การกำกับดูแลเนื้อหาสื่อที่ยึด ‘คน’ เป็นหัวใจ: บทเรียนจากต่างประเทศ และ กสทช.

101 PUB

7 September 2023

ประเด็นสำคัญ

  • ที่ผ่านมา กสทช. เน้นกำกับดูแลเนื้อหาสื่อวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็กำกับดูแลเนื้อหาโฆษณาที่เป็นภัยต่อสิทธิผู้บริโภคและสุขภาพประชาชนได้พอใช้ 
       
  • องค์กรกำกับดูแลสื่อของรัฐถูกคาดหวังให้มีบทบาทในการกำกับดูแลระบบตลาดและเทคโนโลยีให้หลากหลายและเป็นธรรม โดยร่วมมือกับภาคส่วนอื่นอย่างโปร่งใสและถูกตรวจสอบได้ 
       
  • กสทช. ควรมีแนวทางกำกับดูแลเนื้อหาแบบมีส่วนร่วม และชี้แจงสาธารณะเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาเนื้อหา รวมถึงบทบาทการกำกับดูแลตลาดและเทคโนโลยีของตนอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น เพื่อให้สามารถคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคสื่อในยุคดิจิทัลได้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสขึ้น

กสทช. ถูกคาดหวังให้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการกำกับดูแลเนื้อหารายการและเนื้อหาโฆษณา เพื่อรับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งควรช่วยให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการบริโภคข่าวสารและเนื้อหาต่างๆ จากสื่อแพร่ภาพกระจายเสียงที่สามารถเข้าถึงผู้รับสารในวงกว้างและมีอิทธิพลต่อการรับรู้ปรากฏการณ์ต่างๆ ของประชาชน กสทช. ยังมีบทบาทในการส่งเสริมการสร้างมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพเพื่อให้สื่อมวลชนสามารถกำกับดูแลกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดการกับเนื้อหาที่อาจเป็นอันตรายต่อประชาชน เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หลักการกำกับดูแลของ กสทช. มักไม่กระจ่างและไม่เท่าทันต่อพัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งการวินิจฉัยเนื้อหาที่เห็นว่ามีปัญหาและการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหา ขณะเดียวกันก็ยังขาดการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการทำความเข้าใจต่อกรอบและเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหาที่กฎหมายกำหนด รวมถึงไม่มีการสร้างความเข้มแข็งให้กลไกการกำกับดูแลเนื้อหาโดยผู้ประกอบการสื่อและภาคประชาสังคมมากนัก ปัญหาเหล่านี้สะท้อนว่าการดำเนินงานของ กสทช. ที่ผ่านมายังไม่เอื้อต่อการรับประกันสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเท่าที่ควร

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและความท้าทายของการกำกับดูแลเนื้อหาสื่อ ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากยุคสื่อดั้งเดิม เรียกร้องให้เกิดการคิดใหม่ถึงแนวทางที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการกำกับดูแลที่โปร่งใสและมีส่วนร่วม แนวทางและกลไกการกำกับดูแลเนื้อหาสื่อแพร่ภาพกระจายเสียงของ กสทช. ที่กล่าวมาข้างต้น อาจกลายเป็นอุปสรรคในการกำกับดูแลเนื้อหาสื่อในยุคใหม่ โดยเฉพาะสื่อเผยแพร่ทางช่องทางออนไลน์

การทบทวนแนวทางการกำกับดูแลเนื้อหาสื่อของ กสทช. ที่ผ่านมาจึงมีความจำเป็นเพื่อพิจารณาว่าเป็นแนวทางปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้บริโภคอย่างไร นอกจากนี้ กสทช. ยังควรทบทวนบทบาทและแนวทางการกำกับดูแลเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต และความได้สัดส่วนระหว่างสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์เพื่อรักษาระดับการแข่งขันให้เท่ากัน

วิจัย/เขียน

ทัตเทพ ดีสุคนธ์

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

กสทช. กับการ (ไม่?) บังคับใช้ตามมาตรการควบรวม TRUE-DTAC

กสทช. กับการ (ไม่?) บังคับใช้ตามมาตรการควบรวม TRUE-DTAC

101 PUB ชวนสำรวจผลกระทบของการควบรวม TRUE-DTAC ต่อผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งติดตามการบังคับใช้มาตรการควบรวมของ กสทช.

7 September 2023
USO

จับตางบ USO กสทช.: 8 พันล้านบาทกับการใช้เงินนอกเหนือภารกิจหลัก

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาการปฏิบัติงานและจัดสรรงบประมาณของ กสทช. ภายใต้แผนงานการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation, USO)

เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

101 PUB ชวนทำความเข้าใจ ‘คุณค่า-ทัศนคติ’ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของ ‘เยาวชนไทย’ จากผลสำรวจเยาวชนสองหมื่นคนทั่วประเทศ หาคำตอบว่าพวกเขาคิดฝันอะไร เป็นใคร และมีพฤติกรรมอย่างไร

22 June 2023
1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.