‘หลังโควิด’ x ‘หลังเลือกตั้ง’ : สำรวจสถานการณ์เด็กและครอบครัวไทยท่ามกลางวิกฤตรุมเร้า

ตั้งแต่สิ้นสุดวิกฤต ‘โลกระบาด’ ตั้งแต่ปี 2022 ประเทศไทยกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ทุกคนต่างกลับมาใช้ชีวิตภายใต้ ‘ความปกติใหม่’ แต่ตลอดสองปีที่ผ่านมากลับไม่ใช่เรื่องที่ง่ายสำหรับเด็กไทย เพราะพวกเขาต้องเผชิญทั้งความรุนแรงจากสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันการเมือง

ปีที่ผ่านมา ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ได้นำเสนอรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวปี 2022 โดยสรุปสถานการณ์ไว้ว่าเด็ก เยาวชน และครอบครัวต้องเผชิญกับผลกระทบหลังโรคระบาด ทั้งวิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา วิกฤตทางสังคมและการเมือง ผ่านคำเรียกว่า ‘เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต

สำหรับปีนี้ทาง คิด for คิดส์ ได้ออกรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวฉบับใหม่ โดย วรดร เลิศรัตน์ และ สรัช สินธุประมา นักวิจัยและบริหารการวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว รายงานฉบับนี้ใช้คำว่า ‘เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง’ เพื่ออธิบายสถานการณ์เด็กและครอบครัวไทยในปัจจุบัน กล่าวคือหลังจากสิ้นสุดเหตุการณ์โรคระบาดที่พบเจอกับขวากหนามในสามวิกฤต ปีนี้เหมือนกับพวกเขามาหยุด ณ ‘ทางแพร่ง’ ที่ต้องเลือกและตัดสินใจเดินทางต่อไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

‘สองทางแพร่ง’ หมายถึง ทางแพร่งโควิด และทางแพร่งหลังเลือกตั้ง ทั้งสองแพร่งนี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับเด็ก เยาวชนและครอบครัวไทยในปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว สามารถสรุปปรากฎการณ์สำคัญในสถานการณ์เด็กเยาวชนและครอบครัวทั้งสิ้น 6 ประเด็น ได้แก่

1. เด็กและเยาวชนเติบโตในครัวเรือนเปราะบางทับซ้อนและยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤต

2. เยาวชนมีงานที่ดีและสอดคล้องกับความฝันได้ยากขึ้น

3. เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยและพัฒนาทักษะจำเป็นจากระบบการศึกษา

4. เด็กและเยาวชนเผชิญปัญหาเครียดและซึมเศร้า แต่เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ไม่ทั่วถึง

5. เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเป็นจำนวนมากขึ้นในรูปแบบซ่อนเร้นยิ่งขึ้น

6. เด็กและเยาวชนฝันถึงสังคมใหม่อย่างหลากหลาย แต่ระบบการเมืองไม่เปิดกว้างและรับฟัง

สถานการณ์ที่ 1 เด็กและเยาวชนเติบโตในครัวเรือนเปราะบางทับซ้อนและยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤต

หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ชีวิตคนไทยต่างทยอยกลับคืนสู่สภาวะปกติ ทว่าหลายครัวเรือนกลับห่างไกลจากคำว่า ‘ปกติ’ เพราะต้องเจอทั้งปัญหาความยากจน สมาชิกไม่พร้อมหน้า ความเปราะบางเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่วิกฤตโรคระบาดเหมือนตัวกระตุ้นซ้ำเติมให้ความเปราะบางเหล่านั้นทับซ้อนยิ่งกว่าเดิม

เมื่อครัวเรือนเจอปัญหาความเปราะบางที่นับวันยิ่งทับซ้อนยิ่งขึ้น ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในครอบครัวไปโดยปริยาย จากการสำรวจสถานการณ์ฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19 พบว่ารายได้ครัวเรือนลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2023 ก็เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ครัวเรือนไทยที่ยากจนที่สุดราวครึ่งหนึ่งเผชิญปัญหาด้านโภชนาการ ขาดแคลนการบริโภคสารอาหารให้ครบถ้วนหรือไม่อาจบริโภคอาหารตามที่ต้องการ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีถึงร้อยละ 12 ที่เคยต้องอดอาหารทั้งวันเนื่องจากมีเงินไม่เพียงพอ

ความเปราะบางภายในครอบครัวไม่ได้มีเพียงปัญหาในมิติเศรษฐกิจ แต่กลับซับซ้อนยิ่งกว่าที่เคย เนื่องจากเด็กไทยใน 1.8 ล้านครัวเรือนไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เรียกว่าเป็น ‘ครัวเรือนข้ามรุ่น’ หรือ ‘ครัวเรือนแหว่งกลาง’ ที่ผ่านมาครัวเรือนเหล่านี้มักถูกเข้าใจว่าเป็นเพราะพ่อแม่ต้องย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น แต่จากงานศึกษาของ คิด for คิดส์ พบว่าครัวเรือนที่ไม่สมบูรณ์หรือแหว่งกลางมีความซับซ้อนมากกว่านั้น นอกจากการย้ายถิ่นเพื่อไปทำงาน ยังมีการแหว่งอีกหลายสาเหตุ เช่น พ่อแม่ต้องคดีอาชญากรรม ติดยาเรื้อรัง ทำให้การแหว่งกลางภายในครอบครัวกลายเป็นความเปราะบางสำคัญ อีกทั้งอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นหากคนในครัวเรือนดังกล่าวเกิดล้มป่วย เป็นผู้ป่วยติดเตียง พิการทางร่างกายหรือสมอง เป็นต้น จะยิ่งส่งผลให้ครัวเรือนเหล่านั้นมีลักษณะเป็น ‘ครัวเรือนเปราะบางทับซ้อน’

ทั้งนี้ ท่ามกลางสนามนโยบายในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นโยบายเกี่ยวกับครอบครัวส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือผ่านตัวเงิน เกือบทุกพรรคเสนอยกระดับเงินอุดหนุนเด็กเล็กโดยการเพิ่มวงเงิน ขยายสิทธิ์ให้ครอบคลุมช่วงอายุกว้างขึ้น ขณะที่ภาครัฐเริ่มให้ความสนใจกับประเด็นครัวเรือนเปราะบางมากขึ้น เห็นได้จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ริเริ่มพัฒนาสมุดพกครัวเรือนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนำข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มาบูรณาการกันเพื่อมุ่งค้นหาครัวเรือนเปราะบางให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม จากฐานข้อมูลดังกล่าวครอบคลุมครัวเรือนเพียง 4.5 แสนครัวเรือนเท่านั้น คิดเป็นร้อยละ 13 ของครัวเรือนเปราะบางทั้งหมด กล่าวคือในปัจจุบันรัฐเองก็ยังขาดข้อมูลสำหรับการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบางในประเทศไทยอย่างทั่วถึง และส่วนใหญ่ความช่วยเหลือจากรัฐก็เป็นเพียงการให้คำแนะนำเท่านั้น

สถานการณ์ที่ 2 เยาวชนมีงานที่ดีและสอดคล้องกับความฝันได้ยากขึ้น

จากผลสำรวจเยาวชนของคิด for คิดส์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 พบว่าเยาวชนในช่วงอายุ 15-25 ปี ร้อยละ 85 รายงานว่าการประสบความสำเร็จด้านหน้าที่การงานเป็นเป้าหมายชีวิตที่สำคัญที่สุดของพวกเขา

แต่ตั้งแต่วิกฤตโควิดเป็นต้นมา เยาวชนเหล่านั้นกลับต้องเผชิญปัญหาหางานทำยาก มีตำแหน่งงานไม่เพียงพอ  อัตราการว่างงานของเยาวชนพุ่งขึ้นจากร้อยละ 4.6 ในช่วงก่อนการระบาดของโรค กลายเป็นร้อยละ 6.6-6.8 ในช่วงปี 2020-2021 แม้ในวันนี้วิกฤตดังกล่าวจะสิ้นสุดแล้ว แต่อัตราการว่างงานก็มิได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มิหนำซ้ำตำแหน่งงานส่วนใหญ่กลับกระจุกอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของเยาวชนเพียง 15.5 ของทั้งประเทศ

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าเยาวชนในต่างจังหวัดยิ่งประสบปัญหาหางานยาก คนจำนวนมากต้องอพยพสู่กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ที่อาจจะห่างไกลจากบ้านเกิดและครอบครัว เพื่อแสวงหาโอกาสและเติมเต็มความฝันด้านการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่ากังวลยิ่งกว่าประเทศไทยมีงานไม่เพียงพอ คือไม่มี ‘งานที่ดี (decent job)’ หรือกล่าวได้ว่างานในประเทศไทยอาจไม่มีคุณภาพและคุณค่าเพียงพอในสายตาเยาวชน ซึ่งความเห็นดังกล่าวถูกสะท้อนผ่านงานศึกษาของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund, UNICEF) ว่าพวกเขาไม่พร้อมทำงาน อีกทั้งค่าจ้างแรงงานเยาวชนยังเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง โดยแรงงานเยาวชนถึงร้อยละ 80 ได้ค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างเฉลี่ยและระดับค่าใช้จ่าย

ด้านการเมือง พรรคการเมืองหลักทุกพรรคต่างมีข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเยาวชนไม่มีงานทำ ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม สร้างตำแหน่งงานใหม่ ตลอดจนกระจายตำแหน่งงานไปยังต่างจังหวัด แต่ยังขาดนโยบายเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้รับจ้างงานหรือฝึกทักษะ (not in education, employment, or training, NEET – เยาวชน NEET) กล่าวคือเป็นกลุ่มที่เผชิญข้อจำกัดทางสังคม ส่งผลให้ไม่ต้องการหรือไม่สามารถทำงานได้ อีกทั้งนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ยังละเลยการพัฒนาคุณภาพงานให้กลายเป็นงานที่ดีในทุกมิติ

สถานการณ์ที่ 3 เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยและพัฒนาทักษะจำเป็นจากระบบการศึกษา

ท่ามกลางการศึกษาไทยที่นักเรียนต้องเผชิญคุณภาพที่ย่ำแย่และเหลื่อมล้ำเป็นทุนเดิม การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิดระหว่างปี 2020-2022 ก่อให้เกิดภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย ซ้ำเติม ผลการศึกษาของ คิด for คิดส์ พบว่าภาวะดังกล่าวส่งผลต่อขีดความสามารถของเยาวชนโดยตรง ยิ่งมีการปิดสถานศึกษานานเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลต่อภาวะถดถอยและรายได้เท่านั้น

ภาวการณ์เรียนรู้ถดถอยดังกล่าวสะท้อนความล้มเหลวของระบบการจัดการเรียนออนไลน์ซึ่งเข้ามาทดแทนในช่วงการปิดสถานศึกษา วิกฤตโควิดจึงเป็นเหมือนตัวเร่งความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ทำให้เห็นว่าการศึกษาไทยยังมีปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะมิติการพัฒนาทักษะแก่ผู้เรียนได้ไม่เพียงพอและเท่าเทียม

นอกจากนี้ จากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ พบว่าปัญหาที่เยาวชนอายุ 15-25 ปี เห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขร่วมกันมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาครูไม่มีเวลาสอนเนื่องจากติดภาระงานอื่น ปัญหาอำนาจนิยมในสถานศึกษา การละเมิดสิทธิ และการขาดช่องทางการมีส่วนร่วมในสถานศึกษา

สถานการณ์ที่ 4 เด็กและเยาวชนเผชิญปัญหาเครียดและซึมเศร้า แต่เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ไม่ทั่วถึง

การที่เด็กและเยาวชนเผชิญกับความเครียดและซึมเศร้านับว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในปี 2023 และยังคงเป็นวิกฤตในตัวเองที่ยังรอการแก้ไข โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพจิต บุคลากรจิตเวชที่เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชนยังกระจุกตัวในเมืองหลวงและขาดแคลนในอีกหลายจังหวัด

ในช่วงล็อกดาวน์ในปี 2022 ซึ่งส่งผลให้เด็กและเยาวชนต้องปรับตัวมาสู่การเรียนออนไลน์ มีข้อมูลเปิดเผยว่าอัตราการพยายามฆ่าตัวตายของคนไทยสูงสุดอยู่ในวัยเรียน ซึ่งมากกว่าวัยทำงานถึง 5 เท่า

ถึงแม้หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 จะส่งผลให้ความเสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มลดลง แต่ตัวเลขกลับเพิ่มสูงอีกครั้งในช่วงเปิดภาคเรียน โดยความเครียดดังกล่าวไม่ได้เกิดจากปัจจัยเรื่องการเรียนและไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น เพราะเยาวชนไทยกว่า 1 ใน 3 ยังเรียนพิเศษเพิ่มอีกเฉลี่ย 11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นักเรียนในต่างจังหวัดเรียนพิเศษสูงถึงร้อยละ 35.6 ขณะที่ในกรุงเทพและปริมณฑลเรียนพิเศษร้อยละ 19.5 ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่าเยาวชนในต่างจังหวัดเผชิญปัญหาการศึกษาในโรงเรียนมากกว่าทุกๆ ด้าน

ท่ามกลางปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน โอกาสที่พวกเขาจะเข้าถึงบริการด้านจิตเวชในพื้นที่ต่างๆ ยังคงยากลำบากและเหลื่อมล้ำกันอย่างสูง ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพใจของเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะของบุคลากรจิตเวชที่ได้รับการฝึกฝนด้านเด็กและวัยรุ่นมาโดยตรง แต่สถานพยาบาลที่ให้บริการด้านจิตเวชทั้งหมดในประเทศไทย 452 แห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชน และคลินิก มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่เพียง 177 แห่ง ขณะเดียวกัน ใน 17 จังหวัดของไทยไม่มีสถานพยาบาลที่มีจิตแพทย์เด็กเลยแม้แต่แห่งเดียว

สถานการณ์ที่ 5 เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจำนวนมากขึ้น ในรูปแบบซ่อนเร้นยิ่งขึ้น

ในช่วงปีที่ผ่านมา คนไทยประสบกับเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู นับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจแก่คนในสังคมอย่างมาก เพราะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จากเหตุการณ์เป็นเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อย่างไรก็ดี ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนหลายครั้งไม่เป็นที่รับรู้ของสังคม บางครั้งเกิดในบ้านที่ไม่มีใครพบเห็น

จากข้อมูลกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว รายงานว่าความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2022 ส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรี และมีบุคคลใกล้ชิด อาทิ พ่อแม่ เป็นผู้ทำร้ายร่างกายเด็กมากที่สุด

ทั้งนี้ เรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือแนวโน้มที่เด็กและเยาวชนถูกทำร้ายทางเพศ เฉลี่ยปีละ 459 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 85.7 เป็นเด็กและเยาวชนหญิง ซึ่งความรุนแรงทางเพศต่อเด็กและเยาวชนดังกล่าว เป็นหนึ่งใน ‘แผลใจในวัยเด็ก’ ที่ถึงแม้บาดแผลอาจไม่ส่งผลให้เห็นทันที แต่จะฝังลึกในใจ แล้วไปแสดงอาการในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นได้ทั้งอาการป่วยทางจิตใจและร่างกาย

ด้านพรรคการเมืองต่างออกนโยบายเกี่ยวกับความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ผ่านการกระจายอยู่ในหมวดต่างๆ อาทิ การแก้ปัญหาอำนาจนิยมและการละเมิดสิทธิโดยครู หรือบางพรรคก็เสนอการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองเด็กอย่างเข้มงวดมากขึ้น แต่ในภาพรวม นโยบายต่างๆ ยังไม่เป็นเอกภาพและไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นวาระสำคัญเร่งด่วนเท่าที่ควร อีกทั้งทุกพรรคการเมืองก็ยังไม่มีพรรคใดเสนอนโยบายป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นทางการ

สถานการณ์ที่ 6 เด็กและเยาวชนฝันถึงสังคมใหม่อย่างหลากหลายแต่ระบบการเมืองไม่เปิดกว้างและรับฟัง

หลายปีที่ผ่านมา เยาวชนไทยตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น สะท้อนว่าพวกเขาฝันถึงภาพสังคม เศรษฐกิจที่ดี และต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีความฝันร่วมกัน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.เยาวชนหวังให้เสรีภาพทางความคิดได้รับการคุ้มครอง 2.เยาวชนฝันถึงการทลายระบบอุปถัมภ์และเส้นสาย และ 3.เยาวชนต้องการปฏิรูปเศรษฐกิจให้ทุกคนกินดีอยู่ดี มีโอกาสเสมอภาคกัน

ยิ่งไปกว่านั้น เยาวชนอายุ 15-18 ปียังหวังให้ประเทศมีสวัสดิการและบริการสาธารณะที่ประชาชนทุกสถานะเศรษฐกิจสังคมทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงได้ มีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันในทุกสถานศึกษา และเปิดกว้างสำหรับความต้องการอันหลากหลายของผู้เรียน ในการบรรลุเป้าหมายนั้น เยาวชนต่างมุ่งหวังให้ขับเคลื่อนผ่านกระบวนการที่ชอบธรรม คือการอาศัยระบอบประชาธิปไตยซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม

แม้ในวันนี้เยาวชนไทยจะมีความฝันและความหวังต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง แต่ในทางกลับกัน ระบบการเมืองยังขาดช่องทางการรับฟัง รัฐบาลยังกดปราบเด็กและเยาวชนที่มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ กระทั่งในสนามเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองหลักก็ไม่มีแนวนโยบายแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจน นอกจากพรรคก้าวไกลพรรคเดียวที่เสนอให้มีช่องทางการมีส่วนร่วมของเยาวชนอย่างเป็นทางการ และประกาศเจตจำนงในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีบทบัญญัติเสรีภาพในการแสดงความเห็น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 รวมถึงการตรากฎหมายต่อต้านการปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ เพื่อคุ้มครองเด็ก เยาวชน และประชาชน

………………………………………………………………………..

เอกสารและงานเสวนา

ดาวน์โหลด ‘รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023’ ได้ ที่นี่

รับชม งานเสวนาสาธารณะ “เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023” ได้ ที่นี่

วิจัย/เขียน

วรดร เลิศรัตน์

วิจัย/เขียน

สรัช สินธุประมา

สร้างสรรค์ภาพ

ณัฐพล อุปฮาด

บทความที่เกี่ยวข้อง

เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง

เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023

101 PUB ชวนอ่าน “เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023” พร้อม “สถิติสำคัญด้านเด็กและครอบครัว”

17 May 2023
เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง

‘เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง’ เมื่อบาดแผลของวันนี้อาจเด็ดปีกฝันของเยาวชนไทยในอนาคต

101 PUB ชวนชมการนำเสนอผลวิจัยคุณค่า-ทัศนคติเยาวชน และรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023

เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

101 PUB ชวนทำความเข้าใจ ‘คุณค่า-ทัศนคติ’ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของ ‘เยาวชนไทย’ จากผลสำรวจเยาวชนสองหมื่นคนทั่วประเทศ หาคำตอบว่าพวกเขาคิดฝันอะไร เป็นใคร และมีพฤติกรรมอย่างไร

22 June 2023
1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.