เรื่องเล่าของ  ‘เด็กสมัยนี้’

101 PUB ชวนอ่านและชมเรื่องเล่าว่าด้วยชีวิตและความฝันของเด็กและเยาวชนไทย ที่ได้รับรางวัลจากกิจกรรมประกวด “เรื่องเล่าของ ‘เด็กสมัยนี้’” โดย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว – คิด for คิดส์ 

จากผลงานกว่า 513 ชิ้นงาน นี่คือ 16 ชิ้นงานที่ผ่านการเลือกสรรจากศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว – คิด for คิดส์  ร่วมกับ The101.wolrd — มาดูกันว่า “เรื่องเล่าของ ‘เด็กสมัยนี้’” สะท้อนอะไร และพวกเขาอยากบอกอะไรกับสังคม


กลุ่มอายุไม่เกิน 15 ปี


รางวัลชนะเลิศ

ชื่อผลงาน: เด็กสมัยนี้สบายจะตาย
ประเภท งานเขียน
โดย แก้วมรกต มาตย์เทพ


“เด็กสมัยนี้สบายจะตาย”

คำอย่างว่าบอกพวกเรา คอยเตือนว่าเด็กสมัยนี้ต้องไปได้ไกลจากความพัฒนาที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ครั้งนึง หรืออาจจะเมื่อนานมาแล้ว

เด็กที่กำลังจะได้เติบโตต่างพากันวาดฝัน พวกเราพูดเรื่องราวที่อยากเป็น อยากมีเมื่อได้โตขึ้น

เราพูดออกมาราวกำลังวาดเทียนสีลงกระดาษที่มีความยาวมากกว่าดวงจันทร์ เรารู้ว่าหน้ากระดาษนั้นจะไม่มีวันหมด

จนกระทั่งได้รับรู้ว่าวันหนึ่งสีเทียนในมือจะหมดแท่งลงแทนที่

และเมื่อเราถูกหยิบยื่นสีเทียนแท่งใหม่มาไว้ในมือ สีของมันเหมือนปนเปื้อนสกปรกจากคราบน้ำตา ความผิดหวัง ความเป็นจริง

เป็นสีที่ไม่เหมือนที่เธอเคยใช้มาก่อน

เป็นสีที่ไม่น่านึกจำ ไม่น่าหยิบจับ

 และมันตอกย้ำได้เพียงว่าเธอจะไม่มีวันได้จับสีเทียนเท่งเดิมอีกแล้ว

ถึงตอนนั้นเด็กน้อยจะวางสีเทียนลง

ก่อนจะเริ่มร้องไห้

“โตขึ้นไปอยากจะเป็นอะไรเหรอ ?”

คำถามพื้นฐานของการเริ่มบทสนทนาของคนที่ไม่รู้จักกันมา เด็กคนเดิมได้แต่นั่งคิดหาคำตอบ

ก่อนได้ขำร่วนออกมา

“ไม่รู้สิ ไม่รู้เหมือนกัน”

เธอส่ายหัวไปมา ยิ้มประดับความคิดที่เคยนึกเสียใจกับเรื่องที่ผ่านมาแต่ตอนนี้กลับรับได้แม้นักข่าวจะบอกว่าพรุ่งนี้โลกจะแตกเป็นเสี่ยง

เธอก็คงไม่สนอะไรมากนักหรอก

“อยากมีเงิน แต่ก็ไม่อยากจะไปขโมยของใคร”

เธอค่อยๆเกริ่นเหมือนคนไม่มีความคิดอะไรมากมายในหัว

“ไม่อยากเข้าคุก อยากจะมีบ้านสักหลังไว้ให้นอน มีข้าวไว้ให้กิน”

ตัวเธอร่ายยาวกับความฝันที่วาดไว้ พูดไปตามจริงก่อนจะวางหนังสือที่อ่านอยู่ทิ้งไว้ข้างตัว

“นั่นเขาเรียกว่าความฝันแน่เหรอ ?”

“ก็ ไม่รู้สิ”

“แล้วที่เคยอยากเป็นตอนเด็กๆ ที่เคยบอกว่าอยากเป็นนั่นเป็นนี่ ตอนนี้ยอมแพ้แล้วเหรอ”

“ไม่นะ ไม่ได้ยอมแพ้ แค่ไม่คาดหวังแล้ว”

ถึงตอนนั้นคนข้างตัวของเธออาจจะมองมา เห็นเธอกำลังใช้สีเทียนสีน่าเกลียดวาดลงสมุดภาพของเธอ แต่ก็ต้องขมวดคิ้วมุ่นทันทีเมื่อได้เห็นว่าอีกคนดูจะถนอมรักษาก้อนไขมันที่มีสีไม่น่าดูนั่นเสียเหลือเกิน

“สีอะไรน่ะ น่าเกลียดจัง”

เธอคนเดิมขำอีก

“ฉันรู้”

เธอพูดถึงเรื่องเมฆในวันนี้ ตัวเธอถามไปเรื่อยว่าพรุ่งนี้ฝนจะตกไหม แดดจะร้อนหรือเปล่า

หรือพรุ่งนี้เธอจะได้เจอสายรุ้งไหม

ก่อนจะพูดออกมาอีก

“เอาจริงๆฉันก็ไม่ชอบสีนี้นะ”

“ก็หาสีแท่งใหม่สิ จะไปยากอะไร”

“ไม่ได้”

เธอหันมามองตรงๆ คราวนี้เลือกที่จะไม่แอบซ่อนความสนุกไว้ในคำกล่าวอีก

เพราะคราวนี้เธอจริงจัง

“ฉันต้องใช้สีน่าเกลียดๆนี่ให้หมดแท่งก่อน ถึงจะได้เริ่มใช้สีแท่งใหม่”

“ถึงวันนึง ฉันจะได้เจอสีที่ฉันชอบที่สุดเอง”

และกว่าจะถึงวันที่กระดาษของเธอจะหมดลง เธอยังคงเชื่อมั่นที่จะกอบกุมสีทุกสีที่เข้ามาในชีวิตเธอ ถึงแม้บางทีมันก็แสนไม่น่าดูบางคราวก็อ่อนเกินไปกว่าจะได้โดดเด่นบนผ้าใบ หรือบางเวลาก็ไม่ถูกใจใครที่มองผ่านเข้ามา เธอก็ยังยืนยันที่จะวาดลงไปอีก

เธอต้องการที่จะจับสีที่เธอต้องการสักครั้ง

ขอแค่ครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว

……………………………………………………….


รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

ชื่อผลงาน: Behind The Scene
ประเภท งานเขียน
โดย ขวัญณรี ปรักมะวงศ์


ตรู๊ด ตรู๊ด ตรู๊ด

เช้าวันจันทร์ที่แสนน่าเบื่อได้มาเยือนอีกครั้ง มือเรียวยกขึ้นไปกดปิดนาฬิกาปลุกเจ้าปัญหาที่ส่งเสียงเตือนว่าเช้าวันใหม่มาถึงแล้ว และเจ้าของที่นอนคลุมโปงบนเตียงนุ่มควรลุกแล้วไปจัดการตัวเองให้เรียบร้อยพร้อมไปโรงเรียน เด็กสาววัยรุ่นก้าวเท้าลงจากเตียงนอน เดินอย่างสะลึมสะลือเพื่อไปอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฝัน ก่อนจะลงไปยังชั้นล่างของบ้านเดี่ยวสไตล์โมเดิร์ล

“น้ำหวานลูก มากินข้าวเช้าก่อนแล้วค่อยไปโรงเรียนนะ” ผู้เป็นมารดาเอ่ยเรียกเด็กสาว เจ้าตัวไม่ลืมที่ตอบรับเบาๆ และเดินไปนั่งบริเวณโต๊ะทานอาหาร กับข้าวหน้าตาน่าทานส่งกลิ่นหอมเย้ายวนความหิวได้เป็นอย่างดี น้ำหวานตาเป็นประกายเมื่อเจอแกงจืดเต้าหูของโปรด รอยยิ้มเล็กๆถูกจุดขึ้นมาบนใบหน้าจิ้มลิ้ม

ก่อนที่มันจะหายไป…อย่างรวดเร็ว

“เมื่อคืนได้อ่านหนังสือทบทวนบทเรียนหรือเปล่าลูก”

จากคำถามของหญิงสาววัยกลางคนที่นั่งลงฝั่งตรงข้ามกัน

ของโปรดไม่สามารถทำให้น้ำหวานมีความอยากอาหารได้แล้ว เธอถือช้อนส้อมค้างไว้พร้อมกับหันไปยิ้มแบบที่ไม่มีใครสามาถรแยกออกว่ามาจากใจจริงหรือปรุงแต่งเพื่อสร้างความสบายให้คู่สนทนากันแน่ “แน่นอนสิคะ หวานอ่านจนจบบทแล้วด้วย” เด็กสาวตอบเสียงใส ก่อนจะวางช้อนส้อมและเก็บจานไปล้างที่อ่างล้างจาน สร้างความงุนงงให้กับอีกหนึ่งชีวิตในบ้าน “วันนี้หวานมีเรียนเสริมที่โรงเรียนตอนเช้าค่ะแม่ หวานไปโรงเรียนแล้วนะคะ” พูดจบก็สะพายกระเป๋าแล้วเดินออกจากบ้านไปทันที จึงไม่ได้ยินเสียงถอนหายใจของผู้เป็นมารดาที่นั่งอยู่ที่เดิม

โดยปกติเด็กสาวไปโรงเรียนด้วยการใช้บริการรถสาธารณะ แต่ในเมื่อวันนี้เธอมีธุระที่ต้องรีบไปให้ถึงเร็วที่สุด รถจักรยานยนต์รับจ้างจึงเป็นสิ่งที่น้ำหวานเลือกแม้จะต้องแลกด้วยจำนวนเงินที่แพงมากขึ้นกว่าเดิมเพราะค่าน้ำมันที่พุ่งสูงจากพิษเศรษฐกิจก็ตาม การจารจรยามเช้าในกรุงเทพมหานครยังคงคับคั่งไปด้วยรถราหลากหลายชนิด ดวงตากลมเหม่อมองท้องฟ้าที่ถูกสายไฟระโยงระยางบดบังด้วยความว่างเปล่า สายลมเอื่อยที่พัดโดนผิวหน้าไม่เคยให้ความรู้สึกเสียดแทงไปถึงขั้วหัวใจได้เพียงนี้ ประโยคที่ใช้ปลอบโยนตัวเองทุกเช้าถูกหยิบยกขึ้นมาใช้อีกครั้ง

เก่งๆมากแล้ว อดทนได้ดีมาก ทำให้ดีแบบนี้ไปเรื่อยๆเลยนะ…

“ไง ทำไมมาเช้า” สิ่งแรกที่ได้ยินเมื่อมาถึงโรงเรียนไม่ใช่เสียของคุณลุงยามหรือคุณครูที่เป็นเวรประจำวัน แต่เป็นเสียงของเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวของน้ำหวานที่อยู่ด้วยกันมาสี่ปีเต็มในโรงเรียนแห่งนี้ “มีติวของอาจารย์น่ะ ทำไมเบสท์มาเช้าจัง” เธอตอบกลับพร้อมคำถามที่สงสัย ปกติเพื่อนคนนี้ไม่ใช่คนมาโรงเรียนเช้าสักหน่อย เราทั้งคู่ตัดสินใจเดินเข้าโรงเรียนพร้อมกัน ระหว่างทางน้ำหวานรอฟังคำตอบจากอีกคนอย่างใจจดใจจ่อแต่ไม่มีบทสนทนาใดหลุดออกมาจากเพื่อนสาวข้างหายตัวแม้แต่น้อย

“แค่มาถ่ายรูปบนอาคารเจ็ดแค่นั้นเอง เลยรีบออกมา” เบสท์ตอบด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น เพื่อนสนิทชูกล้องที่คล้องคอเอาไว้ให้ดู น้ำหวานพนักหน้าเข้าใจและอมยิ้ม เมื่อมองเห็นสีหน้าที่มีความสุขของคนข้างกาย

ดีจังเลยน้า…

เพื่อนรักทั้งสองเดินเคียงคู่กันไปเรื่อยๆ น้ำหวานเหม่อมองต้นไม้น้อยใหญ่รอบโรงเรียนที่ไม่ได้ทำให้ผู้มองรู้สึกอิ่มเอมใจ กลับกันมันช่างน่าอึดอัด ราวกับกรงขังปิดบังโลกภายนอกไม่ให้เรามองเห็น เธอแยกทางกับเพื่อนสนิทก่อนจะขึ้นไปบนอาคารเรียนเพื่อเริ่มเรียนเสริมสำหรับเด็กแข่งขันทางวิชาการ เมื่อมาถึงหน้าห้องเป็นที่เรียบร้อย เด็กสาวเอื้อมมือไปจับลูกบิดประตูก่อนจะสูดลมหายใจเข้าปอดเป็นการเรียกกำลังใจตัวเองให้สู้กับการเริ่มต้นวันใหม่

แอ๊ด

“โอ้ สวัสดียามเช้านะน้ำหวาน” ภายในห้องไม่ได้ปรากฎคุณครูประจำวิชาหรือพี่ๆที่อยู่ในโครงการสักคนเดียว มีเพียงหญิงสาวที่นั่งไขว้ห้างอยู่บนโต๊ะริมหน้าต่าง ย้ำอีกครั้งว่า นั่งบนโต๊ะ น้ำหวานถอนหายใจออกมาอย่างไม่ปิดบังพร้อมกับยกมือไหว้ ก่อนจะเดินไปนั่งประจำที่ของตัวเอง ลงมือจัดเตรียมของให้พร้อมกับการเรียนที่กำลังจะเริ่มขึ้น

“อะไรกันคะ คุยกับครูหน่อยสิ” เสียงเล็กเสียงน้อยของหญิงสาวคนเดิมกล่างขึ้น เธอลุกจากโต๊ะริมหน้าต่างเดินมายืนบริเวณหน้าโต๊ะของน้ำหวานพร้อมกับแจกรอยยิ้มกว้างหมายจะทำให้เด็กสาวตรงหน้ายิ้มให้เห็นสักครั้ง

“สวัสดีค่ะ ทำไมครูแนะแนวถึงมาที่ห้องวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เช้ากันคะ มาเปลี่ยนบรรยากาศเพื่อจิบกาแฟยามเช้าหรอคะครู” น้ำหวานยอมพูดคุยด้วยในที่สุด คุณครูแนะแนวได้ยินดังนั้นก็อดไม่ได้ที่จะยกมือข้างที่ว่างจากการถือแก้วกาแฟหอมกรุ่นไปขยี้หัวนักเรียนของเธออย่างเอ็นดู เธอมักจะบอกกับลูกศิษย์ของตัวเองอยู่เสมอว่าเธอชอบการพูดคุยแบบพี่สาวกับน้องๆมากกว่าการเป็นครูแล้วเด็กไม่กล้าที่จะสนทนาด้วย นี่เป็นเหตุให้เด็กทุกคนเต็มใจที่จะเข้าหาเธอเสมอเมื่อมีปัญหาหรือมีเรื่องที่อยากปรึกษา แต่ครูขอเว้นนักเรียนตรงหน้าไว้หนึ่งคนละกัน รายนี้ไม่เคยเข้าหาเธอเพื่อพูดคุยปัญหาของตัวเองเลยสักครั้ง เดือดร้อนให้วันนี้เธอต้องไปอ้อนวอนขอให้คาบเรียนเสริมยามเช้าของวิชาการย้ายห้องเรียน และขอให้น้ำหวานลาหยุดหนึ่งวันเพื่อให้เธอได้ทำหน้าที่ครูแนะแนวที่ดี

“ครูมาคุยกับเรานั่นแหละค่ะ วันนี้ครูไปขอครูศรีรัตน์ให้เราหยุดเรียนเสริมวันหนึ่งน่ะ” เมื่อพูดจบ  เด็กสาวตรงหน้าก็เบิกตากว้าง คนเป็นครูจึงรีบอธิบายก่อนจะโดนลูกศิษย์เข้าใจผิด “คาบนี้เราจะมาเรียนวิชาแนะแนวกันค่ะ” กล่าวจบก็ลากเก้าอี้มานั่งฝั่งตรงข้ามทันที ก่อนจะหยิบเอกสารแผ่นหนึ่งขึ้นมาวางบนโต๊ะ น้ำหวานก้มลงไปมองก่อนจะพบว่ามันคือใบเขียนคณะที่อยากเข้าในการเข้ามหาลัย เธอลอบกลืนน้ำลายและเงยหน้าขึ้นมาสบตาคุณครูอีกครั้ง

“น้ำหวานอยากเป็นหมอหรอคะ” ครูที่มองนักเรียนอยู่แล้วถามคำถามสำคัญออกมาทันทีด้วยน้ำเสียงอ่อนนุ่มไร้การคาดคั้นให้รีบตอบ น้ำหวานกำมือสองข้างที่วางไว้ใต้โต๊ะแน่น เด็กสาวพนักหน้าหงึกหงัก

“คณะแพทย์คือความฝันของหนูจริงๆหรอคะ เราจะมีความสุขใช่ไหมเมื่อต้องเข้าไปเรียนในนั้น”

“…” น้ำหวานเงียบ เธอตอบไม่ได้ ถึงคำถามเหล่านี้เธอเคยถามตัวเองมาหลายครั้งก็ตาม สิ่งที่เธอต้องการคือสิ่งนี้จริงๆหรือว่าเธอแค่ทำเพื่อให้คุณแม่สบายใจกันแน่

แต่เธอไม่เคยมีคำตอบให้การกระทำนี้เลยสักครั้ง

“ไม่เป็นอะไรเลยลูก ไม่ต้องรีบตอบครูก็ได้” สัมผัสอ่อนโยนบนหัวเรียกให้เด็กสาวหลุดจากภวังค์ ดวงตาสีนิลฉายแววกังวลอย่างไม่ปิดบัง สีหน้าท่าทางเหล่านี้ของลูกศิษย์ คนเป็นครูย่อมมองเห็นและรับรู้ถึงมันได้ “เรามาเปลี่ยนเรื่องกันดีกว่าเนอะ ครูว่าจะมาถามพอดีในใบที่ครูให้เราเขียนตอนเปิดเทอม ครูเห็นว่าน้ำหวานไม่ได้เขียนช่อง งานอดิเรกหรือสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข มาให้ วันนี้ครูเลยอยากมาถามต่อหน้าเพราะครูกังวลว่าเราอาจจะอายเพื่อนจนไม่กล้าเขียนลงไป” คุณครูสาวเอ่ย

“หนู…ไม่มีค่ะ เลยไม่ได้เขียนลงไป” คำตอบนี้ไม่ได้ทำให้คนเป็นครูตกใจ เธอคาดการณ์ไว้แล้วว่าสิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่เธอเลือกที่จะไม่ถามต่อและนั่งมองหน้าลูกศิษย์ต่อไปเพียงเท่านั้น

“ตั้งแต่ขึ้นมัธยม เวลาว่างของหนูก็ต้องเอาไปให้หนังสือเพื่อให้คุณแม่สบายใจ ช่วงเวลาที่ไม่ได้จับปากกาทำโจทย์จะเป็นช่วงที่หลับและตอนที่อยู่กับเพื่อนสนิทค่ะ” น้ำหวานตอบกลับเสียงสั่นครือ มันไม่ใช่เรื่องแต่ง เธอไม่ได้จำมาจากนิยายดาร์กที่เพื่อนร่วมชั้นอ่าน นี่คือชีวิตของเธอจริงๆ เธออยู่กับอะไรแบบนี้มาสี่ปีเต็ม “แต่ตอนประถมหนูชอบออกไปขี่จักรยาน หนูชอบไปสอนหนังสือน้องๆที่บ้านคุณตาแถวบ้าน” เด็กสาวยิ้มเมื่อนึกถึงความทรงจำแสนอบอุ่นในวัยเยาว์ หยาดน้ำตาแห่งความสุขเอ่อล้นขอบตาก่อนที่เธอจะรีบเช็ดมันออกอย่างรวดเร็ว “น้ำหวาน พวกเราลองไปหาข้อมูลคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์กันดีไหม” คุณครูเปรยขึ้นมาเบาๆ ด้วยน้ำเสียงอบอุ่น ก่อนจะยื่นกระดาษแผ่นเดิมในวันเปิดเทอมที่เธอเว้นว่างเอาไว้และแผ่นกระดาษเกี่ยวกับคณะที่อยากเรียนพร้อมกับปากกาหนึ่งแท่ง น้ำหวานมองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยสายตาสงสัย ก่อนความไม่เข้าใจจะถูกพัดออกไปแทนที่ด้วยความสุขที่มาเยือนในรอบสี่ปีของเธอ เมื่อได้ยินประโยคดังกล่าวจากคุณครูคนเดิม

“เรื่องนี้เราไม่จำเป็นต้องเอาความคาดหวังคนอื่นเป็นที่ตั้งหรอกค่ะ เราแค่รักษาความฝันของเราเอาไว้ก็พอ”

“…”

“และครูจะช่วยปกป้องความสุขของน้ำหวานอีกแรงนะคะ”

เด็กสาวยื่นมือสั่นเทาของตัวเองไปรับทุกอย่างจากผู้เป็นครู เสียงสะอื้นดังขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ไม่มีอีกแล้วความคาดหวัง ไม่มีอีกแล้วความหนักบนบ่าที่เคยแบกไว้ ทุกอย่างสลายไปมีเพียงความฝันในวัยเด็กที่ชัดเจนขึ้นมากมีคนเอาสีมาสาดไปทั่วความทรงจำ สีสันแห่งความสุข เสียงหัวเราะ ทุกสิ่งทุกอย่างที่น้ำหวานกดมันไว้ลึกที่สุด ลึกลงไปใต้ก้นบึ้งของหัวใจ นานมากแล้ว นานมากจริงๆที่เธอหลงลืมความฝันที่แท้จริงของตัวเธอเอง เด็กน้อยในวันนั้นกลับมาทักทายเธออีกครั้ง และหันมาส่งต่อรอยยิ้มแสนใสซื่อ

น้ำหวานยิ้ม ยิ้มไปทั้งหัวใจ ยิ้มทั้งที่กำลังร้องไห้ หยาดน้ำตาไม่หยุดไหลง่ายๆ เหมือนมันถูกกักเก็บเอาไว้แสนนานจนเมื่อความเข้มแข็งพังทลายจึงมองเห็นตัวตนอ่อนแอข้างในที่เด็กสาวคนหนึ่งพยายามหลบซ่อนและปิดบังเอาไว้ แต่ในวันนี้กลับมีอ้อมกอดอบอุ่นมาแทนที่ อ้อมกอดของคนเป็นครูที่พร้อมจะอยู่เคียงข้างลูกศิษย์ทุกคน เมื่อคิดได้ดังนั้นน้ำหวานจึงกอดคุณครูคนดีกลับไป เรียกเสียงหัวเราะเบาๆจากอีกคนได้เป็นอย่างดี

เก่งมากเลย อดทนได้ดีมากเลยค่ะ น้ำหวานสมควรได้ทำตามความฝันของตัวเองจริงๆสักทีแล้วนะคะ”

ประโยคเดิมที่น้ำหวานเฝ้าบอกตัวเองทุกวัน เมื่อออกมาจากปากคนอื่น มันให้ความรู้สึกเหมือนเธอได้รับการยอมรับจริงๆแล้วอย่างนี้นี่เอง…

ขอบคุณนะคะ…ครูเหมย

จบบริบูรณ์

……………………………………………………….


รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

ชื่อผลงาน: A Marionette in A Birdcage หุ่นเชิดในกรงนก
ประเภท ภาพวาด
โดย ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม

……………………………………………………….


รางวัลชมเชย

ชื่อผลงาน: การเดินทางของฉัน ( My travelling )
ประเภท ภาพวาด
โดย คณิศร รสจันทร์

……………………………………………………….


รางวัลชมเชย

ชื่อผลงาน: ชีวิตและความฝันของเด็กไทยและเยาวชนไทย 2022
ประเภท งานเขียน
โดย ณัฐชเนตร สินทอง


ชีวิตและความฝันของเด็กไทยและเยาวชนไทย 2022

หากพูดถึงชีวิตและความฝันของเด็กไทยในสมัยนี้ การดำรงชีวิตในปัจจุบันอาจเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ทั้งการที่มีผู้ใหญ่คอยมาบงการชีวิตหรือกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆในอนาคต หากพูดในมุมมองของผู้ใหญ่สิ่งที่เขาทำอาจเป็นผลดีต่อตัวเราแต่ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบในการควบคุมอิสระในการใช้ชีวิตและกำหนดอนาคตของตัวเอง ทุกคนลองคิดดูว่าการที่ผู้ใหญ่คอยบังคับชีวิตและอนาคตของเด็กคนหนึ่งมันจะส่งผลดีหรือผลเสียให้กับเด็กมากหรือน้อยแค่ไหน?

ในวัยเด็ก พวกเราค่อนข้างเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นกับหลายๆอย่าง ครอบครัวพูดโน้มน้าวใจให้ลองทำอะไรก็เกิดความสนใจที่จะทำอย่างนั้น กำหนดว่าโตขึ้นควรจะเป็นอะไรก็อยากลองทำตามดูบ้างแต่เมื่อเราโตขึ้นมาในอีกระดับจะพูดว่าโตในอีกวัยหนึ่งก็ไม่เชิง ความคิดของเราเมื่อโตขึ้นได้เปลี่ยนแปลงไปเกือบทุกอย่าง บางทีความฝันในวัยเด็กกลับไม่เหลือร่องรอยให้ดำเนินการต่อไปในอนาคต เมื่อเราก้าวเข้าสู่วัยรุ่นแค่พูดถึงคำว่าวัยรุ่นก็เป็นเรื่องที่หนักใจและมีปัญหาในตัวอยู่แล้ว ในช่วงของวัยนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อาจเกิดจากยุคสมัยใหม่ เมื่อเราเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ระบบการศึกษาและความคิดต่างๆได้เปลี่ยนไปหลายอย่าง พอเราโตขึ้นทั้งความหวังและความกดดันยิ่งเพิ่มเข้ามาเยอะมากขึ้น ถ้าพูดถึงปัญหาในสังคมตอนนี้มีเด็กหลายคนที่เกิดสภาวะการเครียดเข้ามาถาโถมอย่างหนัก เครียดเรื่องเรียนหรือเครียดความฝันในอนาคตของตัวเองบ้างก็เครียดเพราะยังหาความต้องการหรือสิ่งที่ตนชอบไม่เจอหากไปเรียนในด้านที่ไม่ถนัดอาจเกิดความเครียดเยอะกว่าในตอนนี้บ้างก็เครียดเพราะต้องเรียนในสายที่ไม่ถนัดเพราะครอบครัวปูทางในอนาคตไว้ให้หมดแล้ว ความฝันของเด็กแต่ละคนไม่ควรถูกขีดจำกัดเพียงเพราะความต้องการของผู้ใหญ่ การไม่เข้าใจในตัวเองไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่แย่แต่แค่ต้องทำความเข้าใจกับตัวเองก่อน ความไม่เข้าใจในความต้องการของตัวเองก็เกิดมาจากหลายปัจจัยอย่างหนึ่งคือครอบครัวที่ได้กล่าวไปข้างต้นคือการโดยควบคุมจนไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรหรืออีกปัจจัยหนึ่งคือการเรียน หลายคนอาจคิดว่าการเรียนมันส่งผลดีให้กับเด็กไม่ใช่หรือแต่ที่จะกล่าวมันส่งผลเสียให้กับอนาคตของเด็กคนหนึ่งได้ การที่การศึกษาไทยในปัจจุบันมุ่งเน้นกับการเรียนหรือการสอนตามหลักสูตรที่วางไว้ เด็กได้ความรู้แค่ในห้องเรียน ประสบการณ์บางประสบการณ์เด็กหลายคนไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจหรือแก้ปัญหามันได้ เด็กไทยหลายคนใช้เวลาในชีวิตประจำวันส่วนมากกับการเรียนบางคนกลับจากโรงเรียนแทนที่จะได้พักผ่อนกลับต้องไปเรียนพิเศษเสริมเพราะความต้องการของผู้ใหญ่ เรียนจนไม่มีเวลาในการค้นหาตัวเองความฝันของเด็กไทยหลายๆคนเลยอาจอยู่แค่ในกำมือของผู้ใหญ่นั่นเอง

การที่คอยมีคนมาบงการชีวิตและอนาคตของเด็กคนหนึ่งมันส่งผลเสียหลายๆอย่างเพราะความฝันของเด็กคนหนึ่งมันสำคัญมากจะส่งผลทั้งในอนาคตและชีวิตของตัวเอง ผู้ใหญ่ควรที่จะสนับสนุนความคิดของเด็ก ให้อิสระกับทางเลือกในอนาคต ไม่ควรกดดันมากจนเกินไป การทำสิ่งนี้บางคนอาจมองว่าเป็นสิ่งเล็กๆแต่เป็นสิ่งเล็กๆที่ไม่สามารถจะมองข้ามได้และการทำสิ่งนี้อาจส่งผลดีให้กับอนาคตและตัวเด็กได้

……………………………………………………….


รางวัลชมเชย

ชื่อผลงาน: เด็กสมัยนี้
ประเภท วีดีโอ
โดย ปภาวี พลประสิทธิ์

……………………………………………………….


รางวัลชมเชย

ชื่อผลงาน: หวานเป็นขนม ขมไม่ใช่ยา
ประเภท วีดีโอ
โดย วรีรัตน์ นันทสุขเกษม

……………………………………………………….


รางวัลชมเชย

ชื่อผลงาน: สิ่งที่ต้องการคือความสุขในชีวิต
ประเภท ภาพวาด
โดย อธิตยา เอี่ยมเจริญ

……………………………………………………….


กลุ่มอายุ 16-25 ปี


รางวัลชนะเลิศ

ชื่อผลงาน: ชีวิตใหม่
ประเภท งานเขียน
โดย กฤษกร สุขสมโฉม


ชีวิตใหม่

คุณจะว่าอะไรไหม ถ้าหากจะบอกว่าความฝันของฉันคือการได้ไปใช้ชีวิตในต่างแดน ฉันสามารถเรียกสิ่งนี้ว่าความฝันได้ไหม ถ้าหากว่ามันเป็นเพียงสิ่งๆ เดียวในชีวิตที่ฉันปรารถนา เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้พวกคุณอาจนึกในใจว่าเหตุใดคนรุ่นใหม่อย่างฉันจึงคิดที่จะละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง คุณอาจมองว่าฉันเป็นพวกไม่รักชาติ หรือไม่ก็อาจจะมองว่าฉันเป็นคนเห็นแก่ตัว เนื่องจากหลีกหนีไปมีชีวิตใหม่เพียงลำพัง แทนที่จะอยู่ช่วยทำให้ประเทศนี้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งฉันจะไม่ขอแก้ตัวใดๆ ต่อคำกล่าวหาเหล่านี้ ฉันหวังเพียงแต่ว่าคุณจะยอมเปิดใจรับฟังถ้อยคำต่อจากนี้ของฉัน ต่อให้คุณจะก่นด่าในใจไปพร้อมกับการรับฟังฉันก็ยินดี เพราะฉันต้องการแค่ใครสักคนที่เข้าใจฉัน แม้ว่าคนๆ นั้นอาจจะไม่เห็นด้วยกับฉันเลยก็ตาม

ย้อนกลับไปเมื่อสมัยวัยเด็ก ตัวฉันในตอนนั้นห่างไกลจากความคิดที่จะย้ายไปอยู่ประเทศอื่นมากมายนัก เพราะฉันถูกปลูกฝังทั้งจากบ้านและที่โรงเรียนให้ภูมิใจในความเป็นไทย ไม่ว่าจะเพลงชาติที่ถูกเปิดทั้งเช้าเย็น ชาวต่างชาติที่ขนานนามว่าไทยเป็นสยามเมืองยิ้ม ชั่วโมงประวัติศาสตร์ที่สอนว่าไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร หรือแม้แต่คนในครอบครัวต่างก็บอกว่าเมืองไทยมีวัฒนธรรมและประเพณีอันงดงาม ควรค่าแก่การดูแลรักษาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเคารพผู้อาวุโส เนื่องจากพวกเขาล้วนผ่านชีวิตมามากกว่า ดังนั้นเราจึงควรรับฟังคำสั่งสอนจากพวกเขา ไม่ควรใช้วาจาดูหมิ่น หรือแสดงลักษณะเถียงคำไม่ตกฝาก เพราะว่าเราจะกลายเป็นเด็กไร้มารยาท ไม่มีสัมมาคารวะกับผู้ใหญ่ และฉันยังต้องรู้จักรักนวลสงวนตัว สุภาพเรียบร้อย รวมถึงมีความเป็นแม่ศรีเรือน เพื่อให้สอดคล้องกับที่หญิงไทยประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างช้านาน ไม่เหมือนพวกฝรั่งตาน้ำข้าวที่มักจะทำตัวก้าวร้าวกับผู้ใหญ่ หรือผู้หญิงก็มักจะแต่งตัวโป๊ นุ่งน้อยห่มนิด ขาดความเป็นกุลสตรี ต่างจากประเทศเราซึ่งนอกจากจะมีวัฒนธรรมที่ดีแล้ว เราก็ยังมีภาษาที่สวยงาม มีอาหารที่อร่อยจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก มีพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ดังคำกล่าวที่ว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว ตอนนั้นฉันคิดว่าตัวเองช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินนี้ เพราะคงไม่มีที่ไหนจะทำให้ฉันรู้สึกสุขใจเหมือนอย่างที่นี่

จนถึงวันที่ฉันเติบโตเป็นวัยรุ่น เพื่อนๆ ในโรงเรียนก็ได้ตั้งคำถามว่าทำไมพวกเราถึงต้องตัดผม หรือสวมเครื่องแบบนักเรียนเหมือนๆ กัน ทั้งๆ ที่มันก็ไม่ได้มีผลต่อการเรียนเลยแม้แต่น้อย หนำซ้ำเรายังต้องเสียเงินจำนวนมากไปกับค่าตัดผมและค่าชุดเหล่านี้โดยเปล่าประโยชน์ ฉันรู้สึกแปลกใจ เพราะตัวเองไม่เคยนึกสงสัยถึงสิ่งเหล่านี้มาก่อนเลยในชีวิต ที่ผ่านมาฉันเคยเห็นเพื่อนที่ถูกตีเนื่องจากแต่งกายไม่เรียบร้อย เพื่อนที่ถูกจับกล้อนผมเนื่องจากผมยาวเกินมาตรฐานที่ทางโรงเรียนกำหนด หรือเพื่อนที่ถูกยึดลิปสติกเนื่องจากอาจารย์มองว่ามันเป็นการทำให้นักเรียนสนใจเรื่องความสวยงามมากกว่าเรื่องเรียน ฉันมองเห็นภาพเหล่านั้นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาฉันก็ได้แต่เพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะคิดว่าในเมื่อพวกเขาเหล่านั้นทำผิดกฎ ก็ย่อมมีเหตุอันควรที่จะต้องถูกลงโทษ ฉันเชื่อเช่นนั้นมาโดยตลอด จนถึงวันที่กระแสสังคมลุกขึ้นทวงถามว่านี่มันคือร่างกายของเราไม่ใช่หรือ ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือก และนี่มันก็คือชีวิตของเราไม่ใช่หรือ เหตุอันใดถึงต้องยอมให้ใครต่อใครมากำหนดกฎเกณฑ์ ในตอนนั้นฉันเหมือนถูกสั่นคลอนทางความคิด ก่อนจะย้อนกลับไปถามตัวเองว่าเพื่อน ๆ หลายคนที่ต้องถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กไม่ดีเหล่านั้นสมควรแล้วหรือที่จะต้องได้รับการลงโทษ เพียงเพราะพวกเขาอยากใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง เคยมีเพื่อนจำนวนหนึ่งถามอาจารย์ถึงประโยชน์ที่ได้รับจากกฎระเบียบเหล่านี้ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ “ถ้าหากเธอไม่พอใจ หรือไม่อยากทำตามกฎระเบียบของที่นี่ก็ไปเรียนที่อื่น” ในตอนนั้นฉันยังเห็นด้วยกับคำตอบนี้ แต่ตอนนี้ฉันเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่านี่คือคำพูดที่ถูกต้อง หรือเป็นเพียงคำกล่าวของผู้ใหญ่ที่พยายามใช้อำนาจที่ตนมีเพื่อควบคุมเด็กให้เป็นไปอย่างที่ตัวเองต้องการ

เมื่อเวลาผ่านไปฉันก็เริ่มมองเห็นปัญหาโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อน ปัญหาของระบบที่ไม่เอื้อให้คนจนๆ ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก ก่อให้เกิดสังคมที่รวยกระจุกจนกระจาย คนขยันแทบตายแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปไหน เพราะขาดโอกาสอย่างที่ควรจะได้รับ รุ่นพี่หลายคนที่เรียนจบไปต้องกลายเป็นคนว่างงาน หรือไม่ก็ต้องยอมอยู่ในสภาพที่มีรายได้ไม่พอใช้ เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาด อีกทั้งยังต้องพบเจอกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่เกิดมาจากความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารของภาครัฐ หลายคนเลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง และอีกหลายคนที่ต้องยอมทนกับปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างนี้ต่อไป โดยไม่อาจรู้ได้เลยว่าปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะได้รับการแก้ไขเมื่อไหร่ หรือว่าพวกเขาจะต้องยอมทนกับสิ่งเหล่านี้ไปชั่วชีวิต เหมือนกับที่จะต้องมีเหล่านักเรียนใหม่ๆ เข้ามาเป็นผลผลิตจากโรงงานที่มีแม่พิมพ์เดียวกัน และมันก็จะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น 

จนในที่สุดพวกเราก็ตัดสินใจรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องถึงชีวิตใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งนับวันก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนคนมาเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละคนล้วนมาจากต่างถิ่น ต่างครอบครัว ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา รวมถึงต่างภาษา แต่ทุกคนล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือพวกเขาต้องการที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมภายใต้แผ่นดินไทยแห่งนี้ บ้างก็เป็นคนจนๆ ที่ถูกรังแกและถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้มีอิทธิพล โดยที่กฎหมายไม่สามารถมอบความเป็นธรรมให้แก่พวกเขาได้ บ้างก็เป็นเหล่าคนพิการที่ออกมาเรียกร้องถึงสวัสดิการที่ดีขึ้น บ้างก็เป็นเหล่าสาวๆ ทั้งรุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นใหญ่ที่พร้อมใจกันแต่งตัวโชว์ทรวดทรงองค์เอว เพื่อแสดงให้เห็นว่าถึงแม้พวกเธอจะแต่งตัวที่ขัดกับความเป็นกุลสตรี แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าพวกเธอจะเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี อีกทั้งพวกเธอยังสามารถมีคุณค่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้ บ้างก็เป็นเหล่าเด็กและเยาวชนที่ออกมางัดข้อกับพวกผู้ใหญ่ เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาล้วนมีเหตุผลและมีความคิดที่ดี หาใช่เด็กก้าวร้าวอย่างที่พวกผู้ใหญ่กล่าวหามาโดยตลอด และการที่พวกผู้ใหญ่ชอบอ้างคำว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน หรือผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากกว่า ก็ไม่ได้แปลว่าประสบการณ์เหล่านั้นจะมีคุณค่ามากพอที่จะสั่งสอนใครได้ นอกจากนี้ก็ยังมีเหล่าประชาชนตาดำๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควัน มลพิษ น้ำที่ท่วมอยู่บ่อยครั้ง การโกงกิน และการเอาภาษีประชาชนไปใช้ในทางมิชอบ พวกเขาทุกคนล้วนมารวมตัวกัน พร้อมกับความฝันที่จะได้เห็นบ้านเมืองที่ดีขึ้น ได้มีหน่วยงานภาครัฐที่ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าจะมีใครหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของพวกเรา และพวกเขาเหล่านั้นก็มาพร้อมอาวุธปืน แก๊สน้ำตา ร่วมด้วยเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะสลายการชุมนุมของพวกเรา แต่เพื่อบรรลุถึงจุดประสงค์นั้น มันก็ต้องแลกมาด้วยชีวิตของเพื่อนเรานับร้อยที่ต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นผักปลา พวกเราต้องถูกกล่าวหาว่าชังชาติ เพียงเพราะเราอยากเห็นประเทศนี้ดีขึ้น เพื่อนร่วมอุดมการณ์หลายคนที่รอดชีวิตมาได้ก็เริ่มถอดใจ และเริ่มหาลู่ทางในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังต่างแดน เนื่องจากคิดว่าขืนอยู่ที่นี่ต่อไปก็คงต้องทนใช้ชีวิตจมอยู่กับปัญหาเรื้อรังที่ไม่อาจแก้ไขอะไรได้ ความเลวร้ายในประเทศนี้มันคงฝังรากลึกจนเกินกว่ากำลังของคนกลุ่มหนึ่งจะเยียวยามันได้สำเร็จ สู้ไปตายเอาดาบหน้า เสี่ยงชะตาชีวิตกับประเทศอื่นยังจะดีเสียกว่า และฉันคิดว่าอีกไม่นานตัวฉันก็คงจะตามพวกเขาไปเหมือนกัน

สุดท้ายนี้ฉันขอฝากถึงคนที่อาจจะคิดต่างจากเราว่าพวกเราเองก็รักประเทศนี้ไม่ได้น้อยไปกว่าพวกคุณหรอก เพียงแต่เราอาจจะมีแนวทางในการพัฒนาชาติที่แตกต่างกัน และฉันเองก็อยากจะเห็นบ้านเมืองที่ดีเหมือนกับพวกคุณ ฉันไม่อาจคาดหวังให้พวกเราทั้งสองฝั่งหันกลับมารักกัน แต่ฉันเพียงหวังให้พวกเราเข้าใจกัน เพราะไม่ว่าเราจะมีอุดมการณ์เช่นไร เราก็ถือกำเนิดมาจากผืนแผ่นดินเดียวกัน

ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง…

เสียงกรีดร้องดังระงมไปทั่วบริเวณ ภายใต้เสียงปืนนับ 10 นัด

ร่างของนางสาวเพียงขวัญ จำรัสแสง นอนแน่นิ่งอยู่ที่พื้น สายตาของเธอมองไปยังกระดาษแผ่นหนึ่งที่กำลังปลิวว่อนอยู่ในอากาศ

ก่อนที่สติเธอจะดับวูบไป เธอหวนนึกถึงข้อความในกระดาษแผ่นนั้น ข้อความที่เธอตั้งใจจะกล่าวบนเวทีต่อหน้าคนนับพัน ข้อความที่เป็นเหมือนความหวังอันริบหรี่

ข้อความที่ตอนนี้คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวเลือด…

……………………………………………………….


รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

ชื่อผลงาน: จดหมายเปิดผนึก
ประเภท งานเขียน
โดย ตะวัน ผิวทองงาม


จดหมายเปิดผนึก

เขียน ณ ที่ซึ่งห่างไกลจากใครเขา
หมู่บ้านเล็กเล็ก ของเราใต้เงาป่า
บนเทือกเขา ขอบประเทศ เขตลับตา
เลขไปรษณีย์ไม่มีจ่าเขียนหน้าซอง

วันที่ ๕ เดือน ๔ ปี ๒๕๖๕

เรื่อง     ขอความเมตตาผู้เกี่ยวข้อง

เรียน    ท่านผู้นำ, แห่งเมืองอันเรืองรอง และพี่น้องคนไทย ด้วยใจเคารพ

บนผืนดินผืนใดในโลกนี้ ทุกพื้นที่ที่ดินฟ้ามาบรรจบ ไม้ทุกต้นเท่าเทียมสุขเปี่ยมครบพื้นพิภพคือของเราเท่าเท่ากัน บรรพบุรุษของฉันท่านอาศัย บนเทือกเขาพงไพรใต้ฟ้าฝันท่านทั้งหลายจึงขานนามมาตามกัน ว่าเผ่าพันธุ์ “ชาวเขา”…เรายินดี เราเรียกคุณ “ชาวเมือง” ผู้เรืองรุด เพราะเปรียบดุจเทวดาทำหน้าที่ สร้างเมืองทองเมืองไทยให้มั่งมี ก้าวตามโลกทันท่วงทีหลายปีมา ขณะชาวเมืองก้าวไกลไม่หยุดนิ่ง กลับทอดทิ้งเราไว้ไม่เห็นค่า ราวคุณขีดเส้นคั่นกั้นชีวา “ท่านคนเมือง…เราคนป่า” อย่าร่วมทาง แท้เราก็คนไทยมิใช่หรือ ใยแบ่งแยกว่าคือผู้แตกต่างชีวิตเราสลดยิ่งถูกทิ้งร้าง ความฝันที่พรายพร่างก็ลางลา

จดหมายฉบับนี้…ที่ท่านอ่าน ก็เพียงเพื่อสื่อสาร…การเห็นคุณค่า เราและท่านต่างก็ยืนใต้ผืนฟ้าได้โปรดอย่าลืมเลือนเพื่อนมนุษย์ เราไม่ได้หวังสิ่งใดมากไปกว่า ข้อหนึ่งหวังเพียงการศึกษาเป็นที่สุดเพื่อชาวเขามีปัญญาเป็นอาวุธ เป็นหมายหมุดในชีวิตคิดก้าวไกล นานแสนนานครูอาสาจะมาครั้งพวกเรารอด้วยความหวังไม่หวั่นไหว คงไม่มีใครอยากลำบากใจ ต้องอาศัยในถิ่นทุรกันดารเราจึงหวังไม่ลำเค็ญเป็นข้อสอง ใช่เรียกร้องผูกขาดมาตรฐาน เพียงที่อยู่อาศัยไม่ทรมาน ถนนผ่านมั่นคงดำรงตน ศูนย์การแพทย์พร้อมจักรักษาโรค นับเป็นโชคล้ำเลิศก่อเกิดผล ห้าปัจจัยเพื่อนิยามความเป็นคน เพื่อสุขล้นทุกด้าน…ลูกหลานเรา และข้อสามที่อยากจะฝากถึงอยากให้ท่านไม่คำนึงถึงพงศ์เผ่า ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติผูกขาดเรา ต่างเทียมเท่าและเหมือนกันไร้ชั้นชน ให้เกียรติกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ เป็นเพื่อนร่วมหมายหมุดจุดเริ่มต้น ร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามตามใจตน เพื่อสันติสุขล้นบนปฐพี
หนูขอความเมตตาผู้เกี่ยวข้อง ทั้งเพื่อนพ้องและใครใครในพื้นที่ ใต้ผืนธงไตรรงค์คงความดี เรายังรออยู่ที่นี่…ที่ห่างไกล

ท้ายสุดไม่มีเรื่องใดจะใคร่ขอ แค่เพียงรอ “ความเป็นคนบนศักดิ์ศรี” เราต่างยืนบนพื้นดินผืนนี้ หวังเพียงมี “ให้เกียรติกัน” เท่านั้นเลย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบภาพความฝัน

เขียนโดยกลั่นความในใจมาเปิดเผย
ลงนามว่า “ผู้ถูกลืมและละเลย”
ปล. อ่านแล้วอย่านิ่งเฉย…เลยนะคุณ

……………………………………………………….


รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

ชื่อผลงาน: From Dekchai To Nangsao
ประเภท วีดีโอ
โดย ณัฐพงษ์ รักเขตวิทย์

……………………………………………………….


รางวัลชมเชย

ชื่อผลงาน: บทเพลง บทเรียน และน้องฮันนี่
ประเภท งานเขียน
โดย ธนาภรณ์ พรหมภัทร์


“Millennium kids, that all wanna die. Walking in the street with no light inside our eyes” บ่ายวันหนึ่ง ในช่วงสอบไล่ของมหาวิทยาลัย อัลกอริทึมของ YouTube สุ่มเพลง Generation Why? – Conan Gray มาให้เรา ใจหนึ่งเรายิ้มและกล่าวชื่นชมความสามารถของ AI เพราะมันเป็นแนวเพลงที่เราชอบฟังและติดหู อีกใจหนึ่งเพลงนี้ทำให้เราได้ลองพิจารณาเนื้อเพลงแล้วย้อนกลับมามองดูชีวิต ความหวัง และความฝันของเราอีกครั้งว่าในช่วงชีวิตทั้งหมด 18 ปีที่ผ่านมา เราได้บทเรียนอะไรบ้างในการใช้ชีวิตในเมืองแห่งความสิ้นหวังนี้

บทเรียนที่ 1 : การมีสิทธิ์เลือกคือพรสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์

เราเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนล่าง บ้านเกิดอยู่ที่กาฬสินธุ์ แม่เราเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มีอาชีพเป็นข้าราชการระดับบริหาร มีเงินเดือนพอประมาณที่สามารถเลี้ยงเรา พี่ชาย และตา ยายได้อย่างไม่ขัดสน อาจจะไม่ได้กินหรูอยู่สบายแต่ยังพยุงกันไปได้ แน่นอนการเกิดมาในครอบครัวแบบนี้ ในสังคมที่ไม่ได้มีสวัสดิการสาธารณะที่ดีให้กับทุกคน เป็นธรรมดาที่ครอบครัวจะคาดหวังให้เราต้องเป็นเช่นนั้น หรือต้องเป็นเช่นนี้ ต้องรับราชการนะ ต้องเรียนดีนะ ต้องเก่งนะ  แน่นอนจากวันนั้นถึงวันนี้เราอาจไม่ได้ทำให้แม่สมหวังทุกประการแต่สิ่งที่เราทำคือ “เราเดินตามทางที่แม่เลือกให้เราเสมอ” ตอนประถมแม่เลือกเพื่อนให้เรา มัธยมต้นแม่เลือกโรงเรียนให้เรา มัธยมปลายแม่เลือกสายการเรียนให้เรา จะเห็นได้ว่าทุกเส้นทางชีวิตของเรา เราทำตามที่แม่บอกมาตลอดและไม่เคยขัดขืนเลย

จนกระทั่งช่วงม.ห้า เราเริ่มขัดขืนบ้างเล็ก ๆ เริ่มทำสิ่งที่แม่ไม่คิดว่าเราจะทำบ้าง เช่นการขึ้นพูดปราศรัยบนเวทีเรียกร้องทางการเมือง ตอนนั้นเราทำไปโดยที่ไม่ได้บอกแม่หรือใครในครอบครัวเลย ยกเว้นพี่ชาย ในเช้าวันถัดมาเราเห็นตัวเองเต็มหน้า feed Facebook เราตกใจมากและสิ่งแรกที่คิดคือ “แม่จะเห็นยังวะ?” จนสุดท้ายแล้วแม่เราก็ไม่ได้ว่าอะไร ตอนนั้นเรารู้สึกมีความสุขมากเพราะเหมือนเราได้มีโอกาสเลือกเส้นทางในชีวิตเองสักทีและเส้นทางล่าสุดที่เราเลือกเองโดยไม่มีใครมาขีดเส้นว่าเราจะต้องเลือกอะไรจะต้องเลี้ยวไปทางไหนคือการเลือกเส้นทางการเรียนมหาวิทยาลัย การเลือกคณะและมหาวิทยาลัยทั้ง 10 อันดับเราเป็นคนตัดสินใจเองทั้งหมด และเมื่อก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแล้วเรายังได้จัดการแผนการเรียนด้วยตัวเองว่าเทอมนี้จะเรียนวิชาอะไร เรียนอะไรเป็นวิชาโทดี แค่การได้ออกแบบชีวิตของเราเองเราก็รู้สึกเติมเต็มมาก ๆ แล้ว ถึงแม้มันจะเป็นจุดเล็ก ๆ ในชีวิตแต่มันทำให้เรารู้สึกว่า “ชีวิตเป็นของเรา”

วันนี้เราได้ตระหนักและเรียนรู้ว่า “การมีสิทธิ์เลือกเดินในทางของตัวเองคือพรสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์” เพราะฉะนั้นจงเลือกทางที่ใจดีกับตัวเองในอนาคต อาจจะมีกระทบกระทั่งกับใครบ้างแต่อย่างไรก็ตาม ชีวิตของเราก็ยังเป็นชีวิตของเราอยู่ดี

บทเรียนที่ 2 : ห้ามแพ้ ห้ามพลาด ในสังคมเฮงซวย

อย่างที่กล่าวไปในบทเรียนแรกว่าเรามีพี่ชายหนึ่งคน เราทั้งสองอาจจะไม่ได้สนิทกันมาก แต่พี่ชายเราอยู่ในชีวิตเราเกือบทุกช่วงชีวิตและยอมรับเลยว่าพี่ชายมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ เราสองคนไม่ได้คุยกันบ่อยแต่จะแชร์ภาพรวมของชีวิตกันและกันให้ฟังอยู่บ้างเมื่อมีโอกาส หลายคนมักบอกว่าเราเหมือนกันมากทั้งหน้าตา บุคลิกและการใช้ชีวิต เราก็ได้แต่ยิ้มตอบและคิดในใจว่า “แน่สิ เราใช้ second hand experiences จากพี่หลายอย่างมาก”

กระทั่งเราลองย้อนกลับมาคิดแล้วลองถามตัวเองว่าทำไมเราถึงต้องใช้ชีวิตตามประสบการณ์ของพี่มาตลอดพอได้ลองทบทวนดูแล้วเราพบว่าเพราะอย่างที่บอกไปว่าในสังคมที่ไม่ได้มีสวัสดิการรองรับเราได้ดีพอ เป็นธรรมดาที่ครอบครัวเริ่มเอาความคาดหวังมาไว้ที่เราและท้ายที่สุดมันอาจกลายเป็นสิ่งที่เป็นโซ่ตรวนกักขังเราในการตามหาความฝันและกักขังไม่ให้เราได้ไปลองใช้ชีวิตและอีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญคือ ครอบครัวเราไม่ได้มั่งคั่งพอที่จะพลาดได้หลายครั้ง และรัฐเองไม่ได้น่าไว้วางใจพอที่จะทำให้เรารู้สึกว่าเราพลาดได้ในสังคมแบบนี้

ถ้าพูดในองค์รวม เด็กทุกคนไม่ได้มีผู้ปกครองเป็นข้าราชการอยู่แล้ว หากเราพลาดและไม่ได้มีแม่เป็นข้าราชการ เราอาจตกหล่นในระบบการศึกษา หากเราพลาดเราอาจไม่ได้มีสิทธิ์มีชีวิตที่ดี ได้ดื่มน้ำสะอาด มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทุกคนที่ไม่ได้มีฐานะมากมายอะไรตกเป็นเหยื่อของระบบที่ไม่ได้เกื้อหนุนให้เราทุกคนมีชีวิตที่ดี และระบบผลักภาระให้เราต้องดูแลตัวเองมากเกินไป ซึ่งระบบแบบนี้มักจะผลักดันหรือบีบบังคับให้เราต้องเป็นผู้ชนะเท่านั้น เพราะถ้าเราไม่ชนะจะไม่มีอะไรมารองรับชีวิตเราไว้เลย “มันไม่แฟร์ คนเราควรมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตต่อไปไม่ว่าจะรวยหรือจน เก่งหรือโง่ ดีหรือชั่ว

บทเรียนที่ 3 : ทุกความฝันมีค่าใช้จ่าย แม้แต่ฝันธรรมดาของฉัน

ตลอดระยะเวลาครึ่งปีหลังจากที่เราลงจากเวทีปราศรัยครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของเรา มีสื่อหลายสำนักมาสัมภาษณ์เราอยู่ตลอด มีหนึ่งคำถามที่ถูกถามบ่อยมากและเป็นคำถามที่ทำให้เรารู้สึกอ้างว้างในเวลาเดียวกันคือคำถามที่ว่า “น้องขิมมีความฝันไหมคะ ?” สิ่งที่เข้ามาในหัวหลังจากที่เราได้รับคำถามนี้คือ “เชี่ย…ไม่มีว่ะ เออทำไมเราไม่มีความฝันที่เป็นรูปเป็นร่างวะ” ก่อนจะตอบออกไปตามความจริงว่าเราไม่ได้มีความฝันว่าอยากเป็นอะไร หรืออยากทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราฝันถึงตลอดเวลาคือเราฝันมาเสมอว่าเราอยากมีเวลาว่างไปนั่งสวนสาธารณะใกล้บ้าน เราอยากนั่งใต้ต้นไม้ใหญ่ เราอยากมีน้ำประปาที่ไม่เค็มใช้ เราไม่อยากซื้อน้ำกินทุกวัน เราอยากสูดอากาศบริสุทธิ์ทุกวัน และมีหมาโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ชื่อฮันนี่เลี้ยงสักตัว แน่นอนว่าที่กล่าวมาทั้งหมดไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เลยเราแค่ฝันว่า “เราแค่อยากเป็นคนธรรมดาในสังคมที่ดีกว่า” ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาถ้าเราจะได้ความฝันนั้นมาอย่างสมบูรณ์คือเราต้องรวยในสังคมนี้ก่อนเราถึงจะได้มันมา เศร้านะ แต่จริง

ที่มาของความฝันธรรมดาของเราคือ เรารู้ดีว่า ไม่ว่าคุณจะมีความฝันว่าอยากเที่ยวรอบโลก อยากเป็นนักบินอวกาศ อยากนักแต่งสวน หรืออะไรก็ตาม ทุกความฝันนั้นมีค่าใช้จ่ายเสมอทั้งที่จ่ายเป็นเงิน จ่ายเป็นเวลา และจ่ายเป็นจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะต้องจ่ายมากขึ้นไปอีกถ้าสังคมที่เราอยู่ไม่ได้เอื้อให้เรามีความฝัน หรือความหวังในชีวิตอย่างสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่โลกหมุนเร็วขึ้นทุกวินาทีแต่สังคมไทยยังอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน ผู้มีอำนาจไร้วิสัยทัศน์อยู่แบบนี้ พื้นที่สาธารณะสำหรับใช้เวลาว่างมีน้อย เงินเดือนเริ่มต้นเด็กจบใหม่ยังเท่ากันกับเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาแต่ค่าครองชีพยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ ความเจริญยังกระจุกไว้ที่เดียว ดังนั้นไม่แปลกเลยที่ทุกความฝันมีค่าใช้จ่ายมหาศาลแม้แต่ความฝันธรรมดาของเรา ไม่แปลกเลยคนรุ่นใหม่เริ่มหมดหวังในการใช้ชีวิตและเริ่มที่จะฝันให้น้อยลง เพราะสภาพความเป็นอยู่ของสังคมนั้นพรากความหวังและความฝันไปจากเราแล้ว

จากที่กล่าวมาทั้งสามบทเรียนที่เราได้เรียนรู้มาตลอด 18 ปี จะเห็นได้ว่าเมื่อสังคมที่เราอยู่เป็นสังคมที่บีบบังคับให้เราต้องชนะ เราต้องรีบโต รีบทำงาน รีบหาเงิน รีบมีมีรายได้ที่มั่นคง เพื่อที่จะอยู่รอดในสังคมแบบนี้สังคมที่ปากท้องกับอุดมการณ์ไปด้วยกันได้ยาก ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างเรามีเวลาน้อยเหลือเกินที่จะได้หยุดพักเพื่อหายใจ ได้ลองใช้ชีวิตอย่างพิถีพิถัน  ได้ลองพิจารณา ทบทวน เรียนรู้ และเชยชมว่าสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทางบนเส้นทางในชีวิตรอบตัวเราว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ฉะนั้นเราเลยอยากบอกเพื่อน ๆ หลายคนที่เจอสถานการณ์แบบเดียวหรือรู้สึกแบบเดียวกันกับเราว่า เราเข้าใจสถานการณ์และข้อจำกัดของทุกคนจากใจจริง มาจับมือเดินไปพร้อมกันแล้วการสร้างสังคมที่ดีกว่าไปด้วยกัน มาร่วมเลือกเส้นทางชีวิตและใช้ชีวิตอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้เหมาะกับตัวเราในอนาคตที่ฝันไว้ไปด้วยกัน

……………………………………………………….


รางวัลชมเชย

ชื่อผลงาน: My Dream
ประเภท วีดีโอ
โดย ธีร์รัชต์ ไชยคำภา

……………………………………………………….


รางวัลชมเชย

ชื่อผลงาน: เรื่องเล่าจากเด็กเตรียมสอบคนหนึ่ง
ประเภท งานเขียน
โดย ปวริฐ์ศา เยี่ยมเมธากร


เรื่องเล่าจากเด็กเตรียมสอบคนหนึ่ง

“แด่ความทุกข์ทรมานที่ข้าพเจ้าจำต้องเผชิญ โลกนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบแต่ใช่ว่าเราจะห่วยแตกไปเสียทุกเรื่อง”

ประโยคดังกล่าวเป็นตะกอนจากความคิดหนึ่ง ในช่วงขณะหนึ่ง ที่ตัวฉันพลันนึกขึ้นในตอนที่คิดอยากลาออกจากระบบการศึกษาแล้วผันตัวไปเป็นนักเขียน หลังจากที่ตรอมตรมกับความผิดหวังซ้ำซาก เพราะคะแนนสอบสำหรับยื่นเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นไปดั่งที่ใจปรารถนา

มันเป็นคำโปรยสำหรับหนังสือที่ฉันต่อเติมขึ้นผ่านจินตนาการ ด้วยเป้าประสงค์ที่ต้องการเขียนหนังสือตีแผ่ชีวิตเด็กเตรียมสอบในประเทศเส็งเคร็งนี่ แม้จะเป็นเพียงแบบร่างของโครงการที่ยังไม่ได้ตอกเสาเข็มฝังลึกลงถึงพื้นดิน ทว่ามันกลับเป็นเครื่องหมายย้ำเตือนได้เป็นอย่างดี หากฉันไม่ได้เข้าศึกษาต่อในคณะที่มุ่งหมาย มีหวังได้เตรียมเชื่อมเหล็กก่อร่างสร้างโครงต่อเป็นแน่

ฉันเพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่หกไปหมาด ๆ เรียกได้ว่าเป็นเด็กที่ต้องเตรียมสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาขนานแท้ หากจะให้ไล่เรียงความฝันของฉันนับตั้งแต่ช่วงประถมจวบจนมัธยม มันมากมายจนสามารถเรียงรายให้ก่อเกิดเป็นกลุ่มดาวกลุ่มหนึ่งก็ว่าได้ และฉันเชื่อว่ายังมีกลุ่มดาวอีกมหาศาลจากอีกหลายล้านดวงจิต พร่างพรายในท้องฟ้าแห่งจินตนาการจนก่อเกิดเป็นจักรวาลแห่งความมโนรถไร้สิ้นสุด

เพราะมีความฝัน จึงมีเป้าหมาย เพราะมีเป้าหมาย จึงก่อเกิดเป็นความพยายาม

ความพยายามที่จะดิ้นรนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ที่ต้องเผชิญในวัยเยาว์

ฉันเพิ่งครบสิบแปดไปเมื่อไม่นาน ชีวิตในตอนนี้ยังนับเป็นวัยเยาว์อยู่หรือเปล่า?

แม้ในทางกฎหมาย ฉันจะยังคงเป็นเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ทว่าในทางกลับกัน บางครั้งผู้คนรอบข้างรวมถึงเสียงในหัวของฉันมักพร่ำบอกเสมอว่า ‘ฉันโตพอที่จะเริ่มใช้ชีวิตด้วยตนเองได้แล้ว’

ในตอนเด็กฉันเคยฝันว่าอยากเป็นวิศวกร พอโตขึ้นอีกนิดเมื่อเทคโนโลยีเริ่มครองเมือง ความคิดอีกขั้นที่อยากเป็นซอฟต์แวร์เอ็นจิเนียก็ผุดขึ้น แต่สุดท้ายก็ต้องปัดความคิดนั้นเข้าผืนพรมเพราะหัวดันปรปักษ์กับการคำนวณอย่างรุนแรง, ฉันชอบการวาดรูป ครั้งหนึ่งเคยวาดฝันเอาไว้ว่าอยากจะเป็นแอนิเมเตอร์ในสตูดิโอยักษ์ใหญ่ชื่อดัง ทว่าความหวังกลับล้มระเนระนาดเพราะขาดการสนับสนุนต่อ แม้จะคิดว่าของอย่างนี้อาศัยความชอบก็คงพอ แต่สุดท้ายพอขาดแรงสนับสนุนต่อ ฉันก็เริ่มหมดไฟไปโดยทันที จากนั้นจึงหันไปสนใจวิชาชีพด้านภาพยนตร์ กระนั้นกลับถูกพวกผู้ใหญ่เป่าหูอยู่เสมอว่าสายงานนี้ไม่ได้เป็นที่มั่นคง แถมเรียนไปก็เหมือนเปลืองเงิน เพราะที่บ้านไม่ได้มีฐานะดีมากมายขนาดนั้น

จนกระทั่งในตอนนี้ ฉันอยากเป็นนักกฎหมาย ซึ่งเบนเขนไปจากสายเดิมที่เคยสนใจมากพอสมควร แม้กฎหมายในประเทศสารขัณฑ์แห่งนี้จะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์แม้แต่นิด กระนั้นมันกลับเป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่ฉันยอมทุ่มเทและเอาตัวเองเข้ามาเสี่ยงในโค้งสุดท้าย ลงหลักปักฐานแล้วว่าไม่ว่าอย่างไรก็จะเรียนต่อในคณะนี้ให้ได้ (แม้ความหวังจะเริ่มริบหรี่มากแล้วก็ตาม)

ทว่าลึก ๆ ในความคิดของฉัน เป้าหมายสูงสุดหนึ่งเดียวคือการได้เป็นอิสระจากพันธะกตัญญู ไร้สิ่งผูกมัดใดมาระรานใจในการใช้ชีวิต ฉันอยากทำงานใช้ชีวิตโดยไร้โซ่ตรวนหนี้สินที่ผู้ใหญ่ก่อเอาไว้ ตัวอย่างที่มีให้เห็นก็ไม่ใกล้ไม่ไกล มันปรากฎในชีวิตการทำงานของพี่สาวของฉัน ที่ในตอนนี้ยังต้องแบ่งเงินเดือนอีกครึ่งหนึ่งส่งกลับมาให้ที่บ้าน ปราศจากเงินเก็บที่ใช้เพื่อเติมความสุขส่วนตัว ชีวิตที่มีพันธะทั้งยังไร้อิสระเป็นอะไรที่น่าอดสู ไม่ใช่ว่าฉันไม่รักพวกเขา แต่ฉันเกลียดค่านิยมของสังคมเรื่องการกตัญญู ดูก็รู้ว่ามันมาจากโครงสร้างที่บิดเบี้ยวของการบริหารที่รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายรัฐสวัสดิการที่แข็งแรงพอ จนสามารถหล่อเลี้ยงคนเฒ่าคนแก่ภายในบ้านเราได้ ท้ายที่สุดที่พึ่งหนึ่งเดียวของพวกเขาก็มีแต่ลูกหลานอย่างเรา ๆ ที่จะเลี้ยงเขาต่อไปได้ในบั้นปลายสุดท้ายของชีวิต

อีกหนึ่งสิ่งที่ฉันเพิ่งค้นพบได้ไม่นาน ฉันคิดว่าตัวเองมีฝีไม้ลายมือในด้านการเขียน หลายครั้งฉันมักระบายความอัดอั้นตันใจออกมาในรูปแบบของตัวอักษร ผสานความเวิ่นเว้อและเพ้อฝันอีกสักนิด กอปรกับห้วงอารมณ์ในเวลานั้น กลั่นออกมาให้เป็นงานเขียนชิ้นหนึ่งที่อาจไม่ได้มีราคามากมาย กระนั้นกลับมีคุณค่าทางจิตใจที่ต่อเติมเสริมจินตนาการให้ผู้ที่อ่านมันได้นึกถึงสิ่งที่ฉันต้องการจะสื่อ

บางทีฉันก็อยากผันตัวไปเป็นนักเขียนเสียเอง แต่ฉันไม่มีทุนทรัพย์อะไรที่จะมารองรับไว้ในช่วงที่งานเขียนอาจขายไม่ออก พื้นเพฐานะทางบ้านไม่ได้มั่งคั่งพอที่จะรองรับการลงทุนไร้มูลค่า ใครว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน อย่างน้อยหากได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำ อย่างน้อยแล้วก็ได้คอนเนคชั่นรวมถึงปูพื้นฐานให้โปรไฟล์แข็งแรงขึ้นสำหรับการสมัครงานในอนาคต ระหว่างรอประกาศผลแอดมิดชั่น ฉันคิดว่าหากฉันสอบไม่ติด ในใจก็นึกอยากจะลองแก๊ปเยียร์สักปีเพื่อเขียนหนังสือ แต่ฉันก็รู้สึกว่ามันไม่คุ้ม อาจเพราะสังคมรอบข้างบีบบังคับให้เราต้องรีบเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา รีบเรียนให้จบเพื่อรับใบปริญญา รีบประสบความสำเร็จจากฐานเงินเดือนที่อาจเริ่มต้นเพียงหมื่นห้า, บ้าชะมัด

บางคนเรียนจบมาแล้วยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าตัวเองชอบอะไร ชอบทำสิ่งไหน จุดที่ยืนอยู่นั้นใช่ที่ของตัวเองจริงหรือไม่ เสมือนโดนปล่อยเคว้งให้อยู่กลางเกาะร้างกลางทะเลที่ห้อมล้อมไปด้วยมหาสมุทรผืนใหญ่ ฉันเชื่อว่ามีผู้คนมากมายที่รู้สึกแบบนั้น และนับประสาอะไรกับตัวฉัน ที่แม้ในปัจจุบันจะมีเป้าหมายเป็นของตัวเองว่าอยากเรียนต่อกฎหมาย แต่ฉันก็ยังรู้สึกเปลี่ยวเคว้งท่ามกลางความสับสนอยู่เสมอ ว่าแท้จริงแล้วโตขึ้นฉันอยากเป็นอะไรกันแน่?

ฉันไม่มีความฝันที่แท้จริงหรอก ถึงมีก็อาจผันแปรไปตามปัจเจกนิยม หรือมันอาจเป็นเพราะสังคมไทยบีบบังคับให้เด็กต้องรีบมีความฝัน พวกผู้ใหญ่ชอบป้อนคำถามต่อเด็กคนหนึ่งเสมอว่า ‘รู้หรือยังว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร’ ทั้งที่ในความเป็นจริง กว่าจะรู้ตัวว่าชอบสิ่งใด เราต้องลงแรงลงใจกับมันไปมากโข การได้ลองลงมือทำสิ่งหนึ่งมันสามารถบ่งบอกให้รู้ได้เลยว่าเราจะไปต่อกับมันได้จริงหรือไม่ แต่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะสามารถหยิบยื่นโอกาสเหล่านั้นให้เด็กคนหนึ่งได้ทดลองทำในสิ่งที่พวกเขาใฝ่ฝัน

ฉันอยากให้ระบบการศึกษาประเทศเราดีเท่าประเทศแถบสแกนดิเนเวีย หลักสูตรของพวกเขาเปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองทำในหลาย ๆ สิ่ง ไม่ได้กดดันให้เยาวชนต้องดีเด่นทางด้านวิชาการเท่าประเทศแถบเอเชีย มันอาจเป็นความฝันหนึ่งเดียวในใจฉันที่ไม่ได้แปรผันไปตามสถานภาพของตัวเองก็ได้ เพราะลึก ๆ ในใจฉันก็ยังอยากให้ประเทศนี้พัฒนาต่อ สิ่งสำคัญคือต้องมีผู้ใหญ่คอยสนับสนุนความฝันของเยาวชนให้เป็นไปตามใจที่ปรารถนา เผื่อเด็กคนอื่นจะได้ไม่ต้องรู้สึกสับสนเหมือนอย่างที่ฉันเป็นในปัจจุบัน เพราะเด็กในวันนี้ อย่างไรเสีย พวกเขาก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้า

ว่ากันว่าทุกการเติบโตมักเป็นบทเรียนสำหรับตัวเราเสมอ ทุกประสบการณ์ที่เคยเจอในอดีตจะคอยเป็นเครื่องหมายย้ำเตือนตัวเราในการใช้ชีวิต เรามิอาจคาดรู้ได้ว่าอายุขัยของเราจะสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่ในตอนนี้หากเป็นไปได้ ฉันเองก็อยากจะภาวนาพร้อมอวยพรให้ตัวฉันรวมไปถึงคนรอบข้างว่า ‘ขอพวกเราให้ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ใจถวิลหา รวมไปถึงได้ใช้ชีวิตในแบบที่จะไม่นึกเสียดายตลอดไป เพราะตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ชีวิตนี้ยังมีอีกหลายสิ่งให้เราต้องเรียนรู้กันอีกมาก ไม่เป็นไรเลยที่บางครั้งความฝันหรือเป้าหมายอาจสับเปลี่ยนไปได้ในแต่ละวันเสมือนโรงละครที่เปลี่ยนฉาก นั่นอาจเป็นเพราะ ชีวิตคือการเรียนรู้ อันไร้ซึ่งจุดสิ้นสุด

……………………………………………………….


รางวัลชมเชย

ชื่อผลงาน: Land of Equal
ประเภท ภาพวาด
โดย วรารัตน์ ว่องไวรุด

……………………………………………………….


รางวัลชมเชย

ชื่อผลงาน: Youthful Dream
ประเภท ภาพวาด
โดย สาธิตา สกุลจุฑาทิพย์

……………………………………………………….

เรียบเรียง/นำเสนอ

วิมุตตา กุลสุวรรณ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปราบมิจฯ ให้อยู่หมัด ต้องมอบหน้าที่ให้ธุรกิจร่วมรับผิดชอบ

ทำไมมิจฉาชีพยังลอยนวลหลอกหลอนคนไทยไม่เว้นวัน? แล้วต่างประเทศทำอย่างไรถึงปราบมิจฉาชีพได้อยู่หมัด?

ทำอย่างไรให้พรรคไม่ง้อนายทุน

ทำอย่างไรให้พรรคไม่ง้อนายทุน? : แนวทางปรับโครงสร้างรายได้ให้พรรคการเมืองไทยเป็นของประชาชน

สำรวจสถานการณ์ที่มารายได้พรรคการเมือง ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญหนึ่งที่เปิดให้เหล่า ‘ผู้สนับสนุนรายใหญ่’ สามารถเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองได้ พร้อมกับหาแนวทางที่จะทำให้พรรคการเมืองมีรายได้ที่ยึดโยงกับประชาชนทุกกลุ่ม

101 In Focus EP.232: เมื่อเด็กชายขอบ ‘ไม่ถูกมองเห็น’ โดยรัฐ

101 In Focus EP.232: เมื่อเด็กชายขอบ ‘ไม่ถูกมองเห็น’ โดยรัฐ

101 In Focus สัปดาห์นี้ ชวนสำรวจชีวิตของเด็กชายขอบที่ ‘ไม่ถูกมองเห็น’ ผ่านสถานการณ์ของเด็กและเยาวชนชนครัวเรือนเกษตร, เด็กและเยาวชนจนเมือง, สามเณร, และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.