ประเด็นสำคัญ
- ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ก.พ. 2565 สูงถึง 5.3% บอกเราว่า เงินเฟ้อนั้นมาแน่ แต่เศรษฐกิจของไทยก็ยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้เสียที จนเกิดเป็นภาวะที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า stagflation หรือ ‘เศรษฐกิจชะงักงัน’ ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้กระทบทุกคนเท่ากัน เพราะ คนในภูมิภาค คนชนบท และกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกำลังเจ็บหนักกว่า
- เงินเฟ้อกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่า 5.1% น้อยกว่าค่าเฉลี่ยประเทศและการจ้างงานสามารถเติบโตได้แข็งแกร่งที่สุด ภาคกลาง+ตะวันออกต้องเผชิญเงินเฟ้อ 5.9% หนักที่สุดในประเทศแต่เศรษฐกิจยังพอฟื้นตัวได้บ้าง แต่ภาคอื่นที่เหลือนั้นต้องเผชิญเงินเฟ้อที่สูงไปพร้อมกับการจ้างงานที่ยังคงหดตัว โดยเฉพาะภาคเหนือและใต้
- ปัญหาเงินเฟ้อยังมีความรุนแรงในพื้นที่ชนบท เมื่อเทียบกับค่าเงินเฟ้อในภูมิภาคของตนเอง โดยมีค่าสูงกว่าราว 0.3% เช่นเดียวกับปัญหาเงินเฟ้อสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับภูมิภาคของตนเองราว 0.1-0.3% (ยกเว้นกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งกลายเป็นผู้เผชิญเงินเฟ้อน้อยที่สุด)
- สาเหตุที่เงินเฟ้อไปตกกับกลุ่มชนบทและผู้มีรายได้น้อย เป็นเพราะพวกเขาจ่ายเงินค่าอาหารและพลังงานเชื้อเพลิงเป็นสัดส่วนสูงต่อค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคทั้งหมด จนทำให้การเพิ่มขึ้นของราคาส่งผลต่อกำลังซื้ออย่างรุนแรง
- ช่วงที่ผ่านมาสินค้าเหล่านี้แพงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับปีก่อน เช่น
- ราคาอาหารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย +4.5% โดยมาจากเนื้อสัตว์ +17.1% ไข่ +8.5% ผักสด +6.9% ตลอดจนเครื่องปรุง +8.4%
- ไฟฟ้า +39.9% จากที่ปีก่อนเคยมีมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า และปีนี้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าประมาณ 5% ตามต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น (และกำลังพิจารณาว่าจะเพิ่มขึ้นอีก)
- น้ำมันเชื้อเพลิง +26.9% จากวิกฤตพลังงานขาดแคลนและภาวะสงครามซึ่งมีแนวโน้มยืดเยื้อและทำให้ราคาอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
ปีนี้ประเทศไทยจะต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งสินค้าราคาแพง และเศรษฐกิจที่ยังเซื่องซึมไม่ฟื้นตัวเต็มที่ นักเศรษฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า stagflation ในภาษาไทยคือ ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน
ตัวเลขเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ออกมาสูงถึง 5.3% ซึ่งเป็นการเร่งตัวของราคาที่เร็วที่สุดในรอบ 13 ปีของไทย และสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปที่ 1-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทยหลังจากที่เคยต่ำกว่าเป้ามาติดต่อกันหลายปี
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสถานการณ์สงครามที่อาจยืดเยื้อจะทำให้ราคาน้ำมันตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ทั้งแร่โลหะ ปุ๋ยเคมี น้ำมันพืช ข้าวสาลี ในตลาดโลกจะมีราคาสูงต่อเนื่อง และด้วยความไม่แน่นอนก็ยังกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ซึ่งจะเป็นอีกตัวเร่งของเงินเฟ้อที่ ‘นำเข้า’ มาจากต่างประเทศ
ในขณะเดียวกัน ราคาอาหารสดในประเทศ แม้จะเริ่มปรับตัวลดลงมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก ราคาเนื้อสัตว์ในเดือนกุมภาพันธ์ยังสูงกว่าปีก่อนหน้า +17.1%, ไข่ +8.5%, ผักสด +6.9%, เครื่องปรุง +8.4% เป็นต้น ซึ่งทำให้ต้นทุนด้านอาหารแพงขึ้นไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ปรุงเองหรือซื้อแบบสำเร็จรูป
ในปี 2565 นี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังอนุมัติให้ขึ้นค่าไฟฟ้าตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้นราว 5% ต่อจากที่มาตรการพยุงค่าไฟฟ้าได้หมดลงจากปีก่อนหน้า และยังมีแนวโน้มว่าจะต้องเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้เมื่อราคาพลังงานได้เพิ่มสูงเกินกว่าการคาดการณ์เดิมไปมาก[1]https://www.bangkokbiznews.com/business/992257
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังเมาหมัด ไม่สามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ เพราะแม้ในปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตมาได้ +1.6% แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับที่หดตัวไป -6.1% ในปี 2563 และแม้ว่าปีนี้ เดิมจะมีการคาดการณ์กันไว้ว่าจะฟื้นตัวได้อีกราว 3-4% (ซึ่งมีแนวโน้มถูกปรับลดลง) ก็ยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยกลับไปมีขนาดเท่ากับก่อนโควิดได้ ตัวชี้วัดหนึ่งคือการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ซึ่งปี 2564 ยังหดตัว -0.6% เมื่อเทียบกับปี 2563 ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจหลักยังไม่กลับมาและผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจต่อภาพอนาคตมากนัก
รูปที่ 1 สรุปภาพรวมความเหลื่อมล้ำของปัญหา stagflation
ปัญหาเศรษฐกิจชะงักงันรอบนี้ มีคนพูดกันมากแล้วและได้พยายามคาดการณ์ไปถึงฉากทัศน์ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกมิติหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ คือผลกระทบของปัญหาต่อคนไทยที่ไม่เท่ากัน ซึ่งมีลักษณะ ยิ่งจนยิ่งเจ็บ โดยมีความเหลื่อมล้ำของผลกระทบในหลายมิติ
ความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาค
ผู้อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครเจอเงินเฟ้อ +5.1% ซึ่งน้อยกว่าระดับประเทศ เช่นเดียวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เพิ่มขึ้นราว +4.6% ในขณะที่ภาคอื่นๆ ต้องเผชิญเงินเฟ้อที่สูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ +5.3% ภาคใต้ +5.4% ตลอดจนภาคกลางและภาคตะวันออกที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง +5.9%
ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของตลาดแรงงานก็ยังคงกระจุกตัวในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นหลัก มีการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น +1.3% และพื้นที่ภาคกลางและตะวันออกเพิ่มขึ้น +0.3% แต่ภาคอื่นๆ ที่เหลือของไทยกลับมีการจ้างงานลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือและใต้ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก จึงได้รับผลกระทบจากโควิดรุนแรง ทำให้การจ้างงานนอกภาคการเกษตรหดตัว -4.1% และ -3.1% ตามลำดับ
แน่นอนว่าการจ้างงานที่หายไปนี้ส่วนใหญ่จะกลับไปอยู่ในภาคการเกษตร แต่ผลิตผลและรายได้ในภาคการเกษตรมักจะเพิ่มขึ้นน้อยมากเมื่อมีแรงงานคืนถิ่นเช่นนี้ จึงมักจะมีรายได้เฉลี่ยลดลง
ด้วยเหตุนี้ทำให้ภาคใต้และภาคเหนือกลายเป็นผู้แพ้ที่เจ็บหนักที่สุดจากปัญหาเศรษฐกิจชะงักงัน ณ เวลานี้ เพราะเผชิญเงินเฟ้อสูงกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่เศรษฐกิจก็ยังหดตัวรุนแรงอย่างมาก
ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่เมืองและชนบท
เงินเฟ้อระลอกนี้ยังมีความรุนแรงกับผู้อยู่อาศัยในชนบทมากกว่าในเมือง โดยค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ของพื้นที่ชนบท อยู่ที่ +5.6% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศค่อนข้างมาก ตัวเลขเงินเฟ้อของพื้นที่ชนบทในภาคเหนือ อีสาน และใต้ยังสูงกว่าเงินเฟ้อทั่วไปในภูมิภาคตนเอง มีเพียงภาคกลางและตะวันออกที่มีค่าเท่าๆ กัน
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ คือผู้อยู่อาศัยในชนบทมีค่าใช้จ่ายกับหมวดอาหารและพลังงานคิดเป็นสัดส่วนต่อการใช้จ่ายทั้งหมดสูงกว่าผู้ที่อยู่ในเมือง ข้อมูลตะกร้าการบริโภคของกระทรวงพาณิชย์ชี้ว่า คนไทยโดยเฉลี่ยใช้เงินราว 40.4% สำหรับค่าใช้จ่ายด้านอาหารสด และใช้เงิน 12.4% สำหรับพลังงาน แต่คนที่อาศัยอยู่ในชนบทมีค่าใช้จ่าย 43.1% และ 12.9% ตามลำดับ ซึ่งแม้ว่าราคาจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศแต่ก็ยังส่งผลกระทบหนักกว่าในที่สุด
ความเหลื่อมล้ำระหว่างฐานะเศรษฐกิจ
ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือเงินเฟ้อในผู้มีรายได้น้อยมีค่าสูงกว่าเงินเฟ้อทั่วไประดับประเทศเล็กน้อย ประมาณ 0.04% แต่เมื่อเทียบกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปในพื้นที่ตนเอง จะพบว่าผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ เผชิญเงินเฟ้อที่น้อยที่สุด (และน้อยกว่าคนทั่วไป) ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยในภูมิภาคต่างๆ ล้วนเจอปัญหาที่หนักกว่าผู้บริโภคทั่วไปในภูมิภาคของตนเองราว 0.1-0.3% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่มีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านอาหารที่สูงถึง 45.5% ของการใช้จ่ายทั้งหมด
รูปที่ 2 สัดส่วนการใช้จ่ายและอัตราการเติบโตของราคาอาหารและพลังงาน
นอกจากนี้ ผู้มีรายได้น้อยต้องเผชิญปัญหาในด้านการทำงานและการหารายได้มากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้สูงอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะจากมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งงานของผู้มีรายได้น้อยนั้นมักจะไม่สามารถนำกลับไปทำที่บ้านได้ หรือเป็นงานรับค่าจ้างรายวัน ทำให้พวกเขาขาดรายได้ในวันที่ไม่ได้ทำงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ รายงาน Thailand Economic Monitor ของธนาคารโลก ได้รายงานว่ามาตรการล็อกดาวน์ของไทยในปี 2563 กระทบกับกลุ่มแรงงานรายได้น้อยรุนแรงกว่ากลุ่มแรงงานรายได้สูงอย่างมาก แม้จะรวมเงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐแล้วก็ตาม
รูปที่ 3 ผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการรัฐต่อแรงงานแต่ละระดับค่าจ้าง
การแก้ปัญหาสินค้าแพง
การขึ้นราคาสินค้าในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากันมีหลายสาเหตุประกอบกัน เช่น การแข่งขันของธุรกิจในแต่ละประเภทและในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน หากพื้นที่ใดมีการแข่งขันสูงก็จะทำให้เกิดการขึ้นราคากับผู้บริโภคได้ยากขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซานี้ กำลังซื้อของผู้บริโภคในหลายพื้นที่ก็ยังอาจไม่สูงมาก ก็เป็นอีกสาเหตุให้ผู้ผลิตส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้ซื้อสินค้าได้ยากด้วย นอกจากนี้ ในด้านอาหาร การผลิตของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน หากพื้นที่ใดมีการผลิตสินค้าที่มีความหลากหลาย และ/หรือสามารถปรับตัวเพิ่มการผลิตสินค้าที่มีความต้องการสูงได้เร็ว ก็จะเป็นกลไกที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาไว้ได้เช่นกัน
รูปที่ 4 การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ
ดังนั้น แม้ว่าภาครัฐจะสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในบางรายการได้ ด้วยมาตรการควบคุมราคา หรือการเข้าไปตรวจสอบสต็อกสินค้า แต่หากต้องการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ ภาครัฐควรจะมีมาตรการมุ่งหน้าสู่การแข่งขันที่เสรี เป็นธรรม และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะเศรษฐกิจระดับท้องที่ ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยง เพิ่มความหลากหลายของสินค้า เพื่อเพิ่มทางเลือกและความยืดหยุ่น และช่วยให้ผู้ผลิตไม่สามารถเอาเปรียบหรือโก่งราคากับผู้บริโภคได้
↑1 | https://www.bangkokbiznews.com/business/992257 |
---|