เด็กและเยาวชนฝันถึงสังคมใหม่อย่างหลากหลาย แต่ระบบการเมืองไม่เปิดกว้าง-รับฟัง

เด็กและเยาวชนมีความฝันถึงสังคม เศรษฐกิจ การเมืองใหม่ แม้ความฝันนั้นจะแตกต่างหลากหลาย แต่มีจุดร่วมใหญ่คือต้องการให้เกิดการคุ้มครองเสรีภาพทางความคิด ยุติระบบอุปถัมภ์เส้นสาย และการทุจริต รวมถึงสร้างระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เปิดโอกาสสำหรับทุกคนอย่างเสมอภาค ขณะเดียวกัน ก็มีความเห็นต่างสำคัญในความฝันเรื่องชาติ วัฒนธรรม เพศสภาพ และครอบครัว อย่างไรก็ดี ความฝันเหล่านี้ยังไม่สามารถส่งผ่านไปสู่ผู้กำหนดนโยบายเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากนัก ข้อเสนอนโยบายของพรรคการเมืองหลักก็แทบไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว


เยาวชนฝันถึงสังคมหลากหลายแนวทาง แต่มีฉันทมติวงกว้างใน ‘3 หลักการใหญ่’

         ความตื่นตัวทางการเมืองของเด็กและเยาวชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนว่า พวกเขามีความฝันถึงสังคม เศรษฐกิจ การเมืองใหม่ และต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายนั้น งานศึกษาผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ พบว่าเยาวชนอายุ 15-25 ปีมีความฝันแตกต่างหลากหลายมาก แต่มี “ฉันทมติของรุ่น” หรือความฝันร่วมที่เห็นพ้องต้องกันในวงกว้างใน 3 ประเด็นใหญ่[1]

         ประเด็นแรก เยาวชนหวังให้เสรีภาพทางความคิดได้รับการคุ้มครอง และสังคมเปิดพื้นที่เพื่อคนหลากหลาย ในเชิงหลักการ เยาวชนร้อยละ 85.1 เห็นว่าเสรีภาพทางความคิดสำคัญสำหรับตนเอง ถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่เยาวชนให้ความสำคัญสูงสุดทั้งในภาพรวมและทุกกลุ่มทัศนคติ ในประเด็นเชิงปฏิบัติ เยาวชนถึงร้อยละ 91.9 เห็นว่าประชาชนมีสิทธิวิจารณ์บุคคลและองค์กรที่ใช้เงินภาษีเสมอ โดยกลุ่มทัศนคติ 1-4 มีสัดส่วนเห็นด้วยเกินร้อยละ 90.5 ส่วนกลุ่มทัศนคติ 5 เห็นด้วยร้อยละ 64.8 ซึ่งนับว่าสูงมากสำหรับกลุ่มที่มักไม่ค่อยแสดงจุดยืนเช่นนี้ เยาวชนร้อยละ 90.8 ยังเห็นว่าสังคมไทยกดทับความแตกต่างเกินไป สะท้อนเสียงเรียกร้องอิสระและความอดกลั้นต่อความหลากหลายทางความคิดในสังคม

         ประเด็นที่สอง เยาวชนฝันถึงการทลายระบบอุปถัมภ์และเส้นสาย พร้อมทั้งแก้ปัญหาการทุจริต โดยร้อยละ 97.7 ไม่เห็นด้วยกับการใช้เส้นสายเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง สัดส่วนไม่เห็นด้วยนี้เกินกว่าร้อยละ 89.0 ในทุกกลุ่มทัศนคติ ขณะเดียวกัน เยาวชนร้อยละ 86.0 ก็เห็นว่าการลดการทุจริตถือเป็นประเด็นนโยบายที่สำคัญและน่าห่วงกังวลสำหรับประเทศ แม้กลุ่มทัศนคติ 5 จะมีสัดส่วนเห็นด้วยเพียงร้อยละ 35.4 แต่ก็ยังเห็นเป็นประเด็นนโยบายสำคัญที่สุดอันดับสอง รองจากการพัฒนาการศึกษา (ร้อยละ 35.8) เช่นเดียวกับเยาวชนภาพรวม

แผนภูมิที่ 6.1:  ฉันทมติของเยาวชน 3 ประเด็นใหญ่ และสัดส่วนเยาวชนที่เห็นด้วยกับคำถามตัวอย่างแยกตามกลุ่มทัศนคติ

ที่มา: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช (2023); ผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์ (2022)

ดูคุณค่า-ทัศนคติเด่นของแต่ละกลุ่ม

กลุ่มทัศนคติ 1 กลุ่มทัศนคติ 2 กลุ่มทัศนคติ 3 กลุ่มทัศนคติ 4 กลุ่มทัศนคติ 5

 “ฉันฝันเห็นเมืองไทยใหญ่และยิ่ง                  มีเสรีแท้จริงเจิมถิ่นฐาน
อำนาจเป็นของปวงไทยไปชั่วกาล                  ใครประหารเสรีจงลี้ไกล
ฉันฝันเห็นความงามของธรรมชาติ                 ถนน ตึก อากาศ สะอาดใส
เกิดรู้สึกผ่อนคลายเมื่อหายใจ                       คนอยู่ได้สัตว์อยู่ดีทุกชีวิต
ฉันฝันเห็นยามชาติวิบัติร้าย                         ทุกคนหมายสมัครสมานมั่นในจิต
ล้วนเลือดเนื้อเชื้อไขไทยทุกทิศ                     ร่วมแรงมิตรนำชาติพัฒนา
ฉันฝันเห็นสัจธรรมความถูกต้อง                    ของผู้ครองผู้นำผู้ล้ำค่า
หากยังครองและนำด้วยต่ำช้า                       ขอแสงหล้าสาดลบสยบเลือน …”

– อัศวุธ อายุ 19 ปี

         ประเด็นสุดท้าย เยาวชนต้องการการปฏิรูปเศรษฐกิจให้ทุกคนกินดีอยู่ดีและมีโอกาสเสมอภาคกัน โดยร้อยละ 88.8 เห็นว่าระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะคนรวยมากกว่าให้ทุกคน ในกลุ่มทัศนคติ 1-4 มีสัดส่วนเห็นด้วยร้อยละ 89.9 ขึ้นไป ขณะที่ กลุ่มทัศนคติ 5 ก็มีสัดส่วนเห็นด้วยถึงร้อยละ 64.8 อย่างไรก็ดี แม้เยาวชนทุกกลุ่มทัศนคติจะเล็งเห็นปัญหาและมุ่งหวังให้เกิดการแก้ไขเหมือนกัน แต่เข้าใจสาเหตุ รวมถึงมีแนวทางแก้ไขในอุดมคติที่ต่างกัน

‘รอยแยกสำคัญ’ ในความฝันเยาวชนอยู่ในประเด็นชาติ-วัฒนธรรม และเพศสภาพ-ครอบครัว

         ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ความฝันถึงสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของเยาวชนแตกต่างหลากหลายมาก งานศึกษาผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ พบรอยแยก (cleavage) ระหว่างกลุ่มทัศนคติที่สำคัญอยู่ในความฝันเรื่องชาติและวัฒนธรรม กับเพศสภาพและครอบครัว[2]

         ในประเด็นชาติและวัฒนธรรม เยาวชนอายุ 15-25 ปีนิยามชาติและมีความรู้สึกชาตินิยมในรูปแบบต่างกัน ขณะที่กลุ่มทัศนคติ 1-3 มองประชาชนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของชาติอย่างเด็ดขาด แต่กลุ่มทัศนคติ 4-5 จะให้น้ำหนักกับสถาบันอื่นค่อนข้างสูง เช่น แผ่นดินและศาสนาพุทธ ภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยมกระแสหลักในปัจจุบัน

         เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 1 เพียงร้อยละ 38.1 รู้สึกภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย ขณะที่กลุ่มทัศนคติอื่นมีสัดส่วนภูมิใจร้อยละ 73.6 ขึ้นไป สูงสุดในกลุ่มทัศนคติ 4 ที่ร้อยละ 91.8 เมื่อให้เปรียบเทียบชาติและวัฒนธรรมไทยกับต่างชาติ กลุ่มทัศนคติ 1 เกือบทั้งหมดไม่คิดว่าวัฒนธรรมไทยดีกว่าเหนือกว่า ขณะที่กลุ่มทัศนคติ 2-3 เห็นว่าดีกว่าเป็นสัดส่วนปานกลางที่ร้อยละ 37.7-41.3 ส่วนกลุ่มทัศนคติ 4-5 มองว่าดีกว่าเป็นสัดส่วนสูงที่ร้อยละ 66.4-71.8

         นิยามและความรู้สึกชาตินิยมที่แตกต่างนำไปสู่มุมมองต่อความสัมพันธ์ระหว่างชาติกับคนในชาติ ตลอดจนความคาดหวังต่อคนในชาติที่ไม่เหมือนกัน เช่น เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 1 คาดหวังให้เอาใจใส่ปัญหา-สนับสนุนเพื่อนร่วมชาติ และเสียภาษีมากที่สุด ขณะที่กลุ่มทัศนคติ 4 คาดหวังให้ปกป้องแผ่นดินและชื่อเสียงของชาติ จงรักภักดีต่อสถาบันหลัก และสนับสนุนรัฐบาลทุกรัฐบาลมากที่สุด

แผนภูมิที่ 6.2:  สัดส่วนเยาวชนที่เห็นด้วยกับคำถามตัวอย่างในประเด็นชาติและวัฒนธรรม แยกตามกลุ่มทัศนคติ

ที่มา: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช (2023); ผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์ (2022)

ดูคุณค่า-ทัศนคติเด่นของแต่ละกลุ่ม

กลุ่มทัศนคติ 1 กลุ่มทัศนคติ 2 กลุ่มทัศนคติ 3 กลุ่มทัศนคติ 4 กลุ่มทัศนคติ 5

         ในประเด็นเพศสภาพและครอบครัว ปรากฏรอยแยกระหว่างกลุ่มทัศนคติ 1-3 กับกลุ่มทัศนคติ 4-5 ในความฝันเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศสภาพ อันหมายรวมถึงการยกระดับสิทธิของ LGBTQ+ ให้เท่าเทียม ตัวอย่างได้แก่การเปิดกว้างให้คนทุกคนจดทะเบียนสมรสกันโดยไม่จำกัดเพียงชายหญิง หรือ สมรสเท่าเทียม ซึ่งกลุ่มทัศนคติ 1-3 มีสัดส่วนการสนับสนุนถึงร้อยละ 87.6-97.4 แต่กลุ่มทัศนคติ 4-5 เห็นด้วยเพียงร้อยละ 32.5-60.3 อีกตัวอย่างคือการให้สิทธิเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อและเพศในเอกสารทางการ ซึ่งเยาวชนสองขั้วดังกล่าวมีสัดส่วนการสนับสนุนที่ร้อยละ 79.7-91.5 และ 26.2-46.7 ตามลำดับ

         อย่างไรก็ดี รอยแยกในความฝันว่าด้วยเสรีภาพเกี่ยวกับเพศสภาพและครอบครัวมีลักษณะต่างออกไป คืออยู่ระหว่างกลุ่มทัศนคติ 1 กับกลุ่มทัศนคติ 2-3 และ 4-5 เป็นหลัก โดยเยาวชนสามขั้วข้างต้นสนับสนุนให้มีโสเภณีถูกกฎหมายเป็นสัดส่วนร้อยละ 96.4, 60.5-75.6, และ 9.8-18.1 ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนให้สามารถมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสร้อยละ 82.2, 44.6-58.0, และ 10.0-16.4 ตามลำดับ สำหรับความฝันเรื่องครอบครัว เยาวชนสามขั้วรู้สึกจำเป็นต้องแต่งงานเป็นสัดส่วน
ร้อยละ 7.7, 15.8-17.0, 29.9-30.0 ตามลำดับ

แผนภูมิที่ 6.3:  สัดส่วนเยาวชนที่เห็นด้วยกับคำถามตัวอย่างในประเด็นเพศสภาพและครอบครัว แยกตามกลุ่มทัศนคติ

ที่มา: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช (2023); ผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์ (2022)

ดูคุณค่า-ทัศนคติเด่นของแต่ละกลุ่ม

กลุ่มทัศนคติ 1 กลุ่มทัศนคติ 2 กลุ่มทัศนคติ 3 กลุ่มทัศนคติ 4 กลุ่มทัศนคติ 5

ความฝันเชิงคุณค่าสะท้อนผ่าน ‘จินตนาการ’ ถึงนโยบายรูปธรรมและความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

         ความฝันเชิงคุณค่าทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของเยาวชนสะท้อนผ่านความต้องการนโยบายและกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นรูปธรรม

         โครงการจินตนาการพลเมืองเยาวชนของ คิด for คิดส์ พบว่าเยาวชนอายุ 15-18 ปีปรารถนาให้ประเทศมีสวัสดิการและบริการสาธารณะที่ประชาชนทุกสถานะเศรษฐกิจสังคมในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงได้ มีระบบการศึกษาที่คุณภาพเท่าเทียมกันในทุกสถานศึกษาและเปิดกว้างสำหรับความต้องการอันหลากหลายของผู้เรียน ตลอดจนมีพื้นที่สาธารณะและระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม ปลอดภัย รวดเร็ว และค่าธรรมเนียมการใช้บริการถูก[3]

         ในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ เยาวชนก็มุ่งหวังให้ขับเคลื่อนผ่านกระบวนการที่ชอบธรรมและยั่งยืน คืออาศัยระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม และเริ่มต้นจากการเปลี่ยนความคิดคนในสังคม เลี่ยงให้ “คนดี-คนวิเศษ” มีอำนาจนำการเปลี่ยนแปลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อป้องกันการเกิดทรราชใหม่[4]

         ความต้องการข้างต้นล้วนสะท้อนความฝันอันเป็นฉันทมติของเยาวชนที่ได้กล่าวมาแล้ว การสร้างระบบการศึกษาที่โอบรับความแตกต่าง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงซึ่งเริ่มจากความคิดและเน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม ชี้ถึงการให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางความคิด การเลี่ยงการเกิดทรราชก็นับเป็นการป้องกันระบบอุปถัมภ์และการทุจริต ขณะที่ความต้องการเรื่องสวัสดิการและบริการสาธารณะก็เป็นแนวทางเสริมสร้างโอกาสในระบบเศรษฐกิจการเมืองให้ทุกคนอย่างเสมอภาคกันมากขึ้น

“… ฉันแค่อยากเกิดมาแล้วได้สวัสดิการที่ดี ที่ภาครัฐต้องจัดหาให้ ให้แม่ฉันมีสิทธิลาคลอดได้โดยที่ไม่ต้องมีใครมาคอยเขม่นหรือต่อว่าที่แม่ฉันลาคลอดแต่ยังได้เงินเดือนเหมือนกับคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่นั่นคือสิทธิที่แม่ฉันพึ่งได้รับอยู่แล้ว […]

ฉันแค่อยากได้ใส่ชุดอะไรหรือทำผมอะไรไปเรียนก็ได้…ก่อนเปิดเทอมเป็นช่วงที่ฉันเห็นแม่นั่งนับเงินอยู่เสมอ ฉันรู้ นั่นคือเงินที่แม่ต้องเอาไว้ไปซื้อชุดนักเรียนให้ฉัน แต่มันไม่ได้จบแค่ชุดนักเรียน มันยังมีของจุกจิกอีกมากมายที่จำเป็นต้องซื้อ ภาครัฐให้เงินอุดหนุนก็จริง แต่พูดกันตามตรงเถอะ เงินจำนวนนั้นพอซื้อแค่เสื้อกับกระโปรงก็หมดแล้ว แล้วที่เหลือล่ะ ก็ต้องเป็นเงินที่แม่ฉันหามาเพื่อจ่ายอยู่ดี […]

ฉันแค่อยากได้เรียนโรงเรียนดีๆ ที่อยู่ใกล้บ้าน แต่มันก็ดูเป็นเรื่องที่ยากอีกเช่นเคย ในหลายๆ โรงเรียนรัฐไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอส่งผลให้โรงเรียนนั้นๆ ขาดคุณภาพไป ถ้าอยากที่จะเรียนโรงเรียนดีๆ ก็ต้องกระเสือกกระสนไปเรียนโรงเรียนดังๆ ที่ไกลบ้าน ซึ่งก็เพิ่มค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีก […]

ฉันอยากมีค่าครองชีพที่สมดุลกับรายได้ของตัวเอง ฉันแค่อยากซื้อหนังสือแล้วไม่รู้สึกว่าแพงรายได้ที่ฉันได้รับต่อวันนั้นมากกว่าค่าหนังสือเพียงนิดเดียว ฉันเลยต้องเก็บเงินตรงนั้นไว้ใช้จ่ายมากกว่าที่จะเอาไปซื้อหนังสือ มันทำให้ฉันรู้สึกเศร้าใจ เพราะการอ่านหนังสือก็เหมือนเป็นการเปิดโลก เปิดรับอะไรใหม่ๆ แต่คนที่ทำงานได้เงินเดือนเท่าค่าแรงขั้นต่ำนั้นคงไม่สามารถซื้อหนังสือมาอ่านได้ …”

– ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ อายุ 18 ปี

พรรคก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่มีนโยบายขยาย-คุ้มครองการมีส่วนร่วมของเยาวชน

         เยาวชนไทยมีความฝันต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมืองแตกต่างหลากหลาย แต่มีความหวังร่วมที่อยากจะคิดและแสดงความคิดนั้นออกมาได้อย่างเสรี ไม่ต้องการให้สังคมถูกครอบงำด้วยระบบอุปถัมภ์และเส้นสายจนเป็นบ่อเกิดแห่งการทุจริต รวมถึงปรารถนาให้ระบบเศรษฐกิจสามารถเอื้อให้ทุกคนกินดีอยู่ดี และมีโอกาสเติมเต็มความฝันของตนได้ ทั้งยังอยากเห็นนโยบายรูปธรรมที่สอดคล้องและสนับสนุนความฝันเหล่านั้น

         อย่างไรก็ดี ความฝันของเด็กและเยาวชนยังไม่สามารถกลายเป็นความจริง ส่วนหนึ่งเพราะระบบการเมืองขาดช่องทางการรับฟัง และให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศไปสู่
ภาพฝันอย่างเพียงพอและเหมาะสม[5] ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลปัจจุบันยังกดปราบเด็กและเยาวชนที่มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างรุนแรง โดยใช้กำลังสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ควบคู่กับการใช้เครื่องมือทางกฎหมายดำเนินคดีและคุกคาม[6]

         ถึงกระนั้น ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2023 พรรคการเมืองหลักแทบทุกพรรคก็ไม่มีแนวนโยบายแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจน พรรคก้าวไกลถือเป็นพรรคเดียวที่เสนอให้ขยายช่องทางการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนอย่างเป็นทางการ โดยนอกจากให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาแล้ว ยังจัดตั้งสภาเยาวชนที่มาจากการเลือกตั้งและมีอำนาจเสนอร่างกฎหมายไปยังรัฐสภา

         นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังประกาศเจตจำนงในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีบทบัญญัติจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น รวมตัว และชุมนุม เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ รวมถึงตรากฎหมายต่อต้านการปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ เพื่อคุ้มครองเด็ก เยาวชน และประชาชนที่สื่อสารและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความฝัน ท้ายที่สุด พรรคยังจะนิรโทษกรรมคดีการแสดงออกทางการเมือง อันจะเป็นการสร้างความยุติธรรมแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนที่เคยถูกกดปราบด้วย

แผนภูมิที่ 6.4:  นโยบายการมีส่วนร่วมของเยาวชนของพรรคการเมืองหลักในการเลือกตั้งปี 2023

ที่มา: เว็บไซต์พรรคการเมือง (2023)


[1] วิเคราะห์โดยอาศัยการจัดกลุ่มทัศนคติจาก: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช, เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’; ฉัตร คำแสง และคณะ, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์.

[2] เพิ่งอ้าง.

[3] วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง, ภาคิน นิมมานนรวงศ์, และ สรัช สินธุประมา, จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว, 2022), 130.

[4] เพิ่งอ้าง, 132-133.

[5] ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม,” 101 Public Policy Think Tank, 27 ตุลาคม 2022, https://101pub.org/youth-participation-in-policy-process/ (เข้าถึงเมื่อ 14 พฤษภาคม 2023).

[6] ฉัตร คำแสง และคณะ, เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต, 95-96


1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.