ประเด็นสำคัญ
- ‘การกดปราบข้ามชาติ’ คือ การไล่ล่า ข่มขู่ และคุกคามผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ โดยใช้อำนาจหรือความร่วมมือข้ามพรมแดน เพื่อปราบปรามการเคลื่อนไหวในต่างแดนหรือสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้ลี้ภัย
- 74% ของการกดปรามข้ามพรมแดนเกิดขึ้นในประเทศเสรีภาพต่ำ-ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐเผด็จการในปัจจุบันยังใช้วิธีการกดปราบตั้งแต่การทำร้ายร่างกาย อุ้มหาย สังหาร ยกเลิกหนังสือเดินทาง จนถึงการสอดแนมทางออนไลน์
- พันธมิตรเผด็จการอาเซียน ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐเพื่อใช้อำนาจคุกคามผู้ลี้ภัยในภูมิภาค โดยช่วงที่ผ่านมาปรากฏกรณีการไล่ล่าผู้ลี้ภัยในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
- นโยบายและกฎหมายไทยยังไม่คุ้มครองผู้ลี้ภัยได้มากพอ และเป็นช่องโหว่สำคัญให้เกิดการกดปราบข้ามชาติ เช่น การมองผู้ลี้ภัยเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย การควบคุมตัวผู้ลี้ภัยได้อย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา และการบังคับส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง
- รัฐบาลไทยต้องเริ่มหาทางออกให้กับปัญหาการกดปราบข้ามชาติ ตั้งแต่การปรับกฎหมาย เพิ่มความคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้ลี้ภัย ไม่ทำตามคำร้องขอของประเทศเพื่อนบ้าน และต้องสร้างความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศเพื่อยุติการกดปราบข้ามชาติ
พี่ชายของนักสิทธิสตรีชาวอิหร่านถูกตัดสินจำคุก 8 ปี แม้ไม่มีความผิด
ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ถูกรัฐบาลไทยบังคับส่งกลับจีน อีกส่วนหนึ่งถูกขังลืมในสถานกักกันจนถึงทุกวันนี้
นักข่าวซาอุดิอาระเบียผู้วิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์อย่างตรงไปตรงมาถูกสังหารภายในสถานกงสุล
นักกิจกรรมการเมืองไทยถูกอุ้มหายและพบเป็นศพที่ริมแม่น้ำโขง
เหล่านี้คือตัวอย่างของ ‘การกดปราบข้ามชาติ’ หรือ transnational repression การไล่ล่า ข่มขู่ และคุกคามผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ โดยใช้อำนาจหรือความร่วมมือข้ามพรมแดน เพื่อปราบปรามการเคลื่อนไหวในต่างแดนหรือสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้ลี้ภัย ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายส่วนใหญ่คือนักกิจกรรมทางการเมือง นักข่าว นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกหมายหัวเป็น ‘ศัตรูของรัฐ’
การกดปราบข้ามชาติไม่เพียงทำร้ายและสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ลี้ภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยคุกคามสำคัญของคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เพราะรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการกดปราบข้ามชาติส่วนใหญ่คือรัฐเผด็จการที่เติบโตขึ้นในยุคประชาธิปไตยเสื่อมถอย
ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม หรือ ‘พันธมิตรเผด็จการอาเซียน’ คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนของระบอบเผด็จการที่สนับสนุน ร่วมมือ และช่วยเหลือกันในการไล่ล่าปราบปรามผู้ลี้ภัยการเมือง หลังการรัฐประหารของไทยในปี 2014 มีผู้ลี้ภัยการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกคุกคามและไทยมีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่า 150 คน[1]Freedom House, “Case Study: Thailand,” Defending Democracy in Exile: Policy Responses to Transnational Repression, 2022.
การแก้ปัญหาการกดปราบข้ามชาติจึงเป็นโจทย์การเมืองระหว่างประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือในการดำเนินนโยบายต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ลี้ภัย
ในบทความชิ้นนี้ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจปรากฏการณ์การกดปราบข้ามชาติ สำรวจความร่วมมือระหว่างรัฐเผด็จการในอาเซียนที่นำไปสู่การคุกคามผู้ลี้ภัยการในช่วงที่ผ่านมา พร้อมเสนอแนวทางนโยบายที่รัฐบาลไทยควรทำเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยและรับมือกับการกดปราบข้ามชาติ
‘การกดปราบข้ามชาติ’ กระบวนการปิดปาก
ผู้ลี้ภัยการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก
หากว่ากันตามตรง การกดปราบข้ามชาติไม่ใช่ประเด็นใหม่ ตลอดหน้าประวัติศาสตร์รัฐเผด็จการต่างไล่ล่าปิดปากผู้ลี้ภัยในต่างแดนและเชื่อมสัมพันธ์กับรัฐเผด็จการด้วยกันเพื่อร่วมมือในปฏิบัติการดังกล่าวอยู่เสมอ แต่การกดปราบข้ามชาติตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมาหรือในยุคโลกาภิวัตน์ มีลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากยุคก่อนคือ เกิดขึ้นในยุคที่ประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังเสื่อมถอย ในขณะที่เผด็จการหลายแห่งกลับฟื้นคืนอำนาจ ความร่วมมือในการกดปราบและละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐเผด็จการอำนาจนิยมจึงปรากฏชัดยิ่งขึ้น พร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในยุคปัจจุบันที่หยิบยื่นเครื่องมือใหม่ๆ ให้รัฐเผด็จการสามารถขยายขอบเขตอำนาจข้ามพ้นพรมแดนในการสอดส่องและคุกคามผู้ลี้ภัยจากระยะไกล[2]Alexander Cooley, “The International Dimensions of the New Transnational Repression,” Written Testimony before the Commission on Security and Cooperation in Europe, 12 September 2019.
รายงานศึกษาโดย Freedom House[3]โครงการวิจัยสำรวจการกดปราบข้ามชาติ ซึ่งพัฒนามาจากฐานข้อมูลของ Exeter University และการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ Columbia University ในปี 2018 … Continue reading ชี้ว่าปรากฏการณ์กดปราบข้ามชาติเกิดขึ้น ‘อย่างเป็นระบบ’ ทั่วโลก ตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2014 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีกรณีการกดปราบข้ามชาติซึ่งเป็นการโจมตีทำร้ายโดยตรงถูกบันทึกไว้อย่างน้อย 854 กรณี เกี่ยวข้องกับประเทศต้นทาง (origin countries) ที่ต้องการไล่ล่าปราบปรามผู้ลี้ภัย 38 ประเทศ และประเทศปลายทาง (host countries) ที่ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่หรือเป็นประเทศที่เกิดเหตุคุกคามจำนวน 91 ประเทศ ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงจำนวน ‘อย่างน้อย’ ที่ Freedom House สามารถรวบรวมได้เท่านั้น ด้วยรูปแบบของการกดปราบข้ามชาติที่ติดตามและเก็บข้อมูลได้ยาก จึงคาดว่ายังมีกรณีการกดปราบอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ปรากฏบนหน้าข่าวและยังไม่ถูกบันทึก
ยังไม่นับว่า 854 กรณีที่ถูกบันทึกนั้นล้วนเป็นกรณีที่ผู้ลี้ภัยถูก ‘โจมตีทำร้ายโดยตรง’ จากประเทศต้นทาง เช่น การลอบสังหาร ลักพาตัว หรืออุ้มหาย ซึ่งวิธีการอันโจ่งแจ้งเช่นนี้อาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น Freedom House นำเสนอว่าการกดปราบข้ามชาติในระยะหลังมักจะใช้กลวิธีที่หลากหลายและทิ้งร่องรอยไว้น้อยกว่าการเข้าโจมตีทำร้ายซึ่งหน้า และมีแนวโน้มเป็นการคุกคามในระดับชีวิตประจำวัน ทั้งกับตัวผู้ลี้ภัยการเมืองเองและครอบครัวที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศต้นทาง เพื่อข่มขู่และสร้างความหวาดกลัวในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจากต่างแดน โดยอาจสรุปวิธีการกดปราบข้ามชาติได้ใน 4 รูปแบบต่อไปนี้
โจมตีทำร้ายโดยตรง
เช่น กรณี ‘จามาล คาช็อกกี (Jamal Khashoggi)’ นักข่าวชาวซาอุดิอาระเบียผู้เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ก่อนจะผันตัวมาทำข่าววิจารณ์รัฐบาลซาอุฯ โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของมกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ในปี 2017 เขาขอลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาและยังคงเขียนบทความวิจารณ์การปราบปรามผู้เห็นต่างของมกุฏราชกุมารฯ อย่างต่อเนื่อง ในปี 2018 คาช็อกกีเดินทางไปสถานกงสุลซาอุดิอาระเบียในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เพื่อรับเอกสารหย่ากับอดีตภรรยาก่อนจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ต่อมาทางการตุรกีรายงานว่าเขาถูกสังหารภายในสถานกงสุล และอำพรางศพโดยการหั่นศพเป็นชิ้นๆ และในปี 2021 รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาเปิดเผยรายงานข่าวกรองที่ชี้ว่ามกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ดเป็นผู้อนุมัติแผนสังหารครั้งนี้
ควบคุม-ปิดกั้นการเดินทาง
เป็นการขัดขวางไม่ให้ผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางออกจากประเทศต้นทางหรือเดินทางลี้ภัยไปยังประเทศที่ปลอดภัยขึ้นได้ โดยมักทำผ่านการยกเลิกหนังสือเดินทางและการปฏิเสธการเข้าใช้บริการกงสุล เป็นต้นเหตุให้ผู้ลี้ภัยเสี่ยงถูกจับกุมมากขึ้นและอาจถูกบังคับส่งตัวกลับประเทศต้นทางในที่สุด มากไปกว่านั้น การควบคุมและปิดกั้นการเดินทางในระยะหลังยังพุ่งเป้าไปที่ญาติและครอบครัวของผู้ลี้ภัยด้วย[4]Freedom House, “Iran: Transnaional Repression Origin Country Case Study,” Out of Sight, Not out of Reach: The Global Scale and Scope of Transnational Repression, 2021. เพื่อข่มขู่และแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสามารถเข้าถึงและคุกคามครอบครัวของผู้ลี้ภัยได้ไม่ยาก
สอดส่อง-ข่มขู่ทางออนไลน์
วิธีการกดปราบรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและมีต้นทุนดำเนินการน้อยที่สุดคือ การใช้เทคโนโลยีสอดแนมเพื่อคุกคามผู้ลี้ภัยจากระยะไกล หนึ่งในนั้นคือ ‘เพกาซัสสปายแวร์’ สปายแวร์สัญชาติอิสราเอลที่เรียกได้ว่าเป็นอาวุธไซเบอร์ที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ สามารถเจาะระบบและเข้าควบคุมโทรศัพท์ของเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์และเข้าถึงข้อมูลได้ทุกอย่าง ทั้งรหัสผ่าน ข้อความในแชทต่างๆ รูปภาพ วิดีโอ ตำแหน่งของเป้าหมาย ตลอดจนสามารถสั่งเปิดกล้องและไมโครโฟนของโทรศัพท์เพื่อดักฟังและดูสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ โดยที่เจ้าของโทรศัพท์ไม่รู้ตัว
จากรายงานของไอลอว์ พบว่าในไทยมีอย่างน้อย 35 คนที่ถูกเพกาซัสเจาะ ส่วนใหญ่คือนักกิจกรรมที่มีบทบาทในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปี 2020-2021 นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ในองค์กรภาคประชาสังคม[5]iLaw, ปรสิตติดโทรศัพท์: รายงานข้อค้นพบการใช้เพกาซัสสปายแวร์ในประเทศไทย, 16 กรกฎาคม 2565. สอดคล้องกับรายงานของ Amnesty Tech ที่ระบุว่าเหยื่อของเพกาซัสสปายแวร์ทั่วโลกมีตั้งแต่บุคคลสำคัญทางการเมือง ผู้นำรัฐบาลหรือประมุขของรัฐ คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนสื่อมวลชน ซึ่งหมายความว่าสปายแวร์ที่ NSO จำหน่ายให้เฉพาะ ‘ลูกค้าที่เป็นรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ’ ถูกนำไปใช้เป็นอาวุธคุกคามบุคคลที่รัฐเห็นว่าเป็นศัตรูหรือเป็นภัยคุกคามต่อระบอบการเมือง[6]จนถึงขณะนี้ รัฐบาลไทยยังคงปฏิเสธว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธสปายแวร์ดังกล่าว … Continue reading
ร่วมมือบังคับส่งกลับ
อีกวิธีหนึ่งของการกดปราบข้ามชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือ ประเทศต้นทางจูงใจหรือร้องขอให้ประเทศปลายทางกักตัวและบังคับส่งผู้ลี้ภัยกลับอย่างผิดกฎหมาย แม้จะมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าหากกลับไปประเทศต้นทาง ผู้ลี้ภัยมีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของการทรมานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีที่รัฐบาลไทยบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยอุยกูร์จำนวน 109 คน โดยอ้างว่าเป็นการร้องขอจากรัฐบาลจีนให้ส่งตัว ‘ผู้ร้ายข้ามแดน’ แม้จะเป็นที่ทราบกันว่าชาวอุยกูร์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในจีนที่ถูกเลือกปฏิบัติและเสี่ยงถูกปฏิบัติอย่างทารุณ[7]Lindsay Maizland, “China’s Repression of Uyghurs in Xinjiang,” Council on Foreign Relations, 22 September 2022.
การให้ความร่วมมือกับประเทศต้นทางส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับนับเป็นการละเมิดหลักการห้ามผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) ซึ่งเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันให้ทุกรัฐต้องปฏิบัติตาม แม้รัฐนั้นไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยฯ[8]Report of the Working Group on the Universal Periodic Review Thailand Addendum Views on conclusions and/or recommendations, voluntary commitments and replies presented by the State under review. อย่างไรก็ดี ไทยกลับมีประวัติบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2014 เป็นต้นมา
‘ความร่วมมือระหว่างรัฐ (และไม่ใช่รัฐ)’
ปัจจัยสำคัญของการกดปราบข้ามชาติ
ประเด็นสำคัญของปรากฏการณ์ไล่ล่าผู้ลี้ภัยคือ กรณีเหล่านี้มักเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศต้นทางและประเทศที่ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ โดยเฉพาะการบังคับส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองรัฐเจรจาสร้างความร่วมมือหรือยินยอมให้มีการส่งตัวกลับ
ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างรัฐในการกดปราบผู้ลี้ภัยมีทั้งที่เป็นระดับทางการ ซึ่งอาจแฝงอยู่ในกลไกขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization: SCO) ซึ่งกลายเป็นช่องทางที่รัฐสมาชิกใช้แลกเปลี่ยน ‘รายชื่อบัญชีดำ’ ที่แต่ละรัฐหมายหัวว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย (terrorism) การแบ่งแยกดินแดน (separatism) และการตีความศาสนาอย่างสุดโต่ง (extremism) และใช้รายชื่อนี้เป็นข้อมูลให้รัฐสมาชิกปฏิเสธการให้ที่พักพิงในฐานะผู้ลี้ภัยการเมือง[9]FIDH, Shanghai Cooperation Organisation: a vehicle for human rights violation, August 2022. แม้ว่าผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจะเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยที่ยังไม่ถูกตัดสินความผิดก็ตาม
ในอีกทางหนึ่ง การร่วมมือไล่ล่าผู้ลี้ภัยหลายครั้งก็เกิดขึ้นบนความร่วมมือที่ไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะระหว่างรัฐเผด็จการที่ยึดถือคุณค่าเดียวกัน (ไม่เป็นประชาธิปไตยและเพิกเฉยต่อหลักสิทธิมนุษยชน) ผ่านการลอกเลียนแบบวิธีการกดปราบผู้ลี้ภัยจากประเทศที่ทำได้สำเร็จ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความร่วมมือเป็นครั้งคราวเพื่อรักษาความสัมพันธ์ต่างตอบแทน[10]Alexander, “The International Dimensions of the New Transnational Repression.” ซึ่งอาจปรากฏเป็นความร่วมมือทางตรงที่ปรากฏบนหน้าข่าว เช่น กรณีรัฐบาลไทยส่งนักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงานชาวกัมพูชา ‘Sam Sokha’ กลับ พร้อมทั้งออกมายอมรับว่าการกระทำดังกล่าวเป็น ‘ความร่วมมือระหว่างสองประเทศ’[11]สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, “อธิบดีกรมสารนิเทศ ชี้แจงประเด็น Human Rights Watch นำเสนอข่าวแสดงความกังวลกรณีไทยส่งตัวชาวกัมพูชากลับประเทศ เมื่อวันที่ 8 … Continue reading หรือเป็นความร่วมมือแบบลับๆ ที่ไม่มีรัฐบาลประเทศใดออกมายอมรับและไม่มีการสืบสวนกรณีที่เกิดขึ้น ดังเช่นกรณีการอุ้มหายนักกิจกรรมการเมืองไทยในประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐแล้ว ‘ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ’ ก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการกดปราบข้ามชาติเช่นกัน เช่น องค์การตำรวจสากล (Interpol) ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเปิดช่องให้รัฐสมาชิกสามารถออก ‘หมายแดง (Red Notice)’ เพื่อจับกุมบุคคลไปดำเนินคดีได้โดยขาดการตรวจสอบที่เพียงพอ ทำให้หมายแดงที่ควรถูกใช้เพื่อจัดการกับอาชญากรข้ามชาติ กลายเป็นเครื่องมือของรัฐเผด็จการในการเล่นงานศัตรูทางการเมือง[12]“’หมายแดง’ ของ ‘อินเตอร์โพล’ กลายเป็นเครื่องมือเล่นงานทางการเมืองหรือไม่?,” VOA, 4 ตุลาคม 2562. เช่นเดียวกับเทคโนโลยีสปายแวร์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อสอดส่องฝ่ายต่อต้านรัฐอย่างแพร่หลาย อีกทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็มีแนวโน้มที่จะทำให้รัฐเผด็จการสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้มากขึ้นเรื่อยๆ
พันธมิตรเผด็จการอาเซียน ร่วมใจไล่ล่าผู้ลี้ภัย
74% ของกรณีการกดปราบข้ามชาติเกิดขึ้นในประเทศที่มีเสรีภาพต่ำ
– Freedom House (2022)
ในประเทศที่ฝ่ายเผด็จการมีอำนาจ ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิด มักจะเป็นประเทศที่มีการกดปราบข้ามชาติมากกว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพมากกว่า กรณีใกล้ตัวที่ฉายให้เห็นภาพดังกล่าวได้ชัดที่สุดคือ ‘พันธมิตรเผด็จการอาเซียน’ คือไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งทั้งสี่ประเทศถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเสรีภาพต่ำ และมีตัวอย่างหลายกรณีที่สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างรัฐทั้งสี่ในการร่วมมือกดปราบ ไล่ล่า และคุกคามผู้ลี้ภัยการเมือง
ทั้งสี่ประเทศเคยได้รับหนังสือจากคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ในปี 2563 ซึ่งเปิดเผยว่าการบังคับสูญหาย การควบคุมตัวไม่ชอบ และการบังคับส่งนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้เห็นต่างจากรัฐบาลที่ลี้ภัยในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับประเทศ “ล้วนเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐ” พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสี่รัฐบาลชี้แจงความคืบหน้าของการสอบสวนกรณีดังกล่าว คณะผู้เชี่ยวชาญฯ ยังชี้ให้เห็นว่าการร่วมมือ ช่วยเหลือ และยินยอมให้มีการอุ้มหายข้ามพรมแดนในภูมิภาคนั้นอาจเกี่ยวข้องกับความร่วมมือระดับทางการและไม่ทางการระหว่างรัฐเหล่านี้[13]เอกสารจากคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติถึงรัฐบาลไทย (2020). เช่น
- ในการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชาเมื่อเดือนมีนาคม 2561 มีรายงานว่าทั้งสองรัฐบาลตกลงร่วมกันติดตามบุคคลผู้หลบหนีกระบวนการทางกฎหมายโดยการข้ามพรมแดน
- สหประชาชาติได้รับรายงานว่า ตั้งแต่ปี 2559 รัฐบาลไทยได้ร้องขอให้รัฐบาลลาวส่งตัวนักกิจกรรมทางการเมืองไทยที่ลี้ภัยในลาวกลับมา ต่อมาในปี 2561 รัฐบาลทั้งสองได้เปิดเผยข้อตกลงร่วมมือการร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง โดยระบุว่า “ไทยและลาวจะร่วมมือไม่ให้เกิดการจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลหรือก่อความไม่สงบในอีกประเทศหนึ่ง”
นอกจากนั้น ในหนังสือที่ส่งถึงรัฐบาลไทยยังระบุด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2563 มีนักกิจกรรมชาวไทยจำนวน 7 คนถูกบังคับให้สูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน[14]รายชื่อนักกิจกรรมที่ถูกบังคับสูญหายตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา 1. นายอิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) 2. นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) 3. … Continue reading โดยบุคคลที่หายตัวไปมีความเกี่ยวข้องด้านใดด้านหนึ่งทางการเมืองในหลายกรณีพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐสอดส่องและติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมเหล่านี้ก่อนที่พวกเขาจะหายตัวไป “ทำให้เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของบุคคลเหล่านั้น”
จากวันนี้นับย้อนไปไม่ถึง 5 ปี มีกรณีที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกดปราบผู้ลี้ภัยระหว่างไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
ไทย-ลาว
- ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) และ ไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง)
ทั้งสองคือนักกิจกรรมทางการเมืองที่เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปี 2551-2553 ต่อมาถูกดำเนินคดีความมั่นคงและมีรายชื่อในประกาศเรียกไปรายงานตัวต่อ คสช. หลังการรัฐประหารปี 2557 ชัชชาญและไกรเดชจึงตัดสินใจลี้ภัยไปที่ประเทศลาว โดยคาดว่าทั้งสองใช้ชีวิตช่วงลี้ภัยร่วมกับ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ อดีตแกนนำและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ก่อนที่ทั้งสามคนจะหายตัวไปในวันที่ 12 ธันวาคม 2561 และมีการพบศพของชัชชาญและไกรเดช สภาพศพถูกคว้านท้องและยัดด้วยเสาปูนลอยมาที่ริมน้ำโขง จังหวัดนครพนม ส่วนร่างของสุรชัยยังคงไม่พบจนถึงปัจจุบัน
- บุญส่วน กิตติยาโน
นักกิจกรรมชาวลาว อดีตสมาชิกกลุ่ม Free Laos มีเอกสารอ้างอิงจาก UNHCR ระบุสถานะขอลี้ภัยอยู่ในความดูแลของประเทศไทย และอยู่ระหว่างดำเนินการขอลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย ระหว่างลี้ภัยในไทยเขามีส่วนร่วมในการประท้วงหลายครั้งหน้าสถานทูตลาวประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลาวเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ก่อนจะถูกพบว่าเสียชีวิตจากการถูกยิงที่จังหวัดอุบลราชธานี ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา[15]“เร่งสอบพยานนักเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลลาวถูกฆ่า UN รับเป็นคนมีสถานะลี้ภัย,” ผู้จัดการออนไลน์, 20 พฤษภาคม 2566.
ไทย-เวียดนาม
- สยาม ธีรวุฒิ
นักกิจกรรมการเมือง เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มประกายไฟในประเด็นคุณภาพชีวิตแรงงานตั้งแต่ปี 2552 เป็นหนึ่งในผู้แสดงละครเวที ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปี 2556 ซึ่งกลายเป็นเหตุให้ต้องลี้ภัยเนื่องจากถูกออกหมายจับในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือคดีมาตรา 112 ระหว่างลี้ภัยสยามยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะเริ่มเงียบหายไปหลังจากปรากฏข่าวพบร่างของชัชชาญและไกรเดช กระทั่งมีผู้ลี้ภัยชาวไทยคนหนึ่งเปิดเผยว่า สยามถูกจับกุมที่เวียดนามและถูกส่งตัวกลับไทยแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครพบเห็นสยาม ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารไทยต่างก็ปฏิเสธการควบคุมตัวและยังไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวน
- เจือง ซุย เญิ๊ต (Truong Duy Nhat)
สื่อมวลชนอิสระชาวเวียดนามและผู้จัดรายการของสำนักข่าวเรดิโอ ฟรี เอเชีย (Radio Free Asia) ผู้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเสรีภาพสื่อในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง และเคยถูกตัดสินจำคุก 2 ปีในข้อหา ‘ใช้เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยในทางที่ผิด (abusing democratic freedoms)’[16]“Freedom of press: Update on Journalist Truong Duy Nhat, a political prisoner in Vietnam,” The 88 Project for Free Speech in Vietnam, 19 September 2021. ต่อมาในปีเดียวกับที่สยามหายตัวไป เขาเดินทางมายื่นคำขอลี้ภัยกับ UNHCR ที่กรุงเทพฯ แต่กลับถูกจับกุมโดยบุคคลนิรนามและถูกส่งกลับเวียดนาม[17]“Investigation ordered into disappeared Vietnamese blogger in Bangkok,” Bangkok Post, 8 February 2019. ปัจจุบันเญิ๊ตถูกตัดสินจำคุก 10 ปีในข้อหาโฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านรัฐ
ไทย-กัมพูชา
- วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เคยทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนในประเด็นป้องกันการติดเชื้อ HIV และความหลากหลายทางเพศ หลังการรัฐประหาร 2557 เขาถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. จึงตัดสินใจลี้ภัยจากประเทศไทย และถูกออกหมายจับในข้อหาตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในปี 2561 กรณีโพสต์ข้อความบิดเบือนให้ร้ายประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 วันเฉลิมหายตัวไปจากหน้าที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และยังคงไม่พบร่องรอยจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งการสืบสวนโดยรัฐบาลทั้งสองประเทศก็ไร้ความคืบหน้า แม้จะมีหลักฐานจากกล้องวงจรปิดชี้ว่าเขาถูกชายฉกรรจ์ลักพาตัวขึ้นรถไป
- เวือน เวียสนา เวือง สมนาง และ ฐาวรี ลันห์
ทั้งสามเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองและเป็นสมาชิกพรรค Cambodia National Rescue Party (CNRP) พรรคฝ่ายค้านที่กำลังได้รับความนิยมจากประชาชนกัมพูชา ซึ่งภายหลังถูกศาลตัดสินยุบพรรคในปี 2560 พวกเขาลี้ภัยมาที่ประเทศไทยหลังจากถูกรัฐบาลกัมพูชาออกหมายจับในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในสังคม ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2564 ทั้งสามคนถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมและส่งกลับกัมพูชา รัฐบาลทั้งสองประเทศยืนยันว่าพวกเขาปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายและการควบคุมชายแดน และปัจจุบันผู้ลี้ภัยทั้งสามยังคงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำในกรุงพนมเปญ[18]“ไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับกัมพูชา 3 คน ภายในเดือนเดียว,” Voice Online, 24 พฤศจิกายน 2561. และ Sun Narin and Lors Liblib, “Jailed, Sick, Still Struggling: A Brother’s Plea to Quit Politics Goes Ignored,” VOA Cambodia, 11 January … Continue reading
นโยบายและกฎหมายไทยไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของผู้ลี้ภัย
เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่การกดปราบข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเกิดขึ้น เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายและกฎหมายที่คุ้มครองความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีประสบการณ์ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยมากว่าทศวรรษ แต่นโยบายผู้ลี้ภัยของไทยกลับเน้นจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้า ไม่มีกฎหมายภายในที่รับรองและคุ้มครองผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ
ที่ผ่านมารัฐบาลมักอ้างว่าเพราะไทยไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 จึงไม่ต้องคุ้มครองหรือรับรองสถานะของผู้ลี้ภัยอย่างจริงจัง แต่ในความเป็นจริง ไทยยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักการระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นผู้ลี้ภัย เช่น หลักการไม่ส่งบุคคลกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulment) อันเป็นกฎหมายจารีตระหว่างประเทศที่ไทยต้องยึดถือปฏิบัติแม้ไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฯ หรือการต่อต้านการซ้อมทรมานที่มักเกิดขึ้นเมื่อส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง ซึ่งไทยก็เป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน (Convention Against Torture: CAT) และเพิ่งจะผ่าน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหายไปเมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ตาม นโยบายและกฎหมายไทยที่เพิกเฉยต่อสิทธิของผู้ลี้ภัยยังเป็นช่องโหว่สำคัญที่นำไปสู่การกดปราบข้ามชาติในปัจจุบัน
กฎหมายไทยมองผู้ลี้ภัยเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย
ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการแสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศอื่น และมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากภัยประหัตประหาร การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง รวมถึงภัยอันตรายร้ายแรงอื่นๆ ดังนั้น การแสวงหาที่ลี้ภัยจึงไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย[19]ในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียนก็ระบุถึงสิทธิที่จะ ‘แสวงหาและได้รับที่ลี้ภัย’ ไว้เช่นกัน ดูเพิ่ม: … Continue reading แต่สำหรับประเทศไทย ผู้ลี้ภัยยังคง ‘ไร้ตัวตน’ แม้จะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แต่กฎหมายไทยยังไม่สามารถแยกผู้ลี้ภัยออกจากผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายได้ เนื่องจาก พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ไม่ได้กำหนดนิยามของผู้ลี้ภัยไว้เฉพาะ[20]มาตรา 4 ของ พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ ระบุนิยาม ‘คนต่างด้าว’ ว่าหมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย … Continue reading ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยอาจถูกจับกุม ควบคุมตัว ส่งกลับประเทศต้นทาง หรือเผชิญความเสี่ยงถูกทำร้ายระหว่างลี้ภัยเนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจากประเทศไทย[21]แม้การได้สถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR จะไม่รับรองความคุ้มครองตามกฎหมายไทย แต่ในบางกรณี … Continue reading
กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจควบคุมตัวผู้ลี้ภัยได้นานถึง 10 ปี
การควบคุมตัวผู้ลี้ภัยเป็น ‘มาตรการขั้นสุดท้าย’ ที่ UNHCR ระบุไว้ในแนวทางปฏิบัติสำหรับการควบคุมตัวผู้ขอลี้ภัย เมื่อพิจารณาว่าการแสวงหาที่ลี้ภัยไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย การจำกัดเสรีภาพของผู้ขอลี้ภัยจึงควรมีบทบัญญัติรับรองไว้ในกฎหมาย มีขอบเขตเขตกำหนดชัดเจน และมีการทบทวนกฎหมายดังกล่าวอยู่เสมอ รัฐจึงควรหลีกเลี่ยงการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยและพิจารณาใช้ทางเลือกอื่นๆ แทน เช่น การกำหนดให้มารายงานตัวอย่างสม่ำเสมอ การให้ประกันตัว หรือการให้มีผู้อุปถัมภ์ หรือหากต้องควบคุมตัวผู้ลี้ภัยจริงๆ ก็ควรต้องได้รับการพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นและได้สัดส่วนตามแต่ละกรณี
สวนทางกับหลักการข้างต้น มาตรา 54 ของ พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยสามารถใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง และมีอำนาจควบคุมตัวผู้ลี้ภัย ‘นานเท่าใดตามความจำเป็นก็ได้’ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ราว 50 คนที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตั้งแต่ปี 2558 และหนึ่งในนั้นเพิ่งเสียชีวิตในสถานกักกันเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา[22]โจนาธาน เฮด, “อุยกูร์ : วิบากกรรมผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ ถูกไทยคุมขังไร้กำหนด จนป่วยตายไร้การรักษา,” บีบีซีไทย, 21 กุมภาพันธ์ 2023. รวมถึงยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถยกเลิกการประกันตัวได้ทันที หรือส่งตัวออกนอกประเทศโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาลก็ได้ ซึ่งทั้งหมดล้วนเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ลี้ภัยและกลายเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลไทยใช้สนับสนุนการควบคุมตัวและส่งกลับผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านในหลายกรณี
ไทยละเมิดหลักห้ามผลักดันกลับ มองผู้ลี้ภัยเป็นผู้ร้ายข้ามแดน
หลักการไม่ส่งบุคคลกลับไปยังพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เป็นหลักการสำคัญของการคุ้มครองผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ และเนื่องจากเป็นหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศจึงมีผลบังคับใช้กับรัฐทุกแห่ง แม้รัฐนั้นไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยฯ รวมถึงในกรณีที่ประเทศต้นทางส่งคำร้องให้ส่งผู้ลี้ภัยกลับในฐานะ ‘ผู้ร้ายข้ามแดน’ ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน หากมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามีการเลือกปฏิบัติ ผู้ลี้ภัยมีโอกาสได้รับอันตรายจากการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย หรือมีรายงานว่าการดำเนินคดีในประเทศต้นทางไม่ได้มาตรฐานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ประเทศปลายทางก็ควรปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามหลักไม่ส่งกลับ[23]ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ, “ปัญหาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียน: กรณีความผิดฐานอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์,” … Continue reading
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้ละเมิดหลักการไม่ส่งกลับมาโดยตลอด ทั้งในรูปแบบของการบังคับส่งกลับตามคำร้องขอของประเทศต้นทาง ดังที่ได้กล่าวถึงในหลายกรณีข้างต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง มากกว่าการคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน อีกรูปแบบหนึ่งคือการส่งกลับผ่านนโยบาย ‘ผลักดันกลับ’ ซึ่งถูกใช้กับผู้ลี้ภัยที่อยู่ตามพรมแดนของประเทศไทย เช่น การผลักดันผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับทางทะเล คือขัดขวางไม่ให้เรือที่บรรทุกผู้ลี้ภัยเหล่านี้เข้ามาเทียบท่า และบางครั้งก็มีการเอาเรือเข้าประกบเพื่อผลักเรือผู้ลี้ภัยออกนอกอาณาเขตน่านน้ำไทย[24]Amnesty International, คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล: นโยบายด้านผู้ลี้ภัยของไทยและการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ, 2017.
ก้าวต่อไปของนโยบายคุ้มครองผู้ลี้ภัย
และการรับมือการกดปราบข้ามชาติ
ชัดเจนว่าการกดปราบข้ามชาติเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั่วโลก แต่ปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่งของปรากฏการณ์นี้คือ ‘การแทรกแซงและละเมิดอธิปไตยรัฐ’ เนื่องจากรัฐบาลประเทศหนึ่งสามารถเข้ามาจับกุม ทำร้าย หรืออุ้มหายผู้ลี้ภัยในพรมแดนของอีกประเทศได้โดยตรง มีอิทธิพลกดดันให้ประเทศปลายทางส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับ หรือกระทั่งเข้าแทรกแซงกระบวนการคัดกรองผู้ลี้ภัยในหลายกรณี ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงเริ่มกำหนดให้การกดปราบข้ามชาตินับเป็น ‘ภัยความมั่นคง’ ประเภทหนึ่งที่ต้องมีนโยบายรับมืออย่างชัดเจน พร้อมทั้งขยายความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศเพื่อร่วมกันต่อต้านและป้องกันการกดปราบข้ามชาติ[25]ตัวอย่างหนึ่งคือความพยายามของ Resisting Authoritarian Pressure Cohort ซึ่งได้ลงนามในคำประกาศว่าด้วยหลักการในการต่อต้านการกดปราบข้ามชาติ (Declaration on Principles to Combat Transnational Repression) … Continue reading
ประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการกดปราบข้ามชาติในหลายกรณีทั้งในฐานะประเทศต้นทางและประเทศปลายทางที่เพิกเฉยหรือยินยอมให้รัฐบาลต่างชาติคุกคามผู้ลี้ภัยการเมือง ควรยืนยันอย่างหนักแน่นว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และต้องเริ่มต้นแก้ปัญหาการกดปราบข้ามชาติอย่างจริงจัง ดังนี้
- สืบสวน-ชี้แจงกรณีการกดปราบข้ามชาติที่ผ่านมา
รัฐบาลไทยควรสืบสวนหาข้อเท็จจริงจากกรณีการกดปราบข้ามชาติที่ผ่านมา ทั้งในกรณีผู้ลี้ภัยชาวไทยสูญหายและเสียชีวิตในต่างประเทศ รวมถึงกรณีที่ผู้ลี้ภัยสัญชาติอื่นถูกลักพาตัว ถูกบังคับส่งกลับ และเสียชีวิตในประเทศไทย พร้อมทั้งชี้แจงความคืบหน้าและข้อเท็จจริงจากการสืบสวนให้สังคมรับทราบ
- กำหนดนิยามผู้ลี้ภัย ทำกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัย
การไม่ยอมรับตัวตนและสถานะของผู้ลี้ภัยในกฎหมายไทยเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ลี้ภัยถูกลิดรอนสิทธิและไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม นอกจากการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยฯ แล้ว รัฐบาลไทยควรกำหนดนิยามของผู้ลี้ภัยให้ชัดเจน ในอนาคตควรมีกรอบกฎหมายภายในที่กำหนดหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัย ตลอดจนพัฒนากลไกคัดกรองและให้สถานะผู้ลี้ภัยที่มีสถานะเป็นกฎหมาย มีประสิทธิภาพ และไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง[26]ปัจจุบันไทยมีกลไกการคัดกรองระดับชาติ (National Screening Mechanism: NSM) เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2019 แต่กลไกนี้ยังสร้างข้อกังวลหลายประการ … Continue reading
แน่นอนว่าการผ่านกฎหมายในประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และรัฐบาลอาจต้องทำงานสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในสังคมไทยอีกมาก ดังนั้นระหว่างขั้นตอนดังกล่าว รัฐบาลจึงควรสนับสนุนให้ UNHCR สามารถเข้าถึงบุคคลที่ยื่นเรื่องขอลี้ภัย โดยลดเงื่อนไขและอุปสรรคในการขอลี้ภัยให้น้อยที่สุด รวมถึงรับประกันว่าบุคคลที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้วจะไม่ถูกจับกุม ควบคุมตัว หรือถูกส่งกลับอย่างผิดกฎหมาย
- ทำระบบติดตามและเตือนภัยผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงถูกไล่ล่า
รัฐบาลอาจร่วมมือกับภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยและสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อจัดทำระบบติดตามและเตือนภัยผู้ลี้ภัยที่มีความเสี่ยงถูกไล่ล่าคุกคามโดยรัฐบาลต้นทาง รวมถึงทำบันทึกข้อมูลกรณีการกดปราบข้ามชาติ เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และรับมือในอนาคต
- บังคับใช้หลักไม่ส่งกลับตาม พ.ร.บ. ทรมานอุ้มหายฯ
ปัจจุบัน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหายได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับหลักการไม่ส่งกลับไว้ในมาตรา 13 แล้ว เพื่อให้เกิดการบังคับใช้จริง ควรมีการอบรมและสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานตรวจแห่งชาติ รวมถึงอาจมีมาตรการเฉพาะในประเด็นนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง
นอกเหนือจากแนวทางทั้งสี่ข้อข้างต้น รัฐบาลไทยจำเป็นต้องขยายความร่วมมือต่อต้านการกดปราบข้ามชาติไปในระดับระหว่างประเทศ เพราะการกดปราบข้ามชาติเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นข้ามพ้นพรมแดน อย่างน้อยที่สุดคือการไม่เพิกเฉยและยินยอมให้รัฐบาลประเทศอื่นสามารถเข้าแทรกแซงและคุกคามผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้
↑1 | Freedom House, “Case Study: Thailand,” Defending Democracy in Exile: Policy Responses to Transnational Repression, 2022. |
---|---|
↑2 | Alexander Cooley, “The International Dimensions of the New Transnational Repression,” Written Testimony before the Commission on Security and Cooperation in Europe, 12 September 2019. |
↑3 | โครงการวิจัยสำรวจการกดปราบข้ามชาติ ซึ่งพัฒนามาจากฐานข้อมูลของ Exeter University และการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ Columbia University ในปี 2018 โดยเผยแพร่รายงานตั้งแต่ปี 2021 คือ Out of Sight, Not out of Reach: The Global Scale and Scope of Transnational Repression. (2021) และ Still Not Safe: Transnational Repression in 2022. |
↑4 | Freedom House, “Iran: Transnaional Repression Origin Country Case Study,” Out of Sight, Not out of Reach: The Global Scale and Scope of Transnational Repression, 2021. |
↑5 | iLaw, ปรสิตติดโทรศัพท์: รายงานข้อค้นพบการใช้เพกาซัสสปายแวร์ในประเทศไทย, 16 กรกฎาคม 2565. |
↑6 | จนถึงขณะนี้ รัฐบาลไทยยังคงปฏิเสธว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธสปายแวร์ดังกล่าว แม้จะมีการเปิดเผยหลักฐานโดยพรรคฝ่ายค้านว่ารัฐบาลได้ของบประมาณวงเงิน 350 ล้านบาทเพื่อจัดหาสปายแวร์ภายใต้โครงการจัดหาระบบรวบรวมและประมวลผลข่าวกรองชั้นสูง |
↑7 | Lindsay Maizland, “China’s Repression of Uyghurs in Xinjiang,” Council on Foreign Relations, 22 September 2022. |
↑8 | Report of the Working Group on the Universal Periodic Review Thailand Addendum Views on conclusions and/or recommendations, voluntary commitments and replies presented by the State under review. |
↑9 | FIDH, Shanghai Cooperation Organisation: a vehicle for human rights violation, August 2022. |
↑10 | Alexander, “The International Dimensions of the New Transnational Repression.” |
↑11 | สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, “อธิบดีกรมสารนิเทศ ชี้แจงประเด็น Human Rights Watch นำเสนอข่าวแสดงความกังวลกรณีไทยส่งตัวชาวกัมพูชากลับประเทศ เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2561,” 11 กุมภาพันธ์ 2561. |
↑12 | “’หมายแดง’ ของ ‘อินเตอร์โพล’ กลายเป็นเครื่องมือเล่นงานทางการเมืองหรือไม่?,” VOA, 4 ตุลาคม 2562. |
↑13 | เอกสารจากคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติถึงรัฐบาลไทย (2020). |
↑14 | รายชื่อนักกิจกรรมที่ถูกบังคับสูญหายตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา 1. นายอิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) 2. นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) 3. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ 4. นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ 5. นายสยาม ธีรวุฒิ 6. นายกฤษณะ ทัพไทย และ 7. นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ |
↑15 | “เร่งสอบพยานนักเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลลาวถูกฆ่า UN รับเป็นคนมีสถานะลี้ภัย,” ผู้จัดการออนไลน์, 20 พฤษภาคม 2566. |
↑16 | “Freedom of press: Update on Journalist Truong Duy Nhat, a political prisoner in Vietnam,” The 88 Project for Free Speech in Vietnam, 19 September 2021. |
↑17 | “Investigation ordered into disappeared Vietnamese blogger in Bangkok,” Bangkok Post, 8 February 2019. |
↑18 | “ไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับกัมพูชา 3 คน ภายในเดือนเดียว,” Voice Online, 24 พฤศจิกายน 2561. และ Sun Narin and Lors Liblib, “Jailed, Sick, Still Struggling: A Brother’s Plea to Quit Politics Goes Ignored,” VOA Cambodia, 11 January 2022. |
↑19 | ในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียนก็ระบุถึงสิทธิที่จะ ‘แสวงหาและได้รับที่ลี้ภัย’ ไว้เช่นกัน ดูเพิ่ม: สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN), ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียน ASEAN Human Rights Declaration, 18 พฤศจิกายน 2012, ย่อหน้า 16. |
↑20 | มาตรา 4 ของ พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ ระบุนิยาม ‘คนต่างด้าว’ ว่าหมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เนื่องจากไทยไม่มีกฎหมายกำหนดสถานะของผู้ลี้ภัยไว้ เมื่อนำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้กับกรณีของผู้ลี้ภัยจึงพิจารณาตามมาตรา 58 ที่กำหนดว่า คนต่างด้าวที่เข้ามาราชอาณาจักรโดยไม่มีหลักฐานหรือตามกฎหมายอย่างอื่นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนเข้าเมืองผิดกฎหมาย |
↑21 | แม้การได้สถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR จะไม่รับรองความคุ้มครองตามกฎหมายไทย แต่ในบางกรณี ผู้ลี้ภัยสามารถหลีกเลี่ยงการจับกุมโดยแสดงบัตรประจำตัวที่ออกโดย UNHCR บางส่วนได้รับการปล่อยตัวหากเจ้าหน้าที่ UNHCR หรือตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านผู้ลี้ภัยสามารถเข้าแทรกแซงช่วยเหลือได้ ดูเพิ่ม: Amnesty International, คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล: นโยบายด้านผู้ลี้ภัยของไทยและการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ, 2017. |
↑22 | โจนาธาน เฮด, “อุยกูร์ : วิบากกรรมผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ ถูกไทยคุมขังไร้กำหนด จนป่วยตายไร้การรักษา,” บีบีซีไทย, 21 กุมภาพันธ์ 2023. |
↑23 | ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ, “ปัญหาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียน: กรณีความผิดฐานอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์,” สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 10 ตุลาคม 2561. |
↑24 | Amnesty International, คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล: นโยบายด้านผู้ลี้ภัยของไทยและการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ, 2017. |
↑25 | ตัวอย่างหนึ่งคือความพยายามของ Resisting Authoritarian Pressure Cohort ซึ่งได้ลงนามในคำประกาศว่าด้วยหลักการในการต่อต้านการกดปราบข้ามชาติ (Declaration on Principles to Combat Transnational Repression) ริเริ่มโดย Freedom House รัฐบาลลิทัวเนีย และรัฐบาลประชาธิปไตยที่เข้าร่วมการประชุม Summit for Democracy ในปี 2021 |
↑26 | ปัจจุบันไทยมีกลไกการคัดกรองระดับชาติ (National Screening Mechanism: NSM) เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2019 แต่กลไกนี้ยังสร้างข้อกังวลหลายประการ ทั้งสถานะของกลไกที่เป็นระเบียบคำสั่งของฝ่ายบริหารและอาจบังคับใช้กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ไม่ชัดเจน การหลีกเลี่ยงใช้คำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ ซึ่งอาจส่งผลให้การคุ้มครองไม่ครอบคลุมผู้ลี้ภัยทุกกลุ่ม และเงื่อนไขของการคุ้มครองที่สร้างข้อยกเว้นหากการคุ้มครองนั้น ‘กระทบความมั่นคงของประเทศ’ |