การหา ‘งานที่ดี’ อาจเป็นเพียงความฝันของเยาวชนไทยส่วนใหญ่

ก่อนจะก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงาน ใครหลายๆ คนคงมีภาพอาชีพการงานในฝันเป็นของตนเอง เราต่างถูกถามถูกชวนคิดกันมาตั้งแต่เด็กว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” คำตอบที่ได้ในวัยเด็กก็มักจะเป็นอาชีพยอดนิยมในช่วงสมัยนั้นๆ และเมื่อเติบโตขึ้น เริ่มเห็นความหลากหลายเปิดจินตนาการให้ชวนคิด คำตอบเหล่านี้ก็อาจเปลี่ยนแปลงไป

บางคนมีโอกาสได้เรียนรู้ตามที่สนใจและสามารถหางานในฝันเจอ ทว่าท้ายที่สุด ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำตามความฝันเหล่านี้ได้ ตั้งแต่โอกาสที่ถูกปิดกั้น ฐานะ ถิ่นที่อาศัย ตลอดจนอาชีพการงานที่ตอบโจทย์ความต้องการก็หาได้ยาก

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ‘คิด for คิดส์’ โดยความร่วมมือของ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ชวนสำรวจความฝันด้านอาชีพการงานของเยาวชนไทยผ่านผลสำรวจเยาวชน 2022 พร้อมทั้งชวนมองดูสถานการณ์ตลาดแรงงานในโลกความเป็นจริงที่ทำให้ ‘งานที่ดี’ อาจเป็นเพียงความฝันของเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่

‘งานที่ดี’ ในความหมายของเด็กและเยาวชนไทย

เยาวชนไทยสมัยนี้ก็มีนิยามความหมายของคำว่า ‘งานที่ดี’ เป็นของตนเอง โดยผลสำรวจเยาวชนอายุ 15-25 ปี ในปี 2022 ของ คิด for คิดส์ พบว่า ความหมายของ ‘งานที่ดี’ หากนิยามตามปัจจัยสำคัญที่เยาวชนใช้เลือกงาน 3 อันดับแรกคือ งานที่ได้ค่าจ้างสูง (ร้อยละ 36.5) งานที่สอดคล้องกับความฝัน (ร้อยละ 22.9) และงานที่เลือกเวลาทำงานได้อิสระ (ร้อยละ 11.5)

นอกจากนี้ ถ้าดูคำตอบอาชีพที่เด็กและเยาวชนอยากทำจากผลสำรวจของกระทรวงวัฒนธรรมและมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในปี 2023 ก็จะพบว่า เด็กและเยาวชนไทยต่างอยากทำงานที่ใช้ทักษะสูง โดยอาชีพในฝัน 5 อันดับแรก ได้แก่ ครูและอาจารย์ หมอและพยาบาล นักธุรกิจ ทหารและตำรวจ และยูทูบเบอร์ นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่าอาชีพเหล่านี้ล้วนเป็นงานนอกภาคเกษตร ซึ่งมักหาได้ง่ายกว่าหรือทำได้ง่ายกว่าถ้าอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองใหญ่ (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1: ‘งานที่ดี’ ในความหมายของเด็กและเยาวชนไทย
ที่มา: คิด for คิดส์ รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลผลสำรวจเยาวชน (2022) และผลสำรวจของกระทรวงวัฒนธรรมและมหาวิทยาลัยดุสิต (2023)

งานค่าจ้างสูงหายาก หลายงานไม่สามารถให้คุณภาพชีวิตที่ดีได้

แม้เยาวชนไทยต้องการทำงานที่ได้ค่าจ้างสูงมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวเลขที่ไร้เหตุผลสำหรับระดับการศึกษาและหน้าที่การงานที่ดีตามที่คาดหวัง โดยเฉลี่ยเยาวชนไทยคาดหวังงานที่ได้ค่าจ้าง 23,268 บาทต่อเดือน

ความคาดหวังต่อค่าจ้างสูงขึ้นตามระดับการศึกษาสูงสุดที่เยาวชนคาดหวังว่าจะเรียนจบ โดยเยาวชนที่คาดหวังการศึกษาเพียงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นคาดหวังค่าจ้างน้อยที่สุด (อย่างน้อย 16,657 บาทต่อเดือน) ถัดมากลุ่มเยาวชนที่คาดหวังการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช./ปวส. คาดหวังงานที่ได้ค่าจ้างอย่างน้อย 20,601 บาทต่อเดือน ขณะที่เยาวชนที่คาดหวังการศึกษาระดับอุดมศึกษาคาดหวังค่าจ้างมากที่สุด (อย่างน้อย 24,645 บาทต่อเดือน) ซึ่งมีเยาวชนเพียง 1.0% ที่คาดหวังการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ขณะที่มีเยาวชนสูงถึง 43.3% และ 55.7% ที่คาดวังการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช./ปวส. และระดับอุดมศึกษาตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงงานค่าจ้างสูงกลับหายากมากสำหรับเยาวชนไทย โดยมีตำแหน่งงานเพียง 2.7% ของตำแหน่งงานทั้งหมดที่เยาวชนทำในปัจจุบันที่มีค่าจ้างสูงกว่าความคาดหวังของเยาวชนไทยโดยเฉลี่ย (มากกว่า 23,268 บาทต่อเดือน)

ยิ่งไปกว่านี้ เมื่อแยกตามกลุ่มตามระดับการศึกษาพบว่ากลุ่มเยาวชนที่มีระดับการศึกษาน้อยจะสามารถหางานที่มีค่าจ้างสูงกว่าที่ตนคาดหวังได้ยากมากขึ้น โดยมีเพียง 3.0% ของงานสำหรับเยาวชนที่มีวุฒิมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีค่าจ้างสูงกว่าที่เยาวชนกลุ่มนี้คาดหวังไว้ และมีเพียง 2.6% ของงานสำหรับเยาวชนที่มีวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช./ปวส. ที่ให้ค่าจ้างสูงกว่าความคาดหวังของเยาวชนกลุ่มนี้ ขณะที่งานสำหรับเยาวชนที่มีวุฒิอุดมศึกษาที่ให้ค่าจ้างสูงกว่าความคาดหวังของเยาวชนกลุ่มนี้จะมีสูงกว่ากลุ่มอื่นและค่าเฉลี่ย แต่ก็สูงกว่าเพียงเล็กน้อย (6.8%)[1]คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023)

นอกจากนี้ งานส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังไม่สามารถให้คุณภาพชีวิตที่ดีแก่เยาวชนได้ โดย 87.8% ของแรงงานเยาวชนในประเทศไทยได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างเพื่อชีวิต หรือราว 15,201 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นระดับค่าจ้างที่สามารถให้คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับแรงงานเยาวชนได้ตามมาตรฐานการครองชีพเฉลี่ยของสังคม

ภาพที่ 2: ค่าจ้างที่เยาวชนคาดหวังเทียบกับค่าจ้างในความเป็นจริง
ที่มา: คิด for คิดส์ รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลผลสำรวจเยาวชน (2022), สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023), และกษิดิ์เดช คำพุช (2022)

งานทักษะสูงมีน้อย – กระจุกตัวมาก

แม้อาชีพในฝันของเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่จะเป็นงานทักษะสูงนอกภาคเกษตร แต่ในความเป็นจริงงานนอกภาคเกษตรกลับมีงานที่ใช้ทักษะสูงน้อยมาก จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตามวิธีแบ่งระดับทักษะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ชี้ให้เห็นว่าเพียง 10.9% ของงานนอกภาคเกษตรในประเทศเป็นงานทักษะสูง ขณะที่ตำแหน่งงานที่เหลือเป็นงานทักษะกลาง (72.6%)[2]อาทิ เสมียน, พนักงานบริการ, พนักงานโรงงาน เป็นต้น และงานทักษะต่ำ (16.5%)[3]อาทิ พนักงานทำความสะอาด, พนักงานก่อสร้าง, พนักงานทำความสะอาด เป็นต้น          

ยิ่งไปกว่านั้น งานทักษะสูงนอกภาคเกษตรดังกล่าวนี้ยังมีความกระจุกตัวสูงมาก เพราะเมื่อดูการกระจายตัวของงานทักษะสูงนอกภาคเกษตรในประเทศไทยจะพบว่า 40.1% ของงานเหล่านี้กระจุกตัวอยู่แค่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากนี้ งานทักษะสูงนอกภาคเกษตรที่เหลือส่วนใหญ่กระจุกตัวตามหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ อาทิ นครราชสีมา (4.4%), ชลบุรี (3.6%), เชียงใหม่ (2.9%), นครศรีธรรมราช (2.2%)

ภาพที่ 3: งานทักษะสูงมีน้อย – กระจุกตัวมาก
ที่มา: คิด for คิดส์ รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023)

ภาพของการกระจุกตัวของงานทักษะสูงนอกภาคเกษตรนี้ชี้ให้เห็นว่าเยาวชนไทยส่วนใหญ่ต้องอพยพเข้าหัวเมืองต่างๆ หากต้องการทำงานตามความฝันของตน

งานทักษะสูงมีแนวโน้มทำล่วงเวลาน้อยกว่ากลุ่มอื่น

งานทักษะสูงที่หายากเหล่านี้มีแนวโน้มมีชั่วโมงการทำงานหนักน้อยกว่างานกลุ่มอื่น โดยมีเพียง 7.1% ของงานทักษะสูงที่มีเวลาการทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นมาตรฐานเวลาการทำงานปกติตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และกฎหมายแรงงานไทยกำหนดไว้ ขณะที่งานทักษะกลางและทักษะต่ำมีสัดส่วนงานที่มีเวลาการทำงานสูงกว่ามาตรฐานถึง 18.8% และ 12.4% ตามลำดับ          

นอกจากนี้ เมื่อดูรายพื้นที่จะพบได้ว่าตามพื้นที่เขตปริมณฑลและหัวเมืองต่างๆ ซึ่งมีงานทักษะสูงกระจุกตัวอยู่มากนี้ มีแนวโน้มที่จะมีงานที่มีเวลาการทำงานที่หนักน้อยกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มีสัดส่วนงานที่มีเวลาการทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์น้อยกว่าค่าเฉลี่ย (16.9% ของงานทั้งหมด) อย่างไรก็ดี จะมีเพียงบางพื้นที่ที่มีสัดส่วนงานที่มีเวลาทำงานเกินมาตรฐานที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (17.4%) นครราชสีมา (18.7%) เชียงใหม่ (21.2%) และชลบุรี (31.7%)

ภาพที่ 4: งานทักษะสูงมีแนวโน้มทำล่วงเวลาน้อยกว่ากลุ่มอื่น
ที่มา: คิด for คิดส์ รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023)

ขณะที่หลายพื้นที่ที่เหลือที่มีงานทักษะสูงอยู่น้อยมีแนวโน้มที่จะมีสัดส่วนงานที่มีเวลาการทำงานสูงเกินกว่ามาตรฐานมาก อาทิ จังหวัดเลย ซึ่งมีงานทักษะสูงเพียง 0.3% ของงานทักษะสูงในประเทศ แต่มีสัดส่วนงานที่มีเวลาการทำงานเกินมาตรฐานสูงถึง 46% ของตำแหน่งงานในพื้นที่

ภาพของความเชื่อมโยงระหว่างลักษณะทักษะของงานและลักษณะเวลาการทำงานนี้ชี้ให้เห็นว่าเยาวชนไทยส่วนใหญ่อาจจำใจต้องทำงานที่ไม่สอดคล้องตามความฝัน (งานทักษะสูง) อีกทั้งงานเหล่านี้ยังมีเวลาการทำงานที่หนัก

หลายพื้นที่ชั่วโมงการทำงานน้อย แต่อาจเป็นเพราะแทบไม่มีงานให้ทำ

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีสัดส่วนงานที่มีเวลาการทำงานเกินมาตรฐานที่น้อย หากแต่ไม่ได้เป็นเพราะพื้นที่เหล่านี้มีงานทักษะสูงเยอะ แต่เป็นเพราะพื้นที่เหล่านี้อาจแทบไม่มีตำแหน่งงานให้เยาวชนได้ทำเลย เพราะเมื่อดูการกระจายตัวของตำแหน่งงานสำหรับเยาวชนอายุ 15-25 ปี ทั่วประเทศไทยจะพบว่าหลายพื้นที่ที่มีสัดส่วนงานที่มีเวลาการทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย กลับมีตำแหน่งงานในพื้นที่ไม่ถึง 1% ของงานที่มีทั้งหมดในประเทศ อาทิ ปัตตานี (0.8%) กาฬสินธุ์ (0.8%) ยะลา (0.6%) น่าน (0.6%) และอำนาจเจริญ (0.4%)

ภาพที่ 5: หลายพื้นที่ชั่วโมงการทำงานน้อย แต่อาจเป็นเพราะแทบไม่มีงานให้เยาวชนทำ
ที่มา: คิด for คิดส์ รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023)

งานใกล้บ้านไม่มี งานที่มีอาจไม่ตอบโจทย์เยาวชน

ภาพที่ได้เสนอไปข้างต้นเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ‘งานที่ดี’ ในโลกแห่งความจริงในปัจจุบันอาจเป็นเพียงความฝันของเยาวชนไทยส่วนใหญ่ เนื่องจากหลายพื้นที่อาจไม่มีตำแหน่งงานใกล้บ้านให้เยาวชนสามารถทำได้ ขณะที่อีกหลายตำแหน่งงานที่มีในประเทศไทยอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเยาวชนได้อีกด้วย

เพื่อให้ ‘งานที่ดี’ ไม่เป็นเพียงความฝันสำหรับเยาวชนอีกต่อไป ประเทศไทยควรพิจารณาให้ความสำคัญกับ 3 สิ่งต่อไปนี้

1. มุ่งสร้างงานนอกภาคเกษตร

แม้อาชีพในฝันของเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่จะเป็นงานที่อยู่นอกภาคเกษตร แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยกลับยังมีขนาดภาคเกษตรที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับสากล โดยปี 2023 ประเทศไทยมีสัดส่วนแรงงานภาคเกษตรสูงถึง 31.4% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศไทย[4]คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023) ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงจะมีสัดส่วนแรงงานภาคเกษตรที่น้อยกว่านี้มาก (ต่ำกว่า 5%) ซึ่งภาคเกษตรของประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่นี้เป็นแหล่งรวมปัญหาหลายด้านอย่างความยากจน, หนี้สิน, ประชากรสูงวัย, ไร้ที่ดินทำกิน,และความเปราะบาง[5]วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร. “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ต้องขัดใจทุกฝ่าย ตอนที่ 1: เกษตรไทยไม่แพ้ขาติใดในโลก.” มิถุนายน 19, 2022. https://www.the101.world/thai-structural-reform-1/.

ดังนั้น เป้าหมายปลายทางที่ประเทศไทยควรมุ่งให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การโยกย้ายผู้คนและทรัพยากรจากภาคเกษตรไปยังกิจกรรมเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นงานนอกภาคเกษตร โดยต้องเริ่มจากแนวทางสร้างงานทางเลือกให้มากขึ้น รวมถึงการลดการอุดหนุนที่ไม่ส่งเสริมให้คนปรับตัวเพื่อทำงานที่มีผลิตภาพที่ดีขึ้น

2. กระจาย ‘งานที่ดี’ สู่พื้นที่ภูมิภาค

อย่างไรก็ดี การมุ่งเพียงโยกย้ายแรงงานและทรัพยากรสู่กิจกรรมเศรษฐกิจนอกภาคเกษตร ซึ่งสามารถสร้าง ‘งานที่ดี’ ให้แก่เยาวชนไทยได้ อาจยังไม่เพียงพอ หากแต่ต้องคำนึงถึงมิติเชิงพื้นที่อีกด้วย โดยต้องมีการกระจายงานเหล่านี้สู่พื้นที่ภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะงานที่มีทักษะสูงและมีเวลาการทำงานไม่เกินมาตรฐาน เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวสูงเพียงภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ดังที่กระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างที่ผ่านมา

การกระจาย ‘งานที่ดี’ สู่พื้นที่ภูมิภาคยังช่วยแก้ปัญหาเมืองโตเดี่ยวที่ความเจริญกระจุกอยู่เพียงพื้นที่เดียว ทำให้เยาวชนสามารถมีงานที่ดีอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถช่วยลดการโยกย้ายของแรงงานสู่เมืองใหญ่ซึ่งทำให้ครอบครัวต้องอยู่ห่างไกลโดยไม่จำเป็น

3. พัฒนาพื้นที่หัวเมืองต่างๆ เพื่อรองรับเยาวชนที่ย้ายเข้ามาทำงาน

ท้ายที่สุด แม้การกระจาย ‘งานที่ดี’ สู่พื้นที่ภูมิภาคต่างๆ จะช่วยให้เยาวชนสามารถมีงานที่ตนต้องการอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่แรงงานเยาวชนจะไม่มีการโยกย้ายที่อยู่เพื่อหาตามหางานที่ตนต้องการเลย เนื่องจากบางตำแหน่งงานจะต้องอาศัยการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจสูงระดับหนึ่งจึงจะสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะงานทักษะสูง อย่างที่จะเห็นได้ว่างานออฟฟิศมักกระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่

ดังนั้น สิ่งที่ควรจะต้องมีการทำควบคู่ไปด้วยคือการพัฒนาพื้นที่หัวเมืองต่างๆ ให้มีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้อยู่อาศัยมากขึ้น อาทิ การสร้างบ้านเช่าที่มั่นคง, และการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะตามพื้นที่หัวเมืองต่างๆ เพื่อรองรับเยาวชนที่จะต้องย้ายเข้ามาทำงานตามความฝันของตน

References
1, 4 คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023)
2 อาทิ เสมียน, พนักงานบริการ, พนักงานโรงงาน เป็นต้น
3 อาทิ พนักงานทำความสะอาด, พนักงานก่อสร้าง, พนักงานทำความสะอาด เป็นต้น
5 วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร. “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ต้องขัดใจทุกฝ่าย ตอนที่ 1: เกษตรไทยไม่แพ้ขาติใดในโลก.” มิถุนายน 19, 2022. https://www.the101.world/thai-structural-reform-1/.

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

สรวิศ มา

บทความที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐกิจต้องสูญเสียอีกเท่าไหร่ กว่าจะเป็นกองทัพ ‘สมัครใจ’

101 PUB ชวนทบทวนว่านโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารที่มีอยู่สามารถ ‘ยกเลิก’ การเกณฑ์ทหารได้อย่างแท้จริงหรือไม่?

ให้เด็กได้เบ่งบานนอกสถานรองรับ: แนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัว

คิด for คิดส์ ชวนอ่านปัญหาการพัฒนาครอบครัวอุปถัมภ์ไทยที่ส่งผลให้เด็กไทยจำนวนมากไม่ได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวอย่างที่ควรจะเป็น

เศรษฐกิจโตช้าไป หรือเราหวังไว้มากเกิน?

101 PUB ชวนดูปรากฏการณ์ที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าคาด และชวนคุยถึงสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้เรามักจะมองเศรษฐกิจบวกเกินจริง

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.