อ่านดัชนีชี้วัดความก้าวหน้ารายจังหวัด: ก้าวต่อไปเพื่อพัฒนาไทยด้วยตัวชี้วัดแห่งอนาคต

101 PUB

30 October 2024

ประเทศไทยจะมี 77 จังหวัด โดยที่แต่ละจังหวัดล้วนมีศักยภาพและอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่อยมาว่าประเทศไทยคล้ายจะสนใจและให้ความสำคัญกับแค่กรุงเทพฯ ซึ่งประเด็นนี้อาจเป็นเพียงเรื่องตลกร้ายหากมองอย่างผิวเผิน ทว่าหากมองให้ลึกกว่านั้น เราอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่นโยบายการพัฒนาส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ต่างพุ่งตรงและกระจุกตัวอยู่แต่ที่กรุงเทพฯ กลายเป็นสิ่งที่สร้างความเหลื่อมล้ำและส่งผลกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่

ยิ่งไปกว่านั้น ดัชนีชี้วัดหลายตัวที่ใช้วัดความก้าวหน้าของการพัฒนามักเป็นการวัดในระดับประเทศที่ขาดมิติการมองภาพระดับจังหวัด คำถามสำคัญคือเรามองแต่กรุงเทพฯ จนหลงลืมอีก 76 จังหวัดที่เหลือหรือไม่ และเราจะทำอย่างไรเพื่อที่ให้มีมาตรวัดที่เที่ยงตรงและสามารถประยุกต์ใช้กับจังหวัดอื่นๆ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนา กล่าวคือดึงเอาพลังของแต่ละจังหวัดที่ซ่อนเร้นอยู่ออกมาร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศไทย

101 PUB ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมหาแนวทางการจัดทำเครื่องมือชี้วัดบริบทพื้นที่ ผ่านดัชนีชี้วัดความสามารถรายจังหวัด (Provincial competitiveness index) และดัชนีความก้าวหน้าของสังคมรายจังหวัด (Social progress index) เพื่อใช้วัดทั้งมิติเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดได้อย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เพราะประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เพราะฉะนั้น การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยไปให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงควรทำควบคู่ไปพร้อมกับการไม่ทิ้งจังหวัดใดให้อยู่ข้างหลังแม้แต่จังหวัดเดียว

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากงานเสวนา ‘วัด-ก้าว-เปลี่ยน’: ขับเคลื่อนจังหวัดผ่านตัวชี้วัดแห่งอนาคต จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2567


ชวนรู้จัก ‘ดัชนีชี้วัดความสามารถรายจังหวัด’ และ ‘ดัชนีความก้าวหน้าของสังคมรายจังหวัด’ – ฉัตร คำแสง และเฉลิมพงษ์ คงเจริญ


หนึ่งในคำถามสำคัญคือทำไมประเทศไทยต้องทำดัชนีเพิ่มเติม ลำพังดัชนีที่มีอยู่มากมายจนวัดกันไม่หวาดไม่ไหวของเรายังไม่เพียงพออีกหรือ?

สำหรับประเด็นนี้ ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank ให้คำตอบที่น่าสนใจว่าดัชนีเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากไม่มีดัชนีหรือตัวชี้วัดก็จะไม่ทราบแนวทางการพัฒนา ขณะเดียวกันดัชนีที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เป็นดัชนีระดับประเทศที่ทำให้ไม่เห็นภาพท้องถิ่นอย่างชัดเจนเพียงพอ

“เราชอบบอกว่าอยากให้ไทยทำวิจัยและมีนวัตกรรมเยอะๆ จะได้มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองและตามทันประเทศอื่น แต่การจะตัดสินใจทำนวัตกรรมเหล่านี้ต้องคิดให้ถี่ถ้วนเพราะมีต้นทุนและผลประโยชน์ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เท่ากับว่ามีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวอยู่ด้วย” ฉัตรระบุ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ฉัตรจึงมองว่าผู้ทำวิจัยต้องเริ่มจากความต้องการที่จะมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง และมีขีดความสามารถพร้อมจะทำวิจัยนวัตกรรมต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านทุน มนุษย์ และสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ดี เขาเท้าความว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีการวัดขีดความสามารถจริง แต่เป็นการวัดในระดับประเทศ ทั้งในแง่ขีดความสามารถในการแข่งขันและสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจของประเทศ ทำให้เมื่อมองระดับรายจังหวัดจึงประสบปัญหาว่าไม่สามารถจัดสรรเงินทุนลงที่แต่ละจังหวัดได้

จึงนำมาสู่ข้อสรุปของความจำเป็นในการทำดัชนีที่ฉัตรชี้ว่า “เราต้องมีข้อมูลรายพื้นที่เพื่อที่จะตอบว่าแต่ละพื้นที่จะได้รับการพัฒนาแบบใด”

นอกจากการระบุแนวทางการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ ฉัตรมองว่าดัชนีเช่นนี้ยังเป็นแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขันกันในแต่ละพื้นที่ด้วย ดังตัวอย่างในต่างประเทศที่มีความพยายามในการทำดัชนีการแข่งขันในระดับจังหวัดเพื่อทำให้เกิดสภาพแวดล้อมในการแข่งขัน ทั้งหมดทั้งมวลจึงเป็นที่มาของแนวทางการจัดทำเครื่องมือชี้วัดบริบทพื้นที่ผ่านดัชนีชี้วัดความสามารถรายจังหวัด (Provincial competitiveness index) และดัชนีความก้าวหน้าของสังคมรายจังหวัด (Social progress index) ที่ดูทั้งเรื่องของการแข่งขันและการพัฒนาเชิงสังคม

“เรามองถึงการกระจายความพัฒนาสู่ระดับบุคคล เพราะคนที่ได้รับการพัฒนาก็จะกลับมาส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้อีก เป็นเหมือนวงจรที่ทำให้ทุกอย่างเติบโตได้พร้อมกัน” ฉัตรระบุ

จากการเกริ่นนำ ฉัตรส่งไม้ต่อให้ ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายดัชนีทั้งสองตัว ซึ่งเฉลิมพงศ์นิยามดัชนีทั้งสองตัวนี้ว่า ‘ดัชนีด้านการแข่งขันและด้านสังคม’ เพื่อให้เข้าใจง่าย

ในด้านการแข่งขัน เฉลิมพงษ์เริ่มด้วยการชี้ให้เห็นความท้าทาย โดยอธิบายว่าเมื่อเราพูดถึง ‘ความสามารถในการแข่งขัน’ ก็มักจะมีปัญหาเรื่องการนิยามที่ไม่ตรงกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นปัญหามาจากการที่หน่วยงานระดับโลกต่างมีนิยามของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ที่มีการปรับเปลี่ยนดัชนีให้ครอบคลุมเรื่องประเด็นทางสังคมมากขึ้นในช่วงหลัง หรือดัชนีวัดความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business Index) ของธนาคารโลก

ส่วนประเด็นหลักในการพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขัน เฉลิมพงษ์อธิบายว่าดูผลิตภาพ (productivity) เป็นหลักว่ามีอะไรกระทบบ้าง และอาจดูเรื่องต้นทุนที่ผู้ประกอบการใช้ในการทำธุรกิจด้วย ทว่าเมื่อดูไปถึงรายละเอียดของปัจจัยที่ใช้อธิบายเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันจะพบมีหลายประเด็นที่ทับซ้อนกัน ทั้งปัจจัยเชิงสถาบัน โครงสร้างพื้นฐาน และทุนมนุษย์ ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยที่ถูกนำมาพิจารณาคือเรื่องนวัตกรรม ด้วยดัชนีนวัตกรรมโลกที่ถูกเผยแพร่โดยองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ที่มีความใกล้เคียงกับเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน

“แต่ละประเทศพยายามพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขันระดับพื้นที่ สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นไกด์ไลน์ได้ คือดัชนีความสามารถในการแข่งขันของยุโรป ซึ่งก็ใช้แนวคิดของ WEF มาสร้างดัชนี เช่น ปัจจัยพื้นฐาน สถาบัน กฎระเบียบ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน สุขภาพ และการศึกษา ส่วนด้านประสิทธิภาพจะพูดถึงตลาดแรงงาน ขนาดตลาด การศึกษาชั้นสูง และนวัตกรรม นอกจากนี้ ประเด็นทางสังคมอย่างความปลอดภัยและความเป็นปึกแผ่นของสังคมก็เป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย” เฉลิมพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ เฉลิมพงษ์ยังศึกษาตัวอย่างจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเวียดนามที่มี Provincial Competitiveness Index ที่เน้นต้นทุนในการทำธุรกิจ ทั้งประเด็นการทำธุรกิจและดำเนินธุรกิจ โดยเขาชี้ว่าดัชนีนี้จะเอื้อให้นักลงทุนด้วย เนื่องจากต่างประเทศลงทุนในเวียดนามสูง โดยนักลงทุนจะรู้ว่าแต่ละพื้นที่มีปัจจัยที่แตกต่างกันอย่างไร ทำให้คนดำเนินนโยบายระดับพื้นที่สามารถปรับปรุงการให้บริการต่างๆ เพื่อดึงดูดคนเข้ามาลงทุนได้

ทั้งหมดทั้งมวลนำมาสู่ข้อเสนอในการสร้างดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลักๆ ได้แก่ ปัจจัยนำเข้าที่มีเสาหลักทั้งด้านสถาบัน (ได้แก่ กฎหมาย ความเสมอภาค ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (ได้แก่ คมนาคม สาธารณูปโภค และการเชื่อมโยงด้านดิจิทัล) และด้านทุนมนุษย์ (ได้แก่ การศึกษาและสาธารณสุข) และดูผลผลิตอีกหนึ่งเสาหลักคือความซับซ้อนทางธุรกิจและนวัตกรรม

ส่วนด้านสังคม เฉลิมพงษ์เผยว่าแนวคิดใช้ GDP วัดความกินดีอยู่ดีอาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป เนื่องจาก GDP ไม่สะท้อนความอยู่ดีกินดีของคนในสังคมและไม่พิจารณาถึงประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และความเหลื่อมล้ำ จึงมีผู้ที่พยายามปรับปรุงให้เกิดการสร้างดัชนีที่วัดความอยู่ดีมีสุข รวมถึงมองประเด็นเรื่องความยั่งยืนและมิติผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ดังที่เห็นจากดัชนีระดับโลกต่างๆ ทั้ง OECD Better Life Index หรือตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่วัดทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ในไทยก็มีการจัดทำดัชนีด้านสังคมอยู่บ้าง เช่น รายงานภาวะสังคมรายไตรมาสของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

“ประเด็นด้านโอกาสยังไม่ได้รับการพัฒนามากเท่าที่ควร เราจึงไปดูต่างประเทศว่าถ้าจะมองประเด็นสิทธิ เสรีภาพ และทางเลือกด้านสังคมที่ครอบคลุม จะมีคำถามใดหรือตัวชี้วัดใดที่น่าสนใจบ้าง” เฉลิมพงษ์ระบุ ทั้งนี้ เขายกตัวอย่างถึงดัชนีวัดความอยู่ดีมีสุขที่วัดด้านสารสนเทศและการสื่อสาร โดยพิจารณาอัตราการเข้าถึงมือถือและอินเทอร์เน็ต หรือด้านสุขภาพที่ดูสัดส่วนผู้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ทว่าประเด็นที่ยังขาดอยู่คือเรื่องการวัดด้านสิทธิ เสรีภาพ และสังคมที่ครอบคลุม

ถึงที่สุด ฉัตรปิดท้ายว่าข้อดีของดัชนีวัดความก้าวหน้าทางสังคมคือการช่วยวางรากฐานให้เข้าถึงความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงสร้างโอกาสที่ดีไปพร้อมกัน


ร่วมวิเคราะห์ดัชนีชี้วัด ใช้อย่างไรให้ตอบโจทย์มากที่สุด – แบ๊งค์ งามอรุณโชติ 


“ถ้าเรานำดัชนีความสามารถในการแข่งขันแบบรายจังหวัดและดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมมาวางลงบนทิศทางการพัฒนาของไทย ดัชนีมีความหมายว่าอย่างไรและทำไมต้องเป็นรายจังหวัด” ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกริ่นนำด้วยคำถามชวนคิด

แบ๊งค์เสริมว่าคำตอบของคำถามดังกล่าวอาจต้องย้อนกลับมาดูภาพใหญ่ กล่าวคือทิศทางการพัฒนาของไทยตลอด 60-70 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวลงเรื่อยๆ ทว่าภาพดังกล่าวเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือการที่ประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวด้านเทคโนโลยีและการพัฒนากำลังคนได้ดีนัก

“เรื่องแรงงานสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าสมรรถนะเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การสื่อสารหรือเรื่องดิจิทัลของแรงงานไทยอยู่ในลักษณะที่ไม่ดีเพียงพอ มีการจ้างงานที่เปราะบาง และการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการสูงถึงร้อยละ 50 ซึ่งทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลง” แบ๊งค์ระบุ 

เมื่อขยับมาดูภาพใหญ่จะเห็นว่าสามเหลี่ยมโครงสร้างที่คลุมปัญหานี้คือหนี้ภาครัฐและภาคเอกชนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในฝั่งอุปสงค์กลายเป็นเรื่องยากขึ้น ขณะที่ความเหลื่อมล้ำก็สูงขึ้นตามลำดับเช่นกัน

“นี่จะนำไปสู่ทิศทางเศรษฐกิจไทยสองข้อ ข้อแรกคือการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านอุปสงค์จะทำได้ยากขึ้น โจทย์จะถูกขยับมาอยู่ที่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฝั่งภาคการผลิตหรือฝั่งอุปทานมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ การปรับตัวเชิงโครงสร้างจะกลายเป็นวาระสำคัญของประเทศ”

ข้อที่สองคือการวัดการผลิตจากการเติบโตจากส่วนกลาง ปริมณฑล และนิคมภาคกลางและภาคตะวันออก ทว่าตรงนี้ก็ชนเพดานแล้วเช่นกัน กล่าวคือทำได้แต่ไม่เพียงพอในการพาไทยไปสู่การพัฒนาลำดับถัดไป เราจึงต้องคิดยุทธศาสตร์ที่จะกระจายศูนย์สู่ภูมิภาค จังหวัด และกลุ่มจังหวัดมากขึ้น”

แบ๊งค์สรุปว่าทิศทางเหล่านี้จะสอดคล้องกับดัชนีที่ละเอียดมากกว่าภาพรวมของประเทศ โดยจะต้องเห็นไปถึงจังหวัดและกลุ่มจังหวัดมากขึ้น ซึ่งการมีเครื่องมือหรือดัชนีชี้เป้าหมายระดับจังหวัดจะสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

“ผมว่าภาครัฐก็ไปในทิศทางนี้เช่นกัน คือการคิดบนฐานการพัฒนาที่กระจายศูนย์จากส่วนกลางมากขึ้น ซึ่งจะต้องการข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน” แบ๊งค์เผย

แบ๊งค์อ้างถึงรายงานของธนาคารโลกที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าการปรับตัวจากการเติบโตของไทยชี้ไปในเพดานเดียวกัน คือร้อยละ 2 กว่า โดยเมืองรองจะมีอัตราการขยายตัวมากกว่ากรุงเทพฯ ถึง 15 เท่า และจะไปได้ไกลขึ้นหากได้รับการเสริมแรง

“อาจเรียกรวมๆ ได้ว่านี่คือยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเติบโตจากท้องถิ่น (local growth engine) คือการทำให้พื้นที่ในหน่วยจังหวัดหรือท้องถิ่นสร้างฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การจะทำให้สิ่งนี้เติบโตได้ต้องอาศัยขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น เวลาที่เราพูดถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยเสริมความสามารถของผู้ประกอบการอาจต้องพูดถึงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการพัฒนา” แบ๊งค์กล่าว

นอกจากนี้ แบ๊งค์ยังชี้ให้เห็นความจำเป็นในการถักทอเครือข่ายการผลิตในพื้นที่ให้แน่นหนา เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการกระตุ้นส่งเสริมจะพาเอกชนไปทั้งกลุ่มก้อน รวมถึงขยายตัวไปเอามูลค่านอกพื้นที่เพื่อให้พื้นที่ขยายตัวได้เร็ว นำไปสู่การวางโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมสู่โลกโดยไม่ต้องผ่านกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่

อย่างไรก็ดี แบ๊งค์ชี้ว่าไม่มีกระสุนเงินที่จะสามารถจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยได้ในนัดเดียว แต่ต้องอาศัยหลายเครื่องมือ รวมถึงเข้าใจบทบาทของดัชนีที่ถูกพัฒนาขึ้นมา และมองไกลไปให้ถึงเครื่องมือเชิงนโยบายที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างของดัชนีได้

“ผมเชื่อว่าดัชนีนี้จะช่วยตั้งเป้ายุทธศาสตร์ให้ภาครัฐได้อย่างเป็นระบบ แต่เราจำเป็นต้องคิดถึงการใช้ประโยชน์ตั้งแต่แรก และชวนคนที่คิดว่าจะได้ใช้ดัชนีมาร่วมออกแบบด้วย รวมถึงตั้งเป้าหมายว่าดัชนีนี้จะนำไปสู่จินตนาการและความเข้าใจในระดับพื้นที่เพื่อสร้างการพัฒนาที่หลากหลายและเป็นระบบ และสุดท้าย เราอาจลองถอยออกมาอีกขั้นเพื่อดูว่ามีตัวแปรทางนโยบายหรือตัวแปรเชิงควบคุมอย่างไร เพื่อพัฒนาผลลัพธ์และจะถูกวัดโดยดัชนีได้”

หากกล่าวโดยสรุป แบ๊งค์เปรียบเปรยว่าดัชนีเป็นเครื่องมือ แต่วิธีการใช้ดัชนีเป็นกระบวนท่า ซึ่งสองส่วนต้องไปพร้อมกันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

แบ๊งค์กล่าวว่า “สมมติให้แกนตั้งเป็นขีดความสามารถรายจังหวัด และแกนนอนเป็นความก้าวหน้าเชิงสังคมรายจังหวัด เราแบ่งหยาบๆ เป็นสูงกับต่ำไปหาค่ากลาง ก็จะได้กลุ่มจังหวัดออกมา 4 กลุ่มแล้ว ซึ่งสะท้อนอะไรมากมาย เช่น ถ้าแข่งขันดีแต่สังคมไม่ก้าวหน้า ก็จะเป็นจังหวัดที่เติบโตเยอะแต่กันคนออกไป แต่ถ้าในทางกลับกันคือสังคมดีแต่แข่งขันไม่ได้ ก็อาจจะกลายเป็นบ้านพักตากอากาศ คืออยู่แล้วมีความสุข แต่ไม่อยากอยู่ยาวเพราะรู้สึกว่าไม่ก้าวหน้า ความแตกต่างเหล่านี้ก็จะส่งผลกับวิธีที่เราเข้าไปดำเนินการขับเคลื่อนจังหวัดเหล่านี้ด้วย”

นอกจากการพิจารณาสองดัชนีเข้าด้วยกันแล้ว แบ๊งค์ยังยกตัวอย่างการนำดัชนีเดียวกันมาพิจารณาทับซ้อนกัน เช่น หากจังหวัดหนึ่งมีปัจจัยนำเข้าสูง ผลลัพธ์สูง ก็ย่อมไปได้ดี แต่ถ้าปัจจัยนำเข้าสูงทว่าผลลัพธ์กลับน้อยก็ต้องพิจารณาแล้วว่าปัญหาเกิดจากอะไร และต้องพิจารณาไปถึงว่าดัชนีเรื่องใดที่จังหวัดดูแลได้หรือไม่ได้ เพื่อทำให้ภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

ในตอนท้าย แบ๊งค์กล่าวว่าดัชนีนี้ควรตอบโจทย์อนาคต โดยมองไปถึงสาขาอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ สาขาพลังงานทางเลือกและเศรษฐกิจสีเขียว ขณะที่ด้านสังคมอาจลองพิจารณาเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่โลกกำลังให้ความสำคัญ


สะท้อนมุมมองจากภาคเอกชน เมื่อดัชนีสามารถเป็น ‘โซ่ข้อกลาง’ ได้ – นครินทร์ อมเรศ 


ในฐานะผู้มีประสบการณ์ทั้งในวงวิชาการ ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ดร.นครินทร์ อมเรศ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ชี้ให้เห็นว่าคำว่า ‘ยุทธศาสตร์’ ที่มักใช้ในภาครัฐและแวดวงวิชาการมักถูกใช้แทนด้วยคำว่า ‘กลยุทธ์’ ในภาคเอกชน คือเป็นการย่อลงมาจากยุทธศาสตร์ที่มองให้เห็นทั้งกระดาน เป็นการมองยุทธวิธีและหนทางที่เกิดขึ้น 

“อย่างไรก็ดี กลยุทธ์สะท้อนว่าการจะทำอะไรเป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดหวัง ดังนั้น จะทำอะไรในทางธุรกิจต้องมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน โดยมีกลยุทธ์เป็นแนวนำทาง” นครินทร์กล่าว

หากพูดในฐานะตัวแทนภาคธุรกิจ นครินทร์มองว่าดัชนีมีไว้เพื่อสร้างบรรทัดฐานและเปรียบเทียบ เป็นการมองแบบข้างนอกเข้ามาข้างใน เช่น การที่นักลงทุนต่างชาติจะเลือกลงทุนที่จังหวัดหรือประเทศใด นักลงทุนจะต้องรู้และเปรียบเทียบก่อนว่าแต่ละที่เป็นอย่างไร จนเกิดเป็นความย้อนแย้งประการหนึ่ง กล่าวคือแม้เราจะพยายามสร้างดัชนีมาเป็นบรรทัดฐานเทียบกัน ทว่าแต่ละพื้นที่ก็มีบริบทที่แตกต่างกัน จึงมีอีกแนวทางการศึกษาที่พยายามชูแนวคิดการระเบิดจากข้างใน หรือระเบิดจากมุมท้องถิ่นขึ้นไป

อีกแง่มุมหนึ่งคือการมองทั้งจากบนลงล่างและล่างขึ้นบน ทั้งในแง่การทำแผนยุทธศาสตร์ ถ่ายระดับลงมาเป็นแผนปฏิบัติการและลงมาสู่จังหวัดและกลุ่มจังหวัด ในทางกลับกันก็จำเป็นต้องมีมุมล่างขึ้นที่มองขึ้นไป โดยดูจากทุนพื้นถิ่น นวัตกรรม และวัฒนธรรม

“ดัชนีนี้จะเป็นแกนกลางของหมุดที่เราปักไว้ แต่ลองนึกภาพธุรกิจที่เวลาจะทำอะไรก็มักจะเลือกลงทุนโดยการกางแผนที่ประเทศไทยขึ้นมา แต่จะลงไปถึงขั้นเลือกจังหวัด อำเภอ หรือตรอกซอกซอย ก็อาจทำถึงขั้นนั้นไม่ได้ แต่มันจะเกิดจากการที่เรารู้จักท้องถิ่นและเข้าใจความเสี่ยงประมาณหนึ่ง เมื่อถึงเวลาประชุม ผู้แทนจากภาคเอกชนคงไม่ได้มีเป้าประสงค์ในการมองดัชนีจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง แต่จะมองไปถึงข้อเท็จจริงของดัชนีนั้นมากกว่า” นครินทร์ระบุ

นครินทร์ชี้ว่าหากเราไม่คาดหวังแบบผิดๆ หรือใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดจากดัชนี ดัชนีย่อมสะท้อนให้เห็นความเป็นจังหวัด รวมถึงการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการในท้องที่ และด้วยความที่ธุรกิจจะเน้นที่ผลผลิต (output) ก่อน ดัชนีจึงจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางประกบกันระหว่างยุทธศาสตร์และตัวเลขเชิงกลยุทธ์ของแต่ละธุรกิจ

“พูดให้เห็นภาพคือภาครัฐจะมีโซ่ข้อกลางที่เชื่อมการทำงานกับภาคธุรกิจ ส่วนภาคธุรกิจก็รู้แล้วว่ากลยุทธ์ที่เขาทำอยู่จะส่งผลกับภาคส่วนต่างๆ ในท้องที่ที่มีส่วนกับการสร้างผลลัพธ์และส่งต่อไปที่ยุทธศาสตร์ของภูมิภาคกับประเทศได้อย่างไร”

นอกจากนี้ นครินทร์ยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดตั้งกลุ่มหรือสมาคม ซึ่งเป็นภาคส่วนที่เก่าแก่มากทั้งในโลกและในไทย เป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่คนกลางทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กระจายเครือข่ายไปสู่สมาชิกและช่วยจัดสรรทรัพยากร ทำให้ข้อมูลจากภาครัฐไหลเวียนสู่คนตัวเล็กตัวน้อยมากขึ้น

ในตอนท้าย นครินทร์เน้นย้ำถึงความสำคัญของปัจจัยสองประการที่จะส่งผลต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ ความเสี่ยงภัยทางการเงินและการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง การเงิน และความมั่งคั่ง เพื่อที่จะสร้างโอกาสในการเติบโตต่อไปได้


มุมมองภาครัฐในการพัฒนาจังหวัด และตัวอย่างข้อเสนอแนะตัวชี้วัด – จริญญา สายหยุด 


ขยับมาที่มุมมองของภาครัฐ ดร.จริญญา สายหยุด ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สศช.) ฉายภาพการทำงานเชิงการพัฒนาพื้นที่ว่าทำงานผ่านพระราชกำหนดการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ซึ่งมุ่งเน้นการบริหารภาค จังหวัด และกลุ่มจังหวัดเข้าด้วยกัน และขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

“พระราชกำหนดฯ ระบุด้วยว่าการบริหารเงินเชิงพื้นที่แบบบูรณาการต้องเป็นไปตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ในส่วนของหลักการคือการพัฒนาเชิงพื้นที่ต้องเป็นองค์รวม กล่าวคือพัฒนาคุณภาพชีวิตคน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความสงบเรียบร้อย ความเหลื่อมล้ำ และการมีส่วนร่วม แปลโดยง่ายคือ 5 มิติการพัฒนาของ SDGs ซึ่ง สศช. นำมาทำเป็นตัวชี้วัดระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่สอดคล้องกันด้วย” จริญญากล่าว

หากขยับไปดูในภาพใหญ่อย่างการทำแผนจังหวัด จริญญาชี้ว่าจังหวัดจะต้องนำแผนพัฒนาระดับประเทศมาขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ รวมถึงต้องพัฒนาทั้งศักยภาพ โอกาส และข้อจำกัดของพื้นที่ อย่างไรก็ตาม เธอเน้นย้ำว่าบริบทการพัฒนาของแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน ดังนั้น ทั้งจุดเน้น ปัญหาความต้องการของประชาชน และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของแต่ละจังหวัดก็แตกต่างกันออกไป

ในฐานะของคนที่ทำงานด้านการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่และตัวชี้วัดมาอย่างยาวนาน จริญญาให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาดัชนีในอนาคต ได้แก่

ประเด็นด้านสังคม จริญญาชี้ว่าควรพิจารณาเรื่องภาวะทุพโภชนาการและความสำคัญด้านโภชนาของทั้งมารดาและเด็ก ทั้งภาวะผอมเกินไปและน้ำหนักมากเกินไป รวมถึงพิจารณาอัตราการเสียชีวิตของมารดาด้วย เช่นเดียวกับเรื่องนิยามของการส่งเสริมสุขภาพที่เธอมองว่าครอบคลุมไปไกลกว่าเรื่องการเจ็บป่วย จึงอาจต้องพิจารณาเรื่องมิติความอยู่ดีมีสุข เช่น การได้รับการฉีดวัคซีนหรือการได้รับบริการสาธารณสุข รวมถึงการดูอัตราส่วนของแพทย์ต่อประชากรในภาพรวม

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกประเด็นที่น่ากล่าวถึง อาทิ เรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่อาจพิจารณาภาพของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เข้ามาสร้างผลกระทบกับการพัฒนาจังหวัด ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานทดแทน ตลอดจนปริมาณร้อยละของพื้นที่ป่าไม้ต่อพื้นที่จังหวัด ซึ่งจะครอบคลุมถึงเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความอยู่ดีมีสุข

ตัวอย่างทิ้งท้ายที่น่าสนใจคือประเด็นของโอกาส สิทธิ เสียง และเสรีภาพ ที่ยังไม่มีตัวชี้วัดชัดเจนในระดับจังหวัด จริญญาจึงเสนอว่าอาจพิจารณาเรื่องสังคมที่ครอบคลุมและการศึกษาระดับสูง อาทิ ร้อยละของแรงงานในระบบประกันสังคม หรือการที่ผู้พิการสามารถเข้าถึงการลงทะเบียนและได้รับบัตรคนพิการ เป็นต้น

เรียบเรียง/นำเสนอ

101 PUB

ดำเนินรายการ

ฉัตร คำแสง

บทความที่เกี่ยวข้อง

งานเสวนา ‘วัด-ก้าว-เปลี่ยน’: ขับเคลื่อนจังหวัดผ่านตัวชี้วัดแห่งอนาคต

ร่วมรับฟังแนวทางการจัดทำเครื่องมือชี้วัดบริบทพื้นที่ผ่านดัชนีชี้วัดความสามารถรายจังหวัด และดัชนีความก้าวหน้าของสังคมรายจังหวัด โดย 101 PUB ร่วมกับ สกสว.

10 October 2024

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.