‘ตีโจทย์เทคโนโลยีโลก ตั้งโจทย์เทคโนโลยีไทย’ เราควรปรับตัวอย่างไรในโลก 6.0

101 PUB

6 February 2024

เพียงแค่ชั่วพริบตา โลกก็คล้ายจะหมุนเร็วจนตามไม่ทัน

ลองนึกภาพว่าถ้าหากเป็นเมื่อ 2-3 ทศวรรษที่แล้ว ภาพของปัญญาประดิษฐ์ที่รู้ใจเราเสียยิ่งกว่าเรารู้ใจตัวเอง หรือแนวความคิดที่เทคโนโลยีคล้ายจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์อย่างแนบเนียน ดูจะเป็นเพียงนิยายไซไฟล้ำยุคเท่านั้น

แต่แค่ไม่กี่อึดใจ โลกก็หมุนไปจนถึงขั้นนั้น และมีแนวโน้มที่เทคโนโลยีจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนทำให้ชีวิตมนุษย์ตกอยู่ในโลกเสมือนที่เป็นจริงยิ่งกว่าความจริงใดๆ เสียอีก

ความคิดนี้ฟังดูน่าตื่นเต้นคล้ายกับอยู่ในหนังที่กล่าวถึงโลกอนาคตสักเรื่อง แต่ก็กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั้งท้าทายและน่าหวาดหวั่นในเวลาเดียวกัน – เราจะดูแลและกำกับควบคุมเทคโนโลยีอย่างไร ในเมื่อบางครั้งเรายังไม่สามารถเข้าใจเบื้องหลังของมันได้อย่างลึกซึ้งเลยด้วยซ้ำ ยังไม่นับว่าเทคโนโลยีมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดช่องว่างทางสังคมที่สูงขึ้น แบ่งแยกชนชั้นเป็นชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลาง ชนชั้นไล่ตามและเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเทคโนโลยี และคนชายขอบหรือคนเปราะบางที่ร่วงหล่นและโดนทิ้งไว้ข้างหลัง

เพราะเทคโนโลยีและเวลาไม่เคยรอท่าใคร ดังนั้น หากไทยไม่สามารถจับกระแสและพัฒนาตนเองให้เท่าทันกับเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็มีโอกาสที่เราจะถูกทิ้งให้ขาดการเชื่อมต่อกับรถไฟโลกใหม่ที่วิ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วเกินตาเห็น

101 ชวนมองภาพโลกยุคใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในหนังไซไฟอีกต่อไป รวมทั้งร่วมวางยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาสำหรับอนาคตข้างหน้า ผ่านบทสนทนากับตัวจริงเสียงจริงในแต่ละวงการ ประกอบด้วย ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (ThailandFuture) ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คุณพัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยี นักวิจัย และนักศึกษาปริญญาเอก MIT Media Lab ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด ผู้นำในการสร้างระบบนิเวศน์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศไทย

งานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเป็นเวทีที่หก ในซีรีส์เสวนาสาธารณะ Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ ซึ่งเป็นเวทีเสวนาสาธารณะที่จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากคนในแวดวงที่หลากหลาย เพื่อร่วมกำหนดโจทย์ใหม่ประเทศไทยและระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับบริบทโลกใหม่ จัดโดย 101 PUB และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ร่วมตีโจทย์เทคโนโลยีและตั้งโจทย์เทคโนโลยีในโลกยุค 6.0 ไปพร้อมกัน ในบรรทัดถัดจากนี้

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากงานเสวนา Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ #6 : ‘เทคโนโลยีใหม่ ประเทศไทยเปลี่ยน?’

ทรัพยากรมนุษย์-งานวิจัย อ่านโจทย์เทคโนโลยีไทยในโลกใหม่ – ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

“เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ และจะกระทบกับทุกสังคมด้วยอัตราความรุนแรงไม่เท่ากัน เราต้องอย่าลืมด้วยว่าประเทศไทยทุกวันนี้มีปัญหาเยอะมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดิสรัปต์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ”

“ในมุมมองนักลงทุน เวลาเราจะมองอนาคตของประเทศใด เราจะมองสองอย่าง หนึ่งคือตลาดหุ้น สองคือเด็กและเยาวชน ตอนนี้ตลาดหุ้นของเราอยู่แค่ประมาณพันสี่ ส่วนคะแนน PISA ล่าสุดที่ออกมาก็ไม่ได้ดีมาก ดังนั้นสำหรับประเทศไทย ตอนนี้เราสะบักสะบอมทั้งคู่”

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (ThailandFuture) ฉายภาพความท้าทายของประเทศไทยให้เห็น พร้อมกับตั้งโจทย์ใหญ่และเป็นโจทย์หลักว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ เราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างการเติบโตและทำให้เกิดการแบ่งปันที่ยุติธรรมมากขึ้น เพราะหากประเทศต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่นอกจากจะไม่เติบโตและยังเหลื่อมล้ำมากขึ้น ปัญหาอื่นๆ ย่อมตามมา

“เวลาผมพูดถึงเรื่อง AI หนึ่งในตลาดที่แตกตื่นมากที่สุดคืองานบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource: HR) เพราะใจหนึ่งเขาต้องตอบโจทย์พนักงานที่ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์งานข้างหน้าจะเป็นอย่างไร อีกใจก็ต้องตอบโจทย์ CEO และเรายังได้ยินเรื่องหลายบริษัทโดยเฉพาะในตะวันตกทยอย lay off คน ซึ่งในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์แรงงาน การ lay off ถือเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แรงงานได้หางานใหม่และพัฒนาทักษะ แทนที่จะอยู่ในอุตสาหกรรมแล้วพากันดิ่ง”

เมื่อพูดถึงตรงนี้ ณภัทรยอมรับว่าสำหรับเขา ‘เทคโนโลยีคือความหวัง’ หากมองในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือและโอกาสที่จะเอื้อให้เกิดการผลิตได้มากกว่าเดิมทั้งที่ทรัพยากรมีเท่าเดิม แต่โจทย์คือการใช้เครื่องมือนี้ให้เกิดผลิตภาพมากกว่าเดิม ประเด็นนี้ยิ่งแหลมคมมากขึ้นเมื่อเครื่องมือที่ว่าคือ ‘เทคโนโลยี’

“การนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (technology adoption) ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ อย่างการสำรวจที่สหรัฐฯ เมื่อปี 2019 พบว่ามีอัตราการนำเทคโนโลยีไปใช้แค่ประมาณ 3-5%”

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

อย่างไรก็ดี หลายคนมองว่าการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้อาจไม่ใช่แค่การปรับตัวเร็ว แต่ต้องดูศักยภาพของประเทศควบคู่กัน กล่าวคือต้องเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ ซึ่งณภัทรมองว่าทั้งหมดนี้ขึ้นกับทุกภาคส่วน แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ ตัวเขาเชื่อว่าภาครัฐต้องมีบทบาท และต้องเลือกให้ถูกว่าภาครัฐจะลงไปมีบทบาท ผ่อนแรง และกำกับตรงไหน

“ผมว่ายากเหมือนกันนะที่ภาครัฐจะรู้ว่าต้องเหยียบคันเร่งตรงภาคส่วนไหน อาจจะต้องลองตั้งกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมและลงทุนไปน่าจะดีกว่าการเร่งทำแผนเพื่อตอบโจทย์ 3 ปี หรือ 5 ปีข้างหน้า เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว และไม่ใช่แค่เรื่องการลงทุน แต่การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนธุรกิจหรือนักวิจัยให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นก็สำคัญ”

อีกหนึ่งโจทย์ยากคือการเปิดโอกาสให้บริษัทขนาดเล็กสามารถเข้าแข่งขันในตลาดการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) เทคโนโลยีมากขึ้น ณภัทรชี้ว่า ประเทศไทยประสบปัญหาขาดกลไกตลาดในการเป็นช่องทางสนับสนุนทางการเงิน โดยเฉพาะกับสตาร์ตอัปเมืองไทยที่มักขาดแคลนเงินสนับสนุนให้ช่วงเริ่มต้น

เมื่อลองมองคาดการณ์ไปถึงอนาคตข้างหน้า สิ่งแรกที่ณภัทรเสนอคือ เรื่องทรัพยากรมนุษย์

“ผมคิดว่าเราอาจจะมีคนไม่พอ คือคนของเรายังมีทักษะไม่เพียงพอสำหรับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นฝั่งวิจัย ฝั่งเอกชน หรือฝั่งผู้ให้ทุนเองก็ตาม ทุกวันนี้แม้เราจะคุยกันเรื่องเทคโนโลยี แต่อย่าลืมว่าเทคโนโลยีเติบโตด้วยคนที่บ้าพอจะทำอะไรแปลกๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก”

“แต่ทุกวันนี้ เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาวก็ไม่อยากมีลูกแถมยังย้ายประเทศกันอีก”

ประเด็นต่อมาคือเรื่องของงานวิจัย ณภัทรเสนอว่าเราควรเริ่มทำการวัดผลเชิงนโยบายให้มากขึ้น มองนโยบายสาธารณะด้วยมุมมองแบบวิทยาศาสตร์มากขึ้นเพื่อการวัดผลที่มีประสิทธิภาพ และยังจะเป็นการช่วยดึงดูดคนเก่งหรือคนที่มีศักยภาพเข้ามาในประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง

“ผมเคยคุยกับกลุ่ม digital nomad ส่วนใหญ่อยากอยู่ไทยนะครับ แต่อยู่ได้ไม่นานก็ไม่อยู่กันแล้ว อาจจะเพราะเราตั้งบริษัทได้ยากหรือเปล่า จริงๆ ถ้าพิจารณาดีๆ นี่เป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบของไทยเลยนะ คือหลายคนอยากย้ายมาอยู่ ซึ่งเราอาจจะต่อยอดตรงนี้ได้”

แต่ใช่ว่าการตอบโจทย์อนาคตจะต้องมองแต่ระยะยาวเท่านั้น ณภัทรทิ้งท้ายว่า การแก้ปัญหาหรือทำอะไรที่ได้ผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว (quick win) ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเขาเจาะจงไปที่อัตราการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดของไทยที่ยังต่ำ แต่เป็นประเด็นที่สามารถแก้ได้แทบจะในตอนนี้เลย

“ผู้ประกอบการหลายคนยังไม่รู้ว่าการมีเทคโนโลยีที่ดีกว่าจะเข้ามาช่วยพวกเขายังไง และการนำเทคโนโลยีไปใช้สมัยนี้ก็ไม่ได้มีต้นทุนสูงเหมือนสมัยก่อน ผมเลยคิดถึงเรื่องเงินอุดหนุนหรือการลดหย่อนภาษีที่จะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้”

ตีโจทย์ใหญ่ สร้างระบบนิเวศอย่างไรให้ สตาร์ตอัปไทยได้เติบโต อรนุช เลิศสุวรรณกิจ

ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการสตาร์ตอัปและเทคโนโลยีมานาน อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด ผู้นำในการสร้างระบบนิเวศน์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศไทย ฉายภาพให้เห็นว่าภายในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยถือว่าเป็นเบอร์สี่ในวงการสตาร์ตอัป รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม

ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้เวียดนามกับไทยจะห่างกันเพียงแค่ลำดับเดียว แต่มีช่องว่างการลงทุนห่างกันประมาณ 3-4 เท่า

“เราเคยถามนักลงทุนชาวเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นชาติที่ไปลงทุนในเวียดนามเยอะพอสมควร ว่าเขาเห็นอะไรในเวียดนามแต่ไม่เห็นในไทย เขาตอบกลับมาว่า แล้วไทยมีอะไรให้เขาเห็น”

“ตอนนั้นแอบสะดุ้งเลยนะ ไม่รู้จะตอบว่าอะไรดี ซึ่งจริงๆ แล้วไทยมีคนเก่ง แต่คนที่จะเติบโตไปได้อาจจะน้อย ประกอบกับคนเกาหลีใต้มองว่าคนเวียดนามมีศักยภาพ ฝักใฝ่ ขวนขวาย โดยเฉพาะในประเด็น STEM ซึ่งการมีศักยภาพเป็นพื้นฐานของหลายอย่าง แต่เขามองไม่ค่อยเห็นภาพนี้ในไทย”

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ

อีกประเด็นที่อรนุชค้นพบคือ คนไทยที่อยากทำสตาร์ตอัปในประเทศตัวเองจริงๆ มีน้อย เพราะคนไทยจำนวนมากเลือกที่จะร่วมงานกับองค์กรขนาดใหญ่มากกว่า

“เราคิดว่า จุดที่สำคัญที่สุดคือเรื่องระบบนิเวศของบ้านเราที่มีความแปลกประหลาด คำถามที่น่าคิดคือ ถ้าเราได้เงินลงทุนจากภาครัฐในด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) แล้ว เงินลงทุนตรงนี้ควรไปลงที่ใคร ทำอย่างไรให้เงินไปลงถูกที่ถูกคนมากขึ้น”

“แม้ตอนนี้เราจะเริ่มปรับกฎระเบียบให้ภาคเอกชนลงทุนในงานวิจัยได้มากขึ้น แต่มันก็ยังไม่ค่อยเกิดขึ้นจริง เราจึงต้องมีต้นแบบที่ช่วยผลักดันตรงนี้ด้วย รวมถึงมองการดำเนินงานในระดับภูมิภาคและหาจุดแข็งเพื่อสร้างข้อได้เปรียบให้ไทยได้มากขึ้น”

เมื่อพูดถึงจุดแข็งของไทย อรนุชมองว่าประเทศไทยมีคนที่ทำงานในสายซอฟต์แวร์เฉพาะทางเยอะ หรือเป็น B2B (Business-to-Business) คือมีการทำธุรกิจมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ และเมื่อคนรุ่นใหม่เข้ารับกิจการต่อก็มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้ทันสมัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อรนุชชี้ว่า แม้ประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซียหรือเกาหลีใต้ จะเปิดเสรีให้ผู้เล่นทุกคนสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างเท่าเทียม แต่ภาครัฐก็พยายามช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและช่วยให้ผู้ประกอบการในประเทศอยู่รอดและเติบโต เช่น การกำหนดให้ผู้เล่นรายใหญ่ที่จะเข้ามาร่วมงานต้องทำงานร่วม (collaborate) กับผู้ประกอบการในประเทศ กล่าวคือหาหนทางทั้งเพื่อแข่งขันในโลกเสรีและยุติธรรมพอที่จะสนับสนุนคนในประเทศไปพร้อมกัน

จากโจทย์ใหญ่ทั้งหมดที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ตอนนี้สู่การหาทางแก้โจทย์และก้าวเดินต่อไปข้างหน้า อรนุชมองว่า ภาครัฐไทยยังไม่เคยออกนโยบายมาสนับสนุนหรือสร้างแรงจูงใจให้สตาร์ตอัปไทยอย่างจริงจัง และแรงจูงใจที่ว่าอาจไม่ใช่แค่เรื่องผิวเผินอย่างการลดหย่อนภาษี แต่เป็นการสร้างคุณค่าและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ให้ผลิตภัณฑ์ของไทย รวมไปถึงการปรับกรอบความคิด (mindset) ของสังคมไทยด้วย

“ในงานวิจัย เราจะเห็นว่ามีทั้งงานที่เป็นพรมแดนความรู้ใหม่ๆ หรือที่เป็นต้นน้ำ กับงานที่เป็นปลายน้ำ และหลายครั้งที่นักวิจัยที่เรียนจบจากต่างประเทศไม่ได้ทำงานที่ตรงกับความเชี่ยวชาญของตนเองจริงๆ เช่น ศักยภาพของนักวิจัยคนนี้อยู่ต้นน้ำ แต่โดนจับให้มาทำเรื่องปลายน้ำ ซึ่งมีสตาร์ตอัปที่ทำธุรกิจทำอยู่ก่อนแล้ว แถมเงินที่ภาครัฐสนับสนุนให้นักวิจัยคนนี้ยังมากกว่าเงินที่สตาร์ตอัปเจ้านั้นมีอีก ก็ตีกันเองระหว่างโปรเจกต์ของภาครัฐกับของสตาร์ตอัป”

“ที่เศร้ากว่านั้นคือ พอมองไปที่บริษัทใหญ่ๆ เขาก็ไม่เอาทั้งงานวิจัยไทยและสตาร์ตอัปเลย แต่ไปเลือกของต่างประเทศมาแทน เราจึงต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจที่ไม่ใช่แค่เรื่องของทักษะ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนมายเซตของสังคมไทยครั้งใหญ่ด้วย”

“แต่ด้วยความเป็นตลาดเสรี เราไม่ได้หมายความว่าจะปิดกั้นไม่ให้บริษัทใหญ่ๆ ทำอะไรที่ทับไลน์กับสตาร์ตอัป แต่อยากให้ลองเปิดใจเข้าหากันและโตไปพร้อมกันมากกว่า”

ในตอนท้าย อรนุชเสนอว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำสตาร์ตอัปควรเป็นการให้คุณค่ากับการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน เปิดให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหรือร่วมวางนโยบาย เพราะคนทำงานย่อมเข้าใจและสามารถวางแผนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงได้

3 โจทย์เทคโนโลยีใหม่ในโลกแบบ Protopia – พัทน์ ภัทรนุธาพร

ในช่วงที่ผ่านมา กระแส ChatGPT กลายเป็นที่ฮือฮาในประเทศไทย ทั้งในฐานะของ AI อัจฉริยะที่ช่วยย่นระยะเวลาการทำงานหลายอย่างได้ในพริบตา ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความหวาดวิตกและการวาดฝันถึงโลกที่เทคโนโลยีใกล้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์มากขึ้น

แต่สำหรับคนที่อยู่แถวแรกๆ ของพรมแดนความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่าง พัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยี นักวิจัย และนักศึกษาปริญญาเอก MIT Media Lab เรื่องเทคโนโลยีอย่าง ChatGPT หรือ AI อัจฉริยะที่เราเห็นกันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องของความพยายามในการวิจัยนับสามทศวรรษของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นก่อนจะมีกระแส AI อย่างทุกวันนี้เสียอีก

“ถ้ามองดีๆ นี่เป็นทั้งการสร้างระบบนิเวศและ soft power รูปแบบหนึ่งที่ดึงดูดคนเก่งมายังสหรัฐฯ หลายคนอยากไปสหรัฐฯ เพราะสตาร์วอร์ส (Star Wars) นะครับ เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไม่ใช่จู่ๆ ก็โผล่มา แต่มีประวัติศาสตร์สนับสนุนตั้งแต่เรื่องการทหารจนถึงการวิจัยในมหาวิทยาลัย”

“เพราะฉะนั้น ถ้าไทยจะมองอนาคตข้างหน้า เราจะมองแค่วันนี้พรุ่งนี้ไม่ได้ ถ้ามองแค่นี้เราจะไม่เห็นความซับซ้อนอะไรเลย”

พัทน์ ภัทรนุธาพร

ประเด็นสืบเนื่องต่อมาคือ แม้ไทยจะรู้จักและตื่นเต้นกับ ChatGPT เมื่อไม่นานมานี้ แต่ในสหรัฐฯ มีการพูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่ราว 30 ปีที่แล้ว และยังมองทั้งในมุมการทหารและภูมิรัฐศาสตร์ ไปจนถึงมุมการสร้างสถาบันที่นำคนเก่งในแต่ละสาขามารวมตัวกัน

คำถามที่น่าสนใจและน่าต่อยอดจากเรื่องนี้คือ ประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีอย่างสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่สถาบันหัวกะทิอย่าง MIT กำลังคุยประเด็นอะไรกันอยู่ ซึ่งพัทธ์ชี้ว่าเราต้องมองในสามมิติ

มิติแรกคือระดับบุคคล ในอนาคตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่า human-machine symbiosis กล่าวให้ชัดคือ เราไม่ได้กำลังจะสร้างอุปกรณ์ใหม่ๆ แต่กำลังทำให้อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วกลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิต และช่วยสร้างศักยภาพให้มนุษย์ไปพร้อมกัน

หากพูดให้เป็นรูปธรรม พัทน์ยกตัวอย่างแว่นตา VR ที่ในอนาคตจะไม่ใช่แค่การสร้างภาพเสมือน แต่จะเป็นการปลูกถ่าย (implant) เข้าไปในสมองจนสามารถสร้างภาพบางอย่างหรือทำให้คนโปรแกรมความฝันของตัวเองได้

“เทคโนโลยีเหล่านี้จะปรับ AI ให้เข้ากับมนุษย์แต่ละคนได้มากขึ้น (personalised) เช่น การมีข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่สามารถติดตาม (track) ข้อมูลสุขภาพของแต่ละคนได้ หรือการที่ AI สามารถทำนายได้ว่าเราจะพูดอะไร ทานอะไรตอนไหน จะเสียชีวิตเมื่อไหร่ ต้องการประกันชีวิตไหม”

มิติที่สองคือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่าง AI กับมนุษย์ ดังที่ตอนนี้เราเห็นอัลกอริธึมของโซเชียลมีเดียต่างๆ สร้างคอนเทนต์และส่งตรงถึงการรับรู้ของเรา พัทน์ชี้ว่า ในอนาคต มนุษย์จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับปัญญาประดิษฐ์ในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ซึ่งจะเปลี่ยนธรรมชาติการเรียนและการทำงานของมนุษย์ไป

แต่ประเด็นสำคัญคือ ลำพังการสร้าง AI หรือระบบที่ดีไม่ได้หมายความว่าจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี แต่มนุษย์ต้องศึกษาปฏิสัมพันธ์การออกแบบกลไกดังกล่าวด้วย

และ มิติที่สาม คือการตีความหรือการทำความเข้าใจกลไกเบื้องหลังของ AI (mechanistic interpretability) เป็นสาขาใหม่ที่จะเกิดขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเบื้องหลังการทำงานของ AI หรือที่พัทน์เปรียบกับการผ่าตัดสมองของปัญญาประดิษฐ์ เพราะการจะสร้าง AI ที่มีความน่าเชื่อถือในวงการต่างๆ ต้องมาพร้อมกับเครื่องมือที่ทำให้เข้าใจได้ว่า AI นั้นทำงานได้ถูกต้องหรือไม่

“ในอนาคตข้างหน้า เราจะอยู่ในสังคมที่คนจะกลายเป็นไซบอร์กมากขึ้นและมีเทคโนโลยีเกิดใหม่มากขึ้น พูดง่ายๆ คือเรากำลังจะเข้าสู่สังคมแบบ Protopia (มาจาก prototype หรือตัวแบบ) หรือสังคมที่จะเข้าสู่ยุคใหม่อยู่เรื่อยๆ ปีก่อนหน้าเราตื่นเต้นกับ metaverse และ AI แล้วปีหน้าจะเป็นอะไร”

พัทน์สรุปว่า โลกจะขับเคลื่อนด้วยความเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สังคมต้องเรียนรู้และอยู่กับการดิสรัปต์ให้เร็วขึ้นตามไปด้วย ทำให้เกิดความท้าทายขึ้น กล่าวคือมนุษย์จะเจอเทคโนโลยีที่มี ‘ความเป็นมนุษย์’ มากขึ้น และถ้าออกแบบไม่ดี หลายคนจะกลายเป็นมนุษย์น้อยลงและถูกลดทอนให้กลายเป็นเครื่องจักร

หากมองไปในอนาคต เราจะมีทั้งเครื่องจักรที่มีความเป็นมนุษย์ (humanised machine) และมนุษย์ที่มีความเป็นเครื่องจักร (mechanised human) รวมถึงการมีโลกเสมือนที่เหมือนจริงกว่าความเป็นจริงเสียอีก (more real than reality)

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด โจทย์สำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้คนยังเป็นคน และทำอย่างไรให้พร้อมรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านแบบไร้รอยต่อ

สำหรับประเทศไทย พัทน์มองว่าโจทย์ที่หายไปคือการศึกษาเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ AI เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะการออกแบบกระบวนการไม่ให้มนุษย์ต้องพึ่งพา AI จนผลิตภาพ (productivity) ต่ำลงหรือความรู้หายไป โจทย์เรื่องนี้จึงเป็นทั้งโจทย์ที่เหมาะสมต่อเวลา (timely) และเป็นประเด็นถาวร (timeless) ในเวลาเดียวกัน

อีกประเด็นคือการดึงคนเก่งกลับมายังประเทศไทย ซึ่งพัทน์ชี้ให้เห็นอีกมุมว่า เราอาจไม่ต้องมองเฉพาะการดึงคนเก่งกลับประเทศ แต่หลายประเทศให้พลเมืองของตนเองไปทำงานที่ต่างประเทศในฐานะสะพานเชื่อม (bridge) องค์ความรู้กลับมายังประเทศของตนเองแทน พร้อมไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้ภายในประเทศด้วย

“จริงๆ ถ้าเรามองว่าไทยเป็นเมืองที่ไม่เชื่อมต่อ (disconnect) กับโลกแล้ว หาก AI ครองโลกเราอาจจะปลอดภัยก็ได้นะ (หัวเราะ) คือเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนอื่นเห็น หรือเป็นสตาร์ตอัปด้านไสยศาสตร์ไปเลยก็ได้ จะทำอะไรมันต้องมีอัตลักษณ์ที่เอามางัดกับคนอื่นได้”

ในตอนท้าย พัทน์ชี้ให้เห็นภาพรวมและยุทธศาสตร์ของ AI ในสามประเด็น

ประเด็นแรก การตั้งคำถามว่าจุดประสงค์หลักในการขับเคลื่อน AI คืออะไร โดยพัทน์อ้างอิงหลักคิดของ MIT ที่มองว่า AI ไม่ได้สำคัญเท่าแนวคิดการใช้งานหรือพัฒนา AI ให้เป็นผู้ช่วยเรา (Intelligence Augmentation: IA)

ประเด็นที่สอง การที่ AI ครองโลกนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะ AI แทรกซึมอยู่ในชีวิตและมีอิทธิพลกับการคิด การตัดสินใจของมนุษย์ ทำให้ทุกวันนี้มนุษย์เริ่มคิดด้วยตนเองน้อยลงและพึ่งพา AI มากขึ้น

และ ประเด็นที่สาม การที่มีคนเพียงหยิบมือสามารถเทรนโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (large model) ของ AI ได้ ทำให้ AI มีความลำเอียง (bias) กับชุดข้อมูลที่ถูกระบุเข้าไปและทำให้มนุษย์ไม่สามารถคาดการณ์ AI ได้อีกต่อไป ดังนั้น จึงอาจต้องเกิดนวัตกรรมใหม่ เช่น โมเดลภาษาที่มีขนาดเล็กลงแต่ยังมีประสิทธิภาพเท่ากัน หรือแหล่งข้อมูลเปิดที่ให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้และตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องขึ้นกับบริษัทใหญ่เพียงอย่างเดียว

“สิ่งที่ผมสนใจคือ การมีปฏิสัมพันธ์ของคนในภูมิภาคนี้จะส่งผลกับ AI แบบไหน เช่น การใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งถ้าเราใช้มากๆ ก็อาจจะทำให้เราเสพติดเหมือนติดแอลกอฮอล์ได้หรือเปล่า เรื่องนี้ก็จะนำมาซึ่งประเด็นด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตอีก และถ้าเรายังมองไม่เห็นประเด็นตรงนี้ก็จะเป็นความท้าทายอย่างมากทีเดียว” พัทน์ทิ้งท้าย

สร้างโอเอซิสในไทย สร้างระบบนิเวศให้ทุกคนได้เติบโต – มานพ พิทักษ์ภากร

แม้ประเทศไทยกับพรมแดนความรู้ด่านหน้าเรื่องเทคโนโลยีจะฟังดูห่างไกลจนถึงขั้นสิ้นหวัง แต่สำหรับ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล การแพทย์และระบบสุขภาพถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งของไทยที่รวมผู้มีความสามารถจากหลากหลายที่ไว้ด้วยกัน

อย่างไรก็ดี จุดแข็งดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นปัญหาในตัวเองด้วย กล่าวคือคนไทยให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเฉพาะด้านการวิจัยประยุกต์ (applied research) หรือสนับสนุนให้ประกอบอาชีพด้านแพทย์หรือวิศวกร แต่ไม่ได้สนับสนุนให้เรียนวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เช่นฟิสิกส์ เพราะมองว่าหนทางทางในสายอาชีพตีบตันและก้าวหน้ายาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ การลงทุนกับวิทยาศาสตร์ของไทยส่วนใหญ่จึงเป็นปลายน้ำ ซึ่งมองในด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องดี เนื่องจากทำให้เห็นผลลัพธ์ไว แต่พอขาดการลงทุนในต้นน้ำทำให้ไทยต้องหยิบยืมเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากชาติอื่นจนทำให้เกิดช่องว่างมหาศาล

“ในเรื่องระบบสุขภาพ เราอาจไม่ได้มีปัญหาเรื่องนี้มากเท่าด้านอื่น เพราะโจทย์ของเราคือสุขภาพ อะไรที่เกี่ยวกับสุขภาพเรารับหมด โดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้ตอบโจทย์ของเรา แต่สิ่งสำคัญคือเราตอบโจทย์มันอย่างไร”

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร

นพ.มานพนิยามว่า พรมแดนความรู้ของระบบสุขภาพคือการใช้เทคโนโลยีมาตอบโจทย์และทำให้ความเข้าใจที่มีต่อสุขภาพดีขึ้น เช่น การต่อยอดเรื่องจีโนมิกส์ (Genomics) เป็นเรื่องมัลติ โอมิกส์ (Multi Omics) และพัฒนาไปถึงเรื่อง Spatial Omics (เทคโนโลยีที่สามารถวิเคราะห์เซลล์หรือสิ่งมีชีวิตได้ถึงระดับโมเลกุล) ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่และเวลาต่างกัน

“เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจเรื่องสุขภาพดีขึ้น ตั้งแต่ระดับสุขภาพเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในระดับเซลล์ไปจนถึงระดับอวัยวะ ปกติเราจะมองอวัยวะเป็นโรคโรคหนึ่ง เช่น ถ้าเป็นโรคไต เราจะไม่มองแค่ว่าปัญหาเกิดที่ไต แต่ต้องมองทั้งระดับ zoom in คือปัญหาเกิดที่เซลล์ไหน และ zoom out ว่าปัญหาที่ไตทำให้เกิดปัญหาผิดปกติที่ร่างกายอย่างไร สัมพันธ์กันอย่างไร และเมื่อเรารู้ข้อมูลในระดับนี้แล้ว เราก็จะสามารถหาวิธีแก้ไขได้”

ในแง่ของการใช้ AI คุณหมอมานพฉายภาพถึงการนำ AI มาใช้วิเคราะห์ข้อมูล แต่ต้องคิดถึงการทำความเข้าใจกลไกเบื้องหลังของ AI ด้วย

“เรามีการนำ AI มาทำนายโครงสร้างโปรตีนทั้งหมดที่น่าจะมีอยู่ในสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่ประเด็นคือ AI ทำนายได้อย่างไรว่าลำดับโครงสร้างเป็นแบบนี้ทั้งที่มนุษย์ยังไม่รู้เลย เราจึงอาจจะต้องลองมองมุมกลับว่า AI เข้าใจเรื่องนี้ในบริบทสุขภาพได้อย่างไร”

แม้ระบบสุขภาพจะไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการลงทุนวิจัยที่ปลายน้ำมากเท่าด้านอื่น แต่นี่ก็เป็นประเด็นที่ควรขบคิดพิจารณาไม่แพ้เรื่องอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะในแง่ของการให้ทุนและการสนับสนุนงานวิจัยที่ไม่ได้มองเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์พื้นฐานเท่าที่ควร

“นโยบายการให้ทุนส่วนใหญ่จะให้ทุนกับงานที่มีผลลัพธ์แน่นอน ชัดเจน จับต้องได้ หรือเรียกง่ายๆ คือมีความเสี่ยงต่ำ แต่ผมคิดว่าเราไม่ควรเรียกสิ่งนั้นว่างานวิจัย เพราะงานวิจัยจะต้องเสี่ยง (take risk) เสมอ เนื่องจากเราไม่สามารถการันตีผลลัพธ์ได้ แต่เราก็โทษนักวิจัยไม่ได้เช่นกัน เพราะสภาพระบบนิเวศเป็นแบบนี้ นักวิจัยจึงต้องทำแบบนี้ด้วย”

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คุณหมอมานพจึงเสนอว่า เราอาจจะต้องพิจารณาให้มีโครงการที่เป็นโครงการร่วมกันที่ทุกคนสามารถทำร่วมกันได้ เช่น โครงการอะพอลโล (Project Apollo) ของสหรัฐฯ ที่ครั้งหนึ่งเคยส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จ

“ช่วงแรกๆ คนก็สงสัยว่าเราจะไปเหยียบดวงจันทร์ทำไม ไปเก็บหินหรอ คือเขาไม่ได้อยากไปเก็บหินนะครับ (หัวเราะ) เรื่องนี้อาจจะมองได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาติได้ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคือเทคโนโลยีมหาศาลที่ใช้กันได้จนถึงทุกวันนี้”

นี่นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า ประเทศไทยอาจต้องการทั้งผลลัพธ์ที่เป็นปลายน้ำซึ่งสามารถจับต้องได้ในระดับหนึ่ง พร้อมไปกับการลงทุนในงานวิจัยหรือนวัตกรรมที่อยู่ด่านหน้าที่สุดของพรมแดนความรู้และก่อให้เกิดผลลัพธ์ในระยะกลางและระยะยาว

“ถ้าถามผม การลงทุนกับคนสำคัญที่สุด และวิกฤตเรื่องคนก็เป็นเรื่องที่หนักหนาที่สุด ผมค่อนข้างกังวลกับเรื่องคะแนน PISA เพราะเราต้องอยู่กับเรื่องคุณภาพการศึกษาของเด็กไปอีกหลายสิบปี อันนี้สำคัญนะครับ”

ในตอนท้าย นพ.มานพกล่าวว่า “ถ้าสมมติตอนนี้ไทยเป็นทะเลทรายและบอกว่าเราอยากเปลี่ยนเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ คงทำไม่ได้ในทันที เพราะการเปลี่ยนโครงสร้างไม่ใช่เรื่องง่าย”

“แต่เราอาจจะลองมองตัวเองเป็นโอเอซิส สร้างระบบนิเวศที่ทำให้ทุกคนสามารถเจริญเติบโตได้ นี่จะทำให้คนไทยเห็นว่าเราสามารถพัฒนาได้และช่วยกันสร้างโอเอซิสเพิ่ม และถ้านโยบายเกื้อหนุนได้ด้วย สุดท้ายประเทศเราก็จะเปลี่ยนแปลงได้เอง”

ออกแบบ Good Job Economy สู่เส้นทางพัฒนาที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง – แบ๊งค์ งามอรุณโชติ

“ปัญหาหลักของไทยตอนนี้คือเราเติบโตช้าลงเรื่อยๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 เราโตประมาณ 7% แต่หลังทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา เราเหลือ 3% และทศวรรษล่าสุดเราเหลือประมาณ 2% เพราะฉะนั้น ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเราเป็นเหมือนรถที่กำลังจะเข้าสู่จุดจอดและหยุดนิ่งลง”

ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวนำ พร้อมทั้งขยายความเพิ่มเติมว่า แรงงานไทยเกินครึ่งอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นทางการ ทำให้มีรายได้น้อย สัญญาทำงานเปราะบาง อีกทั้งยังขาดทักษะหรือมีทักษะในการทำงานน้อยเนื่องจากขาดโอกาสในการฝึกฝน

เมื่อขยับมาดูด้านเทคโนโลยี แบ๊งค์ชี้ว่าไทยติดกับดักเทคโนโลยีปานกลาง คือ ‘ไม่ได้ต่ำ แต่ก็ไม่ได้สูง’ อยู่ในภาวะ ‘กบต้ม’ ที่ขาดแรงขับเคลื่อนใดๆ

ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ

แบ๊งค์ชี้ให้เห็น 3 สูตรหลักที่นักนโยบายใช้ในการแก้ปัญหา โดยสูตรแรก แบ๊งค์อธิบายว่า เนื่องจากงานที่เปราะบางและเทคโนโลยีระดับปานกลางเป็นเรื่องที่อาจมองไม่เห็นได้ด้วยตา แต่อัตราการเติบโตสามารถมองเห็นได้จากการแถลงข่าว GDP ทุกไตรมาส ทำให้นักนโยบายมุ่งแก้ปัญหาเรื่องการเติบโตก่อนด้วยการกระตุ้นระยะสั้น

อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่ตามมาคือ ถ้าเทคโนโลยีไม่มีการพัฒนา ไม่มีการปรับโครงสร้าง แรงงานไม่ได้ปรับทักษะ สุดท้ายทุกอย่างจะตกลงมาเมื่อหยุดการกระตุ้นดังกล่าว

เมื่อการแก้ปัญหาด้วยการกระตุ้นอัตราการเติบโตไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงมีการพูดถึงสูตรที่สอง ที่เน้นกระตุ้นด้วยเทคโนโลยี ทว่าหากกระตุ้นด้วยเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ผู้ได้รับประโยชน์จะเป็นแรงงานทักษะสูง ความมั่นคงและความร่ำรวยจะเทไปอยู่กับนายทุนและแรงงานทักษะสูง ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น วิธีนี้จะทำให้เกิดการแบ่งขั้วในตลาดแรงงาน (job polarisation) ซึ่งแบ๊งค์ชี้ว่า หากเกิดปัญหานี้ แรงงานที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือแรงงานชนชั้นกลาง

เมื่อการกระตุ้นการเติบโตหรือการกระตุ้นด้วยเทคโนโลยีไม่ได้ผล จึงนำมาสู่ สูตรที่สาม คือการพูดถึง good job economy แบ๊งค์อ้างถึงแนวคิดของนักวิชาการชื่อดังอย่าง ดานี รอดริก (Dani Rodrik) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งมหาวิทยาฮาร์วาร์ด ที่มองว่า เทคโนโลยีอาจไม่จำเป็นต้องดิสรัปต์ทักษะของแรงงานมนุษย์เสมอไป แต่เราสามารถออกแบบเทคโนโลยีโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับตลาดแรงงานของประเทศได้ตั้งแต่ต้น

“ถ้าพูดให้ถึงที่สุด ความเป็นไปได้ในการออกแบบพัฒนาเทคโนโลยีมีเป็นร้อยเป็นพัน มันต้องมีสักเส้นทางที่เป็นมิตรกับตลาดแรงงานได้บ้างถ้าเราออกแบบให้ดี”

การกระตุ้นด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวต้องมาพร้อมกับการสร้างงาน และต้องเป็นงานที่มีความหมายและให้รายได้เพียงพอที่จะทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีแบบชนชั้นกลางได้ พร้อมไปกับการฝึกอบรมทักษะที่เพียงพอให้กับแรงงาน

หากมองไปถึงโจทย์และการทำวิจัย แบ๊งค์เสนอประเด็นหลักๆ ไว้สามข้อ ดังนี้

ประเด็นแรก โจทย์วิจัยที่น่าสนใจอาจมาในรูปแบบเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับแรงงาน เช่น neo-cyborg and wearable technology หรือเป็นเทคโนโลยีที่แทรกซึมเข้ามาในตัวมนุษย์ เพิ่มศักยภาพและผลิตภาพของแรงงาน

ประเด็นที่สอง คือการปรับทักษะของแรงงาน เพราะถ้าเทคโนโลยีก้าวหน้าแล้ว แรงงานต้องปรับทักษะในสามมิติ คือ ตั้งเป้าหมายดูแลแรงงานในสเกลที่ใหญ่ขึ้น (large scale) แต่ต้องเร็วพอ (high speed) และแม่นยำกับทักษะที่จำเป็นต้องมี (right scope)

และ ประเด็นสุดท้าย คือต้องมีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาคการศึกษา และการทำวิจัยให้มากขึ้น เช่น การฝึกอบรมคนหรือสร้างคนในพื้นที่

“ถ้าเราเอาแต่มองว่าสหรัฐฯ เขากำหนดโจทย์ตั้งแต่สามทศวรรษที่แล้ว ไทยไม่ได้กำหนด เราก็จะไม่ใช่ผู้กำหนดโจทย์ไปตลอดกาล เราลองมองว่า เราเริ่มทำวันนี้เพื่อจะไล่กวดให้ทันในอีกสิบปีข้างหน้าก็เป็นไปได้นี่ครับ เราเริ่มได้ เรากำหนดเทคโนโลยีได้ แต่ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นเมื่อไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

นอกจากนี้ แบ๊งค์ยังมีข้อเสนอที่ค่อนข้างสอดคล้องกับ นพ.มานพ กล่าวคือประเทศควรจะมีภารกิจหรือความร่วมมือที่จะสร้างแนวร่วมการพัฒนาขึ้นมาในทิศทางเดียวกันโดยไม่แบ่งภาคส่วน

เพื่อให้เห็นภาพเป็นรูปธรรมมากขึ้น แบ๊งค์ยกตัวอย่างของสหรัฐฯ ที่มีการออกพระราชบัญญัติ 3 ฉบับเมื่อช่วงปลายปี 2022 ที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสหรัฐฯ

พระราชบัญญัติฉบับแรกคือ Inflation Reduction Act (IRA) ที่มีงบประมาณสูงถึง 14 ล้านล้านบาท ซึ่งวางกรอบการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมสีเขียวของสหรัฐฯ หากมองให้ลึกกว่านั้น นี่คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีสีเขียวที่จะก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจรอบใหม่ในอุตสาหกรรมสีเขียวของสหรัฐฯ ซึ่งจะตามมาด้วยการสร้างงานประมาณ 9 ล้านตำแหน่ง เท่ากับว่าสร้างงานปีละเกือบ 1 ล้านตำแหน่งในช่วงเวลา 10 ปีของกฎหมาย

“ทันทีที่ พรบ. นี้ดำเนินไปครบ 1 ปี มีรายงานจากทำเนียบขาว (White House) ออกมาทันทีเลยว่าสร้างงานกี่ตำแหน่ง ลงทุนไปเท่าไหร่แล้ว ตอนนี้ผ่านไปประมาณ 1 ปี กรอบการลงทุนภาคเอกชนที่ไหลตามมามีเกือบ 3.8 ล้านล้านบาท”

แบ๊งค์ชี้ว่า สิ่งนี้เป็นการส่งสัญญาณให้ภาคเอกชนตามมาร่วมลงทุน เนื่องจากมีแผนการลงทุนที่ชัดเจน และยังมีมิติของแรงงานชัดเจน เนื่องจากเงินลงทุนในปีแรกจะไหลลงไปยังพื้นที่ที่มีอัตราการว่างงานสูง พื้นที่ที่แรงงานมีรายได้น้อย และพื้นที่ที่คนมีสัดส่วนการจบปริญญาค่อนข้างต่ำ

ฉบับที่สองที่ออกมาไล่เลี่ยกันคือ Infrastructure Investment and Jobs Act ที่ตั้งกรอบงบประมาณไว้สูงถึง 42 ล้านล้านบาทและมุ่งสร้างงาน 1.5 ล้านตำแหน่งต่อปี ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 10 ปี ประเด็นน่าสนใจที่แบ๊งค์ชี้ให้เห็นคือ งานที่เกิดขึ้นจะต้องเป็น ‘งานที่ดี’ (good job) คือเป็นงานที่ให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตอบสนองรายได้แบบชนชั้นกลางอเมริกัน

และฉบับสุดท้ายคือ Chips and Science Act (CHIPS Act) ที่มุ่งส่งเสริมวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างชิปเพื่อแข่งขันกับประเทศจีน โดยกรอบการลงทุนในโครงการนี้จะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านล้านบาท และมีประมาณ 462,000 ล้านบาทที่จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนากำลังคนโดยเฉพาะ

ทั้งหมดนี้เป็นเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่ออกมาพร้อมกันและวางอยู่บน 3 เสา คือการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีต่างๆ การสร้างการเติบโตภาคเศรษฐกิจที่จะคุ้มค่าเงินลงทุน และการสร้างงานที่ดี

แบ๊งค์สรุปว่า “นี่คือภาพที่เป็นรูปธรรมของสิ่งที่รอดดิกบอกว่า เรากำลังจะสร้าง good job economy ให้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ”

กลับมาที่ประเทศไทย แบ๊งค์เสนอว่า ไทยสามารถตั้งเป้าหมายในแบบของตัวเองได้โดยพิจารณาจากบริบทของประเทศ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ ไทยต้องการ ‘ภารกิจ’ ที่ชัดเจนและรุนแรงในระดับเดียวกันนี้ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ good job economy ให้ได้

“เราต้องมีภารกิจที่ทั้งกว้างและชัดเจนว่าจะครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างไร แต่ก็ต้องมีความเชื่อมโยงสอดคล้อง (alignment) กันว่าจะดึงเอาภาคส่วนที่ว่าเข้ามาทำงานร่วมกันได้อย่างไร เพราะถ้าไม่ชัดตรงนี้ การทำงานจะกลายเป็นเบี้ยหัวแตกไป และสุดท้าย ถ้าเราสามารถทำสองข้อแรกได้สำเร็จ ระบบติดตามและประเมินผลที่ดีจะตามมาเอง”

“นี่คือองค์ประกอบของภารกิจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ถ้ามีไม่ครบเราเรียกว่ากระดาษจดความฝัน (wish list) ครับ (หัวเราะ) ภารกิจไม่ใช่แค่การทำอะไรเดิมๆ แล้วอาศัยว่าเติม buzz word เข้าไป”

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า แต่ละอุตสาหกรรมหรือภาคส่วนต่างมีจังหวะเป็นของตนเอง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์หรือพลังงานที่ต้องรอหลาย 10 ปีถึงจะสามารถเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีได้ แต่สิ่งสำคัญคือการที่ประตูแห่งโอกาสครั้งใหม่เปิดออก และเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของไทยที่ไม่ควรจะตกขบวนในครั้งนี้

“ในฐานะนักนโยบาย ผมว่าเราต้องมีความหวังเสมอ หวังว่ามนุษย์จะมีขีดความสามารถในการหลุดพ้นจากโครงสร้างและบ่วงผูกพันทางประวัติศาสตร์เดิมได้ เชื่อว่าเรามีอิสระที่จะกำหนดชีวิตในวันข้างหน้าได้บนพันธะผูกพันจากอดีตและโครงสร้างที่ครอบเราอยู่ในทุกวันนี้”

“เพราะฉะนั้น ประตูแห่งโอกาสที่เปิดออกเป็นทั้งโอกาสและวิกฤตในเวลาเดียวกัน ถ้าตกขบวนรอบนี้อาจจะต้องรออีกนาน เราจึงต้องมีภารกิจร่วมกันและเชื่อว่าเราทำได้ เพื่อที่ไทยจะสามารถกำหนดเส้นทางในอนาคตที่จะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของโลกได้ในบางอุตสาหกรรม” แบ๊งค์ทิ้งท้าย

วิจัย/เขียน

101 PUB

บทความที่เกี่ยวข้อง

‘ชีวิตคนตัวเล็กในกระแสเปลี่ยนผ่าน’ ตีโจทย์การพัฒนาใหม่ เพราะไม่ควรมีใครต้องอยู่อย่างสิ้นหวัง

101 ชวนย้อนมองกระแสธารการพัฒนา ‘คน ชุมชน ท้องถิ่น’ ที่ผ่านมา พร้อมมองไปข้างหน้าว่าไทยควรมีแนวนโยบายการพัฒนาอย่างไรในยุคกระแสเปลี่ยนผ่าน ร่วมวางแนวทางการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนและครอบคลุมที่สุดอย่างแท้จริงผ่านบทสนทนาจากผู้คนหลากหลายวงการ

10 May 2024

ไปด้วยกัน ไปได้ไกล: ตีโจทย์เมืองยุคใหม่ ไม่ให้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

101 ชวนกวาดตาหาจุดอ่อนที่ซ่อนอยู่ใน ‘เมือง’ ก่อนไล่กวดกระแสการพัฒนาเมืองใหม่ เพื่อออกแบบเมืองให้ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ร่วมตีโจทย์เพื่อตอบอนาคตของเมืองแห่งศตวรรษใหม่โดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้กำหนดนโยบาย

15 January 2024

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย: ตีโจทย์ยุคโลกเดือดอย่างไรเพื่ออยู่ร่วมให้ได้-ไปต่อให้เป็น

ตีโจทย์วิจัยและนโยบายเพื่อรับมือ ‘โลกเดือด’ ผ่านข้อถกเถียงทางวิทยาศาสตร์ แนวคิดใหม่ว่าด้วยการผลิตอาหาร และความยุติธรรม

14 December 2023
1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.