Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the ultimate-addons-for-gutenberg domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /sites/101pub.org/wordpress/wp-includes/functions.php on line 6114

Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the wordpress-seo domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /sites/101pub.org/wordpress/wp-includes/functions.php on line 6114
งบประมาณไทย จ่ายไปที่ไหนบ้าง? - 101 PUB

งบประมาณไทย จ่ายไปที่ไหนบ้าง?

“76 จังหวัดได้งบประมาณรวมกันน้อยกว่ากรุงเทพฯ กว่าครึ่งหนึ่ง ท้องถิ่นจัดสรรงบได้เองเพียง 7%” เป็นหนึ่งประโยคที่ใช้สรุปการกระจายงบประมาณของไทย ซึ่งสะท้อนคุณภาพการกระจายอำนาจของไทยที่ดำเนินมา 23 ปี

การกระจายอำนาจของไทยเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นมาโดยตลอด อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังถูกจำกัดกรอบไว้โดยรัฐบาลส่วนกลางและภูมิภาค นายกท้องถิ่นไม่สามารถบริหารบุคลากรของตนเองได้เองโดยอิสระ และงบประมาณของท้องถิ่นยังคงมีใช้อย่างจำกัดจำเขี่ย ไม่สามารถให้บริการและลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพหากไม่สามารถเข้าถึงงบของรัฐบาลส่วนกลางหรืองบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่ดูแลโดยผู้ว่าราชการจังหวัด

101 PUB Policy Flash ชิ้นนี้ชวนทุกท่านสำรวจการกระจายตัวของงบประมาณไทยลงพื้นที่จังหวัด ซึ่งเป็นข้อมูลของสำนักงบประมาณ และสำนักงบประมาณของรัฐสภา ที่แสดงให้เห็นถึงการกระจุกตัวของงบประมาณและอำนาจการตัดสินใจใช้งบประมาณที่เป็นอุปสรรคใหญ่ล็อกศักยภาพของท้องถิ่นไทย และช่วยรักษาสถานะความสำคัญของจังหวัดใหญ่และราชการส่วนภูมิภาคเอาไว้

งบประมาณกว่า 2 ใน 3 ลงในกรุงเทพฯ

สำนักงบประมาณได้ทำการจำแนกงบประมาณเพื่อดูว่างบประมาณของไทยลงไปยังพื้นที่แต่ละจังหวัดมากน้อยเพียงใด ซึ่งสามารถจำแนกตามจังหวัดได้ 2,510,898 ล้านบาท หรือราว 81% ของงบประมาณทั้งหมด [1]งบประมาณไทยปี 2022 มีจำนวนทั้งหมด 3,100,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงบกลางที่ไม่ได้แยกตามจังหวัด 587,409 ล้านบาท และอีก 1,692 … Continue reading

กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่รับงบประมาณมากที่สุด คือ 1,704,116 ล้านบาท คิดเป็น 68% ขณะที่ อีก 76 จังหวัดที่เหลือได้รับงบประมาณรวมกันเพียง 806,782 ล้านบาท หรือ 32% ซึ่งน้อยกว่างบประมาณที่ลงในกรุงเทพฯ กว่าครึ่งหนึ่ง (ภาพที่ 1) เพราะฉะนั้น งบประมาณกว่า 2 ใน 3 ของงบประมาณกระจุกตัวถูกตัดสินใจอยู่ในกรุงเทพ

การกระจายงบประมาณตามจังหวัด
ภาพที่ 1: การกระจายงบประมาณตามจังหวัด

อย่างไรก็ดี งบประมาณมากถึง 216,370 ล้านบาท หรือ 9% ของงบประมาณนี้ ถูกจัดสรรไปที่นนทบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการจำนวนมากของไทย และหากนับรวมงบประมาณที่ลงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้ง 5 จังหวัด จะพบว่าได้งบประมาณมากถึง 1,981,005 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นงบประมาณ 79% 

ดังนั้น งบประมาณอีก 529,894 ล้านบาทถูกแบ่งกันใน 71 จังหวัดที่เหลือ เฉลี่ยแห่งละ 7,463 ล้านบาทเท่านั้น

งบบุคลากร 97% อยู่ในกรุงเทพและนนทบุรี

งบบุคลากรของไทยมีความกระจุกตัวสูงที่สุด ซึ่งสะท้อนความเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ของไทย งบบุคลากรในปี 2022 ตามข้อมูลของสำนักงบประมาณ มีจำนวน 621,375 ล้านบาท แต่ภาพที่ 2 แสดงให้เห็นว่างบประมาณมากถึง 486,389 ล้านบาท หรือ 78% ลงไปที่กรุงเทพมหานคร และงบประมาณอีก 115,128 ล้านบาท คิดเป็น 19% ถูกใช้เป็นงบบุคลากรในจังหวัดนนทบุรี สองส่วนนี้รวมกันคิดเป็น 97% ของงบบุคลากร งบบุคลากรอีก 11,547 ล้านบาทยังเป็นส่วนที่อยู่ในงบกลางซึ่งไม่ได้จำแนกจังหวัด ดังนั้น จังหวัดที่เหลือจึงมีงบบุคลากรเพียง 8,311 ล้านบาท หรือ 1.3% เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม งบประมาณอุดหนุนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถูกบันทึกในส่วนกลางเป็นเงินอุดหนุน แต่แท้จริงแล้วยังถูกแตกออกมาเป็นงบบุคลากร งบลงทุน งบดำเนินงาน ซึ่งหากจำแนกออกมาแล้ว ภาพการกระจุกตัวของงบบุคลากรจะลดลงเล็กน้อย กล่าวคือ อยู่ในกรุงเทพฯ และนนทบุรีประมาณ 80% และอยู่ในจังหวัดอื่นที่เหลือราว 20% ใกล้เคียงกับสัดส่วนของกำลังคนในส่วนกลางและภูมิภาคต่อกำลงคนในท้องถิ่น

การกระจุกตัวของงบบุคลากร
ภาพที่ 2: การกระจุกตัวของงบบุคลากร

จังหวัดใหญ่ยิ่งได้งบมาก

พื้นที่ที่ได้รับงบประมาณมากเป็นเมืองใหญ่บริเวณกรุงเทพและหัวเมืองตามต่างจังหวัด ซึ่งมักจะเป็นศูนย์รวมของราชการภูมิภาค โดยมี 15 จังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากกว่า 10,000 ล้านบาท ดังภาพที่ 3

จังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากกว่า 10,000 ล้านบาท
ภาพที่ 3: จังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากกว่า 10,000 ล้านบาท

101 PUB วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างงบประมาณกับคุณลักษณะของจังหวัด พบว่า งบประมาณมักจะลงไปที่จังหวัดใหญ่ กรุงเทพฯ และนนทบุรีได้งบประมาณมากจนเป็น outlier ของชุดข้อมูลไปแล้ว แต่สำหรับจังหวัดอื่นๆ งบประมาณลงพื้นที่มีความสัมพันธ์กับจำนวนประชากรและขนาดเศรษฐกิจอย่างมาก แต่การจัดงบประมาณไม่ค่อยสัมพันธ์กับรายได้ต่อหัวของประชากรมากนักและยังมีค่าไปในทางบวก แปลว่าจังหวัดที่รวยมักจะได้รับงบประมาณมากกว่า ดังข้อมูลในภาพที่ 4

ดังนั้น งบประมาณที่ลงกรุงเทพฯ นนทบุรี รวมถึงจังหวัดใหญ่ แสดงให้เห็นว่าอำนาจการตัดสินใจในงบประมาณยังค่อนข้างรวมศูนย์อยู่มาก และช่วยรักษาสถานะความสำคัญของจังหวัดใหญ่ต่อไป

ค่าสหสัมพันธ์ของงบประมาณลงพื้นที่จังหวัดและคุณลักษณะของจังหวัด
ภาพที่ 4: ค่าสหสัมพันธ์ของงบประมาณลงพื้นที่จังหวัดและคุณลักษณะของจังหวัด

ท้องถิ่นจัดงบตัวเองแค่ 7%

งบประมาณที่ลงไปตามจังหวัด 76 จังหวัด มูลค่า 806,782 ล้านบาทในปี 2022 นอกจากจะมีปริมาณเงินไม่สูงแล้ว ยังถูกรวมศูนย์ในอำนาจการตัดสินใจใช้งบประมาณด้วย เพราะผู้จัดงบประมาณส่วนใหญ่นั้นยังเป็นราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งควบคุมงบประมาณ 93% ในขณะที่ท้องถิ่นควบคุมงบประมาณ 7% (ภาพที่ 5) 

อำนาจการจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่จังหวัด
ภาพที่ 5: อำนาจการจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่จังหวัด

งบประมาณ 733,123 ล้านบาท หรือ 91% เป็นงบที่ลงไป 76 จังหวัดก็จริง แต่เป็นของกระทรวงต่างๆ ซึ่งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงและราชการส่วนภูมิภาคควบคุมงบประมาณ แน่นอนว่างบประมาณจำนวนมากจะถูกกระจายไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดับย่อย คือ เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผ่านทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย แต่นายกเทศมนตรีและนายก อบต. ไม่สามารถจัดการงบประมาณของตนเองได้อย่างเต็มที่ตามโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณเช่นนี้

งบประมาณ 17,411 ล้านบาท หรือ 2% ถูกจัดสรรตามงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ซึ่งเป็นงบเสริมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่อยู่ในอำนาจบริหารจัดการของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งยังเป็นราชการส่วนภูมิภาค ที่ต้องรับผิดชอบต่อกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่

งบประมาณที่เหลืออีก 56,248 ล้านบาท หรือ 7% เป็นส่วนที่นายกท้องถิ่นสามารถจัดการได้เอง อย่างไรก็ตาม งบประมาณท้องถิ่นจำนวนมากยังถูกใช้เพื่อทำงานฝากจากรัฐบาลส่วนกลาง นอกจากนี้ นายกท้องถิ่นยังต้องให้การสนับสนุนการดำเนินงานของส่วนกลางและภูมิภาคอีกด้วย อาทิ การอุดหนุนการจัดกิจกรรมของผู้ว่าราชการจังหวัด การอุดหนุนการประปาส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อขยายเขตการให้บริการ ซึ่งข้อมูลตามสำนักงบประมาณยังไม่สามารถบอกได้ว่างบประมาณที่ท้องถิ่นจ่ายกลับมาให้ส่วนกลางนั้นมีมากน้อยเพียงใด

การกระจายอำนาจบริหารจัดการงบประมาณที่ผ่านมาไม่ใช่การกระจายอำนาจที่แท้จริง ศักยภาพของท้องถิ่นจึงยังถูกล็อกเอาไว้ด้วยราชการส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งต้องได้รับการปลดล็อกเพื่อให้ท้องถิ่นทำงานตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเต็มความสามารถมากยิ่งขึ้น

ตอนนี้ประเทศไทยมีการรณรงค์ 2 แคมเปญที่ช่วยเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่นมากขึ้น คือ การเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งประเทศต้องมาจากการเลือกตั้ง เหมือนกับกรุงเทพมหานคร ผ่าน Change.org/WeAllVoters แม้จะยังไม่กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณและอำนาจการตัดสินใจมากนัก แต่ก็จะช่วยทำให้งบประมาณตามจังหวัดตอบสนองต่อประชาชนในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่แคมเปญปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า https://progressivemovement.in.th/campaign-decentralization ต้องการให้ทำประชามติรายจังหวัดเพื่อให้แต่ละจังหวัดตัดสินใจเองว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่ รวมถึงการยุบราชการส่วนภูมิภาคที่ซ้ำซ้อนกันกับท้องถิ่น และยังกำหนดให้มีการแบ่งงบประมาณให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการเองได้มากยิ่งขึ้นด้วย 

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้สมัครที่มีศักยภาพหลายท่านที่นำเสนอนโยบายที่สร้างสรรค์พร้อมพัฒนากรุงเทพฯ ให้ดียิ่งขึ้น แม้กรุงเทพฯ จะมีข้อจำกัดในเชิงอำนาจอยู่ไม่น้อย ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะกรุงเทพฯ ยังมีอำนาจตัดสินใจทางงบประมาณและมีอิสระในการดำเนินงานมากกว่าที่อื่นมาก สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในต่างจังหวัดไม่ได้เลยหากยังไม่มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น

References
1 งบประมาณไทยปี 2022 มีจำนวนทั้งหมด 3,100,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงบกลางที่ไม่ได้แยกตามจังหวัด 587,409 ล้านบาท และอีก 1,692 ล้านบาทเป็นงบประมาณที่จ่ายไปยังต่างประเทศ ข้อมูลการจำแนกงบประมาณลงพื้นที่จังหวัดของสำนักงบประมาณยังมีข้อจำกัด เช่น การลงทุนระบบในส่วนกลางที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั่วประเทศจะยังถูกบันทึกเป็นงบกระทรวงที่ลงในกรุงเทพ หรืองบประมาณบางส่วนถูกใช้เพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศแต่ยังถูกบันทึกเป็นงบในประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวยังสามารถสะท้อนเส้นทางอำนาจของการจัดสรรงบประมาณระดับประเทศได้ค่อนข้างดี

วิจัย/เขียน

ฉัตร คำแสง

สร้างสรรค์ภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล

บทความที่เกี่ยวข้อง

ประเมินสถานะการกระจายอำนาจ: 2 ทศวรรษที่ยังไปไม่ถึงเป้า

101 PUB ชวนสำรวจสถานะของการกระจายอำนาจท้องถิ่นในประเทศไทยในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาว่ามีพลวัตเป็นอย่างไรและมีปัญหาใดบ้างที่รอการแก้ไขเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

ส่องงบลงทุน 434,400 ล้านบาท ปี 2566: ลงทุนอะไรบ้าง? ตอบโจทย์ความท้าทายของไทยหรือไม่?

101 PUB พาสำรวจงบลงทุนในปีงบประมาณ 2566 ว่ารัฐบาลตั้งงบลงทุนตามยุทธศาสตร์อย่างไรและแท้จริงแล้ว งบลงทุนเหล่านี้จัดหาสินทรัพย์อะไร นำไปสู่บริการสาธารณะ หรือศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

รัฐสวัสดิการ: ของข้าราชการ vs ของประชาชน

งบประมาณรัฐสวัสดิการของประชาชนยังคงไม่สามารถตามทันรัฐสวัสดิการของราชการ รัฐบาลไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อเพิ่มสวัสดิการตามที่เคยหาเสียงไว้เมื่อปี 2562 แม้จะเป็นการจัดงบครั้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.