นโยบายเด็กและครอบครัว: ทีเด็ดที่จะทำให้สังคมไทย ‘ชนะ’ ได้ในโลกอนาคต

101 PUB

24 October 2022

ในโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวนและความท้าทาย นโยบายเด็กและครอบครัวเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์อนาคตมากที่สุด เพราะนโยบายเด็กและครอบครัวที่ ‘ใช่’ คือนโยบายที่ตั้งคำถามถูกเรื่อง ดำเนินนโยบายถูกทาง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเด็กและครอบครัวไทยในวันนี้เท่านั้น หากแต่ยังเป็นฐานสำคัญในการสร้างอนาคตของประเทศด้วย

พูดแบบง่ายคือ รัฐไทยควรต้องหันมาลงทุนด้านนโยบายเด็กและครอบครัวมากขึ้น – ใช่! นี่เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นลำดับแรก

กระนั้น การทำนโยบายเด็กและครอบครัวก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่สามารถใช้ ‘ความตั้งใจดี’ อย่างเดียวได้ หากแต่จะต้องเข้าใจกระแสการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหญ่ที่ส่งผลต่อการพัฒนาเด็ก รวมถึงทิศทางของนโยบายเด็กและครอบครัวแห่งอนาคตในโลกยุคใหม่ เพื่อที่จะประเมินช่องว่างทางนโยบายเด็กและครอบครัวของไทยกับเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ย้ำเตือนว่า ทำไมการคิดใหม่-ทำใหม่ เพื่อขยายพื้นที่ปฏิรูปนโยบายเด็กและครอบครัวจึงสำคัญและจำเป็น

เดชรัต สุขกำเนิด

“การลงทุนที่คุ้มค่าคือการลงทุนในทุนมนุษย์” – เดชรัต สุขกำเนิด 

เมื่อพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Centre) ชี้ว่า มีอยู่สามประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ

ประเด็นแรก คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำ กล่าวคือพ่อแม่ในครัวเรือนยากจนมีโอกาสดูแลลูกน้อยกว่า รวมถึงไปเด็กในครัวเรือนยากจนมีโอกาสสำเร็จการศึกษาน้อยกว่า ทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์ที่เดชรัตมองว่า เป็นการ ‘ส่งผ่าน’ ความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่น

ประเด็นที่สอง คือเรื่องการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการที่ส่วนกลางตัดสินใจแทนท้องถิ่น หรือคนรุ่นหนึ่งตัดสินใจแทนคนอีกรุ่นหนึ่ง ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ในภาษาวิชาการเรียกว่า การ ‘ไม่สามารถย้อนกลับได้’ (irreversible) 

ประเด็นที่สาม คือการไม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงหรือมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้กำหนดนโยบาย จนกระทั่งนำไปสู่ความรู้สึกเครียดหรือสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อสังคมไทยในปัจจุบัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เดชรัตมองว่าเราควรหาทางแก้ในแต่ละประเด็นไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนและหาทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายหรือมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น

เมื่อขยับไปมองภาพที่ใหญ่กว่านั้น เดชรัตกล่าวถึงการมีตาข่ายคุ้มครองทางสังคม (safety net) หรือการสนับสนุนทางสังคม (social support) โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ สังคมยังควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงศักยภาพของตนเองด้วย

“จากการคำนวณพบว่า งบประมาณที่เราใช้เพื่อดูแลเด็กและเยาวชนคิดเป็นจำนวนเงินน้อยกว่างบประมาณที่เราจะใช้ดูแลผู้สูงอายุเสียอีก อีกทั้งจำนวนเด็กในแต่ละปียังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น สำหรับผมแล้ว การสร้างตาข่ายคุ้มครองทางสังคมสำหรับเด็กและเยาวชนไม่ได้มากอะไรเลยในแง่งบประมาณ”

“ตรงกันข้าม ผมต้องถามผู้กำหนดนโยบายกลับว่า คุณเคยมองถึงฉากทัศน์ (scenario) ของการไม่ลงทุนในเด็กและเยาวชนบ้างไหม เพราะการลงทุนในทุนมนุษย์ (human capital) เป็นเรื่องสำคัญมากๆ”

ในตอนท้าย เดชรัตสรุปถึงสามประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงเมื่อพูดถึงเด็กและเยาวชน โดย ข้อแรก เดชรัตเสนอแนวคิดการคุ้มครองเด็กอย่างถ้วนหน้า (universal child protection) รวมถึงโอกาสที่เด็กควรได้รับ ข้อที่สอง การมองว่าการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า (better outcome) เช่น การมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ และ ข้อสุดท้าย ซึ่งเป็นอะไรที่ยังไม่ได้รับการพูดถึงกันมากนักคือ การจัดการกับผลกระทบที่ไม่อาจย้อนกลับได้ในอนาคต (irreversible future impact) รวมถึงรับฟังเสียงสะท้อนของเยาวชนที่จะเป็นคนรับผลกระทบหลายๆ อย่าง เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อาจทำให้การเลือกลงทุนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ณัฐยา บุญภักดี 

‘บ้าน-ชุมชน-สถานศึกษา’ สร้างนิเวศการเติบโตเพื่อเด็กและเยาวชนไทย – ณัฐยา บุญภักดี 

“ปัญหาใหญ่ของการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเด็กในตอนนี้คือ เราไม่ได้มีการออกแบบนโยบายที่มองว่า การที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตได้ เราจะต้องเกื้อกูลเด็กคนนั้นจากมิติใดบ้าง หรือที่เราอาจใช้คำว่า นิเวศการเติบโตของเด็ก”

ข้างต้นคือการสรุปจาก ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

ทั้งนี้ ณัฐยาเริ่มจากการฉายภาพพื้นที่นิเวศการเติบโตของเด็กให้เห็น โดยพื้นที่แรกคือ พื้นที่ของบ้านและครอบครัว ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการออกนโยบายเพื่อสนับสนุนการเกิด การเจริญเติบโต และพัฒนาการต่างๆ 

พื้นที่ที่สองคือชุมชน ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านและครอบครัว โดยหากชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นมิตรและเกื้อกูลกัน ย่อมสามารถช่วยโอบอุ้มครอบครัวที่อยู่ในสภาวะเปราะบาง และช่วยเกื้อกูลเด็กไม่ให้ร่วงหล่นจากตาข่ายการคุ้มครองได้ ทั้งนี้ ชุมชนในความหมายของณัฐยาหมายถึงทั้งชุมชนทางกายภาพและชุมชนออนไลน์ด้วยเช่นกัน

และพื้นที่สุดท้ายคือ สถานศึกษา สถานเลี้ยงดูเด็กเล็กและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมถึงพื้นที่แหล่งเรียนรู้ที่ไม่ได้ให้แค่การศึกษา (education) แต่ให้การเรียนรู้ (learning) ด้วย 

“สามพื้นที่ที่ว่ามานี้ควรถูกนำมาจัดวางบนกระดานการออกแบบนโยบายที่สอดคล้องไปด้วยกัน มุ่งเป้าให้เด็กคนหนึ่งได้รับการดูแลที่ดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาไปจนถึงการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพในแต่ละช่วงวัย เพราะฉะนั้น นโยบายตรงนี้จะมีความละเอียดอ่อนสูงมาก เพราะต้องครอบคลุมทั้งสามพื้นที่และครอบคลุมพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย”

ณัฐยาย้ำว่า จากทั้งหมดที่ว่ามานี้ สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุดคือ ‘การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย’ ซึ่งจะเป็นกระบวนการเชิงคุณภาพที่จะการันตีว่าทุกปัญหา ทุกความต้องการ หรือแม้กระทั่งทุกความหวั่นวิตกของคนรุ่นใหม่ จะถูกหยิบยกมาทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศผ่านกลไกที่มีอยู่

อย่างไรก็ดี ณัฐยาชี้ว่า เมื่อพูดถึงการพัฒนาหรือการปฏิรูปนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เราจะเห็นหน่วยงานที่มีอำนาจ (authority) ในเรื่องนี้หลากหลายมาก ทว่านี่ก็เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่ง เพราะงานที่มีเจ้าภาพเยอะอาจหมายถึงงานที่ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพอย่างแท้จริง

“เราต้องดูว่า นโยบายต่างๆ ที่จะออกมาจากหน่วยงานที่มีอำนาจเหล่านี้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของเด็กและเยาวชนไหม” ณัฐยายังเสริมถึงประเด็นสำคัญอย่างเรื่องงบประมาณที่ควรถูกจัดสรรใหม่ เช่น งบการศึกษาปฐมวัยที่มีไม่ถึง 10% ของงบการศึกษาในภาพรวม ทั้งที่การศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่สำคัญและคุ้มค่าสูงมาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ณัฐยาจึงเสนอถึงการจัดสรรงบประมาณแบบ block grant ที่ไม่ได้มาพร้อมกับการกำหนดกิจกรรมหรือมองว่าต้องตอบโจทย์ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เป็นการที่ชุมชนสามารถสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่ของตนเอง จากนั้นจึงมีการออกแบบหรือมีกระบวนการประชาคมที่ช่วยกันออกแบบว่า จะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาและนำงบประมาณตรงนี้ไปตอบโจทย์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง

อีกหนึ่งพื้นที่ปฏิรูปนโยบายที่สำคัญคือ บริการแบบไร้รอยต่อ (seamless service) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการให้เด็กคนหนึ่งตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งเติบโตเป็นเยาวชนควรทำงานอย่างสอดประสานกัน เพื่อจัดบริการให้ครบทุกมิติแบบไร้รอยต่อ

ในตอนท้าย ณัฐยาพาเรากลับไปที่รากฐานสำคัญที่สุดคือ ‘บ้าน’ ซึ่งสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการนโยบายจากการที่เด็กคนหนึ่งมีสิทธิตัดสินใจในฐานะสมาชิกของบ้าน และสามารถมีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ได้ ควบคู่ไปกับสิ่งสำคัญคือ การเปลี่ยนมายเซ็ตและวิธีทำ (how to) ให้กลไกที่มีอยู่สามารถสะท้อนเสียงของเด็กและเยาวชนได้อย่างแท้จริง

“เราควรต้องสร้างกระบวนการทางนโยบายที่เชื่อมโยงเด็กจากสภานักเรียนไปสู่การตัดสินใจในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงหารูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับยุคสมัยหรือไลฟ์สไตล์ของเด็ก เช่น แพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้เข้าถึงเด็กให้มากที่สุด และทำควบคู่ไปในกระบวนการนโยบายแบบใหม่นี้” ณัฐยาทิ้งท้าย

ฉัตร คำแสง

ออกแบบนโยบายสาธารณะสู่เส้นทางใหม่ที่ดีขึ้น – ฉัตร คำแสง 

“ปัญหาทุกวันนี้คือเรามองว่าเด็กคือเด็ก แต่ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนมายเซ็ตไปสู่การมองว่าเด็กและเยาวชนเป็นบุคคลหนึ่งที่มีพลังและมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องกลับมาตอบโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้เด็กคนหนึ่งได้รับการพัฒนาในเส้นทางที่เขาเลือกเองและดีที่สุดสำหรับตัวเขา”

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) กล่าว พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทรัพยากร หรือการขาดโอกาสในการตัดสินใจ

“สำหรับผม เราต้องมองเด็กเป็นพลเมืองคนหนึ่ง คือเขาเป็นผู้ใหญ่ที่ in the making ถ้าเราบอกว่าเด็กยังตัดสินใจเองไม่ได้เพราะยังไม่รู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ วิธีแก้คือเพิ่มความรู้ ไม่ใช่บอกว่าเขาไม่มีสิทธิอะไร หรืออย่างเรื่องเลือกตั้ง ถ้าเรามองว่าเด็กยังไม่สามารถเลือกตั้งได้ เพราะพวกเขาอาจไม่ได้เลือกจากฐานความรู้ ถามว่าจะไม่มีผู้ใหญ่คนไหนเลือกแบบนั้นเลยหรือ แล้วเราต้องไปจำกัดสิทธิผู้ใหญ่ด้วยไหม ก็ไม่ใช่อยู่ดี”

เมื่อถามถึงภาพใหญ่อย่างการออกแบบนโยบายสำหรับเด็กและครอบครัว ฉัตรมองว่า การจะออกแบบนโยบายที่เอื้อให้คนๆ หนึ่งเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพต้องมี 3 ขั้น ขั้นแรกคือเรื่องพื้นฐาน มีพื้นที่ปลอดภัยหรือตาข่ายคุ้มครองทางสังคม ตั้งแต่การลงทุนในเด็กเล็ก ครอบครัวที่พร้อมจะดูแล ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องกฎหมายแรงงานด้วย รวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบๆ บ้านและเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการที่เหมาะที่ควร เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงแหล่งเรียนรู้ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างแท้จริง

“ถ้าถามว่าปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ การขาดเสรีภาพในการเข้าสู่โอกาสต่างๆ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราอาจต้องย้อนกลับไปที่อำนาจ (authority) เพราะที่ผ่านมานโยบายของเราถูกกำหนดด้วยความถูกใจ ไม่ใช่ถูกต้อง เรามองว่าเด็กเรียนไปจบแล้วก็ทำงาน อย่าคิดอะไรมาก”

“แต่เด็กทุกวันนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เขาอยู่ในโลกที่เปิดกว้างและมีอะไรให้ทดลองเต็มไปหมด ความถูกใจจึงกลายเป็นความไม่ถูกต้อง แต่คำถามคือ เราจะเปลี่ยนยังไงให้การออกแบบนโยบายนำข้อมูล ความรู้และความถูกต้อง เข้ามาประกอบด้วย”

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ การฟังเสียงของเยาวชนให้มากขึ้น ซึ่งฉัตรมองว่า ทุกวันนี้เด็กและเยาวชนส่งเสียงสะท้อนความต้องการของตนเองอยู่แล้ว แต่ผู้ใหญ่กลับเลือกที่จะปิดหูและไม่รับฟังเสียงเหล่านั้น ทางออกสำหรับเรื่องนี้ของฉัตรจึงเป็นการมีกลไกในการเจรจาต่อรอง ร่วมพูดคุยและสร้างบทสนทนาสาธารณะ (public dialogue) ระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น

“เราชอบพูดถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างวัย (generation gap) มองว่าอีกฝ่ายจะคิดต่างจากเรามาก แต่ถ้ามามองกันจริงๆ แล้ว เราอาจพบว่าเด็กและผู้ใหญ่ไม่ได้คิดต่างกันขนาดนั้นเลย เด็กเองก็ต้องการสังคมที่เท่าเทียม ปราศจากการคอร์รัปชัน จินตนาการเหล่านี้คงไม่ต่างกับผู้ใหญ่ และผมคิดว่าเราสร้างกระบวนการตรงนี้ได้”

ฉัตรชี้ว่า ‘จินตนาการ’ เหล่านี้จะนำไปสู่การคืนอำนาจให้ท้องถิ่นเพื่อจะได้ตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของคนในพื้นที่ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณแบบ block grant ที่ให้คนในพื้นที่มีสิทธิตัดสินใจและเสนอความต้องการของตนเอง ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับที่ณัฐยาได้กล่าวไป

“แต่สิ่งสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นการรื้อวาทกรรมในสังคมที่มองว่า เด็กเป็นเด็ก คิดอะไรได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ เพราะถ้าเราเห็นภาพตรงกันแล้วว่า แม้เด็กอาจจะไม่ได้คิดอะไรออกมาดีที่สุด แต่พวกเขาควรต้องได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ”

“ในมุมมองกระบวนการนโยบายสาธารณะ ยิ่งเราบอกได้ชัดเจนว่าสิ่งที่ทำอยู่ในทุกวันนี้มีปัญหาตรงไหน อย่างไร และอะไรคือทางเลือกที่ดีกว่าและชัดเจนกว่า จะทำให้สังคมค่อยๆ เปลี่ยนจากเส้นทางที่เรากำลังก้าวเดินอยู่ไปสู่เส้นทางใหม่ได้ดียิ่งขึ้น” ฉัตรทิ้งท้าย

ไครียะห์ ระหมันยะ

“เด็กควรมีสิทธิในการออกแบบชะตากรรมตนเอง” – ฟังเสียงจาก ‘ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ ไครียะห์ ระหมันยะ

สำหรับ ไครียะห์ ระหมันยะ หรือที่หลายคนขนานนามให้เธอเป็น ‘ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตเกิดขึ้นจากการเข้ามาของนายทุนและนโยบายของภาครัฐ ที่ผลักดันให้เยาวชนคนหนึ่งเลือกที่จะออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับผู้ใหญ่

“เราเป็นลูกหลานชาวประมง บ้านติดริมชายฝั่งทะเล ใช้ชีวิตอยู่กับทะเลมาตลอด จนวันหนึ่งมีข่าวว่านายทุนจะเข้ามาและจะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่บ้าน” ไครียะห์เท้าความ “และด้วยความที่เรามีโอกาสไปดูนิคมอุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างเดียวกัน เช่น มาบตาพุด พอไปดูและมานั่งคิด เหมือนกับว่าการเข้ามาของนิคมอุตสาหกรรมอาจทำให้ภาพฝันที่เราวาดไว้ ทั้งการทำกิจกรรมภูมิปัญญาและการทำกิจกรรมที่หาด เลือนหายไป”

ไครียะห์อธิบายเพิ่มเติมว่า ตัวเธอเองได้เข้าสู่กระบวนการทำกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนกับคนที่บ้านมาตั้งแต่จำความได้ และกระบวนการดังกล่าวนี้เองทำให้ไครียะห์รู้ว่า บ้านของเธอไม่ใช่แค่ทำอาชีพประมง แต่เป็นเหมือนชีวิตของคนในชุมชน และที่มากไปกว่านั้นคือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร จากอาหารทะเลสะอาดที่บ้านของไครียะห์ส่งออก

“ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เราออกไปเคลื่อนไหว ไปนั่งรอคำตอบหน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ใครจะออกไป แต่เกิดจากการที่ได้เรียนรู้แล้วจึงรู้สึกรักตัวเอง รักชุมชน ทำไปโดยไม่ได้คิดถึงแต่ประโยชน์ของคนในชุมชน”

ในฐานะเยาวชนคนหนึ่ง ไครียะห์ส่งเสียงสะท้อนว่า เยาวชนควรได้มีพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่แต่ในระบอบการศึกษาของภาครัฐ ซึ่งเป็นระบอบที่ไม่ได้ตอบโจทย์หรือเอื้อให้เด็กได้แสดงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดอาจมาจากรากฐานสำคัญอย่าง ‘ครอบครัว’ ที่จะมอบความเข้าใจอันเป็นเสมือนบันไดก้าวแรกให้เด็กและเยาวชนได้มีแรงบันดาลใจ กล้าออกมาพูดและส่งเสียงสะท้อนความต้องการของตนเอง

เมื่อขยับไปถึงภาพใหญ่อย่างการกำหนดนโยบาย ไครียะห์เปรียบเปรยว่า การกำหนดนโยบายเหมือนกับการกำหนดชะตากรรมของประเทศร่วมกัน ในเมื่อเด็กและเยาวชนเป็นส่วนหนึ่งในประเทศ เด็กจึงควรมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของประเทศเช่นกัน

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด ไครียะห์มองว่า เด็กแต่ละคนควรได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่พวกเขาสามารถออกแบบและกำหนดชะตากรรมเองได้

“ถ้าเป็นเรา เราคงอยากอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศดี สิ่งแวดล้อมดี ไม่ทำลายวัฒนธรรมหรือประเพณีของท้องถิ่น เพราะแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยมีทั้งความหลากหลายและมีวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกัน เรามีจุดเด่นเยอะมาก แต่ไม่มีใครสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้ออกแบบตรงนี้”

“จุดเด่นในพื้นที่จะเป็นรากฐานสำคัญ เป็นการพัฒนาจากราก ต่อยอดไปจนแข็งแรง และค่อยๆ เติบโตไปถึงในระดับประเทศ และก้าวไปในระดับโลกได้ในที่สุด”


หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากงาน ‘Research Roundup 2022’ หัวข้อ “นโยบายเด็กและครอบครัวแห่งอนาคต: ขยายพื้นที่ปฏิรูปนโยบายสาธารณะเพื่ออนาคตของเด็กไทย” โดย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง the101.world และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

วิจัย/เขียน

101 PUB

สร้างสรรค์ภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล

บทความที่เกี่ยวข้อง

Research Roundup 2022 : “จินตนาการใหม่-แผลเป็น-เปราะบาง” : อนาคตนโยบายเด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต

พบกับการนำเสนองานวิจัยและวงสนทนาความรู้ 4 วงใน 4 หัวข้อแห่งยุคสมัยว่าด้วยนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้

25 September 2022
ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม

ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาการขาดช่องทางการมีส่วนร่วมอย่าง ‘มีความหมาย’ ของเยาวชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ และเสนอแนวทางขยายช่องทางดังกล่าว เพื่อให้นโยบายตอบสนองปัญหาและความต้องการของเยาวชนได้ดีขึ้น

คุมกัญชาเสรีอย่างไรให้ปลอดภัยกับเด็กและเยาวชนที่สุด

เมื่อการปลดล็อกกัญชาเสรีเป็นไปโดยขาดมาตรการกำกับที่รัดกุม เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบมากที่สุด คิด for คิดส์ ชวนสำรวจผลกระทบ ชี้ช่องโหว่ร่าง พ.ร.บ. กัญชาฯ และเสนอทางออกเชิงนโยบาย

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.