แม้ในเวลานี้ เราอาจจะกล่าวได้ว่า ประเทศฟื้นตัวจากภาวะบอบช้ำหลังการระบาดใหญ่ของไวรัสแล้วบ้างเล็กน้อย แต่กระนั้น ก็ยังมีร่องรอยบาดแผลทิ้งไว้หลายแห่ง ทั้งในแง่สังคมและเศรษฐกิจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เยาวชนคือหนึ่งในผู้ที่รับผลกระทบต่อบาดแผลนั้นทิ้งในทางตรงและทางอ้อม เพราะแม้วิกฤตโควิด-19 จะเคลื่อนตัวผ่านไปบ้างแล้ว แต่กระบวนการพัฒนา ฟื้นฟูเด็กและเยาวชนก็ยังต้องเดินหน้าต่อ ประเด็นสำคัญคือ ขณะที่เด็กหลายคนอาจเยียวยาบาดแผลที่เกิดจากช่วงการระบาดใหญ่แล้วใช้ชีวิตเติบโต ตามหาความฝันของตัวเองได้ ก็ยังมีเด็กอีกหลายคนที่ไม่อาจก้าวข้ามหุบเหวนั้น และเมื่อเวลาผ่านไป บาดแผลที่ไม่ได้รับการรักษาเหล่านี้อาจกลายเป็นปัญหาในระยะยาวที่ส่งผลต่ออนาคตของพวกเขา
คำถามสำคัญคือ แล้วประเทศไทยมีแผนรองรับ ดูแลเยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติเหล่านี้อย่างไร ภายหลังการเลือกตั้ง 2023 ที่ผ่านมานี้มีนโยบายสาธารณะใดหรือไม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้
คิด for คิดส์ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับ 101 PUB ชวนสำรวจสถานการณ์ที่เด็กและเยาวชนต้องเผชิญหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ผ่านงานวิจัย เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: นำเสนอผลการศึกษาคุณค่า-ทัศนคติเยาวชน จากผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์ โดย วรดร เลิศรัตน์ กับ เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง – ‘หลังโควิด’ × ‘หลังเลือกตั้ง’ : นำเสนอรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023 โดย วรดร เลิศรัตน์ และ สรัช สินธุประมา นักวิจัยและบริหารการวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ดังนี้
จากงานวิจัย เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’ ที่สำรวจกลุ่มคนอายุ 15-25 ปีจำนวน 19,237 ตัวอย่าง ในประเด็นว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความสัมพันธ์กลุ่ม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ประเด็นถกเถียงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเพศสภาพและครอบครัว ทำให้พบว่าในเชิงทัศนคติแล้วนั้นแบ่งเยาวชนแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่
โดยกลุ่มทัศนคติแรกที่ถือว่ามีการศึกษาสูงที่สุด เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม และมีลักษณะเป็นอนุรักษนิยมน้อยที่สุด ให้ความสำคัญแก่เรื่องชาตินิยมน้อยมากนั้น มีอยู่ที่ 29.1 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มทัศนคติกลุ่มที่สองที่มีความอนุรักษนิยมมากขึ้นกว่ากลุ่มแรก ภูมิใจกับความเป็นไทยและยึดหลักประชาธิปไตย มีจำนวน 22.7 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มทัศนคติกลุ่มที่สามซึ่งเป็นกลุ่มเพศชายเยอะที่สุด ยึดหลักประชาธิปไตยแต่มีแนวโน้มจะให้รัฐเข้ามาจำกัดสิทธิบางประการ มีสัดส่วนอยู่ที่ 18.8 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มทัศนคติกลุ่มที่สี่ เป็นกลุ่มที่รับสื่อผ่านโทรทัศน์เป็นหลัก มีลักษณะให้คุณค่าแก่ความเป็นชาตินิยมสูง มีลักษณะเป็นอนุรักษนิยมค่อนข้างสูง เชื่อว่าพระเจ้าหรือวิบากกรรมมีอิทธิพลต่อชีวิต มีจำนวนอยู่ที่ 15.9 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มทัศนคติที่ห้า เป็นเยาวชนที่เติบโตในครอบครัวที่มีรายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยน้อยที่สุด ได้รับการศึกษาน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ให้ความสำคัญต่อการเอาตัวรอดเป็นหลัก เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาในสังคมแต่ขณะเดียวกันก็ไม่เชื่อนโยบายรัฐ จึงไม่เชื่อว่ารัฐจะเข้ามาแก้ไขสิ่งใดได้ กลุ่มนี้มีอัตราส่วนอยู่ที่ 13.5 เปอร์เซ็นต์
ต่อเนื่องจากงานวิจัยดังกล่าว จากงาน เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง – ‘หลังโควิด’ × ‘หลังเลือกตั้ง’ ซึ่งชี้ว่า หลังจากที่รัฐยกเลิกการประกาศว่าโควิด-19 คือโรคระบาดร้ายแรงเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนไทยก็เข้าสู่สถานการณ์ใหม่ซึ่งแบ่งออกเป็นสองแพร่ง แพร่งแรกคือการฟื้นฟูและพัฒนาทักษะต่างๆ หลังโควิด-19 ที่หากว่าเยาวชนไม่ได้รับการดูแลหรือสนับสนุนอย่างเหมาะสม ก็อาจต้องเจ็บปวดจากบาดแผลที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่นั้นต่อไปซึ่งจะส่งผลในระยะยาว นโยบายสาธารณะจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตอบโจทย์นี้ ซึ่งนำมาสู่แพร่งที่สองคือตัวนโยบาย เพราะการเลือกตั้งทีผ่านมาถือเป็นแพร่งสำคัญของนโยบายสาธารณสุขว่าด้วยเด็กและเยาวชน ว่าจะหาทางเยียวยา ดูแลเยาวชนหลังยุคโควิด-19 อย่างไร
โดยงานวิจัย เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง – ‘หลังโควิด’ × ‘หลังเลือกตั้ง’ แบ่งสถานการณ์ที่เด็กและเยาวชนไทยต้องเผชิญออกเป็น 6 สถานการณ์ ดังนี้
เด็กและเยาวชนเติบโตในครัวเรือนเปราะบางทับซ้อน และยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤต
หลายครัวเรือนมีปัญหาเรื่องรายได้ลดลงซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตเด็กๆ ในครอบครัว พบว่า ครัวเรือนราว 62 เปอร์เซ็นต์มีรายได้ลดลงโดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนยากจนหรือกลุ่มครอบครัวเปราะบาง กล่าวคือมีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี และวิธีการรับมือต่อผลกระทบคือลดการบริโภคซึ่งย่อมส่งผลต่อตัวเด็กในบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในจำนวนนี้ครอบครัวถึง 12 เปอร์เซ็นต์ที่ระบุว่าเคยต้องอดอาหารทั้งวัน และยังพบว่า ครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก ต้องกู้หนี้ยืมสินมากกว่าครัวเรือนที่ไม่มีเด็กเล็ก จึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กด้วย
โดยภายหลังจากวิกฤตโควิด-19 ความเปราะบางของครัวเรือนซับซ้อนกว่าที่เคย มีเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เป็นจำนวนกมากขึ้น เช่น ครอบครัวที่พ่อแม่ต้องไปทำงานแล้วให้ปู่ย่าตายายหรือญาติดูแลเด็ก หรือเป็นครอบครัวแหว่งกลางที่เกิดจากการที่พ่อแม่หย่าร้าง, เป็นผู้ต้องขัง หรืออาจกลับมาพร้อมหน้ากันอีกครั้งในช่วงการระบาดใหญ่เนื่องจากพ่อแม่ตกงาน จึงเป็นการกลับมาพร้อมหน้าในลักษณะที่ผู้ปกครองไม่พร้อมดูแลเด็ก ตลอดจนหลายครอบครัวก็มีลักษณะเป็นครอบครัวเปราะบางทับซ้อน เช่น ผู้สูงอายุที่ต้องดูแลบุตรหลานขณะที่ตัวเองก็เริ่มมีปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาช่องว่างระหว่างวัยระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ไปจนถึงความเปราะบางในแง่ที่บางครอบครัวมีทั้งเด็กเล็กและผู้ป่วยติดเตียงให้ต้องดูแล และหลายคนก็เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขด้วย
นอกจากนี้ ยังพบว่าหลายครอบครัวเผชิญกับความเปราะบางในแง่ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่กับลูกมีความคิดไม่ตรงกัน มีความขัดแย้งทำให้ห่างเหินกันไป ซึ่งด้านหนึ่งส่งผลให้เยาวชนเกิดความเครียด บางกลุ่มกลัวในการแสดงออกหรือแสดงความเห็นต่อหน้าผู้ใหญ่
ทั้งนี้ พรรคการเมืองหลายพรรคมีนโยบายที่พยายามแก้ไขประเด็นดังกล่าว ทุกพรรคให้ความช่วยเหลือในแง่เงิน เช่น ให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้ามากขึ้น และจะพบว่ามีพรรคก้าวไกลกับพรรคประชาธิปัตย์ที่เน้นนโยบายให้ผู้ปกครองมีเวลากับครอบครัว เช่น เพิ่มสิทธิการลาคลอด หรือระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น แต่ปัญหาความทับซ้อนในครัวเรือนยังไม่ถูกพูดถึงมากนักจากนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง
เยาวชนมีงานที่ดีและสอดคล้องกับความฝันได้ยากขึ้น
งานวิจัยพบว่า ประเทศไทยไม่มีงานให้เยาวชนทำเพียงพอ หลังการระบาดใหญ่ อัตราการว่างงานและว่างงานแฝงเพิ่มขึ้น 5.4 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงที่สุดในรอบสองทศวรรษ อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เป็นปัญหาที่เยาวชนที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเผชิญหน้าอย่างหนัก งานที่รองรับก็มักกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เยาวชนที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดจึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการหางานมากกว่า และอาจต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อหางาน
ยังมีเยาวชนอีกกลุ่มที่ด้วยเงื่อนไขบางประการ ไม่สามารถทำงานได้หรือไม่ต้องการทำงาน เรียกว่าเป็นเยาวชน NEET ซึ่งย่อมาจาก not in education, employment, or training มีสัดส่วนสูงเป็นพิเศษในกลุ่มที่จบการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมต้น จำนวนสองในสามไม่พร้อมทำงานและไม่เข้ารับการฝึกทักษะใดๆ ด้านหนึ่งย่อมสะท้อนว่า งานที่รองรับนั้นเป็นงานที่ไม่มีคุณภาพและไม่มีคุณค่าพอให้เยาวชนอยากสละเวลาไปทำ ขณะที่เยาวชน NEET บางคนก็ไม่มีเวลาเนื่องจากสมาชิกในครอบครัวที่มีภาวะพึ่งพิง เช่น ผู้สูงอายุ อันเป็นผลมาจากระบบสวัสดิการได้สร้างข้อจำกัดให้เยาวชนเหล่านี้ไม่อาจไปแสวงหางาน เติมเต็มความฝันตัวเองได้
ปัจจัยสำคัญในการที่เยาวชนเลือกงานคือเรื่องรายได้ เยาวชนคาดหวังค่าจ้างขั้นต่ำ 23,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ค่าเฉลี่ยรายได้ตอนนี้อยู่ที่ 16,000 บาทโดยยังมีเยาวชนอีกมากที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าจำนวนนี้ และผลสำรวจยังระบุว่า เยาวชนอยากเลือกงานที่เวลางานอิสระ และให้ความสำคัญกับจริยธรรมของนายจ้างและประชาธิปไตยในที่ทำงานด้วย
ทั้งนี้ เมื่อมองไปยังนโยบายของพรรคการเมืองจะพบว่า โดยทั่วไปแล้วนโยบายหลักๆ เน้นไปที่การพยายามสร้างงาน เพิ่มรายได้ให้เยาวชน พัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างงานใหม่ให้กระจายไปต่างจังหวัดมากขึ้น ยกระดับรายได้ผ่านการพัฒนาทักษะ แต่พรรคการเมืองหลายพรรคก็ยังละเลยประเด็นการสร้างงานที่เป็นงานที่ดี ให้เยาวชนอยากมาทำด้วย
เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอย และพัฒนาทักษะจำเป็นจากระบบการศึกษา
จากการศึกษาพบว่า เยาวชนกังวลว่าระบบการศึกษาไม่สามารถเตรียมพร้อมให้เข้าสู่โลกการทำงานได้อย่างเหมาะสม โดยเยาวชนอายุ 15 ปีจำนวนครึ่งหนึ่งตกเกณฑ์ทั้งในแง่การอ่าน, คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ทั้งโควิด-19 ก็ทำให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยที่ยิ่งไปซ้ำเติมบาดแผลเหล่านี้ และยังเปลี่ยนพลวัติของโลกการทำงานและการเมืองในภาพรวมด้วย เพราะการระบาดใหญ่ทำให้ทักษะแห่งอนาคตบางอย่างสำคัญมากขึ้น แต่ระบบการศึกษาไทยยังไม่สามารถตอบสนองทักษะเหล่านี้ให้เยาวชนได้ รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านการศคกษาระหว่างเยาวชนที่มาจากกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงกับเยาวชนที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำด้วย
นอกจากนี้ เยาวชนหลายคนยังมองว่าการศึกษามีปัญหาหลายประการ เช่น ครูไม่มีเวลา ไม่สนใจนักเรียน ไม่มีความรู้ในวิชาที่สอนหรือไม่เปิดกว้างต่อความเห็นต่าง ซึ่งอาจเป็นปัญหาจากการที่ครูต้องรับภาระอื่นๆ นอกห้องสอนเยอะเกินไป รวมทั้งเยาวชนรายงานว่าพบปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียน เช่น เคยถูกลงโทษให้เจ็บปวดทางร่างกายและ/หรือจิตใจด้วย
ทั้งนี้ มีพรรคการเมืองเสนอนโยบายที่จะแก้ปัญหาการศึกษาหลายประการ เช่น พยายามขยายการเข้าถึงและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ในแง่ของคุณภาพการศึกษา มีพรรคการเมืองบางพรรคที่ให้ความสำคัญต่อการปรับหลักสูตรให้เหมาะสำหรับตลาดแรงงานและโลกอนาคต แต่ยังขาดข้อเสนอที่ชัดเจนในแง่จะชดเชยการเรียนรู้ถดถอยที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19
เด็กและเยาวชนเผชิญปัญหาเครียดและซึมเศร้า แต่เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ไม่ทั่วถึง
ปัญหาสุขภาพจิตยังคงเป็นปัญหาใหญ่ แม้จะพบว่าช่วงหลังโควิด-19 จำนวนเยาวชนที่เสี่ยงซึมเศร้าจะลดลงอย่างรวดเร็วหลังคลายการล็อคดาวน์ลง แต่หลังจากเปิดเทอม ตัวเลขดังกล่าวกลับพุ่งขึ้นสูง ความเสี่ยงซึมเศร้าและความเครียดก็กลับมาอีก โดยสาเหตุหลักมาจากการเรียน ไม่ว่าจะเรียนออนไลน์หรือไม่ออนไลน์แล้วก็ตาม เนื่องจากเยาวชนใช้เวลาเรียนเป็นจำนวนมาก เยาวชนราวหนึ่งในสามต้องเรียนพิเศษซึ่งเฉลี่ยแล้วคนหนึ่งนั้นเรียนพิเศษเป็นเวลา 11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ทั้งนี้ เยาวชนจำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ แต่ขณะเดียวกัน บริการการดูแลสุขภาพก็ยังเหลื่อมล้ำอยู่มาก เนื่องจากการบริการด้านจิตเวชนั้นยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ประเทศไทยมีสถานพยาบาล -รวมทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชนและคลีนิก- ที่ให้บริการด้านจิตเวช 452 แห่ง มีเพียง 177 แห่งเท่านั้นที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่ ในจำนวนนี้ สถานพยาบาล 40 แห่งกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และมีจิตแพทย์เด็กประจำ 111 คนหรือ 37.6 เปอร์เซ็นต์ของจิตแพทย์เด็กทั่วประเทศ
ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองสามพรรคที่นำเสนอนโยบายด้านปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน คือพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลที่พูดถึงการแก้ไขและการลดระดับปัจจัยเสี่ยงในการจะทำให้เกิดซึมเศร้าหรือความเครียด เช่น ลดปัญหาการใช้อำนาจนิยมในโรงเรียน หรือการเตรียมความพร้อมให้พ่อแม่ก่อนมีบุตร รวมทั้งสนับสนุนการใช้แพทย์ทางไกลเพื่อลดปัญหาการเข้าไม่ถึงการแพทย์
เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเป็นจำนวนมากขึ้นในรูปแบบซ่อนเร้นยิ่งขึ้น
เด็กหลายคนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ดังที่เห็นได้จากเหตุการณ์กราดยิงที่หนองบัวลำภู แต่ยังมีความรุนแรงอีกมากที่ไม่เป็นที่รับรู้ โดยจากการสำรวจพบว่า มีการแจ้งเหตุจำนวนเหตุรุนแรงเพิ่มเป็นสองเท่าในเจ็ดปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักคือการล่วงละเมิดทางเพศ, ความรุนแรงในวัยรุ่นและกลุ่มก่อการ ทั้งความรุนแรงส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน มองเห็นได้ยาก นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือแนวโน้มของการเกิดความรุนแรงทางเพศในเด็กซึ่งพบว่า 46 เปอร์เซ็นต์นั้นเด็กถูกล่วงละเมิดหรือถูกใช้ความรุนแรงทางเพศในบ้านตัวเอง และมีเด็ก 18 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกทำร้ายทางเพศในปี 2021 ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างมากและสะท้อนว่า ประเทศไทยยังมีมาตรการป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชนไม่เพียงพอ
นอกจากความรุนแรงที่ในครอบครัวและการทำร้ายทางเพศ เด็กและเยาวชนไทยยังเผชิญกับการทำร้ายผ่านโลกออนไลน์ด้วย โดยพบว่าเด็กและเยาวชน 26 เปอร์เซ็นต์เคยถูกกลั่นแกล้งออนไลน์, 11 เปอร์เซ็นต์เคยถูกคุกคามทางเพศออนไลน์ และเมื่อปี 2022 มีผลการสำรวจเปรียบเทียบใน 30 ประเทศทั่วโลกพบว่าความปลอดภัยต่อความรุนแรงออนไลน์ของเด็กและเยาวชนไทยอยู่รั้งท้ายที่สุด เป็นรองก็แต่ประเทศอุรุกวัยเท่านั้น
โดยยังไม่พบว่ามีพรรคการเมืองใดที่เสนอนโยบายแก้ไขปัญหาเรื่องความรุนแรงซ่อนเร้นดังกล่าว หรือแก้ไขความรุนแรงต่อเยาวชนที่ต้องเผชิญทางอินเตอร์เน็ตแต่อย่างใด
เด็กและเยาวชนฝันถึงสังคมใหม่อย่างหลากหลาย แต่ระบบการเมืองไม่เปิดกว้าง-รับฟัง
ระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา เยาวชนตื่นตัวทางการเมืองมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ สะท้อนว่าพวกเขาก็มีความฝันทางการเมืองและอยากเห็นสังคมแบบใหม่ และพร้อมจะขับเคลื่อนไปสู่ความเปลี่ยนแปลงนั้น ทั้งนี้ พบว่าเยาวชนไทยในวงกว้างมีฉันทามติร่วมกันในสามรื่องใหญ่ ประการแรกคือการคุ้มครองเสรีภาพทางความคิด เปิดพื้นที่ความหลากหลายซึ่งถือเป็นสิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่สำคัญที่สุด ประการต่อมาคือการให้ความสำคัญกับการทำลายระบบอุปถัมป์ การใช้เส้นสายและแก้ปัญหาความทุจริต และประการสุดท้ายคือการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้ทุกคนกินดีอยู่ดี มีโอกาสเสมอภาคกัน เนื่องจากเยาวชนเห็นพ้องต้องกันว่า เศรษฐกิจไทยทุกวันนี้นั้นเอื้อประโยชน์ให้คนรวยมากกว่าทุกคน
ทั้งนี้ เยาวชนยังให้คุณค่ากับการผลักดันประเด็นความเสมอภาคทางเพศสภาพ, การพัฒนาสวัสดิการ เช่น มีบริการสาธารณะให้ทุกคนเข้าถึงได้ รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาให้คุณภาพเท่าเทียมกัน และโอบรับความหลากหลายต่างๆ ด้วย
สิ่งสำคัญคือ เยาวชนต่างไม่ได้ต้องการความเปลี่ยนแปลงฉับพลันหรือมีผู้วิเศษเข้ามาผลักดันความเปลี่ยนแปลง แต่เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ภายใต้ระบบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วม และเห็นว่าสังคมไทยควรเปิดพื้นที่ให้แต่ละความเห็นโลดแล่นได้อย่างเสรี
หากมองไปยังนโยบายของพรรคการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้ง จะพบว่าพรรคการเมืองบางพรรคที่มีนโยบายจะขยายและคุ้มครองการมีส่วนร่วมของเยาวชน ในแง่การแสดงความเห็นและการตั้งสภาเยาวชนต่างๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นทางแพร่งที่เยาวชนไทยต้องเผชิญ การที่พวกเขาจะเยียวยาบาดแผลที่เกิดขึ้นจากวิกฤตที่ผ่านมา เพื่อสานต่อความฝันในอนาคตนั้น ด้านหนึ่งก็ย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายสาธารณะเหล่านี้ว่าจะโอบอุ้มพวกเขาได้มากเพียงใด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต่างยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไปหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้วเช่นนี้