ประเด็นสำคัญ
- คนในบ้านมีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกันเป็นเรื่องปกติ แต่ความสัมพันธ์มักถูกบีบให้แตกหักด้วยกลไกทางสังคมที่รัฐใช้กดปราบผู้เห็นต่าง อาทิ คุกคามติดตามบ้าน ใช้เครือญาติกดดัน
- หลังการชุมนุมยุติ การเผชิญหน้าในบ้านลดลง และผู้ใหญ่อนุรักษนิยมบางส่วนยังหันมาสนับสนุนพรรคของคนรุ่นใหม่ชั่วคราวเพื่อคานอำนาจกับพรรคที่ตนไม่ชอบ
- รอยร้าวในครอบครัวยังเยียวยาให้หายดีไม่ได้หากรัฐยังเดินหน้าดำเนินคดีกับประชาชน ตลอดหนึ่งปีหลังเลือกตั้งมีผู้ต้องขังคดีการเมืองเพิ่ม 35 คน ในจำนวนนี้เป็นการคุมขังระหว่างที่คดียังไม่สิ้นสุดถึง 24 คน
นอกจากมรดกตกทอดในเชิงสถาบันการเมืองที่จะยังกำกับทิศทางการเมืองไทยต่อไปอีกหลายปี การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2014 ยังได้ฝากบาดแผลฉกรรจ์ให้ครอบครัวไทยไว้เป็นจำนวนมาก รอยปริร้าวเหล่านี้ไม่ปรากฏให้เห็นชัดเพราะมักถูกมองว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งภายในครอบครัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐมีส่วนสำคัญในการบีบคั้นและแทรกแซงความสัมพันธ์ของคนในบ้านอย่างจงใจตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และยังคงสืบทอดวิธีการเช่นนั้นมากระทั่งภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
คิด for คิดส์ โดยความร่วมมือระหว่าง สสส. และ 101 PUB พูดคุยกับเยาวชนนักเคลื่อนไหว อดีตนักเคลื่อนไหว รวมไปจนถึงอดีตผู้เข้าร่วมชุมนุมที่กลายมาเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองจากทั่วประเทศ จำนวน 10 คน เพื่อฉายให้เห็นบาดแผลทางการเมืองในรั้วบ้าน โดยเฉพาะของผู้ที่ไม่ได้เป็นแกนนำแถวหน้าของขบวนการเคลื่อนไหว และชวน ‘ปรับทัศนคติ’ เกี่ยวกับความขัดแย้งในบ้านซึ่งไม่ควรถูกลดทอนให้เป็นแค่ภาระส่วนตัวของครอบครัว แต่ยังเป็นเรื่องที่รัฐต้องรับผิดชอบและลงมือแก้ไขผลพวงที่ได้กระทำไว้ ก่อนที่รอยร้าวเหล่านี้จะกลายเป็นบาดแผลที่เยียวยาไม่ได้อย่างถาวร
ข่มขู่แล้ว คุกคามอยู่ เยี่ยมบ้านต่อ
กฎหมายอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปในพื้นที่บ้านหรือที่รโหฐานได้ด้วยเงื่อนไขพื้นฐานคือต้องมีผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว หลักเกณฑ์ที่ว่านี้ถูกยกเว้นไปภายหลังจาก คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครอง การ ‘เยี่ยมบ้าน’ บุคคลเป้าหมายของ คสช. นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และกระทั่งสื่อมวลชน กลายเป็นเรื่องปกติโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 ซึ่งมีความคลุมเครือทั้งในแง่ขอบเขตอำนาจ และผลบังคับใช้ที่ยังมีต่อมาแม้กระทั่งภายหลังการยุติบทบาทของ คสช. ในปี 2019[1] iLaw. ‘ย้อนดู “การเยี่ยมบ้าน” นักกิจกรรมในยุค คสช. กับคำถามถึงสถานะทางกฎหมาย’. iLaw, 2562. https://www.ilaw.or.th/articles/9443.
จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีการคุกคาม-ติดตามบ้านโดยเจ้าหน้าที่รัฐเท่าที่รับทราบอย่างน้อย 1,717 กรณี[2]ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวบรวมโดย 101 PUB
การติดตามไปที่บ้านในนามของการ ‘แสดงความกังวล’ และ ‘ร้องขอ’ ให้งดจัดหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เกิดขึ้นในยุค คสช. ไม่ต่ำกว่า 592 กรณี และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเข้มข้นในปี 2020 หากนับตั้งแต่การเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวในช่วงต้นรัฐบาลประยุทธ์มาจนถึงก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด นับการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างน้อย 1,007 กรณี
นอกจากนี้ แม้กระทั่งภายหลังการเลือกตั้ง 2023 ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดการครองอำนาจของอดีตหัวหน้า คสช. การคุกคามลักษณะนี้ก็ยังคงดำเนินต่อมาอีกไม่น้อยกว่า 118 กรณี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองมักเข้าไปติดตามครอบครัวของนักเคลื่อนไหวในช่วงที่จะมีพิธีการสำคัญหรือมี ‘บุคคล VIP’ เข้าในพื้นที่
กล่าวได้ว่าการเข้าพื้นที่รโหฐานโดยไม่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบตามกฎหมาย ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นมรดกวัฒนธรรมการใช้อำนาจจากยุค คสช. ที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยไปแล้ว
เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 นาย เยี่ยมบ้านของอดีตผู้ร่วมกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า เมื่อเดือนมีนาคม 2024
(ที่มา: เพจ เฮียหมา ค้าผลไม้)
กดปราบแบบไทยๆ ด้วยกลไกทางสังคม
การที่เจ้าหน้าที่รัฐบุกไปถึงบ้านของเยาวชนแม้เจ้าตัวจะเรียนและเคลื่อนไหวอยู่ในอีกจังหวัดหนึ่ง อาจฟังดูเป็นเรื่องไม่มีเหตุผลเอาเสียมากๆ แต่ไม่ใช่กับสังคมไทยซึ่งครอบครัวยังคงถูกให้คุณค่าอย่างสูง
ผลสำรวจเยาวชนโดยคิด for คิดส์ พบว่าเยาวชนไทยอายุ 15-25 ยังคงเชื่อมั่นในสถาบันครอบครัวเป็นลำดับแรกและมากกว่าสถาบันการเมืองอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด สายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่ยังแน่นแฟ้นเปิดช่องให้รัฐเข้ามาฉวยใช้ประโยชน์เพื่อกดปราบผู้เห็นต่างด้วยวิธีการที่หลากหลาย
นอกจากการติดตามไปกดดันทั้งทางตรงต่อคนที่บ้าน และทางอ้อมต่อนักเคลื่อนไหวที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการออกไปเคลื่อนไหวกับความรู้สึกไม่ปลอดภัยของคนในครอบครัว รัฐยังมีวิธีการกดดันผู้เห็นต่างอย่างแนบเนียนมากขึ้นอีกหลายทาง เช่น ทำผ่านสถานศึกษาซึ่งสามารถเรียกผู้ปกครองเข้าไปพูดคุยได้โดยไม่มีพิรุจ ทว่าเป็นการตักเตือนให้ควบคุมพฤติกรรมของบุตรหลานในเรื่องที่พ้นไปจากขอบเขตของการศึกษา
วิธีการที่แยบยลและรุนแรงที่สุดคือการกดดันผ่านเครือญาติซึ่งมักเกิดขึ้นกับครอบครัวที่มี ‘คนนามสกุลเดียวกัน’ ทำงานเป็นข้าราชการ ในหลายกรณีอำนาจรัฐทำงานแบบอัตโนมัติในรูปแบบของการเซ็นเซอร์ตัวเองโดยไม่ต้องลงมือเองเลยด้วยซ้ำ
บาส (นามสมมติ) เยาวชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในปี 2020-2021 ขณะยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เล่าว่าครอบครัวของเขาไม่เคยรับรู้เลยว่าเขามีบทบาทอย่างไรบ้างในการเคลื่อนไหวทางการเมืองจนกระทั่งหมายเรียกในคดี ม.112 เดินทางไปถึงกล่องรับจดหมายที่บ้านซึ่งใช้อาศัยร่วมกันหลายครอบครัว
“เท่านั้นแหละเป็นเรื่องเลย เพราะคดีมันรุนแรงด้วย ญาติที่เป็นข้าราชการกลัวว่าเราจะสร้างปัญหาให้เขา เพราะนามสกุลเดียวกัน อยู่บ้านเดียวกันอีก เขาเลยบอกให้เราย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านเลย แม่เองไม่ได้แสดงออกว่าสนับสนุนการเคลื่อนไหวของผมนะ แต่แม่โกรธมากที่เขาทำแบบนั้น เรียกว่าตัดญาติขาดมิตรกันตั้งแต่ตอนนั้น”
เรื่องราวทำนองเดียวกันนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเยาวชนที่ออกไปเคลื่อนไหว แต่ยังรวมถึงคนที่ไม่ได้สนใจการเมืองตั้งแต่ต้นด้วย บุตรสาวของผู้รับเหมาก่อสร้างรายหนึ่งที่ตกเป็นผู้ต้องขังคดี ม.112 ในยุค คสช. เล่าว่าพ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่เธอยังเล็ก การที่พ่อถูกดำเนินคดีจึงเป็นเหมือนการซ้ำเติมบาดแผลในครอบครัวให้ร้าวลึกยิ่งกว่าเดิม
“ครอบครัวฝั่งพ่อทำงานเป็นข้าราชการกันทั้งนั้น ไม่มีใครอยากเข้ามายุ่งเรื่องนี้ จะว่าพ่อโดนตัดขาดก็ได้ และช่วงแรกๆ เราก็รู้สึกโดนตัดขาดไปด้วย” ผลของการมีพ่อเป็นนักโทษการเมืองยังทำให้เธอเปลี่ยนจากคนร่าเริงเป็นคนเก็บตัว เพราะปัญหาในชีวิตเป็นเรื่องที่ปรึกษาใครไม่ได้นอกจากน้องชายและแม่
“คนที่รับไม่ได้กับเรื่องราวในชีวิตหนูก็เดินจากไปตั้งนานแล้ว ตอนนี้ไม่เหลือคนในชีวิตประเภทที่จะไม่เห็นด้วยกับเราอีกแล้ว”[3]ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. ‘การเติบโตภาคบังคับของลูกสาวพ่อ : 4 ปี กับชีวิตและความเป็นไปของครอบครัว “สิรภพ” ผู้ต้องขังคดีม.112 | … Continue reading
คนในบ้านแค่เห็นต่าง แต่คนนอกบ้านบีบให้แตกหัก
คนในบ้านมีความคิดขัดแย้งกันในทางการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่มีมาตั้งแต่ในยุคการเมืองสีเสื้อเหลือง-แดงที่เริ่มขึ้นเมื่อเกือบสองทศวรรษมาแล้ว อย่างไรก็ตาม จากเรื่องราวของสองครอบครัวก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่าความเห็นต่างกันไม่ใช่ปัจจัยเดียว และอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ความสัมพันธ์แตกหัก ทว่าเป็นแรงบีบคั้นจากนอกบ้าน
งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยพบว่าการกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐนำไปสู่ความแตกหักในหลายครอบครัว นับตั้งแต่การริบเงินค่าใช้จ่าย ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย ส่งผลให้เด็กมีปัญหาสุขภาพจิตจนต้องออกจากบ้าน หรือกระทั่งถูกไล่ออกจากบ้าน[4]Amnesty International Thailand. ‘“แอมเนสตี้-ศูนย์ทนาย” เผยดำเนินคดีของเด็กและเยาวชน 3 ปี สร้าง 7 ผลกระทบ แนะ 6 ข้อ ก.ยุติธรรม’, 2566. http://www.amnesty.or.th/latest/news/1190/. ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลจากการสัมภาษณ์ของ 101 PUB ยังชี้ให้เห็นว่าน้ำหนักที่บีบเค้นเด็กและเยาวชนไม่ได้มีที่มาจากแค่พ่อแม่และเครือญาติ เพราะในขณะเดียวกันเครือญาติก็ได้รับแรงกดดันจากสังคมวงกว้างมาอีกทอดหนึ่งด้วยเช่นกัน
ดิว (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 22 ปีที่ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อมาภายหลังการชุมนุมใหญ่สิ้นสุดลงในปี 2021 เล่าว่าครอบครัวของเธอเผชิญกับแรงกดดันทั้งถูกญาติตัดความสัมพันธ์ไปจนถึงถูกพระเทศน์เหน็บแนม แรงบีบจากสังคมทำให้เธอทะเลาะกับแม่ซึ่งเป็นข้าราชการครูแทบทุกวัน
“แม่ไม่เข้าใจประเด็นที่เราเคลื่อนไหว ไม่คิดว่าจำเป็นจะต้องไปเปลี่ยนอะไร เขาชอบโทษตัวเองว่าฉันเลี้ยงลูกมาไม่ดีหรือเปล่า แต่เราก็บอกไปว่าครอบครัวเลี้ยงหนูมาดีแล้วถึงได้เป็นแบบนี้ พอเวลาผ่านมาทุกวันนี้ก็คุยกันดีแล้ว เปิดอกคุยกันมากขึ้น ความจริงแล้วแม่ก็แค่ทนกระแสสังคมไม่ไหว ไม่อยากให้ใครมาด่าลูกตัวเองเท่านั้นเอง”
การสงบศึกชั่วคราวหลังสิ้นสุดม็อบราษฎร
แม้หลายครอบครัวจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทว่าหลังจากการชุมนุมผ่านมา 3 ปี บรรยากาศและเงื่อนไขการเมืองภายหลังการชุมนุมใหญ่สิ้นสุดลงก็สามารถเยียวยาบาดแผลได้บางส่วน ผู้ที่เคยมีข้อขัดแย้งรุนแรงกับที่บ้านให้ข้อมูลตรงกันทั้งหมดว่าเมื่อไม่มีสถานการณ์ชุมนุมมากระตุ้น การเผชิญหน้ากันในบ้านก็มีแนวโน้มลดลงไปด้วย กระทั่งในครอบครัวที่แตกหักกันไปแล้ว เช่น กรณีของบาสซึ่งถูกญาติขับออกจากบ้านจนต้องย้ายมาอาศัยอยู่กับเพื่อนที่รู้จักกันจากการเคลื่อนไหวการเมือง บาสเล่าว่าทุกวันนี้ก็ยังสามารถพูดคุยเรื่องทั่วๆ ไปกันได้ ต่างฝ่ายต่างรู้ว่าไม่สามารถเปลี่ยนความคิดกันและกันได้ แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องที่จะชวนให้ทะเลาะกัน
งานวิจัยของคิด ฟอร์ คิดส์ ยังพบว่าเยาวชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ต้องการออกไปชุมนุมตั้งแต่แรก แต่สถานการณ์เวลานั้นบีบให้ต้องออกไป เมื่อไม่มีการชุมนุม แรงกระตุ้นให้ขัดแย้งก็หายไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกตั้งเมื่อปี 2023 ยังนำมาสู่การสร้าง ‘พันธมิตรจำเป็น’ ระหว่างผู้ใหญ่อนุรักษนิยมบางส่วนกับคนรุ่นใหม่ เมื่อฝ่ายการเมืองที่เคยร่วมกันต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์หันมาเป็นคู่แข่งกันเองในการเลือกตั้ง ส่งผลให้ผู้ที่ไม่ได้สนับสนุนม็อบราษฎรบางส่วนยอมหันมาสนับสนุนพรรคของคนรุ่นใหม่แม้จะไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเสนอทั้งหมด เพราะมองว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่ช่วยคานอำนาจพรรคที่ตนไม่ชอบมากกว่า[5]กนกรัตน์ เลิศชูสกุล และคณะ. ‘คิดใหม่การเมืองเรื่อง “รุ่น” : กรณีศึกษาความขัดแย้งในครอบครัวไทย’. ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและ ครอบครัว (คิด for … Continue reading
บาดแผลทางใจยากที่จะเยียวยา
เสียงฮัมของเครื่องยนต์ที่ลอดผ่านหน้าต่างเข้ามาในช่วงเช้ามืด กลายเป็นเสียงที่ปลุกให้เบส (นามสมมติ) อดีตเยาวชนที่ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุแก๊ส สะดุ้งตื่นขึ้นด้วยความหวาดผวา เสียงรถยนต์ทำให้เขานึกถึงเหตุการณ์ที่ถูกตำรวจสันติบาลบุกเข้ามาจับกุมในบ้านของตัวเองตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ถูกยึดโทรศัพท์ และนำตัวไป ‘ปรับทัศนคติ’ ที่สถานีตำรวจโดยไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บ้านกลายเป็นสถานที่ให้ความรู้สึกปลอดภัยไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน
แม้บรรยากาศทางการเมืองจะช่วยสมานบางแผล แต่ยังคงมีเด็กและเยาวชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องเผชิญความยากลำบากอันเป็นผลพวงจากบาดแผลเหล่านั้นโดยเฉพาะในด้านจิตใจซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อเยียวยา นอกจากนี้ปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้เกิดเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี หรือไล่ออกจากบ้าน แต่ยังเกิดขึ้นกับคนที่รอดพ้นจากชะตากรรมเช่นนั้นด้วย
อดีตแกนนำการเคลื่อนไหวในโรงเรียนคนหนึ่งเล่าให้เราฟังว่า ปัจจุบันเธอเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งพ่อของเธอใฝ่ฝันจะสอบเข้าแต่ทำไม่ได้ การเรียนต่อของเธอทำให้ความขัดแย้งที่เคยมีกับพ่อดูจะทุเลาลงไปมาก ตัวเธอเองโชคดีที่ไม่เคยถูกแจ้งข้อหาใดๆ และยังมีอนาคตที่สดใสด้านอาชีพนักกฎหมายรออยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกโดดเดี่ยวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเพราะเธอไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ๆ ในมหาวิทยาลัยได้เลย สาเหตุเกิดจากการที่เพื่อนสนิทของเธอคือหนึ่งในเยาวชนที่ถูกบังคับให้ลี้ภัยไปต่างประเทศ
“ช่วงที่เขาไปแรกๆ เราคิดอยู่ตลอดเวลาว่าถ้าวันนั้นเราไปห้ามเขาทันว่าอย่าทำแบบนั้นนะ มันอาจจะไม่ลงเอยแบบนี้มั้ย อีกส่วนมันก็กดดันให้เรารู้สึกว่าเราต้องประสบความสำเร็จนะ สักวันหนึ่งเราต้องพาเขากลับมาให้ได้ ก็เลยเป็นภาระทางใจเหมือนกันที่เรารู้สึกว่าลึกๆ เราต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น”
ครอบครัวทดแทนที่อาจไม่สมบูรณ์แบบ
การเสียชีวิตของบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม ขณะถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2024 ทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยถูกตั้งคำถามอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งของชีวิตบุ้งที่สังคมเลือกจะไม่พูดถึงมากนักคือบทบาทของการเป็นหัวหน้าครอบครัวซึ่งเป็นที่พึ่งของเด็กและเยาวชนที่ถูกบังคับให้ต้องออกจากบ้านของตัวเอง
ครอบครัวใหม่ของบุ้งไม่ได้สมบูรณ์แบบและอาจสร้างความอึมครึมให้แก่วงสนทนา อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐไม่มอบโอกาสให้เธอได้อธิบายตนเองอีกต่อไป และถึงที่สุดแล้วเรื่องในบ้านของเธออาจไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นเรื่องของทั้งสังคม กระนั้นสังคมควรยอมรับว่าบ้านของเธอไม่ใช่บ้านหลังแรกของเยาวชน และไม่ใช่บ้านหลังเดียวที่กลายเป็นที่พึ่งของนักเคลื่อนไหว ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เยาวชนเผยให้เห็นว่าครอบครัวทดแทนที่นักเคลื่อนไหวออกมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีมหาวิทยาลัย ครอบครัวเหล่านี้อาจไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กและเยาวชน แต่ก็อาจเป็นทางเลือกไม่กี่ทางท่ามกลางสังคมที่ถูกรัฐใช้กลไกต่างๆ บีบคั้นอย่างรอบด้าน
บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม นักเคลื่อนไหวการเมืองในนามกลุ่ม ‘ทะลุวัง’
(ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
ประสานรอยร้าวไม่ได้ หากรัฐยังเดินหน้าสร้างบาดแผลเพิ่ม
นับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2014 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากกรณีแสดงออกทางการเมืองแล้วไม่ต่ำกว่า 3,247 ราย เกินกึ่งหนึ่งเป็นคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2020 จนถึงปัจจุบัน[6]ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวบรวมโดย 101 PUB
ขณะที่บรรยากาศในครอบครัวเริ่มดีขึ้นบ้างตามบรรยากาศการเมืองที่ตึงเครียดน้อยลง ทว่าการดำเนินคดียังคงเดินหน้าต่อในทิศทางเดิมตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา หลังเลือกตั้ง 2023 การพิจารณาคดีคดีการเมืองจากการชุมนุมในปี 2020-21 ทยอยเข้าสู่ขั้นตอนอ่านคำพิพากษา ส่งผลให้มีนักเคลื่อนไหวถูกคุมขังเพิ่มขึ้นถึง 35 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 15-25 ถึง 20 คน หรือเกือบสองในสาม และในจำนวนทั้งหมดมี 24 คนไม่ได้ประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีที่ยังไม่สิ้นสุด
นอกจากนี้ยังมีเยาวชนอีกอย่างน้อย 19 คนถูกจำกัดอิสรภาพในการดำเนินชีวิต แม้ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวหรือมีคำสั่งให้รอลงอาญา แต่โทษจำคุกจากคดีการแสดงออกทางการเมืองก็เป็นเงื่อนไขที่ตีกรอบชีวิตให้ต้องคอยเดินทางมารายงานตัว รวมถึงถูกตัดโอกาสในการเดินทางไปต่างประเทศ การสร้างบาดแผลใหม่ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังย้อนกลับไปตอกย้ำความขัดแย้งในครอบครัวว่าโทษเหล่านี้คือผลของการ ‘ไม่เชื่อฟัง’ หรือ ‘เลี้ยงลูกประสาอะไร’
นิรโทษกรรมอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม
การคืนสิทธิประกันตัวและนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง คือความคาดหวังขั้นพื้นฐานที่เยาวชนผู้ให้ข้อมูลทุกคนมีร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังคงมีความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางเดิมที่เคยใฝ่ฝันเอาไว้เมื่อปี 2020 แม้มีบาดแผลและคดีความตามตัว สำหรับพวกเขา การนิรโทษกรรมคือจุดเริ่มต้น แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ปลายทางของการหาทางออกจากวังวนความขัดแย้งในสังคมไทย เพื่อที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม กระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งยังต้องไปให้ถึงการค้นหาความจริง ไต่สวนผู้กระทำผิด รวมถึงปฏิรูปสถาบันการเมืองต่างๆ ลงไปจนถึงกลไกที่เอื้อให้ผู้มีอำนาจฉกฉวยโอกาสใช้ครอบครัวเป็นเครื่องมือกดปราบผู้เห็นต่างด้วย
↑1 | iLaw. ‘ย้อนดู “การเยี่ยมบ้าน” นักกิจกรรมในยุค คสช. กับคำถามถึงสถานะทางกฎหมาย’. iLaw, 2562. https://www.ilaw.or.th/articles/9443. |
---|---|
↑2, ↑6 | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวบรวมโดย 101 PUB |
↑3 | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. ‘การเติบโตภาคบังคับของลูกสาวพ่อ : 4 ปี กับชีวิตและความเป็นไปของครอบครัว “สิรภพ” ผู้ต้องขังคดีม.112 | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’, 2561. https://tlhr2014.com/archives/8993. |
↑4 | Amnesty International Thailand. ‘“แอมเนสตี้-ศูนย์ทนาย” เผยดำเนินคดีของเด็กและเยาวชน 3 ปี สร้าง 7 ผลกระทบ แนะ 6 ข้อ ก.ยุติธรรม’, 2566. http://www.amnesty.or.th/latest/news/1190/. |
↑5 | กนกรัตน์ เลิศชูสกุล และคณะ. ‘คิดใหม่การเมืองเรื่อง “รุ่น” : กรณีศึกษาความขัดแย้งในครอบครัวไทย’. ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและ ครอบครัว (คิด for คิดส์), forthcoming. |