เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยและพัฒนาทักษะจำเป็นจากระบบการศึกษา


การปิดสถานศึกษาช่วงโควิดก่อให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย ซ้ำเติมการศึกษาที่ย่ำแย่มานาน

         เด็กและเยาวชนประสบปัญหาคุณภาพการศึกษาย่ำแย่มาเป็นเวลายาวนาน จากผลการประเมินนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment, PISA) รอบล่าสุดในปี 2018 ช่วงก่อนวิกฤตโควิด นักเรียนอายุ 15 ปี ตกเกณฑ์ประเมินขั้นต่ำในทักษะการอ่านเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 59.6 คณิตศาสตร์ร้อยละ 52.7 และวิทยาศาสตร์ร้อยละ 44.5 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development, OECD) กว่าหนึ่งเท่าตัว[1]

แผนภูมิที่ 3.1:  สัดส่วนนักเรียนในแต่ละระดับผลการประเมิน PISA แยกตามทักษะและประเทศ ปี 2018

ทักษะ/วิชาประเทศตกเกณฑ์ขั้นต่ำผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำดี
การอ่าน (ภาษา)ไทย59.6%40.3%0.2%
OECD22.7%68.6%8.7%
คณิตศาสตร์ไทย52.7%45.0%2.2%
OECD23.9%65.1%10.9%
วิทยาศาสตร์ไทย44.5%54.8%0.7%
OECD21.9%71.3%6.7%

ที่มา: องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (2019)

         ผลการประเมินยังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาที่นักเรียนต่างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเข้าถึงได้ ในกรณีทักษะการอ่าน คะแนนประเมินเฉลี่ยของกลุ่มนักเรียนที่สถานะต่ำสุดร้อยละ 75 (ควอไทล์ 1-3) น้อยกว่ากลุ่มสถานะสูงสุดร้อยละ 25 (ควอไทล์ 4) อย่างชัดเจน[2] โดยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมนี้เป็นปัจจัยอธิบายความแตกต่างระหว่างคะแนนประเมินของนักเรียน
แต่ละคนราวร้อยละ 12.0[3]

         การปิดสถานศึกษาเพื่อจำกัดการระบาดในช่วงวิกฤตโควิดระหว่างปี 2020-2022 ก่อให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย ซ้ำเติมนักเรียนที่ต้องเผชิญกับการศึกษาอันย่ำแย่และเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว ผลการศึกษาของ คิด for คิดส์ พบว่าภาวะถดถอยที่มีนัยสำคัญเกิดขึ้นในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับตอนปลาย[4] ขีดความสามารถที่ถดถอยไปจะส่งผลให้นักเรียนสูญเสียรายได้ตลอดชีวิตเฉลี่ย 610,199 และ 531,800 บาทต่อคนสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายตามลำดับ[5] โดยภาวะถดถอยและรายได้ที่สูญเสียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการปิดสถานศึกษาที่นานขึ้น และขนาดสถานศึกษาที่เล็กลง[6]

         ภาวะการเรียนรู้ถดถอยดังกล่าวสะท้อนความล้มเหลวของการจัดการเรียนออนไลน์และทางไกล ซึ่งถูกนำมาใช้ทดแทนในระหว่างปิดสถานศึกษา สอดคล้องกับผลสำรวจของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ คือเยาวชนและผู้ปกครองร้อยละ 65 เห็นว่าการเรียนรูปแบบข้างต้นมีประสิทธิผลต่ำกว่าการเรียนปกติ และร้อยละ 14 เห็นว่าไม่มีประสิทธิผลอย่างสิ้นเชิง[7] ถึงกระนั้น เมื่อวิกฤตโควิดสิ้นสุดลง รัฐบาลก็มิได้มีนโยบายระดับมหภาคที่ชัดเจนในการชดเชยภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นเลย

โควิดเร่งความจำเป็นของ ‘ทักษะแห่งอนาคต’ แต่การศึกษายังช่วยพัฒนาได้ไม่เพียงพอ-ทั่วถึง

         วิกฤตโควิดเร่งความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ส่งผลให้ทักษะใหม่ เช่น “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” ตามงานศึกษาของที่ประชุมว่าด้วยเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum, WEF) ทวีความสำคัญจำเป็นในการดำเนินชีวิต ทำงาน และเติมเต็มความฝันของเด็กและเยาวชนยิ่งขึ้น[8]

         อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ ในเดือนพฤษภาคม 2022 เยาวชนอายุ 15-25 ปีประเมินว่าระบบการศึกษายังช่วยพัฒนาทักษะเหล่านั้นแก่พวกเขาไม่เพียงพอ โดยทักษะที่ช่วยพัฒนาได้น้อยที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ทักษะการเงินและการลงทุน (คะแนนประเมินเฉลี่ย 2.6 จาก 5) ความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและการเมือง (2.8) ภาษาอังกฤษ (2.8) การอยู่ร่วมกับคนต่างวัฒนธรรม (3.0) และการคิดเชิงวิพากษ์ (3.0)[9]

         นอกจากนี้ เยาวชนยังได้รับการพัฒนาทักษะไม่เท่าเทียมกัน เยาวชนในกลุ่มรายได้ครัวเรือนต่ำสุดร้อยละ 20 (กลุ่มที่ 1) รายงานว่าตนมีทักษะน้อยกว่ากลุ่มรายได้ครัวเรือนสูงสุดร้อยละ 20 (กลุ่มที่ 5) ในแทบทุกทักษะ โดยทักษะที่เหลื่อมล้ำมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ภาษาอังกฤษ (0.8) ความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและการเมือง (0.5) การอยู่ร่วมกับคนต่างวัฒนธรรม (0.5) การคิดเชิงวิพากษ์ (0.5) และการค้นคว้าและประเมินข้อมูล (0.5)[10]

แผนภูมิที่ 3.2:  ทักษะที่เยาวชนประเมินว่าระบบการศึกษาช่วยพัฒนาได้น้อยที่สุด และระดับทักษะของเยาวชนเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มรายได้ครัวเรือนต่ำสุด (กลุ่มที่ 1) กับสูงสุด (กลุ่มที่ 5)

ที่มา: ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ (2022)

“… มหาวิทยาลัยทำให้ฉันพบว่า ไอ้ทุกเรื่องที่เรียนมาช่วงมัธยมแม่งไร้ประโยชน์สิ้นดี […] อย่างแรก มหาวิทยาลัยเปิดกว้างด้านความเห็น คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องสั้นเรื่องนี้ คุณสามารถถกกันได้โดยไร้ขอบเขต เปิดมาคลาสแรกอาจารย์ให้นำเสนอประโยคที่ตนเองชอบ ฉันสั่นเป็นเจ้าเข้า พูดตะกุกตะกักเพราะไม่เคยชิน […] ยืนยันเลยว่ามัธยมไม่มีแบบนี้เพราะเขากำหนดขอบเขตมาให้คิดชัดเจนมากๆ ปัญหาต่อมาคือ ฉันเขียนแย่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรียงความ บทความวิชาการอะไรก็ตามแต่ ทักษะการเขียนจึงต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งหมดเพราะมัธยมสอนการเขียนอย่างทิ้งขว้าง สิ่งที่ทำให้ฉันปวดหัวคือฉันไม่สามารถมีส่วนร่วมได้มากนักในคลาสที่เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น […] เพราะที่ผ่านมาทั้งชีวิตไม่เคยได้มีโอกาสมานั่งถกเถียง แลกเปลี่ยนเนื้อหาบทเรียนกับเพื่อนหรืออาจารย์ ที่ผ่านมาก็คือจดตามที่เขาพูดเท่านั้น …”

– บัณทิตา อายุ 19 ปี

บริการการศึกษาคุณภาพต่ำ: เยาวชนเผชิญปัญหาคุณภาพครู-อำนาจนิยม-การละเมิดสิทธิ

         ภาวะการเรียนรู้ถดถอยและสถานการณ์ที่ระบบการศึกษาไม่สามารถช่วยพัฒนาทักษะจำเป็นชี้ให้เห็นถึงคุณภาพของระบบการศึกษาที่ย่ำแย่ ผลสำรวจของ คิด for คิดส์ พบว่าปัญหาในระบบการศึกษาที่เยาวชนอายุ 15-25 ปีเผชิญร่วมกันและเห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาครู อำนาจนิยม การละเมิดสิทธิ และการขาดช่องทางการมีส่วนร่วมในสถานศึกษา

         ในประเด็นครู เยาวชนกว่าครึ่งหรือร้อยละ 55.2 รายงานว่าเคยมีครูที่ไม่มีเวลาให้และไม่สนใจตน[11] ส่วนหนึ่งเกิดจากจำนวนครูที่ไม่เพียงพอ โดยในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีจำนวนครูคิดเป็นเพียง 1.3 เท่าของจำนวนห้องเรียนเท่านั้น[12] อีกทั้งครูยังต้องใช้เวลาถึงร้อยละ 42 ของเวลาทำงานไปกับภาระงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอน[13] ขณะที่เยาวชนอีกร้อยละ 38.6 รายงานว่าเคยมีครูที่ขาดความรู้ในเรื่องที่สอน[14] ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัญหาครูไม่มีเวลาข้างต้น
ทำให้ไม่สามารถพัฒนาความรู้ของตนอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับสถานศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสังกัด สพฐ. มากถึงร้อยละ 84.5 ก็มีครูไม่ครบ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรด้วย[15]

         ในประเด็นอำนาจนิยม เยาวชนถึงร้อยละ 58.5 เคยมีครูที่ไม่เปิดกว้างต่อความเห็นต่าง ร้อยละ 54.3 มีครูที่บังคับให้ทำตามโดยไม่อธิบายเหตุผล ร้อยละ 47.8 มีผู้บริหารสถานศึกษาที่ไม่รับฟังปัญหาและตอบสนองความต้องการ และร้อยละ 47.3 เคยถูกลงโทษให้เจ็บปวดร่างกายหรือจิตใจ[16] หากแยกพิจารณาตามกลุ่มทัศนคติ กลุ่มทัศนคติ 1 ที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางความคิด การแสดงออก และสิทธิการมีส่วนร่วมมากที่สุด จะรายงานปัญหาเป็นสัดส่วนสูงสุด รวมถึงรู้สึกไว้ใจครูน้อยที่สุด ส่วน กลุ่มทัศนคติ 5 ที่ยึดถือคุณค่าเสรีนิยมและตั้งคำถามกับความรุนแรงน้อย จะรายงานปัญหาเป็นสัดส่วนต่ำสุด[17]

“… เรามัก[มี]อาจารย์ที่ค่อนข้างจะมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม เราไม่สามารถที่จะมีข้อสงสัยได้ หากมีข้อสงสัย เราสามารถสอบถามได้ก็จริง แต่เราก็มักจะโดนตำหนิว่า เราไม่ตั้งใจฟัง ไม่ให้ความสำคัญกับคำถามนั้นๆ แต่คนยุคใหม่ที่เริ่มความคิดที่แตกต่างออกไป เริ่มมีการแสดงออกทางความคิด […]

การแสดงออกที่มากขึ้นในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตัวตน รสนิยมทางเพศ การเป็นอยู่ต่างๆ ที่เมื่อก่อนเราจะปิดกั้นไว้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเปิดเผย ด้วยความเชื่อ กฎระเบียบของสังคมในสมัยนั้นๆ แต่ในยุคนี้ เราควรเคารพการตัดสินในในทุกฝ่าย เคารพทุกความเชื่อ ทุกความคิด ทุกการแสดงออก …”

– เกียรติศักดิ์ อายุ 20 ปี

พรรคเน้นเสนอนโยบายขยายการเข้าถึง หนุนเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับหลักสูตร ใช้เทคโนโลยี

         เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญปัญหาคุณภาพการศึกษาย่ำแย่ ล้มเหลวในการป้องกันและชดเชยภาวะการเรียนรู้ถดถอยจากช่วงวิกฤตโควิด รวมถึงไม่สามารถพัฒนาทักษะจำเป็นต่อการเติมเต็มความฝันของพวกเขาอย่างเพียงพอและทั่วถึง ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณ ภาระงาน และความสามารถของครู ประกอบกับอำนาจนิยม การละเมิดสิทธิ และการขาดช่องทางมีส่วนร่วมของนักเรียนในสถานศึกษา ซึ่งนอกจากจะบั่นทอนการพัฒนาทักษะอย่างการคิดเชิงวิพากษ์และการคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังทำให้กลไกบริการการศึกษาขาดความเข้าใจปัญหาของนักเรียน และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของนักเรียนอย่างเหมาะสม

         ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2023 พรรคการเมืองหลักทุกพรรคล้วนมีข้อเสนอให้ขยายการเข้าถึงระบบการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้จัดการเรียนรู้มากขึ้น

         ในมิติคุณภาพ ทุกพรรคประกาศปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานและความท้าทายของโลกยุคใหม่ โดยมีจุดร่วมในการเน้นพัฒนาทักษะภาษา
ต่างประเทศ ทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ รวมถึงทักษะอาชีพ แต่ก็ปรากฏจุดต่าง เช่น พรรคภูมิใจไทยเน้นทักษะที่ตอบโจทย์การเติบโตของบางภาคเศรษฐกิจอย่างการเกษตรและการท่องเที่ยว พรรคก้าวไกลจะเปิดให้สามารถวิพากษ์อำนาจนิยมและประวัติศาสตร์ในตำราและชั้นเรียน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์มุ่งปลูกฝังจริยธรรม หน้าที่พลเมือง และภูมิปัญญาท้องถิ่น

         อย่างไรก็ดี พรรคการเมืองยังขาดนโยบายแก้ปัญหาหลายประการที่ได้รายงานมาแล้ว โดยทั้งหกพรรคหลักไม่มีมาตรการชัดเจนในการชดเชยภาวะการเรียนรู้ถดถอยจากช่วงวิกฤตโควิด ในประเด็นครู พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และก้าวไกลเสนอลดภาระงานอื่นที่มิใช่งานสอน พรรคภูมิใจไทยเสนอปรับระบบจัดสรรให้หมู่บ้านมีครูหลายสาขาในพื้นที่ และทั้งสี่พรรคมีแนวทางในการพัฒนาความสามารถของครูด้วยเครื่องมือและวิธีการที่แตกต่างกัน แต่ไม่ปรากฏนโยบายด้านนี้ในเอกสารพรรคประชาธิปัตย์และรวมไทยสร้างชาติ

         ในประเด็นอำนาจนิยม การละเมิดสิทธิ และการขาดช่องทางมีส่วนร่วม พรรคก้าวไกลถือเป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีนโยบายเป็นรูปธรรม โดยจะห้ามมิให้สถานศึกษาออกกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อบรมบุคลากรทางการศึกษาให้ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน ตั้งผู้ตรวจการนักเรียนเพื่อเป็นช่องทางร้องเรียนการละเมิด และพักใบประกอบวิชาชีพครูที่กระทำความผิด นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีผู้แทนนักเรียนจากการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสถานศึกษา รวมถึงให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการประเมินครูด้วย

แผนภูมิที่ 3.3:  นโยบายด้านการศึกษาของเยาวชนของพรรคการเมืองหลักในการเลือกตั้งปี 2023

นโยบายด้านการศึกษาของเยาวชนของพรรคการเมืองหลักในการเลือกตั้งปี 2023

ที่มา: เว็บไซต์พรรคการเมือง (2023); สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (2023); กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2023)


[1] Organization for Economic Co-operation and Development [OECD], PISA 2018 Results (Volume I): What Students Know and Can Do (Paris: OECD Publishing, 2019), 210-215.

[2] OECD, PISA 2018 Results (Volume II): Where All Students Can Succeed (Paris: OECD Publishing, 2019), 56.

[3] เพิ่งอ้าง, 18.

[4] วศิน ศิวสฤษดิ์, สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา, และ ชญานี ชวะโนทย์, โควิดกับ “แผลเป็น” ด้านพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน: ความเหลื่อมล้ำ เทคโนโลยีการศึกษา และบทเรียนเชิงนโยบายสำหรับอนาคต (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว, 2022), 29-32.

[5] เพิ่งอ้าง, 56.

[6] เพิ่งอ้าง, 37-40.

[7] UNICEF, Is Thailand on The Path to An Inclusive Recovery?, 41; ดูเพิ่มเติม: ฉัตร คำแสง และคณะ, เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต, 26-29.

[8] ดูเพิ่มเติม: World Economic Forum [WEF], New Vision for Education: Fostering Social and Emotional Learning Through Technology (Geneva: WEF, 2016).

[9] ฉัตร คำแสง และคณะ, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์.

[10] เพิ่งอ้าง.

[11] เพิ่งอ้าง.

[12] คิด for คิดส์ คำนวณจากสถิติสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน [สพฐ.] (2022)

[13] จารุวรรณ เนนสุทัพ, “สสค.เผยผลสำรวจภาระงานนอกห้องเรียนดึงเวลาครู ทิ้งการสอนถึง 42%,” สำนักข่าวอิศรา, 9 ธันวาคม 2014, https://www.isranews.org/content-page/item/34990-soesorkor.html (เข้าถึงเมื่อ 14 พฤษภาคม 2023).

[14] ฉัตร คำแสง และคณะ, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์.

[15] คิด for คิดส์ คำนวณจากสถิติสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (2022)

[16] ฉัตร คำแสง และคณะ, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์.

[17] วิเคราะห์โดยอาศัยการจัดกลุ่มทัศนคติจาก: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช, เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’; ดูในอารัมภบทของรายงานนี้.


101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.