ลดค่าไฟ นโยบายช่วยคนรวย?

ประเด็นสำคัญ

  • ยิ่งครัวเรือนมีรายได้สูง ปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อเดือนยิ่งมาก ส่งผลให้ครัวเรือนรวยที่สุด 20% บนได้เงินอุดหนุนมากถึง 37.5% ตรงข้ามกับครัวเรือนจนที่สุด 20% ล่างที่ได้เงินอุดหนุนเพียง 7.8% เท่านั้น
  • กิจการขนาดเล็ก 93.9% เป็นกิจการขนาดเล็ก แต่ได้เงินอุดหนุนเพียง 16.1% ของเงินอุดหนุนแก่กิจการทั้งหมดเท่านั้น เนื่องจากมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อเดือนที่น้อยกว่ากิจการขนาดใหญ่อย่างมาก
  • 101 PUB เสนอให้เน้นลดค่าไฟฟ้า 150 หน่วยแรกให้มากกว่าหน่วยหลังแทน เพื่อให้เงินอุดหนุนถึงมือกลุ่มที่ลำบากมากขึ้น

หนึ่งในนโยบายที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เศรษฐา ทวีสิน ประกาศหารือกับการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกคือเรื่อง ‘ลดค่าน้ำมัน-ค่าไฟฟ้า’ โดยทางด้านค่าไฟนั้นจะมีการเจรจายืดเวลาการชำระหนี้กับการไฟฟ้าส่วนผลิต (กฟผ.) ออกไปจากเดิมที่ต้องชำระหนี้กับ กฟผ. หน่วยละ 35 สตางค์ ให้เหลือ 3 สตางค์ ทำให้ราคาค่าไฟที่ กฟผ. จะขายต่อหน่วยลดลงจาก 4.45 บาท/หน่วย เหลือ 4.10 บาท/หน่วย (ราคาต้นทุน 4.07 บาท/หน่วย) หากเจรจาไม่ได้ รัฐจะอุดหนุนค่าไฟอย่างน้อย 15,000 ล้านบาท เพื่อให้ค่าไฟลดลงเหลือ 4.20 บาท/หน่วย[1]“นโยบายลดค่าไฟ ครม.เศรษฐา 1 คาดใช้เงิน 1.5 หมื่นล.”, PostToday, กันยายน 6, 2023, https://www.posttoday.com/business/699162

101 PUB – Public Policy Think Tank ชวนประเมินแนวทางลดค่าไฟของรัฐบาลเศรษฐา ว่าหากสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ตามแนวนโยบายที่วางไว้ ครัวเรือนหรือกิจการกลุ่มใดจะได้ประโยชน์จากนโยบายสูงที่สุด และชวนคิดต่อว่ามีแนวแนวทางการปรับนโยบายลดค่าไฟอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ใครใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่บ้าง ?

ปัจจุบันผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการบริโภคไฟฟ้ามากที่สุด คิดเป็น 67.8% ของการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย รองลงมาคือผู้ใช้ประเภทครัวเรือนที่มีสัดส่วนของการใช้งาน 27.2% สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานยังจำแนกปริมาณการใช้ไฟฟ้าย่อยลงไป ทำให้เห็นว่านโยบายที่ให้ใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือนติดต่อกัน 3 เดือนมีสัดส่วนอีก 2.1% และในส่วนที่เหลือคือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าย่อยๆ ที่มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าลดหลั่นกันตามลำดับ กล่าวคือ ไฟฟ้าที่งดจ่ายได้ตามช่วงเวลา 0.94%, ผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว 0.66%, ลูกค้าตรง ลูกค้าโดยตรง 0.63%, ไฟฟ้าสำรองสำหรับผู้ที่สามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ 0.34%, สูบน้ำเพื่อการเกษตร 0.17%, และองค์กรไม่แสวงหากำไร 0.11% (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1: สัดส่วนปริมาณการใช้ไฟฟ้าปี 2022 แบ่งตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า
ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน คำนวณโดย 101 PUB
*หมายเหตุ 1: ครัวเรือนที่ใฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย 3 เดือนติดต่อกันจะได้รับการงดเว้นค่าไฟฟ้า
หมายเหตุ 2: เป็นปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่รวมทั้งลูกค้าตรงของการไฟฟ้าส่วนผลิต (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

ในส่วนถัดไป 101 PUB ทำการวิเคราะห์การกระจายผลประโยชน์ของนโยบายลดค่าไฟฟ้า เฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทภาคครัวเรือนและกิจการเท่านั้น เนื่องจากครอบคลุมการใช้ไฟฟ้ามากถึง 95.1% และข้อมูลเพียงพอที่จะวิเคราะห์การกระจายผลประโยชน์ของนโยบายตามกลุ่มย่อยของแต่ละประเภทได้

ครัวเรือนรวยใช้ไฟฟ้ามากที่สุด:
ครัวเรือน 20% บนได้เงินอุดหนุน 37.5%

หากรัฐลดราคาไฟฟ้าทุกหน่วยเท่ากันที่ 35 สตางค์ ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากจะได้ประโยชน์มากกว่าครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าน้อย และปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนยังสอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือนด้วย

101 PUB เปรียบเทียบปริมาณการใช้ไฟฟ้าแต่ละครัวเรือน[2]แบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนได้เก็บข้อมูลเป็น ‘ค่าไฟฟ้าที่จ่ายในเดือนที่เก็บข้อมูล’ ของแต่ละครัวเรือน … Continue reading โดยแบ่งครัวเรือนออกเป็น 5 กลุ่มเรียงลำดับจากจนที่สุด 20% หรือควินไทล์ 1 ไปรวยที่สุด 20% หรือควินไทล์ 5 ตามระดับรายได้ต่อหัวของสมาชิกครัวเรือน พบว่าครัวเรือนรวยที่สุด 20% มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อครัวเรือน 309.7 หน่วยซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มรายได้อื่นๆ คิดเป็นเกือบ 3 เท่าของปริมาณการใช้งานของครัวเรือนในกลุ่มควินไทล์ 1 (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2: ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยของครัวเรือนแบ่งตามระดับรายได้ (หน่วย/ครัวเรือน/เดือน) ปี 2021
ที่มา: แบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (2021), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คำนวณโดย 101 PUB

ดังนั้น หากลดค่าไฟฟ้าทุกหน่วยเท่ากันที่ 35 สตางค์ งบประมาณที่ใช้อุดหนุน 37.5% จะตกถึงมือกลุ่มครัวเรือนรวยที่สุด 20% ตรงข้ามกับกลุ่มครัวเรือนจนที่สุด 20% ที่เงินอุดหนุนจะตกถึงมือเพียง 7.8% เท่านั้น (ภาพที่ 3) สะท้อนว่านโยบายดังกล่าวมีลักษณะถดถอย (regressive)

ภาพที่ 3: สัดส่วนเงินอุดหนุนที่ครัวเรือนแต่ละกลุ่มได้รับจากนโยบายลดค่าไฟแบบเท่ากันทุกหน่วย
ที่มา: แบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (2021), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คำนวณโดย 101 PUB

กิจการ 93.9% เป็นกิจการขนาดเล็ก
แต่ได้เงินอุดหนุนเพียง 16.1% ของทั้งหมด

สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการ เมื่อพิจารณาสัดส่วนของกิจการแต่ละขนาดตามปริมาณการใช้ไฟฟ้า ดังที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานจำแนก จะพบว่า 93.9% เป็นกิจการขนาดเล็ก ขณะที่กิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และห้องพักอาศัย มีสัดส่วน 4.9%, 0.46%, และ 0.73% ตามลำดับ (ตารางที่ 1) อย่างไรก็ดี เมื่อคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้าแล้ว กิจการขนาดใหญ่ใช้ไฟฟ้ารายกิจการเฉลี่ยสูงกว่ากิจการอื่นๆ หลายเท่า[3]101 PUB นำปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งปี 2022 ของกิจการแต่ละประเภทมาหารกับจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภท (ภาพที่ 4)

ประเภทกิจการนิยามตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าสัดส่วนกิจการ
แต่ละประเภท
เล็กต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาที สูงสุดไม่เกิน 30 หน่วย93.9%
กลางต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาที สูงสุด 31 – 999 หน่วย4.9%
ใหญ่ต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาที สูงสุด 1,000 หน่วยขึ้นไป0.46%
ห้องพักอาศัยต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาที สูงสุดเกิน 30 หน่วย
และต่อเครื่องวัดไฟฟ้า 1 เครื่อง
0.73%
ตารางที่ 1: สัดส่วนกิจการแต่ละประเภท ปี 2022
ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน คำนวณโดย 101 PUB
ภาพที่ 4: ปริมาณการใช้ไฟฟ้ารายกิจการเฉลี่ย (หน่วย/ราย/เดือน) ปี 2022
ที่มา: การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ,สำนักงานสถิติแห่งชาติ
และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน คำนวณโดย 101 PUB

เช่นเดียวกับกรณีผู้ใช้ประเภทครัวเรือน เมื่อกิจการขนาดใหญ่มีปริมาณที่ใช้ไฟฟ้าสูงกว่ากลุ่มอื่น การลดค่าไฟฟ้าทุกหน่วยเท่ากันจะทำให้งบประมาณ 56.8% จะตกถึงมือผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ ขณะที่ตกถึงมือกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก 23.1% และ 16.1% ตามลำดับ นอกจากนี้ กิจการหอพักอาศัยก็ได้เงินอุดหนุนเพียง 4.0% ของเงินอุดหนุนทั้งหมดที่ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการเท่านั้น (ภาพที่ 5)

ภาพที่ 5: สัดส่วนเงินอุดหนุนที่กิจการแต่ละขนาดได้รับจากนโยบายลดค่าไฟแบบเท่ากันทุกหน่วย
ที่มา: การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน คำนวณโดย 101 PUB

ทั้งนี้ อาจมีผู้ให้เหตุผลว่าการอุดหนุนค่าไฟฟ้าให้กับกิจการ มีศักยภาพช่วยพยุงอัตราเงินเฟ้อของไทยไม่ให้สูงขึ้นได้ แม้รายใหญ่จะได้ประโยชน์มากกว่า เนื่องจากมีส่วนสำคัญต่อการผลิตสินค้าจำนวนมากของประเทศ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยใหม่พบว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาพลังงานแท้ที่จริงแล้วส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยและช้ามากในสหรัฐอเมริกา การหวังผลลดอัตราเงินเฟ้อทางอ้อมผ่านค่าไฟฟ้าจึงอาจได้ผลน้อยกว่าที่คาดได้[4]อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://cepr.org/voxeu/columns/inflationary-impact-energy-prices

เน้นลดค่าไฟฟ้า 150 หน่วยแรก
ให้เงินอุดหนุนถึงมือกลุ่มลำบากมากขึ้น

การลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าสามารถทำได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น ถ้าเงินช่วยเหลือตกถึงมือกลุ่มลำบากมากกว่ากลุ่มที่มีกำลังเพียงพอจะปรับตัวได้ ซึ่งรูปแบบการลดแบบหน้ากระดานตามที่รัฐบาลเสนอมีลักษณะถดถอย กล่าวคือกลุ่มครัวเรือนร่ำรายและกิจการขนาดใหญ่ได้ประโยชน์มากกว่า แต่หากต้องการให้นโยบายลดค่าไฟฟ้าเข้าถึงกลุ่มที่มีความลำบาก ภาครัฐต้องปรับเกณฑ์ลดราคาค่าไฟฟ้าโดยอาจกำหนดส่วนลดแบบอื่น เช่น การลดค่าไฟฟ้าในหน่วยต้นให้มากกว่าหน่วยท้าย ซึ่งทุกคนยังได้ประโยชน์ แต่จะได้ประโยชน์น้อยลงสำหรับกลุ่มที่มีการใช้งานมาก

ในปัจจุบัน กฟน. และ กฟภ. ได้มีการเก็บข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าในกลุ่มครัวเรือนผู้ที่ใช้ไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน และผู้ที่ใช้เกิน 150 หน่วย/เดือนอยู่แล้ว ซึ่ง 101 PUB นำข้อมูลดังกล่าวมาคำนวณดูว่าถ้าหากจะลดค่าไฟฟ้าโดยใช้งบประมาณใกล้เคียงกับที่เสนอ จะสามารถทำให้ได้ผลลัพธ์ของความช่วยเหลือที่ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นได้เพียงใด

รูปแบบลดราคาไฟฟ้า 150 หน่วยแรก
(บาท/หน่วย)
ลดราคาไฟฟ้าหน่วยที่ 151 ขึ้นไป (บาท/หน่วย)งบประมาณ
(ล้านบาท/เดือน)
สัดส่วนเงินอุดหนุนที่ลงสู่ครัวเรือนจนที่สุด 20% สัดส่วนเงินอุดหนุนที่ลงสู่ครัวเรือนรวยที่สุด 20%
เดิม0.350.35451.77.8%37.5%
1.0.950.25445.09.3%34.9%
2.1.600.15447.010.9%32.1%
3.2.550.00445.613.2%28.0%
ตารางที่ 2: เปรียบเทียบเงินอุดหนุนที่ครัวเรือนจนที่สุด 20% กับครัวเรือนรวยที่สุด 20%
ได้รับตามรูปแบบการลดค่าไฟฟ้าต่างๆ
หมายเหตุ: เป็นการคำนวณตามการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยยังไม่ได้คำนึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นภายหลังการลดราคา ซึ่งน่าจะทำให้มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากที่สุดในกรณีการลดแบบหน้ากระดาน
ที่มา: แบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (2021), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน คำนวณโดย 101 PUB

จากตารางที่ 2 สังเกตว่าหากรัฐเปลี่ยนวิธีลดค่าไฟฟ้าจากลดทุกหน่วยเท่ากันที่ 35 สตางค์ เป็นวิธีที่เน้นการลดค่าไฟฟ้า 150 หน่วยแรกจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่เท่าเทียมยิ่งขึ้น อาทิ รูปแบบที่ 1. ลดค่าไฟฟ้า 150 หน่วยแรก 95 สตางค์และลดค่าไฟฟ้าหน่วยที่ 151 ขึ้นไป 25 สตางค์ จะช่วยให้ครัวเรือนจนที่สุด 20% ได้ส่วนแบ่งของเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นจาก 7.8% เป็น 9.3% ขณะที่ครัวเรือนรวยที่สุด 20% ได้ลดลงจาก 37.5% เหลือ 34.9% นอกจากนั้นถ้ายิ่งลดราคาไฟฟ้า 150 หน่วยแรกมากเท่าไหร่ (และลดราคาไฟฟ้าหน่วยที่ 151 ขึ้นไปให้น้อยลง) จะยิ่งช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ถดถอยน้อย โดยเฉพาะการลดค่าใช้เฉพาะใน 150 หน่วยแรก ที่ได้ผลลัพธ์เกือบจะเท่าเทียมกัน และถ้าหากสามารถลดจุดตัดลงจาก 150 หน่วย/เดือน ให้เหลือน้อยลง จนเป็นค่าไฟฟ้าขั้นต่ำที่ทุกครัวเรือนใช้งานแล้ว ก็จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ทุกครัวเรือนได้ความช่วยเหลือเท่ากัน

ในลักษณะเดียวกัน การลดค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการต่างๆ ก็เผชิญกับปัญหาที่คล้ายกับกรณีครัวเรือนคือ กิจการขนาดใหญ่มักมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่ากิจการประเภทอื่น ส่งผลให้การกระจายเงินอุดหนุนระหว่างกิจการของนโยบายลดค่าไฟฟ้าแบบเท่ากันทุกหน่วย ตกถึงมือของกิจการขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับกิจการประเภทอื่นๆ แต่รัฐจะต้องคำนึงถึงอีกอย่างน้อย 2 ประเด็นคือ

  • งบประมาณที่ใช้เพื่อลดค่าไฟฟ้า: ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการ มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อรายสูงกว่าผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือนอย่างมาก ถ้ารัฐลดค่าไฟแบบเท่ากันทุกหน่วยจะส่งผลให้รัฐต้องใช้งบประมาณเดือนละ 3,902.7 ล้านบาท
  • โครงสร้างต้นทุนของแต่ละอุตสาหกรรม: แต่ละกิจการย่อมมีความแตกต่างกันในสินค้า/บริการที่ผลิต สัดส่วนต้นทุนไฟฟ้าของแต่ละอุตสาหกรรมจึงแตกต่างกันแม้จะจัดอยู่ในกิจการประเภทเดียวกันตามปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ก็ตาม ดังนั้นรัฐต้องคำนึงด้วยว่ามีกิจการในอุตสาหกรรมใดที่มีความจำเป็นต้องลดค่าไฟฟ้ามากกว่าอุตสาหกรรมอื่น

References
1 “นโยบายลดค่าไฟ ครม.เศรษฐา 1 คาดใช้เงิน 1.5 หมื่นล.”, PostToday, กันยายน 6, 2023, https://www.posttoday.com/business/699162
2 แบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนได้เก็บข้อมูลเป็น ‘ค่าไฟฟ้าที่จ่ายในเดือนที่เก็บข้อมูล’ ของแต่ละครัวเรือน เพื่อคำนวณปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ของแต่ละครัวเรือน 101 PUB ได้แปลงกลับเป็นปริมาณไฟฟ้าที่แต่ละครัวเรือนใช้ โดยคำนึงค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามหน่วยที่ใช้และค่าธรรมเนียมด้วย
3 101 PUB นำปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งปี 2022 ของกิจการแต่ละประเภทมาหารกับจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภท
4 อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://cepr.org/voxeu/columns/inflationary-impact-energy-prices

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

กษิดิ์เดช คำพุช

สร้างสรรค์วิดีโอ

สรัช สินธุประมา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ตรวจก่อนเข้าปาก ย้อนถึงแปลงปลูก: ยกระดับความปลอดภัยอาหารด้วยการตรวจสอบย้อนกลับ

ภายหลังจากที่ตรวจพบสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท คนไทยต่างกังวลต่อความปลอดภัยของอาหารที่บริโภคกันทุกวัน สิ่งนี้นำมาสู่คำถามว่าระบบการตรวจคุณภาพอาหารตามท้องตลาดของไทยมีข้อบกพร่องอย่างไร? และจะทำอย่างไรที่จะยกระดับอาหารในประเทศไทยให้ปลอดภัยขึ้น?

กยศ. จะถังแตกใน 3 เดือน!?: ปัญหาเงินสดหมดกองทุน และหนทางเอาตัวรอด

101 PUB ชวนสำรวจวิกฤตสภาพคล่องของ กยศ. ที่อาจถังแตกในเดือนธันวาคม 2024 นี้ พร้อมทั้งพิจารณาทางเลือกว่าจะช่วยให้ กยศ. พ้นจากวิกฤตได้อย่างไร

ดึงดูดแรงงานต่างชาติทักษะสูง: ทางรอดเศรษฐกิจไทยที่ยังเปี่ยมขวากหนาม

แรงงานทักษะสูงกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก แต่นโยบายดึงดูดแรงงานให้เข้ามาทำงานยังเป็นขวากหนามใหญ่ที่ยังแก้ไขได้ไม่รอบด้าน

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.