ประเด็นสำคัญ
เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023 ประกอบด้วยเอกสาร 2 ชิ้น:
- 6 สถานการณ์สำคัญด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดย วรดร เลิศรัตน์ และ สรัช สินธุประมา
- เล่มผนวกที่ 1 สถิติสำคัญด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว: รวบรวมสถิติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์ โดย วรดร เลิศรัตน์, พิชชากร เรืองเดชาวิวัฒน์, และ กษิดิ์เดช คำพุช
รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวของศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ฉบับปีที่ผ่านมา (2022) เรียกขานสถานการณ์ในเวลานั้นว่า “เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต” ซึ่งมุ่งอธิบายสภาพปัญหาที่เด็ก เยาวชน และครอบครัวต้องเผชิญภายใต้เงามืดของวิกฤตโรคระบาดโควิด วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา และวิกฤตสังคมและการเมือง
ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2022 รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกโควิดจากการเป็นโรคติดต่ออันตรายและยุติการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ถือเป็นหมุดหมายแห่งการสิ้นสุดลงของวิกฤตโควิด สถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวจึงดำเนินพ้นจากช่วงเส้นทางอันเต็มไปขวากหนามแห่งสามวิกฤต มาหยุดยั้งอยู่ ณ ‘ทางแพร่ง’ ที่พวกเขาจะต้องหันเหไปยังทิศทางหนึ่ง เพื่อมุ่งสู่ทางข้างหน้าต่อไป
ทางแพร่งนี้หมายถึงการฟื้นฟูและพัฒนาหลังวิกฤตโควิด โรคระบาดที่สิ้นสุดลงมิได้หมายความว่าบาดแผลจากขวากหนามแห่งวิกฤตครั้งนั้น – ปัญหาของเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลกระทบสืบเนื่อง – จะสลายหายไปราวกับไม่เคยเกิดขึ้น พวกเขาอาจรักษาบาดแผลแล้วเติบโตเติมเต็มความฝันได้ดียิ่งขึ้น แต่ในอีกทิศทางหนึ่ง พวกเขาก็อาจเจ็บปวดทรมานจากพิษแผลนั้นต่อไป ได้แผลเป็น และมีสุขภาวะและพัฒนาการย่ำแย่ในระยะยาว จนไม่สามารถเอื้อมคว้าความฝันของตนได้
เด็ก เยาวชน และครอบครัวจะหันไปสู่ทิศทางไหนก็ขึ้นอยู่กับนโยบายสาธารณะ ว่าจะเยียวยาบาดแผลและสนับสนุนพวกเขาได้ตอบโจทย์ เหมาะสม และมีประสิทธิภาพเพียงใด แต่นโยบายดังกล่าวก็กำลังอยู่ ณ ทางแพร่งอีกชุดหนึ่ง คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2023 ประชาชนเพิ่งใช้สิทธิเลือกทิศทางนโยบายและผู้กำหนดนโยบายชุดใหม่ ท่ามกลางบรรยากาศของตลาดนโยบายที่เปิดกว้าง เกิดการวิพากษ์นโยบายเดิมและจินตนาการถึงนโยบายใหม่อย่างมีพลวัต ซึ่งอาจส่งผลให้นโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัวอาจหันสู่ทิศทางใหม่หลังจากนี้
สถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวจึงกำลังอยู่ใน ‘สองทางแพร่ง’ คือ ทางแพร่งหลังโควิดและทางแพร่งหลังเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา วิกฤตสังคมและการเมือง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวก็ยังดำเนินต่อไป
ภายใต้บริบทเช่นนี้ ปรากฏประเด็นสำคัญในสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวทั้งสิ้น 6 ประเด็น ได้แก่
- เด็กและเยาวชนเติบโตในครัวเรือนเปราะบางทับซ้อนและยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤต
- เยาวชนมีงานที่ดีและสอดคล้องกับความฝันได้ยากขึ้น
- เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยและพัฒนาทักษะจำเป็นจากระบบการศึกษา
- เด็กและเยาวชนเผชิญปัญหาเครียดและซึมเศร้า แต่เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ไม่ทั่วถึง
- เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเป็นจำนวนมากขึ้นในรูปแบบซ่อนเร้นยิ่งขึ้น
- เด็กและเยาวชนฝันถึงสังคมใหม่อย่างหลากหลายแต่ระบบการเมืองไม่เปิดกว้างและรับฟัง