ชายแดน เมืองหลวง สองขั้วปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษาไทย

ชายแดน/เมืองหลวง: สองขั้วปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษาไทย

ประเด็นสำคัญ

  • ปีการศึกษา 2566 มีเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1 ล้านคน
     
  • พื้นที่ที่ปัญหารุนแรงแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลักคือจังหวัดชายแดนติดเทือกเขาสูง และในกรุงเทพและปริมณฑล
     
  • เด็กในเมืองหลวงตกหล่นตั้งแต่ประดับปฐมวัยมากกว่าพื้นที่อื่นๆ บั่นทอนโอกาสที่จะได้รับการส่งเสริมพัฒนาการสมวัยและสั่งสมต้นทุนชีวิตในระยะยาว

เด็กไทย 1.02 ล้านคน หลุดออกจากระบบการศึกษาในปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา[1]กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. “แผนที่เด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา ปีการศึกษา 2566”. https://isee.eef.or.th/fullmap-eef-oosc/. (เข้าถึงเมื่อ 28 พฤษภาคม 2024 เมื่อพูดถึงปัญหานี้ คนส่วนใหญ่อาจนึกภาพถึงโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทห่างไกล นักเรียนที่ถูกบีบให้ต้องเดินออกจากระบบการศึกษาเพราะฐานะทางการเงินของครอบครัว 

ภาพดังว่านี้ไม่ผิดไปจากความเป็นจริงนัก แต่ก็เป็นเพียงส่วนเดียวของปัญหาเท่านั้น

ข้อมูลจากแผนที่เด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยให้เห็นว่าพื้นที่ซึ่งปัญหารุนแรงที่สุดไม่ใช่แค่ในเขตเทือกเขาทุรกันดาร แต่ยังรวมถึงพื้นที่ใจกลางประเทศอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย!

สองขั้วของปัญหา

ปัญหาการตกหล่นจากระบบการศึกษา (school dropout) หมายรวมถึงการที่นักเรียนออกจากโรงเรียนกลางคัน จบการศึกษาแต่ไม่ศึกษาต่อในชั้นที่สูงขึ้น ไปจนถึงการไม่ได้เข้าเรียนตั้งแต่ต้น ในปีการศึกษา 2566 ไทยมีเด็กและเยาวชนอายุ 3-18 ปีตกหล่นจากระบบมากถึง 1 ล้านคน ตัวเลขนี้น่าตกใจ แต่เมื่อตกใจแล้วควรต้องตั้งคำถามต่อไปว่า เด็กล้านคนนี้เป็นใคร อยู่ที่ไหนบ้าง

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กละครอบครัว (คิด for คิดส์) โดยความร่วมมือระหว่าง สสส. และ 101 PUB คำนวณสัดส่วนเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาจากข้อมูลของ กสศ. ในแต่ละจังหวัด พบว่า 10 จังหวัดที่มีปัญหารุนแรงที่สุดมีดังต่อไปนี้

ลำดับจังหวัดจำนวนเด็กและเยาวชน
ตกหล่นจากระบบการศึกษา
สัดส่วนการตกหล่น
ต่อเด็กและเยาวชนในจังหวัด
1ตาก65,37133.3%
2สมุทรสาคร28,43523.9%
3แม่ฮ่องสอน16,47123.6%
4ระนอง7,46517.2%
5ภูเก็ต14,28215.5%
6สมุทรปราการ30,77213.0%
7กรุงเทพมหานคร137,70412.8%
8ปทุมธานี26,10412.2%
9ตราด5,00311.1%
10กาญจนบุรี18,77110.9%
ทั้งประเทศ1,025,5147.9%

จากตารางข้างต้นจะเห็นรูปแบบที่น่าสนใจคือจังหวัดที่มีเด็กตกหล่นมากอาจแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มหลัก คือจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดนโดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่เทือกเขาสูง และจังหวัดที่ติดกับกรุงเทพมหานคร แบบแผนนี้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดเมื่อแสดงข้อมูลบนแผนที่ประเทศไทย โดยจะเห็นว่าจังหวัดที่มีเด็กตกหล่นมากกว่า 10% ขึ้นไปกระจุกตัวกันเป็นสองกลุ่มอย่างเห็นได้ชัด

แผนที่แสดงสัดส่วนเด็กและเยาวชนอายุ  3-18 ปีที่ไม่มีชื่อในระบบในจังหวัดต่างๆ

ขั้วหนึ่งของปัญหาเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลซึ่งมีภูมิประเทศลาดชัน ขณะที่อีกขั้วหนึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่เมืองซึ่งมีความหนาแน่นของประชากรสูง บริบทเชิงพื้นที่ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนี้ส่งผลต่อสภาพปัญหาที่แตกต่างกันออกไปด้วย

ดอยสูง คุณภาพการศึกษาต่ำ

ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนเทือกเขา อันประกอบด้วยเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก และกาญจนบุรี มีเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษารวม 169,047 คน คิดเป็น 16.5% ของเด็กที่ตกหล่นทั้งประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการตกหล่นในระดับประถมศึกษา

นอกจากอุปสรรคด้านความยากจนและระยะทางไปโรงเรียน นักเรียนบนพื้นที่สูงยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนครู ขาดแคลนงบประมาณเนื่องจากโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และการจัดการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผลสัมฤทธ์ทางการเรียนของนักเรียนในพื้นที่เหล่านี้อยู่ในระดับต่ำรั้งท้ายประเทศ[2]องค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทย. 2564. “ขจัดช่องว่างการเรียนรู้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน: … Continue reading ซึ่งยิ่งซ้ำเติมให้ครอบครัวและเยาวชนเองมองไม่เห็นความหวังว่าการศึกษาจะช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้อย่างไร

เด็กกรุงเทพฯ ตกหล่นตั้งแต่ชั้นอนุบาล

ในอีกด้านหนึ่งจะพบว่ากรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบรวมห้าจังหวัด มีเด็กและเยาวชนตกหล่นจากระบบการศึกษามากถึง 245,045 คน หรือคิดเป็น 23.9% ของทั้งประเทศ และในจำนวนนี้เป็นการตกหล่นในระดับปฐมวัยมากกว่าพื้นที่อื่นๆ

ในภาพรวมทั้งประเทศ การตกหล่นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงวัย 12-18 ปี หรือระดับมัธยมศึกษา/ปวช. อย่างไรก็ดี การตกหล่นส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครกลับเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงปฐมวัยมากถึง 54,396 คน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 38.5% ของเด็กอายุ 3-5 ปีทั้งหมดในกรุงเทพฯ แนวโน้มเช่นเดียวกันนี้พบได้ในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ แสดงให้เห็นว่าเด็กในบริบทเมืองมีแนวโน้มเข้าถึงการศึกษาระดับปฐมวัยได้น้อยกว่าต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการมีประชากรหนาแน่นสูง โดยในกรุงเทพมหานครมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยู่เพียง 292 แห่ง รองรับเด็กวัย 2-5 ขวบได้เพียงราว 2 หมื่นคนซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้มีรายได้น้อย ทั้งในแง่จำนวนและการกระจายตัว[3]สมสิริ รุ่งอมรรัตน์. ‘อย่าปล่อยเวลาทองให้สูญเปล่า แก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตั้งแต่ต้นทาง ยกระดับศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน | … Continue reading

การศึกษาเหลื่อมล้ำในเมืองหลวง

งานศึกษาเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กเล็กพบว่ายิ่งลงทุนเร็วยิ่งคุ้มค่า เพราะพื้นฐานของการมีพัฒนาการสมวัยจะกลายเป็นต้นทุนที่สั่งสมต่อไปตลอดช่วงชีวิตที่เหลือของเด็กคนหนึ่ง[4]James Heckman, “The Case for Investing in Disadvantaged Young Children,” CESifo DICE Report 6, 1 June 2008, 3–8. แม้การเรียนชั้นอนุบาลจะไม่ได้เป็นการศึกษาภาคบังคับ แต่การที่เด็กเล็กในพื้นที่เมืองไม่ได้เรียนก็อาจทำให้พวกเขาพลาดโอกาสทองของชีวิตที่จะได้รับการส่งเสริมพัฒนาการตามวัยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น เด็กในชุมชนจนเมืองมักไม่ได้รับการดูแลจากผู้ใหญ่เท่าที่ควร การสำรวจชิ้นหนึ่งซึ่งเก็บข้อมูลเด็กปฐมวัย 1,392 คนในชุมชนแออัด 70 แห่งภายหลังวิกฤตโควิด-19 พบว่าเด็กมากถึง 77% มีพัฒนาการถดถอย[5]สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล. “แถลงข่าว … Continue reading นอกจากนี้การเตร็ดเตร่อยู่ในชุมชนยังเปิดโอกาสให้เด็กที่โตกว่าชักจูงให้ทำพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ทดลองบริโภคน้ำกระท่อมซึ่งเข้าถึงได้ง่ายขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ถูกถอดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เมื่อปี 2021[6]พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2564.(26 พฤษภาคม 2021). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 138 ตอนที่ 35 ก

ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาปฐมวัยบั่นทอนโอกาสของเด็กและเยาวชนจนเมืองตั้งแต่วัยแรกเริ่มของชีวิต สะสมเป็นช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นมากที่สุดในระดับมหาวิทยาลัย เห็นได้จากอัตราการเข้าเรียนสุทธิระดับอุดมศึกษาของเยาวชนในครัวเรือนยากจน 10% ล่างสุดของกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ที่เพียง 27.0% ขณะที่เยาวชนกรุงเทพฯ ในครัวเรือนร่ำรวยที่สุดเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ถึง 76.8%[7]คิด for คิดส์ คำนวณจากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023).

แก้เด็กตกหล่น ต้องเข้าใจมากกว่าแค่มิติการศึกษา

สองขั้วปัญหาที่ยกมาเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาสัมพันธ์กับบริบทแวดล้อม การเข้าเรียนช้า ออกกลางคัน ไม่เรียนต่อ ในระดับการศึกษาต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ย่อมมีเงื่อนไขเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไปทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ วิถีการผลิต และสภาพเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่นั้นๆ การจะรักษาเด็กเอาไว้ในระบบหรือทำให้การตกหล่นเกิดขึ้นน้อยลงที่สุดจึงต้องคำนึงถึงมากกว่าเรื่องค่าเล่าเรียน ทุนการศึกษา หรือหลักสูตรวิชาเรียน แต่จะต้องเข้าใจบริบทเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหาถึงต้นเหตุที่ขวางทางมาโรงเรียนให้มากขึ้นด้วย

ยังมีเด็กและเยาวชนอีกหลายกลุ่มที่เผชิญโจทย์การศึกษาที่มีความเฉพาะตัว อาทิ สามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม เยาวชนที่ไม่เรียนและไม่ทำงาน (NEET) ฯลฯ ซึ่งคิด for คิดส์ ได้ทำงานข้อมูลภาคสนามรวบรวมบางแง่มุมของ ‘เด็กที่ไม่ถูกมองเห็น’ ไว้ในรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2024

ผู้อ่านสามารถติดตามอ่านสรุปความการนำเสนอรายงานดังกล่าวได้ใน อ่านสถานการณ์เด็กและครอบครัวไทย 2024: เมื่อกลุ่มชายขอบไม่เคยถูกมองเห็นจากรัฐไทย หรือติดตามรับชมวิดีโอบันทึกการนำเสนอ ได้ตามลิงก์ข้างต้นนี้

References
1 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. “แผนที่เด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา ปีการศึกษา 2566”. https://isee.eef.or.th/fullmap-eef-oosc/. (เข้าถึงเมื่อ 28 พฤษภาคม 2024
2 องค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทย. 2564. “ขจัดช่องว่างการเรียนรู้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน: กรณีศึกษาการจัดการเรียนรู้โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน”. https://www.unicef.org/thailand/th/documents/%E0%B8%82%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AE%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99
3 สมสิริ รุ่งอมรรัตน์. ‘อย่าปล่อยเวลาทองให้สูญเปล่า แก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตั้งแต่ต้นทาง ยกระดับศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน | กสศ.’, 7 เมษายน 2022. https://www.eef.or.th/article-unlock-bangkok-070422/.
4 James Heckman, “The Case for Investing in Disadvantaged Young Children,” CESifo DICE Report 6, 1 June 2008, 3–8.
5 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล. “แถลงข่าว “การเฝ้าระวังและฟื้นฟูผลกระทบต่อเด็กในภาวะยากลำบากภายหลังการระบาดของ โควิด-19”” สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล, 3 กุมภาพันธ์ 2023. https://cf.mahidol.ac.th/th/แถลงข่าว-การเฝ้าระวังแ/. (เข้าถึงเมื่อ 31 พฤษภาคม 2024
6 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2564.(26 พฤษภาคม 2021). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 138 ตอนที่ 35 ก
7 คิด for คิดส์ คำนวณจากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023).

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

สรัช สินธุประมา

สร้างสรรค์ภาพ

สรัช สินธุประมา

บทความที่เกี่ยวข้อง

สว. ในรัฐประชาธิปไตย มีอำนาจยับยั้งกฎหมายแค่ไหน?

สว. ในรัฐประชาธิปไตย มีอำนาจยับยั้งกฎหมายแค่ไหน?

101 PUB ชวนสำรวจอำนาจกลั่นกรอง-ยับยั้งร่างกฎหมายของ สว. ในรัฐประชาธิปไตยคุณภาพดี เป็นบทเรียนสำหรับไทยในการคิดปฏิรูป สว. ให้มีบทบาทในกระบวนการนิติบัญญัติและระบบการเมืองอย่างเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น

Quick win แล้วสิ้นใจ?: ประคับประคองศูนย์ชีวาภิบาลอย่างไรให้อยู่รอด?

นโยบายชีวาภิบาลกำลังเผชิญปัญหารอบด้านเพราะการเร่งทำให้ถึงเป้าหมาย Quick win 100 วันแรก คิด for คิดส์ ชวนอ่านความท้าทายของนโยบายตายดีที่กำลังจะตายเสียเอง

ปราบมิจฯ ให้อยู่หมัด ต้องมอบหน้าที่ให้ธุรกิจร่วมรับผิดชอบ

ทำไมมิจฉาชีพยังลอยนวลหลอกหลอนคนไทยไม่เว้นวัน? แล้วต่างประเทศทำอย่างไรถึงปราบมิจฉาชีพได้อยู่หมัด?

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.