เด็กและเยาวชนเผชิญความรุนแรงในชีวิตประจำวันมากขึ้น
ในรูปแบบซ่อนเร้นยิ่งขึ้น


ความรุนแรงส่วนใหญ่อยู่ในชีวิตประจำวัน จำนวนมากเกิดในพื้นที่ครอบครัว

         ในช่วงปี 2016-2022 เหตุการณ์ความรุนแรงที่มีเด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อ มีจำนวนรวม 948 เหตุการณ์ คิดเป็น 1 ใน 3 ของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ทั้งหมด สาเหตุที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดได้แก่ การล่วงละเมิดทางเพศ (ร้อยละ 35.7) และความรุนแรงจากกลุ่มวัยรุ่น (ร้อยละ 20.1) หากพิจารณาเฉพาะกรณีเสียชีวิตจะได้แก่ ความรุนแรงจากกลุ่มวัยรุ่น (ร้อยละ 28.8) และกลุ่มอาชญากร (ร้อยละ 26.3) เหตุกราดยิงดังที่เกิดในจังหวัดหนองบัวลำภูนั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเพียงร้อยละ 9.4 ทั้งนี้ เหตุการณ์ความรุนแรงกว่า 2 ใน 3 มักมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 1-2 คน ตามสถิติของศูนย์ติดตามข้อมูลเหตุรุนแรง[1]

แผนภูมิที่ 5.1:  สัดส่วนเด็กและเยาวชนที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากความรุนแรงสาเหตุต่างๆ ตามที่ปรากฎเป็นข่าว ปี 2016-2022

ที่มา: ศูนย์ติดตามข้อมูลเหตุรุนแรง (2023)

         ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า เหตุการณ์ความรุนแรงส่วนมากมิใช่เหตุการณ์ใหญ่ที่จะได้รับความสนใจกว้างขวางอย่างกรณีกราดยิงในจังหวัดหนองบัวลำภู แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับความสนใจ ถูกปิดเงียบ และไม่ถูกรายงานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยนัยนี้ สถิติข้างต้นจึงน่าจะเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าความเป็นจริงมาก

         ข้อมูลที่อาจช่วยเติมเต็มภาพสถานการณ์ความรุนแรงนี้คือ จำนวนเด็กและเยาวชนผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งระหว่างปี 2015-2021 มีจำนวนเฉลี่ยปีละ 3.2 หมื่นคน แม้จำนวนมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา[2] แต่คาดว่าเกิดจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงบริการการแพทย์ได้ยากขึ้น

แผนภูมิที่ 5.2:   จำนวนเด็กและเยาวชนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายปี 2015-2021

ที่มา: กรมป้องกันโรค (2022)

         หนึ่งในพื้นที่ความรุนแรงในชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชนที่มีนัยสำคัญที่สุดคือ ครอบครัว จากข้อมูลกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงตามที่ได้รับแจ้งเหตุเพิ่มขึ้นทุกปี และเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เฉพาะในปี 2022 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้งสิ้น 2,347 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรี และถูกทำร้ายโดยบุคคลใกล้ชิดโดยเฉพาะพ่อแม่ ในจำนวนนี้ เพียงร้อยละ 31.4 ไปแจ้งความกับตำรวจ[3]

แผนภูมิที่ 5.3:  จำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงตามที่ได้รับแจ้งเหตุ ปี 2016-2022

ที่มา: กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (2022)

แนวโน้มการถูกทำร้ายทางเพศน่าห่วง กลุ่มอายุต่ำกว่า 10 ปีถูกทำร้ายโดยใช้กำลังรุนแรงมากที่สุด

         จากข้อมูลในระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค เด็กและเยาวชนถูกทำร้ายทางเพศเฉลี่ยปีละ 459 ราย โดยร้อยละ 85.7 เป็นเด็กและเยาวชนหญิง กลุ่มที่ถูกทำร้ายมากที่สุดคือช่วงอายุ 10-14 ปี และเหตุการณ์ร้อยละ 45.8 เกิดขึ้นในบ้านของตัวเอง[4]

แผนภูมิที่ 5.4:   สัดส่วนเด็กและเยาวชนถูกทำร้ายทางเพศ ต่อจำนวนเด็กและเยาวชนที่รับการรักษาในแผนกผู้ป่วยใน (IPD) จากเหตุทำร้ายร่างกายทั่วประเทศ ปี 2015-2021

ที่มา: กรมป้องกันโรค (2022)

         หากพิจารณาสัดส่วนการถูกทำร้ายทางเพศต่อการถูกทำร้ายร่างกายทั้งหมด พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนดังกล่าวสูงสุดและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีที่ถูกทำร้ายร่างกายรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาล 1 ใน 7 เป็นเด็กที่ถูกทำร้ายทางเพศโดยใช้กำลัง และร้อยละ 94.4 ของกลุ่มนี้เป็นเพศหญิง[5] ส่วนเด็กและเยาวชนอายุมากกว่า 10 ปีจะมีสัดส่วนข้างต้นน้อยกว่า แต่ก็อาจเกิดจากการที่พวกเขาอายุเพิ่มขึ้น แล้วตัดสินใจไม่เปิดเผยสาเหตุแท้จริงของการถูกทำร้าย

         ความรุนแรงทางเพศต่อเด็กและเยาวชนเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของแผลใจในวัยเด็ก (adverse childhood experience) ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลในทันทีเนื่องจากเด็กอาจยังไม่เข้าใจประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่บาดแผลนี้สามารถฝังลึกในใจแล้วจึงแสดงอาการในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งอาการเจ็บป่วยทางจิตใจและร่างกาย[6]

         งานวิจัยพบว่า แผลใจในวัยเด็กเป็นอุปสรรคต่อโอกาสในการหางานที่ดี และการแสวงหารายได้ในอนาคต แผลใจดังกล่าวจึงทั้งบั่นทอนโอกาสและความฝันตลอดชีวิตที่เหลือของพวกเขา และยังส่งต่อความเปราะบางในด้านความยากจนและความเสี่ยงต่อความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย[7]

เด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ ‘รั้งท้ายโลก’

         เด็กและเยาวชนเผชิญภัยคุกคามในพื้นที่ออนไลน์ โดยเฉพาะตั้งแต่ระยะการเรียนออนไลน์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งผลักดันให้พวกเขาต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น[8] ผลการศึกษาความปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ของเด็กและเยาวชนเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022 พบว่าไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยรั้งท้ายที่อันดับ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น[9]

         เด็กและเยาวชนไทยอายุ 9-18 ปีร้อยละ 26 เคยถูกกลั่นแกล้งออนไลน์ และร้อยละ 11 เคยถูกคุกคามทางเพศออนไลน์ ยิ่งไปกว่านั้น เด็กประถมศึกษาตอนปลายถึงร้อยละ 12 เคยมีประสบการณ์ถูกตีสนิทโดยมีเจตนาเพื่อละเมิดทางเพศ (grooming) ตามผลสำรวจของมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยเมื่อปี 2022[10]

         ผลสำรวจของมูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติในปีเดียวกันก็พบว่า เด็กและเยาวชนอายุ 12-17 ปีร้อยละ 9 เคยถูกแสวงประโยชน์และละเมิดทางเพศออนไลน์ เช่น ได้รับข้อความภาพทางเพศโดยไม่ยินยอม และถูกข่มขู่เพื่อให้มีกิจกรรมทางเพศ โดยในบรรดาผู้ถูกละเมิดทั้งหมด มีเพียงร้อยละ 1-3 เท่านั้นที่แจ้งเรื่องต่อตำรวจ อีกกว่าครึ่งไม่เล่าเรื่องการถูกละเมิดให้คนอื่นทราบ ในกลุ่มหลังนี้ ร้อยละ 47 ไม่ทราบว่าจะขอความช่วยเหลือได้จากที่ใดและอย่างไร อีกทั้งผู้ละเมิดยังมักเป็นบุคคลใกล้ชิด[11] สภาพดังกล่าวสะท้อนว่า เด็กและเยาวชนเผชิญความท้าทายในการรับมือและเปราะบางต่อภัยคุกคามยิ่ง

เยาวชนที่มีทัศนคติก้าวหน้าที่สุด ระบุว่าเคยถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุด

         ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนจำนวนมากยังอาจไม่ถูกมองเห็นหรือ ‘รับรู้’ มิใช่เพียงเพราะเกิดในที่ลับ แต่การรับรู้ย่อมขึ้นอยู่กับการนิยามหรือความเข้าใจความรุนแรงของแต่ละคนและสังคม ตัวอย่างเช่น แม่และผู้ดูแลเด็กถึงร้อยละ 57.6 เชื่อว่าการลงโทษด้วยการใช้ความรุนแรงจำเป็นต่อการอบรมเลี้ยงดูเด็ก และร้อยละ 2.2 ลงโทษเด็กทางร่างกายอย่างรุนแรง[12] ฉะนั้น แม้พบเห็นการใช้ความรุนแรงลงโทษเด็กซึ่งหน้า บุคคลที่มีความเชื่อหรือความคุ้นเคยเช่นนี้ ก็อาจไม่รับรู้ว่าเป็นความรุนแรง

         เด็กและเยาวชนก็รับรู้ความรุนแรงต่อตนเองแตกต่างกัน หากแยกพิจารณาตามกลุ่มทัศนคติเยาวชน เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 1 ที่ให้ความสำคัญกับตัวตนและสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ซึ่งรวมถึงเสรีภาพและความเสมอภาคทางเพศ อีกทั้งยังไม่เชื่อถือลำดับชั้นสูงต่ำในสังคม ไม่เห็นว่าตนควรต้องรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของไทย และมีคุณค่าในประเด็นส่วนใหญ่ก้าวหน้ามากที่สุด จะเป็นกลุ่มที่ ‘รายงาน’ ว่าเคยถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุด โดยร้อยละ 14.4 เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ และร้อยละ 35.8 เคยถูกทำร้ายร่างกาย ถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มทัศนคติอื่นอย่างน้อยหนึ่งเท่าตัว[13]

แผนภูมิที่ 5.5:  สัดส่วนเยาวชนที่เคยถูกกระทำความรุนแรง แยกตามกลุ่มทัศนคติ

ที่มา: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช (2023); ผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์ (2022)

         ขณะที่ เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 4 เชื่อถือและเกรงใจคนรอบตัว ยอมรับการใช้อำนาจจำกัดสิทธิ เคารพลำดับชั้นทางสังคม และยึดมั่น-รักษาขนบธรรมธรรมเนียมมากที่สุด กลุ่มทัศนคติ 5 เน้นการเอาตัวรอดมากกว่ายึดถือคุณค่านามธรรม ยอมรับการใช้ความรุนแรง และอนุรักษนิยมในประเด็นทางสังคมและเพศสภาพมากที่สุด เยาวชนสองกลุ่มนี้ ‘รายงาน’ ว่าเคยถูกกระทำความรุนแรงน้อยที่สุด โดยกลุ่มทัศนคติ 4 ร้อยละ 2.3 เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ และร้อยละ 11.6 เคยถูกทำร้ายร่างกาย ส่วน กลุ่มทัศนคติ 5 เคยถูกคุกคามในลักษณะดังกล่าวเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7 และร้อยละ 9.8 ตามลำดับ[14]

         ในแง่หนึ่ง เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 1 อาจถูกกระทำความรุนแรงมากกว่ากลุ่มทัศนคติอื่นจริง แต่ก็เป็นไปได้ว่า ด้วยคุณค่าและทัศนคติที่ก้าวหน้าและให้ความสำคัญกับสิทธิบนร่างกายของปัจเจกสูงสุด พวกเขาจึงนิยามความรุนแรงกว้างและรับรู้ถึงการถูกคุกคามมากที่สุด ต่างกับเยาวชน กลุ่มทัศนคติ 4 และ กลุ่มทัศนคติ 5 ซึ่งโดยคุณค่าและทัศนคติแล้ว น่าจะนิยามความรุนแรงแคบกว่า จึงรับรู้ถึงการถูกกระทำน้อยกว่า แม้ในความจริงอาจถูกกระทำไม่ต่างกันหรือมากกว่า โดยนัยนี้ ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนจำนวนมากจึงซ่อนเร้น คือเกิดขึ้นแต่ไม่ถูกมองเห็นและรายงาน เป็นปัญหาใหญ่กว่าที่สะท้อนผ่านชุดข้อมูลต่างๆ

“… ฉันมักถูกแม่ตีและไม่ค่อยให้ความสำคัญ แม่ให้ความสำคัญแต่คนอื่น ฉันจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ขึ้นใจ ฉันอยากกินขนมจึงซื้อมา 1 ห่อ ฉันเหลือเงินกลับบ้าน 5 บาท พอกลับมาถึงบ้าน แม่ถามว่าเหลือเงินเท่าไหร่ฉันบอกว่าเหลือ 5 บาท เท่านั้นแหละแม่โกรธฉันมาก แม่ทุบกระปุกออมสินฉันแล้วตะโกนใส่ฉันว่า ถ้าไม่เหลือมาก็ไม่ต้องหยอด ฉันไม่เข้าใจในการกระทำของแม่ครั้งนั้น แต่ฉันก็จำจนถึงทุกวันนี้ […]
ฉันแค่อยากบอกทุกครอบครัวว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” มันจะใช้ไม่ได้ถ้าคุณตีเขาเกินเหตุ ถ้าคุณจัดการเขาด้วยวิธีที่คุณคิดว่า ถ้าทำแล้วเขาจะหยุดพฤติกรรมที่คุณไม่ชอบ บางครั้งอาจไม่ใช่ คุณแค่ต้องใช้หัวใจเลี้ยงเขา …”

– ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ อายุ 16 ปี

พรรคไม่มีข้อเสนอนโยบายแก้ปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชนที่เป็นเอกภาพ

         เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญความรุนแรงในชีวิตประจำวันในพื้นที่ใกล้ตัวอย่างครอบครัวและพื้นที่ออนไลน์อย่างน่ากังวล โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศ แต่หลายกลุ่มอาจไม่รับรู้ว่าตนถูกคุกคาม แม้เหตุได้เกิดขึ้น และอาจส่งผลบั่นทอนสุขภาวะและพัฒนาการของตนในระยะยาว

         ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2023 ข้อเสนอนโยบายของพรรคการเมืองหลักยังมิได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากนัก ข้อเสนอส่วนใหญ่มักกระจายกระจายอยู่ภายใต้นโยบายในประเด็นอื่น เช่น การแก้ปัญหาอำนาจนิยมและการละเมิดสิทธิโดยครูในประเด็นการศึกษา และการแก้ปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะลดความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่

         พรรคที่มีข้อเสนอนโยบายเรื่องความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนโดยตรงได้แก่ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ โดยพรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ อนาจาร และกระทำชำเรา ให้มีนิยามที่ครอบคลุมและชัดเจน เพื่อลดช่องว่างทางกฎหมาย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เสนอเพิ่มการป้องกันการคุกคาม โดยบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองเด็กอย่างเข้มงวดมากขึ้น วางมาตรการป้องกันการใช้แรงงานเด็กที่ชัดเจน พร้อมทั้งตรากฎหมายที่มีโทษรุนแรงยิ่งขึ้น

         ข้อเสนอนโยบายข้างต้นนับว่าไม่เป็นเอกภาพ และไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาอันซับซ้อนซ่อนเร้นนี้อย่างรอบด้าน ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่พบว่ามีพรรคใดเสนอนโยบายป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในพื้นที่ออนไลน์อย่างเป็นทางการ

แผนภูมิที่ 5.6:  นโยบายด้านการป้องกันและเยียวยาความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนของพรรคการเมือง
                  หลักในการเลือกตั้งปี 2023

ที่มา: เว็บไซต์พรรคการเมือง (2023); The Standard (2023)


[1] คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลศูนย์ติดตามข้อมูลเหตุรุนแรง (2023)

[2] คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลกรมป้องกันโรค (2022)

[3] คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (2022)

[4] ข่าวออนไลน์7HD, “สธ.เปิดสถิติผู้หญิงตกเป็นเหยื่อความรุนแรง อายุ 10-14 ปีถูกกระทำทางเพศมากที่สุด”, 25 พฤศจิกายน 2022, https://news.ch7.com/detail/607812, (เข้าถึงเมื่อ 11 พฤษภาคม 2023).

[5] คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค (2022)

[6] Centers for Disease Control and Prevention, “Adverse Childhood Experiences (ACEs),” August 17, 2021, https://www.cdc.gov/policy/polaris/healthtopics/ace/index.html, (accessed May 11, 2023).

[7] Metzler, Marilyn, Melissa T. Merrick, Joanne Klevens, Katie A. Ports, and Derek C. Ford, “Adverse Childhood Experiences and Life Opportunities: Shifting the Narrative,” Children and Youth Services Review, Economic Causes and Consequences of Child Maltreatment 72, January 2017, 141–49.

[8] ดูเพิ่มเติม: ฉัตร คำแสง และคณะ, เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต, แนวโน้มที่ 3.

[9] Surfshark, “Kids and Cybersecurity Statistics,” 2022, https://surfshark.com/research/cybersecurity-for-kids/statistics, (accessed May 11, 2023).

[10] มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, การสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ พ.ศ. 2565, 2022.

[11] ECPAT, INTERPOL, and UNICEF, Disrupting Harm in Thailand: Evidence on online child sexual exploitation and abuse, 2022.

[12] สำนักงานสถิติแห่งชาติ, การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562, 2019.

[13] วิเคราะห์โดยอาศัยการจัดกลุ่มทัศนคติจาก: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช, เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’; ฉัตร คำแสง และคณะ, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์.

[14] เพิ่งอ้าง.


1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.