แม้เด็กและเยาวชนจะต้องใช้เวลาคุดคู้อยู่ในห้องเรียนมากที่สุด แต่การเรียนรู้ของพวกเขาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียน การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องเกิดจากกิจกรรมทางวิชาการ แต่อาจเกิดจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน การสัมผัสสิ่งรอบตัว ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง การวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นหรือสนามกีฬา หรือการไปแหล่งเรียนรู้ต่างๆ นอกบ้าน[1]Lannon, C. (2018). Informal Learning: How Care Providers Can Engage in Learning Outside of the Classroom. Honors Senior Capstone Projects, 36. https://scholarworks.merrimack.edu/honors_capstones/36 รศ.ดร.ชูเกียรติ ลีสุวรรณ์. (2019, May 24). Informal learning ถูกมองข้าม … Continue reading
การเรียนรู้นอกห้องเรียนไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าการเรียนในห้องเรียน โดยเฉพาะการเรียนการสอนที่เน้นท่องจำเนื้อหา วัดประเมินผลอย่างคับแคบ และไม่ได้เปิดทางเลือกหลากหลายให้นักเรียนได้ทดลอง การเรียนรู้นอกห้องเรียนช่วยเติมเต็มให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจหรือสงสัย[2]
การเรียนรู้นอกห้องเรียนไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าการเรียนในห้องเรียน โดยเฉพาะการเรียนการสอนที่เน้นท่องจำเนื้อหา วัดประเมินผลอย่างคับแคบ และไม่ได้เปิดทางเลือกหลากหลายให้นักเรียนได้ทดลอง การเรียนรู้นอกห้องเรียนช่วยเติมเต็มให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจหรือสงสัย[2]Chand, R., & Narain, S. (2022, March 03). Informal learning for Children-the way ahead. ETHealthworld.
ยิ่งในศตวรรษที่ 21 การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลาทำให้ความรู้แบบท่องจำมีอายุสั้นลง ซึ่งท้าทายระบบการศึกษาอย่างมาก โจทย์สำคัญที่ท้าทายการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ก็คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีทักษะที่ใช้ได้จริงในอนาคต
หลายประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบันมากขึ้น โดยเน้นสร้างสภาวะแวดล้อมทางการเรียนรู้องค์รวมที่ครอบคลุมทั้งในและนอกห้องเรียน โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน[3]Care, E., Kim, H., Vista, A., & Anderson, K. (2018). Education system alignment for 21stcentury skills. Brookings. เป็นเทรนด์ใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการตอบรับมากนักในประเทศไทย
คิด for คิดส์ จึงชวนสำรวจพฤติกรรมการไปแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนไทย ผ่านผลสำรวจเยาวชน 2022 (Youth Survey 2022) ดูว่าทิศทางการลงทุนในแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของภาครัฐเป็นอย่างไร และนโยบายสำหรับแหล่งเรียนรู้ควรปรับทิศทางอย่างไรให้การเรียนรู้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้
เยาวชนไทยไม่ค่อยได้ไปแหล่งเรียนรู้
องค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ภายนอกห้องเรียนได้ คือพื้นที่ให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ หรือแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนอื่นๆ ได้ พื้นที่สาธารณะเป็นหนึ่งในพื้นที่เหล่านั้น แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะมีพื้นที่สาธารณะไม่มาก ทำให้เด็กไทยใช้เวลาว่างนอกห้องเรียนเพื่อไปห้างสรรพสินค้า, ตลาดนัด, บ้านเพื่อนและบ้านญาติ มากที่สุดเป็น 3 อันดับแรก ตามด้วยสนามกีฬา/สนามเด็กเล่น และแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ[4]ภูเบศร์ และคณะ. (2563). โลกที่ 3 ของซี- แอลฟา. สถาบันวิจัยประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล.
จากผลสำรวจเยาวชนไทยอายุ 15 ถึง 25 ปี จำนวน 19,694 คน ที่จัดทำโดย คิด for คิดส์ พบว่าเยาวชนไทยจำนวนมากไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้หลายประเภท โดยเฉพาะแหล่งเรียนรู้ประเภทศูนย์ฝึกอาชีพและพื้นที่ทำงานร่วมกัน (coworking space) ที่เยาวชนกว่าครึ่งตอบว่าไม่เคยไป (ภาพที่ 1) และถึงแม้จะมีแหล่งเรียนรู้บางประเภทที่เยาวชนเคยไป อาทิ ห้องสมุด สนามกีฬา โรงหนัง/คอนเสิร์ต สวนสัตว์ และสวนพฤกษศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ไปบ่อยเท่าไหร่นัก
พฤติกรรมการไปแหล่งเรียนรู้ยังแตกต่างกันไปตามกลุ่มรายได้และจังหวัดที่อยู่อาศัย ในภาพรวมเยาวชนไทยที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวยกว่าและกลุ่มที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครมีอัตราการไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้เฉลี่ยน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมาก ในขณะที่กลุ่มที่มีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้มักจะเป็นกลุ่มที่ครัวเรือนมีฐานะยากจนกว่า หรืออยู่ในจังหวัดขนาดเล็ก (ภาพที่ 2)
ในรายละเอียด แหล่งเรียนรู้กลุ่มเยาวชนที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มที่ไม่เคยไปมากกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ โรงหนัง/คอนเสิร์ต สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ และพื้นที่ทำงานร่วมกัน (co-working space) เมื่อแบ่งตามกลุ่มจังหวัดที่อยู่อาศัย จะพบว่ากลุ่มเยาวชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีประชากรมาก (กรุงเทพฯ และ 7 จังหวัดหัวเมือง[5]7 จังหวัดหัวเมือง คือ 7 จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดรองลงมาจากกรุงเทพฯ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, เชียงใหม่, บุรีรัมย์, … Continue reading) มีแนวโน้มไม่เคยไปพิพิธภัณฑ์ โรงหนัง คอนเสิร์ต และ co-working space น้อยกว่ากลุ่ม ‘จังหวัดอื่นๆ’ อย่างไรก็ตาม เยาวชนอาศัยอยู่ใน ‘จังหวัดอื่นๆ’ มีแนวโน้มที่จะเคยไปสวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ สนามกีฬา ศูนย์ฝึกอาชีพ และศาสนสถานมากกว่า มีเพียงแหล่งเรียนรู้ประเภทห้องสมุดเท่านั้นที่เยาวชนมีพฤติกรรมการเข้าใช้งานที่ไม่แตกต่างกันในทุกกลุ่มจังหวัด นั่นคือเยาวชนส่วนใหญ่เคยไปและมีสัดส่วนผู้ที่ไม่เคยไปห้องสมุดน้อยเท่าๆ กัน (ราว 15% ของผู้ตอบในแต่ละกลุ่มจังหวัด)
เมื่อถามความคิดเห็นจากเยาวชนว่าอะไรเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้ไม่ไปแหล่งเรียนรู้บ่อยกว่านี้ พบว่า เกือบครึ่งของผู้ตอบทั้งหมด (47.2%) เห็นว่า ระยะทางและการเดินทางเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถไปสถานที่เหล่านี้ได้มากนัก ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มเยาวชนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกลุ่ม ‘จังหวัดอื่น’ จะเผชิญปัญหาด้านระยะทางและการเดินทางมากกว่าเยาวชนในพื้นที่ กทม. และ 7 จังหวัดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนของผู้ที่ประสบปัญหาด้านนี้จากกลุ่มจังหวัดอื่นๆ มีมากกว่ากรุงเทพฯ ถึง 8% ซึ่งชี้ให้เห็นว่า แหล่งการเรียนรู้ในไทยมีจำนวนน้อย อีกทั้งยังกระจุกตัวตามหัวเมืองเท่านั้น
แหล่งเรียนรู้ที่เยาวชนไทยอยากให้มีใกล้บ้าน
เยาวชนไทยทุกกลุ่มต้องการให้มีแหล่งเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ผู้ตอบส่วนใหญ่ไม่เคยไป อีกทั้งยังมีไม่มากและกระจุกตัวอยู่แค่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ตามที่จะแสดงให้เห็นต่อไป ตามด้วยห้องสมุดและสนามกีฬา ซึ่งมีอัตราการเคยไปดีกว่าแต่ยังมีความถี่ในการใช้บริการน้อย
อย่างไรก็ตาม แหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านที่เยาวชนในแต่ละกลุ่มต้องการเป็นอันดับที่หนึ่งก็มีความแตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการไปสถานที่การเรียนรู้ของกลุ่มนั้นๆ อาทิ เยาวชนวัยมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุ 15-18 ปีอยากให้มีสนามกีฬามากที่สุด ในขณะที่กลุ่ม 19-22 ปี ซึ่งเป็นวัยมหาวิทยาลัยอยากได้ห้องสมุดมากที่สุด กลุ่มเยาวชน 23-25 ปี ที่เพิ่งเริ่มทำงานหรือศึกษาในระดับสูงขึ้นต้องการพื้นที่ประเภทพิพิธภัณฑ์มากที่สุด ในขณะที่กลุ่มเยาวชนจากครอบครัวรายได้น้อยอยากให้มีห้องสมุด ศูนย์ฝึกทักษะอาชีพ และพิพิธภัณฑ์อยู่ใกล้บ้านมากที่สุด (ภาพที่ 4) ส่วนศาสนสถานและโรงเรียนสอนศาสนาเป็นสิ่งสุดท้ายที่เยาวชนไทยต้องการ ซึ่งมีไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่ตอบว่าต้องการให้มีแหล่งเรียนรู้ประเภทนี้เพิ่มใกล้บ้าน
พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยมีน้อย-เข้าถึงยาก
‘พิพิธภัณฑ์’ เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เยาวชนไทยอยากให้มีใกล้บ้านมากที่สุดเป็นอันดับ 1 จากการสำรวจเยาวชน 2022 ซึ่งยังติดอันดับ 1 ใน 3 ในทุกกลุ่มย่อย พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดี เพราะสามารถจัดแสดงเรื่องราวหลากหลายให้เป็นระบบ ซึ่งช่วยเปิดประสบการณ์และเป็นแหล่งค้นคว้าเรียนรู้เฉพาะเรื่องที่สำคัญในระบบนิเวศการเรียนรู้ในนานาประเทศ
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐของไทยให้การสนับสนุนจัดสร้างพิพิธภัณฑ์น้อยมาก[6]แม้ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2022 แสดงผลว่าประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์มากถึง 1,591 แห่งทั่วประเทศ … Continue reading ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการเดินทางและการเข้าถึงโดยเยาวชนไปโดยปริยาย เมื่อผู้วิจัยค้นหาตำแหน่งที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยจาก Google Map โดยไม่นับรวมพิพิธภัณฑ์ที่เป็นของส่วนบุคคลหรือของวัดแล้ว ทำให้เห็นภาพว่าประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์น้อยมาก และที่สำคัญคือมีปัญหาเรื่องการกระจุกตัวในจังหวัดขนาดใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจกับผลสำรวจเยาวชนที่พบว่าเยาวชนจำนวนมากไม่เคยไปพิพิธภัณฑ์มาก่อนในชีวิต และอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้ไปบ่อยนัก
เมื่อมองไปยังอนาคตก็จะพบว่า การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ของรัฐยังไม่ตอบโจทย์ต่อพฤติกรรมและความต้องการของเยาวชน ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 มีโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1 พันล้านบาท จากงบประมาณทั้งประเทศมากกว่า 3 ล้านล้านบาท
เมื่อแยกรายโครงการแล้ว พบว่างบประมาณทั้งหมดนั้นใช้กับการก่อสร้างเพียง 7 โครงการ ที่สำคัญ จำนวนเงินงบประมาณก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่แค่ในจังหวัดที่มีแหล่งเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว อาทิ โครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ เป็นจำนวนเงิน 655 ล้านบาท (65 % ของงบสร้างพิพิธภัณฑ์ในปีงบประมาณ 2566) ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพิพิธภัณฑ์มากที่สุดในประเทศไทยอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นโครงการนี้ตั้งระยะเวลาการดำเนินงานมากถึง 12 ปี[7]เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เล่มที่ 6
โครงการขนาดรองลงมาคือพิพิธภัณฑสถานงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ พิพิธภัณฑ์พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 ซึ่งจะใช้งบประมาณ 153 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 จากมูลค่าโครงการทั้งหมด 294 ล้านบาท โครงการดังกล่าวนี้จะสร้างขึ้นในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นเหมือนแหล่งรวบรวมพิพิธภัณฑ์หลากประเภทของไทยไว้อยู่แล้ว
ขณะที่จังหวัดซึ่งไม่มีพิพิธภัณฑ์อย่างเพชรบุรีและระนอง กลับมีงบประมาณเพียงแค่จังหวัดละประมาณ 2% ของงบสร้างพิพิธภัณฑ์เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีอีก 19 จังหวัดที่ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์และยังไม่ได้มีการลงทุนสร้างเลย
นอกจากงบประมาณก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่แล้ว คิด for คิดส์ ยังพบว่าองค์กรภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวข้องกับแหล่งการเรียนรู้อย่าง สำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD ผู้ดูแลทั้ง Museum Siam และ TK Park) กรมศิลปากร และองค์กรพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติได้รับงบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับความสำคัญและความเร่งด่วนในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของไทย โดยพบว่างบของทั้งสามองค์กรรวมกันมีสัดส่วนไม่เกิน ร้อยละ 0.15 ของงบประมาณในแต่ละปี โดยงบประมาณของกรมศิลปากรและองค์กรพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่มีความผันผวนค่อนข้างมาก ในขณะที่งบประมาณของ OKMD นั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน
ปรับทิศนโยบาย สร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้
ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าแหล่งเรียนรู้ในประเทศไทยยังมีไม่มากพอให้เยาวชนเข้าถึงได้โดยสะดวกในทุกพื้นที่ อีกทั้งการลงทุนสร้างแหล่งเรียนรู้ใหม่อย่างพิพิธภัณฑ์ของภาครัฐยังคงไม่เพียงพอและกระจุกตัวอยู่แต่ในที่เดิมๆ
แน่นอนว่าการเพิ่มแหล่งเรียนรู้ประเภทต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งกระจายไปยังพื้นที่ที่มีแหล่งเรียนรู้น้อย เป็นเงื่อนไขจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนไทยในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขจำเป็นข้อนี้ยังไม่เพียงพอ เพราะแม้ว่าจะมีแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นใกล้บ้าน แต่หากสถานที่ใหม่ๆ เหล่านี้มิได้เป็นสิ่งที่เยาวชนต้องการ ก็จะเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่ไม่เกิดประโยชน์ ที่ผ่านมาการตั้งพิพิธภัณฑ์ในระดับชุมชนและท้องถิ่นของไทย มักจะกำหนดประเด็นลงไปให้กับเยาวชน โดยที่ไม่คำนึงถึงความสนใจ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเช่น ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรและภูมิปัญญาพื้นบ้าน มักจะมีลักษณะทับซ้อนกับความรู้ที่เยาวชนสามารถหาได้ในภูมิลำเนาอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่เห็นเยาวชนเข้าไปใช้งาน
ดังนั้น นโยบายการสร้างแหล่งเรียนรู้ให้ใกล้บ้าน ควรต้องเริ่มด้วยการเพิ่มงบประมาณให้กับท้องถิ่นมากขึ้น แต่จะสร้างอะไรนั้น ให้ขึ้นกับการหารือและระดมความเห็นของเด็กและเยาวชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงของแหล่งเรียนรู้เหล่านั้น จึงจะทำให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีความหมายได้จริง โฉมหน้าของแหล่งเรียนรู้สำหรับโลกยุคใหม่ย่อมต้องปรับตัวไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อพฤติกรรมการค้นคว้าข้อมูลเปลี่ยนไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น บทบาทความสำคัญเดิมของแหล่งเรียนรู้ซึ่งก็คือแหล่งรวบรวมข้อมูลก็ย่อมลดลง หากแต่บทบาทความสำคัญของพื้นที่ทางกายภาพก็ใช่ว่าจะไร้ความหมายไป เพราะแหล่งเรียนรู้มีพื้นที่ทางกายภาพที่สามารถนำมาประยุกต์ให้เป็นพื้นที่เพื่อการพบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ ฉะนั้นผู้กำหนดนโยบายไม่ควรมองข้ามการวางบทบาทของแหล่งเรียนรู้ให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาชีวิตและเศรษฐกิจของเมือง[8]วัฒนชัย วินิจจะกูล. (2021, December 22). ห้องสมุดยุคใหม่ พื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้. The Kommon.
หลายประเทศมีการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้คนที่เข้าใช้บริการได้ความรู้กลับไป หากแต่จุดประสงค์ของแหล่งเรียนรู้เหล่านี้มีเพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างการเรียนรู้ อาทิ มีพื้นที่ให้ผู้คนได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ร่วมกัน นอกจากนี้ แหล่งเรียนรู้บางแห่งยังไม่ได้มีแค่ประเภทเดียว หากแต่เป็นศูนย์รวมของแหล่งเรียนรู้และพื้นที่สาธารณะหลากหลายประเภทในสถานที่เดียวกัน
ในเมืองอาร์ฮุส (Aarhus) ประเทศเดนมาร์ก มีโครงการห้องสมุดสาธารณะที่ชื่อว่า Dokk1 ซึ่งเป็นตัวอย่างของแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อให้ผู้ใช้บริการมาค้นคว้าหาข้อมูลเท่านั้น Dokk1 ไม่ได้มีแค่พื้นที่อ่านหนังสือ หากแต่มีพื้นที่ที่เปิดให้ผู้คนสามารถมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน อาทิ พื้นที่ทำงานร่วมกัน (coworking space) พื้นที่สันทนาการที่มีทั้งบอร์ดเกมและวิดีโอเกม พื้นที่ทานอาหารที่ซึ่งสามารถทำอาหารเองได้ด้วย เป็นต้น[9]ดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ห้องสมุด Dokk1 เมืองอาร์ฮุส (Aarhus) ประเทศเดนมาร์ก
อีกหนึ่งตัวอย่างของห้องสมุดที่ไม่ได้มีแค่หนังสือ คือ ห้องสมุด Oodi กรุงเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งมีจุดประสงค์หลักที่คล้ายคลึงกับ Dokk1 ก็คือต้องการให้ผู้คนที่มาใช้งานมีโอกาสในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นผ่านพื้นที่การพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้[10]ดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ห้องสมุด Oodi เมืองเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์)
โจทย์ใหญ่กว่าคือการเขย่าสังคม สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้
การมุ่งเน้นสร้างแหล่งเรียนรู้โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มการเข้าถึง เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสร้างการเรียนรู้ แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นจริง เพราะแหล่งการเรียนรู้ ตลอดจนเนื้อหาและสื่อการเรียนรู้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการเรียนรู้ แต่พฤติกรรมการเรียนรู้นั้นจะต้องเกิดด้วยสังคมที่ให้คุณค่ากับความรู้ ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง ตอบโจทย์ต่อความสนใจของผู้เรียน และมีระบบส่งเสริมทั้งความต้องการเรียนรู้และความต้องการให้ความรู้ที่ชัดเจนและยั่งยืน ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ อยากแสวงหาและต้องการเรียนรู้[11]วัฒนชัย วินิจจะกูล. (2021, December 24). เปลี่ยนโลกการเรียนรู้ของไทยให้ทันโลก. The Kommon.
การส่งเสริมให้สังคมไทยเกิดการเรียนรู้เพื่อก้าวทันตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วไม่ได้จบเพียงแค่การเพิ่มปริมาณแหล่งการเรียนรู้ หรือการปรับรูปแบบให้ทันต่อการใช้งานและความชอบเท่านั้น แต่ต้องมองถึงระบบการจัดการจนเกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นโจทย์ให้ผู้ศึกษานโยบายด้านการเรียนรู้ต้องดำเนินการต่อไป
↑1 | Lannon, C. (2018). Informal Learning: How Care Providers Can Engage in Learning Outside of the Classroom. Honors Senior Capstone Projects, 36. https://scholarworks.merrimack.edu/honors_capstones/36 รศ.ดร.ชูเกียรติ ลีสุวรรณ์. (2019, May 24). Informal learning ถูกมองข้าม เรื่องเสียโอกาสในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของคนไทย. |
---|---|
↑2 | Chand, R., & Narain, S. (2022, March 03). Informal learning for Children-the way ahead. ETHealthworld. |
↑3 | Care, E., Kim, H., Vista, A., & Anderson, K. (2018). Education system alignment for 21stcentury skills. Brookings. |
↑4 | ภูเบศร์ และคณะ. (2563). โลกที่ 3 ของซี- แอลฟา. สถาบันวิจัยประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล. |
↑5 | 7 จังหวัดหัวเมือง คือ 7 จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดรองลงมาจากกรุงเทพฯ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, เชียงใหม่, บุรีรัมย์, อุดรธานี, และนครศรีธรรมราช |
↑6 | แม้ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2022 แสดงผลว่าประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์มากถึง 1,591 แห่งทั่วประเทศ แต่เมื่อจำแนกประเภทพิพิธภัณฑ์แล้วจะเห็นว่าพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่นั้นอยู่กับวัดและสถานศึกษา ซึ่งมีจำนวน 415 และ 318 แห่งตามลำดับ |
↑7 | เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เล่มที่ 6 |
↑8 | วัฒนชัย วินิจจะกูล. (2021, December 22). ห้องสมุดยุคใหม่ พื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้. The Kommon. |
↑9 | ดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ห้องสมุด Dokk1 เมืองอาร์ฮุส (Aarhus) ประเทศเดนมาร์ก |
↑10 | ดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ห้องสมุด Oodi เมืองเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์ |
↑11 | วัฒนชัย วินิจจะกูล. (2021, December 24). เปลี่ยนโลกการเรียนรู้ของไทยให้ทันโลก. The Kommon. |