การกดปราบผู้ลี้ภัยข้ามชาติ: ปัญหาและทางออกใต้เงาพันธมิตรเผด็จการอาเซียน

ประเด็นสำคัญ

  • ‘การกดปราบข้ามชาติ’ คือ การไล่ล่า ข่มขู่ และคุกคามผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ โดยใช้อำนาจหรือความร่วมมือข้ามพรมแดน เพื่อปราบปรามการเคลื่อนไหวในต่างแดนหรือสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้ลี้ภัย

 

  • 74% ของการกดปรามข้ามพรมแดนเกิดขึ้นในประเทศเสรีภาพต่ำ-ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐเผด็จการในปัจจุบันยังใช้วิธีการกดปราบตั้งแต่การทำร้ายร่างกาย อุ้มหาย สังหาร ยกเลิกหนังสือเดินทาง จนถึงการสอดแนมทางออนไลน์

 

  • พันธมิตรเผด็จการอาเซียน ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เป็นตัวหย่างหนึ่งของการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐเพื่อใช้อำนาจคุกคามผู้ลี้ภัยในภูมิภาค โดยช่วงที่ผ่านมาปรากฏกรณีการไล่ล่าผู้ลี้ภัยในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

 

  • นโยบายและกฎหมายไทยยังไม่คุ้มครองผู้ลี้ภัยได้มากพอ และเป็นช่องโหว่สำคัญให้เกิดการกดปราบข้ามชาติ เช่น การมองผู้ลี้ภัยเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย การควบคุมตัวผู้ลี้ภัยได้อย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา และการบังคับส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง

 

  • รัฐบาลไทยต้องเริ่มหาทางออกให้กับปัญหาการกดปราบข้ามชาติ ตั้งแต่การปรับกฎหมาย เพิ่มความคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้ลี้ภัย ไม่ทำตามคำร้องขอของประเทศเพื่อนบ้าน และต้องสร้างความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศเพื่อยุติการกดปราบข้ามชาติ

พี่ชายของนักสิทธิสตรีชาวอิหร่านถูกตัดสินจำคุก 8 ปี แม้ไม่มีความผิด

ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ถูกรัฐบาลไทยบังคับส่งกลับจีน อีกส่วนหนึ่งถูกขังลืมในสถานกักกันจนถึงทุกวันนี้

นักข่าวซาอุดิอาระเบียผู้วิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์อย่างตรงไปตรงมาถูกสังหารภายในสถานกงสุล

นักกิจกรรมการเมืองไทยถูกอุ้มหายและพบเป็นศพที่ริมแม่น้ำโขง


เหล่านี้คือตัวอย่างของ ‘การกดปราบข้ามชาติ’ หรือ transnational repression การไล่ล่า ข่มขู่ และคุกคามผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ โดยใช้อำนาจหรือความร่วมมือข้ามพรมแดน เพื่อปราบปรามการเคลื่อนไหวในต่างแดนหรือสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้ลี้ภัย ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายส่วนใหญ่คือนักกิจกรรมทางการเมือง นักข่าว นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกหมายหัวเป็น ‘ศัตรูของรัฐ’

การกดปราบข้ามชาติไม่เพียงทำร้ายและสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ลี้ภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยคุกคามสำคัญของคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เพราะรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการกดปราบข้ามชาติส่วนใหญ่คือรัฐเผด็จการที่เติบโตขึ้นในยุคประชาธิปไตยเสื่อมถอย

ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม หรือ ‘พันธมิตรเผด็จการอาเซียน’ คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนของระบอบเผด็จการที่สนับสนุน ร่วมมือ และช่วยเหลือกันในการไล่ล่าปราบปรามผู้ลี้ภัยการเมือง หลังการรัฐประหารของไทยในปี 2014 มีผู้ลี้ภัยการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกคุกคามและไทยมีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่า 150 คน[1]Freedom House, “Case Study: Thailand,” Defending Democracy in Exile: Policy Responses to Transnational Repression, 2022.

การแก้ปัญหาการกดปราบข้ามชาติจึงเป็นโจทย์การเมืองระหว่างประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือในการดำเนินนโยบายต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ลี้ภัย

ในบทความชิ้นนี้ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจปรากฏการณ์การกดปราบข้ามชาติ สำรวจความร่วมมือระหว่างรัฐเผด็จการในอาเซียนที่นำไปสู่การคุกคามผู้ลี้ภัยการในช่วงที่ผ่านมา พร้อมเสนอแนวทางนโยบายที่รัฐบาลไทยควรทำเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยและรับมือกับการกดปราบข้ามชาติ

‘การกดปราบข้ามชาติ’ กระบวนการปิดปาก
ผู้ลี้ภัยการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก

หากว่ากันตามตรง การกดปราบข้ามชาติไม่ใช่ประเด็นใหม่ ตลอดหน้าประวัติศาสตร์รัฐเผด็จการต่างไล่ล่าปิดปากผู้ลี้ภัยในต่างแดนและเชื่อมสัมพันธ์กับรัฐเผด็จการด้วยกันเพื่อร่วมมือในปฏิบัติการดังกล่าวอยู่เสมอ แต่การกดปราบข้ามชาติตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมาหรือในยุคโลกาภิวัตน์ มีลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากยุคก่อนคือ เกิดขึ้นในยุคที่ประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังเสื่อมถอย ในขณะที่เผด็จการหลายแห่งกลับฟื้นคืนอำนาจ ความร่วมมือในการกดปราบและละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐเผด็จการอำนาจนิยมจึงปรากฏชัดยิ่งขึ้น พร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในยุคปัจจุบันที่หยิบยื่นเครื่องมือใหม่ๆ ให้รัฐเผด็จการสามารถขยายขอบเขตอำนาจข้ามพ้นพรมแดนในการสอดส่องและคุกคามผู้ลี้ภัยจากระยะไกล[2]Alexander Cooley, “The International Dimensions of the New Transnational Repression,” Written Testimony before the Commission on Security and Cooperation in Europe, 12 September 2019.

แผนภาพแสดงปรากฏการณ์การกดปราบข้ามชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก (ที่มา: Freedom House)

รายงานศึกษาโดย Freedom House[3]โครงการวิจัยสำรวจการกดปราบข้ามชาติ ซึ่งพัฒนามาจากฐานข้อมูลของ Exeter University และการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ Columbia University ในปี 2018 … Continue reading ชี้ว่าปรากฏการณ์กดปราบข้ามชาติเกิดขึ้น ‘อย่างเป็นระบบ’ ทั่วโลก ตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2014 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีกรณีการกดปราบข้ามชาติซึ่งเป็นการโจมตีทำร้ายโดยตรงถูกบันทึกไว้อย่างน้อย 854 กรณี เกี่ยวข้องกับประเทศต้นทาง (origin countries) ที่ต้องการไล่ล่าปราบปรามผู้ลี้ภัย 38 ประเทศ และประเทศปลายทาง (host countries) ที่ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่หรือเป็นประเทศที่เกิดเหตุคุกคามจำนวน 91 ประเทศ ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงจำนวน ‘อย่างน้อย’ ที่ Freedom House สามารถรวบรวมได้เท่านั้น ด้วยรูปแบบของการกดปราบข้ามชาติที่ติดตามและเก็บข้อมูลได้ยาก จึงคาดว่ายังมีกรณีการกดปราบอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ปรากฏบนหน้าข่าวและยังไม่ถูกบันทึก

ยังไม่นับว่า 854 กรณีที่ถูกบันทึกนั้นล้วนเป็นกรณีที่ผู้ลี้ภัยถูก ‘โจมตีทำร้ายโดยตรง’ จากประเทศต้นทาง เช่น การลอบสังหาร ลักพาตัว หรืออุ้มหาย ซึ่งวิธีการอันโจ่งแจ้งเช่นนี้อาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น Freedom House นำเสนอว่าการกดปราบข้ามชาติในระยะหลังมักจะใช้กลวิธีที่หลากหลายและทิ้งร่องรอยไว้น้อยกว่าการเข้าโจมตีทำร้ายซึ่งหน้า และมีแนวโน้มเป็นการคุกคามในระดับชีวิตประจำวัน ทั้งกับตัวผู้ลี้ภัยการเมืองเองและครอบครัวที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศต้นทาง เพื่อข่มขู่และสร้างความหวาดกลัวในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจากต่างแดน โดยอาจสรุปวิธีการกดปราบข้ามชาติได้ใน 4 รูปแบบต่อไปนี้

จามาล คาช็อกกี (ที่มา: Vanity Fair)

โจมตีทำร้ายโดยตรง

เช่น กรณี ‘จามาล คาช็อกกี (Jamal Khashoggi)’ นักข่าวชาวซาอุดิอาระเบียผู้เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ก่อนจะผันตัวมาทำข่าววิจารณ์รัฐบาลซาอุฯ โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของมกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ในปี 2017 เขาขอลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาและยังคงเขียนบทความวิจารณ์การปราบปรามผู้เห็นต่างของมกุฏราชกุมารฯ อย่างต่อเนื่อง ในปี 2018 คาช็อกกีเดินทางไปสถานกงสุลซาอุดิอาระเบียในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เพื่อรับเอกสารหย่ากับอดีตภรรยาก่อนจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ต่อมาทางการตุรกีรายงานว่าเขาถูกสังหารภายในสถานกงสุล และอำพรางศพโดยการหั่นศพเป็นชิ้นๆ และในปี 2021 รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาเปิดเผยรายงานข่าวกรองที่ชี้ว่ามกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ดเป็นผู้อนุมัติแผนสังหารครั้งนี้


ควบคุม-ปิดกั้นการเดินทาง

เป็นการขัดขวางไม่ให้ผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางออกจากประเทศต้นทางหรือเดินทางลี้ภัยไปยังประเทศที่ปลอดภัยขึ้นได้ โดยมักทำผ่านการยกเลิกหนังสือเดินทางและการปฏิเสธการเข้าใช้บริการกงสุล เป็นต้นเหตุให้ผู้ลี้ภัยเสี่ยงถูกจับกุมมากขึ้นและอาจถูกบังคับส่งตัวกลับประเทศต้นทางในที่สุด มากไปกว่านั้น การควบคุมและปิดกั้นการเดินทางในระยะหลังยังพุ่งเป้าไปที่ญาติและครอบครัวของผู้ลี้ภัยด้วย[4]Freedom House, “Iran: Transnaional Repression Origin Country Case Study,” Out of Sight, Not out of Reach: The Global Scale and Scope of Transnational Repression, 2021. เพื่อข่มขู่และแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสามารถเข้าถึงและคุกคามครอบครัวของผู้ลี้ภัยได้ไม่ยาก


สอดส่อง-ข่มขู่ทางออนไลน์

วิธีการกดปราบรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและมีต้นทุนดำเนินการน้อยที่สุดคือ การใช้เทคโนโลยีสอดแนมเพื่อคุกคามผู้ลี้ภัยจากระยะไกล หนึ่งในนั้นคือ ‘เพกาซัสสปายแวร์’ สปายแวร์สัญชาติอิสราเอลที่เรียกได้ว่าเป็นอาวุธไซเบอร์ที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ สามารถเจาะระบบและเข้าควบคุมโทรศัพท์ของเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์และเข้าถึงข้อมูลได้ทุกอย่าง ทั้งรหัสผ่าน ข้อความในแชทต่างๆ รูปภาพ วิดีโอ ตำแหน่งของเป้าหมาย ตลอดจนสามารถสั่งเปิดกล้องและไมโครโฟนของโทรศัพท์เพื่อดักฟังและดูสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ โดยที่เจ้าของโทรศัพท์ไม่รู้ตัว

ภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมไทยยื่นฟ้องบริษัท NSO Group และหน่วยงานรัฐ (ที่มา: ไอลอว์)

จากรายงานของไอลอว์ พบว่าในไทยมีอย่างน้อย 35 คนที่ถูกเพกาซัสเจาะ ส่วนใหญ่คือนักกิจกรรมที่มีบทบาทในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปี 2020-2021 นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ในองค์กรภาคประชาสังคม[5]iLaw, ปรสิตติดโทรศัพท์: รายงานข้อค้นพบการใช้เพกาซัสสปายแวร์ในประเทศไทย, 16 กรกฎาคม 2565. สอดคล้องกับรายงานของ Amnesty Tech ที่ระบุว่าเหยื่อของเพกาซัสสปายแวร์ทั่วโลกมีตั้งแต่บุคคลสำคัญทางการเมือง ผู้นำรัฐบาลหรือประมุขของรัฐ คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนสื่อมวลชน ซึ่งหมายความว่าสปายแวร์ที่ NSO จำหน่ายให้เฉพาะ ‘ลูกค้าที่เป็นรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ’ ถูกนำไปใช้เป็นอาวุธคุกคามบุคคลที่รัฐเห็นว่าเป็นศัตรูหรือเป็นภัยคุกคามต่อระบอบการเมือง[6]จนถึงขณะนี้ รัฐบาลไทยยังคงปฏิเสธว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธสปายแวร์ดังกล่าว … Continue reading

ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ในประเทศไทย (ที่มา: Bangkok Post)

ร่วมมือบังคับส่งกลับ

อีกวิธีหนึ่งของการกดปราบข้ามชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือ ประเทศต้นทางจูงใจหรือร้องขอให้ประเทศปลายทางกักตัวและบังคับส่งผู้ลี้ภัยกลับอย่างผิดกฎหมาย แม้จะมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าหากกลับไปประเทศต้นทาง ผู้ลี้ภัยมีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของการทรมานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีที่รัฐบาลไทยบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยอุยกูร์จำนวน 109 คน โดยอ้างว่าเป็นการร้องขอจากรัฐบาลจีนให้ส่งตัว ‘ผู้ร้ายข้ามแดน’ แม้จะเป็นที่ทราบกันว่าชาวอุยกูร์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในจีนที่ถูกเลือกปฏิบัติและเสี่ยงถูกปฏิบัติอย่างทารุณ[7]Lindsay Maizland, “China’s Repression of Uyghurs in Xinjiang,” Council on Foreign Relations, 22 September 2022.

การให้ความร่วมมือกับประเทศต้นทางส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับนับเป็นการละเมิดหลักการห้ามผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) ซึ่งเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันให้ทุกรัฐต้องปฏิบัติตาม แม้รัฐนั้นไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยฯ[8]Report of the Working Group on the Universal Periodic Review Thailand Addendum Views on conclusions and/or recommendations, voluntary commitments and replies presented by the State under review. อย่างไรก็ดี ไทยกลับมีประวัติบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2014 เป็นต้นมา

‘ความร่วมมือระหว่างรัฐ (และไม่ใช่รัฐ)’
ปัจจัยสำคัญของการกดปราบข้ามชาติ

ประเด็นสำคัญของปรากฏการณ์ไล่ล่าผู้ลี้ภัยคือ กรณีเหล่านี้มักเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศต้นทางและประเทศที่ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ โดยเฉพาะการบังคับส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองรัฐเจรจาสร้างความร่วมมือหรือยินยอมให้มีการส่งตัวกลับ

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างรัฐในการกดปราบผู้ลี้ภัยมีทั้งที่เป็นระดับทางการ ซึ่งอาจแฝงอยู่ในกลไกขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization: SCO) ซึ่งกลายเป็นช่องทางที่รัฐสมาชิกใช้แลกเปลี่ยน ‘รายชื่อบัญชีดำ’ ที่แต่ละรัฐหมายหัวว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย (terrorism) การแบ่งแยกดินแดน (separatism) และการตีความศาสนาอย่างสุดโต่ง (extremism) และใช้รายชื่อนี้เป็นข้อมูลให้รัฐสมาชิกปฏิเสธการให้ที่พักพิงในฐานะผู้ลี้ภัยการเมือง[9]FIDH, Shanghai Cooperation Organisation: a vehicle for human rights violation, August 2022. แม้ว่าผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจะเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยที่ยังไม่ถูกตัดสินความผิดก็ตาม  

ในอีกทางหนึ่ง การร่วมมือไล่ล่าผู้ลี้ภัยหลายครั้งก็เกิดขึ้นบนความร่วมมือที่ไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะระหว่างรัฐเผด็จการที่ยึดถือคุณค่าเดียวกัน (ไม่เป็นประชาธิปไตยและเพิกเฉยต่อหลักสิทธิมนุษยชน) ผ่านการลอกเลียนแบบวิธีการกดปราบผู้ลี้ภัยจากประเทศที่ทำได้สำเร็จ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความร่วมมือเป็นครั้งคราวเพื่อรักษาความสัมพันธ์ต่างตอบแทน[10]Alexander, “The International Dimensions of the New Transnational Repression.” ซึ่งอาจปรากฏเป็นความร่วมมือทางตรงที่ปรากฏบนหน้าข่าว เช่น กรณีรัฐบาลไทยส่งนักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงานชาวกัมพูชา ‘Sam Sokha’ กลับ พร้อมทั้งออกมายอมรับว่าการกระทำดังกล่าวเป็น ‘ความร่วมมือระหว่างสองประเทศ’[11]สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, “อธิบดีกรมสารนิเทศ ชี้แจงประเด็น Human Rights Watch นำเสนอข่าวแสดงความกังวลกรณีไทยส่งตัวชาวกัมพูชากลับประเทศ เมื่อวันที่ 8 … Continue reading หรือเป็นความร่วมมือแบบลับๆ ที่ไม่มีรัฐบาลประเทศใดออกมายอมรับและไม่มีการสืบสวนกรณีที่เกิดขึ้น ดังเช่นกรณีการอุ้มหายนักกิจกรรมการเมืองไทยในประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐแล้ว ‘ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ’ ก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการกดปราบข้ามชาติเช่นกัน เช่น องค์การตำรวจสากล (Interpol) ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเปิดช่องให้รัฐสมาชิกสามารถออก ‘หมายแดง (Red Notice)’ เพื่อจับกุมบุคคลไปดำเนินคดีได้โดยขาดการตรวจสอบที่เพียงพอ ทำให้หมายแดงที่ควรถูกใช้เพื่อจัดการกับอาชญากรข้ามชาติ กลายเป็นเครื่องมือของรัฐเผด็จการในการเล่นงานศัตรูทางการเมือง[12]“’หมายแดง’ ของ ‘อินเตอร์โพล’ กลายเป็นเครื่องมือเล่นงานทางการเมืองหรือไม่?,” VOA, 4 ตุลาคม 2562. เช่นเดียวกับเทคโนโลยีสปายแวร์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อสอดส่องฝ่ายต่อต้านรัฐอย่างแพร่หลาย อีกทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็มีแนวโน้มที่จะทำให้รัฐเผด็จการสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้มากขึ้นเรื่อยๆ

พันธมิตรเผด็จการอาเซียน ร่วมใจไล่ล่าผู้ลี้ภัย

74% ของกรณีการกดปราบข้ามชาติเกิดขึ้นในประเทศที่มีเสรีภาพต่ำ

– Freedom House (2022)

ในประเทศที่ฝ่ายเผด็จการมีอำนาจ ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิด มักจะเป็นประเทศที่มีการกดปราบข้ามชาติมากกว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพมากกว่า กรณีใกล้ตัวที่ฉายให้เห็นภาพดังกล่าวได้ชัดที่สุดคือ ‘พันธมิตรเผด็จการอาเซียน’ คือไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งทั้งสี่ประเทศถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเสรีภาพต่ำ และมีตัวอย่างหลายกรณีที่สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างรัฐทั้งสี่ในการร่วมมือกดปราบ ไล่ล่า และคุกคามผู้ลี้ภัยการเมือง

ทั้งสี่ประเทศเคยได้รับหนังสือจากคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ในปี 2563 ซึ่งเปิดเผยว่าการบังคับสูญหาย การควบคุมตัวไม่ชอบ และการบังคับส่งนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้เห็นต่างจากรัฐบาลที่ลี้ภัยในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับประเทศ “ล้วนเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐ” พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสี่รัฐบาลชี้แจงความคืบหน้าของการสอบสวนกรณีดังกล่าว คณะผู้เชี่ยวชาญฯ ยังชี้ให้เห็นว่าการร่วมมือ ช่วยเหลือ และยินยอมให้มีการอุ้มหายข้ามพรมแดนในภูมิภาคนั้นอาจเกี่ยวข้องกับความร่วมมือระดับทางการและไม่ทางการระหว่างรัฐเหล่านี้[13]เอกสารจากคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติถึงรัฐบาลไทย (2020). เช่น

  • ในการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชาเมื่อเดือนมีนาคม 2561 มีรายงานว่าทั้งสองรัฐบาลตกลงร่วมกันติดตามบุคคลผู้หลบหนีกระบวนการทางกฎหมายโดยการข้ามพรมแดน
  • สหประชาชาติได้รับรายงานว่า ตั้งแต่ปี 2559 รัฐบาลไทยได้ร้องขอให้รัฐบาลลาวส่งตัวนักกิจกรรมทางการเมืองไทยที่ลี้ภัยในลาวกลับมา ต่อมาในปี 2561 รัฐบาลทั้งสองได้เปิดเผยข้อตกลงร่วมมือการร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง โดยระบุว่า ไทยและลาวจะร่วมมือไม่ให้เกิดการจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลหรือก่อความไม่สงบในอีกประเทศหนึ่ง

นอกจากนั้น ในหนังสือที่ส่งถึงรัฐบาลไทยยังระบุด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2563 มีนักกิจกรรมชาวไทยจำนวน 7 คนถูกบังคับให้สูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน[14]รายชื่อนักกิจกรรมที่ถูกบังคับสูญหายตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา 1. นายอิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) 2. นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) 3. … Continue reading โดยบุคคลที่หายตัวไปมีความเกี่ยวข้องด้านใดด้านหนึ่งทางการเมืองในหลายกรณีพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐสอดส่องและติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมเหล่านี้ก่อนที่พวกเขาจะหายตัวไป “ทำให้เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของบุคคลเหล่านั้น”

จากวันนี้นับย้อนไปไม่ถึง 5 ปี มีกรณีที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกดปราบผู้ลี้ภัยระหว่างไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ดังนี้


ไทย-ลาว

(จากซ้ายไปขวา) ชัชชาญ บุปผาวัลย์ – สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ – ไกรเดช ลือเลิศ (ที่มา: ประชาไท)
  • ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) และ ไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง)

ทั้งสองคือนักกิจกรรมทางการเมืองที่เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปี 2551-2553 ต่อมาถูกดำเนินคดีความมั่นคงและมีรายชื่อในประกาศเรียกไปรายงานตัวต่อ คสช. หลังการรัฐประหารปี 2557 ชัชชาญและไกรเดชจึงตัดสินใจลี้ภัยไปที่ประเทศลาว โดยคาดว่าทั้งสองใช้ชีวิตช่วงลี้ภัยร่วมกับ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ อดีตแกนนำและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ก่อนที่ทั้งสามคนจะหายตัวไปในวันที่ 12 ธันวาคม 2561 และมีการพบศพของชัชชาญและไกรเดช สภาพศพถูกคว้านท้องและยัดด้วยเสาปูนลอยมาที่ริมน้ำโขง จังหวัดนครพนม ส่วนร่างของสุรชัยยังคงไม่พบจนถึงปัจจุบัน

  • บุญส่วน กิตติยาโน

นักกิจกรรมชาวลาว อดีตสมาชิกกลุ่ม Free Laos มีเอกสารอ้างอิงจาก UNHCR ระบุสถานะขอลี้ภัยอยู่ในความดูแลของประเทศไทย และอยู่ระหว่างดำเนินการขอลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย ระหว่างลี้ภัยในไทยเขามีส่วนร่วมในการประท้วงหลายครั้งหน้าสถานทูตลาวประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลาวเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ก่อนจะถูกพบว่าเสียชีวิตจากการถูกยิงที่จังหวัดอุบลราชธานี ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา[15]“เร่งสอบพยานนักเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลลาวถูกฆ่า UN รับเป็นคนมีสถานะลี้ภัย,” ผู้จัดการออนไลน์, 20 พฤษภาคม 2566.


ไทย-เวียดนาม

สยาม ธีรวุฒิ (ที่มา: TCIJ)
  • สยาม ธีรวุฒิ

นักกิจกรรมการเมือง เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มประกายไฟในประเด็นคุณภาพชีวิตแรงงานตั้งแต่ปี 2552 เป็นหนึ่งในผู้แสดงละครเวที ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปี 2556 ซึ่งกลายเป็นเหตุให้ต้องลี้ภัยเนื่องจากถูกออกหมายจับในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือคดีมาตรา 112 ระหว่างลี้ภัยสยามยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะเริ่มเงียบหายไปหลังจากปรากฏข่าวพบร่างของชัชชาญและไกรเดช กระทั่งมีผู้ลี้ภัยชาวไทยคนหนึ่งเปิดเผยว่า สยามถูกจับกุมที่เวียดนามและถูกส่งตัวกลับไทยแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครพบเห็นสยาม ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารไทยต่างก็ปฏิเสธการควบคุมตัวและยังไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวน

เจือง ซุย เญิ๊ต ขณะถูกจับกุมที่เวียดนาม (ที่มา: บีบีซี)
  • เจือง ซุย เญิ๊ต (Truong Duy Nhat)

สื่อมวลชนอิสระชาวเวียดนามและผู้จัดรายการของสำนักข่าวเรดิโอ ฟรี เอเชีย (Radio Free Asia) ผู้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเสรีภาพสื่อในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง และเคยถูกตัดสินจำคุก 2 ปีในข้อหา ‘ใช้เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยในทางที่ผิด (abusing democratic freedoms)’[16]“Freedom of press: Update on Journalist Truong Duy Nhat, a political prisoner in Vietnam,” The 88 Project for Free Speech in Vietnam, 19 September 2021. ต่อมาในปีเดียวกับที่สยามหายตัวไป เขาเดินทางมายื่นคำขอลี้ภัยกับ UNHCR ที่กรุงเทพฯ แต่กลับถูกจับกุมโดยบุคคลนิรนามและถูกส่งกลับเวียดนาม[17]“Investigation ordered into disappeared Vietnamese blogger in Bangkok,” Bangkok Post, 8 February 2019. ปัจจุบันเญิ๊ตถูกตัดสินจำคุก 10 ปีในข้อหาโฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านรัฐ


ไทย-กัมพูชา

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (ที่มา: บีบีซี)
  • วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เคยทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนในประเด็นป้องกันการติดเชื้อ HIV และความหลากหลายทางเพศ หลังการรัฐประหาร 2557 เขาถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. จึงตัดสินใจลี้ภัยจากประเทศไทย และถูกออกหมายจับในข้อหาตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในปี 2561 กรณีโพสต์ข้อความบิดเบือนให้ร้ายประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 วันเฉลิมหายตัวไปจากหน้าที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และยังคงไม่พบร่องรอยจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งการสืบสวนโดยรัฐบาลทั้งสองประเทศก็ไร้ความคืบหน้า แม้จะมีหลักฐานจากกล้องวงจรปิดชี้ว่าเขาถูกชายฉกรรจ์ลักพาตัวขึ้นรถไป

  • เวือน เวียสนา เวือง สมนาง และ ฐาวรี ลันห์

ทั้งสามเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองและเป็นสมาชิกพรรค Cambodia National Rescue Party (CNRP) พรรคฝ่ายค้านที่กำลังได้รับความนิยมจากประชาชนกัมพูชา ซึ่งภายหลังถูกศาลตัดสินยุบพรรคในปี 2560 พวกเขาลี้ภัยมาที่ประเทศไทยหลังจากถูกรัฐบาลกัมพูชาออกหมายจับในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในสังคม ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2564 ทั้งสามคนถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมและส่งกลับกัมพูชา รัฐบาลทั้งสองประเทศยืนยันว่าพวกเขาปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายและการควบคุมชายแดน และปัจจุบันผู้ลี้ภัยทั้งสามยังคงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำในกรุงพนมเปญ[18]“ไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับกัมพูชา 3 คน ภายในเดือนเดียว,” Voice Online, 24 พฤศจิกายน 2561. และ Sun Narin and Lors Liblib, “Jailed, Sick, Still Struggling: A Brother’s Plea to Quit Politics Goes Ignored,” VOA Cambodia, 11 January … Continue reading

นโยบายและกฎหมายไทยไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของผู้ลี้ภัย

เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่การกดปราบข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเกิดขึ้น เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายและกฎหมายที่คุ้มครองความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีประสบการณ์ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยมากว่าทศวรรษ แต่นโยบายผู้ลี้ภัยของไทยกลับเน้นจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้า ไม่มีกฎหมายภายในที่รับรองและคุ้มครองผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ

ที่ผ่านมารัฐบาลมักอ้างว่าเพราะไทยไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 จึงไม่ต้องคุ้มครองหรือรับรองสถานะของผู้ลี้ภัยอย่างจริงจัง แต่ในความเป็นจริง ไทยยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักการระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นผู้ลี้ภัย เช่น หลักการไม่ส่งบุคคลกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulment) อันเป็นกฎหมายจารีตระหว่างประเทศที่ไทยต้องยึดถือปฏิบัติแม้ไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฯ หรือการต่อต้านการซ้อมทรมานที่มักเกิดขึ้นเมื่อส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง ซึ่งไทยก็เป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน (Convention Against Torture: CAT) และเพิ่งจะผ่าน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหายไปเมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ตาม นโยบายและกฎหมายไทยที่เพิกเฉยต่อสิทธิของผู้ลี้ภัยยังเป็นช่องโหว่สำคัญที่นำไปสู่การกดปราบข้ามชาติในปัจจุบัน

กฎหมายไทยมองผู้ลี้ภัยเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการแสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศอื่น และมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากภัยประหัตประหาร การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง รวมถึงภัยอันตรายร้ายแรงอื่นๆ ดังนั้น การแสวงหาที่ลี้ภัยจึงไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย[19]ในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียนก็ระบุถึงสิทธิที่จะ ‘แสวงหาและได้รับที่ลี้ภัย’ ไว้เช่นกัน ดูเพิ่ม: … Continue reading แต่สำหรับประเทศไทย ผู้ลี้ภัยยังคง ‘ไร้ตัวตน’ แม้จะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แต่กฎหมายไทยยังไม่สามารถแยกผู้ลี้ภัยออกจากผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายได้ เนื่องจาก พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ไม่ได้กำหนดนิยามของผู้ลี้ภัยไว้เฉพาะ[20]มาตรา 4 ของ พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ ระบุนิยาม ‘คนต่างด้าว’ ว่าหมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย … Continue reading ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยอาจถูกจับกุม ควบคุมตัว ส่งกลับประเทศต้นทาง หรือเผชิญความเสี่ยงถูกทำร้ายระหว่างลี้ภัยเนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจากประเทศไทย[21]แม้การได้สถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR จะไม่รับรองความคุ้มครองตามกฎหมายไทย แต่ในบางกรณี … Continue reading


กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจควบคุมตัวผู้ลี้ภัยได้นานถึง 10 ปี

การควบคุมตัวผู้ลี้ภัยเป็น ‘มาตรการขั้นสุดท้าย’ ที่ UNHCR ระบุไว้ในแนวทางปฏิบัติสำหรับการควบคุมตัวผู้ขอลี้ภัย เมื่อพิจารณาว่าการแสวงหาที่ลี้ภัยไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย การจำกัดเสรีภาพของผู้ขอลี้ภัยจึงควรมีบทบัญญัติรับรองไว้ในกฎหมาย มีขอบเขตเขตกำหนดชัดเจน และมีการทบทวนกฎหมายดังกล่าวอยู่เสมอ รัฐจึงควรหลีกเลี่ยงการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยและพิจารณาใช้ทางเลือกอื่นๆ แทน เช่น การกำหนดให้มารายงานตัวอย่างสม่ำเสมอ การให้ประกันตัว หรือการให้มีผู้อุปถัมภ์ หรือหากต้องควบคุมตัวผู้ลี้ภัยจริงๆ ก็ควรต้องได้รับการพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นและได้สัดส่วนตามแต่ละกรณี

สวนทางกับหลักการข้างต้น มาตรา 54 ของ พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยสามารถใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง และมีอำนาจควบคุมตัวผู้ลี้ภัย ‘นานเท่าใดตามความจำเป็นก็ได้’ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ราว 50 คนที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตั้งแต่ปี 2558 และหนึ่งในนั้นเพิ่งเสียชีวิตในสถานกักกันเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา[22]โจนาธาน เฮด, “อุยกูร์ : วิบากกรรมผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ ถูกไทยคุมขังไร้กำหนด จนป่วยตายไร้การรักษา,” บีบีซีไทย, 21 กุมภาพันธ์ 2023. รวมถึงยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถยกเลิกการประกันตัวได้ทันที หรือส่งตัวออกนอกประเทศโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาลก็ได้ ซึ่งทั้งหมดล้วนเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ลี้ภัยและกลายเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลไทยใช้สนับสนุนการควบคุมตัวและส่งกลับผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านในหลายกรณี


ไทยละเมิดหลักห้ามผลักดันกลับ มองผู้ลี้ภัยเป็นผู้ร้ายข้ามแดน

หลักการไม่ส่งบุคคลกลับไปยังพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เป็นหลักการสำคัญของการคุ้มครองผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ และเนื่องจากเป็นหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศจึงมีผลบังคับใช้กับรัฐทุกแห่ง แม้รัฐนั้นไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยฯ รวมถึงในกรณีที่ประเทศต้นทางส่งคำร้องให้ส่งผู้ลี้ภัยกลับในฐานะ ‘ผู้ร้ายข้ามแดน’ ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน หากมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามีการเลือกปฏิบัติ ผู้ลี้ภัยมีโอกาสได้รับอันตรายจากการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย หรือมีรายงานว่าการดำเนินคดีในประเทศต้นทางไม่ได้มาตรฐานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ประเทศปลายทางก็ควรปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามหลักไม่ส่งกลับ[23]ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ, “ปัญหาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียน: กรณีความผิดฐานอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์,” … Continue reading

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้ละเมิดหลักการไม่ส่งกลับมาโดยตลอด ทั้งในรูปแบบของการบังคับส่งกลับตามคำร้องขอของประเทศต้นทาง ดังที่ได้กล่าวถึงในหลายกรณีข้างต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง มากกว่าการคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน อีกรูปแบบหนึ่งคือการส่งกลับผ่านนโยบาย ‘ผลักดันกลับ’ ซึ่งถูกใช้กับผู้ลี้ภัยที่อยู่ตามพรมแดนของประเทศไทย เช่น การผลักดันผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับทางทะเล คือขัดขวางไม่ให้เรือที่บรรทุกผู้ลี้ภัยเหล่านี้เข้ามาเทียบท่า และบางครั้งก็มีการเอาเรือเข้าประกบเพื่อผลักเรือผู้ลี้ภัยออกนอกอาณาเขตน่านน้ำไทย[24]Amnesty International, คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล: นโยบายด้านผู้ลี้ภัยของไทยและการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ, 2017.

ก้าวต่อไปของนโยบายคุ้มครองผู้ลี้ภัย
และการรับมือการกดปราบข้ามชาติ

ชัดเจนว่าการกดปราบข้ามชาติเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั่วโลก แต่ปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่งของปรากฏการณ์นี้คือ ‘การแทรกแซงและละเมิดอธิปไตยรัฐ’ เนื่องจากรัฐบาลประเทศหนึ่งสามารถเข้ามาจับกุม ทำร้าย หรืออุ้มหายผู้ลี้ภัยในพรมแดนของอีกประเทศได้โดยตรง มีอิทธิพลกดดันให้ประเทศปลายทางส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับ หรือกระทั่งเข้าแทรกแซงกระบวนการคัดกรองผู้ลี้ภัยในหลายกรณี ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงเริ่มกำหนดให้การกดปราบข้ามชาตินับเป็น ‘ภัยความมั่นคง’ ประเภทหนึ่งที่ต้องมีนโยบายรับมืออย่างชัดเจน พร้อมทั้งขยายความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศเพื่อร่วมกันต่อต้านและป้องกันการกดปราบข้ามชาติ[25]ตัวอย่างหนึ่งคือความพยายามของ Resisting Authoritarian Pressure Cohort ซึ่งได้ลงนามในคำประกาศว่าด้วยหลักการในการต่อต้านการกดปราบข้ามชาติ (Declaration on Principles to Combat Transnational Repression) … Continue reading

ประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการกดปราบข้ามชาติในหลายกรณีทั้งในฐานะประเทศต้นทางและประเทศปลายทางที่เพิกเฉยหรือยินยอมให้รัฐบาลต่างชาติคุกคามผู้ลี้ภัยการเมือง ควรยืนยันอย่างหนักแน่นว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และต้องเริ่มต้นแก้ปัญหาการกดปราบข้ามชาติอย่างจริงจัง ดังนี้

  • สืบสวน-ชี้แจงกรณีการกดปราบข้ามชาติที่ผ่านมา

รัฐบาลไทยควรสืบสวนหาข้อเท็จจริงจากกรณีการกดปราบข้ามชาติที่ผ่านมา ทั้งในกรณีผู้ลี้ภัยชาวไทยสูญหายและเสียชีวิตในต่างประเทศ รวมถึงกรณีที่ผู้ลี้ภัยสัญชาติอื่นถูกลักพาตัว ถูกบังคับส่งกลับ และเสียชีวิตในประเทศไทย พร้อมทั้งชี้แจงความคืบหน้าและข้อเท็จจริงจากการสืบสวนให้สังคมรับทราบ

  • กำหนดนิยามผู้ลี้ภัย ทำกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัย

การไม่ยอมรับตัวตนและสถานะของผู้ลี้ภัยในกฎหมายไทยเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ลี้ภัยถูกลิดรอนสิทธิและไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม นอกจากการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยฯ แล้ว รัฐบาลไทยควรกำหนดนิยามของผู้ลี้ภัยให้ชัดเจน ในอนาคตควรมีกรอบกฎหมายภายในที่กำหนดหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัย ตลอดจนพัฒนากลไกคัดกรองและให้สถานะผู้ลี้ภัยที่มีสถานะเป็นกฎหมาย มีประสิทธิภาพ และไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง[26]ปัจจุบันไทยมีกลไกการคัดกรองระดับชาติ (National Screening Mechanism: NSM) เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2019 แต่กลไกนี้ยังสร้างข้อกังวลหลายประการ … Continue reading

แน่นอนว่าการผ่านกฎหมายในประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และรัฐบาลอาจต้องทำงานสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในสังคมไทยอีกมาก ดังนั้นระหว่างขั้นตอนดังกล่าว รัฐบาลจึงควรสนับสนุนให้ UNHCR สามารถเข้าถึงบุคคลที่ยื่นเรื่องขอลี้ภัย โดยลดเงื่อนไขและอุปสรรคในการขอลี้ภัยให้น้อยที่สุด รวมถึงรับประกันว่าบุคคลที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้วจะไม่ถูกจับกุม ควบคุมตัว หรือถูกส่งกลับอย่างผิดกฎหมาย

  • ทำระบบติดตามและเตือนภัยผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงถูกไล่ล่า

รัฐบาลอาจร่วมมือกับภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยและสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อจัดทำระบบติดตามและเตือนภัยผู้ลี้ภัยที่มีความเสี่ยงถูกไล่ล่าคุกคามโดยรัฐบาลต้นทาง รวมถึงทำบันทึกข้อมูลกรณีการกดปราบข้ามชาติ เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และรับมือในอนาคต

  • บังคับใช้หลักไม่ส่งกลับตาม พ.ร.บ. ทรมานอุ้มหายฯ

ปัจจุบัน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหายได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับหลักการไม่ส่งกลับไว้ในมาตรา 13 แล้ว เพื่อให้เกิดการบังคับใช้จริง ควรมีการอบรมและสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานตรวจแห่งชาติ รวมถึงอาจมีมาตรการเฉพาะในประเด็นนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง


นอกเหนือจากแนวทางทั้งสี่ข้อข้างต้น รัฐบาลไทยจำเป็นต้องขยายความร่วมมือต่อต้านการกดปราบข้ามชาติไปในระดับระหว่างประเทศ เพราะการกดปราบข้ามชาติเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นข้ามพ้นพรมแดน อย่างน้อยที่สุดคือการไม่เพิกเฉยและยินยอมให้รัฐบาลประเทศอื่นสามารถเข้าแทรกแซงและคุกคามผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้

References
1 Freedom House, “Case Study: Thailand,” Defending Democracy in Exile: Policy Responses to Transnational Repression, 2022.
2 Alexander Cooley, “The International Dimensions of the New Transnational Repression,” Written Testimony before the Commission on Security and Cooperation in Europe, 12 September 2019.
3 โครงการวิจัยสำรวจการกดปราบข้ามชาติ ซึ่งพัฒนามาจากฐานข้อมูลของ Exeter University และการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ Columbia University ในปี 2018 โดยเผยแพร่รายงานตั้งแต่ปี 2021 คือ Out of Sight, Not out of Reach: The Global Scale and Scope of Transnational Repression. (2021) และ Still Not Safe: Transnational Repression in 2022.
4 Freedom House, “Iran: Transnaional Repression Origin Country Case Study,” Out of Sight, Not out of Reach: The Global Scale and Scope of Transnational Repression, 2021.
5 iLaw, ปรสิตติดโทรศัพท์: รายงานข้อค้นพบการใช้เพกาซัสสปายแวร์ในประเทศไทย, 16 กรกฎาคม 2565.
6 จนถึงขณะนี้ รัฐบาลไทยยังคงปฏิเสธว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธสปายแวร์ดังกล่าว แม้จะมีการเปิดเผยหลักฐานโดยพรรคฝ่ายค้านว่ารัฐบาลได้ของบประมาณวงเงิน 350 ล้านบาทเพื่อจัดหาสปายแวร์ภายใต้โครงการจัดหาระบบรวบรวมและประมวลผลข่าวกรองชั้นสูง
7 Lindsay Maizland, “China’s Repression of Uyghurs in Xinjiang,” Council on Foreign Relations, 22 September 2022.
8 Report of the Working Group on the Universal Periodic Review Thailand Addendum Views on conclusions and/or recommendations, voluntary commitments and replies presented by the State under review.
9 FIDH, Shanghai Cooperation Organisation: a vehicle for human rights violation, August 2022.
10 Alexander, “The International Dimensions of the New Transnational Repression.”
11 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, “อธิบดีกรมสารนิเทศ ชี้แจงประเด็น Human Rights Watch นำเสนอข่าวแสดงความกังวลกรณีไทยส่งตัวชาวกัมพูชากลับประเทศ เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2561,” 11 กุมภาพันธ์ 2561.
12 “’หมายแดง’ ของ ‘อินเตอร์โพล’ กลายเป็นเครื่องมือเล่นงานทางการเมืองหรือไม่?,” VOA, 4 ตุลาคม 2562.
13 เอกสารจากคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติถึงรัฐบาลไทย (2020).
14 รายชื่อนักกิจกรรมที่ถูกบังคับสูญหายตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา 1. นายอิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) 2. นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) 3. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ 4. นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ 5. นายสยาม ธีรวุฒิ 6. นายกฤษณะ ทัพไทย และ 7. นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
15 “เร่งสอบพยานนักเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลลาวถูกฆ่า UN รับเป็นคนมีสถานะลี้ภัย,” ผู้จัดการออนไลน์, 20 พฤษภาคม 2566.
16 “Freedom of press: Update on Journalist Truong Duy Nhat, a political prisoner in Vietnam,” The 88 Project for Free Speech in Vietnam, 19 September 2021.
17 “Investigation ordered into disappeared Vietnamese blogger in Bangkok,” Bangkok Post, 8 February 2019.
18 ไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับกัมพูชา 3 คน ภายในเดือนเดียว,” Voice Online, 24 พฤศจิกายน 2561. และ Sun Narin and Lors Liblib, “Jailed, Sick, Still Struggling: A Brother’s Plea to Quit Politics Goes Ignored,” VOA Cambodia, 11 January 2022.
19 ในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียนก็ระบุถึงสิทธิที่จะ ‘แสวงหาและได้รับที่ลี้ภัย’ ไว้เช่นกัน ดูเพิ่ม: สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN), ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียน ASEAN Human Rights Declaration, 18 พฤศจิกายน 2012, ย่อหน้า 16.
20 มาตรา 4 ของ พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ ระบุนิยาม ‘คนต่างด้าว’ ว่าหมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เนื่องจากไทยไม่มีกฎหมายกำหนดสถานะของผู้ลี้ภัยไว้ เมื่อนำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้กับกรณีของผู้ลี้ภัยจึงพิจารณาตามมาตรา 58 ที่กำหนดว่า คนต่างด้าวที่เข้ามาราชอาณาจักรโดยไม่มีหลักฐานหรือตามกฎหมายอย่างอื่นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนเข้าเมืองผิดกฎหมาย
21 แม้การได้สถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR จะไม่รับรองความคุ้มครองตามกฎหมายไทย แต่ในบางกรณี ผู้ลี้ภัยสามารถหลีกเลี่ยงการจับกุมโดยแสดงบัตรประจำตัวที่ออกโดย UNHCR บางส่วนได้รับการปล่อยตัวหากเจ้าหน้าที่ UNHCR หรือตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านผู้ลี้ภัยสามารถเข้าแทรกแซงช่วยเหลือได้ ดูเพิ่ม: Amnesty International, คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล: นโยบายด้านผู้ลี้ภัยของไทยและการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ, 2017.
22 โจนาธาน เฮด, “อุยกูร์ : วิบากกรรมผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ ถูกไทยคุมขังไร้กำหนด จนป่วยตายไร้การรักษา,” บีบีซีไทย, 21 กุมภาพันธ์ 2023.
23 ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ, “ปัญหาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียน: กรณีความผิดฐานอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์,” สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 10 ตุลาคม 2561.
24 Amnesty International, คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล: นโยบายด้านผู้ลี้ภัยของไทยและการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ, 2017.
25 ตัวอย่างหนึ่งคือความพยายามของ Resisting Authoritarian Pressure Cohort ซึ่งได้ลงนามในคำประกาศว่าด้วยหลักการในการต่อต้านการกดปราบข้ามชาติ (Declaration on Principles to Combat Transnational Repression) ริเริ่มโดย Freedom House รัฐบาลลิทัวเนีย และรัฐบาลประชาธิปไตยที่เข้าร่วมการประชุม Summit for Democracy ในปี 2021
26 ปัจจุบันไทยมีกลไกการคัดกรองระดับชาติ (National Screening Mechanism: NSM) เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2019 แต่กลไกนี้ยังสร้างข้อกังวลหลายประการ ทั้งสถานะของกลไกที่เป็นระเบียบคำสั่งของฝ่ายบริหารและอาจบังคับใช้กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ไม่ชัดเจน การหลีกเลี่ยงใช้คำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ ซึ่งอาจส่งผลให้การคุ้มครองไม่ครอบคลุมผู้ลี้ภัยทุกกลุ่ม และเงื่อนไขของการคุ้มครองที่สร้างข้อยกเว้นหากการคุ้มครองนั้น ‘กระทบความมั่นคงของประเทศ’

อินโฟกราฟิก

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

จับตา พ.ร.บ. ทรมานอุ้มหาย: จุดจบระบอบลอยนวลพ้นผิด?

101 PUB ชวนทบทวนปัญหาการซ้อมทรมานและการอุ้มหายในประเทศไทย เส้นทางการผลักดันกฎหมายที่ผ่านมา ชี้ถึงแก่นหลักที่ไม่ควรหายไปในกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงสาระสำคัญในร่างฉบับกรรมาธิการวิสามัญ

ไปให้ไกลกว่า ‘นิรโทษกรรม’ พาสังคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม

แค่ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ หรือ ‘นิรโทษกรรม’ ยังไม่พอ 101 PUB ชวนทำความเข้าใจ ‘ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน’ พร้อมข้อเสนอสู่ทางออกจากวงจรความรุนแรงในการเมืองไทยที่ไม่เพิกเฉยต่อความยุติธรรม

101 In Focus Ep.179: ‘ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน’ โจทย์เปลี่ยนผ่านการเมืองของรัฐบาลประชาธิปไตย

101 In Focus สัปดาห์นี้ สนทนาว่าด้วย ‘ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน’ ที่อาจเป็นทางออกให้กับสังคมที่ผ่านความขัดแย้งและความรุนแรงมาอย่างยาวนาน

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.