เลือกตั้งท้องถิ่นอย่างไรให้คุ้มค่า?: บทเรียนจากการเลือกตั้ง อบจ.’68

วันที่ 11 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ประชาชนที่มีชื่ออาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านเขตเทศบาลจะได้ออกไปเลือกตั้ง หรือบางส่วนก็ต้องกลับบ้านไปเลือกตั้งอีกครั้ง หลังจากที่เพิ่งไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายกและ/หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านพ้นไปเมื่อราว 3 เดือนที่แล้ว

เมื่อย้อนหันกลับไปมองจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) ครั้งล่าสุด ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนกลับออกไปใช้สิทธิไม่ล้นหลาม กล่าวคือเกินครึ่งหนึ่งมาเพียงแค่ 8% เท่านั้น ราวกับว่าการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ไม่ได้ให้ผลตอบแทนอย่างความเปลี่ยนแปลงกลับมาอย่างคุ้มค่านัก 

มีแนวโน้มว่าประชาชนจะออกไปใช้สิทธิเลือกเทศบาล (และองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.) สูงกว่า อบจ. โดยทั่วไป เนื่องจากมีภารกิจที่ใกล้ชิดและผูกพันกับประชาชนในท้องที่มากกว่า อบจ. อย่างไรก็ตาม คำถามคือ อัตราการใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ที่ไม่สูงมากนักกำลังบอกอะไร? และจะถอดบทเรียนจากการเลือกตั้ง อบจ. อย่างไร 101 PUB ชวนตั้งคำถามเพื่อเพิ่ม ‘ความคุ้มค่า’ ในการมีส่วนร่วมใช้สิทธิเสียงของประชาชนว่า จะสามารถ ‘ส่งเสียง’ ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอย่างสะดวกและมีควาหมายมากกว่าเดิมได้อย่างไร

เลือกตั้งท้องถิ่น คนไม่ตื่นตัวเท่าเลือกตั้งใหญ่?

อัตราการใช้สิทธิเลือกตั้ง (voter turnout) ในการเลือกตั้งทั่วไปของไทยสองครั้งล่าสุดหลังรัฐบาล คสช. ลงจากอำนาจเมื่อปี 2562 และปี 2566 อยู่ที่ 74.8% และ 75.7% ตามลำดับ ถือว่าสูงกว่าและมีแนวโน้มคงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการใช้สิทธิเลือกตั้งเฉลี่ยระดับโลกซึ่งอยู่ที่ประมาณ 67.0%[1] ช่วงหลังทศวรรษที่ 2550 เป็นต้นมาและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม อัตราการใช้สิทธิของการเลือกตั้ง อบจ. กลับต่ำกว่าอัตราการใช้สิทธิของการเลือกตั้งทั่วไป และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มักวางเป้าผู้ออกมาใช้สิทธิการเลือกตั้ง อบจ. ต่ำกว่าการเลือกตั้งทั่วไปด้วย โดยในการเลือกตั้ง อบจ. 76 จังหวัดทั่วประเทศปี 2563 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นประเภทแรกที่จัดขึ้นหลังคณะรัฐประหาร คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) แช่แข็งท้องถิ่นเป็นเวลา 6 ปี กกต. ตั้งเป้าไว้ที่ 70% แต่มีประชาชนออกไปใช้สิทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 62.2% ส่วนการเลือกตั้ง อบจ. ใน 47 จังหวัดเมื่อวันเสาร์ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา กกต. ลดเป้าผู้มาใช้สิทธิจากปี 2563 ที่ 65% แต่สัดส่วนผู้มาใช้สิทธิก็ลดลงอีกที่ราว 58.0% ยังไม่นับว่าใน 25 จังหวัดที่ต้องจัดการเลือกตั้งเฉพาะนายก อบจ. ล่วงหน้าในระลอกปี 2567 ก่อนรอบการเลือกตั้งตามวาระปกติมีสัดส่วนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเฉลี่ยที่ราว 49.9% หรือเพียงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด อาจสรุปได้ว่ายิ่งมีการเลือกตั้ง อบจ. การออกมาใช้สิทธิก็มีแนวโน้มลดลง

การที่อัตราการใช้สิทธิเลือกตั้งระดับท้องถิ่นต่ำกว่าการเลือกตั้งระดับชาติถือเป็นปรากฏการณ์ร่วมทั่วโลกก็จริง[2] และอัตราการใช้สิทธิเฉลี่ยของการเลือกตั้ง อบจ. ก็ยังถือว่าเกิน (หรือเท่ากับ) ครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด แต่ยิ่งประชาชนที่มีสิทธิตัดสินใจไม่ออกไปส่งเสียงมากเท่าไหร่ ผลการเลือกตั้งก็อาจยิ่งไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของสังคมโดยรวมอย่างเท่าเทียม ผู้แทนที่ได้มาอาจไม่ใช่ตัวแทนที่สะท้อนเสียงส่วนมากของสังคม รวมถึงเป็นสัญญาณว่าสุขภาพของกระบวนการเลือกตั้งและประชาธิปไตยมีปัญหา[3] ความเชื่อมั่นของประชาชนว่าการเลือกตั้งสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือ ‘มอบประโยชน์’ ให้ได้กำลังค่อยๆ สั่นคลอน

เมื่อเลือกตั้งแยกย่อย คนจึงออกมาไม่มากเท่าที่ควร?

การเทียบเพียงแค่อัตราการใช้สิทธิระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบจ. อาจยังสะท้อนภาพปัญหาได้ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร เนื่องจากการเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. (ส.อบจ.) ครั้งแรกหลังปลดล็อกท้องถิ่นจัดขึ้นพร้อมกัน 76 จังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 แต่ในการเลือกตั้งรอบปี 2568 กลับมีจังหวัดที่ต้องเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. แยกวันกัน 29 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่นายก อบจ. ลาออกก่อนหมดวาระ เนื่องจากวาระของนายก อบจ. ที่ได้รับเลือกตั้งใหม่จะนับจากวาระการทำงาน ขณะที่วาระของ ส.อบจ. ที่ได้รับเลือกตั้งใหม่จะนับตามอายุสภาที่เหลือ[4]

ด้วยเหตุนี้จึงมีทั้งจังหวัดที่จัดเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. วันเดียวกันตามรอบการเลือกตั้งปกติเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 และมีจังหวัดอีกส่วนหนึ่งที่ต้องเลือกตั้งนายก อบจ. ก่อนถึงวาระปกติ โดยจัดขึ้นภายใน 60 วันหลังจากที่นายก อบจ. คนก่อนลาออกในตลอดช่วงปี 2565-2567 และขณะเดียวกันก็ต้องจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. ตามรอบการเลือกตั้งปกติต่างหากอีก 1 วัน

การเลือกตั้ง ‘แยกวัน’ อาจส่งผลให้ประชาชนตัดสินใจไม่ออกมาเลือกตั้งมากกว่าที่คิด โดยเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเฉลี่ยใน 47 จังหวัดที่จัดเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. ‘วันเดียว’ และสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งใน 29 จังหวัดที่จัดเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. ‘แยกกันคนละวัน’ ตัวเลขชี้ให้เห็นว่า ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งเฉลี่ยน้อยกว่าในกรณีที่จัดการเลือกตั้งแยกกันคนละวันเป็นสองวัน โดยน้อยกว่าทั้งกรณีที่เลือกตั้งนายก อบจ. นอกรอบการเลือกตั้งและกรณีที่จัดเลือกตั้ง ส.อบจ. ตามวาระ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในจังหวัดที่จัดเลือกตั้งระดับ อบจ. แยกสองวัน อัตราส่วนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.อบจ. ที่จัดตามวาระสูงกว่ากรณีที่เลือกตั้งนายก อบจ. ก่อนรอบการเลือกตั้งตามปกติเล็กน้อย

กรณีที่ขยายภาพปัญหา ‘วันเลือกตั้งแยกย่อย’ ให้เห็นชัดเจนมากขึ้นคือ จังหวัดปทุมธานีที่จัดการเลือกตั้งระดับ อบจ. แยกกัน 3 ครั้งภายในช่วงเวลา 1 ปี นั่นคือ (1) การเลือกตั้งนายก อบจ. วันที่ 30 มิถุนายน 2567 หลังพลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่างลาออกจากตำแหน่ง (2) การเลือกตั้งนายก อบจ. วันที่ 22 กันยายน 2567 เนื่องจาก กกต. มีมติให้ใบเหลืองแก่ ชาญ พวงเพ็ชร นายก อบจ. ที่ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 นำไปสู่การจัดเลือกตั้ง นายก อบจ. อีกรอบ และ (3) การเลือกตั้ง ส.อบจ. ตามรอบการเลือกตั้งปกติวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 จะเห็นตัวเลขว่าอัตราการใช้สิทธิเลือกตั้งของสามวันดังกล่าวต่ำกว่ากรณีที่จัดการเลือกตั้งพร้อมกันวันเดียวตามรอบการเลือกตั้งปกติทั้งหมด และที่น่าสนใจคือ อัตราผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งระดับ อบจ. เฉลี่ยของปทุมธานีในรอบการเลือกตั้ง อบจ. 2568 ต่ำที่สุดในบรรดา 76 จังหวัดทั่วประเทศที่ 39.8% [5]

แน่นอนว่ามีปัจจัยซับซ้อนหลากหลายประการที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชนว่าจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เช่น ตัวเลือกผู้สมัคร บริบทการแข่งขันทางการเมืองในพื้นที่ ความชี้เป็นชี้ตายของการเลือกตั้ง (stake) ไปจนถึงวันในสัปดาห์ที่เลือกจัดเลือกตั้ง หรือสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เป็นใจอย่างฝนตก[6] แต่ข้อสังเกตเบื้องต้นจาก ‘แบบแผน’ ของตัวเลขอัตราการใช้สิทธิเลือกตั้งข้างต้นน่าจะสรุปได้ว่า ‘ความถี่’ หรือ ‘ความแยกย่อย’ ของวันจัดเลือกตั้งคือหนึ่งในตัวแปรสำคัญในสมการการตัดสินใจที่ละเลยไม่ได้ กล่าวคือยิ่งเลือกตั้งถี่ คนยิ่งอาจตัดสินใจไม่ไปเลือกตั้ง

ความยิบย่อยของวันเลือกตั้ง อบจ. เป็น ‘ผลข้างเคียง’ จากกฎหมายที่กำหนดการนับวาระของหัวหน้าฝ่ายบริหารท้องถิ่นและอายุของผู้แทนฝ่ายนิติบัญญัติท้องถิ่นในกรณีที่ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ต่างกัน เกิดเป็น ‘ช่องว่าง’ ที่ถูกฝ่ายบริหารฉกฉวยนำไปใช้เป็นแท็กติกทางการเมืองอย่าง ‘ชิงลาออกเลือกตั้งใหม่’ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้งบประมาณที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายการเลือกตั้งที่มีผลช่วงใกล้เลือกตั้งและชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่งทางการเมืองในสนามหาเสียงเลือกตั้ง[7] แต่ความยิบย่อยที่เกิดขึ้นกลับส่งผลกระทบต่อความสะดวกในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระดับท้องถิ่น

อีกกฎหมายที่ส่งผล ‘ผลข้างเคียง’ ควบคู่กันไปคือ กฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ไม่เปิดช่องให้มีการเลือกตั้งนอกเขตหรือเลือกตั้งล่วงหน้า เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้ประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยปัจจุบันไม่ตรงกับจังหวัด (หรือเทศบาล-อบต.) ที่ระบุในทะเบียนบ้านต้องเดินทาง ‘กลับบ้าน’ เพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อาจอนุมานได้ว่า อัตราการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบจ. ที่น้อยกว่าอัตราการเลือกตั้งทั่วไปอย่างที่สะท้อนไว้ข้างต้นส่วนหนึ่งเป็นผลข้างเคียงจากสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับท้องถิ่นที่จำกัด

คุ้มค่าแค่ไหน (กลับบ้าน) ไปใช้สิทธิได้ทีละนิด?

การใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ท่ามกลางกรอบข้อจำกัดเช่นนี้นำไปสู่คำถามว่า ‘คุ้มค่า’ สำหรับประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิหรือไม่

ในเชิงหลักการ การเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนบน (upper-tier) เป็นไปเพื่อเลือกผู้บริหารและผู้แทนให้เข้าไปกำหนดทิศทางและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริการสาธารณะในพื้นที่ซึ่งสัมพันธ์และใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันอย่างกว้างขวาง เช่น การสร้าง-ซ่อมถนนหนทาง การดูแลความสะอาด การสนับสนุนบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา[8] เพราะฉะนั้นสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ การต้องไปเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมากกว่า 1 ครั้งก็ยังไม่ได้สร้าง ‘ต้นทุน’ ที่สูงมากนัก แม้จะต้องใช้เวลาเดินทางไปใช้สิทธิซ้ำซ้อน แต่ก็ไม่ได้กินเวลามากนักและได้เลือกผู้แทนที่มีอำนาจยึดโยงกับตนและสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาได้

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง อำนาจบริหารในมือของ อบจ. กลับมีจำกัดเสมือนว่าถูกมัดมือมัดเท้าไม่ให้ทำงานได้โดยสะดวก กล่าวคือมีพื้นที่อำนาจซ้อนทับและถูกบีบจากทั้งหน่วยราชการส่วนภูมิภาคและหน่วยงาน อปท. ส่วนล่าง (lower-tier) อย่างเทศบาลและ อบต. เช่นหาก อบจ. จะทำโครงการอะไร ก็ต้องขออนุญาตหน่วยงานส่วนภูมิภาคและขอความยินยอมจาก อปท. ส่วนล่าง จนกลายเป็น ‘ท่อผ่านงบ’ จากส่วนกลางลงมาสู่เทศบาล และ อบต. หรือเป็น ‘ผู้ประสานงาน’ ระหว่าง อบต. มากกว่าเป็นผู้กำหนดทิศทางการบริหารจังหวัด[9] ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานของนายก อบจ. ภายใต้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอำนาจตรวจสอบล้นมือและระเบียบการเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่ยืดหยุ่น จนการทำงานไม่ตอบสนองประชาชนที่มอบคะแนนเสียงให้เท่าที่ควร[10] อาจกล่าวได้ว่า สภาวะ ‘เงินไม่ค่อยมี งานก็ทำได้ไม่ถนัด’ ของ อบจ. ทำให้เสียงของประชาชนมีความหมายในการกำหนดความเป็นไปในพื้นที่ได้ไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ หากเป็นกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งย้ายถิ่นออกไปทำงาน ศึกษา หรืออยู่อาศัยนอกจังหวัดที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง (ประชากรแฝงกลางคืน) ซึ่งคิดเป็น 76.6% ของประชากรแฝงทั่วประเทศจากการสำรวจปี 2567[11] ต้นทุนของพวกเขาในการ ‘กลับบ้าน’ ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ถือว่ายิ่งสูงเกินประโยชน์ที่พวกเราได้รับ ต้นทุนที่ต้องแลกเพื่อกลับบ้านไปใช้สิทธิเลือกตั้งคือ เงินทอง เวลา และพลังงาน ยิ่งหากมีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดที่จัดเลือกตั้งซ่อมนายก อบจ. และเลือก ส.อบจ. ตามวาระ ทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีระยะทางไกลจากจังหวัดที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาศัยอยู่จริงมาก ต้นทุนก็ยิ่งทบทวี ขณะที่การเดินทางไปใช้สิทธิแต่ละครั้งสามารถออกเสียงเลือกได้เพียงแค่หัวหน้าฝ่ายบริหารหรือผู้แทนฝ่ายนิติบัญญัติท้องถิ่นได้ทีละครั้ง แต่ยิ่งไปกว่านั้น การกลับบ้านไปเลือกตั้งท้องถิ่นของพวกเขากลับกลายเป็นการเลือกผู้แทนที่ไม่ได้ยึดโยงกับตนในเชิงพื้นที่ เพราะใช้ชีวิตจริงในพื้นที่อื่น กล่าวคือ ‘คนเลือกไม่ได้อยู่ คนอยู่ไม่ได้เลือก’ 

“เมื่อคำนวณพลังงานและเงินที่เราต้องจ่ายลงไปกับการ [กลับบ้านไป] เลือกตั้ง บวกลบคูณหารสิ่งที่เราได้แล้ว มันก็ไม่มีอะไรเลยนะ นอกจากเราได้เลือกตั้ง เพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น”

– ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดอุบลราชธานี[12] ย้ายถิ่นออกจากจังหวัดเพื่อศึกษาและทำงานเป็นเวลา 9 ปี

หากมองไปถึงการเลือกตั้งเทศบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ และการเลือกตั้ง อบต. ที่กำลังจะหมดวาระลงในช่วงปลายปีนี้ ทั้งสองการเลือกตั้งอาจมีแนวโน้มที่ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิมากกว่า อบจ. โดยทั่วไป เนื่องจากเทศบาลและ อบต. เป็น อปท. ส่วนที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า อบจ. ในฐานะที่สองหน่วยงานนี้เป็นผู้ส่งมอบบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในพื้นที่โดยตรง (รวมถึงเหตุผลที่ว่าการเลือกตั้งเทศบาลครั้งนี้จัดในวันอาทิตย์และตรงกับช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์) อย่างไรก็ตามบทเรียนว่าด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่การเลือกตั้ง อบจ. บอกกับเราคือ (1) การใช้สิทธิทางการเมือง (ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสิทธิเลือกตั้งหรือต้องกลับบ้านไปใช้สิทธิ) ไม่ควรสร้างต้นทุนที่มากจนเป็นภาระแก่ประชาชนและควรมอบประโยชน์หรือผลลัพธ์ทางการเมืองที่คุ้มค่า (2) สิทธิในการเลือกตั้งท้องถิ่นของประชาชนควรเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตในพื้นที่อย่างแท้จริง

‘ทางเลือก’ เพิ่มความคุ้มค่าให้เลือกตั้งท้องถิ่น

หากมุ่งไปที่มิติการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น มีทางเลือกเชิงนโยบายหลายระดับการแก้ไขที่สามารถเลือกใช้ได้

ยิงปืนนัดเดียว ได้นกมากกว่า 1 ตัว: การจัดประชามติพร้อมการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น

การส่งเสริมการมีส่วนร่วมผ่านใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนไม่ได้มีเพียงแค่การเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารและออกกฎหมายในสภา (ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น) เท่านั้น แต่ยังสามารถทำได้ผ่านกลไกประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) อย่างการออกเสียงประชามติที่เปิดโอกาสให้ประชาชนส่งเสียงว่ามีความเห็นอย่างไรต่อประเด็นสาธารณะหรือนโยบายต่างๆ  

การอาศัยจังหวะที่มีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น (หรือรวมถึงระดับประเทศ) จัดประชามติในช่วงวันเวลาเดียวกันกับการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในวิธีการที่เพิ่มประโยชน์ในการใช้สิทธิและลดภาระหรือ ‘ต้นทุน’ ที่ต้องเดินทางไปใช้สิทธิแยกย่อยที่มากกว่า 1 รอบไปพร้อมๆ กัน เป็นการเพิ่มแนวโน้มที่ประชาชนจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น[13] อย่างการทำประชามติระดับประเทศ เช่น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยก็เคยพยายามเสนอให้จัดประชามติคำถามเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พร้อมการเลือกตั้ง อบจ. ที่เพิ่งผ่านมา แม้ว่าจะไม่สำเร็จเนื่องจากรัฐสภาผ่าน ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ไม่ทันเพื่อให้การประกาศกำหนดวันจัดประชามติทันวันจัดเลือกตั้ง อบจ.[14] นอกจากในแง่การส่งเสริมสิทธิ การจัดเลือกตั้งควบการออกเสียงประชามติยังสามารถช่วยประหยัดงบประมาณจากการที่ต้องจัดการเลือกตั้งหลายครั้งได้[15]

อีกกลไกที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เช่นกันคือการออกเสียงประชามติท้องถิ่นในระดับเทศบาล อย่างไรก็ตาม รูปแบบที่กฎหมายเคยเปิดช่องให้จัดการออกเสียงประชามติท้องถิ่นได้คือกรณีที่มีกิจการใดที่อาจกระทบต่อผลประโยชน์ของท้องถิ่นเท่านั้น แต่การเปิดประชาชนให้ออกเสียงประชามติหรือเสนอคำถามประชามติเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะหรือแนวนโยบายในระดับมลรัฐหรือเมืองอย่างกว้างขวางพร้อมการจัดเลือกตั้งอย่างที่ใช้ในสหรัฐฯ ก็เป็นมาตรการที่ควรพิจารณา

เชื่อมสิทธิประชาชนเข้ากับพื้นที่ใช้ชีวิตจริง: ใช้ ‘สิทธิเลือกตั้งตามที่อยู่อาศัย’

การเพิ่มสิทธิเลือกตั้งนอกเขตและเลือกตั้งล่วงหน้าคือทางหนึ่งที่ตอบโจทย์การเอื้อให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นได้อย่างสะดวก โดย กกต. ที่มีขีดความสามารถมากกว่า อปท. อาจดึงภารกิจการเลือกตั้งท้องถิ่นกลับมาจัดเองได้ หรือไม่เช่นนั้น ก็ใช้วิธีเลือกตั้งทางไกลผ่านไปรษณีย์ โดยลงทะเบียนกับ อปท. ที่มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อรับบัตรเลือกตั้งและส่งบัตรเลือกตั้งกลับไป แต่เมื่อนโยบายของ อปท. มีผลกระทบต่อผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยตรง การเปิดให้ผู้ย้ายถิ่นเข้าไปอาศัยในพื้นที่นั้นๆ มีสิทธิลงคะแนนเสียงอาจเป็นแนวทางที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิกำหนดทิศทางการพัฒนาและความเป็นไปในพื้นที่ที่ตนอาศัยได้จริงและตรงตามจุดประสงค์ของการมีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้วิธีเปิดให้มีการลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นแยกเป็นการเฉพาะ ขณะที่ยังสามารถรักษาสิทธิที่ผูกพันกับทะเบียนบ้านที่ในบางกรณีได้เช่น สิทธิการเข้าโรงเรียนในพื้นที่ของบุตรหลาน

ทั้งนี้ อีกบทเรียนที่การเลือกตั้ง อบจ. เผยให้เห็นคือ ‘ความถี่’ ของการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ว่าจะในกรณีที่ผู้บริหาร อปท. ลาออกหรือจากสภาวะที่การเลือกตั้งระดับ อบจ. เทศบาล และอบต. จัดขึ้นในคนละช่วงเวลาอันเป็นผลมาจากการทยอยปลดล็อกการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทีละประเภทของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา การปรับให้วันเลือกตั้ง อปท. ทุกระดับตรงกันจึงน่าจะช่วยให้การไปใช้สิทธิของประชาชนมีต้นทุนที่ลดลงและเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อผลข้างเคียงต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นผลจากกฎหมายส่วนที่เกี่ยวกับวาระของผู้บริหารและสภาท้องถิ่น ไม่ใช่ส่วนที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมผ่านการเลือกตั้งโดยตรง การรีเซ็ตวาระของผู้บริหารและสภาท้องถิ่นเพื่อเปิดโอกาสให้กำหนดวันเลือกตั้ง อปท. ทุกระดับตรงกันจึงเป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน

ไปให้ไกลกว่าการเพิ่มความคุ้มค่าในการใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น

การเลือกตั้งได้ชื่อว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในระบอบการเมืองประชาธิปไตย ไม่ว่าจะในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นเพื่อเลือกผู้แทนทางการเมืองที่สะท้อนเสียงของตนเองได้ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

แต่การเลือกตั้งเป็นเพียงกลไกหนึ่งของการกระจายอำนาจเท่านั้น[16] หากการเมืองท้องถิ่นจะสามารถตอบสนอง ยึดโยงต่อประชาชน และมีความหมายต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง การส่งเสริมสิทธิการมีส่วนร่วมผ่านการเลือกตั้งคงไม่เพียงพอ หากแต่ภารกิจการกระจายอำนาจและถ่ายโอนอำนาจไปสู่ อปท. ที่คั่งค้างมาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษต้องกลับมาเดินหน้าอีกครั้งเช่นกัน


 

[1] 101 PUB อ้างอิงการคำนวณอัตราการใช้สิทธิเลือกตั้งเฉลี่ยโลกจาก Kostelka, Filip, and André Blais. “The Generational and Institutional Sources of the Global Decline in Voter Turnout.” World Politics 73, no. 4 (2021): 629–67. ซึ่งคำนวณจากการเก็บข้อมูลสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งระดับประเทศ เช่น การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากประเทศประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง (electoral democracy) ใน 116 ประเทศทั่วโลก

[2] Kouba, Karel, Jakub Novák, and Matyáš Strnad, “Explaining Voter Turnout in Local Elections: A Global Comparative Perspective,” Contemporary Politics 27, no.1 (2020), 58–78. doi:10.1080/13569775.2020.1831764.

[3] “Voter turnout,” MIT Election Data + Science Lab, accessed April 25, 2025, https://electionlab.mit.edu/research/voter-turnout

[4] พ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2542

[5] สัดส่วนผู้เฉลี่ยคำนวณจากการเลือกตั้งนายก อบจ. ในวันที่ 22 กันยายน 2024 + การเลือกตั้ง ส.อบจ. ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2025 อ้างอิงสถิติจากกกต.

[6] Søren Damsbo-Svendsen, Kasper M. Hansen, “When the election rains out and how bad weather excludes marginal voters from turning out,” Electoral Studies 81, 2023, https://doi.org/10.1016/j.electstud.2022.102573.

[7] “อบจ. เลือกตั้งไปทำไม ทำไมเลือกตั้งนายก อบจ. เหลือแค่ 47 จังหวัด,” Rocket Media Lab, 8 มกราคม 2025,  https://rocketmedialab.co/pao-2025-collab-1/  (เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2025)

[8] 101 PUB อ้างอิงจากการรวบรวมภารกิจของ อบจ.จากข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี อบจ. โดย Rocket Media Lab

[9] สรัช สินธุประมา, “7 หลุมบ่อบนเส้นทางบริหาร อบจ,” 101 Public Policy Think Tank, 31 มกราคม 2568, https://101pub.org/7-potholes-pao/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2025)

[10] เรื่องเดียวกัน.

[11] สำรวจประชากรแฝงในประเทศไทย (2024)

[12] สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2025

[13] Stina Larseru,“Combining referenda and elections,” ACE Electoral Knowledge Network, December 5, 2006, https://aceproject.org/electoral-advice/archive/questions/replies/579640459 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2025)

[14] “100% หมดลุ้น! รัฐบาลเพื่อไทยไม่จัดประชามติรัฐธรรมนูญพร้อมเลือกตั้งอบจ.,” ilaw, 6 พฤศจิกายน 2024, https://www.ilaw.or.th/articles/47819 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2025)

[15] Armillei, Francesco and Cavallotti, Enrico, “Concurrent Elections and Voting Behaviour: Evidence from an Italian Referendum,” BAFFI CAREFIN Centre Research Paper, No. 2021-164 (August 24, 2021), https://ssrn.com/abstract=3910462 

[16] ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล, “รัฐต้องปล่อยให้ท้องถิ่นเป็นผู้เล่นอย่างแท้จริง” ก้าวต่อไปของเลือกตั้งท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ กับ วีระศักดิ์ เครือเทพ,” The 101.world, 18 ธันวาคม 2563, https://www.the101.world/weerasak-krueathep-interview/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2025)

อินโฟกราฟฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

7 หลุ่มบ่อบนเส้นทางบริหาร อบจ.

7 หลุมบ่อบนเส้นทางบริหาร อบจ.

อุปสรรคหลุมบ่ออะไรบ้าง บนเส้นทางบริหารงาน อบจ. ที่ทำให้การพัฒนาจังหวัดยังคงติดหล่มจมโคลน หลังจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเริ่มต้นมาแล้วถึง 25 ปี

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2025 101pub.org | All rights reserved.