‘เด็กคืออนาคตของชาติ’ ประโยคที่ทุกคนต่างถูกผู้ใหญ่กรอกหูแต่เด็ก
คำว่า ‘อนาคต’ นี่แหละที่ทำให้หลายครั้งเยาวชนออกมาสะท้อนความคิดของพวกเขา เพื่อหวังว่าอนาคตที่พวกเขาเป็นเจ้าของจะเป็นไปดั่งที่พวกเขาจินตนาการ ในใจลึกๆ หวังว่าผู้ใหญ่จะเข้าใจและรับฟังเขาอย่างที่บอกว่าพวกเขาคือ ‘อนาคต’
แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเยาวชนออกมาเรียกร้องด้วยสันติวิธี สิ่งที่พวกเขาได้รับกลับเป็น ‘การไม่รับฟัง’ , ‘การมองว่าไร้สาระ’ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ใหญ่ยังเลือกใช้ ‘การกดปราบด้วยความรุนแรง’ สภาวะดังกล่าวไม่ได้เกิดแค่สังคมไทย แต่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้เยาวชนต่างสิ้นหวังในระบอบการเมืองและอนาคตของประเทศ หลายคนจึงต้องการ ‘ย้ายประเทศ’ เพื่อไปหาดินแดนที่โอกาสและความฝันของพวกเขาจะได้เบ่งบาน
นับเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราอาจจะเสียมันสมองแห่งอนาคตไปบ้าง แต่สภาวะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะทุกวันนี้ระบอบการเมืองของประเทศไทยราวกับเป็นระบอบ ‘ชราธิปไตย – ของคนแก่ โดยคนแก่ เพื่อคนแก่’ ภายใต้ระบอบนี้เยาวชนไม่สามารถมีส่วนร่วมออกแบบนโยบายและสังคมแห่งอนาคต ว่าพวกเขาอยากเห็นประเทศนี้เดินไปในทิศทางไหน หากผู้ใหญ่มองว่าเด็กคืออนาคตของชาติ คำถามคือนโยบายในปัจจุบันสอดคล้องกับอนาคตที่พวกเขาต้องการและเป็นเจ้าของจริงหรือ?
หนึ่งในเยาวชนอย่าง เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2563 ที่ออกมาเรียกร้องเพื่ออนาคตของเขา แต่ถูกรัฐไทยใช้ความรุนแรงกดปราบและนิติสงครามในการกดกั้นความคิด ชวนมองนัยยะของประโยค ‘เด็กคืออนาคตของชาติ’ ว่าเด็กต้องแบกความคาดหวังของสังคม ต้องเป็นอนาคตของอะไรสักอย่าง แต่ผู้ใหญ่มักมองว่าเป็นอนาคตที่ ‘รอได้’ แปลว่าหากเยาวชนพูดตอนนี้ยังไม่ต้องฟังได้ เพราะเสียงเยาวชนคือเสียงที่ต้องรอให้วันเวลาอันเหมาะสมมาถึงเสียก่อน
ในความจริงแล้ว เด็กไม่ได้เป็นเพียงเสียงของอนาคตที่ต้องรอให้มาถึงแล้วจึงฟังพวกเขา แต่เด็กเป็นเสียงแห่งปัจจุบันด้วย ดังนั้นการรับฟังเสียงของเยาวชนจึงเป็นประเด็นที่ผู้ใหญ่ในสังคมไทยควรสนใจ
แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่? – ที่ผู้ใหญ่จะเปิดหูและเปิดใจรับฟังความคิดของเยาวชน มอบโอกาสพวกเขาสำหรับการออกแบบนโยบายเพื่ออนาคตของประเทศ…
ในห้วงยามที่เยาวชนบางส่วนไม่สามารถจินตนาการถึงอนาคตที่ดีกว่านี้ได้ แนวคิดหนึ่งจึงเกิดขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือฟื้นฟูความหวังของเยาวชนว่า ‘พวกเขาสามารถจินตนาการถึงอนาคตที่ดีกว่าโดยไม่ยึดติดกับความจริง’ นั่นคือแนวคิด ‘จินตนาการพลเมือง’ (Civic Imagination)
‘จินตนาการพลเมือง’ คือจินตนาการอันไร้ขอบเขต
แนวคิดจินตนาการพลเมือง (Civic Imagination) ได้รับการศึกษา พัฒนาและนำไปประยุกต์ใช้ภายใต้โครงการ Civic Imagination Project ณ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California – USC) โดย Henry Jenkins (นักวิชาการด้านการมีส่วนร่วมเชิงวัฒนธรรม) และกลุ่ม Civic Paths (การรวมตัวของนักวิชาการ ศิลปิน และนักเคลื่อนไหวทางสังคม) แนวคิดนี้ถือกำเนิดท่ามกลางบริบทของการเมืองสหรัฐอเมริกาที่แตกเป็นสองขั้วและสร้างความสิ้นหวังแก่ประชาชนอย่างมาก พวกเขาจึงพยายามคิดค้นเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อสร้างทางออกใหม่ๆ ผ่านการหยิบยกเครื่องมือที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่ไม่เป็นการเมือง โดยแนวคิด Civic Imagination เลือกใช้วัฒนธรรมสมัยนิยม (pop culture) เข้ามาเป็นตัวประสานระหว่างจินตนาการกับการเมือง เพื่อสร้างบทสนทนาถึงอนาคตที่พาสังคมหลุดออกจากหล่มไร้หวังนี้ ทั้งนี้ ผู้พัฒนาโครงการเชื่อว่า จินตนาการพลเมืองจะช่วยฟื้นฟูความหวังและต่อเติมจินตนาการอนาคตของผู้คนได้ แม้จินตนาการพลเมือง หรือ Civic Imagination จะเป็นเพียงเครื่องมือในการศึกษาวิจัย แต่ลักษณะสำคัญที่การศึกษานี้ต้องการ คือ ‘การเวิร์คชอป’ ที่มีรูปแบบหลากหลาย และเพื่อจุดประกายจินตนาการให้พลเมืองผ่านวัฒนธรรมสมัยนิยม (pop culture)
กระบวนการสำคัญ คือการให้ผู้เข้าร่วมสามารถจินตนาการถึงอนาคตโดยไร้ข้อจำกัด อาจจะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเพ้อฝันและไร้สาระราวกับพาผู้เข้าร่วมนี้หลีกหนีจากโลกอันสิ้นหวังนี้ แต่จินตนาการพลเมืองเปิดโอกาสให้ผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งที่มาและประสบการณ์ได้มาแลกเปลี่ยนและก่อรูปจินตนาการถึงอนาคตที่ปรารถนาร่วมกัน อีกทั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่ออำนวยให้เกิดการพูดคุยถึงจินตนาการและความหวัง
แม้บริบทการก่อรูปแนวคิดดังกล่าวจะเกิดท่ามกลางการเมืองสหรัฐอเมริกา แต่สังคมและการเมืองไทยต่างมีจุดร่วมสำคัญคือ ‘ความสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่’ ราวกับเป็นบรรยากาศร่วมสำคัญของยุคสมัย จึงน่าสนใจหากนำมาสำรวจถึงหน้าตาของสังคมที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยต้องการว่าจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) จึงได้หยิบยกแนวคิดดังกล่าวมาทดลองใช้กับเยาวชนไทย ผ่านโครงการจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย (Thai Youth Civic Imagination Project)
จินตนาการพลเมืองกับสังคมไทย
คือการจินตนาการไร้ขอบที่มีกรอบ
สรัช สินธุประมา หนึ่งในนักวิจัยโครงการจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย (Thai Youth Civic Imagination Project) ชวนมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกว่า พวกเรากำลังอยู่ในสภาวะสิ้นหวัง ทั้งจากการลุกขึ้นมาของเยาวชนหลายมุมโลกทั้งฮ่องกง พม่า อิหร่าน กระทั่งไทย นั้นแทบไม่สัมฤทธิ์ผล กล่าวคือคนรุ่นใหม่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมิติอำนาจหรือสถาบันการเมืองได้ การนำเครื่องมืออย่างจินตนาการพลเมืองเข้ามาปรับใช้นั้น ในมุมหนึ่งคือความพยายามทำให้เยาวชนไม่ต้องติดหล่มเงื่อนไขที่พวกเขาทำไม่ได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือการใช้กลไกทางการเมือง แต่เริ่มต้นแลกเปลี่ยนจากอะไรที่เป็นไปไม่ได้ก่อน หลังจากนั้นจึงต่อยอดว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
ทั้งนี้ สรัชคิดว่าจินตนาการพลเมืองจะสร้างความหวังให้กับเยาวชน เพราะหากเราติดอยู่ในความเป็นจริง เยาวชนก็จะไม่มีความหวังอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้คำตอบที่ได้จากการเวิร์กชอปอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ชัดเจน แต่จะทำให้ความหวังของเยาวชนเดินต่อไปได้
จินตนาการพลเมืองเป็นเครื่องมือที่ชวนเยาวชนมาใช้จินตนาการร่วมกัน และเห็นว่าการจินตนาการถึงอนาคตไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มิติของความเป็นพลเมืองนั้นคือจินตนาการของทุกคนสามารถมารวมกันได้ ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการต่างมาจากหลายส่วนทั่วประเทศ ย่อมหมายถึงมาจากคนละภูมิภาค คนละสังคม คนละวัฒนธรรม แต่ใช่ว่าทุกคนจะไม่มีจุดร่วมกันเลย พวกเขาเสพวัฒนธรรมนิยม (pop culture) เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ ที่เยาวชนทั่วโลกเสพ นอกจากนี้ในปัจจุบัน ผู้เสพสื่อบันเทิงเหล่านี้ยังมีวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (participatory culture) หรือมีการรวมตัวเป็นแฟนคลับอีกด้วย
เมื่อก่อนผู้คนอาจจะรวมตัวเพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน หรือมีลักษณะองค์กรทางสังคมร่วมกัน แต่ทุกวันนี้ เราเกิดการรวมตัวกันเพราะชอบภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน ติดตามศิลปินคนเดียวกัน การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมเช่นนี้เป็นสิ่งที่นำมาใช้หรือผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ดังนั้นวัฒนธรรมนิยมจึงมีศักยภาพสูงมากในการรวมกลุ่มคน ผู้วิจัยจึงหยิบเครื่องมือดังกล่าวมาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือในโครงการสำหรับเยาวชน
โครงการจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย (Thai Youth Civic Imagination Project) เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งนำเวิร์กชอปจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้กับเยาวชนไทยหลากหลายกลุ่ม ผ่านการชวนให้เยาวชนคิดถึงประเทศไทยในอีก 50 ปีข้างหน้า โดยให้คิดถึงสิ่งที่อยากให้เป็น และโลกที่อยากเห็น ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ สรัชเล่าว่า แม้ผู้วิจัยบอกเยาวชนว่าพวกเขาสามารถจินตนาการโดยไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงเลย แต่พวกเขาก็ไม่สามารถหลุดไปจากโลกแห่งความจริงได้อย่างสิ้นเชิง เพราะต่างมีประเด็นที่ติดค้างอยู่ในใจพวกเขาอยู่ หากสรุปง่ายๆ คือเยาวชนส่วนใหญ่นั้นอยากเห็นโลกที่ ‘คนเท่ากัน’ ทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทั้งหมดนี้คิดจากโลกที่พวกเขาเจอทั้งสิ้น
นอกจากนี้ สรัชยังเล่าว่าอนาคตของเยาวชนนั้นต่างมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับพื้นเพของเยาวชนที่เข้าร่วม เช่น กลุ่มเด็กในเมืองกับเด็กในต่างจังหวัดมีอนาคตที่พวกเขาสร้างไม่เหมือนกัน สำหรับเด็กในเมือง หากพูดถึงอนาคต สิ่งที่พวกเขาเห็นคือโลกแห่งอนาคต แต่เด็กต่างจังหวัด อนาคตของพวกเขาเพียงต้องการขนส่งสาธารณะ เพราะที่ผ่านมาปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำ ย่อมส่งผลต่อการกำหนดทัศนียภาพอนาคตของเยาวชน สำหรับเด็กเมือง อนาคตของพวกเขาคือโลกแห่งแฟนตาซี แต่สำหรับคนต่างจังหวัดนั้น การมีขนส่งมวลชนก็นับว่าเป็นเรื่องแฟนตาซีมากที่สุดแล้วอย่างหนึ่ง
สุดท้ายแล้วกิจกรรมลักษณะดังกล่าวสามารถสร้างกระบวนการการมีส่วนรวมของเยาวชน กล่าวคือเพียงทุกคนมีตัวละครของตนเองและสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนโลกนี้ตามที่จินตนาการได้ จากเดิมที่ไม่มีช่องทางในโลกความเป็นจริงจนอาจทำให้เยาวชนไม่รู้สึกศรัทธาหรือมีความหวังในกระบวนการทางการเมือง
จินตนาการเยาวชนไทย
คือการเอาชนะเผด็จการความเป็นไปได้
“ประเทศไทย พ.ศ. 2615 เต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีการขนส่งทางอากาศที่ทัน สมัย สะดวกสบาย และไม่ก่อมลภาวะ แต่ลอร์ด เวเดอร์ (จาก Star Wars) จอมเผด็จการได้สั่งห้ามไม่ให้คนทั่วไปใช้งานมีแต่คนรวยและทหารเท่านั้นที่ใช้ยานเหล่านี้ได้ สองฮีโร่จากต่างโลกคือ ดร.สเตรนจ์ และโดราเอมอน จึงได้เปิดประตูมิติมาช่วยเหลือคนไทย เปิดฉากต่อสู้กับลอร์ด เวเดอร์จนได้ชัยชนะ ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ทำใหทุกคนสามารถเข้าถึงอากาศยานได้ และนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่สังคมไทย”
‘Doraemon in the Multiverse’ – คือหนึ่งในเรื่องเล่าของเยาวชนในโครงการ หลายคนอาจจะมองว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแต่งเรื่องของเด็กที่ไร้สาระ และเป็นไปไม่ได้
สิ่งน่าสนใจคือภายในงานวิจัยชิ้นนี้ได้เสนอคำว่า ‘เผด็จการความเป็นไปได้’ (the tyranny of the possible) หมายถึง เสียงภายในตัวเราที่จำกัดความสามารถในการสร้างจินตนาการแห่งอนาคต เพราะติดอยู่กับความเป็นไปได้ บนเงื่อนไขและสถานการณ์ที่พบเจอ เผด็จการความเป็นไปได้นี้เองเป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้ผู้คนมองไปยังอนาคตและพูดว่า ‘อะไรก็เป็นไปได้’
อาจกล่าวได้ว่าเผด็จการความเป็นไปได้นั้นเป็นเผด็จการที่น่ากลัวที่สุด เพราะมันเข้าไปทำงานถึงระดับความคิดจนเราไม่สามารถสร้างจินตนาการหรือทางออกใหม่ๆ ได้เลย
แต่จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าเรื่องราวที่เยาวชนมาร่วมกันออกแบบมีความพยายามจะเอาชนะเผด็จการความเป็นไปได้ และสะท้อนความคับแค้นใจของเขา ทั้งเรื่องของการคมนาคมที่มีปัญหา ปัญหาการเมืองที่เราตกอยู่ในระบอบอำนาจนิยม และการปฎิรูปกองทัพ ผ่านวัฒนธรรมนิยมอย่างลอร์ด เวเดอร์ ดร.สเตรนจ์ และโดราเอมอน
จินตนาการพลเมืองจึงนับเป็นกระบวนการทำงานเชิงพลเมืองที่วิเศษยิ่ง ในแง่หนึ่ง การมาร่วมกันออกแบบเรื่องราวในโครงการนี้ ยังสะท้อนให้เยาวชนเห็นถึงการมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งอยู่เสมอ สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือการหาวิธีจัดสรรทรัพยากรให้ผู้ร่วมสังคมนั้นพอใจกันทุกคน และสามารถตอบโจทย์กับปัญหาในปัจจุบันได้ โครงการนี้ทำให้เราเห็นว่า คนรุ่นใหม่มีความสนใจแทบทุกเรื่องทั้งมิติของสาธารณสุข การขนส่งมวลชน ความเท่าเทียมการศึกษา
พวกเขาล้วนแต่มีความปรารถนาที่อยากจะเห็นสังคมที่ดีขึ้น และอาจจะตรงข้ามกับที่ทุกคนมองว่าพวกเขาสิ้นหวัง – เปล่าเลย พวกเขายังมีความหวัง และมีเยอะมาก มากพอที่จะร่วมกันออกแบบสังคมในอนาคตที่เต็มไปด้วยเรื่องความท้าทายใหม่ๆ ร่วมกันหาทางออกใหม่ที่ไม่เคยมีใครจินตนาการถึง
แต่ก่อนอื่นใด ขอทุกคนจงฟังเสียงพวกเขาอย่างเปิดรับและเปิดใจ
หมายเหตุ – ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง the101.world และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)