“น้องอายุ 1 เดือน หาที่รับฝากแบบค้างคืน ขอคนที่คิดรายวัน (ฝากแค่บางวัน) ค่ะ”
“ถ้าฝากแบบเดือนนึงไปหาครั้งเดียว สะดวกมั้ยคะ?”
“มีที่ไหนรับเลี้ยงเด็กเวลาประมาณสิบโมงถึงสี่ทุ่มบ้างครับ พอดีทำงานห้าง บางวันเลิก 6 โมง”
“รับเลี้ยงเด็ก รับแค่ 1 คนนะคะ… เลี้ยงคู่ลูกที่บ้านค่ะ”
โพสต์หาคนฝากและรับเลี้ยงเด็กเล็กบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เต็มไปด้วยความต้องการที่หลากหลายทั้งแบบรายวัน รายสัปดาห์ ช่วงเวลากลางวัน หัวค่ำ ค้างคืน ไปจนถึงการฝากแบบ 24 ชั่วโมง ทั้งในวันธรรมดาและวันหยุด สะท้อนให้เห็นความพยายามดิ้นรนของพ่อ-แม่ลูกอ่อนที่ต้องการรักษางานและอยู่ใกล้ชิดกับลูกไปพร้อมๆ กัน อย่างดีที่สุดเท่าที่เงื่อนไขชีวิตจะอำนวย
บ้านรับเลี้ยงเด็ก (home-based child care) เป็นธุรกิจที่เข้ามาเติมเต็มความต้องการให้กับพ่อแม่ที่ไม่มีแม้แต่สิทธิลาคลอด คนทำงานล่วงเวลา ทำงานกะกลางคืน และคนทำงานไกลบ้านที่ขาดเครือญาติคอยสนับสนุน รวมถึงเป็นช่องทางแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกเต็มเวลา โดยการรับเลี้ยงเด็กคนอื่นควบคู่กันไป
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยการรับเลี้ยงเด็กลักษณะนี้ยังไม่ได้ถูกกำกับควบคุมให้มีมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ทิ้งให้พ่อแม่ต้องเสี่ยงกับบริการที่ไม่ได้คุณภาพ ฝ่ายผู้รับฝากก็ต้องดิ้นรนให้บริการในราคาถูกเมื่อเทียบกับต้นทุนการดูแลที่สูง
คิด for คิดส์ โดยความร่วมมือระหว่าง สสส. และ 101 PUB สำรวจช่องว่างการดูแลเด็กปฐมวัย ชวนมองให้เห็นผู้คนที่ดูดซับภาระการดูแลให้สังคม และมองหาทางเลือกเชิงนโยบายที่จะสนับสนุนและเติมทรัพยากรให้เด็กๆ ของเรามีโอกาสได้เติบขึ้นมาอย่างมีคุณภาพเสมอหน้ากันยิ่งขึ้น
ธุรกิจรับเลี้ยงเด็กที่บ้าน หน่วยเติมเต็มช่องว่างการดูแลเด็กเล็ก
ช่องว่างของสวัสดิการเด็กเล็กในปัจจุบันทำให้พ่อแม่ที่มีลูกเล็กต้องดิ้นรนหาคนรับฝากลูกระหว่างออกไปทำงานด้วยทรัพยากรเท่าที่มี พ่อแม่ที่ทำงานไกลบ้านจำนวนหนึ่งเลือกฝากลูกกับไว้กับญาติซึ่งโดยมากเป็นปู่ย่าตายาย เด็กเล็กในครัวเรือนยากจนที่สุด 10% ล่าง มากถึง 27.3% ไม่ได้เติบโตในอ้อมแขนของพ่อแม่ ขณะที่ครัวเรือนฐานะดีที่สุด 10% บน มีเด็กเล็กที่ไม่ได้อาศัยกับพ่อหรือแม่เพียง 1.0% เท่านั้น[1]คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2566

สำหรับครัวเรือนยากจน ทางเลือกถัดมาคือการฝากเด็กกับศูนย์รับเลี้ยงเด็กของรัฐที่ได้รับการอุดหนุน มีค่าใช้จ่ายราววันละ 30-40 บาทไปจนถึงให้บริการฟรี แต่ศูนย์ของรัฐเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รับดูแลเด็กอายุต่ำกว่าสามปี ขณะที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบกิจการที่รัฐส่งเสริมก็มีดำเนินการอยู่เพียง 58 แห่ง[2]กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน. “กสร. ยกระดับ ‘ศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบกิจการ’ ชูเป็นแบบอย่างจัดสวัสดิการเพื่อผู้ใช้แรงงาน”, 10 กรกฎาคม … Continue reading ส่วนเนิร์สเซอรีเอกชนก็มีราคาสูงกว่ามาก เริ่มต้นราว 300-900 บาทต่อวัน และยังมีจำนวนลดลงภายหลังวิกฤตโควิด-19 จากที่เคยมีราว 1,600 แห่ง[3]คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ. “มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ.2562”, 2019. ลดเหลือเพียง 1,235 แห่งในปี 2023[4]กรมกิจการเด็กและเยาวชน (2023)
ในจำนวนศูนย์รับเลี้ยงเด็กทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชนรวม 52,399 แห่งทั่วประเทศ มีการรับดูแลเด็กวัย 0-2 ปี อยู่เพียง 17,865 คน ซึ่งคิดเป็น 1.2% ของเด็กวัยนี้ทั้งประเทศ[5]กรมกิจการเด็กและเยาวชน (2023) และกรมการปกครอง (2025) คำนวณโดย คิด for คิดส์
ข้อจำกัดของศูนย์รับเลี้ยงเด็ก (center-based child care) ที่สำคัญยิ่งกว่าราคาและจำนวนที่มีไม่เพียงพอ คือรูปแบบการให้บริการที่มักเป็นการดูแลเวลากลางวัน (day care) โดยอาจมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการดูแลล่วงเวลาทำการ แต่มีเพียงน้อยแห่งที่รับดูแลในวันหยุด และไม่รับดูแลเด็กในเวลากลางคืนเลย ซึ่งทำให้ไม่ตอบโจทย์พ่อแม่ที่ต้องทำงานในวันและเวลาเหล่านี้ บริการที่เข้ามาถมช่องว่างความต้องการนี้คือธุรกิจรับเลี้ยงเด็กซึ่งดำเนินการในบ้าน เสมือนหนึ่งรับเด็กเข้ามาอาศัยร่วมชายคา จึงสามารถให้บริการได้ในช่วงเวลาที่หลากหลาย ยืดหยุ่นตามแต่ตกลงกัน และยังตั้งอยู่ภายในชุมชน ตอบโจทย์การฝากเด็กใกล้ที่พัก ซึ่งเป็นความต้องการลำดับหนึ่งของพ่อแม่ในบริบทเมือง[6]สถาบันวิจัยประชากรและสังคม. “สถานเลี้ยงเด็กในบริบทสังคมเมือง: พัฒนาการเพื่อความมั่นคงของชาติ”. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม … Continue reading
บ้านรับเลี้ยงเด็กให้บริการในราคาที่ต่ำกว่าศูนย์รับเลี้ยงเอกชน เริ่มต้นราว 50-250 บาทต่อวัน หรือ 2,000-4,500 บาทต่อเดือน[7]สภากรุงเทพมหานคร. “รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการจัดตั้งและพัฒนารูปแบบศูนย์เด็กอ่อนให้มีมาตรฐาน”, 2019. รูปแบบที่เรียกว่า ‘ประจำกินนอน’ หรือการรับฝากดูแลตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมอาหารสามมื้อ อาจมีราคาสูงขึ้นไปราว 5,000-9,000 บาทต่อเดือน จำนวนหนึ่งรับดูแลแบบไม่มีวันหยุดเลย โดยพ่อแม่อาจแวะมาเยี่ยมลูกเพียงแค่เดือนละ 2-3 วัน ซึ่งถือเป็นเวลาที่น้อยมาก แต่ก็ยังอาจมากกว่าการฝากเด็กไว้ที่บ้านต่างจังหวัดซึ่งจะทำให้ได้พบกันเพียงปีละไม่กี่วัน
บริการรับเลี้ยงเด็กราคาถูกที่แลกมาด้วยการไม่ควบคุมมาตรฐาน
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดให้ผู้ดำเนินการสถานที่รับเลี้ยงเด็กอายุไม่เกินหกปีบริบูรณ์ จำนวนตั้งแต่หกคนขึ้นไป ซึ่งเด็กไม่เกี่ยวข้องเป็นญาติกับเจ้าของ ต้องขออนุญาตต่อภาครัฐและต่ออายุใบอนุญาตทุกหนึ่งปี รวมถึงต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานทั้งในด้านการบริหารจัดการ บุคลากร สภาพแวดล้อม ฯลฯ ตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรฐานความปลอดภัยที่สำคัญคือสัดส่วนผู้ดูแลต่อเด็ก ซึ่งกำหนดไว้เพื่อรับประกันว่าเด็กเล็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้น้อยจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ไทยกำหนดให้ผู้ดูแลหนึ่งคนสามารถดูแลเด็กอายุต่ำกว่าสามปีได้ไม่เกิน 10 คน เพดานจำนวนนี้ลดลงเหลือห้าคนสำหรับเด็กอายุต่ำกว่าสองปี และเหลือเพียงสามคนสำหรับเด็กอายุต่ำกว่าหนึ่งปี[8]คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ. “มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ.2562”, 2019. ทำให้ยิ่งดูแลเด็กอายุน้อย ต้นทุนด้านบุคลากรยิ่งสูงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่รับดูแลเด็กไม่เกินห้าคน ผู้ประกอบธุรกิจบ้านรับเลี้ยงเด็กไม่มีความจำเป็นต้องขออนุญาต และในปัจจุบันยังคงไม่มีกลไกในการตรวจสอบหรือส่งเสริมมาตรฐานใดๆ สำหรับสถานรับดูแลประเภทนี้ ส่งผลให้พ่อแม่จำนวนมากที่ต้องพึ่งพาบ้านรับเลี้ยงเด็กต้องเสี่ยงโชคกับผู้รับฝากที่ดูแลเด็กได้ไม่ทั่วถึงจนเกิดเป็นเหตุสลดมาแล้ว เช่น กรณีที่เด็กอายุหนึ่งขวบกลืนสิ่งแปลกปลอมลงหลอดลมจนถึงแก่ชีวิต ขณะที่แม่ซึ่งเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อฝากลูกไว้กับคนข้างบ้าน [9]PPTV Online. “ตร.แจ้งข้อหาประมาท พี่เลี้ยงปล่อยเด็ก 1 ขวบ กินกาวลาเท็กซ์ดับ”. pptvhd36.com, 14 มิถุนายน 2020. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/127333.
การขาดกลไกกำกับและส่งเสริมมาตรฐานการดูแลเด็กเล็ก ส่งผลให้บ้านรับเลี้ยงเด็กจำนวนมากดำเนินการโดยผู้ดูแลที่ขาดความรู้ด้านการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก การสำรวจสถานรับเลี้ยงเด็กไร้สังกัดในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2019 พบว่าผู้ดูแล 45% จบการศึกษาแค่ระดับชั้นประถมศึกษา และเป็นผู้สูงอายุถึงราว 29%[10]สภากรุงเทพมหานคร. “รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการจัดตั้งและพัฒนารูปแบบศูนย์เด็กอ่อนให้มีมาตรฐาน”, 2019. นอกจากนี้ บ้านรับเลี้ยงเด็กจำนวนมากยังดำเนินการโดยผู้ดูแลคนเดียว รวมถึงมีบางส่วนใช้ห้องพักบนอาคารสูงเป็นที่รับเลี้ยงเด็กโดยขาดมาตรการรองรับหากมีเหตุฉุกเฉิน เช่น เด็กประสบอุบัติเหตุร้ายแรง หรือมีเหตุอัคคีภัย

ทางเสี่ยงที่เลือกไม่ได้ของทั้งพ่อแม่และคนรับฝาก
การประเมินคุณภาพของบ้านรับเลี้ยงเด็กในปัจจุบันมักอาศัยการบอกเล่าปากต่อปาก และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนในชุมชน ทำให้บางรายสามารถรับเด็กมาดูแลคราวละไม่เกินห้าคนได้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานับสิบปี ผู้ดูแลซึ่งส่วนมากเป็นแม่หรือเคยเป็นแม่มาก่อน อาศัยประสบการณ์ส่วนตัวของพวกเธอมาเสนอเป็นบริการที่นับว่ามีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับภาระการดูแลประหนึ่งคนในครอบครัว เพราะพวกเธอมักมองว่างานนี้เป็นการช่วย ‘แบ่งเบาภาระ’ ของผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย[11]สภากรุงเทพมหานคร. “รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการจัดตั้งและพัฒนารูปแบบศูนย์เด็กอ่อนให้มีมาตรฐาน”, 2019.
การดูแลบนฐานของความไว้ใจนี้เอง ทำให้พวกเธอต้องแบกรับความเสี่ยงอีกด้านของการรับฝากเด็กเล็กไปในเวลาเดียวกัน ผู้รับฝากเด็กแบบประจำกินนอนบางส่วนระบุว่า เคยต้องออกค่าใช้จ่ายอาหาร ผ้าอ้อม และนมให้กับเด็กเอง เนื่องจากพ่อแม่ของเด็กไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ในเวลาที่กำหนด หรือในระหว่างที่ยังไม่สามารถหางานใหม่ได้ บางรายถึงกับทอดทิ้งเด็กไว้โดยไม่ติดต่อกลับมาอีก
บทบาทของบ้านรับเลี้ยงเด็กจึงไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจที่เติมเต็มช่องว่างการดูแลเด็กเล็ก แต่ยังเป็นด่านหน้าที่ช่วยแบกรับภาระงานคุ้มครองเด็กในครัวเรือนเปราะบางเอาไว้ด้วย ตอกย้ำว่ารัฐยิ่งต้องยื่นมือเข้ามาช่วยดูแล ทั้งในเชิงกำกับควบคุมและสนับสนุนให้บ้านเหล่านี้ไม่ต้องดูดซับภาระหนักอึ้งไว้ด้วยตัวเอง
มาตรฐานไทยคุมเข้มจนขาดความยืดหยุ่น
มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ.2562 ระบุถึงมาตรฐานการดำเนินงานสถานรับเลี้ยงเด็กไว้อย่างครอบคลุม รวมถึงกำหนดอัตราผู้ดูแลต่อเด็กไว้โดยละเอียด เช่น อัตราส่วนผู้ดูแลต่อเด็กวัยต่ำกว่าสองปีต้องไม่น้อยกว่า 1:5 และในหนึ่งกลุ่มกิจกรรมจะมีเด็กรวมทั้งสิ้นได้ไม่เกิน 10 คน
มาตรฐานอัตราผู้ดูแลของไทย นับว่ามีความเข้มงวดสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อาทิ ญี่ปุ่นซึ่งกำหนดให้สัดส่วนนี้เป็น 1:6 หรือฝรั่งเศสที่อนุญาตให้พี่เลี้ยงหนึ่งคนดูแลเด็กได้ถึง 8-10 คน ในขณะที่เดนมาร์กและสวีเดน ไม่มีการกำหนดอัตราส่วนในระดับชาติเอาไว้เลย เพราะมองว่ามิติของการดูแลอื่นๆ อาทิ การตอบสนองต่อความต้องการของผู้ปกครอง มีความสำคัญต่อคุณภาพมากกว่าอัตราส่วน[12]Department for Education. ‘More Great Childcare: Raising Quality and Giving Parents More Choice’. GOV.UK, 2013. https://www.gov.uk/government/publications/more-great-childcare-raising-quality-and-giving-parents-more-choice. ทั้งนี้การเปรียบเทียบอัตราส่วนผู้ดูแลต่อเด็กกับประเทศต่างๆ ควรต้องทำอย่างระมัดระวังเพราะแต่ละประเทศมีบริบทของโครงสร้างประชากร ขนาดของภาคธุรกิจการดูแล และวัฒนธรรมการเลี้ยงดูเด็กที่แตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ดี ประเทศส่วนใหญ่มีการกำกับดูแลอัตราส่วนผู้ดูแลในบ้านรับเลี้ยงเด็กที่เข้มงวดกว่าศูนย์รับเลี้ยงเสียอีก เช่น ญี่ปุ่นอนุญาตแค่เพียง 3 คน และเพิ่มได้เป็น 5 คนหากมีผู้ช่วย ฝรั่งเศสอนุญาตเพียง 4 คนสำหรับเด็กอายุต่ำว่า 3 ปี ส่วนสหราชอาณาจักรให้ดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีได้เพียงคนเดียวเท่านั้นยกเว้นกรณีฝาแฝด จะเห็นว่ามาตรฐานสำหรับบ้านรับเลี้ยงเด็กมีเงื่อนไขที่หลากหลายอย่างมาก เนื่องจากการเลี้ยงดูในบ้านย่อมมีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างกันตามวัฒนธรรมและพื้นที่ หลายประเทศจึงที่ให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้กำกับดูแลในบางเรื่อง อาทิ อัตราส่วนผู้ดูแลในเยอรมันนีและสวีเดน หลักเกณฑ์การตรวจเยี่ยมบ้านในนอร์เวย์และอังกฤษ[13]Davis, Elise, Ramona Freeman, Gillian Doherty, Malene Karlsson, Liz Everiss, Jane Couch, Lyn Foote, et al. ‘An International Perspective on Regulated Family Day Care Systems’. Australasian Journal of Early Childhood 37, no. 4 (1 December 2012): 127–37. https://doi.org/10.1177/183693911203700418.
มาตรฐานแห่งชาติของไทยในปัจจุบันจึงทั้งเข้มงวดและหย่อนยานไปในเวลาเดียวกัน เนื่องจากกำกับดูแลเฉพาะสถานรับเลี้ยงที่เป็นทางการ แต่กลับปล่อยให้ธุรกิจรับดูแลเด็กที่บ้านให้บริการโดยไร้การควบคุมคุณภาพ บีบให้พ่อแม่ต้องเลือกระหว่างบริการคุณภาพดีราคาแพง หรือเสี่ยงดวงกับบริการยืดหยุ่นราคาประหยัด ตัวอย่างในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า เส้นแบ่งระหว่างการรับดูแลเด็กมืออาชีพกับการดูแลในครอบครัวไม่สามารถขีดให้ชัดเจน และควรต้องมีการเข้าไปกำกับดูแลอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในแต่ละพื้นที่
ทางเลือกนโยบายเพื่อการสร้างสมดุลคุณภาพ-การเข้าถึง
การควบคุมคุณภาพของสถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นเพียงเป้าหมายด้านหนึ่งของการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย (Early Childhood Education and Care) ซึ่งจะต้องทำควบคู่ไปกับการรับประกันว่าบริการดังกล่าวจะมีราคาเอื้อมถึงสำหรับครอบครัวส่วนใหญ่
การกำหนดอัตราส่วนให้เข้มงวด ส่งผลให้คุณภาพของการดูแลดีขึ้นแต่ก็แลกมาด้วยต้นทุนด้านบุคลากรที่สูงตามซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อค่าบริการที่แพงขึ้น ตัวอย่างเช่นสหราชอาณาจักรซึ่งใช้มาตรฐานที่เข้มงวดมาก กำหนดให้อัตราผู้ดูแลต่อเด็กอยู่ที่ 1:4 ทำให้ผู้ปกครองต้องจ่ายค่ารับเลี้ยงเด็กเป็นสัดส่วนมากถึงราว 19% ของรายได้พ่อแม่รวมกัน ซึ่งมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก[14]OECD 2022 ในปี 2024 จึงมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายผ่อนปรนอัตราส่วนดังกล่าวเป็น 1:5 เพื่อลดต้นทุนด้านบุคลากรให้กับสถานรับเลี้ยง และหวังว่าราคาค่าบริการจะลดลง[15]Foley, Niamh. ‘New Regulations Change Childcare Ratios in England’, 3 January 2024. https://commonslibrary.parliament.uk/childcare-ratios-in-england/.
ในช่วงปี 2024-2025 หลายรัฐของสหรัฐอเมริกามีการเสนอและผ่านร่างกฎหมายผ่อนปรนมาตรฐานเพื่อรับมือกับปัญหาสถานรับเลี้ยงเด็กขาดแคลนซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาจากช่วงวิกฤตโควิด-19 การผ่อนปรนดังกล่าวมุ่งเน้นให้ธุรกิจบ้านรับเลี้ยงเด็กสามารถรับดูแลเด็กได้มากขึ้น รวมถึงมีข้อเสนอให้ลดคุณสมบัติและอายุขั้นต่ำของผู้ดูแลลง[16]Mader, Jackie. ‘States Try to Tackle Child Care Shortages — by Lowering Standards’. The Hechinger Report, 17 April 2025. http://hechingerreport.org/states-try-to-tackle-child-care-shortages-by-lowering-standards/.
ผู้เชี่ยวชาญวิจารณ์ว่าการผ่อนปรนมาตรฐานสถานรับเลี้ยงเด็กอาจกระทบต่อคุณภาพการดูแลเด็กจนได้ไม่คุ้มเสีย และอาจไม่ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้พ่อแม่ได้ตามที่คาดหวังเพราะสถานรับเลี้ยงอาจไม่ลดค่าบริการลง[17]Archer, Nathan. ‘Five Arguments against a Change to Early Years Ratios’. The Foundation Stage Forum Ltd, 14 May 2022. https://eyfs.info/articles.html/leadership-and-management/five-arguments-against-a-change-to-early-years-ratios-r390/. รวมถึงมีการเรียกร้องให้ทบทวนกฎหมายบางฉบับ เช่น ในกรณีของรัฐไอดาโฮซึ่งสภาผู้แทนได้ผ่านร่างกฎหมายยกเลิกอัตราส่วนผู้ดูแลเมื่อเดือนเมษายน 2025 ที่ผ่านมา ก่อนจะมีการทบทวนในชั้นกรรมาธิการและประนีประนอมให้ผ่อนปรนมาตรฐานหลายข้อลง แต่ยังคงการกำหนดอัตราส่วนเอาไว้[18]Pfannenstiel, Kyle. ‘Idaho Legislature Passes Child Care Deregulation Bill with Tweaks • Idaho Capital Sun’. Idaho Capital Sun (blog), 19 March 2025. https://idahocapitalsun.com/2025/03/19/idaho-legislature-passes-child-care-deregulation-bill-with-tweaks/.
เพื่อที่จะรักษาคุณภาพของการดูแลเอาไว้ สหราชอาณาจักรมอบสิทธิฝากเลี้ยงเด็กฟรี (parent entitlement) 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ให้แก่พ่อแม่ที่ทำงานอยู่และมีรายได้ต่อปีไม่เกินหนึ่งแสนปอนด์ โดยอุดหนุนผ่านผู้ให้บริการที่ได้รับการรับรองจากรัฐซึ่งอาจเป็นศูนย์รับเลี้ยง บ้านรับเลี้ยง หรือพี่เลี้ยงเด็กก็ได้ การอุดหนุนลักษณะนี้ช่วยให้พ่อแม่เลือกใช้บริการที่เหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตของตัวเองได้ การนำร่องนโยบายในอังกฤษช่วยลดค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ที่มีลูกอายุต่ำกว่าสองปีได้มากกว่าครึ่งของที่เคยจ่าย[19]Coram. ‘Childcare Survey 2025’. Coram, 2025. https://www.coram.org.uk/resource/childcare-survey-2025/.
ในอีกด้านหนึ่ง ฝรั่งเศสซึ่งใช้มาตรฐานอัตราส่วนผู้ดูแลต่อเด็กที่ผ่อนปรนกว่ามากเลือกที่จะใช้นโยบายอีกรูปแบบคือการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพผู้ดูแลในศูนย์รับเลี้ยงเด็กอย่างเข้มข้นเพื่อให้ผู้ดูแลจำนวนน้อยสามารถดูแลเด็กจำนวนมากขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ดูแลไม่ต่ำกว่า 40% ต้องจบการศึกษาระดับเทียบเท่าอนุปริญญา โดยต้องผ่านการอบรม 18 หลักสูตรที่ใช้ระยะเวลาหนึ่งปีเต็ม[20]Department for Education. ‘More Great Childcare: Raising Quality and Giving Parents More Choice’. GOV.UK, 2013. https://www.gov.uk/government/publications/more-great-childcare-raising-quality-and-giving-parents-more-choice.

ดึงบ้านรับเลี้ยงเด็กเข้าระบบมาตรฐานยืดหยุ่น เพิ่มทางเลือกให้พ่อแม่
การทำให้บ้านรับเลี้ยงเด็กมีมาตรฐานเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การปรับสมดุลของระบบพัฒนาเด็กปฐมวัยมักต้องอาศัยเวลาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการรับเลี้ยงเด็กโยงใยอยู่กับวัฒนธรรมการเลี้ยงดู ความเชื่อของครอบครัว ซึ่งมีอิทธิพลต่อตลาดของบริการลักษณะนี้โดยรวม ตัวอย่างเช่นในสหราชอาณาจักรที่ทยอยขยายสิทธิประโยชน์การอุดหนุนเป็นระยะ ในห้วงเวลาหลายปี เพื่อให้ธุรกิจมีเวลาปรับตัวและเพิ่มจำนวนผู้ดูแลให้ทันต่อความต้องการ
แนวทางที่อาจนำมาปรับใช้กับประเทศไทยอาจพิจารณาจากประเทศที่พึ่งพิงการดูแลโดยครอบครัวสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหลายท้องที่ได้พัฒนาแนวทางกำกับมาตรฐานการดูแลแบบครอบครัว (Family Child Care) ที่ยืดหยุ่นและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพไปในเวลาเดียวกัน แทนที่จะใช้กฎหมายกำกับและอนุญาตเฉพาะธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โครงการ RISE ในแฟรงค์ลินเคาท์ตี รัฐโอไฮโอ จูงใจให้ธุรกิจรับเลี้ยงเด็กพัฒนาบริการด้วยการมอบเงินอุดหนุนแบบขั้นบันได (Step Up To Quality) โดยทุกๆ การบรรลุมาตรฐานหนึ่งดาว เช่น มีผู้ดูแลที่ผ่านการอบรมครบตามเกณฑ์ บ้านรับเลี้ยงเด็กจะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้น $10,500 หรือกว่าสามแสนบาทต่อปี ธุรกิจขนาดเล็กจึงไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานสูงระดับ 5 ดาวตั้งแต่แรก แต่ค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไปสู่บริการที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังอุดหนุนเงินเพิ่มให้กับสถานรับเลี้ยงที่ให้บริการในเวลาไม่ปกติ คือระหว่างหกโมงเย็น-หกโมงเช้า และในวันหยุด อีก $5,000 หรือราว 1.5 แสนบาทต่อปี[21]RISE. ‘Step Up To Quality’. Accessed 1 July 2025. https://www.franklincountyohio.gov/County-Government/Projects-Initiatives/RISE/Step-Up-To-Quality.
อย่างไรก็ดี เงื่อนไขสำคัญของการที่มาตรฐานบ้านรับเลี้ยงเด็กจะถูกกำหนดให้ยืดหยุ่นและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพได้จริง คืออำนาจในการกำกับดูแลจะต้องถูกถ่ายโอนไปสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถเลือกกำหนดอัตราส่วนผู้ดูแล คุณสมบัติผู้ดูแล หลักเกณฑ์ในการตรวจเยี่ยม ไปจนถึงมาตรฐานความปลอดภัยของสถานที่ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของตัวเอง รัฐส่วนกลางอาจพัฒนากรอบมาตรฐาน หรือตัวชี้วัดในภาพใหญ่ เช่น กำหนดเป้าหมายจำนวนบ้านรับเลี้ยงเด็กที่ต้องการดึงเข้าสู่ระบบกำกับดูแล และปล่อยให้ท้องถิ่นเป็นผู้ออกแบบวิธีการและคิดค้นนวัตกรรมในการส่งเสริมคุณภาพอย่างอิสระ
↑1 | คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2566 |
---|---|
↑2 | กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน. “กสร. ยกระดับ ‘ศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบกิจการ’ ชูเป็นแบบอย่างจัดสวัสดิการเพื่อผู้ใช้แรงงาน”, 10 กรกฎาคม 2024. https://www.labour.go.th/index.php/71200-2024-07-10-09-01-33. |
↑3, ↑8 | คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ. “มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ.2562”, 2019. |
↑4 | กรมกิจการเด็กและเยาวชน (2023) |
↑5 | กรมกิจการเด็กและเยาวชน (2023) และกรมการปกครอง (2025) คำนวณโดย คิด for คิดส์ |
↑6 | สถาบันวิจัยประชากรและสังคม. “สถานเลี้ยงเด็กในบริบทสังคมเมือง: พัฒนาการเพื่อความมั่นคงของชาติ”. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2017. https://ipsr.mahidol.ac.th/post_research/สถานเลี้ยงเด็กในบริบทส/. |
↑7, ↑10, ↑11 | สภากรุงเทพมหานคร. “รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการจัดตั้งและพัฒนารูปแบบศูนย์เด็กอ่อนให้มีมาตรฐาน”, 2019. |
↑9 | PPTV Online. “ตร.แจ้งข้อหาประมาท พี่เลี้ยงปล่อยเด็ก 1 ขวบ กินกาวลาเท็กซ์ดับ”. pptvhd36.com, 14 มิถุนายน 2020. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/127333. |
↑12, ↑20 | Department for Education. ‘More Great Childcare: Raising Quality and Giving Parents More Choice’. GOV.UK, 2013. https://www.gov.uk/government/publications/more-great-childcare-raising-quality-and-giving-parents-more-choice. |
↑13 | Davis, Elise, Ramona Freeman, Gillian Doherty, Malene Karlsson, Liz Everiss, Jane Couch, Lyn Foote, et al. ‘An International Perspective on Regulated Family Day Care Systems’. Australasian Journal of Early Childhood 37, no. 4 (1 December 2012): 127–37. https://doi.org/10.1177/183693911203700418. |
↑14 | OECD 2022 |
↑15 | Foley, Niamh. ‘New Regulations Change Childcare Ratios in England’, 3 January 2024. https://commonslibrary.parliament.uk/childcare-ratios-in-england/. |
↑16 | Mader, Jackie. ‘States Try to Tackle Child Care Shortages — by Lowering Standards’. The Hechinger Report, 17 April 2025. http://hechingerreport.org/states-try-to-tackle-child-care-shortages-by-lowering-standards/. |
↑17 | Archer, Nathan. ‘Five Arguments against a Change to Early Years Ratios’. The Foundation Stage Forum Ltd, 14 May 2022. https://eyfs.info/articles.html/leadership-and-management/five-arguments-against-a-change-to-early-years-ratios-r390/. |
↑18 | Pfannenstiel, Kyle. ‘Idaho Legislature Passes Child Care Deregulation Bill with Tweaks • Idaho Capital Sun’. Idaho Capital Sun (blog), 19 March 2025. https://idahocapitalsun.com/2025/03/19/idaho-legislature-passes-child-care-deregulation-bill-with-tweaks/. |
↑19 | Coram. ‘Childcare Survey 2025’. Coram, 2025. https://www.coram.org.uk/resource/childcare-survey-2025/. |
↑21 | RISE. ‘Step Up To Quality’. Accessed 1 July 2025. https://www.franklincountyohio.gov/County-Government/Projects-Initiatives/RISE/Step-Up-To-Quality. |