ความยุติธรรมตกไม่ทั่วฟ้า คนไม่เสมอกันต่อหน้ากฎหมาย

ความยุติธรรมตกไม่ทั่วฟ้า คนไม่เสมอกันต่อหน้ากฎหมาย

ประเด็นสำคัญ

  • ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้มีแค่เรื่องค่าใช้จ่ายสูงจนคนยากจนเข้าไม่ถึง แต่ยังรวมถึงกระบวนการที่ยุ่งยากสำหรับคนทั่วไป การให้อภิสิทธิ์แก่คนมีตำแหน่งสูงและระบบที่ให้ฝ่ายรัฐที่เป็นผู้ฟ้องคดีได้เปรียบ
  • มาตรการช่วยเหลือความเหลื่อมล้ำไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทนายความอาสา/ขอแรงยังขาดคุณภาพและระบบจัดการที่ดี อีกทั้งมาตรการช่วยลดต้นทุนประกันตัวอื่นๆ เช่น กำไล EM และระบบประเมินความเสี่ยง ก็มีข้อจำกัด
  • ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีต้นตอจากการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์และความมั่นคงของรัฐเหนือสิทธิ กฎหมายกลายเป็นกลไกในการดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะในคดีนโยบายที่ผู้ยากไร้มักตกเป็นเป้าหมาย

เมื่อใดก็ตามที่ผู้มีฐานะร่ำรวยเงินทองหรืออำนาจถูกกล่าวหาว่าทำความผิด สังคมไทยก็เหมือนจะรู้บทสรุปตั้งแต่ก่อนคดีจะเริ่ม พวกเขาเหล่านั้นมักได้รับการปรนนิบัติอย่างดีจากกระบวนการยุติธรรม ไม่มีทางได้นอนในเรือนจำเพราะมีเงินจ่ายค่าประกันตัว หรือไม่มีทางเสียเปรียบในทางกฎหมายเพราะมีทีมทนายความที่เก่งกาจพร้อมต่อสู้คดี สภาพเช่นนี้ตรงข้ามกับประชาชนทั่วไปที่ต้องขวนขวายหาความเป็นธรรมเอาเองในกระบวนการยุติธรรมที่มีราคาแพงและซับซ้อน วลีอมตะอย่าง “คุกมีไว้ขังคนจน” จึงยังคงเป็นจริงอยู่ในสังคมไทย

‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในกระบวนการยุติธรรมไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตและยังคงมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในปัจจุบัน จนกลายเป็นภาพจำและสิ่งที่คนคาดการณ์เป็นปกติไปแล้ว

ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมมาจากหลายปัจจัยที่มีผลต่อคดีนอกเหนือจากข้อเท็จจริงในคดี อาทิ การมีความรู้ความเข้าใจข้อกฎหมาย การมีทนายความที่มีความสามารถในการเป็นตัวแทนในการต่อสู้คดี การมีทรัพยากรและเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างดำเนินคดี รวมทั้งอคติบางประการที่แฝงอยู่ในกฎหมายและแนวทางปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม ทั้งหมดนี้ทำให้คนบางกลุ่มที่เพียบพร้อมไปด้วยทรัพย์สินและสถานะทางสังคมกลายเป็นอภิสิทธิ์ชนที่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้มากกว่าคนอื่น

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ชวนผู้อ่านสำรวจแง่มุมของความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมไทยที่ทำให้คนต่างสถานะเข้าถึงความเป็นธรรมได้ต่างกัน และวิเคราะห์ลึกลงไปให้ถึงรากของปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่ฝังตัวอยู่ในวิธีคิดแบบไทยๆ

ความยุติธรรมราคาแพง คนมากกว่าครึ่งเอื้อมไม่ถึง

ลักษณะสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยคือ ‘มีราคาแพง’ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจกลายเป็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ต้นทุนที่ประชาชนต้องแบกรับเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีทั้งค่าใช้จ่ายทางตรง เช่น ค่าประกันตัว ค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความ ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเพื่อแสวงหาหลักฐาน ไปจนถึงค่าเดินทางที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น ค่าเสียโอกาสในการทำงานเพื่อหารายได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อความสามารถในการต่อสู้คดี หากคนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการเหล่านี้ได้ ก็ย่อมเสียเปรียบคนที่มีรายได้มาก จนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมขึ้น

ยกตัวอย่างคดีลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทคดีที่มีจำนวนมากที่สุด[1]ในปี 2565 มีจำนวนคดีลักทรัพย์ที่ขึ้นศาลชั้นต้นมากถึง 25,559 คดี ข้อมูลจาก สำนักงานศาลยุติธรรม. (2565). รายงานสถิติคดีประจำปี พ.ศ. 2565. … Continue reading ผู้ถูกกล่าวหามีต้นทุนทางตรงและทางอ้อมที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดีเฉลี่ยราว 120,330 บาท[2]คำนวณจากต้นทุนใน สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2562). รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) … Continue reading โดยมีค่าใช้จ่ายสำคัญคือค่าประกันตัว (30,000 บาท หรือร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด) และค่าจ้างทนายความ (26,632 บาท หรือร้อยละ 22) ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ของประชากรไทย ที่ครึ่งหนึ่งของประเทศมีรายได้ไม่เกิน 4,100 บาทต่อเดือน เท่ากับว่าต้องทำงานเก็บออมเงินอย่างน้อย 2 ปี 5 เดือนถึงจะมีเงินสู้คดี แต่สำหรับผู้ที่รวยที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศซึ่งมีรายได้เฉลี่ยที่ 105,000 บาทต่อเดือน รายได้เพียงเดือนเดียวก็เกือบจะครอบคลุมต้นทุนสู้คดีทั้งหมดแล้ว[3]World Inequality Database. (2022). Income Inequality, Thailand. https://wid.world/country/thailand/

ความยุติธรรมราคาแพง คนมากกว่าครึ่งเอื้อมไม่ถึง

มากไปกว่านั้น แนวปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมไทยที่เน้นจับและฝากขังไว้ก่อนยังทำให้เกิดค่าใช้จ่ายขึ้นโดยไม่จำเป็น ตั้งแต่ตำรวจที่มักตั้งข้อหาและจับผู้ต้องหาก่อนที่จะมีพยานหลักฐานที่พอเชื่อได้ว่าทำผิดจริง ต่อมาเมื่อมีการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ก็มักนำตัวผู้ต้องหาไปขอฝากขังกับศาล เช่นเดียวกับอัยการที่ขอฝากขังต่อในระหว่างตรวจสำนวนเพื่อพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องคดีหรือไม่ ศาลเองก็มีแนวโน้มอนุมัติหมายขังตามคำขอโดยเฉพาะข้อหาที่มีโทษจำคุกขั้นสูงเกิน 3 ปี ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ใช้เป็นเหตุผลในการออกหมายขังได้[4]ดูแนวทางการขังไว้ก่อนของกระบวนการยุติธรรมไทยได้ที่ ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์. (2 พฤศจิกายน 2566). ‘คนล้นคุก’: การจองจำในจารีตยุติธรรมแบบไทยๆ. … Continue reading และในการพิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราว ศาลมักให้ผู้ต้องหารับภาระการพิสูจน์ว่าตนเองจะไม่หลบหนี[5]มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์, ธัญญานุช ตันติกุล. (2564). ปล่อยชั่วคราวหรือขังชั่วคราว? : ความย้อนแย้งของการฝากขังและปล่อยชั่วคราวในกฎหมายไทย. ดุลพาห, 68(3), 36-86. … Continue reading แต่ก็ยังมักเรียกเงินประกันตัวด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่หลบหนี 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ต้องหาก็ต้องแบกรับภาระหาเงินประกันตัวขอปล่อยตัวและค่าใช้จ่ายอื่นตลอดกระบวนการ และหากไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาวางเป็นหลักประกันได้ ก็จำต้องถูกคุมขัง ทั้งที่อาจไม่ได้มีหลักฐานพอเชื่อได้ว่าทำผิดแต่แรก หรือไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่ามีโอกาสหลบหนีสูง ทำให้ต้องสูญเสียรายได้จากเวลาที่เสียไปกับการคุมขัง

ความยุติธรรมยุ่งยาก คนไม่รู้มักเสียเปรียบ

กระบวนการยุติธรรมไทยยัง ‘ซับซ้อนและยุ่งยาก’ อีกด้วย หากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความรู้หรือไม่ทราบช่องทางทางกฎหมายก็จะเสียสิทธิหลายประการ ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องแจ้งผู้ต้องหาว่ามีหลักฐานในการเอาผิดใดบ้าง และเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาคัดค้านได้ แต่ในหลายกรณี พนักงานสอบสวนเลือกจะไม่แจ้งหลักฐานเอาผิดผู้ต้องหา[6]วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร. (25 กันยายน 2566). ‘การปกปิด’ ‘ไม่เปิดเผยพยานหลักฐาน’ เป็น ‘การสอบสวนที่ผิดกฎหมาย’ อัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดี. ไทยโพสต์. … Continue reading หากผู้ต้องหาไม่ทราบว่าตนมีสิทธิหรือต้องคัดค้านหลักฐานใด ก็จะพลาดโอกาสทำให้ข้อคัดค้านของตนเองปรากฏในสำนวน ทำให้ต่อสู้คดียากขึ้นเมื่อถึงชั้นพิจารณาคดี

ในขั้นตอนการฝากขังผู้ต้องหาหรือจำเลย ประชาชนบางส่วนก็ไม่ทราบสิทธิในการร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องใช้หลักประกันได้[7]ดูเรื่องการฝากขังและขอปล่อยตัวชั่วคราวเพิ่มเติมที่ ศุภณัฏฐ์. ‘คนล้นคุก’: การจองจำในจารีตยุติธรรมแบบไทยๆ. ทำให้ต้องถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี หรือต้องไปขวนขวายหาหลักประกันมาวางไว้กับศาลโดยไม่จำเป็น เมื่อกระบวนการเดินทางมาสู่ชั้นพิจารณาคดี จำเลยก็อาจเลือกให้การสารภาพเพื่อให้กระบวนการจบลงอย่างรวดเร็วและหวังว่าศาลจะบรรเทาโทษให้ แต่หลายครั้งเป็นการยอมรับสารภาพในโทษฐานที่รุนแรงเกินกว่าความผิดตัวเอง และหากไม่ทราบวิธียกเหตุขอลดหย่อนโทษที่ทำให้ศาลเห็นใจได้ก็จะได้รับโทษหนักเกินไป ในขณะที่จำเลยที่มีความรู้หรือมีทนายช่วยแนะนำน่าจะสามารถยกเหตุให้ศาลเห็นใจได้มากกว่า เช่น ต้องลักขโมยเพราะตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัสจากการไม่มีรายได้ หรือทำร้ายร่างกายเพราะเกิดโทสะจากการถูกยั่วยุ เป็นต้น[8]ห้องเวรชี้ : อุตสาหกรรมยุติธรรม. (3 ตุลาคม 2557). โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw). https://ilaw.or.th/node/3271 ทำให้มีโอกาสได้รับการลดโทษมากกว่า

ความยุติธรรมยุ่งยาก คนไม่รู้มักเสียเปรียบ

การเข้าถึงทนายช่วยเหลือคุณภาพดียังไม่ทั่วถึง

เนื่องจากคนทั่วไปไม่มีความรู้ทางกฎหมายเพียงพอจะสู้คดี การมีทนายความอยู่เคียงข้างตลอดกระบวนการจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างสุดความสามารถ เพราะทนายความเป็นทั้งผู้ช่วยและตัวแทนในการให้คำแนะนำทางกฎหมาย ว่าความให้ในชั้นพิจารณาคดี ไปจนถึงการคุ้มครองสิทธิไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีทนายความที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือทางกฎหมายสองประเภท ประเภทแรกคือทนายความอาสา หมายถึง ทนายความที่ให้คำแนะนำทางกฎหมายและช่วยเหลือผู้ต้องหาซึ่งรวมถึงการร่วมเข้าฟังการสอบสวนกับตำรวจ อีกประเภทคือทนายความขอแรง เป็นทนายความที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำเลยว่าความในชั้นพิจารณาคดีในศาล แม้ว่ากฎหมายไทยตั้งแต่ระดับรัฐธรรมนูญลงมาจะเขียนประกันสิทธิในการเข้าถึงทนายความทั้งสองประเภทนี้เอาไว้ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังพบปัญหาหลักสามประการ

ปัญหาประการแรกคือกระบวนการยุติธรรมยังมีช่องโหว่ที่ทำให้ประชาชนฐานะยากจนอาจเข้าไม่ถึงสิทธิในการมีทนายความ ในทางกฎหมาย มาตรา 134/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้ต้องมีการจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาก่อนเริ่มการสอบสวนทุกกรณีในคดีที่มีโทษประหารชีวิตหรือผู้ต้องหาอายุไม่เกิน 18 ปี ส่วนในคดีที่มีโทษจำคุก พนักงานสอบสวนต้องแจ้งสิทธิการมีทนายต่อผู้ต้องหาก่อนเริ่มสอบสวน ซึ่งหากผู้ต้องหาไม่มีทนายความและประสงค์จะมี พนักงานสอบสวนต้องจัดหาให้

ในทางปฏิบัติ ผู้ต้องหาบางคนอาจไม่ได้แสดงความประสงค์จะมีทนายความ เพราะไม่รู้ว่าจะช่วยให้ตนไม่เสียเปรียบทางคดีได้อย่างไร หรือเพราะพนักงานสอบสวนบางคนหว่านล้อมผู้ต้องหาจนสุดท้ายยอมให้สอบสวนโดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย ในบางกรณี แม้ผู้ต้องหาจะแสดงความประสงค์ต้องการทนาย แต่ก็อาจไม่ได้ทนายร่วมนั่งฟังการสอบสวนอยู่ดี เพราะพนักงานสอบสวนไม่สามารถจัดหาทนายได้ทันทีและต้องนัดวันสอบสวนใหม่ ซึ่งหากผู้มีฐานะยากจนไม่ต้องการเสียเวลาและค่าเดินทางอีก ก็ต้องยอมให้สอบสวนโดยลำพัง นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังสามารถทำการสอบสวนโดยไม่มีทนายได้ด้วยการอ้างเหตุ ‘กรณีจำเป็นเร่งด่วน’ ตามมาตรา 134/1 วรรคสี่[9]ณัฐรัตน์ จอมมณี. (2558). ปัญหาเกี่ยวกับการจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา. http://law.master.kbu.ac.th/StudentTheses/2558/2558-008.pdf

เมื่อผู้ต้องหากลายเป็นจำเลยในชั้นศาล ก็อาจจะยังไม่มีทนายความเช่นกัน โดยใน ‘ห้องเวรชี้’ หรือห้องพิจารณาคดีสำหรับผู้ที่มาขึ้นศาลในวันแรก ผู้พิพากษาควรต้องอธิบายคำฟ้อง พร้อมถามจำเลยว่าต้องการทนายความหรือไม่ และจะรับสารภาพหรือปฏิเสธข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีปริมาณคดีล้นมือ ศาลมักจะนำตัวจำเลยจำนวนมากเข้าไปอยู่ในห้องเวรชี้พร้อมกันและรวบรัดการถามความประสงค์ที่จะมีทนาย โดยไม่ได้อธิบายสิทธิของจำเลยอย่างครบถ้วนหรืออธิบายผลของการไม่มีทนายความ[10]ห้องเวรชี้ : อุตสาหกรรมยุติธรรม. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw). ทำให้จำเลยหลายคนรับสารภาพไปโดยไม่มีโอกาสได้ปรึกษาทนายความ ดังเช่นการสำรวจผู้ต้องหาหญิงในเรือนจำใน พ.ศ. 2561 ที่พบว่ากว่าร้อยละ 40 ไม่มีทนายความในชั้นศาล[11]สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย. (2563). ผู้หญิงในโลกกำแพง: รายงานสำรวจผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561. (กรุงเทพฯ: … Continue reading

จุดบกพร่องอีกประการของห้องชี้เวรคือการปิดกั้นมิให้บุคคลภายนอก รวมถึงทนายความ เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีของศาล ขัดกับหลักการให้การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยอันเป็นหลักสากล[12]ปกป้อง ศรีสนิท. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผย. (24 พฤษภาคม 2565). The101.world. https://www.the101.world/the-right-to-a-public-hearing/#_ftn10 ด้วยเหตุนี้ แม้ผู้ต้องหาบางคนว่าจ้างทนาย ทนายก็ไม่สามารถอยู่เคียงข้างและช่วยเหลือผู้ต้องหาในห้องชี้เวรได้  

ปัญหาประการต่อมาคือระบบการจัดสรรทนายความอาสาและทนายความขอแรงยังขาดประสิทธิภาพ เริ่มจากสิทธิในการเข้าถึงทนายความขาดความต่อเนื่อง เนื่องจากทนายความทั้งสองประเภทใช้ช่องทางการจัดสรรต่างกัน ทนายความอาสาในชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาจึงกลายเป็นคนละคนกับทนายความขอแรงเมื่อถึงชั้นพิจารณาคดี ผลที่ตามมาของการขาดความต่อเนื่องนี้คือ การทำงานของทนายความในการคุ้มครองสิทธิจำเลยหรือผู้ต้องหาอาจจะขาดตกบกพร่อง เช่น ทนายความอาสาในชั้นสอบสวนอาจจะให้คำแนะนำที่ไม่ตรงกับทนายความขอแรงในชั้นพิจารณาคดี หรือทนายความขอแรงไม่ทราบข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในขั้นตอนการถามค้านในชั้นพิจารณาคดี[13]สันติพงษ์ กุมารสิงห์. (2563). กฎหมายต้นแบบว่าด้วยทนายความสาธารณะเพื่อการคุ้มครองสิทธิ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญา … Continue reading ความช่วยเหลือที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีฐานะยากจนได้รับ จึงเทียบไม่ได้กับการจ้างทนายความที่ทำงานให้กับลูกความตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ

ปัญหาการขาดความต่อเนื่องมาจากลักษณะของระบบความช่วยเหลือทนายความในกระบวนการยุติธรรมไทยที่แยกกันทำและกระจัดกระจาย ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดหาทนายความอาสาคือกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในขณะที่ทนายความขอแรงนั้นจัดหาโดยศาล อีกทั้งยังมีหน่วยงานอีกอย่างน้อยสามหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดหาทนายความเพื่อช่วยเหลือผู้มีฐานะยากจนด้วย ได้แก่ สภาทนายความ สำนักงานอัยการสูงสุด กองทุนยุติธรรม [14]สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2564). รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจ้างที่ปรึกษาดำเนินงานและพัฒนางานกองทุนยุติธรรม. https://jfo.moj.go.th/files/files_download/20210307912237680.pdf แม้ดูเหมือนจะมีองค์กรให้ความช่วยเหลือมาก แต่ทนายความช่วยเหลือเหล่านี้ขาดช่องทางรวมศูนย์ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการบุคลากรให้มีความต่อเนื่อง อีกทั้งยังทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่ทราบช่องทางต่างๆ จนต้องพลาดโอกาสในการขอรับความช่วยเหลือ

มากไปกว่านั้น ระบบการจัดสรรทนายความช่วยเหลือยังไม่มีมาตรฐานในการการมอบหมายคดีให้กับทนายความ ส่งผลให้ทนายความไม่ได้รับคดีตามความสามารถหรือความถนัด เช่น เมื่อศาลจะเรียกทนายความขอแรงให้กับจำเลย ก็มักจะเรียกจากตามลำดับในบัญชีที่มีทนายความมาลงชื่อไว้[15]สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์. (2562). รายงานวิจัยการประเมินผลและการพัฒนาประสิทธิภาพประสิทธิผลทนายขอแรง … Continue reading แต่ไม่ได้นำความรู้ของทนายความแต่ละคนมาพิจารณาประกอบกับความยากง่ายของคดีความ จึงมีโอกาสที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะได้ทนายความที่ไม่ตรงกับเนื้อหาหรือความยากง่ายของคดี

ปัญหาประการสุดท้ายคือทนายอาสาหรือทนายขอแรงขาดแรงจูงใจ แต่เดิมทนายความที่ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในไทยนั้นไม่ได้รับค่าตอบแทน โดยถือเป็นการทำงานช่วยเหลือสังคมเท่านั้น ต่อมาเมื่อเริ่มมีการให้ค่าตอบแทนกับผู้ที่สมัครเป็นทนายความอาสาหรือทนายความขอแรง โดยเรียกว่า ‘เงินรางวัล’ แต่ก็ยังเป็นจำนวนไม่มาก อัตราเงินรางวัลของทนายความอาสาในปัจจุบันอยู่ที่วันละ 1,000 บาท และถ้าต้องการเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับเดินทางไปสอบสวนในเขตอำเภออื่นก็ขึ้นอยู่กับอายุของใบอนุญาตทนายความ[16]สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม. (2559). การปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน. … Continue reading สำหรับทนายความขอแรง อัตราเงินรางวัลมีตั้งแต่ 4,000 บาทไปจนถึง 50,000 บาท ขึ้นอยู่กับอัตราโทษของคดีความและความยากง่ายของคดีโดยศาลเป็นผู้พิจารณา[17]ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม … Continue reading

ค่าตอบแทนจำนวนนี้ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับรายได้ของทนายความที่ทำงานรับจ้างเอง อีกทั้งการเบิกจ่ายยังเป็นเรื่องยุ่งยาก โดยหากทนายความต้องการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมและเกิดค่าใช้จ่าย ก็จะต้องสำรองจ่ายก่อนที่จะไปเบิกกับหน่วยงานรัฐ ทำให้ทนายความจำนวนหนึ่งเลือกที่จะไม่สู้คดีให้สุดความสามารถ[18]สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์. รายงานวิจัยการประเมินผลและการพัฒนาประสิทธิภาพประสิทธิผลทนายขอแรง. ท้ายที่สุด ศาลมีการใช้ดุลพินิจไม่สม่ำเสมอในการพิจารณาอัตราเงินรางวัลให้กับทนายความ ผู้พิพากษาบางส่วนยังมีทัศนคติว่าการทำงานเป็นทนายความขอแรงนั้นคือจิตอาสา และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการให้เงินรางวัลที่เป็นธรรมกับทนายความ[19]เพิ่งอ้าง.

ด้วยค่าตอบแทนที่ต่ำ ทนายความอาสาหรือขอแรงจึงไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร ผู้ที่จะมาสมัครหรือลงทะเบียนมักเป็นทนายความที่เพิ่งจะได้รับใบอนุญาตว่าความ มีประสบการณ์น้อย มาทำงานเพื่อเก็บประสบการณ์ ในขณะที่อัยการฝ่ายตรงข้ามต้องผ่านทั้งการสอบเนติบัณฑิตและสอบแข่งขันเข้าเป็นอัยการ รวมถึงการฝึกอบรมภายในองค์กร ทำให้ช่องว่างความสามารถห่างกันมาก ผลสำรวจความเห็นจากผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์การทำงาน 32-40 ปีส่วนใหญ่เห็นว่าทนายความขอแรงมีประสิทธิภาพต่ำว่าทนายความที่คู่ความจ้างเอง อีกทั้ง ทนายความขอแรงบางส่วนกลับพยายามโน้มน้าวให้จำเลยรับสารภาพเสียเอง เพื่อที่ตนจะได้รับเงินรางวัลจากศาลทันที และมีโอกาสไปรับคดีใหม่เพิ่มเติม[20]เพิ่งอ้าง.

ความยุติธรรมมีอคติ คนมีตำแหน่งได้อภิสิทธิ์

ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมไทยยังมีมิติของสถานะทางสังคมด้วย ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร ยังคงมีความสำคัญในกระบวนการยุติธรรม โดยหากเป็นผู้มีสถานะทางสังคมสูง เป็นที่ยอมรับ หรือมีอำนาจทางการเมือง ก็จะได้รับอภิสิทธิ์บางประการเหนือประชาชนทั่วไป ความเหลื่อมล้ำมิตินี้ปรากฏอยู่ในตัวบทกฎหมายบางฉบับหรือแนวทางปฏิบัติบางประการที่ปฏิบัติต่อคนไม่เท่ากัน

ในบรรดาตัวชี้วัดของดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) โดย World Justice Project ที่เกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรมอาญาของไทย หัวข้อการไม่เลือกปฏิบัติ (Impartiality) ไทยได้รับคะแนนแค่ 0.32 (จากคะแนนเต็ม 1) น้อยที่สุดเป็นรองแค่ประสิทธิภาพของระบบราชทัณฑ์เท่านั้น หากพิจารณาเป็นอันดับคะแนนของระบบยุติธรรมอาญาที่ไม่เลือกปฏิบัติของไทยอยู่อันดับ 115 จาก 142 ประเทศทั่วโลก อยู่ในระดับใกล้เคียงกับรัสเซียและแย่กว่าหลายประเทศในแอฟริกา[21]World Justice Project. (2023). WJP Rule of Law Index, Criminal Justice, Thailand. https://worldjusticeproject.org/rule-of-law-index/country/2023/Thailand/Criminal%20Justice/

ความยุติธรรมมีอคติ คนมีตำแหน่งได้อภิสิทธิ์

การเลือกปฏิบัติในระบบยุติธรรมไทยเริ่มต้นตั้งแต่การออกหมายจับ[22]แต่เดิมอำนาจในการออกหมายจับอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง … Continue reading ซึ่งในปัจจุบันขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาว่าบุคคลจะหลบหนีหรือไม่ แต่ปรากฏว่าศาลมีแนวพิจารณาในทางที่ว่าผู้มีสถานะทางสังคมสูงจะไม่หลบหนี ดังจะเห็นได้จากการที่สำนักงานประธานศาลฎีกาเคยมีความเห็นต่อการออกหมายจับในคดีที่มีพยานหลักฐานอันพอจะเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำผิดอาญาร้ายแรง โดยให้แนวทางไว้ว่าหาก “ผู้ต้องหาไม่มีทางที่จะหลบหนีอย่างแน่นอน เช่น ผู้ต้องหาเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นต้น”[23]กมลวรรณ ชื่นชูใจ. (2013). การเมืองใน(กฎ)หมายจับ: การบังคับใช้กับคนชายขอบ. วารสารกฎหมายคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 6(12). http://202.28.49.72/LAW-journal/catagorie/6-12/6-12-4.pdf ก็ไม่จำเป็นต้องออกหมายจับ แนวทางนี้เท่ากับเป็นการให้อภิสิทธิ์กับข้าราชการระดับสูงหรือนักการเมือง ในทางตรงกันข้าม วรรคสองของมาตรา 66 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากลับระบุว่า ถ้าหากบุคคลที่มีการขอออกหมายจับนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจะหลบหนีทันที

ตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำในการออกหมายจับคือการเพิกถอนหมายจับของนายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) นายอุปกิตถูกกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายฟอกเงินและค้ายาเสพติดจากประเทศเมียนมา[24]ส.ว. ทรงเอ : รังสิมันต์ แฉขบวนการฟอกเงินยาเสพติด ส.ว. “อ. อ่าง” เจ้าของที่ดินตึกพรรค รทสช.. (16 กุมภาพันธ์ 2566). บีบีซีไทย. https://www.bbc.com/thai/articles/cedjjw3g9vko ต่อมา ตำรวจได้ขอศาลอาญาออกหมายจับอุปกิต โดยผู้พิพากษาเวรได้อนุมัติการออกหมายจับในช่วงเช้า อย่างไรก็ตาม จากคำบอกเล่าของตำรวจ ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้นเอง ตำรวจผู้เป็นเจ้าของคดีก็ถูกเรียกกลับไปที่ศาลอาญา ถูกต่อว่าโดยผู้บริหารศาล และกดดันให้ถอนหมายจับโดยอ้างว่าตำรวจใช้ดุลพินิจโดยมิชอบในการออกหมายจับ และมีระเบียบศาลที่ระบุให้เมื่อใดก็ตามที่จะออกหมายจับบุคคลสำคัญต้องปรึกษาผู้บริหารศาลก่อน[25]หลังจากที่ประเด็นการถอนหมายจับกลายเป็นข่าว กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนอรรถการ ฟูเจริญ … Continue reading ท้ายที่สุด อธิบดีศาลอาญาก็ตัดสินใจให้ถอนหมายจับนายอุปกิต หลังจากเหตุการณ์นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีก็ถูกย้ายจนไม่สามารถทำงานต่อในคดีของนายอุปกิตได้อีก[26]งามไส้กระบวนการยุติธรรม! * แฉเบื้องหลังอธิบดีศาลสั่งถอนหมายจับ “สว.ทรงเอ” * หักดิบผู้พิพากษา-ชุดจับกุมทั้งที่หอบหลักฐานมัดแน่น. (11 มีนาคม 2566). … Continue reading

ขั้นตอนขอปล่อยตัวชั่วคราวก็ให้อภิสิทธิ์กับผู้ที่มีสถานะทางสังคมหรืออยู่ใกล้กับอำนาจรัฐเช่นกัน โดยผู้ที่มีญาติพี่น้องหรือคนรู้จักที่ประกอบอาชีพเป็นข้าราชการ นักการเมือง หรือประกอบอาชีพมั่นคง สามารถร้องขอให้คนรู้จักของตนเองใช้ตำแหน่งในหน้าที่การงานแทนหลักทรัพย์ประกันตัวได้[27]ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 … Continue reading ในขณะที่ประชาชนที่มีฐานะยากจนต้องควานหาเงินสดหรือหลักทรัพย์ เช่น การยืมเงินญาติพี่น้อง ไปจนถึงการเสียดอกเบี้ยจากการเช่าหลักทรัพย์เพื่อมาประกันตัวเอง

ท้ายที่สุด ในขั้นพิพากษาตัดสินคดี สถานะทางสังคมก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบรรเทาโทษ โดยตั้งแต่มีการเริ่มใช้กฎหมายลักษณะอาญาในปี 2451 เป็นต้นมา “คุณความดีมาแต่ก่อน” ก็เป็นหนึ่งในเหตุที่ศาลสามารถพิจารณาเพื่อบรรเทาโทษได้ ซึ่งศาลสามารถลดโทษได้สูงสุดไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษทั้งหมด การใช้ดุลพินิจว่าใครเป็นผู้มีคุณความดีมาแต่ก่อนมักจะแนบติดอยู่กับผู้ที่ทำงานในระบบราชการ การเมือง ผู้มีอำนาจหรือร่ำรวยในสังคม ผู้มีคุณความดีมาแต่ก่อนยังรวมถึงผู้ที่เคยบริจาคเงินเพื่อการกุศล บริจาคเลือด เคยช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบภัย ไปจนถึงข้าราชการที่รับราชการมาเป็นเวลานานและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์[28]เพิ่งอ้าง. การประเมินเช่นนี้เป็นเรื่องยากที่บุคคลฐานะยากจนจะกลายเป็นผู้มีคุณความดีมาแต่ก่อนได้ในสายตากระบวนการยุติธรรม เพราะการบริจาคเงินเพื่อสังคมเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นคุณความดีเป็นไปไม่ได้สำหรับผู้ที่แม้แต่เงินประกันตัวหรือจ้างทนายความก็หาไม่ได้

แม้กระทั่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ที่สามารถใช้ดำเนินคดีกับประชาชนได้อย่างรุนแรง[29]ประชาชนส่วนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มีอาการป่วยทางจิตแต่ศาลก็มักจะไม่นำมาเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดหรือลดโทษให้ตามมาตรา 65 … Continue reading ก็เคยมีจำเลยได้รับการลดโทษจากเหตุเคยมีคุณความดีมาแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อปี 2529 นายวีระ มุสิกพงศ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์เคยถูกดำเนินคดีจากกรณีการปราศรัยว่าหากตนเลือกเกิดได้จะไปเกิดในพระบรมมหาราชวัง คดีนี้ดำเนินไปจนถึงชั้นฎีกา โดยศาลฎีกาแก้โทษจำคุกจากชั้นอุทธรณ์ที่พิพากษาลงโทษจำคุกหกปี ลดลงหนึ่งในสามเหลือ 4 ปี โดยให้เหตุผลของการบรรเทาโทษว่าจำเลยเคยทำความดีให้แก่ประเทศชาติ เคยเป็น สส. และรัฐมนตรีหลายสมัย ได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก อีกทั้ง ยังเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการจัดหาทุนสร้างสวนหลวง ร.9 และจัดหาทุนโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย จึงนับว่าเป็นผู้มีคุณความดีมาแต่ก่อน และหลังจากเกิดเหตุก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ[30]คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2531 นายวีระเข้าไปอยู่ในเรือนจำได้เพียงประมาณ 1 เดือนก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ

ลดความเหลื่อมล้ำไม่คืบหน้า แก้ไม่ถึงโครงสร้าง

ประเด็นความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ และมีความพยายามในการออกนโยบายเพื่อแก้ไข แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นโยบายประเภทหนึ่งมุ่งเป้าไปที่การช่วยลดต้นทุนในการต่อสู้คดี เพื่อให้ผู้มีฐานะยากจนสามารถเข้าถึงการขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ มาตรการแรกคือการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือกำไล EM แทนการเรียกหลักประกัน ซึ่งเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2561 อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาว่าไม่ได้ช่วยให้ผู้ยากจนบางส่วนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจริง เพราะศาลยังมองกำไล EM ในฐานะ ‘ส่วนลด’ ของหลักประกัน โดยสามารถลดให้เหลือร้อยละ 20 ของมูลค่าหลักประกันที่เรียกได้[31]คู่มือการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2558 … Continue reading ซึ่งผู้ต้องหาหรือจำเลยยังต้องหาเงินหรือหลักทรัพย์มาวางเป็นหลักประกันอยู่ดี

กำไล EM ยังมีปัญหาในเชิงหลักการของการสันนิษฐานว่าจำเลยต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ ผลที่ตามมาของการมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พันรอบข้อเท้าคือการสร้างตราบาปทางสังคม ซึ่งผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องแบกรับในชีวิตประจำวัน ทั้งที่จำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบเท่าที่กระบวนการยังไม่จบ การใช้กำไล EM ยังนำไปสู่ข้อถกเถียงว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลที่ยังไม่มีความผิดในทางกฎหมายด้วย[32]Electronic Monitoring: คุกข้อเท้าของผู้ถูกสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์. (6 มกราคม 2566). แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย. https://www.amnesty.or.th/latest/blog/1070/ ซึ่งจะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นเมื่อพิจารณาว่าผู้ที่ต้องจำยอมติดกำไล EM และยอมถูกตีตราทางสังคมส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ในขณะที่ผู้มีฐานะร่ำรวยสามารถวางหลักประกันในราคาเต็มแทนได้

ลดความเหลื่อมล้ำไม่คืบหน้า แก้ไม่ถึงโครงสร้าง

มาตรการต่อมาเพื่อช่วยลดต้นทุนคือการใช้ระบบประเมินความเสี่ยงในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว แต่มาตรการนี้ก็ยังประสบปัญหาการขาดแคลนข้อมูลและตัวชี้วัดที่ครอบคลุมมากพอสำหรับการประเมินความเสี่ยงที่น่าเชื่อถือ ทำให้ศาลยังมีแนวโน้มจะเรียกหลักประกัน นอกจากนี้ ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังมีทัศนคติว่าต้องหาหลักประกันมาวางไว้กับศาลก่อนเสมอ บางรายเลือกที่จะไม่ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยประเมินความเสี่ยงเลย ด้วยความเชื่อว่าการมีหลักประกันจะช่วยโน้มน้าวผู้พิพากษาให้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวได้ง่ายกว่า[33]ชัชวาล ธัชชัย. (2563). ปัญหาการปล่อยชั่วคราวโดยการประเมินความเสี่ยง ศึกษากรณีศาลจังหวัดราชบุรี. สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม … Continue reading

นโยบายอีกประเภทหนึ่งคือ การช่วยค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีโดยมีการจัดตั้ง ‘กองทุนยุติธรรม’ ซึ่งมีหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่ที่ผ่านมาก็ยังประสบปัญหาการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ครอบคลุมโดยการตีความระเบียบข้อบังคับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีบางประเภทเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความสงบเรียบร้อย ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการปฏิเสธที่จะช่วยเหลือในคดีที่มีโทษสูงหรือเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ จากการสำรวจคำร้องขอความช่วยเหลือที่ไม่ได้รับการอนุมัติ 119 คำขอ พบว่า 86 คำขอ (72.3%) ถูกปฏิเสธเพราะเหตุผลดังกล่าว นอกจากนี้ กองทุนยุติธรรมยังมีหลักเกณฑ์จะไม่ช่วยผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีความเสี่ยงหลบหนีสูง แต่กลับขาดการประเมินความเสี่ยงที่น่าเชื่อถือ ทำให้ช่วยเหลือผู้ต้องหาได้ไม่มากเท่าที่ควร[34]สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) … Continue reading

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายปรับปรุงการเข้าถึงทนายความช่วยเหลือ โดยที่ผ่านมาเน้นไปที่การเพิ่มค่าตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจดึงดูดทนายเข้ามาให้บริการช่วยเหลือมากขึ้น เช่น ในปี 2562 มีการเปลี่ยนระบบค่าตอบแทนของทนายความอาสาในชั้นสอบสวนเป็น 1,000 บาทต่อวันจากเดิมที่ให้เป็นรายครั้ง[35]ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่รัฐจัดหาให้ผู้ต้องหาในคดีอาญา (ฉบับที่2) พ.ศ. 2562. และปรับค่าตอบแทนของทนายความอาสาที่ให้คำปรึกษากฎหมายจาก 600 บาทเป็น 1,000 บาทต่อวัน[36]ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยค่าตอบแทนและค่าพาหนะสำหรับทนายความอาสา และทนายความอาสาอาวุโสในการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน พ.ศ. 2562. นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเป้าหมายให้มีทนายความอาสาประจำทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยในปี 2565 มีทนายประจำสถานีตำรวจเพียง 203 สถานีจาก 1,432 สถานีทั่วประเทศ หรือเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น[37]สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2566). สรุปผลการดำเนินงานของแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม. … Continue reading

ในขณะที่ข้อเสนอการปรับปรุงเชิงระบบกลับยังไม่มีการผลักดันอย่างจริงจัง ในปี 2559 สมาชิกบางส่วนของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเสนอให้โอนภารกิจการจัดหาทนายความช่วยเหลือในคดีอาญาทุกชั้นไปให้สภาทนายความเป็นผู้ดูแล เพื่อบูรณาการระบบช่วยเหลือด้านกฎหมายจากปัจจุบันที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย[38]สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม. (2559). การปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน … Continue reading แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

อีกข้อเสนอหนึ่งคือการจัดตั้งองค์กรทนายสาธารณะ (Public Defender) ขึ้นทำหน้าที่ให้ช่วยเหลือจำเลยรายได้น้อยตลอดกระบวนการตั้งแต่ชั้นสอบสวนไปจนถึงชั้นพิจารณาคดี โดยเป็นองค์กรของรัฐและจะว่าจ้างทนายความเป็นพนักงานประจำและมีการพัฒนาความเชี่ยวชาญของทนาย การจัดตั้งองค์กรนี้มีศักยภาพที่จะให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายได้ดีกว่าระบบทนายความอาสาและขอแรงในปัจจุบัน โดยแก้ปัญหาค่าตอบแทนต่ำ ไม่มีการจัดสรรตามความเชี่ยวชาญ และขาดการประสานการทำงานที่ต่อเนื่องกันระหว่างชั้นสอบสวนและพิจารณาคดี

ข้อเสนอนี้มีการนำเสนอต่อสังคมกันมาตั้งแต่ปี 2547 แล้ว[39]ณรงค์ ใจหาญ. (2547). โครงการศึกษาและพัฒนาระบบทนายความสาธารณะ (Public Defender). กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:303725 แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากฝ่ายนโยบาย จนกระทั่งในปี 2565 มีการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานทนายรัฐ พ.ศ. … โดยนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สส. พรรคไทยศรีวิไลย์ โดยแม้ว่าร่างกฎหมายจะขาดรายละเอียดหลายประการ แต่ก็มีหลักการในการจัดตั้งองค์กรเพื่อดูแลทนายความที่รัฐจัดหาในคดีอาญา

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกคัดค้านจากหน่วยงานรัฐ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่เห็นร่วมกันว่าจะเป็นการจัดตั้งองค์กรที่ซ้ำซ้อนกับกลไกความช่วยเหลืออื่นที่มีอยู่แล้วและเห็นว่าการเพิ่มค่าตอบแทนทนายความเป็นเรื่องสำคัญกว่า[40]สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2565). รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก … Continue reading

แนวปฏิบัติยุติธรรมไทยเป็นแบบกล่าวหา
แต่ไม่ให้สิทธิคนสู้คดีกับรัฐได้อย่างเท่าเทียม

ในทางปฏิบัติ กระบวนการยุติธรรมอาญาไทยมีลักษณะโน้มเอียงไปทางระบบกล่าวหา (Accusatorial System) มากกว่าระบบไต่สวน (Inquisitorial System) หมายความว่าในการพิจารณาคดีอาญา อัยการในฐานะตัวแทนของรัฐจะทำหน้าที่เป็นโจทก์ฟ้องเอาผิดจำเลย ในขณะที่จำเลยมีภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองโดยอาจมีทนายความให้ความช่วยเหลือ ส่วนบทบาทของศาลคือการวางตัวเป็นกลางโดยเข้าไปก้าวก่ายการนำสืบพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์และจำเลยให้น้อยที่สุด และตัดสินคดีตามพยานหลักฐานเท่าที่ทั้งสองฝ่ายนำเสนอ แตกต่างจากในระบบไต่สวนที่ศาลจะมีบทบาทเชิงรุกในการเรียกสืบพยานหลักฐานเพื่อค้นหาความจริง[41]กุลพล พลวัน. (2546). การพิจารณาคดีระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนในกฎหมายไทยที่มีผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน. วารสารศาลรัฐธรรมนูญ, 5(13), 34-50. … Continue reading

ในระบบกล่าวหาที่ศาลวางตัวเป็นกลาง ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความสามารถในการต่อสู้คดีเท่าเทียมกัน โดยสามารถแสวงหาพยานหลักฐานมาหักล้างหลักฐานของอีกฝ่าย อย่างไรก็ดี แม้ว่ากฎหมายจะให้การรับรองสิทธิสู้คดีอย่างเทียมไว้ แต่แนวทางปฏิบัติและทัศนคติขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นจริงเป็นไปในทางที่ให้ฝ่ายรัฐหรืออัยการถือความได้เปรียบเหนือฝ่ายจำเลยค่อนข้างมาก

แนวปฏิบัติยุติธรรมไทยเป็นแบบกล่าวหา แต่ไม่ให้สิทธิคนสู้คดีกับรัฐได้อย่างเท่าเทียม

พนักงานสอบสวนและอัยการที่เป็นโจทก์มีแนวปฏิบัติที่ ‘มุ่งพิสูจน์ความผิด’ ของผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ก่อน ตรงกันข้ามกับการ ‘แสวงหาความจริง’ ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรม โดยมาตรา 131 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาระบุว่า ในการแสวงหาหลักฐานของพนักงานสอบสวน ต้องมีเป้าหมายไม่เพียงเพื่อพิสูจน์ความผิดเท่านั้น แต่ยังต้องหาหลักฐานที่แสดงความบริสุทธิ์เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหาด้วย กฎหมายมาตราเดียวกันยังให้อำนาจและดุลพินิจกับพนักงานสอบสวนในการรวบรวมหลักฐานไว้อย่างกว้างขวาง และในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ การเข้าถึงหลักฐานก็ย่อมสามารถทำได้ง่ายกว่าประชาชนธรรมดา แต่ในทางปฏิบัติ พนักงานสอบสวนมีแนวโน้มที่จะหาพยานหลักฐานที่เป็นโทษกับผู้ต้องหาเท่านั้น ในขณะที่หลักฐานที่เป็นคุณหรือแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาอาจจะไม่ปรากฏในสำนวน[42]หิรัญญา ปะดุกา และปัณณธร หอมบุญมา. (2565). การตรวจพยานหลักฐานในคดีอาญาก่อนสืบพยานของประเทศไทย. วารสารวิจัยราชภัฏกรุงเก่า … Continue reading

ความได้เปรียบของฝ่ายโจทก์ที่เป็นรัฐเหนือจำเลยยังพบได้ในกระบวนการเปิดเผยพยานหลักฐานก่อนการพิจารณาคดี ฝ่ายโจทก์และจำเลยจะต้องยื่นบัญชีพยานหลักฐานที่จะใช้และอาจมีการนัดตรวจพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นการเปิดเผยให้อีกฝ่ายทราบว่าฝ่ายตนประสงค์จะใช้หลักฐานใด เพื่อให้การต่อสู้และการหักล้างข้อกล่าวหาเป็นไปอย่างเป็นธรรม ไม่มีการจู่โจมทางพยานหลักฐานหรือการนำเสนอหลักฐานที่อีกฝ่ายไม่ทราบมาก่อนในการสืบพยาน[43]มาตรา 173/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระบุให้มีการตรวจพยานหลักฐานเฉพาะในกรณีที่คู่ความร้องขอและศาลต้องเห็นสมควรเท่านั้น … Continue reading

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนเหล่านี้ อัยการมีดุลพินิจในการเลือกพยานหลักฐานมาก โดยอาจเลือกเปิดเผยหลักฐานบางชิ้นที่เป็นโทษกับจำเลย และไม่เปิดเผยชิ้นที่เป็นคุณกับจำเลย ไม่ต่างกับที่พนักงานสอบสวนแสวงหาแต่พยานหลักฐานที่เป็นโทษกับผู้ต้องหา นอกจากนี้ อัยการยังมีเทคนิคในการสร้างความสับสนให้ฝ่ายจำเลยตรวจสอบความถูกต้องของพยานหลักฐานได้ยากลำบาก เช่น ใช้คำว่า “สรรพเอกสารในสำนวนสอบสวนทั้งหมด” โดยไม่ระบุว่าเป็นพยานหลักฐานชิ้นใด[44]หิรัญญา ปะดุกา และ ปัณณธร หอมบุญมา. การตรวจพยานหลักฐานในคดีอาญาก่อนสืบพยานของประเทศไทย.

แนวปฏิบัติเช่นนี้สร้างภาระให้กับฝ่ายจำเลยในการต่อสู้คดีมากขึ้น เมื่อตำรวจและอัยการนำเสนอแต่หลักฐานที่เป็นโทษกับจำเลย ฝ่ายจำเลยจึงต้องขวนขวายหาหลักฐานอื่นที่จะเป็นคุณหรือพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยตนเอง เช่น การขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากเพราะจำเลยอาจไม่ทราบตั้งแต่แรกว่ามีหลักฐานชิ้นใดที่เป็นคุณต่อตนและอยู่ในการครอบครองของหน่วยงานใด และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียมในการขอหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ หากฝ่ายจำเลยไม่สามารถหาหลักฐานที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ ก็จำต้องต่อสู้คดีโดยพยายามหักล้างความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์หรืออัยการ ซึ่งต้องอาศัยทนายเก่งที่มีประสบการณ์ แต่จำเลยที่มีรายได้น้อยมักต้องใช้บริการทนายความขอแรงที่มีประสบการณ์น้อย ทำให้เสียเปรียบค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มจำเลยฐานะดีที่สามารถว่าจ้างทนายความที่มีความสามารถได้

ในกระบวนการยุติธรรมอาญาที่เข้าข้างรัฐเช่นนี้ การวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดของศาลซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาความเป็นธรรมในต่อสู้คดีของทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย กลับเป็นการส่งเสริมสถานะตั้งต้น เมื่อฝ่ายโจทก์ได้เปรียบเหนือจำเลย การวางตัวเป็นกลางก็เสมือนให้ประโยชน์กับฝ่ายโจทก์ไปโดยปริยาย อันที่จริง กฎหมายไทยได้ให้อำนาจศาลในการเรียกพยานหลักฐานเพิ่มเติมดังเช่นในระบบไต่สวนได้ แต่ผู้พิพากษาส่วนใหญ่ก็ไม่เลือกที่จะใช้อำนาจนี้เนื่องจากกลัวข้อครหาเรื่องความไม่เป็นกลาง[45]มาตรา 235 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้อำนาจไต่สวนกับผู้พิพากษาไว้ในการถามโจทก์ จำเลย หรือพยาน … Continue reading อีกทั้งผู้พิพากษายังมีทัศนคติที่มองว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายจำเลยที่ต้องหาพยานหลักฐานมาแก้ต่างเองในชั้นพิจารณาคดี ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่ต้องไปช่วยเหลือ[46]ดร.ศุภกิจ แย้มประชา. (2565). การทำความเข้าใจวัฒนธรรมการกำหนดโทษอาญาของผู้พิพากษาไทย. นิตยสารบทบัณฑิตย์, 78(4). https://so04.tci-thaijo.org/index.php/botbundit/article/view/262002 จึงพยายามไม่เล่นบทบาทเชิงรุกในการให้ความเป็นธรรม

ความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรง เมื่อรัฐสั่งเป็น ‘คดีนโยบาย’

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมจะยิ่งร้ายแรงขึ้นในกรณีที่เป็น ‘คดีนโยบาย’ กล่าวคือ รัฐเน้นใช้กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่มีโทษทางอาญาสูงเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางนโยบายผ่านการใช้อำนาจเข้าไปมีอิทธิพลต่อกระบวนการยุติธรรมให้ทำงานแบบที่รัฐต้องการ[47]พชร คำชำนาญ. (7 ธันวาคม 2562). เหยื่อ ‘ทวงคืนผืนป่า’ สะท้อนชีวิต รัฐใช้ กม. 2 มาตรฐาน นักวิชาการแนะตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อ. ประชาไท. https://prachatai.com/journal/2019/12/85459

ปัญหาที่มักเกิดขึ้นตามมาคือประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยส่วนใหญ่เป็นผู้ยากจนหรือสถานะทางสังคมไม่สูงนัก ตัวอย่างหนึ่งที่เด่นชัดคือกรณีนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ ที่รัฐบาล คสช. ผลักดันโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า ทำให้มีการสั่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้ายึดคืนพื้นที่ รื้อสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และกวาดจับประชาชน แม้รัฐบาลอ้างมาโดยตลอดว่าเป็นการดำเนินนโยบายเพื่อนำพื้นที่ป่าคืนจากนายทุนหรือผู้มีอิทธิพล และกำชับให้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือมีการดำเนินคดีประชาชนกว่า 46,000 คดี ส่วนใหญ่เป็นประชาชน ชาวบ้าน ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ของตนเองมาอย่างยาวนานก่อนที่เจ้าหน้าที่และรัฐจะมาขีดเส้นนิยามว่าเป็นป่า[48]“8 ปี ทวงคืนผืนป่า กว่า 46,000 คดีชาวบ้านในเขตป่า” ภาคี #saveบางกลอยเผย. (14 มิถุนายน 2565). กรีนนิวส์. https://greennews.agency/?p=29161

ความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรง เมื่อรัฐสั่งเป็น ‘คดีนโยบาย’

นโยบายทวงคืนผืนป่ายังนำไปสู่การใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมหลายฉบับที่มีโทษสูงและครอบคลุมฐานความผิดจำนวนมาก ทำให้ผู้ต้องหาต้องแบกรับภาระต้นทุนต่อสู้คดีค่อนข้างหนัก ยกตัวอย่างเช่น ฐานความผิดครอบครองที่ดิน แผ้วถางป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 19 (1) ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกสูงตั้งแต่ 4 ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท ซึ่งมาตรฐานกลางของศาลสำหรับการเรียกหลักประกันระบุไว้ที่ไม่เกิน 100,000 บาท

อีกทั้งจำเลยมักจะถูกกล่าวหาว่ามีความผิดพร้อมๆ กันหลายมาตราเป็น ‘ชุด’ ทำให้โทษโดยรวมสูงขึ้น กรณีที่เป็นที่รู้จักมากคือกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง ซึ่งมีการดำเนินคดีกับประชาชนชุมชนซับหวายในจังหวัดชัยภูมิ โดยเจ้าหน้าที่รัฐเลือกใช้กฎหมายสามฉบับในการฟ้องร้องประชาชน คือ พระราชบัญญัติป่าไม้ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ[49]เปิดกฎหมายอุทยานและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ภาคต่อนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ของคสช. (9 สิงหาคม 2564). โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw). … Continue reading ในปี 2562 ศาลอุทธรณ์ตัดสินลงโทษจำคุกประชาชนชุมชนซับหวายทั้งหมด 19 คดี โทษจำคุกสูงสุดสี่ปี และปรับสูงสุดถึง 1,500,000 บาท[50]ธันยพร บัวทอง. (21 กรกฎาคม 2562). ทวงคืนผืนป่า: เสียงจากชาวบ้านซับหวาย น้ำตาคนจนหลังถูกทวงคืนผืนป่า. บีบีซีไทย.  https://www.bbc.com/thai/thailand-49027185

ท้ายที่สุด สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนยังมีแนวโน้มไม่ได้รับการคุ้มครองในคดีนโยบาย นโยบายทวงคืนผืนป่าเริ่มต้นด้วยการด้วยการออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 ซึ่งเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายความมั่นคง ทั้งกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ และกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรยึดคืนพื้นที่ป่า ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อมาคือการใช้กำลังเจ้าหน้าที่รัฐเข้าปิดล้อมหมู่บ้าน รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของประชาชน บังคับให้ทำลายพืชผลการผลิตของตนเอง ก่อนจะจบที่การดำเนินคดี โดยที่ประชาชนไม่ทราบสิทธิของตนเองหรือตกอยู่ภายใต้สภาวะกดดันจากเจ้าหน้าที่จนต้องลงนามในเอกสารยินยอมออกจากพื้นที่

เมื่อฝ่ายความมั่นคงเดินนำหน้า กระบวนการยุติธรรมก็มีแนวโน้มโอนเอียงตาม มากกว่าจะยืนหยัดหลักการให้สิทธิสู้คดีอย่างเท่าเทียม ในบางคดี ศาลแนะนำให้จำเลยรับสารภาพแล้วจะรอลงอาญาตามแนวนโยบายของศาลเอง หรือกล่าวอีกนัยได้ว่าถ้าฝืนสู้คดีก็อาจจะต้องโทษจำคุก[51]จำเลยตกค้างคดีบุกรุกป่าสงวนฯ บ้านจัดระเบียบ สกลนคร ยืนยันสู้คดีหลังศาลแนะให้รับสารภาพ. (27 พฤษภาคม 2559). ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. … Continue reading

องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมก็ลังเลที่จะเข้ามาช่วยเหลือ เช่น คดีหนึ่งในจังหวัดลำปาง จำเลยต้องใช้เงินของตนเอง 48,000 บาท เพื่อเช่าหลักทรัพย์ประกันตัวเนื่องจากกองทุนยุติธรรมอ้างว่า “คดีทวงคืนผืนป่าเป็นคดีนโยบาย เป็นเรื่องความมั่นคง” จึงไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้[52]มีการกดดันอย่างหนักให้กองทุนยุติธรรมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือประชาชนในคดีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายทวงคืนผืนป่า … Continue reading ในสถานการณ์เช่นนี้จำเลยจึงประสบความยากลำบากในการต่อสู้คดี ตั้งแต่การประกันตัว หาทนายความ ไปจนถึงหาล่ามเพื่อช่วยแปลภาษาจากชาติพันธุ์ต่างๆ ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งเลือกรับสารภาพโดยหวังการลดโทษในคดีที่ตนต่อสู้ได้ยาก มีโทษจำคุกและปรับสูง[53]ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. (2558). รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557 กระบวนการยุติธรรมลายพราง ภายใต้ คสช.. … Continue reading

รากของความยุติธรรมที่เหลื่อมล้ำคือจารีตให้รัฐเป็นใหญ่

ปัญหาของความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมไทยมีรากอยู่ในระดับจารีต จุดตั้งต้นอยู่ที่การให้ความสำคัญกับผลประโยชน์หรือความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า ‘จารีตให้รัฐเป็นใหญ่’[54]อ่านเพิ่มเติมเรื่องจารีตรัฐเป็นใหญ่ ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์. (27 กันยายน 2566). โทษอาญาเฟ้อ: ภาพสะท้อนจารีตปกครองแบบไทยๆ. … Continue reading ดังนั้น การละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคลที่อาศัยอยู่ในสังคมการเมืองเดียวกันจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ตราบเท่าที่เป็นไปเพื่อบรรลุจุดประสงค์ที่ถูกนิยามว่าเป็นความมั่นคงหรือผลประโยชน์ของรัฐ

มุมมองที่ให้รัฐเป็นใหญ่นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม เริ่มต้นจากแนวปฏิบัติที่ทำให้การต่อสู้คดีไม่เท่าเทียมกัน โดยรัฐเลือกใช้กฎหมายและองคาพยพของกระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกดำเนินนโยบายตามที่ต้องการ ฝ่ายตำรวจและอัยการจึงพร้อมที่จะเอาผิดผู้ที่ตกเป็นจำเลยมากกว่าให้ความเป็นธรรม ซึ่งในหลายกรณี นำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชน เช่น การประกาศสงครามยาเสพติด นโยบายทวงคืนผืนป่า ไปจนถึงปฏิบัติการทางทหารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ‘คดีนโยบาย’ หรือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเหล่านี้มักมีเป้าหมายอยู่ที่ผู้มีฐานะเศรษฐกิจและสังคมต่ำ ซึ่งต้องแบกรับภาระในการต่อสู้คดีอย่างยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นค่าประกันตัวที่แพงขึ้นจากโทษของกฎหมายที่สูง ไปจนถึงแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ให้ความสำคัญกับการบรรลุผลทางนโยบายมากกว่าคุ้มครองสิทธิ

รากของความยุติธรรมที่เหลื่อมล้ำคือจารีตให้รัฐเป็นใหญ่

คดีนโยบายที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายเพียงชั่วคราวอาจจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่ยิ่งทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำแย่ลงในระยะยาวด้วย นโยบายทวงคืนผืนป่าเริ่มต้นจากการออกคำสั่ง คสช. ให้หน่วยงานความมั่นคงเข้าร่วมปฏิบัติการณ์ยึดคืนพื้นที่ป่า แต่ในเวลาต่อมา แนวนโยบายนี้ก็ได้นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีเนื้อหาหลักประการแรกคือการเพิ่มโทษซึ่งทำให้กระบวนการยุติธรรมแพงมากขึ้น ความผิดฐานครอบครองที่ดิน แผ้วถางป่า ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งออกในรัฐบาลของ คสช. นั้นระบุโทษจำคุกไว้สูงสุด 20 ปี และปรับสูงสุด 2,000,000 บาท เป็นการเพิ่มโทษจากกฎหมายฉบับปี 2504 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกินห้าปี และปรับ 20,000 บาท หรือเท่ากับเพิ่มโทษปรับสูงสุด 100 เท่า

เนื้อหาของการแก้ไขกฎหมายป่าไม้ประการที่สองคือการเปลี่ยนสถานะของคำสั่ง คสช. 66/2557 ที่ริเริ่มการทวงคืนผืนป่า จากเดิมที่เป็นเพียงแนวปฏิบัติในทางนโยบาย ให้กลายเป็นหลักเกณฑ์พิสูจน์ที่ดินทำกินตามกฎหมายใน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติฉบับที่แก้ไขในปี 2562 ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาประชาชนตกหล่นเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่บังคับให้เซ็นคืนพื้นที่ไปแล้วตามนโยบายของ คสช.[55]เปิดกฎหมายอุทยานและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ภาคต่อนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ของคสช. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw).

ในทางกลับกัน สำหรับผู้ที่ร่ำรวยหรือใกล้ชิดอำนาจรัฐ นอกจากจะไม่ตกเป็นเป้าหมายของคดีนโยบายและไม่มีปัญหากับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมแล้ว กระบวนการยุติธรรมยังมีข้อยกเว้นให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย ตั้งแต่การมีแนวโน้มให้ความไว้วางใจกับคนมีตำแหน่งในราชการหรือการเมืองว่าจะไม่หลบหนี ในขณะที่ผู้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งจะถูกสันนิษฐานว่าจะหลบหนีทันที ไปจนถึงการลดหย่อนโทษให้กับบุคคลที่เคยทำประโยชน์ ซึ่งก็มักจะจำกัดอยู่ในวงการราชการและการเมือง

มากไปกว่านั้น เมื่อรัฐเป็นใหญ่ ความช่วยเหลือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำหรือทำให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมจึงกลายเป็นเรื่องรอง นโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมาอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเพียงการ ‘ปะผุ’ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ได้ปรับแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้าง เช่น การเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้กับทนายอาสาและขอแรงเพื่อจะจูงใจให้ทนายทำงานอย่างเต็มที่มากขึ้น แต่ยังไม่มีการปรับกลไกต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มประกันสิทธิภาพการทำงานของทนายช่วยเหลือ อาทิ การมอบหมายคดีที่ตรงกับความเชี่ยวชาญทนายหรือการประสานการช่วยเหลือในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดีเข้าด้วยกันจากปัจจุบันที่ขาดความต่อเนื่อง อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือยังอาจจะมีข้อยกเว้นหรือทำให้หน่วยงานของรัฐลังเลที่จะยื่นมือเข้าช่วยได้ถ้าเป็นกรณีที่รัฐเห็นว่าเกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือผลประโยชน์ของรัฐ คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรมเคยแสดงความกังวลว่าหากมีการอนุมัติช่วยเหลือกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากเกินไปจะทำให้สถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยสูงขึ้น[56]สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจ้างที่ปรึกษาดำเนินงานและพัฒนางานกองทุนยุติธรรม.

นอกจากนี้ ยังไม่มีการปรับแนวปฏิบัติและทัศนคติของอัยการและตำรวจที่ตั้งตัวอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยแทนที่จะมุ่งหาข้อเท็จจริงและความเป็นธรรม เช่นเดียวกับผู้พิพากษาหลายท่านที่ยังมีทัศนคติว่า “จำเลยต้องช่วยตัวเอง” ในการนำเสนอข้อมูลแก่ศาลเพื่อต่อสู้คดี[57]ดร.ศุภกิจ แย้มประชา. (2565). การทำความเข้าใจวัฒนธรรมการกำหนดโทษอาญาของผู้พิพากษาไทย. ทั้งที่ยังไม่มีการสนับสนุนที่ดีพอที่จะช่วยให้จำเลยที่มีรายได้น้อยสู้คดีได้อย่างทัดเทียมกับฝ่ายอัยการ 

การจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมจึงต้องย้อนกลับไปที่รากของปัญหา คือจารีต แนวปฏิบัติ และแนวนโยบายของรัฐ ที่ยังให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของรัฐเหนือสิทธิและความเป็นธรรม จริงอยู่ที่ความยากจนในทางเศรษฐกิจส่งผลโดยตรงต่อการเข้าไม่ถึงความเป็นธรรม แต่การสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจก็อาจจะไม่ได้แก้ต้นตอของจารีตรัฐเป็นใหญ่ ที่พร้อมจะละเลยสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของคนยากจนนามความมั่นคง ในขณะที่ผู้ที่ร่ำรวยหรือมีอำนาจกลับได้รับการปฏิบัติที่ดีหรือมีข้อยกเว้นให้ ดังนั้น ฐานคิดในกระบวนการยุติธรรมไทยและในองคาพยพของรัฐไทยจึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง โดยต้องเริ่มจากการมองความเป็นธรรมและสิทธิของประชาชนเหนือสิ่งที่รัฐมองว่าเป็นผลประโยชน์หรือความมั่นคง


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ในโครงการศึกษาเงื่อนไขเชิงระบบในการปฏิรูปกระบวนยุติธรรม (System Diagnostic Approach: the Road to Unlock Thai Justice Reform)

References
1 ในปี 2565 มีจำนวนคดีลักทรัพย์ที่ขึ้นศาลชั้นต้นมากถึง 25,559 คดี ข้อมูลจาก สำนักงานศาลยุติธรรม. (2565). รายงานสถิติคดีประจำปี พ.ศ. 2565. https://oppb.coj.go.th/th/content/category/detail/id/8/cid/2085/iid/300811. เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566.
2 คำนวณจากต้นทุนใน สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2562). รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการพัฒนาตัวชี้วัดด้านค่าใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา. มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. บวกกับค่าประกันตัวตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดวงเงินประกันโดยถือเกณฑ์ไม่เกิน 10,000 บาทต่อระวางโทษจำคุก 1 ปี มาตรา 344 ของประมวลกฎหมายอาญา วางโทษจำคุกไว้ 3 ปี ทำให้เงินประกันเป็น 30,000 บาท
3 World Inequality Database. (2022). Income Inequality, Thailand. https://wid.world/country/thailand/
4 ดูแนวทางการขังไว้ก่อนของกระบวนการยุติธรรมไทยได้ที่ ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์. (2 พฤศจิกายน 2566). ‘คนล้นคุก’: การจองจำในจารีตยุติธรรมแบบไทยๆ. ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 PUB). https://101pub.org/thai-norm-overimprisonment/
5 มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์, ธัญญานุช ตันติกุล. (2564). ปล่อยชั่วคราวหรือขังชั่วคราว? : ความย้อนแย้งของการฝากขังและปล่อยชั่วคราวในกฎหมายไทย. ดุลพาห, 68(3), 36-86. https://dunlaphaha.coj.go.th/articles/12
6 วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร. (25 กันยายน 2566). ‘การปกปิด’ ‘ไม่เปิดเผยพยานหลักฐาน’ เป็น ‘การสอบสวนที่ผิดกฎหมาย’ อัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดี. ไทยโพสต์. https://www.ijrforum.org/content/5813/
7 ดูเรื่องการฝากขังและขอปล่อยตัวชั่วคราวเพิ่มเติมที่ ศุภณัฏฐ์. ‘คนล้นคุก’: การจองจำในจารีตยุติธรรมแบบไทยๆ.
8 ห้องเวรชี้ : อุตสาหกรรมยุติธรรม. (3 ตุลาคม 2557). โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw). https://ilaw.or.th/node/3271
9 ณัฐรัตน์ จอมมณี. (2558). ปัญหาเกี่ยวกับการจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา. http://law.master.kbu.ac.th/StudentTheses/2558/2558-008.pdf
10 ห้องเวรชี้ : อุตสาหกรรมยุติธรรม. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw).
11 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย. (2563). ผู้หญิงในโลกกำแพง: รายงานสำรวจผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561. (กรุงเทพฯ: สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย). https://knowledge.tijthailand.org/uploads/publication/file/20210512/th-afglptwxy457.pdf
12 ปกป้อง ศรีสนิท. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผย. (24 พฤษภาคม 2565). The101.world. https://www.the101.world/the-right-to-a-public-hearing/#_ftn10
13 สันติพงษ์ กุมารสิงห์. (2563). กฎหมายต้นแบบว่าด้วยทนายความสาธารณะเพื่อการคุ้มครองสิทธิ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญา (วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม). http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/7380?locale=th
14 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2564). รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจ้างที่ปรึกษาดำเนินงานและพัฒนางานกองทุนยุติธรรม. https://jfo.moj.go.th/files/files_download/20210307912237680.pdf
15 สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์. (2562). รายงานวิจัยการประเมินผลและการพัฒนาประสิทธิภาพประสิทธิผลทนายขอแรง การจัดหาทนายความเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา. กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลยุติธรรม.
16 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม. (2559). การปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/479913
17 ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจําเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173
18 สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์. รายงานวิจัยการประเมินผลและการพัฒนาประสิทธิภาพประสิทธิผลทนายขอแรง
19, 20, 28 เพิ่งอ้าง.
21 World Justice Project. (2023). WJP Rule of Law Index, Criminal Justice, Thailand. https://worldjusticeproject.org/rule-of-law-index/country/2023/Thailand/Criminal%20Justice/
22 แต่เดิมอำนาจในการออกหมายจับอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง แต่ก็เจอกับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่ากลไกเช่นนี้ไม่คุ้มครองสิทธิของประชาชน ทำให้เมื่อมีการปฏิรูปผ่านรัฐธรรมนูญ 2540 ระบบยุติธรรมไทยก็ถ่ายโอนอำนาจในการออกหมายจับไปอยู่กับศาล ซึ่งต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการออกหมายจับ โดยเหตุแห่งการออกหมายจับตามมาตรา 66 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีสองกรณีคือ เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลนั้นน่าจะกระทำผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดเกินสามปี หรือเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
23 กมลวรรณ ชื่นชูใจ. (2013). การเมืองใน(กฎ)หมายจับ: การบังคับใช้กับคนชายขอบ. วารสารกฎหมายคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 6(12). http://202.28.49.72/LAW-journal/catagorie/6-12/6-12-4.pdf
24 ส.ว. ทรงเอ : รังสิมันต์ แฉขบวนการฟอกเงินยาเสพติด ส.ว. “อ. อ่าง” เจ้าของที่ดินตึกพรรค รทสช.. (16 กุมภาพันธ์ 2566). บีบีซีไทย. https://www.bbc.com/thai/articles/cedjjw3g9vko
25 หลังจากที่ประเด็นการถอนหมายจับกลายเป็นข่าว กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีศาลอาญาว่ากระทำผิดวินัยหรือไม่ โดยอรรถการเขียนจดหมายเปิดผนึกยืนยันว่า “การออกหมายจับดังกล่าวยังเป็นการมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2565 ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. 2548 คำแนะนำอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน พ.ศ. 2565 ระเบียบศาลอาญาว่าด้วยแนวทางการบริหารจัดการคดีของศาลอาญา ลงวันที่ 1 เมษายน 2565 และคำสั่งศาลอาญาที่ 110/2565 เรื่อง มอบหมายหน้าที่รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีพิเศษในศาลอาญา ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2565” ดูเพิ่มที่ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาแจงรายละเอียดถึงอธิบดีฯ เหตุเพิกถอนหมายจับ ส.ว.ทรงเอ ชี้การออกหมายจับไม่เป็นไปตามระเบียบศาล-ตำรวจ. (14 มีนาคม 2566). The Standard. https://thestandard.co/atthakarn-explained-senate-arrest-warrant/
26 งามไส้กระบวนการยุติธรรม! * แฉเบื้องหลังอธิบดีศาลสั่งถอนหมายจับ “สว.ทรงเอ” * หักดิบผู้พิพากษา-ชุดจับกุมทั้งที่หอบหลักฐานมัดแน่น. (11 มีนาคม 2566). เนตรทิพย์. http://www.natethip.com/news.php?id=6492
27 ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 การใช้บุคคลเป็นหลักประกันสามารถทำได้เพียงหาผู้ที่มีความสัมพันธ์กับจำเลย ไม่ว่าจะเป็นญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด นายจ้าง หรือความสัมพันธ์ที่ศาลเห็นว่าน่าเชื่อถือ และผู้นั้นมีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือรายได้แน่นอน โดยการตีความว่าบุคคลใดเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานมั่นคงหรือน่าเชื่อถือนั้น ก็มักจะเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพราชการ สมาชิกรัฐสภา พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือทนายความ ซึ่งสามารถทำสัญญาประกันได้ไม่เกิน 10 เท่าของเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
29 ประชาชนส่วนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มีอาการป่วยทางจิตแต่ศาลก็มักจะไม่นำมาเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดหรือลดโทษให้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อ่านเรื่องจำเลย 112 ที่มีอาการป่วยทางจิต ผู้ป่วยทางจิตกับคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw). https://freedom.ilaw.or.th/node/815
30 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2531
31 คู่มือการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2558 การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลในการปล่อยชั่วคราว (Electronic Monitoring). สำนักงานศาลยุติธรรม. https://bksmc.coj.go.th/th/content/category/detail/id/8/cid/6164/iid/97964
32 Electronic Monitoring: คุกข้อเท้าของผู้ถูกสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์. (6 มกราคม 2566). แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย. https://www.amnesty.or.th/latest/blog/1070/
33 ชัชวาล ธัชชัย. (2563). ปัญหาการปล่อยชั่วคราวโดยการประเมินความเสี่ยง ศึกษากรณีศาลจังหวัดราชบุรี. สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม สํานักงานศาลยุติธรรม. https://library.coj.go.th/pdf-view.html?fid=14701&table=files_biblio
34 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการพัฒนาตัวชี้วัดด้านค่าใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา. https://drive.google.com/drive/folders/1iZQzy6PkjkiibOPsLwo_SFLCKI5gLOe5
35 ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่รัฐจัดหาให้ผู้ต้องหาในคดีอาญา (ฉบับที่2) พ.ศ. 2562.
36 ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยค่าตอบแทนและค่าพาหนะสำหรับทนายความอาสา และทนายความอาสาอาวุโสในการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน พ.ศ. 2562.
37 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2566). สรุปผลการดำเนินงานของแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม.  http://nscr.nesdc.go.th/wp-content/uploads/2023/04/CRBook65_04_for_Web_28-04-66-1.pdf
38 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม. (2559). การปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน (ฉบับปรับปรุง). สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/drive_law/download/article/article_20160627125804.pdf
39 ณรงค์ ใจหาญ. (2547). โครงการศึกษาและพัฒนาระบบทนายความสาธารณะ (Public Defender). กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:303725
40 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2565). รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานทนายรัฐ พ.ศ…. นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะเป็นผู้เสนอ. https://www.parliament.go.th/section77/manage/files/file_20221209155521_2_261.pdf
41 กุลพล พลวัน. (2546). การพิจารณาคดีระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนในกฎหมายไทยที่มีผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน. วารสารศาลรัฐธรรมนูญ, 5(13), 34-50. http://elibrary.constitutionalcourt.or.th/multim/jindex/5-13/Image/5-13-34.pdf
42 หิรัญญา ปะดุกา และปัณณธร หอมบุญมา. (2565). การตรวจพยานหลักฐานในคดีอาญาก่อนสืบพยานของประเทศไทย. วารสารวิจัยราชภัฏกรุงเก่า มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, 9(2). https://so01.tci-thaijo.org/index.php/rdi-aru/article/view/257332
43 มาตรา 173/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระบุให้มีการตรวจพยานหลักฐานเฉพาะในกรณีที่คู่ความร้องขอและศาลต้องเห็นสมควรเท่านั้น ทำให้ดุลพินิจทั้งหมดยังอยู่ที่ผู้พิพากษา
44 หิรัญญา ปะดุกา และ ปัณณธร หอมบุญมา. การตรวจพยานหลักฐานในคดีอาญาก่อนสืบพยานของประเทศไทย.
45 มาตรา 235 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้อำนาจไต่สวนกับผู้พิพากษาไว้ในการถามโจทก์ จำเลย หรือพยาน แต่ในทางปฏิบัติศาลมักจะไม่เลือกใช้เพราะกลัวข้อครหาเรื่องความไม่เป็นกลาง
46 ดร.ศุภกิจ แย้มประชา. (2565). การทำความเข้าใจวัฒนธรรมการกำหนดโทษอาญาของผู้พิพากษาไทย. นิตยสารบทบัณฑิตย์, 78(4). https://so04.tci-thaijo.org/index.php/botbundit/article/view/262002
47 พชร คำชำนาญ. (7 ธันวาคม 2562). เหยื่อ ‘ทวงคืนผืนป่า’ สะท้อนชีวิต รัฐใช้ กม. 2 มาตรฐาน นักวิชาการแนะตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อ. ประชาไท. https://prachatai.com/journal/2019/12/85459
48 “8 ปี ทวงคืนผืนป่า กว่า 46,000 คดีชาวบ้านในเขตป่า” ภาคี #saveบางกลอยเผย. (14 มิถุนายน 2565). กรีนนิวส์. https://greennews.agency/?p=29161
49 เปิดกฎหมายอุทยานและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ภาคต่อนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ของคสช. (9 สิงหาคม 2564). โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw). https://ilaw.or.th/node/5937
50 ธันยพร บัวทอง. (21 กรกฎาคม 2562). ทวงคืนผืนป่า: เสียงจากชาวบ้านซับหวาย น้ำตาคนจนหลังถูกทวงคืนผืนป่า. บีบีซีไทย.  https://www.bbc.com/thai/thailand-49027185
51 จำเลยตกค้างคดีบุกรุกป่าสงวนฯ บ้านจัดระเบียบ สกลนคร ยืนยันสู้คดีหลังศาลแนะให้รับสารภาพ. (27 พฤษภาคม 2559). ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. https://tlhr2014.com/archives/2078
52 มีการกดดันอย่างหนักให้กองทุนยุติธรรมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือประชาชนในคดีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายทวงคืนผืนป่า และประสบความสำเร็จบ้างบางส่วนเท่านั้น ดูเพิ่มที่ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น. (17 กันยายน 2563). คดีทวงคืนผืนป่า ‘แสงเดือน’ จากชั้นต้นยกฟ้อง สู่อุทธรณ์ลงโทษ กับคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม. https://prachatai.com/journal/2020/09/89547
53 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. (2558). รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557 กระบวนการยุติธรรมลายพราง ภายใต้ คสช.. https://tlhr2014.com/download/%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A3%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%259C%25E0%25B8%25A2%25E0%25B9%2581%25E0%25B8%259E%25E0%25B8%25A3%25E0%25B9%2588/20150604_TH_TLHR-Report-Human-Rights-One-Year-After-the-2014-Coup.pdf
54 อ่านเพิ่มเติมเรื่องจารีตรัฐเป็นใหญ่ ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์. (27 กันยายน 2566). โทษอาญาเฟ้อ: ภาพสะท้อนจารีตปกครองแบบไทยๆ. ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank). https://www.the101.world/thai-norm-overcriminalization/
55 เปิดกฎหมายอุทยานและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ภาคต่อนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ของคสช. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw).
56 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจ้างที่ปรึกษาดำเนินงานและพัฒนางานกองทุนยุติธรรม.
57 ดร.ศุภกิจ แย้มประชา. (2565). การทำความเข้าใจวัฒนธรรมการกำหนดโทษอาญาของผู้พิพากษาไทย.

อินโฟกราฟฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

โทษอาญาเฟ้อ: ภาพสะท้อนจารีตปกครองแบบไทยๆ

101 PUB ขอชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจสภาพปัญหาของโทษอาญาเฟ้อและค้นหาสาเหตุว่าทำไมการปฏิรูปที่ผ่านถึงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

‘คนล้นคุก’: การจองจำในจารีตยุติธรรมแบบไทยๆ

101 PUB ชวนผู้อ่านร่วมสำรวจปัญหาคนล้นคุกและการใช้โทษจำคุกมากเกินความจำเป็น พร้อมวิเคราะห์ว่าทำไมการปฏิรูปที่ผ่านถึงไม่ประสบผลสำเร็จ

ไปให้ไกลกว่า ‘นิรโทษกรรม’ พาสังคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม

แค่ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ หรือ ‘นิรโทษกรรม’ ยังไม่พอ 101 PUB ชวนทำความเข้าใจ ‘ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน’ พร้อมข้อเสนอสู่ทางออกจากวงจรความรุนแรงในการเมืองไทยที่ไม่เพิกเฉยต่อความยุติธรรม

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2025 101pub.org | All rights reserved.