แลนด์บริดจ์ยังไปต่อ แบบไม่สนใจคน ไม่สนใจเต่าทะเล

แม้โครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ จะเงียบหายไปจากพื้นที่สื่อในช่วงครึ่งปีหลัง แต่โครงการนี้ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องมาโดยตลอด รวมถึงมีบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่อย่างน้อยสองรายจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และจีนแสดงความสนใจเข้าร่วมประมูลแล้ว[1]MGRonline. “บิ๊กเนมจีน”ไชน่าฮาร์เบอร์’สนร่วมชิง”แลนด์บริดจ์” คมนาคมเร่งพ.ร.บ.SEC ดันเปิดประมูลปี 69”. สืบค้น 17 ธันวาคม 2024. https://mgronline.com/business/detail/9670000118022. แม้โครงการยังอยู่ในขั้นร่างกฎหมายและรับฟังความคิดเห็น

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ เป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่ตั้งแต่แหลมรั่ว จังหวัดชุมพร ตัดขวางมาจนถึงบริเวณแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง ซึ่งทำให้จำเป็นต้องร่างกฎหมายขึ้นมารองรับ โดยปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ. SEC) กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยงานการเงินของนายกรัฐมนตรี[2]ระบบสารสนเทศด้านนิติบัญญัติ สำนักงานเลขธิการสภาผู้แทนราษฎร. เพื่อรอเสนอเข้าสภาฯ โดยคาดการณ์ว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2025[3]กรุงเทพธุรกิจ. “‘สุริยะ’ เข็น พ.ร.บ.SEC ดันลงทุน ‘แลนด์บริดจ์’ ผ่าน ครม.ปีนี้”. สืบค้น 13 ธันวาคม 2024. https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1133804. ซึ่งการก่อสร้างโครงการยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่จะต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกไปแล้วสองครั้ง[4]“ความก้าวหน้า – โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง”. สืบค้น 13 ธันวาคม 2024. https://www.landbridgethai.com/news/. เพื่อนำไปทำเป็นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป

การเดินหน้าต่ออย่างเงียบๆ โดยไม่สนใจข้อทักท้วงอาจส่งผลกระทบร้ายแรง ไม่เพียงในแง่ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อมซึ่งยังไม่มีหลักประกันนักว่าจะถูกนำมาคิดคำนวณในการประเมินโครงการอย่างรอบคอบ

เขตเศรษฐกิจพิเศษ โมเดลการพัฒนาแบบไม่เห็นหัวประชาชน

เมื่อร่าง พ.ร.บ.แลนด์บริดจ์มีผลบังคับใช้ คณะกรรมการตามร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกตั้งขึ้นพร้อมอำนาจล้นมือ สามารถเสนอให้มีการปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายที่เห็นว่าทำให้การดำเนินนโยบายเป็นไปอย่างไม่สะดวกหรือล่าช้าโดยให้เหตุผลว่าเพื่อการพัฒนาพื้นที่แลนด์บริดจ์[5]ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. มาตรา 8. สามารถจัดทำผังเมืองใหม่ รวมถึงการยกเว้นให้ไม่ต้องทำตามกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินเพื่อการเกษตร[6]ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. มาตรา 35.

‘สภาวะยกเว้นทางกฎหมาย’ ที่สร้างขึ้นโดยอ้างว่าจำเป็นต่อการพัฒนาโครงการ เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้กีดกันการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ ดังที่เห็นตัวอย่างมาแล้วในการประกาศใช้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. EEC)[7]พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 9. ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองโดยไม่เป็นที่รับรู้ของประชาชนในพื้นที่ เวทีรับฟังความเห็นถูกจัดขึ้นในเวลาอันสั้น และมีเวลาให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเพียงเล็กน้อย[8] iLaw. “‘EEC’ เขตเศรษฐกิจ ‘พิเศษ’ สำหรับใคร?” สืบค้น 12 ธันวาคม 2024. https://www.ilaw.or.th/articles/3700. นอกจากนี้การแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ยังเป็นที่น่ากังขา เพราะการประเมินนี้รัฐเป็นทั้งผู้ยื่นและผู้พิจารณาในเวลาเดียวกัน โอกาสที่โครงการของรัฐเองจะไม่ผ่านการประเมินจึงเรียกว่าแทบเป็นไปไม่ได้[9]อ่านเพิ่มได้ที่ พิชชากร เรืองเดชาวิวัฒน์. “EIA EHIA! เสือกระดาษแห่งวงการสิ่งแวดล้อมไทย”. The 101.world, 20 พฤศจิกายน 2023.

ตัวอย่างปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่ EEC ภาคตะวันออกเผชิญจากการเปลี่ยนผังเมืองเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น ปัญหาขยะอุตสาหกรรมและสารเคมีจากโรงงาน เช่นในบริเวณอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ที่เกิดภาวะดินเค็ม ซึ่งส่งผลให้พืชพรรณการเกษตรเสียหายและไม่สามารถทำปศุสัตว์ได้ ปัญหาน้ำมันรั่วไหลซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและการประกอบอาชีพประมงเป็นอย่างมาก โดยภายใน 3 ปีงบประมาณ (2561 – 2564) เกิดกรณีน้ำมันรั่วไหลและก้อนน้ำมันดินในเขตพื้นที่ EEC ภาคตะวันออกแล้วกว่า 106 ครั้ง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่จำกัดอยู่แค่เพียงสิ่งแวดล้อมที่จับต้องได้ แต่ยังกระทบไปถึงต้นทุนทางวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ เช่น ‘การทำนาเขาวัง’ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบางปะกงในจังหวัดฉะเชิงเทรา[10]ดนพร สุปัญญา. “ในน้ำมีมลทิน ในดินมีสารพิษ: โครงการ EEC ฝันร้ายของคนภาคตะวันออก?”. The 101 World, 9 สิงหาคม 2024. ซึ่งถูกโรงงานอุตสาหกรรมรุกไล่จนไม่สามารถทำการเกษตรแบบเดิมได้อีกต่อไป[11]EnLAW. “ข้อมูลเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินภายหลังบังคับใช้ผังเมือง EEC พื้นที่ 3 จังหวัด”. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW), 16 … Continue reading

ที่มาภาพ: EnLAW

กรณีเช่นนี้อาจเกิดขึ้นอีกในโครงการแลนด์บริดจ์ หากการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐยังดำเนินต่อโดยไม่สนใจคนในท้องที่ ส่วนหนึ่งของพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเป็นพื้นที่ทำกินของชาวประมงพื้นบ้านชาวไทยพลัดถิ่นในจังหวัดระนอง คาบเกี่ยวกับพื้นที่ที่ชาวบ้านถือว่าเป็นเกาะศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ[12]EnLAW. “เสียงของคนไทยพลัดถิ่น ต่อโครงการพัฒนาภายใต้ร่างพ.ร.บ.SEC”. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW), 15 สิงหาคม 2024. มูลค่าทางด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมเหล่านี้จำเป็นต้องถูกนำมาคิดในสมการของการพัฒนา แต่เมื่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนถูก ‘ยกเว้น’ ได้อย่างง่ายดาย การเดินหน้าโครงการขนาดมหึมานี้จึงอาจทิ้งร่องรอยความเสียหายอันประเมินค่าไม่ได้ไว้ตลอดทางที่มันรุดหน้าไป

เสียงคนยังไม่ดัง เสียงเต่าทะเลยังไม่ต้องพูดถึง

ส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ ทาบซ้อนอยู่กับพื้นที่เขตสงวนชีวมณฑลระนอง (Ranong Biosphere Reserve) ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตสงวนชีวมณฑลโดย UNESCO[13]Marine Knowledgement Hub ฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล. “เขตสงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve)”. สืบค้น 12 ธันวาคม 2024. โดยเป็นเขตป่าสงวนชีวมณฑลที่เป็นป่าชายเลนแห่งแรกของโลก และเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งเต็มไปด้วยพรรณไม้ที่เสี่ยงสูญพันธุ์[14]เลือกแลนด์บริดจ์ปิดฉากมรดกโลก | Big Story เรื่องใหญ่ Thai PBS, 2024.

ที่มาภาพ: เอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมอ่าวอ่าง อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลยืนยันว่าการสร้างท่าเรือน้ำลึกในบริเวณดังกล่าวย่อมมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อป่าชายเลนที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ดีที่สุด[15]วันชัย, ตันติวิทยาพิทักษ์. “ ‘ตำน้ำพริกละลายทะเล’ ความเห็นของบริษัทเดินเรือต่อโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ ของไทย”. The 101 World, 1 พฤศจิกายน 2023. และยังส่งผลต่อระบบนิเวศชายทะเลไม่ว่าจะเป็นนกอพยพ หรือพื้นที่วางไข่ของเต่าทะเล ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และยังเป็นสัตว์ที่โอกาสรอดชีวิตน้อยและเสี่ยงสูญพันธุ์[16]มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย. “16 มิถุนายน วันเต่าทะเลโลก”. สืบค้น 14 ธันวาคม 2024.

อย่างไรก็ดี การทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาจไม่ได้สะท้อนภาพปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่งมากนัก เนื่องจากการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเองก็ยังเผชิญปัญหาตั้งแต่ตัวบทกฎหมายที่เปิดช่องให้มีการซอยโครงการ การจัดทำรายงานโดยเจ้าของโครงการเป็นผู้ว่าจ้างให้ทำ รวมถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในระหว่างทำรายงานที่บางครั้งก็ไม่ได้รับฟังความเห็นของคนในพื้นที่จริงๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพิจารณารายงานที่อัตราการผ่านคือ 100% ภายในระยะเวลาการพิจารณาคือ 45 วัน ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมกว่า 1,000 หน้าที่ส่งไปอาจไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนก็เป็นได้

โครงการแลนด์บริดจ์ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเงียบๆ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายภาคส่วน โครงการมูลค่าหนึ่งล้านล้านบาทนี้จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด ยังคงเป็นที่กังขาของภาคเอกชนและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์[17]เสาวลักษณ์ เขตสูงเนิน. “‘แลนด์บริดจ์’ (ฝัน) ที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย?THE STANDARD , 19 มกราคม 2024. แต่นอกจากนั้นจะต้องไม่ลืมว่า ต้นทุนของการพัฒนายังมีอีกหลายด้านทั้งในระบบนิเวศและวิถีชีวิตของผู้คน หากบุ่มบ่ามทำอย่างไม่รอบคอบดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอาจประเมินค่าไม่ได้ และอาจสายเกินแก้เมื่อผลร้ายเกิดขึ้นแล้ว


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ รีวิวนโยบายรัฐบาลส่งท้ายปี 2024 ของ 101 PUB

References
1 MGRonline. “บิ๊กเนมจีน”ไชน่าฮาร์เบอร์’สนร่วมชิง”แลนด์บริดจ์” คมนาคมเร่งพ.ร.บ.SEC ดันเปิดประมูลปี 69”. สืบค้น 17 ธันวาคม 2024. https://mgronline.com/business/detail/9670000118022.
2 ระบบสารสนเทศด้านนิติบัญญัติ สำนักงานเลขธิการสภาผู้แทนราษฎร.
3 กรุงเทพธุรกิจ. “‘สุริยะ’ เข็น พ.ร.บ.SEC ดันลงทุน ‘แลนด์บริดจ์’ ผ่าน ครม.ปีนี้”. สืบค้น 13 ธันวาคม 2024. https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1133804.
4 “ความก้าวหน้า – โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง”. สืบค้น 13 ธันวาคม 2024. https://www.landbridgethai.com/news/.
5 ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. มาตรา 8.
6 ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. มาตรา 35.
7 พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 9.
8  iLaw. “‘EEC’ เขตเศรษฐกิจ ‘พิเศษ’ สำหรับใคร?” สืบค้น 12 ธันวาคม 2024. https://www.ilaw.or.th/articles/3700.
9 อ่านเพิ่มได้ที่ พิชชากร เรืองเดชาวิวัฒน์. “EIA EHIA! เสือกระดาษแห่งวงการสิ่งแวดล้อมไทย”. The 101.world, 20 พฤศจิกายน 2023.
10 ดนพร สุปัญญา. “ในน้ำมีมลทิน ในดินมีสารพิษ: โครงการ EEC ฝันร้ายของคนภาคตะวันออก?”. The 101 World, 9 สิงหาคม 2024.
11 EnLAW. “ข้อมูลเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินภายหลังบังคับใช้ผังเมือง EEC พื้นที่ 3 จังหวัด”. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW), 16 กรกฎาคม 2020.
12 EnLAW. “เสียงของคนไทยพลัดถิ่น ต่อโครงการพัฒนาภายใต้ร่างพ.ร.บ.SEC”. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW), 15 สิงหาคม 2024.
13 Marine Knowledgement Hub ฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล. “เขตสงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve)”. สืบค้น 12 ธันวาคม 2024.
14 เลือกแลนด์บริดจ์ปิดฉากมรดกโลก | Big Story เรื่องใหญ่ Thai PBS, 2024.
15 วันชัย, ตันติวิทยาพิทักษ์. “ ‘ตำน้ำพริกละลายทะเล’ ความเห็นของบริษัทเดินเรือต่อโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ ของไทย”. The 101 World, 1 พฤศจิกายน 2023.
16 มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย. “16 มิถุนายน วันเต่าทะเลโลก”. สืบค้น 14 ธันวาคม 2024.
17 เสาวลักษณ์ เขตสูงเนิน. “‘แลนด์บริดจ์’ (ฝัน) ที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย?THE STANDARD , 19 มกราคม 2024.

บทความที่เกี่ยวข้อง

กาสิโนถูกกฎหมาย

เมื่อสังคมไทยต้องเสี่ยงดวงกับ ‘กาสิโนถูกกฎหมาย’

กาสิโนถูกกฎหมาย เป็นนโยบายที่ภาครัฐพยายามเร่งผลักดันโดยที่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนมากนัก ในบทความนี้จะชวนตั้งคำถามว่า สังคมไทยต้องเสี่ยงดวงเจอกับอะไรบ้างเมื่อกาสิโนมาถึง?

เปิดโจทย์การแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัล: เมื่อกฎหมายไม่ทันตลาด เราควรเดินหน้าอย่างไร

ไทยยังกำกับดูแลได้แพลตฟอร์มดิจิทัลได้ไม่ดีพอ และร่างกฎหมายใหม่ก็อาจไม่เข้ากับบริบทตลาดไทย แล้วทางเดินของหน่วยงานกำกับดูแลควรเป็นเช่นไร?

12 December 2024

หน่วยงานกำกับดูแลไทย: ไม่โปร่งใส ไม่มีกลไกรับผิดรับชอบ ไม่มีประสิทธิผล?

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า และหาหนทางการยกระดับหน่วยงานกำกับดูแลให้สามารถรักษาการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมได้

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.