ในกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม สภาพอากาศ และอื่นๆ อีกมากมาย เยาวชนและครอบครัวต้องพยายามไขว่คว้าความฝันหรือโอกาสจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ซึ่งกำลังเดินหน้าไปอย่างไม่มีทางย้อนกลับ
คำถามสำคัญคือเยาวชนไทยพร้อมแค่ไหนในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ความยากของเยาวชนไทยคือพวกเขากำลัง ‘ถูกสาป’ ให้ไม่สามารถพัฒนา ปรับตัว รับมือ หรือเติมเต็มความฝันได้อย่างใจนึก ด้วยโครงสร้างต่างๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หลากปัญหาที่เป็นต้นตอที่กำลังทำให้เยาวชนไทยยังไม่พร้อมที่จะแข่งขันและคว้าโอกาส แต่กลับถูกทำให้พ่ายแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นแทน
ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) จึงร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ 101 PUB ชวนมาร่วมหาคำตอบและทางออกผ่านรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2025 และทำความเข้าใจสถานการณ์ของเด็กและเยาวชนในงานเสวนาสาธารณะ ‘ถูกสาปให้พ่ายแพ้ในกระแสความเปลี่ยนแปลง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2025’ เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการดำเนินงานเชิงนโยบายเพื่อเยาวชนต่อไปในอนาคต
8 คำสาปพันธนาการ ‘อนาคตชาติ’
วรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยและหัวหน้าทีมเครือข่ายวิจัยและนโยบาย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว และ สรัช สินธุประภา นักวิจัยและหัวหน้าทีมสื่อสารสาธารณะ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว นำเสนอรายงานสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทยประจำปี 2025 ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เยาวชนและครัวเรือนไทยส่วนมากกำลังประสบ เและเป็นคำสาปที่ฉุดรั้งไม่ให้พวกเขาก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้น แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะเรียกร้องให้เยาวชนต้องก้าวทันมากเพียงใดก็ตาม
คำสาปที่ 1: หนี้ครัวเรือน ฝันร้ายเรื้อรังที่ถ่วงรั้งความฝันที่แท้จริงของเยาวชน
เมื่อพูดถึงโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง อีกแง่หนึ่งคือการสะท้อนว่าเราจำเป็นจะต้องมีการลงทุนสนับสนุนเด็กและเยาวชนมากขึ้น เพื่อให้พวกเขาพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้น แต่เด็กและเยาวชนจำนวนมากในประเทศไทยกลับอยู่ในครัวเรือนที่มีหนี้ ซึ่งเป็นการจำกัดความสามารถของพวกเขาในระยะยาว
ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยคิดเป็น 88% ของ GDP ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางระดับสูงทั่วโลก (อันดับ 8 ของโลก) เด็กและเยาวชนกว่า 6 ล้านคนจากทั้งหมด 10 ล้านคนกำลังเติบโตอยู่ในครัวเรือนที่มีหนี้ ซึ่งสัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้นั้นกระจายอยู่ในทุกระดับรายได้ ทั้งระดับต่ำไปจนถึงสูง
จุดต่างระหว่างครัวเรือนรายได้ต่ำกับรายได้สูงคือโครงสร้างหนี้ เราจะพบว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดจะมีสัดส่วนของครัวเรือนที่มีหนี้ในลักษณะที่ไม่ก่อดอกผลและหนี้ที่ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันสูงกว่า เช่น หนี้เกษตร หนี้บริโภค ในขณะที่กลุ่มรายได้สูงสุดจะมีสัดส่วนของครัวเรือนที่มีหนี้ในลักษณะก่อดอกผลและมีสินทรัพย์ค้ำประกันสูงกว่า เช่น หนี้ธุรกิจ หนี้การศึกษา หรือหนี้บ้าน
กลุ่มรายได้ต่ำสุดยังมีสัดส่วนของการกู้ยืมจากแหล่งกู้ยืมนอกระบบสูงกว่า สะท้อนว่าหนี้จากกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำสุดมีแนวโน้มจะยั่งยืนน้อยกว่า และในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่จะรับภาระดอกเบี้ยที่มากกว่า ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายที่หละหลวมกว่า ไปจนถึงสามารถเข้าถึงมาตรการสนับสนุนต่างๆ ของรัฐบาลได้จำกัดกว่าด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ทุกวันนี้ครัวเรือนใช้รายได้ประมาณ 20% ในการผ่อนชำระหนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันทั้งกลุ่มรายได้ต่ำและรายได้สูง หมายความว่า กลุ่มรายได้ต่ำจะได้รับผลกระทบจากการผ่อนชำระหนี้ต่อค่าใช้จ่ายอื่นๆ มากกว่า
เกณฑ์เส้นความยากจนของเด็กและเยาวชนปัจจุบันอยู่ที่ 3,034 บาทต่อเดือนต่อคน หากใช้เกณฑ์นี้วัดความยากจน นั่นเท่ากับว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนที่ยากจนอยู่ประมาณ 7% ของจำนวนเด็กและเยาวชนทั้งประเทศ เมื่อหักด้วยค่าใช้จ่ายจากการผ่อนหนี้ออกไปแล้ว จะมีเด็กและเยาวชนยากจนเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 13% และเมื่อรวมกันกับเด็กและเยาวชนในกลุ่มเกือบจนที่มีรายได้ประมาณ 1.25 เท่าของเส้นความยากจน ประเทศไทยจะมีเด็กเกือบจนอยู่ที่สัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 หรือประมาณ 20% ของประเทศ
ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจแห่งชาติและผลสำรวจรายงานจากศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว คิด for คิดส์ ระบุว่า ครัวเรือนที่มีหนี้จะใช้จ่ายจากการศึกษาของบุตรหลานน้อยกว่าทุกระดับรายได้ครัวเรือน เยาวชนประมาณ 40% รายงานว่า ปัญหาการเงินถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดสำหรับการประสบความสำเร็จด้านการศึกษา
นอกจากการสนับสนุนที่เป็นตัวเงินแล้ว ครัวเรือนที่มีหนี้มีแนวโน้มจะให้การสนับสนุนที่ไม่เป็นตัวเงินได้น้อยกว่า ตัวอย่างเช่น การอยู่ร่วมกันในครอบครัว เยาวชนที่มาจากครัวเรือนที่มีหนี้จะพูดคุยหรือทำกิจกรรมกับครอบครัวคิดเป็นสัดส่วน 43.6% น้อยกว่าครัวเรือนที่ไม่มีหนี้ประมาณ 49.6% นอกจากนี้ความสนิทสนมและไว้เนื้อเชื่อใจต่อครอบครัวก็จะต่ำตามไปด้วย
ภาระหนี้ไม่ได้จำกัดแค่ขีดความสามารถของครัวเรือนในการสนับสนุนเด็กและเยาวชน แต่ยังเป็นภาระที่มีผลกระทบโดยตรงในหลายมิติ เยาวชนอายุไม่เกิน 22 ปีที่กำลังเรียนอยู่ หากมาจากครัวเรือนที่มีหนี้ พวกเขามีแนวโน้มจะทำงานระหว่างเรียน อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเครียดมากกว่า โดยเฉพาะกับประเด็นด้านการเงิน ภาระทางจิตใจเหล่านี้ส่งผลต่อต้นทุนทางจิตใจอันเป็นทรัพยากรทางจิตวิทยาที่จะทำให้พวกเขาสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงด้วย
ประเด็นสำคัญจากนี้ภายใต้บริบทของสังคมไทยคือ ภาระในการผ่อนชำระหนี้มีแนวโน้มที่จะถูกผลักไปให้เด็กและเยาวชนเมื่อพวกเขาโตขึ้น ต่อให้จะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม หมายความว่า เด็กและเยาวชนจะต้องจัดสรรทรัพยากรในอนาคตของเขาเพื่อนำมาใช้หนี้ให้กับครอบครัว
คิด for คิดส์ ตั้งโจทย์ผ่านการสำรวจในครั้งนี้ว่า “หากได้รับเงิน 1 ล้านบาทในวันนี้ เยาวชนอยากนำไปใช้ทำอะไรมากที่สุด” ผลคือ กลุ่มที่ไม่มีหนี้ต้องการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน ลงทุนธุรกิจประกอบอาชีพ เรียนต่อต่างประเทศ ฯลฯ ในขณะเดียวกันคำตอบจากเด็กที่เติบโตมาในครัวเรือนที่มีหนี้ประมาณ 40% เลือกที่จะเอาเงินที่ได้มาไปใช้หนี้ให้กับครอบครัวก่อน เท่ากับว่าทรัพยากรที่พวกเขาสามารถนำไปใช้สนับสนุนความฝันอื่นๆ ในชีวิตก็จะน้อยลงตามไปด้วย ภาระหนี้จะจำกัดการลงทุนสร้างอนาคตในระยะยาว ส่งผลให้เยาวชนที่อยู่ในครอบครัวที่มีหนี้ในวันนี้อาจจำเป็นต้องก่อหนี้และติดกับดักวังวนต่อไป
กระนั้น ภายใต้ภาระที่รายได้ไม่พอรายจ่ายของครัวเรือนไทย หนี้ยังคงเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการการเงินที่จำเป็น ช่วยประคับประคองครัวเรือนให้มีพื้นฐานความเป็นอยู่ต่อไปได้ นั่นหมายรวมถึงการสนับสนุนเด็กและเยาวชนในระยะสั้นด้วย งานศึกษางานวิจัยในประเทศไทยจำนวนหนึ่งพบว่า เด็กและเยาวชนจากครัวเรือนชนบทที่มีหนี้ไม่ได้ มีแนวโน้มที่จะไม่ได้เรียนและเสี่ยงที่จะไม่ได้เข้าเรียนหรือเข้าโรงเรียนช้ามากกว่ากลุ่มที่มีหนี้ได้ หมายความว่า หากครัวเรือนอยู่ในภาวะฉุกเฉินหรือขาดสภาพคล่อง การมีหนี้จะทำให้พวกเขาสามารถประคองความเป็นอยู่ต่อไปได้และไม่ได้ทำให้การเป็นอยู่ของพวกเขายิ่งย่ำแย่ไปกว่าเดิม ดังนั้น สำหรับสังคมไทยในบางกรณี การมีหนี้ไม่ได้อาจเป็นปัญหาที่น่ากังวลมากกว่าการมีหนี้ก็เป็นได้
ข้อเสนอนโยบายที่อาจเป็นทางออกสำหรับเรื่องหนี้ครัวเรือนคือ การขยายสวัสดิการเพื่อเป็นฐานให้เด็กและเยาวชนทุกคนสามารถเติบโตโดยไม่ติดบ่วงหนี้ อาจครอบคลุมทั้งสวัสดิการที่เป็นเงินโอน การขยายบริการสาธารณะให้มีคุณภาพ รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับครัวเรือนมากขึ้น และในขณะเดียวกัน การสนับสนุนให้ครัวเรือนเปราะบางซึ่งเข้าถึงสินเชื่อได้จำกัด ให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นผ่านนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ก็จะเป็นผลดีมากกว่าการที่พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เลย สิ่งนี้จะช่วยลดปัญหาการกู้ยืมนอกระบบได้มากขึ้น
คำสาปที่ 2: มลพิษและภัยพิบัติ ข้อจำกัดของการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศถือเป็นหนี้ที่เยาวชนไทยอาจต้องผ่อนส่งในระยะยาว เด็กและเยาวชนในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศที่รุนแรง รวมถึงภัยพิบัติจากภาวะโลกรวน
ปัญหาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในประเทศไทยคือ ปัญหา PM 2.5 เด็กและเยาวชน 13.6 ล้านคนหรือเกือบทั้งประเทศเสี่ยงที่จะเจอกับปัญหานี้มากที่สุด รองลงมาคือปัญหาภัยแล้ง ปัญหาคลื่นความร้อน และปัญหาน้ำท่วมตามลำดับ
จากสถิติของคุณภาพอากาศย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า คุณภาพอากาศมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี และในปีนี้ทั้งประเทศไม่มีจังหวัดไหนเลยที่มีอากาศดีหรือมีค่าฝุ่นน้อยกว่า 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และยังมีอีก 12 จังหวัดที่ไม่มีแม้กระทั่งสถานีตรวจคุณภาพอากาศอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำกระทั่งฐานข้อมูลที่จะแสดงให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนในจังหวัดเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศเป็นเช่นไร
เด็กและเยาวชนที่มาจากครัวเรือนที่ยากจนมากเท่าไร ก็ยิ่งจะมีความเสี่ยงต่อการประสบสภาพอากาศหรือฝุ่น PM 2.5 มากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากไม่มีเครื่องปรับอากาศ หากอนุมานว่าการมีเครื่องปรับอากาศจะทำให้เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มที่จะได้อยู่ในห้องปิดที่เสี่ยงต่อการสัมผัสฝุ่นต่ำกว่า จากรายงานของ คิด for คิดส์ จะเห็นว่ากลุ่มเด็กในช่วงอายุ 0-6 ปี อยู่ในครัวเรือนที่มีเครื่องปรับอากาศมากที่สุด แต่เมื่อดูลึกลงไปอีกจะพบกับความเหลื่อมล้ำระหว่างครัวเรือนสูงกว่าช่วงวัยอื่นๆ เช่นกัน 82.8% ของครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดนั้นไม่มีเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้มากที่สุด มีเพียง 8.2% ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งต่างกันถึง 10 เท่าตัว สิ่งเหล่านี้ยังไม่รวมถึงเรื่องสำคัญอย่างเครื่องกรองอากาศ วิธีการเดินทางไปโรงเรียนของเด็กๆ ที่เหลื่อมล้ำ ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของเด็กและเยาวชนในระยะยาว
ในแง่ผลกระทบต่อสุขภาพ หากดูที่ความชุกของโรคต่อประชากร ในประชากร 100 คน เด็กในช่วงวัย 5-9 ปี จะมี 6 คนที่ป่วยจากโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ใช้เวลานอกบ้านเยอะที่สุดวัยหนึ่งจากการวิ่งเล่น ทำกิจกรรม จึงทำให้เผชิญกับ PM 2.5 มากกว่าวัยอื่น รองลงมาคือวัย 0-4 ปี ที่ร่างกายยังเล็กอยู่มาก อวัยวะต่างๆ มีขนาดเล็ก หากพิจารณาประเภทของโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษที่เด็กป่วย กลุ่มโรคทางเดินหายใจกลับกลายเป็นโรคที่เป็นอันดับหนึ่งของเด็กในช่วงวัยนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะการสูดฝุ่น แต่เป็นการรับฝุ่นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
จากงานวิจัยพบว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นระบบสำคัญต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เด็กเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้น อีกทั้งอากาศที่มีฝุ่น 1 ไมโครกรัม สามารถทำให้ไอคิวลดลงถึง 0.27 แสดงให้เห็นว่ายิ่งอากาศไม่ดี ผลการเรียนของเยาวชนก็จะยิ่งแย่ไปด้วย และเมื่อพัฒนาการทางสมองของเยาวชนแย่ โอกาสที่จะได้ทำงานที่มีรายได้สูงและหลุดพ้นจากความยากจนของรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็จะน้อยลงตามกัน
อีกปัญหาหนึ่งที่น่ากังวลคือเรื่องของอากาศแปรปรวน ยิ่งฝนตกแปรปรวน น้ำท่วมรุนแรง ชีวิตของเด็กคนหนึ่งก็จะยิ่งรวนเรมากขึ้น ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทำให้การตกของฝนมีลักษณะที่ผิดแผกออกไปจากในอดีต อย่างเหตุอุทกภัยรุนแรงในภาคเหนือเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมามีประมาณปริมาณฝนเฉลี่ยมากกว่าปกติ 11% น้ำท่วมรุนแรงและท่วมถี่กว่าปกติส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของประชาชน เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ กระทบต่อการเรียนรู้ ยิ่งไปกว่านั้นครัวเรือนจะต้องสูญเสียรายได้ และถ่วงรั้งศักยภาพในการพัฒนาของเด็กและเยาวชน ทิศทางของปัญหาลักษณะนี้เชื่อว่าจะยิ่งรุนแรงขึ้น เยาวชนอาจต้องเจอความเสี่ยง ไม่มั่นคง และเสียศักยภาพในระยะยาวมากขึ้นไปอีก
ข้อเสนอทางนโยบายที่อาจช่วยได้ในเรื่องนี้นั้น ต้องเริ่มคิดตั้งแต่ต้นให้ตรงเป้าหมายมากขึ้น อาทิ จะเพิ่มการตรวจวัดฝุ่นอย่างไรให้ครอบคลุม เร่งสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นอย่างทั่วถึง แก้ไขปัญหาผังเมือง ปรับชุมชนให้พร้อมรับมือและยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติโลกร้อนมากขึ้น และที่สำคัญคือมองเห็นเด็กและเยาวชนเป็นสมการเสมอในนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อม
คำสาปที่ 3: เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ความเหลื่อมล้ำที่บางคนไม่มีสิทธิเข้าถึง
แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนให้สามารถพัฒนาไปไกลกว่าในอดีต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กและเยาวชนจำนวนมากยังคงถูกสาปด้วยความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ค่อนข้างรุนแรง
จากงานสำรวจของสํานักงานสถิติแห่งชาติพบว่า เด็กและเยาวชนไทยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เกือบถ้วนหน้า อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของเด็กและเยาวชนไทยอยู่ที่ 99% โดยที่จะเห็นว่า เด็กในช่วงอายุ 6-14 ปี มีอัตราเพิ่มขึ้นของการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา
เครื่องมือหลักที่เด็กและเยาวชนใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคือโทรศัพท์มือถือ ผลสํารวจจาก คิด for คิดส์ พบว่า 99% ของเยาวชนอายุ 15-25 ปี มีโทรศัพท์มือถือใช้ แต่ความเหลื่อมล้ำสำคัญที่ค้นพบคือ การเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้และมีความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มรายได้ต่ำสุดและกลุ่มรายได้สูงสุด จะเห็นว่าในกลุ่มรายได้ต่ำสุดมีเยาวชนที่รายงานว่าไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้มากกว่า 60% ในขณะที่กลุ่มรายได้สูงสุดมีเพียงแค่ 10% เท่านั้น และเป็นคอมพิวเตอร์ใช้ส่วนตัวมากถึง 70%
ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ถือเป็นความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้และทักษะใหม่ๆ เนื่องจากเราใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีมากขึ้นในการต่อยอดเพื่อพัฒนาทักษะ เรียนรู้ในลักษณะที่ซับซ้อน หรือต่อยอดการงานที่ซับซ้อนกว่าได้ แต่ทุกวันนี้เยาวชนส่วนใหญ่กลับเข้าถึงได้เพียงโทรศัพท์มือถือเท่านั้น และเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์ต่อฟังก์ชันที่มีอยู่ในคอมพิวเตอร์
ความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือ ความเหลื่อมล้ำในเชิงทักษะ จากผลสํารวจเยาวชนของคิด for คิดส์ พบว่า เยาวชนประเมินทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลเหลื่อมล้ำกันระหว่างกลุ่มรายได้ต่ำสุด ที่ประเมินไว้ที่คะแนน 3.2 เต็ม 5 กับกลุ่มรายได้สูงสุดที่ประเมินไว้ที่ 3.7 เต็ม 5 แตกต่างกันประมาณ 0.5 คะแนน หรือประมาณ 10%
ในกลุ่มเยาวชนที่มีทักษะดิจิทัลต่ำกว่า มีแนวโน้มที่จะมีเป้าหมายทางการศึกษาในระยะยาวจำกัดกว่า รวมถึงมีแนวโน้มที่จะฝันถึงหรืออยากที่จะประกอบอาชีพในลักษณะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอาชีพที่หลายงานวิจัยรายงานว่ามีโอกาสเติบโตในอนาคตนั้นจํากัดกว่าด้วย
สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีอาจจะสร้างทั้งผู้ชนะและผู้แพ้จากการใช้งาน หากไม่สามารถที่จะใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมหรือขาดทักษะ ขาดความตระหนักรู้ถึงผลเสียของเทคโนโลยี อาจเกิดการใช้งานที่ไม่ถูกต้องจนนำไปสู่ปัญหามากมาย เช่น รับข่าวสารลวง การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (cyber bullying) รวมถึงปัญหาทางสุขภาพอย่างสายตา สมาธิสั้น หรือแม้แต่อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า
ความเหลื่อมล้ำทางทักษะเหล่านี้ไม่เพียงปรากฏอยู่ในเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ใหญ่ที่รายล้อมพวกเขาด้วย ซึ่งมีแนวโน้มว่าระบบนิเวศของกลุ่มเด็กที่มาจากครัวเรือนรายได้ต่ำจะมีทักษะทางเทคโนโลยีต่ำกว่าตามไปด้วย
ข้อเสนอแนะทางนโยบายในประเด็นนี้ อาจถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องหาทางลงทุนในการเสริมสร้างทักษะทางเทคโนโลยีให้เด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีหรือทักษะทางเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างจริงจัง
ในขณะเดียวกันก็จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมพลัง ของครอบครัวและบุคลากรในสถานศึกษาที่เป็นระบบนิเวศรอบตัวของเด็กให้สามารถใช้เทคโนโลยีร่วมกับเด็กได้ รวมถึงจำเป็นต้องให้การกำกับดูแลที่เหมาะสมแก่เด็กในการใช้เทคโนโลยี เพื่อทําให้เทคโนโลยีถูกนำมาประยุกต์ใช้โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กและเยาวชน คุ้มครองต่อสิทธิและความปลอดภัยของพวกเขาอย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
คำสาปที่ 4: การจ้างงานไร้มาตรฐาน ความเสี่ยงที่เยาวชนหารายได้ต้องแลก
เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยคือธรรมชาติของอุตสาหกรรมและการจ้างงาน งานถือเป็นเครื่องมือในการช่วยสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนสามารถเติบโตและเติมเต็มความฝันในโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น แต่ทุกวันนี้กลับพบว่าเยาวชนกำลังถูกจ้างงานในรูปแบบไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รับสวัสดิการและความคุ้มครองที่เหมาะสม
การจ้างงานในรูปแบบไม่มาตรฐาน (non-standard employment, NSE) เป็นการจ้างงานแบบยืดหยุ่น อาจมาในลักษณะที่มีระยะเวลาสิ้นสุดของการจ้างที่ชัดเจน เช่น การจ้างงานในลักษณะของลูกจ้างชั่วคราว การจ้างงานรายโครงการ หรือรายชิ้น หรืออาจเป็นการจ้างงานที่ไม่เต็มเวลาหรือไม่มีเวลาทํางานชัดเจน เช่น งานพาร์ตไทม์ (part-time) งาน on-call ที่ต้องเตรียมพร้อมทํางานทุกเมื่อ งาน zero-hours contract ซึ่งเป็นงานในลักษณะที่ไม่ได้กำหนดชั่วโมงงานขั้นต่ำเอาไว้ รวมถึงงานที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับนายจ้างโดยตรง เช่น รับจ้างผ่านแพลตฟอร์ม ช่วยงานผู้ปกครอง ลักษณะการจ้างงานเหล่านี้ นับว่าเป็นการจ้างงานแบบ NSE
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา NSE เติบโตขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เพราะ NSE มีแนวโน้มที่สามารถตอบโจทย์ความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพของนายจ้างได้ดี ขณะเดียวกันตัวเยาวชนหรือคนทำงานจำนวนมากก็อยากจะมีความยืดหยุ่นในชีวิตขึ้นด้วยเช่นกัน แต่การจ้างงาน NSE มีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงเผชิญกับความเปราะบางบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการไม่มีงานทําอย่างมั่นคง เสี่ยงที่จะได้ค่าจ้างต่ำเกินไปจากแต่ละงาน ซึ่งรวมกันแล้วยังไม่เพียงพอต่อการยังชีพ เสี่ยงที่จะมีเวลาทํางานน้อยหรือมากเกินไป เสี่ยงต่อเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยโดยที่ไม่มีนายจ้างเข้ามาช่วยรับประกันความเสี่ยง เสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงหลักประกันทางสังคม ไม่ได้รับการพัฒนาทักษะ และเสี่ยงต่อการขาดสิทธิรวมตัวเพื่อต่อรองกับนายจ้าง
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการจัดเก็บสถิติทางการเกี่ยวกับ NSE โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนในวัยเรียน แต่จากผลสํารวจเยาวชนโดยคิด for คิดส์ พบว่าปัจจุบันประมาณ 16% ของเยาวชนที่ยังเรียนเต็มเวลา มีการทํางานในลักษณะงานไม่เต็มเวลาหรืองานรายชิ้นควบคู่ไปด้วย โดยกระจุกตัวมากที่สุดในกลุ่มนักศึกษา ปวส. โดยเป็นงานในลักษณะของพนักงานขาย พนักงานบริการลูกค้า พนักงานธุรการ และพนักงานทั่วไป รองลงมาคือกลุ่มนิสิตปริญญาตรี ซึ่งงานที่ทําจะเป็นงานในลักษณะของการเป็นครูสอนพิเศษ นักเขียน นักแปล นักออกแบบกราฟิก และจิตรกร
เมื่อดูลึกไปถึงเรื่องรายได้ของครัวเรือน เยาวชนที่มาจากครัวเรือนรายได้ต่ำมีแนวโน้มจะทํางานระหว่างเรียนเป็นสัดส่วนที่มากขึ้น ในกลุ่มรายได้น้อยจะทำงานในลักษณะพาร์ตไทม์มากที่สุด ในขณะที่กลุ่มรายได้สูง จะทำงานในรูปแบบของงานรายชิ้นและรายโครงการค่อนข้างมาก
ผลกระทบสำคัญจากการที่เยาวชนทำงานระหว่างเรียนคือ เบียดบังเวลาในการเรียนรู้ พักผ่อน หรือเข้าสังคม ที่เป็นเรื่องพื้นฐานของช่วงวัย ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการพักผ่อน การพักผ่อนที่เพียงพอสำหรับเด็กและเยาวชนจะอยู่ที่เกิน 7 ชั่วโมง กลุ่มเยาวชนที่ไม่ได้ทำงานระหว่างเรียนและมีเวลาพักผ่อน มีประมาณ 62% แต่กลุ่มที่ต้องทำงานไปด้วยและมีเวลาพักผ่อนไม่ถึง 7 ชั่วโมง อยู่ที่ประมาณ 53% รวมถึงการใช้เวลากับครอบครัว กลุ่มที่ไม่ทำงานระหว่างเรียนได้ใช้เวลากับครอบครัวทุกวันประมาณ 47% ในขณะที่กลุ่มที่ทำงานระหว่างเรียนจะอยู่ที่ประมาณ 39%
การทำงานในลักษณะ NSE กับกลุ่มเยาวชนที่ยังเรียนอยู่อาจเป็นเพราะความจําเป็น แต่ความน่าสนใจจากการสำรวจที่พบคือ เยาวชนที่เรียนจบไปแล้วหรือไม่ได้เรียนอยู่ มีแนวโน้มที่จะทำงานในลักษณะ NSE มากขึ้น ขณะที่งานเต็มเวลา (full-time) จะคิดเป็นประมาณ 60% ของทั้งหมด
เมื่อประเมินรายงานความเป็นอยู่ของกลุ่มเยาวชนที่เรียนจบและทำงาน NSE พวกเขาประเมินความเป็นอยู่ของตัวเองว่าย่ำแย่กว่าคนที่ทํางานเต็มเวลาอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มเยาวชนที่ทำงาน NSE คิดเป็น 12 % ของทั้งหมด รายงานว่าได้รับอาหารไม่เพียงพอในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มที่ทำงานเต็มเวลาเกือบสองเท่าตัว อีกทั้งยังรายงานเรื่องความแข็งแรงของเพียงแค่ประมาณ 35% หรือ 1 ใน 3 ของทั้งหมด และเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของเยาวชนที่ทํางานเต็มเวลา อีกทั้งเยาวชนที่ทํางาน NSE ก็มีแนวโน้มจะเครียดมากกว่าทั้งเรื่องงานและเงิน
ความเป็นอยู่เหล่านี้ถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของการประเมินสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ทางคิด for คิดส์ ลองให้เยาวชนประเมินสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองว่า สมมติว่ามี 10 ชนชั้นในสังคม พวกเขาคิดว่าตนเองจะอยู่ประมาณชนชั้นใด พบว่ากลุ่มที่ทำงาน NSE จะประเมินว่าตนเองอยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำกว่าคนที่ทํางาน full-time ในทุกช่วงรายได้ สะท้อนว่าเยาวชนกลุ่มนี้มีระดับความพึงพอใจในสถานะทางสังคมของตนค่อนข้างต่ำ
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ขาดกลไกในการคุ้มครองแรงงาน NSE จากความเสี่ยงและความเปราะบางเหล่านั้น ตั้งแต่การที่แรงงาน NSE หลายกลุ่มยังไม่ถูกนับรวมหรือคุ้มครองสิทธิสวัสดิการแรงงานอย่างเสมอภาคกับแรงงานในระบบ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้นายจ้างสามารถผลักต้นทุนและความเสี่ยงต่างๆ ไปสู่ลูกจ้างได้อย่างไม่สมดุล ในขณะเดียวกันกฎหมายก็กำหนดโทษต่อนายจ้างและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายได้ค่อนข้างจำกัด
หากหันมามองที่เด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ การที่แรงงานเด็กเสี่ยงภัยอันตรายต่างๆ แต่เด็กจํานวนไม่น้อยเลือกที่จะทำงานโดยสมัครใจ และด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้งานหลายประเภทเด็กสามารถทำได้เองโดยที่ไม่ได้กระทบต่อความเป็นอยู่ ขณะเดียวกฎหมายไทยห้ามจ้างแรงงานอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเด็ดขาด ซึ่งหากมองในแง่กฎหมายก็ถือเป็นความพยายามในการคุ้มครองเด็ก แต่เมื่อมีเด็กจํานวนมากทํางานอยู่จริง การที่กฎหมายเขียนไว้เพียงว่าห้ามทำอาจไม่พอ และเป็นการเปิดช่องว่างให้เกิดสุญญากาศในกฎระเบียบข้อบังคับที่จะเข้ามาคุ้มครองแรงงานเด็กที่ต้องทำงาน
สําหรับข้อเสนอนโยบาย ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปกฎหมายแรงงานใหม่เพื่อขยายนิยามและการคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมแรงงาน NSE มากขึ้น และจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเฉพาะเข้ามาคุ้มครองแรงงาน NSE ที่เป็นเด็กและเยาวชนจากความเสี่ยงกับความเปราะบางเฉพาะช่วงวัย รวมถึงพัฒนาหลักประกันทางสังคมให้มีความสอดคล้องกับการจ้างงาน NSE มากขึ้น นอกจากนี้ นโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมแรงงานหรือทักษะแรงงาน และขยายสวัสดิการให้เยาวชนสามารถเลือกทำงานตามเจตจํานงเสรีมากขึ้น ไม่ใช่การถูกบังคับด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
คำสาปที่ 5: ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ไม่ตอบโจทย์และความคิดสร้างสรรค์ที่โดนฉุดรั้ง
ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกและทักษะทางเทคโนโลยีกลายเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทักษะหนึ่งที่สำคัญในอนาคตคือ การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
แต่ผลการประเมิน PISA ปี 2022 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการประเมินทักษะความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พบว่านักเรียนไทยยังทำคะแนนได้ไม่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาอื่น โดยมีคะแนนดีมากอยู่ที่ 6.7% ในขณะที่คะแนนตกเกณฑ์ถึง 63.1% มากกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD เกือบ 3 เท่า หมายความว่า มีกลุ่มเยาวชนน้อยนิดเท่านั้นที่สามารถพัฒนาตัวเองให้มีทักษะในการคิดสร้างสรรค์ได้
การที่คนคนหนึ่งจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้นั้น ต้องมีวิธีคิดหลายหลายแบบที่จะส่งเสริมให้คิดอะไรที่แตกต่างและออกนอกกรอบได้ สิ่งสําคัญคือความเชื่อในเรื่องกรอบคิดเติบโต (growth mindset) หรือเชื่อว่าความสามารถของตนเองเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและฝึกฝนได้ แต่จากผลสํารวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ พบว่า เยาวชนในครัวเรือนที่รายได้ต่ำมี growth mindset ที่ต่ำกว่าเยาวชนในครัวเรือนระดับสูงขึ้นไปอย่างชัดเจน ในขณะที่ครัวเรือนรายได้มากเชื่อเรื่องนี้เกือบครึ่งหนึ่ง
อีกด้านหนึ่งโรงเรียนก็ไม่ใช่สถานที่ที่จะเอื้อให้เกิดความคิดแปลกใหม่ ปัญหา 3 อันดับแรกที่พบมากที่สุดคือ ครูไม่เปิดกว้าง ครูไม่มีเวลาใส่ใจ และครูบังคับให้ทำตามนโยบายอย่างไม่มีเหตุผล โดยเฉพาะกับเยาวชนที่ประเมินว่าตนเองมีความคิดสร้างสรรค์ เยาวชนกลุ่มนี้มักจะรายงานว่าเจอปัญหาเหล่านี้มากกว่า สะท้อนว่ายิ่งนักเรียนมีความคิดที่แปลกใหม่เท่าใด ยิ่งเผชิญกับปัญหาของการที่โรงเรียนไม่เปิดกว้างมากขึ้นเท่านั้น แปลว่าโรงเรียนไม่สามารถเป็นพื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้
นอกจากนี้ยังพบว่า แหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในสังคมไทย เยาวชนยังเข้าถึงได้น้อย เยาวชน 22% ไม่เคยไปห้องสมุด 26.9% ไม่เคยไปสนามกีฬา 35.9% ไม่เคยไปพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลปะต่างๆ ซึ่งในงานวิเคราะห์ครั้งนี้ระบุว่า กลุ่มเยาวชนที่ไปหอศิลปะหรือพิพิธภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ มีแนวโน้มที่จะประเมินความคิดสร้างสรรค์ของตนเองอย่างมั่นใจกว่า
มองให้ลึกกว่านั้นจากฐานข้อมูลที่ระบุว่า ประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์อยู่ราว 1,300 แห่งทั่วประเทศ ราว 1 ส่วน 4 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดําเนินการโดยวัด ซึ่งอาจไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ในแบบที่เยาวชนสนใจจะเรียนรู้เท่าใดนัก นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคหลายด้านด้วยกัน จากการสํารวจในปี 2022 และ 2025 อุปสรรคอันดับหนึ่งที่ทำให้เยาวชนไม่ได้ไปแหล่งเรียนรู้คือ การเดินทางเนื่องจากแหล่งเรียนรู้ตั้งอยู่ไกล รองลงมาคือการไม่มีเวลาว่าง และอีกเหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขาชอบเรียนเรียนรู้จากแหล่งออนไลน์มากกว่า อย่างไรก็ตามความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงเทคโนโลยีก็ยังมีอยู่ เด็กที่เข้าถึงคอมพิวเตอร์จะประเมินว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าคนที่เข้าถึงได้น้อย
ข้อเสนอทางนโยบายที่จะช่วยพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน คือ การลงทุนกับแหล่งเรียนรู้ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา ห้องสมุด หรือพิพิธภัณฑ์ ให้มีความเข้าถึงง่าย รวมถึงการบูรณาการกระบวนความคิดสร้างสรรค์เข้าไปอยู่ในหลักสูตรแกนกลางของทุกๆ วิชา ไม่ใช่แค่เพียงศิลปะ แต่หมายรวมถึงการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เปลี่ยนการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เยาวชนมักจะสนใจไปเรียนรู้ให้กลายมาเป็นหน่วยกิต ให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่พัฒนาทักษะเพื่อเยาวชนและทำกันอย่างเป็นมาตรฐาน
คำสาปที่ 6: อบายมุขยุคใหม่ โลกเดียวที่เปลี่ยนไปของเยาวชน
ตลาดอบายมุขของสังคมไทยในปัจจุบันมีความใหม่ที่น่าสนใจอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และพนันออนไลน์
ตัวเลขประมาณ 18.6% ของเยาวชนไทยใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งสาเหตุที่มีการใช้เพิ่มมากขึ้นนั้นมีหลากหลาย เช่น หาซื้อง่าย แต่งกลิ่นให้ไม่ฉุนเหมือนบุหรี่มวน อีกทั้งยังมีการพัฒนารูปลักษณ์ให้ดูมีความน่ารัก สดใส หรือเป็นรูปการ์ตูนต่างๆ นะ ทําให้สามารถดึงดูดเยาวชนให้เข้ามาใช้สารนิโคตินมากขึ้น โดยเฉพาะเยาวชนหญิง ที่มีสัดส่วนการใช้บุหรี่น้อยกว่าเยาวชนชาย แต่พอเป็นบุหรี่ไฟฟ้านั้น ตัวเลขมีการก้าวกระโดดขึ้นมาถึง 15%
อันดับต่อมาคือ กัญชา แม้จะไม่ใช่ของใหม่ แต่อาจกลายเป็นสิ่งเสพติดแทนแอลกอฮอล์ 6.4% ของเยาวชนปัจจุบันเคยใช้กัญชาในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา เหตุผลที่กัญชาระบาดมากขึ้นอาจเป็นเพราะยังขาดกฎหมายที่จะควบคุมการครอบครอง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาก็มีความหลากหลายมากขึ้น ดึงดูดให้คนมาใช้
ถัดมาคือการพนันออนไลน์ ซึ่งมีตัวเลขที่ค่อนข้างน่าตกใจว่า 32.3% ของเยาวชนในปี 2023 เล่นพนันออนไลน์และเติมเงินเฉลี่ยเดือนละ 1,633 บาทต่อคน สาเหตุการแพร่ระบาดของพนันออนไลน์มาจากการมีเรื่องโปรโมชันต่างๆ การโฆษณาถึงอัตราการชนะสูง และการมีโฆษณาในเกือบทุกแพลตฟอร์ม โดยที่เยาวชนกว่า 51.4% เคยเล่นการพนัน 9.8% เล่นออนไลน์อย่างเดียว 11.6% เล่นออฟไลน์อย่างเดียว 30% เล่นทั้งคู่ และในจำนวนเหล่านี้กว่า 86.2% บอกว่าเริ่มต้นเล่นพนันจากการเล่นออฟไลน์มาก่อน และการพนันออนไลน์ที่ง่ายและสะดวกขึ้น ทําให้พวกเขาหันมาเล่นออนไลน์มากกว่าเดิม ฉะนั้น พนันออนไลน์จึงเป็นการขยายโอกาสที่จะทำให้เยาวชนติดการพนัน
3 สาเหตุที่ทำให้เยาวชนเข้าไปพัวพันกับอบายมุขมากขึ้นล้วนเกี่ยวพันกับเงื่อนไขในชีวิตของพวกเขาเกือบทั้งหมด นั่นคือการมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ การห่างเหินกับครอบครัว หรือแม้แต่การขาดเป้าหมายในชีวิต แม้ว่าจะไม่สามารถอธิบายได้ว่าเพราะเหตุผลเหล่านี้ทั้งหมด เยาวชนจึงหันไปหาสิ่งเสพติด แต่อาจเป็นเรื่องของการส่งผลซึ่งกันและกัน
อีกเรื่องคือความฝันสีเทาของเยาวชนที่ทำให้พวกเขาเข้าไปพัวพันกับอบายมุขต่างๆ ทาง คิด for คิดส์ ตั้งคําถามถึงเป้าหมายที่สําคัญที่สุด พบว่ากลุ่มที่ใช้อบายมุขมักจะให้คำตอบว่า คิดถึงการร่ำรวย มีอิสรภาพทางการเงินมากกว่าเยาวชนที่ไม่ได้ใช้อย่างชัดเจน แต่ในทางกลับกัน แม้พวกเขาใฝ่ฝันถึงความร่ำรวย แต่น้อยคนนักที่จะฝันถึงการประสบความสําเร็จในหน้าที่การงาน ไม่ได้รู้สึกว่าหน้าที่การงานจะสามารถทำให้พวกเขาไปถึงจุดนั้นได้เพราะเงื่อนไขหลายอย่าง ซึ่งน่ากังวลว่าสิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนถึงการผลักดันให้พวกเขาเดินไปสู่วิธีการหาความร่ำรวยบนเส้นทางสีเทามากขึ้นหรือไม่
ข้อเสนอแนะทางนโยบายที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องของอบายมุขนั้นต้องพูดกันอย่างครบถ้วน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การกํากับอบายมุข แต่หมายรวมถึงสนับสนุนและพัฒนาสภาพแวดล้อมของเด็กและเยาวชนเพื่อให้พวกเขาไม่ต้องหันหน้าหาอบายมุขเหล่านี้แทน เล็งเห็นความสำคัญของจิตแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพใจ และเพิ่มพื้นที่กิจกรรมในชุมชนให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วมและหน้าที่มากขึ้น
คำสาปที่ 7: ความสัมพันธ์ในครอบครัว ตัวตั้งต้นของหลากปัญหาเยาวชน
ผลสํารวจล่าสุดในปี 2025 ของ คิด for คิดส์ พบว่า เด็กและเยาวชนมีความขัดแย้งและห่างเหินกับครอบครัวในชีวิตประจําวันมากขึ้นในแบบที่ไม่ใช่เรื่องความรุนแรง ในการสํารวจเมื่อปี 2022 หรือช่วงที่การเมืองยังคงคุกรุ่น เยาวชนจํานวนมาก รายงานว่า อุปสรรคอันดับหนึ่งต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวคือการมีความคิดที่ขัดแย้งกัน และในปี 2025 นี้ แม้ตัวเลขจะลดลงเหลือ 22.2% แต่การขัดแย้งทางความคิดยังคงเป็นอุปสรรคอันดับหนึ่งของเยาวชนและครอบครัว
สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือปัญหาของการไม่มีเวลาให้ ความสนใจที่ต่างกัน ตัวเลขที่น่าสนใจคือในปี 2022 ช่วงวัยที่ขัดแย้งกับครอบครัวมักจะเป็นเยาวชนช่วงวัยมหาวิทยาลัยหรือวัยทํางาน แต่ในปี 2025 กลับกลายเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 15-18 ที่ขัดแย้งทางความคิดมากขึ้น ในทางกลับกัน เรื่องของการไม่มีเวลาให้ คนที่ห่างเหินกับครอบครัวมากขึ้นคือเยาวชนอายุวัยทำงาน ซึ่งเป็นปัญหามากขึ้นถึง 5.2%
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่าความใกล้ชิดและความขัดแย้งเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาด การที่ครอบครัวห่างเหินกันมากขึ้นแต่ขัดแย้งน้อยลง ไม่ได้หมายความว่าไม่ขัดแย้ง แต่อาจกำลังสะท้อนถึงโอกาสในการขัดแย้งที่น้อยลงเท่านั้น
ขณะเดียวกันพบว่า ครัวเรือนที่มีความคิดคิดขัดแย้งกันมากที่สุดมักจะเป็นครัวเรือนที่เยาวชนอาศัยอยู่กับพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งหรือครัวเรือนที่ข้ามรุ่น ซึ่งเมื่อเจาะลึกถึงรายละเอียดที่ว่าเรื่องที่ขัดแย้งกันทางความคิดนั้นมีอะไรบ้าง ปรากฏว่าเป็นเรื่องของการเรียนหรือการทํางาน ชีวิตประจําวัน ครอบครัว มาเป็นสามอันดับแรก รองลงมาจึงจะเป็นเรื่องของสังคมและการเมือง ความสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรัก ศาสนาและจริยธรรม
ซึ่งความขัดแย้งในแต่ละเรื่องนํามาซึ่งความเครียดและความกดดันที่ไม่เท่ากัน การวิเคราะห์ของ คิด for คิดส์ พบว่า การขัดแย้งกันในเรื่องชีวิตประจําวันและความสัมพันธ์ในครอบครัว ยิ่งขัดแย้งมากยิ่งเครียดมาก ทิ้งห่างความขัดแย้งอื่นๆ เยาวชนรายงานว่า ความเครียดจากเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวเพิ่มขึ้นจาก 43.5% เป็น 56%
การที่เยาวชนและครอบครัวขัดแย้งกันในเรื่องของอาชีพการงาน อาจเกี่ยวขึ้นตั้งแต่เส้นทางการเรียนว่า จะเรียนอะไร ทํางานอะไรต่างๆ หากดูในเรื่องของความฝัน อาชีพอันดับแรกที่เยาวชนฝันในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงและมีความขัดแย้งสูงสุดคือสื่อสารมวลชน ที่ไม่ได้หมายถึงสื่อแบบเก่า แต่ครอบคลุมในส่วนของนักสร้างสรรค์เนื้อหา (content creator) อินฟลูเอนเซอร์ (influencer) ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกับครอบครัวไม่ว่าจะรายได้ต่ำหรือรายได้สูงในอันดับต้นๆ หรือแม้แต่อาชีพที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีใหม่ เช่น นักออกแบบเกม นักพัฒนาโปรแกรม นักวิทยาการข้อมูล ซึ่งเป็นอาชีพที่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน ทำให้ยากที่จะเข้าใจ และในบางครั้งอาจมีเรื่องของข้อจำกัดทางการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง
เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้ว งานวิจัยพบว่าเยาวชนที่สามารถหันไปปรึกษาคนใกล้ตัวได้มีแนวโน้มที่จะมีความเครียดในระดับต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่แนวโน้มที่เกิดขึ้นจากปี 2022 มาถึงปี 2025 คือ เยาวชนระบุว่าเมื่อเจอปัญหาจะหันไปปรึกษาผู้ปกครองน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 43% เหลือเพียงแค่ 36%
ข้อเสนอนโยบายทางออกอาจต้องคำนึงถึงสิ่งที่เป็นระบบนิเวศล้อมรอบเยาวชนและครอบครัวอย่างรอบด้าน ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน ไปจนถึงเรื่องตลาดแรงงาน เราอาจต้องคำนึงถึงการเติมทรัพยากร ดูแลสุขภาพใจ และเสริมความเข้าใจให้กับผู้ปกครองด้วย โดยเฉพาะในครัวเรือนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ครัวเรือนข้ามรุ่น ที่จะมีความเครียดเรื่องบุตรหลานอย่างชัดเจนกว่า การเพิ่มนักจิตวิทยาเข้าไปในโรงเรียน เพิ่มเนื้อหาเรื่องการวางแผนอาชีพในหลักสูตรการศึกษาให้เยาวชนสามารถที่จะรับมือกับโลกของการทํางานที่ผันผวนได้ในอนาคต รวมถึงอาจต้องคำนึงในเรื่องของการกระจายงานทักษะสูงสู่หัวเมืองภูมิภาคเพื่อลดช่องว่างความเข้าใจของผู้ปกครองต่ออาชีพที่เยาวชนต้องการจะเป็น
คำสาปที่ 8: ความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่สั่นคลอน
ระบบการเมืองถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการที่เราจะสามารถสนับสนุนสุขภาวะและพัฒนาการของเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมถึงช่วยปลดล็อกให้พวกเขาสามารถเติบโต พัฒนา และเติมเต็มความฝันในโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่ปัจจุบันเยาวชนมีความเชื่อมั่นในการเมืองระบอบประชาธิปไตยลดลง ทั้งยังมีทัศนคติและมองคุณค่าในหลายมิติที่เอนเอียงไปทางขวามากขึ้น
การเข้าใจในมุมมองหรือพฤติกรรมทางการเมืองของเยาวชนมีความสําคัญเป็นอย่างมาก ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เยาวชนมีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างทรงพลัง แต่เยาวชนยังคงถูกกดปราบจากการมีส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมืองภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองยังคงถูกดําเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้น 20 คนใน 32 คดี
หากนับตั้งแต่ช่วงปี 2020 ที่เป็นช่วงที่มีการชุมนุมใหญ่อย่างแพร่หลายเป็นต้นมา พบว่าปัจจุบันมีประชาชนถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 1,974 คน ใน 1,328 คดี จำนวนมากถูกดำเนินคดีมากกว่า 1 คดี หากนับจำนวนคดีแยกกันจะนับรวมได้ทั้งหมดประมาณ 5,000 คน จำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 20 ปี ประมาณ 286 คนใน 220 คดี
แม้ในรัฐบาลปัจจุบันก็ยังคงมีการกดปราบการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจเยาวชนจาก คิด for คิดส์ มีการสอบถามเยาวชนถึงพรรคการเมืองที่มีแนวคิดและอุดมการณ์ใกล้เคียงกับพวกเขามากที่สุด พบว่าในปี 2022 มีเยาวชนรายงานว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่มีแนวคิดและอุดมการณ์ตรงกับตัวเองมากที่สุดถึง 71.5% และในการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2025 เพิ่มขึ้นเป็น 85% ส่วนพรรคการเมืองอื่นมีสัดส่วนไม่เกิน 2% ในทุกพรรค
ในแง่หนึ่งอาจเรียกได้ว่าพรรคการเมืองสองพรรคนี้เป็นพรรคที่เหมือนผู้แทนทางอุดมการณ์ของกลุ่มเยาวชน แต่ที่ผ่านมามีความพยายามในการสกัดกั้น 2 พรรคการเมืองนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงการที่ผู้แทนทางการเมืองที่เยาวชนรู้สึกว่ามีแนวคิดใกล้เคียงกับพวกเขามากที่สุดกำลังถูกผลักออกจากพื้นที่การเมืองไป
ภายใต้พลวัตทางการเมืองเช่นนี้ ปรากฏการณ์ที่เห็นคือเยาวชนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อระบอบการเมืองและประชาธิปไตย เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อ 3 ปีก่อนพบว่า เยาวชนที่รายงานว่าตัวเองสนใจ ติดตามการเมืองมากถึงมากที่สุด ในปี 2025 นั้นลดลงเหลือ 21.7% จาก 36.7% ในปี 2022 เยาวชนที่เชื่อว่าตัวเองสามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลได้มากถึงมากที่สุด อยู่ที่ 9.3% ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง เยาวชนที่เชื่อว่าการเมืองในระบบผ่านการเลือกตั้งหรือผ่านพื้นที่สภาฯ ยังสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ สัดส่วนลดลงเหลือ 24% จาก 44% ที่น่ากังวลที่สุดคือการเชื่อว่าประเทศไทยจะพัฒนาต่อได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมีสัดส่วนที่น้อยลงจาก 70% ในปี 2022 เหลือประมาณ 57% ในปีนี้
อีกหนึ่งแนวโน้มจากผลสํารวจเยาวชนครั้งล่าสุด คุณค่าและทัศนคติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของเยาวชนในบางประเด็นมีแนวโน้มที่จะหันขวาหรือชาตินิยมมากขึ้น สัดส่วนของเยาวชนที่รายงานว่าตัวเองรู้สึกเป็นพลเมืองไทยมากกว่าพลเมืองโลกในปีนี้อยู่ที่ 40.7% เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 3 ปีก่อนหนึ่งเท่าตัว เยาวชนที่รายงานว่า คิดว่าชาติไทยเหนือกว่าชาติอื่นเพิ่มขึ้นเป็น 16.1% จาก 11% เมื่อปี 2022
หรือการให้ความหมายต่อชาติเองก็มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าดูถึงข้อคำถามเกี่ยวกับองค์ประกอบของชาติที่สำคัญที่สุดจะเห็นว่าเยาวชนมีแนวโน้มนิยามชาติด้วยประชาชนเป็นสัดส่วนที่ลดลงจาก 78.2% ในปี 2022 เหลือประมาณ 68.3% ในปี 2025 โดยที่มีสัดส่วนขององค์ประกอบอื่นอย่างสถาบันพระมหากษัตริย์และวัฒนธรรมขยายตัวขึ้นแทนที่
การนิยามชาติที่เลื่อนไหลส่งผลต่อพฤติกรรมที่เยาวชนคาดหวังต่อเพื่อนร่วมชาติหรือพฤติกรรมที่แสดงออกจากความรักชาติเปลี่ยนแปลงไป ในปี 2022 พฤติกรรมที่เยาวชนมองว่าเป็นการแสดงออกถึงความรักชาติคือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ แต่ว่าในปี 2025 การมีส่วนร่วมทางการเมืองหลุด 3 อันดับแรก เรื่องที่สำคัญที่สุดกลับเป็นการบำรุงรักษาไว้ซึ่งภาษา วัฒนธรรม และชื่อเสียงของประเทศ
อีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนเริ่มจะหันขวาคือการมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญหรือให้คุณค่ากับความหลากหลายและความเสมอภาคระหว่างอัตลักษณ์ลดลง ประเด็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่องของเพศสภาพ เยาวชนที่รายงานว่าความเสมอภาคทางเพศเป็นประเด็นสำคัญกับตนมากถึงมากที่สุดมีสัดส่วนลดลงในทุกกลุ่มเพศสภาพ ซึ่งลดลงแม้แต่ในกลุ่ม LGBTQ+ จาก 88.3% เหลือ 77.5% ในขณะที่กลุ่มเพศสภาพชายจะมีสัดส่วนในการรายงานเรื่องความเสมอภาคทางเพศเป็นเรื่องสำคัญต่ำสุด
ขณะเดียวกัน เยาวชนมองในเรื่องของการกดทับความแตกต่างหลากหลายเป็นปัญหาน้อยลง แง่หนึ่งอาจสะท้อนว่าสังคมไทยเปิดกว้างต่อความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นจนไม่รู้สึกว่ามีการกดทับ แต่ในอีกแง่หนึ่งอาจสะท้อนว่าเยาวชนกำลังมีมาตรฐานต่อการเคารพความแตกต่างและความเสมอภาคต่ำลงจากในอดีต
อีกประเด็นหนึ่งคือเยาวชนมองความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับพวกเขามากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 48% ในเกือบทุกกลุ่มรายได้ กระนั้นก็ตาม แม้ว่าเยาวชนจะเล็งเห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น แต่เยาวชนกลับมีแนวโน้มที่จะมีแนวคิดวิพากษ์โครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง เช่น เยาวชนเห็นว่าระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยมากกว่าที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับทุกคน มีสัดส่วนที่น้อยลงจาก 76.7% เหลือ 58.7% ในปี 2025 หรือมองการมั่งคั่งของคนรวยเกิดจากการเอาเปรียบคนจนเป็นสัดส่วนที่น้อยลงจาก 52.1% เหลือ 30.5% ในทุกกลุ่มรายได้ครัวเรือน ทั้งในพื้นที่เมืองและพื้นที่ชนบท
ข้อเสนอนโยบายต่อเรื่องนี้โดยพื้นฐานที่สุดคือ รัฐบาลจะต้องหยุดกดปราบหรือคุกคามเยาวชนและประชาชนที่ออกมามีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านให้กับเยาวชนและประชาชนที่เคยถูกคุกคามในช่วงที่ผ่านมา คุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกให้เข้มแข็ง รัดกุมขึ้น รวมถึงการขยายช่องทางการมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ประเด็นเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูและกระตุ้นให้เยาวชนอยากจะมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น รวมถึงเชื่อมั่นต่อระบอบการเมืองและสังคมมากขึ้นอีกในระยะยาว
ทำความเข้าใจเยาวชนในทุกมิติผ่านผลสำรวจเยาวชน 2025
การจะผลักดันเยาวชนให้เข็มแข็งในกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการทำนโยบายเยาวชน ซึ่งต้องอาศัยฐานข้อมูลรองรับและเปิดพื้นที่ให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย วรดร เลิศรัตน์ และ ผศ.ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงชวนทำความเข้าใจหลักการทำงานของผลสำรวจเยาวชนที่เป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ถึงคุณค่า ทัศนคติ และความเป็นอยู่ของเยาวชนไทย
วรดรกล่าวว่า จากการสํารวจครั้งที่ผ่านมา ผลการสำรวจถูกนำไปใช้ในชิ้นงานหลากหลายชิ้น หนึ่งโปรเจ็กต์ที่ทาง คิด for คิดส์ ได้ทำคือการลองเอาข้อมูลคุณค่าและทัศนคติของเยาวชนมาจัดกลุ่ม ซึ่งจะเห็นว่าเยาวชนมีความเห็นต่อแต่ละประเด็นค่อนข้างแตกต่างหลากหลายกัน แต่ท้ายสุดแล้วการตอบคำถามของเยาวชนจะเป็นรูปแบบเดียวกันและแบ่งได้ 5 แบบ งานสำรวจเหล่านี้จึงถือเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ใช้รองรับการทำงานวิชาการแทบทุกมิติ
“ฐานข้อมูลของ คิด for คิดส์ ในปี 2022 เป็นแหล่งข้อมูลสําคัญที่ทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว ไม่ใช่แค่ตัวรายงานสถานการณ์ แต่รวมถึงบทวิเคราะห์นโยบายต่างๆ ที่ คิด for คิดส์ได้ผลิตอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เราใช้ข้อมูลจากผลสำรวจในการเข้าใจประเด็นปัญหาที่อาจจะไม่เคยเห็นจากที่อื่นมาก่อน อย่างการเข้าใจปัญหาของ LGBTQ+ เรานำไปศึกษาเรื่องของการถูกคุกคาม ไม่ว่าจะในพื้นที่บ้าน พื้นที่สถานศึกษา เราไปศึกษาถึงมุมมองของพวกเขาต่อการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ หรือทำความเข้าใจความฝันและการมีส่วนร่วมทางสังคมการเมือง”
โดยงานวิเคราะห์ที่ใช้ฐานข้อมูลนี้ไม่ได้จํากัดเฉพาะในงานวิเคราะห์ที่ใช้ข้อมูลระดับชาติเท่านั้น ในปี 2022 งานสำรวจเยาวชนจาก คิด for คิดส์ สำรวจจากเยาวชนทั่วประเทศ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเกือบ 20,000 ตัวอย่าง ทำให้ศึกษาข้อมูลเฉพาะพื้นที่ได้ในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ ฐานข้อมูลสํารวจเยาวชนยังเป็นฐานสําคัญที่ใช้ในการพัฒนายุทธศาสตร์แผนงานและโครงการของทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ใช้พัฒนาข้อเสนอนโยบายและการอภิปรายของพรรคการเมืองหลายพรรค รวมถึงหน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาสังคมจำนวนมากก็นำไปใช้ในงานวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว จนเกิดการเรียนรู้อย่างแพร่หลาย
สำหรับประเด็นในการสำรวจ ทาง คิด for คิดส์จะสำรวจใน 5 มิติ ได้แก่ 1. ข้อมูลพื้นฐานไปจนถึงความเป็นอยู่พื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ ที่อยู่อาศัย สุขภาพกายใจ การบริโภค สารเสพติด สวัสดิภาพและความปลอดภัย เป้าหมายในชีวิต ความฝันในชีวิต 2. ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว 3. การศึกษา การเรียนรู้ และการทำงาน 4. ความสัมพันธ์กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นการรับสื่อเด็ก ใช้อินเทอร์เน็ตทำอะไร ผ่านแพลตฟอร์มไหนบ้าง รวมถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองและพรรคการเมืองที่มีแนวคิดใกล้เคียงกับตน 5. ประเด็นคุณค่าและทัศนคติ ซึ่งสำรวจถึงความเชื่อถือไว้ใจของเยาวชนต่อสถาบันทางสังคมและการเมือง ความเชื่อและศาสนา ชาติ วัฒนธรรม ประเด็นถกเถียงทางสังคม เศรษฐกิจการเมือง การเมืองและนโยบายสาธารณะ ซึ่งในปี 2025 คิด for คิดส์พยายามที่จะติดตามว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ทั้งจากประเด็นเดิมและเปิดประเด็นเพื่อสำรวจเรื่องใหม่ที่กําลังเป็นปัญหาร่วมสมัย
“เราพยายามที่จะขยายความเข้าใจต่อเพศสภาวะของเยาวชน ความเป็นอยู่ ปัญหาหนี้ การทำงานในรูปแบบ NSE ความตั้งใจมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือแม้แต่จริยธรรมต่างๆ และในการสํารวจเราร่วมมือกับหลากหลายองค์กร เพื่อช่วยการกระจายแบบสอบถามและเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างให้ได้เป็นจํานวนมากที่สุด” วรดรกล่าว
ขณะเดียวกันทางฝั่งของ ผศ.ดร.ทิพย์นภา ที่ได้เข้ามาร่วมทีมสำรวจเยาวชนปี 2025 และพัฒนาเรื่องการจัดเก็บข้อมูลวิจัย เพื่อให้การสํารวจเข้าถึงคนและครบถ้วน ทั้งช่วงอายุที่เพิ่มจากเด็กมัธยมเป็นหลัก มาเป็นช่วงอายุ 15-25 ปี หรือตั้งแต่มัธยมจนถึงวัยทำงานตอนต้น โดยแบ่งวิธีสำรวจเป็นแบบสอบถามออนไลน์ รวมถึงมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามด้วยเช่นกัน
ซึ่งการแบ่งพื้นที่สำรวจในการสำรวจครั้งนี้ ไม่ได้ถูกแบ่งเป็น 4 ภาคตามปกติเท่านั้น แต่ถูกเจาะลึกให้เป็น10 ภาค คือกรุงเทพฯ นับเป็นหนึ่งพื้นที่ และภาคอื่นๆ เช่น ภาคเหนือตอนบน-ตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน-ตอนล่าง โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 1,999 คน และใน 10 ภาคนั้นจะมีการสุ่มจังหวัดขึ้นมาเป็นจังหวัดใหญ่อย่างน้อย 2 จังหวัด และจังหวัดเล็กอีกอย่างน้อย 2 จังหวัด ซึ่งในแต่ละจังหวัดก็จะถูกแบ่งเป็นเขตอำเภอให้ลึกลงไปอีก
“เราใช้วิธีการเดินลงพื้นที่ถนนเลย เดินไปตามพื้นที่หมู่บ้าน เพื่อให้แน่ใจว่าเราไปเจอน้องๆ ที่อยู่ในแต่ละพื้นที่จริงๆ ซึ่งก็เจอหลากหลายมากทั้งอยู่ในระบบการศึกษา หรืออาจจะทํางานอยู่ ซึ่งปกติเราหาเขาในพื้นที่สถานศึกษาไม่ได้ ทำการสำรวจทั้งออนไลน์และลงพื้นที่เป็นระยะเวลา 2 เดือน” ผศ.ดร.ทิพย์นภากล่าว
ส่วนการเก็บข้อมูลผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ ผศ.ดร.ทิพย์นภาย้ำว่ากลุ่มตัวอย่างอาจจะไม่ได้สะท้อนประชากรทั้งหมดโดยตรง ถึงอย่างนั้นทีมสำรวจก็พยายามที่จะใช้ตัวแปรในการชั่งน้ำหนักข้อมูล เช่น สัดส่วนของประชากรชาย-หญิงในการตอบแบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างอายุเท่านี้เป็นอย่างไร เป็นต้น
อีหนึ่งสิ่งที่ประสบความสําเร็จกว่าการสำรวจในปี 2022 คือ การพยายามกระจายการสำรวจมากขึ้นผ่านวิธีการต่างๆ ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลของเยาวชนในช่วงอายุ 15-25 ปีที่มีทั้งมัธยม มหาวิทยาลัย วัยทำงานมากขึ้นอย่างน้อย 5% ในทุกกลุ่มอายุ ทำให้มีตัวถ่วงน้ำหนักของข้อมูลเวลาสำรวจมากขึ้นไปอีก
ข้อค้นพบเบื้องต้นที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ ในครั้งนี้มีการเติมตัวแปรทางจิตวิทยาบางอย่างเพิ่มขึ้น เช่น การนิยามตนเองในด้านอัตลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศ ในปี 2025 จะเจาะลึกว่า เพศโดยกำเนิดคือเพศอะไร เยาวชนนิยามตนเองว่าเป็นเพศไหน และรสนิยมทางเพศว่าชื่นชอบเพศอะไร ยกตัวอย่างว่าหากเยาวชนเป็นสหญิง บอกว่าตนเป็นหญิง และชอบเพศตรงข้าม ก็จะถูกจัดอยู่ในหมู่ straight หรือ cisgender หรือหากเพศกำเนิดเป็นหญิงแต่ไม่นิยามว่าตนเป็นหญิงและมีรสนิยมชอบเพศเดียวกัน ก็จะจัดอยู่ในหมู่ LGBTQ+ ไป เมื่อใช้วิธีแยกตามนี้แล้ว พบว่า มี 37.7% ที่ถูกนำไปจัดอยู่ในหมู่ LGBTQ+ ซึ่งมากกว่าตอนที่ถามเพียงเพศชาย หญิง LGBTQ+ 3 กล่องนิยาม
หรือในประเด็นที่บ้านและโรงเรียนอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของเยาวชน ซึ่งในปีนี้มีการถามสถานที่ที่ละเอียดขึ้น ทำให้ทราบว่าเยาวชนถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นที่ไหนบ้าง บ้าน โรงเรียน หรือพื้นที่ชุมชน ข้อค้นพบคือบ้านและโรงเรียนมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง เยาวชน 21.5% เคยถูกทำร้ายหรือทำโทษให้เจ็บปวด เยาวชน 37.4% เคยถูกด่าทอและระราน โดยที่บ้านคิดเป็น 55% ของสถานที่ที่เกิดเหตุมากที่สุด และเมื่อแบ่งตามเพศกำเนิด พบว่า เยาวชนหญิงกว่า 61% ถูกทำร้ายร่างกายที่บ้าน ในขณะที่ผู้ชายจะเกิดเหตุที่โรงเรียนหรือชุมชนมากกว่า สะท้อนว่าเยาวชนชายและหญิงถูกคุกคามในพื้นที่ที่แตกต่างกัน
ในประเด็นของการรักชาติ มีการเพิ่มเติมคำถามที่ละเอียดขึ้น เช่น การวิพากษ์/เตือนเมื่อมีสิ่งผิดปกติในประเทศ การวิพากษ์วิจารณ์ประเทศตัวเอง การพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ยุคสมัยสากล ซึ่งเมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ก็จะพบรูปแบบบางอย่างที่น่าสนใจมากขึ้น โดยไล่ตามคะแนนจาก 0-5 พบว่า ในบางข้อมูลสะท้อนว่าเยาวชนหันขวามากขึ้น ชาตินิยมมากขึ้น ทั้งกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ขณะที่การวิพากษ์หรือพยายามเปลี่ยนสู่ยุคสมัยสากล เยาวชนกรุงเทพฯ ปริมณฑล จะเห็นด้วยมากกว่าจังหวัดอื่น การจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์พบว่า จังหวัดอื่นเห็นด้วยมากกว่ากรุงเทพฯ เป็นต้น
อีกตัวแปรหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาในการสำรวจปีนี้คือ การสื่อสารทางการเมืองเพื่อทำนายความตั้งใจมีส่วนร่วมทางการเมืองของพวกเขาในอนาคต กลุ่มนักวิจัยมองว่าการสื่อสารพูดคุยกับคนรอบตัวมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของเยาวชน ซึ่งได้มีการถามว่าพวกเขาพูดคุยสื่อสารเรื่องการเมืองกับคนอื่นบ่อยมากน้อยแค่ไหน จากแหล่งใด จนได้ค่าเฉลี่ยว่า 81% สื่อสารน้อย และ 19% สื่อสารบ่อย ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมทางการเมืองที่พวกเขาตั้งใจจะแสดงออกในอนาคตคือ ผู้ที่สื่อสารการเมืองบ่อย ตั้งใจจะมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งชุมนุม ทำกิจกรรมร่วมกับพรรคการเมือง หรือแม้แต่ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม สิ่งนี้เป็นข้อมูลสำคัญว่าระบบนิเวศมีผลต่อความคิดทางการเมือง ดังนั้นหากเราต้องการให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่ดี จะสามารถทำอย่างไรกับสภาพแวดล้อมของพวกเขาได้บ้าง
อีกหนึ่งตัวแปรทางจิตวิทยาที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาคือ กรอบคิดเติบโตของเยาวชนสัมพันธ์กับปัจจัยอะไรบ้าง โดยจะเห็นได้ว่า growth mindset ของเยาวชนจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น อาจเกิดจากการผ่านประสบการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือกรอบคิดเติบโตจะสัมพันธ์กับรายได้ในครอบครัว ความตั้งใจจะใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และเยาวชนอยากเรียนต่อในระดับสูงกว่ามาก ในขณะที่กลุ่ม fixed mindset จะมองว่าประเทศไทยดีอยู่แล้ว ดีกว่าคนอื่น เห็นด้วยว่าคนเราทุกชีวิตถูกกําหนดไว้แล้วล่วงหน้า และมองความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องธรรมดา
ตัวแปรอีกต่อไปคือ เรื่องสุขภาวะเพิ่มเติม โดยใช้โมเดล PERMA แบ่งเป็น P-positive emotions อารมณ์เชิงบวก E-engagement คือการรู้สึกว่าได้จดจ่อทําอะไรกับสิ่งที่ชอบ R-positive relationship การมีสัมพันธ์ที่ดี M-meaning การได้ทำอะไรแล้วรู้สึกว่ามีคุณค่า และ A-accomplishment ความรู้สึกชีวิตประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้อย่างแพร่หลายในการวัดจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology)
ทีมวิจัยได้นำ PERMA มาดูความสัมพันธ์ ทำให้ทราบว่าสัมพันธ์กับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม รายได้ของครอบครัว และความเพียงพอของรายได้ หากมีสถานะที่ดีก็จะทำให้มีสุขภาวะทางจิตที่ดีกว่า หรือสัมพันธ์กับปัจจัยโรงเรียน คือ ความรู้สึกปลอดภัยในโรงเรียน ความไว้วางใจครูบาอาจารย์ ที่จะเป็นความสัมพันธ์ทางบวก ส่วนทางลบคือ การถูกด่าทอระราน หากเป็นไปในทางบวกก็จะทำให้เด็กมีสุขภาวะทางจิตที่ดี
ท้ายสุดคือปัจจัยในเรื่องครอบครัวที่มีความสัมพันธ์หลายตัว ในทางบวกคือ ความรู้สึกปลอดภัย ความไว้วางใจในครอบครัว ความสนิทสนม การได้รับการสนับสนุนและช่วยแก้ไขปัญหา การมีอิสระในการตัดสินใจ ส่วนในทางลบคือ การถูกทำร้ายร่างกาย การบุกรุกพื้นที่ส่วนตัว ความขัดแย้งต่างๆ เช่น การใช้ชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรัก การศึกษาและการทำงาน เป็นต้น ซึ่งพบว่า ครอบครัวคือสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อเป้าหมายในชีวิตของเยาวชน
เมื่อทำความเข้าใจในข้อมูลเหล่านี้ก็จะสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลรองรับในการทำนโยบาย และช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อเอื้อโตการเติบโตอย่างมีคุณภาพของพวกเขามากยิ่งขึ้นไป