บ้านไม่ใช่เซฟโซนสำหรับทุกคน: เข้าใจปัญหาพื้นที่ปลอดภัยผ่านแบบสำรวจเยาวชน 2022

ประเด็นสำคัญ

  • 7 ปีหลัง ความรุนแรงภายในครอบครัวภาพรวม และความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น โดย 32.2% ของคดีความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนเกิดในบ้าน ทั้งนี้การเข้าใจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวผ่านสถิติยังมีปัญหาอยู่มาก เนื่องจากการตกสำรวจและการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ แต่ไม่บูรณาการ 

  •  เยาวชน 6.7% รู้สึกบ้านไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็น LGBTQ+ ที่อยู่กับพ่อหรือแม่คนเดียว นอกจากนั้นปัญหาที่อยู่อาศัยและการถูกคุกคามยังส่งผลต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัยด้วย 

  • เมื่อเยาวชนที่บ้านไม่ปลอดภัยมีปัญหาชีวิต มักเลือกปรึกษาเพื่อนหรืออินเทอร์เน็ตในสัดส่วนที่มากกว่าเยาวชนที่บ้านปลอดภัย เมื่อพิจารณาถึงความเชื่อถือต่อคนรอบตัวจะพบว่า เยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยเชื่อถือต่อคนรอบตัวน้อยกว่าเยาวชนที่บ้านปลอดภัย 

‘บ้าน’ นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยให้ผู้คนได้พักผ่อนในเชิงกายภาพ ยังมีความหมายแฝงในการเป็นพื้นที่ให้ความมั่นคง ความอบอุ่น ความสบายใจแก่ผู้อยู่อาศัยร่วมบ้านเดียวกัน และที่สำคัญคือยังเป็นสถานที่ที่ ‘เด็กและเยาวชน’ ใช้ชีวิตและเติบโตขึ้นมา

แต่ในความเป็นจริง บ้านอันควรเป็นสถานที่ที่ทำให้เยาวชนรู้สึกปลอดภัย กลับยังไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน บางบ้านมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุอาชญากรรมภายในบ้าน หรือบางบ้านก็มีปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. ชวนทำความเข้าใจปัญหาความไม่ปลอดภัยภายในบ้านของเยาวชน ความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาที่อยู่อาศัย/ประสบการณ์การถูกคุกคาม ต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัยภายในบ้าน และความเชื่อมั่นในผู้คนรอบตัวที่แตกต่างกันระหว่างเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านของตนปลอดภัย/ไม่ปลอดภัย ผ่านผลสำรวจเยาวชน 2022 ของ คิด for คิดส์[1]ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา และสรวิศ มา. (2022). ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022.

เด็กและเยาวชนเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น

จากสถิติการให้บริการสายด่วน 1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบว่าในช่วง 7 ปีหลัง (ปีงบประมาณ 2016 – 2022) เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นจาก 1,578 เป็น 2,233 ราย ส่วนเหยื่อที่เป็นเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มแบบเดียวกับภาพรวมคือเพิ่มจาก 768 เป็น 896 ราย (ภาพที่ 1) เมื่อแยกประเภทความรุนแรงที่เกิดกับเด็กและเยาวชนจะพบว่า ส่วนมากถูกทำร้ายร่างกายโดยคนในครอบครัว รองลงมาคือถูกคุกคามทางเพศ (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 1: จำนวนเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ปีงบประมาณ 2016 – 2022
ที่มา: ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 พม.
เด็กและเยาวชนเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น
ภาพที่ 2

เมื่อพิจารณาจากสถานที่ที่เกิดคดีความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนจากข้อมูลของศูนย์ติดตามเหตุอาชญากรรมและความรุนแรง (MOVE)[2]ข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรง ประเทศไทย 2559 – 2565. ที่เก็บจากฐานข้อมูลหนังสือพิมพ์ 5 สื่อ (บางกอกโพสต์, ข่าวสด, ไทยรัฐ, ผู้จัดการ และมติชน) พบว่า คดีความรุนแรงที่เกิดกับเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 0-24 ปี 42.0% เกิดขึ้นในพื้นที่โล่ง เช่น ถนน ตามด้วย 32.2% เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัว (ครอบคลุมถึงที่อยู่อาศัย) และ 10.9% เกิดขึ้นที่แหล่งการค้า (ภาพที่ 3) ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ‘บ้าน’ ที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย กลับเป็นสถานที่ที่เกิดเหตุความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2

ภาพที่ 3: สัดส่วนคดีความรุนแรงที่เกิดกับเด็กและเยาวชนอายุ 0 – 24 ปี
ที่มา: ศูนย์ติดตามเหตุอาชญากรรมและความรุนแรง (MOVE)

หนึ่งในข้อจำกัดของข้อมูลความรุนแรงภายในครอบครัวในไทย คือหน่วยงานรัฐหรือภาคประชาสังคมต่างๆ จะทราบเหตุและรายงานก็ต่อเมื่อมีผู้แจ้งเหตุความรุนแรงเท่านั้น จึงทำให้ตัวเลขน่าจะน้อยกว่าความเป็นจริงมาก จากสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 20 ปีขึ้นไปในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่ากลุ่มตัวอย่างกว่า 87.4% ไม่เคยขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาจากหน่วยงานหรือจากใครเลย[3]มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดผลสำรวจความรุนแรงในครอบครัวยุคโควิด พบ 3 ใน 4 ถูกกระทำซ้ำ มีเหล้าเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ ซึ่งกว่าร้อยละ 87 … Continue reading ถ้าอ้างอิงจากสัดส่วนนี้อาจตีความได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวจริง อาจมากกว่าตัวเลขที่รายงานจากหน่วยงานภาครัฐหรือภาคประชาสังคมเกือบ 8 เท่า

นอกจากปัญหาเรื่องที่มาของข้อมูลแล้ว อีกปัญหาของสถิติความรุนแรงในครอบครัวคือการเก็บแบบกระจายศูนย์ แต่ขาดการบูรณาการ ทำให้แต่ละหน่วยงานหรือประชาสังคมต่างฝ่ายต่างรายงานสถิติความรุนแรงของตนเอง ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลที่ต่างกัน จึงสรุปสถานการณ์ความรุนแรงภายในครอบครัวที่แท้จริงได้ยาก

เยาวชนไทย 6.7% รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ และอยู่กับพ่อหรือแม่คนเดียว

จากแบบสำรวจเยาวชน 2022 ของ คิด for คิดส์ พบว่าเยาวชน 6.7% รู้สึกว่าบ้านตนเองไม่ปลอดภัย[4]เยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านตนเองไม่ปลอดภัย หมายถึงเยาวชนที่รายงานว่าบ้านของตนเองปลอดภัยน้อยที่สุด, ปลอดภัยน้อย หรือปลอดภัยค่อนข้างน้อย เมื่อแบ่งกลุ่มตามเพศที่เยาวชนนิยามตนเอง จะพบว่ากลุ่ม LGBTQ+ มีสัดส่วนเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยสูงที่สุดคือ 10.5% (ผู้ชาย 6.3%, ผู้หญิง 5.6%) เมื่อแบ่งกลุ่มตามการอยู่อาศัยกับครอบครัวจะพบว่า กลุ่มเยาวชนที่อาศัยอยู่กับพ่อคนเดียวมีสัดส่วนเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยสูงที่สุดคือ 9.2% (อาศัยอยู่กับแม่คนเดียว 8.0%, อยู่แบบครอบครัวข้ามรุ่น 7.4%, อยู่กับพ่อและแม่ 4.9%) นอกจากนั้น หากพิจารณาเยาวชนตามเพศและการอยู่อาศัยร่วมกันจะพบว่า กลุ่ม LGBTQ+ ที่อยู่กับพ่อคนเดียว มีสัดส่วนเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยมากที่สุดคือ 18.7% (ตารางที่ 1)

 พ่อคนเดียวแม่คนเดียวข้ามรุ่น*พ่อและแม่รวม
LGBTQ+18.7%10.8%14.1%8.4%10.5%
ชาย8.2%6.2%6.8%4.9%6.3%
หญิง7.5%8.7%4.6%3.5%5.6%
รวม9.2%8.0%7.4%4.9%6.7%
ตารางที่ 1: สัดส่วนเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย แบ่งตามเพศและการอาศัยอยู่กับครอบครัว
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์ (2022)
หมายเหตุ: หมายถึงเยาวชนที่อาศัยอยู่กับ ลุง/ป้า/น้า/อา หรือ ปู่/ย่า/ตา/ยาย หรือทั้งคู่

ความรู้สึกไม่ปลอดภัยเกิดจากปัญหาที่อยู่อาศัยและการถูกคุกคาม

ที่อยู่อาศัยคือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นสำหรับชีวิต ในเชิงกายภาพ ที่อยู่อาศัยควรจะมีความปลอดภัยพื้นฐานต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งจากสภาพอากาศ ภัยธรรมชาติ หรือภัยคุกคาม หากที่อยู่อาศัยมีความปลอดภัยพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่บ้านด้วย สะท้อนจากผลสำรวจเยาวชน 2022 ที่พบว่าเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย 26.9% อยู่อาศัยในบ้านที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรง (10.4% ในกลุ่มเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัย) 30.1% รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน (9.1% ในกลุ่มเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัย) และ 40.1% ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวภายในบ้าน (16.8% ในกลุ่มเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัย)

นอกจากปัจจัยพื้นฐานทางกายภาพ อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่บ้านคือประสบการณ์การถูกคุกคามของเยาวชน โดยเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย 18.1% เคยถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ (เยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัย 5.8% เคยถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน) เยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย 39.6% เคยถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ (เยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัย 18.6% เคยถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ) (ภาพที่ 4)

ความรู้สึกไม่ปลอดภัยเกิดจากปัญหาที่อยู่อาศัยและการถูกคุกคาม
ภาพที่ 4

ปัจจัยที่อยู่อาศัยจะส่งผลต่อเยาวชนที่รายได้น้อยมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนประสบการณ์การถูกคุกคามเกิดขึ้นในทุกกลุ่มรายได้ กลุ่มเยาวชนรายได้น้อยและบ้านไม่ปลอดภัย มีสัดส่วนปัญหาของที่อยู่อาศัยมากกว่ากลุ่มรายได้อื่น โดย 40.6% มีโครงสร้างบ้านไม่แข็งแรง (รายได้ปานกลาง 32.8%, รายได้มาก 6.3%) 42.9% มีบ้านที่ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน (รายได้ปานกลาง 29.2%, รายได้มาก 6.3%) และ 46.3% ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวภายในบ้าน (รายได้ปานกลาง 44.0%, รายได้มาก 31.6%) (ภาพที่ 5) ส่วนประสบการณ์การถูกคุกคามแบ่งตามระดับรายได้เยาวชนจะพบว่า ส่งผลต่อเยาวชนทุกกลุ่มรายได้ไม่แตกต่างกันมาก (ภาพที่ 6)

ภาพที่ 5: สัดส่วนเยาวชนแต่ละฐานะที่มีปัญหาที่อยู่อาศัย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์ (2022)
หมายเหตุ: นับเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย, กลุ่มรายได้น้อย คือเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนระดับควินไทล์ 1 (20% แรก), กลุ่มรายได้ปานกลาง คือเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนระดับควินไทล์ 3 (20% กลาง) และกลุ่มรายได้มาก คือเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนระดับควินไทล์ 5 (20% สุดท้าย)
ภาพที่ 6: สัดส่วนเยาวชนแต่ละฐานะที่มีประสบการณ์การถูกคุกคาม
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์ (2022)
หมายเหตุ: นับเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย, กลุ่มรายได้น้อย คือเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนระดับควินไทล์ 1 (20% แรก), กลุ่มรายได้ปานกลาง คือเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนระดับควินไทล์ 3 (20% กลาง) และกลุ่มรายได้มาก คือเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนระดับควินไทล์ 5 (20% สุดท้าย)

เมื่อบ้านไม่ปลอดภัย เพื่อน/อินเทอร์เน็ต จึงเป็นที่พึ่งสำคัญ

เมื่อเยาวชนต้องเผชิญกับปัญหาชีวิตต่างๆ การมีที่ปรึกษาเพื่อรับฟังหรือหาวิธีแก้ปัญหาเป็นเรื่องสำคัญ จากผลสำรวจเยาวชน 2022 พบว่า เยาวชนในกลุ่มที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยเลือกที่จะปรึกษาปัญหาชีวิตกับพ่อแม่/ผู้ปกครอง น้อยกว่าเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัย แต่จะหันไปปรึกษาปัญหาชีวิตกับเพื่อนและอินเทอร์เน็ตแทน

เมื่อพิจารณาเพิ่มเติมถึงระดับความเชื่อมั่นต่อคนรอบตัว พบว่าเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยเชื่อมั่นในครอบครัว, เพื่อนสนิท, ครู/อาจารย์ และคนในชุมชน น้อยกว่าเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัย ซึ่งอาจสะท้อนถึงความรู้สึกที่ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นกับคนในครอบครัวซึ่งต่ำกว่ากันอย่างมาก ทั้งนี้ เยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยนั้นเชื่อมั่นในเพื่อนสนิทมากที่สุด แม้ว่าระดับความเชื่อมั่นจะไม่สูงเท่ากลุ่มเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัยก็ตาม (ภาพที่ 7)

เมื่อบ้านไม่ปลอดภัย เพื่อน/อินเทอร์เน็ต จึงเป็นที่พึ่งสำคัญ
ภาพที่ 7

ยกระดับระบบคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปรับเป้าหมาย สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลเยาวชนกลุ่มเสี่ยง

ในปัจจุบันการดูแลเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงต่อความรุนแรงในครอบครัวยังคงเป็นประเด็นท้าทายของหน่วยงานรัฐหรือภาคประชาสังคม ทั้งการเข้าถึงเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ครอบคลุม ไม่ทันการณ์ ขาดความคล่องตัวในการประสานงานระหว่างหน่วยงาน หรือภาระงานที่เยอะเกินไป คิด for คิดส์ จึงเสนอ 3 เป้าหมายในการปฏิรูปการดูแลเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง และ 3 เงื่อนไขที่จำเป็นต้องบรรลุเพื่อให้เป้าหมายเป็นจริงดังนี้ (ภาพที่ 8)

3 เป้าหมายหลัก ปฏิรูปกระบวนการดูแลเด็กและเยาวชน

การปฏิรูปกระบวนการดูแลเด็กและเยาวชนให้มีประสิทธิภาพ สามารถดูแลเด็กได้จริงควรตั้ง 3 เป้าหมายหลักคือ

  1. ปรับดุลอำนาจใหม่ เปิดช่องให้เด็กและเยาวชนเป็นโจทก์ฟ้องร้องได้: ในกฎหมายปัจจุบันระบุว่าคนที่เป็นลูกไม่สามารถฟ้องพ่อ/แม่ของตนเองได้ทั้งทางแพ่งและอาญา[5]ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, มาตรา 1562. ข้อห้ามดังกล่าวเพิ่มอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงภายในบ้าน ซึ่งต้องรอญาติหรืออัยการเป็นผู้ฟ้องแทน ซ้ำเติมวัฒนธรรมที่เด็กและเยาวชนมักจะไม่สามารถมีปากมีเสียงในครอบครัว
  2. ค้นหาและช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงเชิงรุก ไม่ให้ถูกกระทำซ้ำ: เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีแค่การดูแลเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงเชิงรับเท่านั้น กล่าวคือต้องรอให้เด็กและเยาวชนถูกกระทำความรุนแรงก่อนถึงจะได้รับการดูแล จึงไม่ครอบคลุมถึงเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงต่อความรุนแรงในครอบครัวแต่ยังไม่ถูกกระทำ
  3. ใส่ใจกับสภาพจิตใจเด็กและเยาวชนในทุกกระบวนการ: เด็กและเยาวชนที่เป็นเหยื่อความรุนแรง จะต้องผ่านการรายงานเหตุ สอบถามข้อมูล รักษาเบื้องต้น ประเมินความเสี่ยงของเด็กและเยาวชน หลังจากนั้นใช้วิธีการเฉพาะหน้าในการดูแลความปลอดภัย[6]กรมกิจการเด็กและเยาวชน. (2017). คู่มือปฏิบัติและข้อตกลงร่วมกัน เรื่อง การคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กในภาวะเสี่ยงและเป็นผู้เสียหายจากการละเมิด … Continue reading พวกเขาซึ่งเปราะบางอยู่แล้วอาจมีสภาพจิตใจย่ำแย่ลงไปหากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการสืบหาความจริงที่ลงรายละเอียดข้อมูลการกระทำผิด จึงจะต้องปรับวิธีการดูแลทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนรู้สึกเหมือนถูกกระทำซ้ำเติมจากระบบคุ้มครองเด็ก

3 เงื่อนไขจำเป็น สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง

การปฏิรูปกระบวนการดูและเด็กและเยาวชนจะสำเร็จได้ รัฐจำเป็นต้องบรรลุ 3 เงื่อนไขดังนี้

  1. กระจายอำนาจ วางกลไกดูแลในพื้นที่: เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในการดูแลเด็กและเยาวชน พร้อมวางกลไกดูแลพื้นที่ เพื่อให้ดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ร่วมมือกับชุมชนและประชาสังคมอย่างเป็นระบบ: เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถดูแลเด็กและเยาวชนได้อย่างทั่วถึง หากขาดความร่วมมือกับชุมชนหรือประชาสังคมที่เข้าใจพื้นที่นั้นๆ จึงควรร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ ชุมชน และประชาสังคม เพื่อให้ดูแลได้อย่างทั่วถึง สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่
  3. เติมความพร้อมทั้งบุคลากรและสถานที่ เพื่อให้ดูแลได้จริง: แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ผู้มีหน้าที่ดูแลเด็กและเยาวชนกระจายอยู่หลายสาขาอาชีพ โดยคาดหวังให้ช่วยดูแลเด็กและเยาวชนให้ได้มากที่สุด แต่ในทางปฏิบัติผู้มีหน้าที่คุ้มครองเด็กกลับถ่ายโอนงานดูแลเด็กและเยาวชนที่เป็นเหยื่อความรุนแรง ไปให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานด้านการดูแลเด็กและเยาวชนโดยตรง ทำให้ภาระงานของเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กมีมากเกินไป ไม่สามารถดูแลเด็กและเยาวชนได้อย่างเต็มที่[7]นพพรรษ ศิริ. (2018). ปัญหาเกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546. PAYAP UNIVERSITY JOURNAL24(2), 125–144.
ยกระดับระบบคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปรับเป้าหมาย สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลเยาวชนกลุ่มเสี่ยง
ภาพที่ 8

References
1 ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา และสรวิศ มา. (2022). ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022.
2 ข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรง ประเทศไทย 2559 – 2565.
3 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดผลสำรวจความรุนแรงในครอบครัวยุคโควิด พบ 3 ใน 4 ถูกกระทำซ้ำ มีเหล้าเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ ซึ่งกว่าร้อยละ 87 ไม่เคยขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด, สำนักข่าวไทยแลนด์พลัส, พฤศจิกายน 24, 2021.
4 เยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านตนเองไม่ปลอดภัย หมายถึงเยาวชนที่รายงานว่าบ้านของตนเองปลอดภัยน้อยที่สุด, ปลอดภัยน้อย หรือปลอดภัยค่อนข้างน้อย
5 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, มาตรา 1562.
6 กรมกิจการเด็กและเยาวชน. (2017). คู่มือปฏิบัติและข้อตกลงร่วมกัน เรื่อง การคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กในภาวะเสี่ยงและเป็นผู้เสียหายจากการละเมิด ละเลยทอดทิ้ง แสวงประโยชน์ และความรุนแรง. หน้า 59.
7 นพพรรษ ศิริ. (2018). ปัญหาเกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546. PAYAP UNIVERSITY JOURNAL24(2), 125–144.

อินโฟกราฟฟิก

รายงาน/บทวิเคราะห์ฉบับเต็ม

วิจัย/เขียน

กษิดิ์เดช คำพุช

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ตรวจก่อนเข้าปาก ย้อนถึงแปลงปลูก: ยกระดับความปลอดภัยอาหารด้วยการตรวจสอบย้อนกลับ

ภายหลังจากที่ตรวจพบสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท คนไทยต่างกังวลต่อความปลอดภัยของอาหารที่บริโภคกันทุกวัน สิ่งนี้นำมาสู่คำถามว่าระบบการตรวจคุณภาพอาหารตามท้องตลาดของไทยมีข้อบกพร่องอย่างไร? และจะทำอย่างไรที่จะยกระดับอาหารในประเทศไทยให้ปลอดภัยขึ้น?

ปราบมิจฯ ให้อยู่หมัด ต้องมอบหน้าที่ให้ธุรกิจร่วมรับผิดชอบ

ทำไมมิจฉาชีพยังลอยนวลหลอกหลอนคนไทยไม่เว้นวัน? แล้วต่างประเทศทำอย่างไรถึงปราบมิจฉาชีพได้อยู่หมัด?

ปรึกษาหัวใจกับใครก็เหมือนกัน? แนวทางกำกับมาตรฐานนักจิตวิทยาการปรึกษา-จิตบำบัดอย่างสมดุล

ปัญหาการอวดอ้างชื่อและล่วงละเมิดผู้รับบริการ เรียกร้องให้ต้องมีการกำกับนักจิตวิทยาการปรึกษา/จิตบำบัด แต่การสร้างมาตรฐานให้การดูแลหัวใจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.