เยาวชนอยู่ตรงไหนในกระบวนการออกแบบนโยบายสาธารณะ
แม้นโยบายจำนวนมากจะถูกออกแบบเพื่ออนาคตของชาติ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเยาวชนซึ่งคือผู้มีชีวิตอยู่กับอนาคตนั้นถูกมองเห็น ได้ยิน และรับฟัง
ในวันที่สังคมยังมองเยาวชนเป็นเพียงไม้ประดับ การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Meaningful Participation) ก็ยากจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพราะเยาวชนไม่ควรถูกมองเป็นเพียงผู้รอวันเติบโต แต่ควรได้รับบทบาทในฐานะผู้ร่วมออกแบบปัจจุบันไปพร้อมกับทุกคน
คิด for คิดส์ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ชวนนักวิจัยเยาวชนสะท้อนข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อเข้าสู่กลไกดำเนินงานหรือกระบวนการพิจารณาในอนาคต เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2025 ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.
เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในฝันเยาวชน
ได้เรียนและทำงานตามสิ่งที่รัก
สังคมมีความเท่าเทียม เสมอภาค
“เสียง” ถูกรับฟังในชีวิตประจำวันและในระบบการเมือง
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งเรียบง่ายที่เยาวชนฝัน แต่ก็ยังไปไม่ถึงเสียที ณิชาภา หิมารัตน์, ปวีณา เจริญมาศ, พิชชานันท์ ศรีสวัสดิ์ และ อภิญญา บ่อวารี นักวิจัยเยาวชน ภายใต้โครงการ Kid for Kids’ Youth Policy Lab ให้เหตุผลถึงข้อจำกัดที่ทำให้เยาวชนไปไม่ถึงฝันคือ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ความยากจนข้ามรุ่น ระบบอำนาจนิยม และวงจรรัฐประหารที่ขัดขวางไม่ให้เยาวชนส่งพลังการขับเคลื่อนของตนไปสู่การพัฒนาประเทศ
ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยเยาวชนจึงเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสายตาและความหวังของคนรุ่นใหม่เพื่อให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตของตนเอง โดยเสนอหลักให้มีการสร้างรัฐสวัสดิการ เช่น การศึกษาฟรีถึงระดับอุดมศึกษา ศูนย์เลี้ยงเด็ก เพื่อช่วยลดภาระให้ครอบครัว รวมถึงบำนาญผู้สูงอายุถ้วนหน้า เพื่อให้เด็กๆ ได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มั่นคง ข้อเสนอเหล่านี้ตั้งอยู่บนหลักการการลงทุนด้านสังคม (Social Investment) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ การคุ้มครองทางสังคม และการสร้างความเท่าเทียม ไม่ใช่แค่การช่วยเหลือแบบสงเคราะห์เฉพาะในยามยากลำบากอย่างที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดไว้
นอกจากนี้ นักวิจัยเยาวชนยังพูดถึงเยาวชนพิการที่เผชิญกับอุปสรรคจำนวนมากในการเข้าถึงสิทธิที่ควรจะได้รับ เช่น การศึกษาที่เหมาะสม การบริการสุขภาพพื้นฐาน แม้จะมีการพูดถึงในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่มีการรับรองที่เป็นรูปธรรมหรือกลไกติดตามตรวจสอบอย่างจริงจัง ข้อเสนอของพวกเขาจึงรวมถึงการให้คนพิการมีตัวแทนในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ มีการจัดตั้งระบบการเรียนร่วมในชุมชนและโรงเรียน สนับสนุนบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่สะดวกและเท่าเทียม
นอกจากนี้ นักวิจัยเยาวชนยังสะท้อนถึงปัญหาการถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะด้วยข้อกำหนดอายุขั้นต่ำในการเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งที่สูงเกินไป หรือวัฒนธรรมที่ยึดติดกับวัยวุฒิ จึงเสนอให้มีการลดอายุการเลือกตั้งเหลือ 16 ปี และเปิดให้สมัครรับตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่อายุ 18 ปีเพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้ามามีบทบาทได้จริงและเสนอให้มีการจัดตั้ง Youth Wing ภายในพรรคการเมือง พร้อมแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเสนอ ร้องเรียน หรือติดตามนโยบายต่าง ๆ ได้ รวมถึงการส่งเสริมการศึกษาและเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียม เพื่อให้เยาวชนมีศักยภาพเทียบเท่าผู้ใหญ่ในการมีส่วนร่วม
อีกทั้ง ยังพูดถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยเสนอให้เปลี่ยนแนวคิดการกำกับดูแลจาก ‘สิ่งที่ทำได้’ เป็น ‘สิ่งที่ห้ามทำ/ เพื่อให้ท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้นในการจัดการตนเองและเสนอให้รัฐธรรมนูญกำหนดสิทธิของเยาวชนในระดับท้องถิ่นอย่างชัดเจน และยกระดับ ‘สภาเด็ก’ ให้เป็นกลไกตามกฎหมาย เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้แทนเยาวชนโดยตรง
“พวกเราทํางานกันบนฐานความคิดที่ว่า ในทุกๆ วินาทีที่รัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับ การแก้ไขมันคือค่าเสียโอกาสที่เด็กและเยาวชนยังไปไม่ถึงความฝัน” นักวิจัยเยาวชนทิ้งท้าย
เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วมของเยาวชน
ชานนท์ ตั้งเจริญดี, ดุษฎี ถิรธนกุล และ ธีรดณย์ ศักดิ์เพชร นักวิจัยเยาวชน ภายใต้โครงการ Kid for Kids’ Youth Policy Lab เสนอให้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของเยาวชนผ่านสามกลไก ได้แก่ สถานศึกษา แหล่งเงินทุน และพื้นที่สาธารณะ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนสามารถแสดงศักยภาพและเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง
ในด้านสถานศึกษา นักวิจัยเยาวชนเสนอให้ปรับปรุงกลไกภายในโรงเรียนให้เอื้อต่อการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น โดยระบุว่าแม้ในปัจจุบันโรงเรียนจะมีกลไกอย่างสภานักเรียนอยู่แล้ว แต่กลับยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนที่แท้จริงได้ จากผลสำรวจของ UNICEF ปี 2023 พบว่านักเรียน 72% ต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโรงเรียน แต่มีเพียง 18% ที่รู้สึกว่าตนเองได้รับการรับฟัง ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของ Thai PBS ยังชี้ว่า แม้นักเรียนบางส่วนพึงพอใจกับบทบาทของสภานักเรียน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในแง่โครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะการที่ผู้แทนนักเรียนไม่มีอำนาจตัดสินใจที่แท้จริง และบทบาทมักถูกจำกัดให้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บริหารและครู สิ่งนี้นำไปสู่การลดความเชื่อมั่นของนักเรียนต่อระบบที่มีอยู่
จากปัญหาดังกล่าว นักวิจัยเยาวชนเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วมในสถานศึกษา โดยจัดตั้งงบขนาดเล็กที่ให้นักเรียนสามารถเสนอแนวคิดหรือโครงการ จากนั้นให้ทุกคนในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกแนวคิดที่ชื่นชอบ และนำไปใช้จริงในโรงเรียน ข้อเสนอนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างวัฒนธรรมของการมีส่วนร่วมแบบทางตรง โดยไม่ต้องผ่านกรอบของผู้แทนตามระบบเดิม
ประการที่สองคือปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน นักวิจัยเยาวชนสะท้อนว่าการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมยังไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องแหล่งเงินทุน แม้ว่าแนวคิดของเยาวชนจำนวนมากจะมีศักยภาพ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ สถิติระบุว่าเยาวชนอายุ 16 ถึง 20 ปี เกือบ 60% อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคนต่อปี ปัญหาสำคัญที่ทำให้เยาวชนเข้าถึงทุนได้น้อย ได้แก่ การขาดช่องทางประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงได้ง่าย ข้อกำหนดด้านเวลาในการยื่นทุนที่ไม่สอดคล้องกับตารางชีวิตของนักเรียน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ทำให้เยาวชนจากครอบครัวยากจนไม่มีเวลาหรือทรัพยากรเพียงพอในการพัฒนาโครงการ และขาดทักษะในการบริหารจัดการ
ประการที่สามคือเรื่องพื้นที่ เยาวชนชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันยังมีข้อจำกัดจำนวนมากในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเพื่อใช้จัดกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านจำนวนสถานที่ ความปลอดภัย เวลาเปิดปิด การขออนุญาตที่ซับซ้อน หรือการขาดการสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ที่มีอยู่ส่วนใหญ่มักถูกใช้เฉพาะกิจกรรมเฉพาะทาง เช่น การกีฬา ขณะที่กิจกรรมด้านอื่น เช่น การชุมนุมสร้างสรรค์หรือดนตรี ยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ
เยาวชนจึงเสนอให้มีการเปิดพื้นที่ให้หลากหลายมากขึ้น รวมถึงปรับลดอุปสรรคในการเข้าใช้งาน เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้เยาวชนจองใช้พื้นที่ได้อย่างสะดวก และการออกแบบพื้นที่ให้เปิดบริการในช่วงเวลาที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม พร้อมทั้งเสนอให้มีการจับมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการสนับสนุนกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนสามารถใช้พื้นที่สาธารณะในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างแท้จริง
สร้างครูให้เสมือนนักจิตวิทยาในโรงเรียน
นักวิจัยเยาวชนทีม PsyJai เสนอว่าทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) คือสิ่งสำคัญในการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ประชาชนราว 15% มีภาวะเครียด 10% มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย และอีก 17% มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งแม้ตัวเลขจะไม่สูงมาก แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม
นักวิจัยเยาวชนระบุว่า ทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นควรถูกส่งเสริมในสถานศึกษา เพราะเชื่อว่าโรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการปลูกฝังทักษะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เยาวชนเองไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจในโรงเรียน จึงจำเป็นต้องผลักดันให้ผู้มีอำนาจในโรงเรียน เช่น ครูและผู้บริหาร เข้ามามีบทบาทในกระบวนการนี้ โดยเปรียบผู้มีบทบาทในโรงเรียนว่าเป็นนักพฤกษาในโรงเรียน ผู้ที่ควรมีความเข้าใจและความสามารถในการดูแลความงอกงามทางจิตใจของนักเรียน
นักวิจัยเยาวชนจัดทำนโยบายที่มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยเสนอให้คุรุสภาเป็นหน่วยงานหลักที่บรรจุสมรรถนะทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นในการประเมินและรับครูเข้าสู่ระบบการศึกษา อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการควรบังคับใช้นโยบายให้เป็นรูปธรรมและจัดสรรเวลาภายในหลักสูตร เพื่อเปิดโอกาสให้ครูสามารถสอนเรื่องทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้โดยตรง รวมถึงกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ควรปรับหลักสูตรของคณะศึกษาศาสตร์ให้มีการสอนทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นเชิงปฏิบัติในทุกชั้นปีเป็นวิชาบังคับ
นโยบายทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ครูเข้าใจชีวิตของตนเองอย่างลึกซึ้งและสามารถส่งต่อทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นต่อไปยังนักเรียนได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อเพิ่มภาระงานให้ครู แต่เพื่อสร้างสังคมที่มีทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นร่วมกัน นักวิจัยเยาวชนเน้นว่าแม้ทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นจะดูเป็นเรื่องง่าย แต่การปลูกฝังให้เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันนั้นเป็นสิ่งที่ยากและต้องอาศัยความร่วมมืออย่างต่อเนื่องจากทุกฝ่ายในระบบการศึกษา
AI Smart Primary Care
นพ. ปภพ ชัยวัฒโนดม และ ดร. ปพนวิช ชัยวัฒโนดม นักวิจัยจาก Agnos Health Tech Startup เล่าถึงประสบการณ์กว่าหกปีในการพัฒนาและผลักดันการใช้ AI เพื่อช่วยลดภาระในระบบสาธารณสุขของไทย โดยเฉพาะในด้านการคัดกรองอาการเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้เหมาะสมมากขึ้น โดยเล็งเห็นว่าระบบเดิมทำให้คนไข้จำนวนมากต้องไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ซึ่งนำไปสู่การเสียเวลา การสูญเสียรายได้ และภาระงานที่ล้นเกินของบุคลากรทางการแพทย์
เขายกตัวอย่างโครงการที่นำ AI มาใช้เพื่อประเมินอาการของคนไข้ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น LINE Official ของโรงพยาบาลในสังกัดกทม. โดยระบบจะแบ่งผู้ป่วยออกเป็นสี่กลุ่มตามระดับความเร่งด่วนของอาการ (เขียว เหลือง ส้ม แดง) ซึ่งช่วยชี้แนะได้ว่าใครควรรอ ใครควรไปร้านยา หรือใครควรรีบไปโรงพยาบาล ระบบนี้เริ่มทดลองใช้ในหลายโรงพยาบาลแล้ว และพบว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่กว่า 50% เป็นผู้ป่วยในกลุ่ม ‘สีเขียว’ ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลทันที ถือเป็นโอกาสที่สามารถลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ถึงครึ่งหนึ่ง
แม้จะเริ่มมีความคืบหน้า แต่การผลักดันยังประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งในเชิงนโยบาย การรับรู้ของผู้ปฏิบัติงานและข้อจำกัดของระบบเบิกจ่ายที่ยังบีบบังคับให้คนต้องไปโรงพยาบาลเพื่อรับสิทธิ์ ทั้งที่ควรสามารถกระจายบริการไปยังร้านยา อนามัย หรือหน่วยบริการในชุมชนได้มากกว่านี้
“แต่ก่อนก็มีไฟในการจะผลักดันให้เห็นผลในประเทศไทย แต่การขยายผลที่ต่างประเทศมันง่ายกว่า ผมไปทำงานที่ต่างประเทศ เขารับแล้ว ดังนั้นในเวียดนามน่าเกิดสิ่งนี้ก่อนประเทศไทย ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ผมอยู่ในประเทศไทย พยายามแก้ปัญหาในประเทศไทย แต่ว่าหกปีผ่านไปผมก็ไปทำงานให้รัฐบาลเวียดนาม”
นักวิจัยยังเน้นว่า ความตั้งใจของเขาไม่ใช่การกันคนออกจากโรงพยาบาล แต่คือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้คนที่จำเป็นจริงๆ ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด ขณะเดียวกันก็ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานหนักเกินกำลัง
การพัฒนาสิทธิประกันสังคมแรงงานนอกระบบมาตรา 40
“แรงงานนอกระบบไม่ใช่คนนอกระบบ ถ้ารัฐใส่ใจคนกลุ่มนี้ คนกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นพลังสำคัญของรากฐานเศรษฐกิจภายในประเทศ ถ้าระบบถูกออกแบบมาเพื่อทุกคนจริงๆ ก็คงไม่มีคำว่าแรงงาน ‘นอกระบบ’” นักวิจัยกล่าวบทเวทีเสนอนโยบาย
ปรรณพัชร เมฆยอย, ชลิตา เมฆยอย และ แสง บุญทอง กลุ่มนักวิจัยเยาวชนจากทีม Unity Hearts เสนอว่าให้มีการพัฒนาสิทธิประกันสังคมแรงงานนอกระบบ มองว่าแรงงานนอกระบบ เช่น แม่ค้าในตลาด ชาวประมง เกษตรกร วินมอเตอร์ไซค์ หรือผู้ดูแลผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากในประเทศ คิดเป็นมากกว่าครึ่งของแรงงานทั้งหมด หรือมากกว่า 21 ล้านคน แต่ยังคงถูกมองข้ามในหลายด้าน ทั้งในแง่ของสิทธิ สวัสดิการ และหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิต
นักวิจัยเล่าว่าตนใช้พื้นที่การทำงานเพื่อผลักดันเสียงของแรงงานนอกระบบให้ดังขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น การสัมมนาให้ความรู้ การพูดคุยกับแรงงานนอกระบบ การเข้าร่วมงานสมัชชาเพื่อหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และกิจกรรมไลฟ์ทอล์กกับเยาวชน สิ่งที่ได้รับจากกระบวนการเหล่านี้ไม่ใช่เพียงเสียงสะท้อน แต่ยังได้ข้อเสนอนโยบายที่เกิดจากชีวิตจริงของแรงงานตัวเล็กๆ ที่มักถูกมองข้าม
จากกระบวนการดังกล่าว จึงได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น โดยเสนอให้มีการปรับอัตราการสมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคมาตรา 40 ให้เทียบเท่ากับมาตรา 33 และมาตรา 39 เพื่อให้สิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้น โดยเสนออัตราสมทบที่ 2.75% และเพิ่มจำนวนเงินที่รัฐสมทบจากเดิมที่จ่ายไม่เกินสองคนต่อเดือน 100 บาท เป็นไม่เกินสามคนต่อเดือน 600 บาท
นอกจากนี้ ยังเสนอให้เปลี่ยนเงื่อนไขการจ่ายเงินจากเดิมที่จ่ายสูงสุด 15 ปี เป็นจ่ายตลอดชีพ และเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 ได้ พร้อมทั้งเสนอให้ขยายช่วงอายุของผู้สมัครจากเดิม 15–65 ปี เป็น 15–70 ปี เพื่อรองรับผู้สูงวัยที่ยังทำงานอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเสนอให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานมาตรา 40 ในระดับชุมชนโดยใช้โครงสร้างรัฐที่มีอยู่เดิม เพื่อให้สามารถเข้าถึงแรงงานนอกระบบได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเสนอให้มีระบบสวัสดิการแบบแพ็คเกจสำหรับครอบครัวในมาตรา 40
ข้อเสนอนโยบายเพื่อส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ
ชาติชาย ชมภูแดง, ธนกฤต ทั่วประโคน, สุณิชา ยืนยง และ กมลวรรณ เข็มเพ็ชร กลุ่มนักวิจัยเยาวชนจากทีม Fantastic 4 ได้นำเสนอข้อค้นพบจากการลงพื้นที่ศึกษาเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มาตรา 33 ซึ่งกำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องจ้างงานผู้พิการอย่างน้อยหนึ่งคน หากไม่สามารถดำเนินการได้จะต้องเลือกใช้มาตรา 35 แทน หรือชำระค่าบำรุงเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
จากการลงพื้นที่ นักวิจัยเยาวชนพบปัญหาสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากแม้ผู้พิการสองคนทำงานในสถานประกอบการเดียวกัน มีลักษณะงานเหมือนกัน แต่ได้รับการจ้างงานภายใต้มาตราที่แตกต่างกันซึ่งส่งผลต่อสิทธิประโยชน์และความมั่นคงในอาชีพ เช่น ผู้ที่ได้รับการจ้างงานตามมาตรา 33 จะได้รับประกันสังคมและสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายแรงงาน ส่วนผู้ที่ถูกนับในระบบมาตรา 35 อาจไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน
สถานประกอบการหลายแห่งที่ต้องการจ้างงานผู้พิการจริงจังมักประสบปัญหาในการค้นหาผู้สมัครที่ตรงตามคุณสมบัติตามที่กระทรวงกำหนด บางรายไม่สามารถหาผู้พิการที่เหมาะสมได้จากหน่วยงานจัดหางาน จึงเกิดช่องว่างในการปฏิบัติ สถานประกอบการบางแห่งเลือกจ้างด้วยทัศนคติที่หลากหลาย บ้างจ้างด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพผู้พิการ บ้างจ้างด้วยความสงสาร ทำให้ลักษณะการจ้างและคุณภาพชีวิตของผู้พิการไม่เท่าเทียมกัน
นักวิจัยเยาวชนจึงมีข้อเสนอสองส่วนหลัก ประการแรก เสนอให้การพัฒนาโครงสร้างสนับสนุน และการแก้ไขกฎหมาย ในส่วนของโครงสร้างสนับสนุน มีข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามามีบทบาทในกระบวนการจับคู่โดยสำรวจความต้องการของสถานประกอบการและความสามารถของผู้พิการ เพื่อนำไปจับคู่กันอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งมีการจัดอบรมให้แก่หัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน เพื่อสร้างความเข้าใจและสามารถมอบหมายงานให้ผู้พิการได้อย่างเหมาะสม ไม่เกิดความรู้สึกกีดกันหรือแยกออกจากกันภายในที่ทำงาน
ประการที่สอง ด้านกฎหมายนักวิจัยเยาวชนเสนอให้แก้ไขมาตรา 33 โดยเพิ่มสัดส่วนการจ้างงานผู้พิการจากเดิมหนึ่งคนต่อพนักงาน 100 คน เป็นสองคน และเพิ่มสิทธิการลดหย่อนภาษีจากสองเท่าเป็นสามเท่า สำหรับสถานประกอบการที่จ้างงานผู้พิการตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังเสนอให้เพิ่มค่าปรับสำหรับสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตาม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการจ้างงานอย่างเป็นธรรม รวมถึงเสนอให้นำเงินในกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก มาใช้สนับสนุนการจ้างงานโดยตรง เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์เฉพาะทางหรือซอฟต์แวร์ที่จำเป็นต่อการทำงานของผู้พิการในแต่ละประเภท