของประเทศไทยและองค์การอนามัยโลก (WHO)[1]ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM2.5 ให้ค่าเฉลี่ยรายปีต้องไม่เกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 50 … Continue reading

ใน 1 ปีคนไทยได้สูดอากาศสะอาดไม่ถึง 100 วัน สระบุรีมีวันอากาศดีแค่ 5 วัน

ใน 1 ปีคนไทยมีวันอากาศดีไม่ถึง 100 วัน ต่างจังหวัดเจอฝุ่น PM2.5 หนักกว่ากรุงเทพ

หากใช้เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศจากข้อเสนอของกรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้วันที่มีคุณภาพอากาศดี หมายถึง วันที่มีค่า AQI ไม่เกิน 50 หรือปริมาณ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 37 ไมโครกรัม/ลูกบาศ์กเมตร ในปี 2022 ทั้ง 5 จังหวัดข้างต้นจะมีสัดส่วนวันอากาศดีตลอด 1 ปี ไม่ถึง 30% หรือเฉลี่ยไม่เกิน 100 วัน ส่วนจังหวัดสระบุรีสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุด คือมีวันที่คุณภาพอากาศดีเพียง 5 วัน (1.4%) เท่านั้นจาก 365 วัน

ในขณะที่คุณภาพอากาศส่วนใหญ่ใน 1 ปี ของ 5 จังหวัดนี้อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง (ค่า AQI 51-100 ปริมาณ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 38-50 ไมโครกรัม/ลูกบาศ์กเมตร) ซึ่งเป็นระดับที่กรมอนามัยแนะนำให้ผู้เป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง

หมายเหตุ: 1) ใช้ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ซึ่งคำนวณจากปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากฐานข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ 2) มาตรฐานคุณภาพอากาศอ้างอิงจากข้อเสนอของกรีนพีซประเทศไทย

หากดูแนวโน้มคุณภาพอากาศย้อนหลัง 5 ปี พบว่าจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา มีสัดส่วนวันอากาศดีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวยังนับว่าค่อนข้างน้อยมาก โดยเฉพาะขอนแก่นที่เพิ่มขึ้นเป็น 11.2% ในปี 2022 ส่วนกรุงเทพฯ และสระบุรีมีสัดส่วนวันอากาศดีน้อยลงในปีที่ผ่านมา 

ต่างจังหวัดมีเครื่องตรวจวัด PM2.5 น้อย หลายจังหวัดข้อมูลตกหล่น

นอกจากค่าดัชนีคุณภาพอากาศและความเข้มข้นของปริมาณ PM2.5 ข้อมูลอีกด้านที่สำคัญคือ จำนวนเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ แม้รัฐบาลจะมีนโยบายเพิ่มจำนวนสถานีตรวจวัดทุกปี แต่ก็ยังนับว่าค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับความเร่งด่วนของปัญหาและส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ 

ข้อมูลจากรายงาน Different Air Under One Sky: The Inequity Of Air Pollution โดยกรีนพีซ ประเทศอินเดีย ระบุว่า จากเครื่องตรวจวัดของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด 138 เครื่องทั่วประเทศไทย มากกว่า 50 เครื่องอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวนเครื่องตรวจวัดที่กระจายตัวมากพอทำให้คนกรุงเทพฯ กว่า 95% สามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศได้ในรัศมี 5 กิโลเมตร ยิ่งระยะห่างของเครื่องตรวจวัดกับประชาชนใกล้กันเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้รับข้อมูลคุณภาพอากาศที่แม่นยำมากขึ้น และสามารถเตรียมตัวป้องกันผลกระทบทางสุขภาพได้ทันท่วงที

ในขณะที่หลายจังหวัดยังไม่มีเครื่องตรวจวัดหรือเครื่องตั้งอยู่ไกลจากที่อยู่อาศัยของประชาชน เช่น จังหวัดสระบุรี ลำปาง และสตูล เครื่องตรวจวัดส่วนใหญ่อยู่ในรัศมี 10-15 กิโลเมตรจากบ้าน จังหวัดขอนแก่นส่วนใหญ่อยู่ในรัศมีมากกว่า 25 กิโลเมตร ในจังหวัดเหล่านี้มีประชาชนไม่ถึง 18% เท่านั้นที่บ้านอยู่ใกล้กับเครื่องตรวจวัดในรัศมี 5 กิโลเมตร

เครื่องตรวจวัดที่ตั้งอยู่ไกลจากที่อยู่อาศัย ทำให้ประสิทธิภาพของการใช้ข้อมูลคุณภาพอากาศลดลงไปด้วย ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลการเตือนภัยสุขภาพที่ถูกต้อง ส่วนหน่วยงานภาครัฐก็วิเคราะห์สาเหตุของฝุ่นในพื้นที่ต่างๆ ได้ยากขึ้น และอาจทำให้การกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นไม่ตรงจุดมากพอ

ยิ่งกว่านั้น ในจังหวัดที่มีการกระจายตัวของเครื่องตรวจวัดน้อยยังพบปัญหาข้อมูลคุณภาพอากาศรายวันตกหล่นเป็นจำนวนมาก เช่น ข้อมูลจังหวัดเชียงรายในปี 2019 หายไป 242 วัน และข้อมูลจังหวัดอุดรธานีในปี 2018 หายไป 245 วัน

อากาศสะอาดคือสิทธิพื้นฐานที่รัฐต้องประกันให้ประชาชนทุกคน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาฝุ่นเป็นประเด็นที่สลับซับซ้อนและเชื่อมโยงกับหลายเรื่อง การแก้ปัญหาจึงไม่จบที่นโยบายเดียว แต่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนนโยบายหลายส่วนไปพร้อมกัน ทั้งการควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดฝุ่นที่สำคัญอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ และการก่อสร้าง ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน เพิ่มพื้นที่สีเขียว ตลอดจนการเจรจาเพื่อสร้างความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการจัดการปัญหาฝุ่นโดยรัฐบาลไทยเป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก เพื่อเอาตัวรอดให้พอผ่านวิกฤตเฉพาะหน้าไปได้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการฉีดน้ำขึ้นไปในอากาศ ทำฝนเทียมลดฝุ่น บังคับไม่ให้จุดไฟเผาไร่ข้าวโพดและไร่อ้อยในพื้นที่ต่างๆ รณรงค์ให้ประชาชนงดจุดธูป หรือตรวจจับควันดำรถยนต์ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุและแทบไม่ช่วยให้ฝุ่นลดลงแม้แต่น้อย

อีกทั้งเมื่อภาคประชาชนเสนอร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ เพื่อสร้างกลไกการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศให้ชัดเจนในทางกฎหมายและเป็นการรับรองสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดของประชาชน นายกรัฐมนตรีก็กลับปัดตกร่างกฎหมายด้วยเหตุผลว่าเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน[2]พิชชากร เรืองเดชาวิวัฒน์, “วิบากกรรมของร่างกฎหมายโดยประชาชน ในสภายุคประยุทธ์ 2,” https://101pub.org/hardship-people-proposed-law/ ทำให้การแก้ปัญหาฝุ่นของประเทศไทยยังคงไร้ทิศทางและไม่ทันการต่อความรุนแรงของปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญ

การได้ใช้ชีวิตท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับ รัฐมีหน้าที่ต้องรับรอง และทำให้เกิดขึ้นจริง ไม่ควรเป็นเพียงอภิสิทธิ์ของคนบางกลุ่มในสังคมที่โชคดีเกิดในพื้นที่ที่อากาศดีกว่า หรือมีเงินมากพอที่จะซื้อเครื่องกรองอากาศ ด้วยเหตุนี้ การผ่านร่างกฎหมายเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจึงเป็นปราการด่านแรกที่รัฐบาลต้องผลักดัน พร้อมกับดำเนินนโยบายรูปธรรมเพื่อทำให้อากาศสะอาดเป็นของประชาชนทุกคน

References
1 ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM2.5 ให้ค่าเฉลี่ยรายปีต้องไม่เกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนข้อแนะนำของ WHO ล่าสุดในปี 2021 ระบุว่าค่าเฉลี่ยรายปีไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่ควรเกิน 15 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
2 พิชชากร เรืองเดชาวิวัฒน์, “วิบากกรรมของร่างกฎหมายโดยประชาชน ในสภายุคประยุทธ์ 2,” https://101pub.org/hardship-people-proposed-law/

อินโฟกราฟิก

สร้างสรรค์ภาพ

สรัช สินธุประมา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไทยต้องสูญเสียอะไรบ้าง หากการแก้ปัญหาโลกรวนยังไปไม่ถึงไหน?

101 PUB ชวนสำรวจผลกระทบและความสูญเสียของ ‘วิกฤตโลกรวน’ ที่กำลังฉายชัดขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย พร้อมประเมินความพร้อมของแผนและนโยบายรับมือของไทยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย 'เงินอุดหนุนเกษตรกร' แบบเดิมๆ

หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย ‘เงินอุดหนุนเกษตรกร’ แบบเดิมๆ

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย เข้าใจช่องโหว่ของนโยบายเงินอุดหนุนเกษตรกรในปัจจุบันที่ยิ่งทำก็เหมือนยิ่ง ‘ขุดหลุมฝังประเทศ’ พร้อมทั้งเสนอแนวทางเปลี่ยนสวัสดิการเติมรายได้ให้สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

ประเมินสถานะการกระจายอำนาจ: 2 ทศวรรษที่ยังไปไม่ถึงเป้า

101 PUB ชวนสำรวจสถานะของการกระจายอำนาจท้องถิ่นในประเทศไทยในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาว่ามีพลวัตเป็นอย่างไรและมีปัญหาใดบ้างที่รอการแก้ไขเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.