ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดยความร่วมมือระหว่างสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank) มีพันธกิจในการจัดทำรายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวเป็นประจำทุกปี เพื่อรายงานสถานการณ์และปัญหาในประเด็นสำคัญ สำหรับเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจนโยบาย การทำงานด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ การศึกษาวิจัยต่อยอด รวมถึงเป็นองค์ความรู้สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจ
รายงานสถานการณ์สองฉบับแรก ‘เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต’ (2022) และ ‘เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง’ (2023) ได้ฉายสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวระดับ ‘มหภาค’ ครอบคลุมประเด็นตั้งแต่รายได้และความเป็นอยู่ โภชนาการ สุขภาพกาย สุขภาพจิต การศึกษา การทำงาน ความสัมพันธ์และความขัดแย้งภายในครอบครัว ความรุนแรง ไปจนถึงคุณค่าและทัศนคติ ความฝัน และการมีส่วนร่วมและถูกกดปราบทางการเมือง
ข้อสรุปหนึ่งจากรายงานทั้งสองฉบับคือ เด็ก เยาวชน และครอบครัวแต่ละกลุ่มเผชิญสถานการณ์หลายเรื่องต่างกัน อย่างไรก็ดี สถานการณ์ ความฝัน และปัญหาของบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มชายขอบและเปราะบาง มักถูกมองข้าม ละเลย และไม่ได้รับความเข้าใจเพียงพอ หรืออาจกล่าวได้ว่าพวกเขา ‘ไม่ถูกมองเห็น’ แจ่มชัดนัก ไม่เว้นกระทั่งจากผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งพึงมีบทบาทในการสนับสนุนความฝันและช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขา
รายงานฉบับปีนี้ (2024) จึงจัดทำขึ้นภายใต้แนวคิด ‘เด็กและครอบครัวไทยที่ไม่ถูกมองเห็น’ มุ่งนำเสนอสถานการณ์ของเด็ก เยาวชน และครอบครัวชายขอบและเปราะบางกลุ่มตัวอย่างที่น่าสนใจ หวังเปิดหน้าต่างให้สังคมและผู้กำหนดนโยบาย ‘มองเห็น’ และสามารถสนับสนุนพวกเขาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเป็นหน้าต่างบานเล็กไม่กี่บานที่กระตุ้นแรงบันดาลใจให้สังคมเปิดหน้าต่างบานถัดๆ ไป เพื่อเข้าใจประชากรกลุ่มเหล่านี้อย่างถ้วนทั่วและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
รายงานฉบับนี้จะนำเสนอถึงกลุ่มเด็กและครอบครัวที่ไม่ถูกมองเห็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- เด็กและเยาวชนครัวเรือนเกษตร: ชีวิตไม่แน่นอนภายใต้ธรรมชาติ-ตลาดผันผวน
- เด็กและเยาวชนจนเมือง: เมืองศูนย์กลางแห่งโอกาสกลับกลายเป็นอุปสรรคความฝัน
- สามเณร: ร่มกาสาวพัสตร์ไม่ใช่ทางเลือกเสรี แต่คือ ‘ทางรอดที่มืดมน’
- นักเคลื่อนไหวทางการเมือง: บาดแผลและความหวังหลังควันจาง