ความเจ็บปวดของผู้คนสีรุ้งในชุดสีกากี: ระบบราชการที่ก้าวไม่ทันความหลากหลาย

ความเจ็บปวดของผู้คนสีรุ้งในชุดสีกากี: ระบบราชการที่ก้าวไม่ทันความหลากหลาย

ภายใต้บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองเดือนแห่งความเท่าเทียมทางเพศ ธงสีรุ้งและธงแสดงอัตลักษณ์ทางเพศโบกสะบัดไปทั่วโลก ในประเทศไทยกฎหมายสมรสเท่าเทียมอันเป็นความหวังใหญ่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็กำลังจะผ่านสภา รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต่างพากันร่วมแสดงสัญลักษณ์สีรุ้ง แต่ในขณะที่สองเท้าก้าวเดินร่วมขบวนพาเหรดของผู้มีความหลากหลายทางเพศ กฎหมายและกฎระเบียบของราชการไทยกลับยังก้าวตามไม่ทัน โดยเฉพาะในใจกลางระบบราชการที่ทำให้ผู้คน ‘สีรุ้ง’ ยังคงต้องเผชิญการเลือกปฏิบัติภายใต้กรอบคิด ‘สีกากี’ ที่ยังคงก้าวไม่พ้นบทบาททางเพศแบบจารีตดั้งเดิม

101 PUB ชวนสำรวจอุปสรรคในชีวิตการงานของข้าราชการผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่การคัดเลือกเข้ารับราชการ ไปจนถึงโอกาสที่จะก้าวหน้าในอาชีพ และสำรวจกฎหมาย กฎระเบียบที่ควรได้รับการทบทวนให้สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป

ที่มาภาพ: workpointnews

ถูกกดทับตั้งแต่สอบเข้า

ก้าวแรกของการทำงานในระบบราชการคือการสอบวัดความรู้ความสามารถทั่วไป หรือที่เรียกว่าการสอบ ก.พ. ภาค ก. โดยการเข้าห้องสอบต้อง ‘แต่งกายสุภาพเรียบร้อย และประพฤติตนเป็นสุภาพชน[1]ประกาศสำนักงาน ก.พ. เรื่อง กำหนดวัน เวลา สถานที่สอบ และระเบียบเกี่ยวกับการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี … Continue reading แม้จะไม่มีการบังคับให้แต่งกายตามเพศกำเนิดแต่ผู้เข้าสอบส่วนมากเลือกที่จะแต่งกายตามเพศกำเนิดมากกว่าอัตลักษณ์ทางเพศของตน

เมื่อผ่านการสอบภาค ก. ไปแล้ว ผู้ที่สอบผ่านก็ต้องไปต่อในรอบที่เรียกว่า ภาค ข. และภาค ค. ซึ่งหมายถึงการสอบวัดความรู้เฉพาะหน่วยงาน โดยการสอบทั้ง 2 รอบ ผู้เข้าสอบเลือกที่จะแต่งกายตามเพศกำเนิดเช่นเดียวกับการสอบ ภาค ก. นอกจากนี้ยังพบว่าในรอบของการสอบสัมภาษณ์ในบางหน่วยงาน ผู้ที่แสดงออกไม่ตรงตามเพศกำเนิดกลับถูกขอให้ร้องเพลงให้ฟัง แทนที่จะเป็นการถามเรื่องความรู้ความสามารถ และทัศนคติในการทำงานอย่างเช่นผู้ที่แสดงออกตามเพศกำเนิดได้รับ ซึ่งทำให้ผู้สอบที่เป็น LGBTQ+ เกิดความไม่สบายใจและรู้สึกว่าเป็นตัวตลก[2]ชลินทรา ปรางค์ทอง, ‘การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเพศหลากหลายและการคุ้มครองสิทธิเพศหลากหลายในหน่วยงานภาครัฐ: ศึกษากรณีข้าราชการกรมการปกครอง’, … Continue reading

จากการสำรวจกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยในปี 2018 โดยธนาคารโลก จำนวน 2,302 คน เกี่ยวกับกลุ่มอาชีพที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศรู้สึกว่ายากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ทำงาน พบว่าในอันดับต้นๆ เป็นหน่วยงานราชการทั้งสิ้น โดยหน่วยงานที่กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามตอบเป็นอันดับหนึ่งคือ องค์กรตำรวจหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย ร้อยละ 51.6 รองลงมาคือทหาร ร้อยละ 50.5 สถาบันศาสนา ร้อยละ 45.8 และข้าราชการร้อยละ 31 [3]World bank group, ‘การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย’, 2018, https://documents1.worldbank.org/curated/en/319291524720667423/pdf/124554-v2-main-report-Economic-Inclusion-of-LGBTI-Groups-in-Thailand-Report-Thai-Version-PUBLIC.pdf.

ราชการ: ที่ทำงานที่เลือกปฏิบัติที่สุด

การแสดงออกถึงตัวตนโดยปราศจากอคติทางเพศยังคงเป็นเรื่องยากในหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะในหน่วยงานที่ถูกวางบทบาทให้เป็นผู้นำหรือเป็นแบบอย่างที่ดีอย่างหน่วยงานทางปกครองหรือข้าราชการครู

การแสดงออกถึงตัวตนโดยปราศจากอคติทางเพศยังคงเป็นเรื่องยากในหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะในหน่วยงานที่ถูกวางบทบาทให้เป็นผู้นำหรือเป็นแบบอย่างที่ดีอย่างหน่วยงานทางปกครองหรือข้าราชการครู

ข้าราชการในหน่วยงานทางปกครอง เช่น ปลัดอำเภอ ถูกวางบทบาทในฐานะผู้นำของท้องที่หนึ่งๆ ทำให้ต้องปกปิดอัตลักษณ์ทางเพศและแสดงออกให้ตรงกับเพศกำเนิดเพื่อให้ง่ายต่อความไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ ตรงกันข้ามกับข้าราชการในหน่วยงานเดียวกันแต่ทำงานสำนักงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศได้มากกว่า[4]ชลินทรา ปรางค์ทอง, ‘การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเพศหลากหลายและการคุ้มครองสิทธิเพศหลากหลายในหน่วยงานภาครัฐ: ศึกษากรณีข้าราชการกรมการปกครอง’, … Continue reading

ส่วนข้าราชการครู การยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของครูยังเป็นเรื่องยาก แม้กระทั่งเรื่องใกล้ตัวที่สุดอย่างเรื่องการแต่งกาย

“แต่งกาย ไว้ทรงผมไม่เหมาะสมกับเพศสภาพที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีกับนักเรียน”

ข้อความดังกล่าวเป็นสิ่งที่คุณครูผู้มีความหลากหลายทางเพศใน จ. บุรีรัมย์ ถูกผู้บริหารโรงเรียนตักเตือนและบังคับให้มีการทำข้อตกลงด้านการแต่งกาย เนื่องจากเธอยืนยันที่จะแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง และเมื่อเธอไม่ยินยอมก็ถูกกล่าวหาว่าขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา และยังมีการกดดันด้านอื่นๆ อาทิ การขึ้นเงินเดือนเพียง 1% หรือ 180 บาท การกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เหมาะสม ทำให้คะแนนการประเมินครูผู้ช่วยไม่ผ่านเกณฑ์ในครั้งแรก และหากครั้งที่สองยังไม่ผ่านเกณฑ์อีก คุณครูท่านนี้ก็ต้องออกจากราชการ[5]Amarin TV, ‘เปิดใจครูข้ามเพศ ถูกเหยียดสั่งห้ามแต่งหญิง ผอ.ประเมินผลคะแนนต่ำ กดดันบีบออกราชการ’, 19 กรกฎาคม 2019, https://www.amarintv.com/news/detail/16510.

“ถ้าผมสั้นก็คงไม่มีปัญหาตอนมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหรอกมั้ง”

นี่เป็นถ้อยคำที่ครูเอ ครูข้ามเพศซึ่งเลือกที่จะแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศมาสอนหนังสือ แต่ถูกผู้บริหารโรงเรียนเรียกไปตำหนิรวมถึงกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นข้างต้น เนื่องจากต้องการให้เธอแต่งกายตามเพศสภาพ นอกจากนี้เธอยังกล่าวอีกว่า ครูเพศที่สามยังต้องทำงานหนักมากกว่าเพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาเหล่านี้ก็สามารถเป็นครูที่ดีได้[6]BBC NEWS ไทย, ‘LGBT : ฉันต้องทำงานให้หนักเพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นรู้ว่า ฉันก็เป็นครูได้’, 22 มกราคม 2019, https://www.bbc.com/thai/thailand-46946292.

นอกจากนี้ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับการไม่เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยพบว่าข้าราชการในกรมการปกครองบางส่วนยอมรับว่าไม่มีทางที่จะก้าวหน้าในสายอาชีพนี้ หรือหากมีตำแหน่งที่ดี เช่น เลขานุการ (หรือที่เรียกกันว่า หน้าห้อง) ผู้ที่ได้รับตำแหน่งก็มักเป็นผู้ที่แสดงออกตรงตามเพศกำเนิด[7]ชลินทรา ปรางค์ทอง, ‘การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเพศหลากหลายและการคุ้มครองสิทธิเพศหลากหลายในหน่วยงานภาครัฐ: ศึกษากรณีข้าราชการกรมการปกครอง’, … Continue reading หรือในกรณีของทหารหรือตำรวจ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะไม่ได้รับอนุญาตให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงเลย[8]ธภัทร บุญสถิตย์ถาวร, ‘ความท้าทายของกลุ่ม LGBTQ+ ที่ต้องเผชิญในที่ทำงาน’ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2023.

ไม่ใช่เพียงการไม่สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศหรือความไม่เจริญด้านหน้าที่การงาน แต่การเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในสภาวะการทำงานที่ไม่เป็นมิตร อาทิ การนินทา ล้อเลียน เสียดสี หรือทำให้รู้สึกว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้สร้างเสียงหัวเราะในที่ทำงาน และการแบ่งหน้าที่ในการทำงานบางอย่างก็มีการนำอัตลักษณ์ทางเพศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ เช่นในกรณีของปลัดอำเภอท่านหนึ่งซึ่งมีเพศกำเนิดเป็นหญิง แต่แสดงออกเป็นเพศสภาพชายก็จะถูกใช้งานที่ต้องอาศัยความเป็นผู้นำ แข็งแรงกระฉับกระเฉง ไปจนถึงการทำงานในยามวิกาลด้วย[9]ชลินทรา ปรางค์ทอง, ‘การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเพศหลากหลายและการคุ้มครองสิทธิเพศหลากหลายในหน่วยงานภาครัฐ: ศึกษากรณีข้าราชการกรมการปกครอง’, … Continue reading

กฎหมายและกฎระเบียบยังไม่มีพื้นที่ให้ LGBTQ+

การแต่งกายของข้าราชการพลเรือนในปัจจุบันเป็นไปตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2478 อันกำหนดรูปแบบการแต่งกายของ ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ ไว้ แต่จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้สามารถแต่งกายได้ตามอัตลักษณ์ทางเพศ การอนุญาตขึ้นอยู่กับผู้บริหารของหน่วยงานนั้นๆ เท่านั้น

การไม่มีกฎระเบียบเขียนไว้ในทางปกติอาจใช้การตีความให้กว้างกว่าชายหรือหญิงอันเป็นเพศกำเนิดได้ แต่ในความเป็นจริงพบว่ามีกรณีของ ‘ครูกอล์ฟ’ ซึ่งเป็นครูหญิงข้ามเพศที่ไม่สามารถต่ออายุบัตรข้าราชการได้เนื่องจากแต่งกายไม่ตรงตามเพศกำเนิด เมื่อครูได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองและชนะคดีให้ออกบัตรข้าราชการใหม่โดยแต่งกายตามเพศกำเนิดของตนเองได้ กลับถูกสำนักนายกรัฐมนตรีฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อให้คุรุสภาเพิกถอนการอนุญาตนั้นเพื่อไม่ให้ต้องมาแก้ไขกฎระเบียบกันใหม่[10]จินต์จุฑา พันธุ์ทองคำ, ‘“ข้าราชการต้องแต่งกายตามเพศกำเนิด” กฎระเบียบสะท้อนการเลือกปฏิบัติทางเพศที่แฝงฝังในระบบราชการไทย’, The 101.world, 18 กรกฎาคม 2023, … Continue reading

การเรียกร้องให้สำนักนายกรัฐมนตรีรับรองสิทธิการแต่งกายของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและให้สามารถทำบัตรประจำตัวตามอัตลักษณ์ทางเพศได้นั้นถูกขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2021 จนถึงปัจจุบันผ่าน http://Change.org/KruGolf แต่ก็ยังไม่มีการตอบรับหรือแก้ไขจากสำนักนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

ไม่ใช่เพียงเรื่องของการแต่งกายของข้าราชการเท่านั้น แต่เรื่องใหญ่กว่านั้นคือการเลือกปฏิบัติด้วยอคติทางเพศ ถึงจะมีการออกพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มาแล้ว แต่สิ่งที่เห็นชัดด้านการลดการเลือกปฏิบัติสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีเพียง 2 กรณี คือการเปลี่ยนจากการเป็น ‘โรคจิตถาวร’ เป็น ‘ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ ในการคัดเลือกทหารเกณฑ์ และการอนุญาตให้กลุ่ม intersex หรือผู้ที่มีสองเพศแต่กำเนิดสามารถเลือกคำนำหน้านามได้ในภายหลังเท่านั้น[11]สาวตรี สุขศรี, ‘พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558: ปัญหาของบทบัญญัติและการบังคับใช้’ (2564) 4 วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 532. นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องแสดงเจตนารมณ์[12]จินต์จุฑา พันธุ์ทองคำ, ‘“ข้าราชการต้องแต่งกายตามเพศกำเนิด” กฎระเบียบสะท้อนการเลือกปฏิบัติทางเพศที่แฝงฝังในระบบราชการไทย’, The 101.world, 18 กรกฎาคม 2023, … Continue reading โดยออกเป็น ‘ประกาศเจตนารมณ์ การส่งเสริมความเสมอภาคและและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558′ เพื่อนำกฎหมายดังกล่าวไปบังคับใช้ในหน่วยงานของตน โดยมีหน่วยงานรัฐและเอกชนที่ออกประกาศนั้นแล้ว เช่น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ถึงแม้จะมีการประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวไปแล้ว การเลือกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมระหว่างเพศก็ยังปรากฎในหน่วยงานราชการอยู่

นอกจากการมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ยังมีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) เพื่อวินิจฉัยข้อพิพาทอันเกิดจากการเลือกปฏิบัติหรือทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ อย่างไรก็ดี การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าวยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไข อาทิ การกำหนดให้การเลือกปฏิบัติเป็นเรื่องเฉพาะตัว จึงให้เฉพาะผู้ที่ได้รับหรือจะได้รับความเสียหายเป็นผู้ร้องเรียนเท่านั้น ทำให้บุคคลหรือหน่วยงานที่พบเห็นการเลือกปฏิบัติไม่สามารถช่วยร้องเรียนได้ นอกจากนี้ อำนาจของ วลพ. ไม่ใช่อำนาจเชิงบังคับเพื่อลงโทษหน่วยงานที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่เป็นการขอความร่วมมือหรือสร้างความรู้ความเข้าใจกับหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนว่ามีการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ[13]สาวตรี สุขศรี, ‘พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558: ปัญหาของบทบัญญัติและการบังคับใช้’ (2564) 4 วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 532.

กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในระบบราชการไทยยังถูกกดทับด้วยระเบียบ กฎเกณฑ์ รวมถึงบทบาทที่สังคมคาดหวังจะให้พวกเขาเป็น แต่ถึงอย่างนั้น การแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่อาจไม่ตรงใจใครหลายคนไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นจะเป็นปลัดอำเภอที่ดี เป็นครูที่เก่ง หรือเป็นข้าราชการที่ตั้งใจทำงานไม่ได้ การกดทับด้วยระเบียบหรืออำนาจไม่ได้นำไปสู่ทางแก้ปัญหา รังแต่จะทำให้ข้าราชการเหล่านี้ท้อถอยหมดกำลังใจก็เท่านั้น

เพื่อให้การฉลองเดือนแห่งความเท่าเทียมเป็นไปอย่างทั่วถึงทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน การปรับแก้กฎระเบียบหรือปรับปรุงกฎหมายให้พื้นที่แก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในระบบราชการได้ทำงานอย่างมีความสุขจึงอาจเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงในอนาคตอันใกล้นี้

References
1 ประกาศสำนักงาน ก.พ. เรื่อง กำหนดวัน เวลา สถานที่สอบ และระเบียบเกี่ยวกับการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2567 ข้อ 2.2
2 ชลินทรา ปรางค์ทอง, ‘การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเพศหลากหลายและการคุ้มครองสิทธิเพศหลากหลายในหน่วยงานภาครัฐ: ศึกษากรณีข้าราชการกรมการปกครอง’, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2022, https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/8343/.
3 World bank group, ‘การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย’, 2018, https://documents1.worldbank.org/curated/en/319291524720667423/pdf/124554-v2-main-report-Economic-Inclusion-of-LGBTI-Groups-in-Thailand-Report-Thai-Version-PUBLIC.pdf.
4, 7, 9 ชลินทรา ปรางค์ทอง, ‘การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเพศหลากหลายและการคุ้มครองสิทธิเพศหลากหลายในหน่วยงานภาครัฐ: ศึกษากรณีข้าราชการกรมการปกครอง’, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2022, https://digital.car.chula.ac.th/chulaetd/8343/.
5 Amarin TV, ‘เปิดใจครูข้ามเพศ ถูกเหยียดสั่งห้ามแต่งหญิง ผอ.ประเมินผลคะแนนต่ำ กดดันบีบออกราชการ’, 19 กรกฎาคม 2019, https://www.amarintv.com/news/detail/16510.
6 BBC NEWS ไทย, ‘LGBT : ฉันต้องทำงานให้หนักเพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นรู้ว่า ฉันก็เป็นครูได้’, 22 มกราคม 2019, https://www.bbc.com/thai/thailand-46946292.
8 ธภัทร บุญสถิตย์ถาวร, ‘ความท้าทายของกลุ่ม LGBTQ+ ที่ต้องเผชิญในที่ทำงาน’ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2023.
10, 12 จินต์จุฑา พันธุ์ทองคำ, ‘“ข้าราชการต้องแต่งกายตามเพศกำเนิด” กฎระเบียบสะท้อนการเลือกปฏิบัติทางเพศที่แฝงฝังในระบบราชการไทย’, The 101.world, 18 กรกฎาคม 2023, https://www.the101.world/gender-discrimination-in-bureaucrat/.
11, 13 สาวตรี สุขศรี, ‘พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558: ปัญหาของบทบัญญัติและการบังคับใช้’ (2564) 4 วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 532.

บทความที่เกี่ยวข้อง

แค่เบิกจ่ายงบลงทุนที่วางไว้ เศรษฐกิจก็โตได้ไม่ต้องรอกระตุ้น?

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบฯ 2024 ล่าช้าโดยเฉพาะงบลงทุน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และพิจารณาสาเหตุที่ทำให้งบลงทุนเบิกช้า

ชายแดน เมืองหลวง สองขั้วปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษาไทย

ชายแดน/เมืองหลวง: สองขั้วปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษาไทย

เด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษา 1 ล้านคน ปัญหารุนแรงที่สุดในพื้นที่ชายแดนติดเทือกเขาสูง และในใจกลางเมืองหลวงของประเทศ

8 ประเด็นสำคัญจาก ‘ร่างงบปี 68’: คิดใหญ่ ใช้เงินเป็น เห็นอนาคต?

8 ประเด็นสำคัญจาก ‘ร่างงบปี 68’: คิดใหญ่ ใช้เงินเป็น เห็นอนาคต?

101 PUB ชวนสำรวจ 8 ประเด็นสำคัญจาก ‘ร่างงบปี 68’ (2025) เพื่อเข้าใจว่า รัฐบาลกำลังจะใช้เงินของคนไทยอย่างไร? วางอนาคตแบบไหนไว้ให้พวกเรา?

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.