Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the ultimate-addons-for-gutenberg domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /sites/101pub.org/wordpress/wp-includes/functions.php on line 6114

Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the wordpress-seo domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /sites/101pub.org/wordpress/wp-includes/functions.php on line 6114
ประเมินนโยบายเด่นพรรคการเมืองใหญ่ เตรียมไปเลือกตั้ง ’66 EP.1 พรรคพลังประชารัฐ + พรรครวมไทยสร้างชาติ - 101 PUB

ประเมินนโยบายเด่นพรรคการเมืองใหญ่ เตรียมไปเลือกตั้ง ’66 EP.1 พรรคพลังประชารัฐ + พรรครวมไทยสร้างชาติ

101 PUB

8 May 2023

ในการเลือกตั้งระดับชาติ 2566 พรรคการเมืองต่างหาเสียงด้วยนโยบายหลากหลาย ทุกพรรคต่างจูงใจและให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

แต่ละพรรคก็มีนโยบายเด่นที่เป็นจุดขายเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน ซึ่งมาจากอุดมการณ์ ฐานคิด และวิถีการดำเนินงานที่แตกต่างกัน บ้างก็แยกประเด็นเศรษฐกิจออกจากการเมือง บ้างก็มองว่าเป็นเนื้อเดียวกัน บ้างก็พยายามจัดการปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ในวันนี้ และบ้างก็พยายามวางฐานสู่การปรับปรุงในภาพใหญ่

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ 101 PUB ขอร่วมหยิบนโยบายเด่นของแต่ละพรรคการเมืองใหญ่มาประเมิน ดูว่านโยบายเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาหรือไม่ เหมาะสมบริบทประเทศไทยมากเพียงใด และวิธีการที่ใช้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพแล้วหรือยัง เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง โดยพิจารณาจากนโยบาย บนฐานคิดทางวิชาการ

พวกเราหยิบยก 2 นโยบายเด่นจากแต่ละพรรคมาวิเคราะห์ (ซึ่งอาจมีส่วนที่ทับซ้อนกับพรรคอื่นด้วย) และแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ตอน ตอนละ 2 พรรค:

  • EP.1 พรรคพลังประชารัฐ + พรรครวมไทยสร้างชาติ
  • EP.2 พรรคประชาธิปัตย์ + พรรคภูมิใจไทย
  • EP.3 พรรคเพื่อไทย + พรรคก้าวไกล

พรรคพลังประชารัฐ

‘ลดราคาน้ำมัน’ รัฐต้องเสียงบประมาณเดือนละ 3 หมื่นล้านบาท แต่ครัวเรือนยิ่งรวยยิ่งได้ประโยชน์

นโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่มีการพูดถึงในเวทีดีเบตต่างๆ คือการประกาศลดราคาน้ำมัน ทั้งเบนซินและดีเซล เป็นเวลา 1 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยจะลดราคาน้ำมันเบนซินลงลิตรละ 18 บาท และลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 6.3 บาท ด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีบำรุงท้องถิ่น และการหักเงินส่งกองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน

มาตรการอุ้มราคาน้ำมันดีเซลที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งรัฐบาลประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2565 ใช้งบประมาณ (ซึ่งรวมถึงการสูญเสียรายได้ภาษีของรัฐ) มากถึง 764 ล้านบาทต่อวัน หรือ 23,252 ล้านบาทต่อเดือน[1]ดูเพิ่ม ฉัตร คำแสง, “5 คำถาม-คำตอบเรื่องวุ่นๆ ของการอุ้มดีเซล,” 16 มีนาคม 2022. โดยคำนวณจากอัตราการใช้น้ำมันโดยเฉลี่ยของประเทศในปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 47.6 ล้านลิตรต่อวัน[2]สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. 2564. สถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้าของปี 2564.

แต่ตัวเลขเงินอุดหนุนนี้จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นหากดำเนินนโยบายอุดหนุนที่ครอบคลุมมากกว่าเดิม ลดราคามากกว่าเดิม และมีการใช้งานมากกว่าเดิม เพราะในปี 2565 อัตราการใช้น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 3.9% คิดเป็นปริมาณเฉลี่ย 30.2 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่น้ำมันดีเซลมีปริมาณการใช้งานสูงขึ้นถึง 15.7% หรือเฉลี่ย 73.1 ล้านลิตรต่อวัน[3]สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. 2566. สถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้าของปี 2565.

หากคำนวณเงินอุดหนุนที่จะต้องใช้ โดยอิงจากข้อเสนอของพลังประชารัฐที่ตั้งเป้าลดราคาน้ำมันเบนซินลง 18 บาทต่อลิตร และลดราคาน้ำมันดีเซลลง 6.3 บาทต่อลิตร และอัตราการใช้น้ำมันเฉลี่ยในปี 2565 พบว่า จะต้องใช้เงินอุดหนุนมากถึง 1,011 ล้านบาทต่อวัน หรือ 30,763 ล้านบาทต่อเดือน ตัวเลขดังกล่าวมีขนาดใหญ่ถึง 12% ของงบประมาณประจำปี แต่พรรคพลังประชารัฐกลับอ้างว่านโยบายนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐในการดำเนินนโยบาย

การลดอัตราการเก็บภาษีและจำนวนเงินที่เก็บเข้ากองทุนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างรัดกุม เนื่องจากปัจจุบันเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ยังอยู่ในสถานะติดลบ 79,327 ล้านบาท รวมถึงรายได้ของรัฐที่จะหายไปยังกระทบกับการใช้จ่ายภาครัฐในส่วนอื่น หรือกระทั่งกระทบต่อประสิทธิภาพทางการคลังและโอกาสในการกู้ยืมในอนาคตที่จะลดน้อยลง

ประเภทน้ำมันปริมาณการใช้ (ล้านลิตร)ภาระงบประมาณ (ล้านบาท)
เฉลี่ยต่อวันเฉลี่ยต่อเดือนเฉลี่ยต่อวันเฉลี่ยต่อเดือน
เบนซิน30.2918.6545.716,599.1
ดีเซล73.12,223.5465.614,163.7
รวม  1,011.330,762.8

โดยทั่วไป มาตรการอุ้มราคาน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล มักจะมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนของภาคขนส่งและลดค่าครองชีพให้กับประชาชน อย่างไรก็ดี แนวทางการลดราคาน้ำมันที่ผ่านมา รวมทั้งที่พรรคพลังประชารัฐนำเสนอนั้นกลับทำให้ครัวเรือนร่ำรวยได้รับประโยชน์มากที่สุด

จากข้อมูลสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของไทย สัดส่วนผู้ใช้น้ำมันเบนซินค่อนข้างคงที่อยู่ที่ราวร้อยะ 80-85% ในทุกกลุ่มรายได้ แต่สัดส่วนผู้ใช้งานน้ำมันดีเซลมักเพิ่มขึ้นตามรายได้ต่อหัวของครัวเรือน โดยในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่สุด 20% มีสัดส่วนผู้ใช้น้ำมันดีเซล 20% เท่านั้น ขณะที่กลุ่มครัวเรือนรายได้มากที่สุด 20% มีสัดส่วนผู้ใช้น้ำมันดีเซล 30%

ในด้านค่าใช้จ่ายพบว่า ครัวเรือนรายได้สูงจ่ายค่าน้ำมันเบนซินเฉลี่ย 1,300-2,100 บาท/เดือน ขณะที่ครัวเรือนรายได้น้อยมีค่าใช้จ่ายราว 490-515 บาท/เดือนเท่านั้น สำหรับน้ำมันดีเซล ครัวเรือนรายได้สูงมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 600-800 บาทต่อเดือน แต่ครัวเรือนรายได้น้อยมีค่าใช้จ่ายน้ำมันดีเซลเพียง 220-270 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ดังนั้น ครัวเรือนรายได้น้อยมีการใช้น้ำมันน้อยกว่าครัวเรือนรายได้สูงถึงราว 3-4 เท่า

ด้วยโครงสร้างการใช้พลังงานเช่นนี้ การใช้งบประมาณเพื่อลดราคาน้ำมันจึงเป็นนโยบายถดถอย (regressive) กล่าวคือ ยิ่งรวยยิ่งได้รับประโยชน์ การใช้เงินอุดหนุนค่าน้ำมันทุกๆ 100 บาท จะลงไปที่ครัวเรือนรายได้น้อยที่สุด 20% เพียง 11 บาท แต่จะไปลงกับครัวเรือนรายได้สูงสุด 20% ถึง 36 บาท

เนื่องจากการดำเนินนโยบายย่อมกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณส่วนอื่น จึงมีค่าเสียโอกาสในการดำเนินนโยบายที่มีลักษณะก้าวหน้า ที่ทำให้คนยากจนได้ประโยชน์มากกว่าคนรวย ดังเช่นนโยบายการคุ้มครองทางสังคม นโยบายเงินโอนสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการสร้างสินค้าสาธารณะของรัฐ ดังนั้น การจูงใจประชาชนด้วยนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันจะไม่ตอบโจทย์การใช้งบประมาณภาครัฐ

‘ปฏิรูปที่ดิน คืนสิทธิให้ประชาชน’ นโยบายเก่า แต่ก็ยังไม่ชัดเจน

หนึ่งในนโยบายเด่นที่พรรคพลังประชารัฐนำเสนอในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้คือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่ดิน โดยเฉพาะการคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาข้อพิพาทในที่ดิน ซึ่งหลายพรรคการเมืองมองเห็นปัญหานี้ตรงกัน แต่นโยบายปฏิรูปที่ดินของพลังประชารัฐก็ยังค่อนข้างคลุมเครือว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาอันซับซ้อนอย่างการถือครองที่ดินได้จริงหรือไม่

พลังประชารัฐเสนอนโยบายแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินระหว่างรัฐและประชาชนในหลายพื้นที่ ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ราชพัสดุ และที่ดิน ส.ป.ก. ผ่านการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชน พิสูจน์สิทธิและเร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชน ซึ่งนับว่าไม่ใช่นโยบายใหม่ เพราะได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อมาทำหน้าที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2558 โดยมีคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน ซึ่งพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก็นั่งตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการฯ มาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม หากประเมินจากผลงานที่ผ่านมาพบว่า คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติยังไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน คณะกรรมการที่ดินฯ ตั้งเป้าออกหนังสืออนุญาตครอบครองและใช้ที่ดินอย่างถูกต้องจำนวน 1.589 ล้านไร่ แต่ในเวลา 6 ปี (ปี 2558-2564) ดำเนินการสำเร็จไปเพียง 687,000 ไร่ หรือยังไม่ถึงครึ่งของเป้าหมายที่ตั้งไว้ หากนับเป็นจำนวนคน มีเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือในระยะเวลานี้เพียง 60,000 รายจากทั้งหมด 1.1 ล้านรายที่ประสบปัญหาที่ดินทับซ้อนกับรัฐและขาดแคลนที่ดินทำกิน[4]https://greennews.agency/?p=24238

หากพรรคพลังประชารัฐที่เคยมีผลงานในคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติยังคงดำเนินการจัดสรรที่ดินและพิสูจน์สิทธิด้วยประสิทธิภาพในการทำงานเช่นนี้ กระบวนการคืนสิทธิในที่ดินให้กับประชาชนอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี

นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐก็นำเสนอนโยบายเปลี่ยนเอกสารสิทธิ์ให้กลายเป็นโฉนดด้วย ซึ่งมีหลายพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายคล้ายคลึงกัน ที่จริงแล้ว นโยบายดังกล่าวถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะเอกสารสิทธิ์ อาทิ ส.ป.ก. เป็นเหมือน ‘เอกสารสิทธิ์ชั้นสอง’ ที่สร้างข้อจำกัดหลายประการให้กับเกษตรกร ทั้งไม่สามารถเปลี่ยนพื้นที่ทำกินไปทำการเกษตรประเภทอื่นได้ ไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือ (ยกเว้นถ่ายโอนตามมรดกให้กับทายาทตามกฎหมาย) ไม่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ส่งผลให้สิทธิในการถือครองที่ดินของเกษตรกรไทยอยู่บนความไม่แน่นอน

ทว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ได้นำเสนอแนวทางการเปลี่ยนเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ทราบว่าจะออกแบบกระบวนการเปลี่ยนโฉนดอย่างไรให้รัดกุมและรับประกันได้ว่าสิทธิในการถือครองที่ดินจะตกอยู่ที่เกษตรกรยากจนที่ประสบปัญหาในการถือครองที่ดินจริงๆ

หากจะเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนดได้จริง จำเป็นต้องพิจารณาถึงเกณฑ์และเงื่อนไขหลายประการ โดยเฉพาะในกรณีที่ที่ดิน ส.ป.ก. ถูกเปลี่ยนมืออย่างผิดกฎหมายมาก่อน คือผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบันเป็นคนละคนกับผู้ถือเอกสารสิทธิ์ กรณีนี้ พรรคยังมีการบ้านหลายเรื่องที่ต้องคิดให้จบว่าจะเอาอย่างไร เช่น จะกำหนดให้ผู้มีสิทธิในการเปลี่ยนโฉนดต้องยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินของตนเองในระยะเวลาหนึ่งหรือไม่ หรือจะกำหนดเกณฑ์พิจารณาทรัพย์สินของผู้มีสิทธิเปลี่ยนโฉนดหรือไม่ อย่างไร รวมถึงว่าจะกำหนดเงื่อนไขให้โฉนดที่ดินที่ถูกเปลี่ยนมาแล้วสามารถซื้อขายได้ภายในระยะเวลากี่ปี เพื่อป้องกันไม่ให้การเปลี่ยนโฉนดที่ดินตกไปอยู่ในมือของนายทุนหรือเกษตรกรร่ำรวย

พรรครวมไทยสร้างชาติ

บัตรสวัสดิการพลัส’ ยกระดับสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเป็นเรื่องดี แต่ต้องแก้ปัญหารั่วไหล+ไม่เข้าเป้าให้ได้

พรรครวมไทยสร้างชาติ มีนโยบาย ‘บัตรสวัสดิการพลัส’ ซึ่งจะเพิ่มวงเงินใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากเดิม 200-300 บาท/คน/เดือน เป็น 1,000 บาท/คน/เดือน พร้อมให้สิทธิวงเงินฉุกเฉินอีก 10,000 บาท/คน[5]พรรครวมไทยสร้างชาติ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. และ พรรครวมไทยสร้างชาติ. นโยบายพรรค. (เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566) ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็เสนอนโยบายคล้ายคลึงกัน โดยเพิ่มวงเงินใช้จ่ายเป็น 700 บาท/เดือน และให้ประกันชีวิต 200,000 บาท/คน[6]พรรคพลังประชารัฐ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. และ พรรคพลังประชารัฐ. “อุตตม” ชูนโยบาย พปชร.เพิ่มประกันชีวิตบัตรประชารัฐ วงเงิน 200,000 … Continue reading

ความตั้งใจในการเพิ่มวงเงินโดยมุ่งเป้าให้กลุ่มผู้ยากจนเป็นเรื่องที่ดี ถ้าทำได้จะเป็นการใช้งบประมาณที่ตอบโจทย์และตรงจุด เพราะสามารถช่วยลดระดับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคมลงได้ และจะยังช่วยยกระดับรายได้ให้พวกเขาอย่างได้น้ำได้เนื้อ ให้สามารถตั้งตัวและหลุดจากกับดักความยากจนได้

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนคนจนอยู่ประมาณ 4.4 ล้านคนเท่านั้น (5.8 ล้านคน หากหักยอดเงินโอนของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ขณะที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐถูกแจกจ่ายออกไปจริงมากถึง 14.6 ล้านใบและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

หากบัตรจำนวนมากนี้สามารถโอบอุ้มครอบคลุมกลุ่มผู้ยากจนทั้งหมดของสังคมได้ ก็ยังถือว่านโยบายมีความสามารถในการช่วยเหลือผู้ยากจน แต่การคัดกรองในโครงการนี้ยังมีปัญหา ‘การรั่วไหลและไม่เข้าเป้า’ สูงมาก

เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์การรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 101 PUB พบการรั่วไหลไปสู่ผู้ไม่เข้าข่ายราว 20% ของบัตรที่แจกจ่ายออกไป และมีผู้เข้าข่าย 57% ที่ยังไม่ได้รับบัตร

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาด้วยเกณฑ์ความยากจน จะพบว่า 78% ของผู้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ใช่ผู้ยากจน และ 46% ของผู้ยากจนยังไม่ได้รับบัตร ซึ่งผู้ที่ยากจนที่สุดมักจะเป็นผู้ไม่สามารถเข้าถึงได้จริง เนื่องจากต้องจัดทำเอกสาร เดินทางไปยื่นใบสมัคร และเข้ารับการคัดกรอง

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังรั่วไหล+ไม่เข้าเป้า คนจนจริงราวครึ่งหนึ่งไม่ได้รับ

ภายใต้โครงสร้างการให้บัตรสวัสดิการแบบเดิมที่ยังมีการรั่วไหลและไม่เข้าเป้าเช่นนี้ จะทำให้การใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือคนกลุ่มเฉพาะดังที่เคยวาดหวังไว้ การเพิ่มวงเงินค่าใช้จ่ายเป็น 700-1,000 บาท/เดือน ทำให้งบประมาณภาครัฐจากระดับ 40,000-50,000 ล้านบาท/ปี เป็น 130,000-180,000 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ ข้อสังเกตหนึ่งคือเอกสารนโยบายที่รายงานต่อ กกต. พรรครวมไทยสร้างชาติรายงานตัวเลขเพียง 71,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งผิดไปมากกว่า 2 เท่า (ขณะที่เอกสารของพรรคพลังประชารัฐคำนวณภาระงบประมาณไว้ถูกต้อง)

หากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีตำแหน่งแห่งที่ในระบบสวัสดิการของไทย จะต้องมีการคัดกรองมุ่งเป้าสู่กลุ่มผู้ยากจนให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังควรใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการทำงานของราชการ ในการเชื่อมต่อฐานข้อมูลที่กระจัดกระจาย เพื่อค้นหา คัดกรอง และติดตามให้ความช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการคัดผู้ที่มีรายได้เกินเกณฑ์ออกให้ได้อย่างแม่นยำที่สุด (คลิกเพื่ออ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มของ 101 PUB)

‘คนละครึ่ง ภาค 2’ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มาผิดจังหวะ

พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอจะทำนโยบาย ‘คนละครึ่งภาค 2’ ต่อเพื่อกระตุ้นการบริโภคและเสริมกำลังซื้อให้กับร้านค้าขนาดเล็ก โดยภาครัฐร่วมจ่ายครึ่งหนึ่งสำหรับการบริโภคสินค้าและบริการทั่วไปวันละไม่เกิน 150 บาทแก่ประชาชนทั่วไปยกเว้นผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งโครงการภาค 2 นี้จะให้เงินอุดหนุนทั้งหมด 26 ล้านสิทธิ์ เฉลี่ยประมาณสิทธิ์ละ 1,500 บาท เป็นวงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท[7]พรรครวมไทยสร้างชาติ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. (เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566)

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของนโยบายเช่นนี้จะแปรผกผันกับสภาวะเศรษฐกิจในขณะที่ดำเนินการ ในช่วงที่ประชาชนขาดรายได้และต้องจำกัดการใช้จ่าย ดังเช่นตอนที่ใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น มาตรการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายมีศักยภาพในกระตุ้นการจับจ่ายและเศรษฐกิจได้จริง (เมื่อเทียบกับการไม่มีมาตรการ ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ไม่ตกต่ำจนเกินไป) ทว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวหรืออยู่ในภาวะปกติ แม้ว่าผู้บริโภคจะยังใช้จ่ายผ่านโครงการเหล่านี้อยู่ แต่ก็จะไปลดการใช้จ่ายในส่วนอื่นลง ในแง่หนึ่งก็ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภค แต่ถือว่าไม่ได้ผลในการกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจ

ตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) เป็นเครื่องมือมาตรฐานในการวัดประสิทธิภาพการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยวัดว่าการใช้งบประมาณกระตุ้นทุกๆ 1 บาทจะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจริงกี่บาท หากตัวคูณทางการคลังมีค่ามากกว่า 1 ถือว่าการใช้จ่ายมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่หากมีค่าน้อยกว่า 1 หมายความว่ามาตรการดังกล่าวไม่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้[8]ทั้งนี้ เนื่องจากมูลค่าเศรษฐกิจเป็นผลรวมของการบริโภค การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุน และการส่งออกสุทธิ … Continue reading

ตัวคูณทางการคลังของมาตรการคนละครึ่งเป็นเครื่องยืนยันชั้นดีว่านโยบายนี้จะไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจได้จริง ค่าตัวคูณทางการคลังของมาตรการคนละครึ่งรอบที่ 1-2 (ต.ค. 2563 – มี.ค. 2564) มีค่า 1.0 หมายความว่ามาตรการไม่ได้มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจแม้ว่าจะเป็นช่วงเศรษฐกิจซบเซาอย่างมากก็ตาม และในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเบื้องต้น แนวโน้มตัวคูณทางการคลังมีค่าลดลงต่อเนื่อง จนเหลือเพียง 0.8 ในรอบที่ 5 (ก.ย.-ต.ค. 2565)[9]แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศ ที่พบว่าตัวคูณทางการคลังในภาวะเศรษฐกิจปกติมีค่าน้อยกว่าในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ อาทิ Ramey, V. A. and … Continue reading

ยิ่งไปกว่านั้น โครงการคนละครึ่งในรอบที่ 5 ได้ลดวงเงินอุดหนุนต่อคนเหลือแค่ 800 บาทจากที่เคยสูงถึง 3,500-4,500 บาท แต่ผู้รับสิทธิ์ก็ยังใช้เงินอุดหนุนไม่เต็มวงเงิน (เฉลี่ยคนละ 757 บาท) และมีสิทธิ์ที่ไม่ถูกใช้อีกราว 2.48 ล้านสิทธิ์หรือร้อยละ 9.4 ของสิทธิ์ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากรอบก่อนๆ

ดังนั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติ[10]ธนาคารแห่งประเทศไทย. การบรรยายภาวะเศรษฐกิจในงานพบปะสื่อมวลชน 24 เดือนเมษายน 2023. (เข้าถึงเมื่อ 30 เมษายน 2566) ความจำเป็นและประสิทธิภาพของมาตรการย่อมลดลงไปอีก ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่ามาตรการเหล่านี้มีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่จะไม่ได้ใช้งบทำโครงการอื่นและต้นทุนทางการเงินที่สังคมต้องจ่ายคืนในอนาคต งานศึกษาของสำนักงานประมาณของรัฐสภา พบว่ามาตรการเงินโอนแก่ประชาชนทั่วไปมีตัวคูณ 0.94 เท่า น้อยกว่านโยบายเงินโอนสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีค่าอยู่ที่ 1.35 เท่า ซึ่งทำให้เห็นค่าเสียโอกาสที่ค่อนข้างชัดเจน[11]สำนักงานประมาณของรัฐสภา. คู่มือการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP โดยตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers). 2564. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566)

References
1 ดูเพิ่ม ฉัตร คำแสง, “5 คำถาม-คำตอบเรื่องวุ่นๆ ของการอุ้มดีเซล,” 16 มีนาคม 2022.
2 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. 2564. สถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้าของปี 2564.
3 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. 2566. สถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้าของปี 2565.
4 https://greennews.agency/?p=24238
5 พรรครวมไทยสร้างชาติ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. และ พรรครวมไทยสร้างชาติ. นโยบายพรรค. (เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566)
6 พรรคพลังประชารัฐ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. และ พรรคพลังประชารัฐ. “อุตตม” ชูนโยบาย พปชร.เพิ่มประกันชีวิตบัตรประชารัฐ วงเงิน 200,000 บาทต่อราย เดินหน้าตั้งกองทุนประชารัฐ ปลดภาระ สร้างรายได้ แก้หนี้ ให้ทุกคน. (เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566)
7 พรรครวมไทยสร้างชาติ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. (เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566)
8 ทั้งนี้ เนื่องจากมูลค่าเศรษฐกิจเป็นผลรวมของการบริโภค การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุน และการส่งออกสุทธิ การใช้จ่ายภาครัฐควรทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นแบบ 1:1 หากไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่นๆ
9 แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศ ที่พบว่าตัวคูณทางการคลังในภาวะเศรษฐกิจปกติมีค่าน้อยกว่าในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ อาทิ Ramey, V. A. and Sarah Zubairy. “Government Spending Multipliers in Good Times and in Bad: Evidence from US Historical Data,” Journal of Political Economy, vol. 126(2): 850-901. 2018
10 ธนาคารแห่งประเทศไทย. การบรรยายภาวะเศรษฐกิจในงานพบปะสื่อมวลชน 24 เดือนเมษายน 2023. (เข้าถึงเมื่อ 30 เมษายน 2566)
11 สำนักงานประมาณของรัฐสภา. คู่มือการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP โดยตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers). 2564. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566)

บทความที่เกี่ยวข้อง

การอุ้มดีเซล

5 คำถาม-คำตอบเรื่องวุ่นๆ ของการอุ้มดีเซล

ในวันที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแพง ประเทศไทยก็เข้าสู่วังวนของการอุ้มดีเซลอีกครั้ง เพื่อพยุงต้นทุนภาคการขนส่ง 101 PUB ชวนสำรวจ 5 คำถามและคำตอบเกี่ยวกับการอุ้มราคาพลังงานดีเซล

‘บัตรคนจน’ ที่คนจนจริงครึ่งหนึ่งเข้าไม่ถึง: 5 ปี นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

คนจนราวครึ่งหนึ่งยังเข้าไม่ถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่มีรั่วไหลไปอยู่ในมือผู้ไม่เข้าเกณฑ์ งบประมาณที่ใช้ไป 2.8 แสนล้านบาทจึงยังไม่เข้าเป้า

รัฐสวัสดิการ: ของข้าราชการ vs ของประชาชน

งบประมาณรัฐสวัสดิการของประชาชนยังคงไม่สามารถตามทันรัฐสวัสดิการของราชการ รัฐบาลไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อเพิ่มสวัสดิการตามที่เคยหาเสียงไว้เมื่อปี 2562 แม้จะเป็นการจัดงบครั้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.