Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the ultimate-addons-for-gutenberg domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /sites/101pub.org/wordpress/wp-includes/functions.php on line 6114

Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the wordpress-seo domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /sites/101pub.org/wordpress/wp-includes/functions.php on line 6114
การยกเว้นภาษีของ BOI สร้างงานที่ดีได้แค่ไหน?

การยกเว้นภาษีของ BOI สร้างงานที่ดีได้แค่ไหน?

‘เงินลงทุน’ จัดว่าเป็นปัจจัยที่มีผลอย่างยิ่งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยไม่ใช่เพียงในแง่การเพิ่มรายได้เข้าสู่ประเทศเท่านั้น หากแต่ยังนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิต การจัดตั้งฐานการผลิตในประเทศ และอีกผลลัพธ์ที่สำคัญยิ่งคือการช่วยสร้าง ‘งาน’ ให้แก่คนในประเทศ

ด้วยผลประโยชน์มหาศาลที่มาจากการลงทุน รัฐบาลไทยจึงมีบทบาทสำคัญหนึ่ง คือการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทั้งจากในและนอกประเทศ โดยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ใช้ก็คือมาตรการดึงดูดการลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือมักเป็นที่รู้จักในชื่อ BOI (Board of Investment) ซึ่งมาตรการหลักที่มักใช้คือ ‘การยกเว้นภาษี’ หรือ ‘การลดหย่อนภาษี’ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจต่อการลงทุน

แม้มาตรการดึงดูดการลงทุนของรัฐบาลไทยที่ผ่านมาจะช่วยนำเม็ดเงินลงทุนเข้ามาได้ไม่น้อย แต่ที่น่าสงสัยก็คือว่า รายได้ที่มาจากการลงทุนเหล่านี้ได้ช่วยสร้าง ‘งานที่ดี’ ต่อประเทศเราได้จริงหรือไม่

คำว่างานที่ดีที่ว่านี้ หมายถึงงานที่ช่วยให้แรงงานเกิดการพัฒนาทักษะและความรู้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มผลิตภาพ และก่อให้เกิดการถ่ายเทผู้คนและทรัพยากรจากภาคเกษตรสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ได้มากขึ้น อันจะช่วยยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สามารถไล่ทันเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว

แต่หากมองสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยของไทยยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capita)[1]กษิดิ์เดช คำพุช, “ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต,” กันยายน 29, 2022, https://101pub.org/minimum-wage-to-living-wage/. ซึ่งหมายความได้ว่า การจ้างงานที่มีคุณค่าในไทยอาจเกิดขึ้นน้อยหรือแทบไม่เกิดขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของการลงทุน

101 Public Policy Think Tank (101 PUB) ชวนทบทวนประสิทธิภาพของมาตรการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทยผ่าน BOI ว่าได้ช่วยให้เกิดการสร้างงานมากน้อยขนาดไหน คุ้มค่ากับรายได้ทางภาษีที่ต้องเสียไปจากโครงการยกเว้นภาษีหรือไม่ และที่สำคัญ การจ้างงานที่เกิดขึ้นตามการรายงานของ BOI นั้น เป็นงานที่มีคุณภาพมากน้อยเพียงใด

การยกเว้นภาษีของ BOI สร้างงานที่ดีได้แค่ไหน?

โครงการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ทำรัฐเสียรายได้ปีละ 2 แสนล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ใช้มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนเป็นเครื่องมือหลักในการดึงดูดการลงทุน โดยกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ แตกต่างกันไปตามอุตสาหกรรมหรือกิจการที่ตั้งเป้าหมายไว้ ในปัจจุบัน การกำหนดสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นการกำหนดตามความสำคัญของประเภทของกิจการ (activity-based incentives)[2]มาตรการกำหนดในปี 2015 แบ่งกิจการที่ให้การส่งเสริมออกเป็น 6 กลุ่ม ตามลำดับความสำคัญดังนี้ … Continue reading และตามคุณค่าของโครงการลงทุนนั้นๆ (merit-based incentives)[3]หากโครงการลงทุนมีการลงทุนหรือใช้จ่ายกิจกรรมที่สามารถพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ/หรือกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค … Continue reading โดยหากโครงการที่จะลงทุนจัดอยู่ในประเภทกิจการที่มีความสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและมีการใช้จ่ายในกิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้แก่ประเทศ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ (โดยเฉพาะการยกเว้นภาษี) มากที่สุด ในทางกลับกัน โครงการลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์น้อยที่สุด (ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี) หากจัดอยู่ในกิจการที่มีความสำคัญน้อยที่สุดและไม่ได้มีการใช้จ่ายในกิจกรรมที่สร้างคุณค่า

ภาพที่ 1: สิทธิประโยชน์ของโครงการส่งเสริมการลงทุนโดยสำนักงาน BOI
ที่มา: สำนักงาน BOI (2015)

แม้มาตรการดึงดูดการลงทุนด้วยการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจะถูกใช้มาต่อเนื่องยาวนาน และเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการตัดสินใจลงทุน แต่ก็เป็นมาตรการที่แฝงด้วยต้นทุนที่สาธารณะต้องจ่าย เนื่องจาก ‘รายจ่ายภาษี’ (tax expenditure) ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้สุทธิไป ถือเป็นการเบียดบังพื้นที่ทางการคลังในการบริหารงานและดำเนินนโยบายประเภทอื่น[4]อธิภัทร มุทิตาเจริญ, “แรงจูงใจทางภาษี…ไทยอยู่ตรงไหนในอาเซียน,” กุมภาพันธ์ 25, 2016, https://thaipublica.org/2016/02/athiphat-2/. มาตรการดังกล่าวยังไม่ได้ถูกบันทึกเป็นรายจ่ายตามงบประมาณแผ่นดินเหมือนกับนโยบายที่มีการเบิกจ่ายเงินจริง จึงมักไม่ถูกจับตามองว่าสร้างต้นทุนหรือมีความคุ้มค่ามากเท่าใด          

รายจ่ายภาษีที่เกี่ยวข้องกับโครงการส่งเสริมการลงทุนเฉพาะของ BOI ในช่วงปี 2015-2018 (ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่สู่สาธารณะ) มีค่าปีละกว่า 2 แสนล้านบาท[5]สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายจ่ายภาษีนี้มีขนาดใกล้เคียงกับรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของรัฐบาล และคิดเป็น 10% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล[6]สำนักงบประมาณ. เอกสารงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ ปีงบประมาณ 2557 ถึง 2560.

ภาพที่ 2: รายจ่ายภาษีที่เกิดขึ้นจากโครงการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงาน BOI
ที่มา: 101 PUB รวบรวมจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

นอกจากโครงการส่งเสริมการลงทุนจะมีรายจ่ายภาษีสูงแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาอาจดูไม่คุ้มค่ามากนัก เพราะการจ้างงานจากโครงการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามที่ BOI รายงาน กลับสร้างตำแหน่งงานได้เพียงปีละประมาณ 1 แสนตำแหน่ง และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในช่วง 2015-2018 (ภาพที่ 3) หมายความว่า รัฐบาลไทยต้องสูญเสียรายได้ภาษีไปราว 2 ล้านบาท ต่อการจ้างงาน 1 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นจริงจากมาตรการทางภาษีอาจมีน้อยกว่าที่ BOI รายงานไว้ เพราะอาจมีผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนและจ้างงานโดยไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการอยู่แล้ว แต่สามารถขอรับสิทธิ เพราะกิจการของตนเข้าข่ายการส่งเสริม ดังนั้น ประสิทธิภาพที่แท้จริงของมาตรการทางภาษีอาจมีน้อยกว่านี้ กล่าวคือการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น 1 ตำแหน่งผ่านมาตรการ BOI อาจมีรายจ่ายภาษีที่มากกว่า 2 ล้านบาท

ภาพที่ 3: ตำแหน่งงานที่เกิดขึ้น ตามที่สำนักงาน BOI รายงาน
ที่มา: 101 PUB รวบรวมจากข้อมูลของสำนักงาน BOI

ในแง่เม็ดเงินการลงทุน โครงการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมีมูลค่าการลงทุนทั้งหมดโดยเฉลี่ยปีละ 6.6 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2015-2018 ตามที่สำนักงาน BOI รายงาน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับรายจ่ายภาษีแล้ว พบว่ารัฐบาลไทยต้องเสียรายได้ภาษีไปอย่างน้อย 3.5 แสนบาท เพื่อให้เกิดการลงทุนจากโครงการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1 ล้านบาท (ภาพที่ 4) ประสิทธิภาพในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนก็อาจน้อยกว่าที่รายงานหากผู้ประกอบการตัดสินใจที่จะลงทุนอยู่แล้วในทำนองเดียวกันกับประสิทธิภาพของการจ้างงาน

ภาพที่ 4: มูลค่าการลงทุนจากโครงการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามที่ BOI รายงาน
ที่มา: 101 PUB คำนวณจากข้อมูลของสำนักงาน BOI

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ มูลค่าของการลงทุนตามที่ BOI รายงานไม่ได้มีแนวโน้มลดลงตามตำแหน่งงานในช่วงปี 2015-2018 ชี้ว่าโครงการลงทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษีโดย BOI มีแนวโน้มเป็นกิจการที่ใช้ทุนเข้มข้น (capital-intensive) มากขึ้น ซึ่งถ้าหากตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นนี้เป็นงานที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือสามารถสร้างนวัตกรรมได้ ต่อให้จะมีจำนวนน้อยลงก็ตาม ก็อาจมีเหตุผลเพียงพอที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุน เพราะงานเหล่านี้สามารถสร้างการกระจายของความรู้ (knowledge spillover) สู่แรงงานและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริม

โครงการส่งเสริมการลงทุนไม่ได้สร้างงานที่มีคุณภาพและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ต้องรายงานว่า งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าโครงการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนไม่สามารถดึงดูดให้เกิดการสร้างงานที่มีคุณภาพและศักยภาพมากพอที่จะช่วยยกระดับนวัตกรรมได้ ด้วยเหตุผล 3 ประการดังต่อไปนี้

1. การลงทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการของ BOI ส่วนใหญ่สร้างงานที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ

บริษัทข้ามชาติที่มีเทคโนโลยีสูง (high-tech) ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการดึงดูดการลงทุนนั้น มักให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านความยากง่ายในการทำธุรกิจ ความต่อเนื่องของนโยบาย คุณภาพของกฎระเบียบต่างๆ รวมไปถึงคุณภาพของแรงงานมากกว่าปัจจัยด้านภาษี แต่ในทางกลับกัน การยกเว้นภาษีมักดึงดูดแต่การลงทุนจากบริษัทที่มีเทคโนโลยีต่ำ[7]Athipat Muthitacharoen, “Location choice and tax responsiveness of foreign multinationals: Evidence from ASEAN countries,” The Singapore Economic Review (2022). https://doi.org/10.1142/S021759082250062X. ดังนั้น การจ้างงานที่เกิดขึ้นจากโครงการส่งเสริมการลงทุนด้วยการยกเว้นภาษีก็อาจเป็นงานที่ไม่ต้องการทักษะระดับสูงมาก

ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับผลการสำรวจความต้องการแรงงานของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการลงทุนโดยสำนักงาน BOI อยู่ในปัจจุบัน โดยกว่าครึ่งของแรงงานที่บริษัทเหล่านี้ต้องการไม่จำเป็นต้องมีวุฒิปริญญาหรือวุฒิวิชาชีพ (ปวช.-ปวส.) โดยในช่วง 2015-2022 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการลงทุนเหล่านี้มีความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับ ป.6 ถึง ม.6 โดยเฉลี่ยปีละ 52% ของแรงงานทั้งหมดที่ต้องการในแต่ละปี รวมถึงกลุ่ม ‘อื่นๆ’ ซึ่งหมายถึงแรงงานที่มีวุฒิต่ำกว่า ป.6 ซึ่งมีอีกราว 6% ทำให้ความต้องการแรงงานวุฒิต่ำกว่าปริญญาและไม่ได้จบสายวิชาชีพ มีมากถึงปีละ 58% โดยเฉลี่ย (ภาพที่ 5)

ภาพที่ 5: ผลการสำรวจความต้องการแรงงานของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการของ BOI
ที่มา: 101 PUB คำนวณจากข้อมูลของสำนักงาน BOI

2. โครงการส่งเสริมการลงทุนของ BOI กระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาได้น้อย

แม้สำนักงาน BOI จะตั้งเป้าหมายให้กลุ่มกิจการที่มีการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมากที่สุดและควรได้รับการยกเว้นภาษีสูงสุด ซึ่งได้แก่ กลุ่มกิจการที่ลงทุนในอุตสาหกรรมฐานความรู้ (knowledge-based Industries) ที่เน้นการวิจัยและพัฒนา (กลุ่ม A1) และกลุ่มกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และมีการร่วมมือวิจัยและพัฒนา (หมวด 8) อย่างไรก็ตาม มาตรการทางภาษีนี้ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนในกลุ่มกิจการเหล่านี้ได้มากนัก เพราะการลงทุนที่เกิดขึ้นจริงในกลุ่มกิจการเป้าหมายในช่วงปี 2015-2022 กลับมีเพียง 4.3% ของจำนวนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมทั้งหมด และคิดเป็นเพียง 3.6% ของมูลค่าการลงทุน[8]สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

นอกจากนี้ แม้กลุ่มบริษัทที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการลงทุนจะมีการใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วม แต่ไม่ได้เป็นเพราะมาตรการทางภาษีช่วยจูงใจให้จ่ายเงินเพื่อการวิจัยและพัฒนามากขึ้น หากแต่เป็นเพราะบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเหล่านี้มีเงินทุนที่มากกว่า จึงสามารถจ่ายค่าวิจัยและพัฒนาได้สูงกว่า แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อรายจ่ายโดยรวมของบริษัทแล้ว สัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนายังคงน้อยและไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มบริษัทที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมโครงการ (ราว 5% ในปี 2016) จนการส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาด้วยการยกเว้นภาษีอาจไม่มีประสิทธิภาพและเป็นการสูญเสียรายได้ภาษีไปอย่างไม่คุ้มค่า[9]OECD (2021), OECD Investment Policy Reviews: Thailand, OECD Investment Policy Reviews, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/c4eeee1c-en.

3. โครงการยกเว้นภาษีดึงดูดบริษัทต่างชาติที่สามารถย้ายฐานการผลิตหนีได้ง่าย

มาตรการทางภาษีดึงดูดบริษัทต่างชาติที่มีสัดส่วนของทรัพย์สินถาวร (fixed asset) ต่อทรัพย์สินโดยรวมน้อย ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านี้มีความคล่องตัวในการย้ายฐานการผลิต และสามารถย้ายฐานการผลิตหนีไปยังประเทศอื่นได้ง่าย[10]Athipat Muthitacharoen, “Location choice and tax responsiveness of foreign multinationals: Evidence from ASEAN countries,” PIER Discussion Paper, no. 95 (2022).

การดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเช่นนี้อาจทำให้ประเทศไทยต้องกลายเป็นฐานการผลิตที่แข่งขันด้วยราคาแรงงานเพื่อยื้อไม่ให้บริษัทต่างชาติเหล่านี้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า ซึ่งก็ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะแพ้ประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาที่ยังมีค่าแรงต่ำ เพราะสัดส่วนของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ในประเทศไทยต่อประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาในอาเซียน[11]ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และ เวียดนามมีแนวโน้มลดลงเป็นอย่างมากหลังจากช่วงปี 2001-2005 (ตารางที่ 1) อีกทั้งการแข่งขันด้วยการคุมราคาแรงงานให้ถูกก็คงไม่ใช่เป้าหมายในการยกระดับเศรษฐกิจไปสู่ประเทศรายได้สูง

ช่วงเวลาสัดส่วน FDI ของไทยต่ออาเซียน
1986-199033.7%
1991-199516.0%
1996-200032.0%
2001-200542.0%
2006-201026.5%
2011-201516.1%
2016-20208.1%
ตารางที่ 1: สัดส่วน FDI ของไทยเทียบกับ FDI ของประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาในอาเซียน
ที่มา: 101 PUB คำนวณจากข้อมูลของ CEIC

นอกจากบริษัทต่างชาติจะเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยแล้ว ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว บริษัทไทยก็มีแนวโน้มนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมูลค่าของเม็ดเงินที่ไหลออกไปนอกประเทศจากบริษัทไทยในช่วงปี 2016-2020 เพิ่มขึ้นกว่า 45 เท่าจากมูลค่าของเงินที่ไหลออกไปในช่วงปี 2001-2005 (ตารางที่ 2)          

แม้การที่บริษัทไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศอาจแสดงถึงความแข็งแกร่งทางธุรกิจที่สามารถแข่งแข่งขันในระดับนานาชาติได้ แต่ก็อาจชี้ให้เห็นว่าโอกาสในการลงทุนในประเทศไม่มีความน่าสนใจเพียงพอ[12]มุกดา ตีรเลิศพานิช, “เหตุใดระดับหนี้จึงมีบทบาทต่อการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรง (FDI) ของประเทศไทย, สิงหาคม 27, 2022, ”http://www.setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/611. นอกจากนี้ การย้ายออกไปลงทุนนอกประเทศของบริษัทเหล่านี้ย่อมหมายถึงรัฐบาลไทยกำลังสูญเสียรายได้เพิ่มมากขึ้น ซ้ำร้ายยังอาจทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศไทยน้อยลง

ช่วงเวลามูลค่าการลงทุน (ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
1986-199080.6
1991-1995388.8
1996-2000393.9
2001-2005319.1
2006-20103,792.5
2011-20158,859.7
2016-202014,875.1
ตารางที่ 2: เงินลงทุนไทยในต่างประเทศ
ที่มา: 101 PUB คำนวณจากข้อมูลของ CEIC

ดังนั้น การส่งเสริมการลงทุนด้วยการยกเว้นภาษีของ BOI ยังไม่คุ้มค่ามากเพียงพอกับรายได้ภาษีที่ไทยต้องสูญเสียไป เพราะนอกจากจะไม่สามารถสร้างงานที่มีคุณภาพแล้ว ยังเป็นการสร้างงานที่ไม่ยั่งยืนอีกด้วย ซึ่งลักษณะงานที่ได้จากการดึงดูดการลงทุนด้วยวิธีการเช่นนี้จะไม่สามารถช่วยเพิ่มหรือพัฒนาทักษะให้แก่แรงงาน อีกทั้งไม่สามารถช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยสามารถก้าวทันตามเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วได้

ปรับเป้าหมายสู่การดึงดูดการสร้างงานที่ดี

ทางออกของประเทศไทยในการสร้างงานที่ดีนั้น ไม่ใช่การออกนโยบายยกเว้นภาษีเพิ่มเพื่อพยายามให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax Rate) ของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 20 ซึ่งน้อยกว่าอัตราภาษีโดยเฉลี่ยของประเทศในอาเซียน (21.7%)[13]VEPR, Oxfam in Vietnam, The PRAKARSA, & TAFJA. (2020). Towards Sustainable Tax Policies in the ASEAN Region: The Case of Corporate Tax Incentives. Hanoi, Vietnam. นอกจากนี้ หากรวมสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด (maximum tax incentives) ซึ่งรวมถึงการยกเว้นภาษีแล้ว อัตราภาษีเฉลี่ยที่บริษัทต้องจ่ายจริงในโครงการลงทุน (Effective Average Tax Rate: EATR) ในแทบทุกอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย (ประมาณ 6-9%) มีความทัดเทียมกับประเทศคู่แข่งทางภาษีในอาเซียนอยู่แล้ว (ภาพที่ 6)[14]Athipat Muthitacharoen, “Assessing Tax Incentives for Investment: Case Study of Thailand,” Southeast Asian Journal of Economics 4, no. 2 (2016): 105-128. อีกทั้งมาตรการทางภาษียังไม่สามารถสร้างงานที่มีคุณภาพและยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่อุตสาหกรรมที่มีการวิจัยและพัฒนาดังที่หวังไว้ จึงน่าจะเป็นการลงทุนของรัฐที่ไม่ได้แก้ปัญหาคอขวดของธุรกิจ

ภาพที่ 6: อัตราภาษี EATR ภายใต้การให้สิทธิประโยชน์ภาษีสูงสุดของแต่ละประเทศคู่แข่งทางภาษี
ที่มา: อธิภัทร (2016)

เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่สามารถสร้างงานที่ดีและมีคุณภาพในประเทศได้จริง ประเทศไทยควรหันมาปรับแก้กฎระเบียบและนโยบายที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ช่วยดึงดูดให้บริษัทที่มีเทคโนโลยีสูงหรือมีศักยภาพในการทำการวิจัยและพัฒนาสูงมีความสนใจที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย เช่น การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะเจาะจงที่ไทยยังขาดแคลน อย่างศูนย์การทดสอบหรือรองรับมาตรฐานสินค้าที่มีบรรทัดฐานเทียบเท่าระดับสากล ซึ่งช่วยลดภาระให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องส่งตัวอย่างไปขอใบรับรองจากประเทศอื่นให้ยุ่งยาก อีกทั้งยังต้องปรับแก้กฎระเบียบที่ซับซ้อน (regulatory guillotine) เพื่อให้บริษัทเหล่านี้สามารถเข้ามาดำเนินการได้สะดวก

อีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดงานที่ดีคือ การแก้ปัญหาเรื่องงานไกลกับที่อยู่อาศัย โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มคุณภาพของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอย่างทั่วถึง เพื่อกระจายการสร้างงานให้ลงไปสู่ระดับท้องถิ่น ซึ่งงานที่ใกล้บ้านอาจเป็นนิยามขั้นพื้นฐานที่สุดสำหรับคำว่า ‘งานที่ดี’ สำหรับประเทศไทย เพราะในปัจจุบัน การลงทุนส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีแต้มต่อจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย และการมีคลัสเตอร์ของธุรกิจที่ตั้งอยู่เดิม[15]OECD (2021), OECD Investment Policy Reviews: Thailand, OECD Investment Policy Reviews, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/c4eeee1c-en.

นอกจากนี้ สำนักงาน BOI ควรปรับเปลี่ยนวิธีการส่งเสริมการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาใหม่ โดยเปลี่ยนจากการส่งเสริมด้วยการให้การยกเว้นภาษี (tax exemption) เป็นการให้เครดิตภาษี (tax credit) หรือการลดหย่อนภาษี (tax deduction) ร่วมกับการให้บริการที่ช่วยจัดสรรทรัพยากรให้ตรงกับความต้องการแก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการพัฒนาได้ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการวิจัย (research infrastructure) ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้วิธีการเหล่านี้จะช่วยจำกัดให้ไม่ต้องสูญเสียรายได้ภาษีที่มากเกินไปและมีความคุ้มค่ามากกว่าวิธีการเดิมที่ใช้อยู่[16]OECD (2021), OECD Investment Policy Reviews: Thailand, OECD Investment Policy Reviews, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/c4eeee1c-en.

ท้ายที่สุด การเพิ่มและพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานก็เป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้เช่นกัน เพราะหากประเทศไทยขาดแคลนแรงงานทักษะสูงหรือแรงงานส่วนใหญ่ยังไม่มีทักษะที่เหมาะสมต่อการทำงานในบริษัทที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นความรู้ขั้นสูงอย่างทักษะด้าน STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics: วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) บริษัทที่ประกอบการในภาคส่วนดังกล่าวคงไม่อาจสนใจที่จะเข้ามาลงทุน และสุดท้ายก็ไม่อาจเกิดการสร้างงานที่ดีขึ้นในประเทศนี้ได้          

การกำหนดเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจประเทศที่มุ่งเพียงเพื่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้นดังที่ผ่านมายังคงไม่เพียงพอ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ (structural transformation) ซึ่งสำหรับประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่สุดคงเป็นการโยกย้ายแรงงานและทรัพยากรออกจากภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง ดังนั้น การลงทุนเพื่อนำไปสู่การสร้างงานที่ดี เพื่อจะดึงผู้คนออกจากภาคเกษตรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและไม่สมควรถูกเพิกเฉยอย่างที่รัฐบาลเคยทำมาได้

References
1 กษิดิ์เดช คำพุช, “ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต,” กันยายน 29, 2022, https://101pub.org/minimum-wage-to-living-wage/.
2 มาตรการกำหนดในปี 2015 แบ่งกิจการที่ให้การส่งเสริมออกเป็น 6 กลุ่ม ตามลำดับความสำคัญดังนี้ กลุ่มกิจการที่ลงทุนในอุตสาหกรรมฐานความรู้ที่เน้นการวิจัยและพัฒนา (กลุ่ม A1), กลุ่มกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนมาก (กลุ่ม A2), กลุ่มกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมีฐานการผลิตอยู่บ้างแล้ว (กลุ่ม A3), กลุ่มกิจการที่ใช้เทคโนโลยีต่ำกว่าหรือมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนน้อยกว่า (กลุ่ม A4), และกลุ่มกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงและกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน แต่ยังมีความสำคัญต่อห่วงโซ่มูลค่า (กลุ่ม B1-B2) ต่อมาได้มีการเพิ่มกลุ่มกิจการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (หมวด 8) ในปี 2017 ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีสูงที่สุดจากทุกกลุ่มข้างต้น
3 หากโครงการลงทุนมีการลงทุนหรือใช้จ่ายกิจกรรมที่สามารถพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ/หรือกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และ/หรือพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
4 อธิภัทร มุทิตาเจริญ, “แรงจูงใจทางภาษี…ไทยอยู่ตรงไหนในอาเซียน,” กุมภาพันธ์ 25, 2016, https://thaipublica.org/2016/02/athiphat-2/.
5 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
6 สำนักงบประมาณ. เอกสารงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ ปีงบประมาณ 2557 ถึง 2560.
7 Athipat Muthitacharoen, “Location choice and tax responsiveness of foreign multinationals: Evidence from ASEAN countries,” The Singapore Economic Review (2022). https://doi.org/10.1142/S021759082250062X.
8 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
9, 15, 16 OECD (2021), OECD Investment Policy Reviews: Thailand, OECD Investment Policy Reviews, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/c4eeee1c-en.
10 Athipat Muthitacharoen, “Location choice and tax responsiveness of foreign multinationals: Evidence from ASEAN countries,” PIER Discussion Paper, no. 95 (2022).
11 ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และ เวียดนาม
12 มุกดา ตีรเลิศพานิช, “เหตุใดระดับหนี้จึงมีบทบาทต่อการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรง (FDI) ของประเทศไทย, สิงหาคม 27, 2022, ”http://www.setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/611.
13 VEPR, Oxfam in Vietnam, The PRAKARSA, & TAFJA. (2020). Towards Sustainable Tax Policies in the ASEAN Region: The Case of Corporate Tax Incentives. Hanoi, Vietnam.
14 Athipat Muthitacharoen, “Assessing Tax Incentives for Investment: Case Study of Thailand,” Southeast Asian Journal of Economics 4, no. 2 (2016): 105-128.

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

สรวิศ มา

สร้างสรรค์ภาพ

พิรุฬพร นามมูลน้อย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดึงดูดแรงงานต่างชาติทักษะสูง: ทางรอดเศรษฐกิจไทยที่ยังเปี่ยมขวากหนาม

แรงงานทักษะสูงกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก แต่นโยบายดึงดูดแรงงานให้เข้ามาทำงานยังเป็นขวากหนามใหญ่ที่ยังแก้ไขได้ไม่รอบด้าน

งบบริหารจัดการน้ำ: จัดสรรกันอย่างไร จะแก้น้ำท่วม/แล้งได้ไหม?

ไทยจัดสรรงบประมาณสำหรับบริหารจัดการน้ำกว่าหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี ทว่าเมื่อเข้าฤดูฝนครั้งใดก็ปรากฎว่ายังคงเกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง ชวนให้ตั้งคำถามว่าขณะที่น้ำไหลอยู่ที่นั่น งบประมาณไหลไปที่ไหน?

ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง: ออกแบบอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด?

101 PUB ชวนสำรวจว่าทำไมธนาคารกลางควรเป็นอิสระจากรัฐบาล ? ราคาที่สังคมต้องจ่ายคืออะไร ? และจะทำอย่างให้ธนาคารกลางยึดโยงกับประชาชน

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.