From New Fair Game to New Fair World: ปรับมุมมองเศรษฐกิจไทย สร้างโลกการแข่งขันที่เปิดกว้างและเป็นธรรม

101 PUB

6 December 2024

แม้ปัญหาสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศล้นทะลักเข้ามาในไทยจะเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงและถกเถียงกันในช่วงสองสามปีมานี้ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ปัญหาดังกล่าวเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เสริมทัพด้วยการมาถึงของแอปพลิเคชัน e-commerce น้องใหม่จากจีนอย่าง Temu ที่เติบโตและเข้ามาครอบครองส่วนแบ่งในตลาดไทยอย่างเงียบๆ ทว่าทำให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายเล็กและรายย่อย ทยอยล้มหายไปจากตลาดทีละรายสองราย

ที่กล่าวมาข้างต้นคือสนามประลองของผู้แข่งขันรายย่อยที่ไม่อาจสู้กับอำนาจและสายป่านทุนในระยะยาวของผู้เล่นรายใหญ่ที่มาจากต่างประเทศได้ เมื่อขยับไปมองภาพใหญ่ หนึ่งในข่าวที่สั่นสะเทือนทั้งวงการโทรคมนาคมและวงการผู้บริโภคคือการประกาศควบรวมกิจการของสองค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ทรู-ดีแทค (True-Dtac) ภายใต้ชื่อ ‘บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’ ตามมาด้วยการควบรวมกันของ AIS และ 3BB เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

หากมองผิวเผิน ทั้งสองเรื่องอาจดูแตกต่างและอยู่บนสนามประลองคนละแห่งกัน แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกกว่านั้นจะเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนนัยของการที่ตลาดเพื่อผู้บริโภคถูกสั่นสะเทือนและแทรกแซง ตั้งแต่ระดับรายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ คำถามสำคัญคือ คนตัวเล็กตัวน้อย ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยและผู้บริโภค อยู่ตรงไหนในสมการนี้

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด เรากำลังอยู่ในโลกการแข่งขันที่เป็นธรรมเพียงใด มีมาตรการหรือวิธีการใดที่จะสามารถสร้างโลกการแข่งขันที่ยุติธรรมสำหรับทุกคนได้อย่างแท้จริง

วันโอวันชวนอ่านเก็บความบางส่วนจากงานเสวนาโต๊ะกลม ‘New Fair Game: โลกใหม่ของการแข่งขันที่เป็นธรรม’ โดย 101 PUB ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประจำประเทศไทย พูดคุยและหารือข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อจะนำไปสู่การปฏิรูปการกำกับการแข่งขันที่จะกระทบต่อรากฐานเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ร่วมเสวนาโดย รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค

สร้างทีมประเทศไทย ประสานการทำงานใหม่ในโลกแห่งการดิสรัปต์ อาชนัน เกาะไพบูลย์

หากหลายคนมองว่า นี่เป็นโลกใหม่ของการแข่งขันที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกเก่าไปโดยสิ้นเชิง รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า เราต้องเริ่มจากการพิจารณาว่าโลกใหม่เกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้กติกาและสภาพแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนไป

ในความคิดของอาชนัน โลกเปลี่ยนแปลงด้วยหลายปัจจัยในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา

ปัจจัยแรก คือเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้ามากขึ้นจนเกิดทำให้การเปลี่ยนแปลงกติกาการค้าต่างๆ กลไกตลาดทั้งฝั่งผู้เล่นและผู้ผลิตสินค้าจึงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ปัจจัยที่สอง คือโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐศาสตร์ อาชนันชี้ว่าประเด็นที่น่าสนใจคือ ประชาคมโลกรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรในช่วงที่ผ่านมา เพราะแม้ทุกประเทศจะมักอ้างว่าตนยึดหลักเศรษฐศาสตร์ในการรับมือกับกระแสดังกล่าว แต่อาชนันมองว่า แต่ละประเทศกลายเป็นบริษัทและถูกขับเคลื่อนให้แข่งขันกันเพื่อสร้างผลกำไรให้มากที่สุด (maximise profit) มากกว่าที่จะยึดหลักเศรษฐศาสตร์เรื่องการแบ่งงานกันทำ

“ถ้ามองแบบนี้ ทุกประเทศก็ต่างมุ่งจะเอาชนะในเกม จากที่เคยแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันก็กลายเป็น zero-sum game (เกมที่มีคนแพ้และคนชนะ) นำไปสู่ความวุ่นวายแบบที่เราเห็นกัน”

ปัจจัยที่สาม ในความคิดของอาชนัน คือการดิสรัปต์ของเทคโนโลยี (technology disruption) ที่แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามา ‘เขย่า’ โลกจนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่นักวิชาการก็เริ่มตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วเทคโนโลยีสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เร็วแค่ไหน

และปัจจัยที่สี่ อาชนันชี้ให้เห็นประเทศใหญ่อย่างจีนที่เป็นมหาอำนาจด้านการทหารในโลก สะท้อนให้เห็นว่าจีนมีการทำวิจัยและพัฒนา (research and development) ที่ตั้งอยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์ในระดับหนึ่ง และจีนจะบูรณาการเรื่องดังกล่าวเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวเปลี่ยนเกมสำคัญในตลาดโลก

อย่างไรก็ดี อาชนันอธิบายบริบทว่าลักษณะพิเศษของจีนคือมีการบูรณาการเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่รัฐและเอกชนทำงานพร้อมกัน ทว่าเรื่องอื่นหรือระบบอื่นยังรวมศูนย์ (centralised) จึงสรุปได้ยากว่าจีนเก่งขึ้นเพราะอะไรกันแน่ เป็นเพราะภาคเอกชนของจีนเก่งขึ้นด้วยตนเองหรือรัฐบาลมีส่วนช่วย นอกจากนี้ จีนยังต้องเจอกับปัญหาฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นความมั่งคั่งของจีนถึงร้อยละ 50-60 จนกระทบกับการบริโภค

“ถ้าเรานำปัจจัยสี่ข้อนี้มาเชื่อมต่อกัน จะเห็นว่าเกมที่เราเคยเล่นและคุ้นเคยเปลี่ยนไป ตลาดและกลไกต่างๆ ก็พลอยเปลี่ยนไปด้วย ทำให้เล่นเกมยากขึ้นเรื่อยๆ”

ในมุมมองของอาชนัน ไทยควรมีกฎกติกาตรงกลางเพื่อขีดเส้นกำหนดว่า เอกชนจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน และรัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงได้ไหม อย่างไรบ้าง หรือเรียกง่ายๆ คือมีกติกากลางร่วมกัน แต่ปัญหาคือทุกวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีกติกากลาง ซ้ำยังถูกทำให้สั่นคลอนเรื่อยๆ ซึ่งอาชนันมองว่า รัฐและเอกชนควรทำงานร่วมกัน (synchronised) มากขึ้น

อีกหนึ่งคำถามสำคัญคือทำไมสินค้าจากจีนราคาถูกได้มากขนาดนี้ แม้ผู้บริโภคไทยจะได้สินค้าในราคาถูกจริง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นผลดีเสมอไป “ของบางอย่างเป็นสินค้าราคาถูกแบบเทียมๆ ก็มีโอกาสจะนำไปสู่การทุ่มตลาดได้ ผมเลยมองว่ารัฐต้องมีบทบาทนำในการเข้าไปสำรวจว่าปัญหาเกิดขึ้นตรงไหน อย่างไร”

“สินค้าบางอย่างที่ไม่ได้ผลิตในปริมาณมากๆ จนต้นทุนการผลิตต่ำ จะราคาถูกได้ไม่นานเพราะสุดท้ายแล้วจะเข้าเนื้อ ฉะนั้นผู้ผลิตเอกชนไทยบางรายอาจเปลี่ยนบทบาทตัวเองเป็นคนนำเข้าได้ง่าย แต่บางอุตสาหกรรมที่ต้องลงทุนมหาศาล เช่น เครื่องจักร ถ้าโดนตีตลาดจากสินค้านำเข้ามากๆ เข้า พวกเขาอาจจะอยู่ไม่ได้”

เมื่อพูดถึงโลกของการแข่งขันที่เป็นธรรม (fair) อาชนันมองว่า คำว่าเป็นธรรมของแต่ละคนไม่เท่ากัน และยิ่งไม่มีกติกากลางก็ยิ่งทำให้เกิดความผสมปนเปมั่วกันเข้าไปใหญ่ เขาจึงเน้นย้ำอีกรอบว่าเราต้องหากติกากลางร่วมกันโดยความร่วมมือกันของรัฐกับเอกชน

“ปัญหาสำคัญหนึ่งของเราคือโครงสร้างกำลังคนภาครัฐ อย่างแต่ก่อน เราอาจมีการเจรจาการค้ากับองค์การการค้าโลก (WTO) เท่านั้น แต่ตอนนี้เรามีเรื่องเขตการค้าเสรี (FTA) เต็มไปหมด ทว่ากำลังคนก็ยังเท่ากับตอนมีแค่การเจรจากับ WTO แล้วเราจะจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไร”

“นอกจากนี้ เรายังไม่มีระบบที่ทำให้คนพยายามจะคิดต่างเพื่อรับมือกับโจทย์พวกนี้ ถ้าข้าราชการคิดต่างแล้วพลาด ก็ต้องรับผิดเอง ข้าราชการก็เลยหนีเข้าเซฟโซนกันหมด โลกของเราก็ยิ่งเล็กลงไปใหญ่”

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจที่อาชนันชี้ให้เห็นคือ การทบทวนนโยบายเกี่ยวกับ SMEs โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างผู้ประกอบการขนาดเล็ก (small) และผู้ประกอบการขนาดกลาง (medium) จากออกจากกัน เพราะสองกลุ่มนี้มีลักษณะเฉพาะและจุดเด่นแตกต่างกัน กล่าวคือผู้ประกอบการขนาดเล็กมีจุดเด่นที่ความคล่องตัว รัฐจึงควรมีช่องทางฝึกฝนฟื้นฟูทักษะใหม่ (reskill) ให้กลับเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมได้ แต่กับผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไปย่อมใช้วิธีเช่นนี้ไม่ได้

“เราต้องเข้าใจว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กของเราคือใคร จะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร ผมคิดว่าเราสามารถเริ่มมองจากบริบทท้องถิ่นก่อนจะไปมองในบริบทของต่างชาติที่แตกต่างจากเรา คือแลกเปลี่ยนแนวคิดกันได้ แต่คงไม่ใช่การยึดตามบริบทของเขาทั้งหมด”

ในตอนท้าย อาชนันยอมรับว่าทางรอดหรือทางออกของไทยเป็นเรื่องยากและท้าทายพอสมควร โดยเฉพาะในโลกการแข่งขันเช่นปัจจุบันนี้

“ผมคิดอยู่เป็นเดือนเลยนะเรื่องทางรอดของไทย ผมคิดว่าเราต้องทำหลายส่วนพร้อมๆ กัน อย่างแรกคือเราต้องมีระเบิดเศรษฐกิจ (economic bomb) ในทางที่ดี สูบฉีดเข้าไปเพื่อเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ถ้าเราแข่งขันในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor) หรือชิป (chip) จะได้ไหม”

“สองคือเราต้องมองไทยด้วยใจเป็นธรรม (sensible optimism) เพราะวันนี้ทุกคนมีปัญหา เราอย่าไปมองตัวเองแย่จนไม่มีใจจะสู้ เพราะต้นทุนค่าเสียโอกาสมันแพงขึ้นทุกวัน”

“ผมมองว่าเราพยายามปรับให้เข้าใจตรงกันและเคลื่อนไปด้วยกันได้ อย่าไปวาดภาพลบมาก มันจะไม่มีอะไรดี และสุดท้ายเราจะหดหู่กันหมด”

สำหรับอาชนัน ทางออกของการมีการแข่งขันที่เป็นธรรมคือ การมีทีมประเทศที่รัฐบาลทำงานร่วมกับเอกชน โดยมีเอกชนเป็นแนวหน้าและรัฐคอยหนุนเสริม ไม่ใช่การลงแส้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายกฎระเบียบ โดยเฉพาะกับคนในประเทศ

“โลกทุกวันนี้มีพลวัตมากเกินกว่าจะแค่กรอกแบบฟอร์มร้องเรียนปัญหาและรอการติดต่อกลับ คือจะให้เป็นธรรมทั้งหมดคงจะไม่ได้ แต่ทำอย่างไรที่จะเป็นธรรมมากพอที่จะแข่งขันในโลกได้ เราจึงต้องมีความเป็นทีมที่คนในทีมมีมายเซตแบบเดียวกันและเคลื่อนไปพร้อมกัน”

“มันไม่ง่ายหรอกครับ แต่ถ้าเราช่วยกันสะท้อนออกไปให้ถึงกลุ่มคนให้มีความเข้าใจที่ใกล้เคียงกันแล้ว ผมว่าเราน่าจะเคลื่อนไปข้างหน้ากันได้ง่ายขึ้น” อาชนันทิ้งท้าย

ปรับกฎหมาย-มองนโยบายระยะยาว เพื่อสร้าง level playing field ในการแข่งขัน วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์

“เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้โลกเราต้องแข่งขันกันแบบใหม่ จากเดิมที่เคยมีขอบเขตการแข่งขันอยู่ภายในประเทศ ถ้าอยากนำสินค้ามาขายก็นำเข้ามาโดยผู้นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้น คนในประเทศยังอยู่ด้วยกันได้ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน เช่น กฎหมายแข่งขันทางการค้าหรือมาตรฐานอุตสาหกรรมต่างๆ”

“แต่การเปิดโลกซึ่งทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าได้อย่างรวดเร็วผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้การขายสินค้าจากต่างประเทศข้ามกฎเกณฑ์หลายข้อที่ผู้ประกอบการในไทยต้องทำ อาทิ ส่งและเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งก็จะเป็นปัญหาต่อไปเรื่อยๆ อย่างเช่นรัฐจะสูญเสียรายได้ที่อาจสามารถนำมาช่วยกลุ่มธุรกิจ SMEs ได้”

ข้างต้นคือการกล่าวนำจาก ผศ.ดร. วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า แม้ข้อดีของการซื้อขายออนไลน์คือการจัดการข้อมูลที่ง่ายขึ้น แต่ไทยยังต้องการการแก้กฎหมายให้มีการรองรับในส่วนนี้ เพื่อให้มีความเป็นธรรมเพิ่มขึ้นระหว่างผู้ค้าขายในไทยกับในต่างประเทศ

“เราไม่รู้คุณภาพสินค้าจากต่างประเทศที่ไหลบ่าเข้ามาในไทยเลย และขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องอยู่ใต้มาตรฐานต่างๆ แต่ของจากต่างประเทศเข้ามาแล้วขายได้เลย คุณภาพเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ มันไม่มี level playing field (สถานการณ์การแข่งขันที่ยุติธรรมกับทุกฝ่าย) หรือพูดง่ายๆ คือไม่มีแฟร์เกม”

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น วรรณวิภางค์ยกตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการจำกัดบทบาทของแพลตฟอร์มรายใหญ่ เช่น การตั้งข้อจำกัดให้แพลตฟอร์มแอมะซอน (Amazon) เพื่อปกป้องประโยชน์ของตลาดให้มากที่สุดและป้องกันการกระทำที่อาจก่อให้เกิดโทษได้

อีกประเด็นน่าสนใจที่วรรณวิภางค์ชี้ให้เห็นคือ พฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมมีหลากหลายประเภทมากกว่าที่คิด อย่างการนำข้อมูลในแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งถือเป็นมูลค่าทางธุรกิจชนิดหนึ่งไปใช้ต่อ อาทิ ผู้ซื้อเป็นใคร ต้องการอะไร ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะเอื้อให้แพลตฟอร์มที่เก็บข้อมูลสามารถคิดค้นอะไรใหม่ๆ ออกมาได้เพราะทราบความต้องการในตลาดแล้ว และได้เปรียบคู่แข่ง วรรณวิภางค์จึงเน้นย้ำความจำเป็นของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลควบคู่ไปกับการแข่งขันทางการค้า

“ตอนนี้บางประเทศพยายามรณรงค์เรื่องความสำคัญของการมีธุรกิจที่หลากหลาย คือหลายอย่างไม่ได้แค่ถูกขับเคลื่อนหรือกดดันแต่ในภาคธุรกิจ แต่ในภาคผู้บริโภคเองก็สามารถเลือกได้เช่นกัน เช่น เราเห็นว่าสินค้านำเข้าราคาถูกจริง แต่เราต้องการจะมีแต่สินค้าแบบนี้อยู่ในตลาดจริงหรือ การคิดแบบนี้อาจช่วยให้ผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้นและหันมาใช้สินค้าที่เป็นของท้องถิ่นมากขึ้น รวมถึงผลิตในพื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่ต้องเสียค่าขนส่งหรือก่อมลพิษ”

เมื่อขยับมาที่โจทย์นโยบาย วรรณวิภางค์ชี้ว่า ไทยควรเริ่มมองนโยบายแบบระยะยาวมากกว่านี้ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะยากสำหรับพรรคการเมืองต่างๆ ที่การใช้นโยบายระยะยาวอาจจะทำให้ไม่เห็นผลในช่วงการดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่วรรณวิภางค์ชี้ว่า นี่เป็นสิ่งจำเป็นและจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เพราะไทยไม่สามารถสู้ได้ด้วยการขายสินค้าราคาถูกหรือต้นทุนถูก แต่ต้องสู้ด้วยการคิดว่ามีอะไรบ้างที่เราสามารถทำได้ดี

ตัวอย่างนโยบายระยะยาวคือ การสร้างคนในด้าน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) เพื่อจะแข่งขันกับต่างประเทศได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องมุ่งเน้นเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ความเป็นดิจิทัลเพื่อให้สอดรับกับความเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้น พร้อมกับช่วยให้ฝั่งผู้ผลิตเข้าถึงเทคโนโลยีและมีองค์ความรู้ในการทำสิ่งต่างๆ (know how) ไปจนถึงการตั้งระบบหลังบ้านหรือหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้

เมื่อขยับมาที่มุมกฎหมายกฎระเบียบ วรรณวิภางค์นิยามว่า กฎหมายไทยหลายอย่างค่อนข้างล้าหลัง โดยกฎหมายไทยมักจะใช้คำว่า อยู่ในแนวภูมิศาสตร์ คือพื้นที่ประเทศไทย หรือต้องเป็นผู้ประกอบการและผู้ที่ขายสินค้าในไทย แต่หากมีการปรับกฎหมาย อาจจะลองพิจารณาว่าความครอบคลุมไปถึงการขายสินค้าให้คนไทยจำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทยด้วย เพื่อเป็นการดึงให้ผู้ประกอบการต่างชาติมาอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกันกับผู้ประกอบการไทย

ในอีกมุมหนึ่ง คำว่าล้าหลังในที่นี้ยังหมายรวมถึงการจำกัดบทบาทของผู้ประกอบการต่างชาติเจ้าใหญ่ที่ไม่สามารถเพิ่มธุรกิจในประเทศได้ เช่น บริษัทญี่ปุ่นที่ถูกจำกัดการเปิดแพลตฟอร์มขายของในไทย วรรณวิภางค์จึงเน้นย้ำความสำคัญของการพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าส่วนไหนดีและส่วนไหนไม่ดีที่ต้องปรับตัวกันต่อไป

อย่างไรก็ดี วรรณวิภางค์กล่าวชื่นชมหลักการของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า แต่อย่างไรก็ดี ส่วนที่ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่คือการตีความหรือเขียนประกาศกฎหมายลำดับรอง ที่อาจค่อยๆ เพิ่มบางมาตราให้ขยายกว้างขึ้นและรับการตีความที่กว้างขึ้น ทำให้การสู้คดีเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

“กฎหมายไทยอาจจะยังเน้นตีความตามมาตรา แต่การกระทำผิดทางการค้าเป็นการกระทำผิดทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ทำให้เราจำเป็นต้องวิเคราะห์เป็นกรณีๆ ไป จึงควรเปิดให้มีการพิสูจน์ผลและนำเสนอผลการวิเคราะห์รวมถึงปัญหาต่างๆ ให้สาธารณชนรับทราบแบบเป็นขั้นๆ ในระหว่างทาง ซึ่งจะช่วยให้เรารับฟังความคิดเห็นได้รอบด้านมากขึ้น”

ในตอนท้าย วรรณวิภางค์กล่าวว่า “เวลาเราไปซื้อของจากบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เรามักได้ยินคำชื่นชมว่าสินค้าของเขาคุณภาพดี เพราะญี่ปุ่นมีการคัดกรองสินค้าที่ได้มาตรฐาน คำถามคือ ทำไมเราจะทำกับสินค้าไทยบ้างไม่ได้ แต่ไทยก็อาจจะต้องหาคัดกรองสินค้าให้ได้มาตรฐานและทำให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่จะเข้ามาต้องใช้ความพยายามเท่าผู้ประกอบการในไทยด้วย เพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน”

“นอกจากนี้ รัฐอาจช่วยสนับสนุนด้วยวิธีต่างๆ เช่น ทำเว็บไซต์หรือระบบหลังบ้านให้ผู้ประกอบการ SMEs ฟรีๆ แบบลงทุนทีเดียวใช้ได้กับทุกคน ก็เป็น quick win แบบหนึ่งที่จะช่วยได้เหมือนกัน” วรรณวิภางค์กล่าว

ถอดบทเรียนกรณีการควบรวม สู่ก้าวต่อไปในการสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม – วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง

ในฐานะผู้แทนที่สะท้อนเสียงของผู้บริโภค วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค เน้นย้ำว่า ผู้ควบคุมกฎหมายกฎระเบียบ (regulator) ควรขยับขยายไปคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ (public interest) โดยมองให้ครอบคลุมการคุ้มครองประชาชนทั้งในฐานะผู้บริโภคและพลเมือง และคำนึงถึงประชาชนในมิติของการแข่งขันด้วย

“เวลาเราจะปล่อยให้เกิดการควบรวมกิจการใด เราไม่ควรมองเป็นแค่เรื่องของการแข่งขันทางการตลาด แต่ต้องมองให้หลายด้าน ทั้งจากข้อมูลและวาทกรรมต่างๆ ว่าเรื่องนี้จะส่งเสริมให้ประชาธิปไตยดีขึ้นจริงหรือไม่”

วรพจน์เล่าประสบการณ์การทำงานที่เคยจับตามองเรื่องการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในบทบาทของการควบรวมทรู-ดีแทค และ AIS กับ 3BB รวมถึงการทำงานของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ซึ่งสะท้อนถึงการไม่ได้ศึกษาตลาดและไม่ได้เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นก่อนมีการตัดสินควบรวม

“หลายคนคงรู้ปัญหาอยู่แล้วว่าปัญหาคือเรื่องของการยึดรัฐ (state capture) ที่กลุ่มทุนเข้าไปยึดกุมอำนาจรัฐค่อนข้างมากจนส่งผลถึงการตัดสินใจหลายอย่างของผู้ควบคุมกฎระเบียบ ที่อาจไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้งในการจะอนุญาตให้หรือไม่ให้ควบรวม”

วรพจน์ยกตัวอย่างในต่างประเทศว่า หากจะมีการควบรวมกิจการใด เอกชนจะต้องยื่นเรื่องเข้ามาโดยให้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนหลักฐานและยืนยันข้อดีของการควบรวม อาทิ มีการใช้นวัตกรรม ส่งผลต่อการแข่งขันอย่างไร และสุดท้ายคือการชี้แจงว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและการแข่งขันในตลาดอย่างไร จากนั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลจะเข้ามาพิจารณาและศึกษาว่าการควบรวมดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ทั้งจากการศึกษาข้อมูลภาคเอกชน ศึกษาจากผลการกำกับดูแล ศึกษาตลาดและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และเรียกภาคส่วนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลต่างๆ และสุดท้ายคือตัดสินใจโดยมีเหตุผลสนับสนุนชัดเจนกับสาธารณชนอย่างโปร่งใส ซึ่งวรพจน์ชี้ว่า “เราไม่เห็นแบบนี้ในกรณีของไทยเลย”

กลับมาที่ประเทศไทยในกรณีของ กสทช. วรพจน์ชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น หนึ่งคือไร้ความโปร่งใส เนื่องจากไม่เคยมีการเปิดเผยมติคณะกรรมการ กสทช. หรือต่อให้มีการเปิดเผย ก็เกิดขึ้นหลังจากที่มีการตัดสินใจแล้ว ประชาชนไม่เคยรับรู้หรือรับทราบผลการศึกษาของเอกชนและหน่วยงานภายนอกที่เสนอต่อ กสทช. ทำให้ประชาชนตั้งคำถามว่า การตัดสินใจเกิดขึ้นบนฐานของอะไร ใช้งานศึกษาแบบใด และข้อกล่าวอ้างเป็นจริงแค่ไหน

“การควบรวมกับของ AIS กับ 3BB ก็มีการถกเถียงกันค่อนข้างเยอะว่า เหมือนมีธงอยู่แล้วว่าพอคุณอนุญาตให้ทรูกับดีแทคควบรวมกัน เคสนี้ผลกระทบน้อยกว่าก็ต้องควบรวมได้ แต่คำถามคือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) จะแข่งขันต่อไปได้ไหม เมื่อมีการอนุญาตให้ควบรวมเช่นนี้”

สอง คือไร้การมีส่วนร่วม วรพจน์ชี้ว่า ดีลควบรวมเช่นนี้มีผลกระทบกับผู้บริโภคสูงมาก แต่กลับไม่เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็น และแม้กฎหมายจะไม่ได้บังคับให้ทำ แต่วรพจน์มองว่าด้วยธรรมาภิบาลแล้วควรเปิดให้ประชาชนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นเพื่อจะได้รับความคิดและมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องมองเห็นว่าเรื่องดังกล่าวกระทบกับประโยชน์ของสาธารณชนอย่างไรบ้าง

สาม คือไร้กลไกความรับผิดชอบต่อคำตัดสินและการทำงานของตัวเอง เนื่องจาก กสทช. อนุญาตให้ทั้งสองกรณีควบรวม โดยอ้างว่ามีมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันผลกระทบ (remedy) ที่จะเกิดกับผู้บริโภค ทว่ากลับไม่มีการติดตามมาตรการเหล่านี้อย่างจริงจัง

“ทรูกับดีแทคควบรวมกันไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ไม่มีอนุกรรมการติดตามการควบรวมกันมาแล้วหนึ่งปี ช่องว่างตรงนี้ทำให้ไม่มีการติดตามผลปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตใดๆ ส่วนกรณีของ AIS กับ 3BB ก็ไม่รู้ว่าเอกสารที่ส่งเป็นอย่างไร หรือได้ทำตามเงื่อนไขทั้งหลายหรือไม่ ตรงนี้เราไม่อาจรู้ได้เลย”

อย่างไรก็ดี วรพจน์ชี้ว่า ทั้งหมดนี้อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเอกชนเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการทำงานที่ไม่สอดรับกันของ กสทช. ด้วย อาทิ กรณีการควบรวมของ AIS และ 3BB มีข้อกำหนดว่าจะต้องไปลงทุนในพื้นที่ที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจต่ำเป็นจำนวนเงิน 1 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี โดยทำแผนลงทุนภายใน 6 เดือน ทว่าเวลาล่วงเลยมาเกินกำหนดแล้ว กสทช. ก็ไม่เคยไปนิยามว่าพื้นที่ที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจต่ำคือพื้นที่ใด ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นความไร้ความรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนเองทำมา และไม่มีกลไกตรวจสอบการทำงานตรงนี้

สุดท้าย วรพจน์มองว่านี่เป็นเรื่องของการไร้ความสามารถ ไร้ความรู้ และไร้เครื่องมือในการกำกับดูแล คือไม่มีศักยภาพในการตรวจสอบ มีการศึกษาตลาดแต่ไม่ได้ต่อยอด และไม่มีการศึกษาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การไม่มีศักยภาพพอที่จะตรวจสอบราคาและคุณภาพ

“การให้เอกชนแจ้งมาเฉยๆ มันไม่มีประโยชน์นะครับ มันเท่ากับว่าคุณต้องเชื่อเอกชนทุกอย่างทั้งที่คุณไม่ได้มีศักยภาพในการตรวจสอบเลย”

เมื่อมองถึงก้าวต่อไปในการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น วรพจน์มองว่า

“ต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องของการเพิ่มธรรมาภิบาล อาทิ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้งหลาย และต้องเจาะจงให้เปิดเผยอย่างทันท่วงทีมากขึ้นด้วย”

“ตอนนี้เวลาถามอะไรไป เราก็จะได้รับคำตอบว่า เป็นความลับของเอกชน ซึ่งบางเรื่องก็ไม่ใช่ และถ้าเราไม่นิยามให้ชัดว่าอะไรที่เป็นความลับกันแน่ ก็จะกลายเป็นใช้ข้ออ้างตรงนี้กันแบบกว้างๆ จนนำไปสู่การไม่เปิดเผยอะไรเลย”

ในตอนท้าย วรพจน์ให้ข้อเสนอแนะว่า เราอาจต้องมองไปถึงการที่กระบวนการกำหนดนโยบายมีการเรียกร้องว่าต้องทำการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย (Regulatory impact Assessment: RIA) มากขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะในมุมมองที่หลากหลาย รวมถึงการเพิ่มกลไกรับผิดรับชอบและมีกลไกการตรวจสอบที่เหมาะสม

เมื่อถามถึงการแก้ผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ของกรรมการสรรหาต่างๆ วรพจน์
มองว่าเป็นเรื่องยากและทำได้ลำบาก โดยอาจต้องเริ่มจากการพิจารณาโครงสร้างที่แบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่ทำให้กลายเป็นว่าต่างคนต่างทำเรื่องที่ตนได้รับมอบหมาย ทั้งที่แต่ละเรื่องควรจะมองในภาพรวมและไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้

“ตอนนี้กลายเป็นทำงานแบบหน้าที่ใครหน้าที่มัน แต่ผมคิดว่าต้องตรวจสอบกันและกันมากกว่า” วรพจน์ทิ้งท้าย

เรียบเรียง/นำเสนอ

101 PUB

ดำเนินรายการ

ฉัตร คำแสง

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

งานเสวนาโต๊ะกลม ‘New Fair Game: โลกใหม่ของการแข่งขันที่เป็นธรรม’

ร่วมรับฟัง-หารือเพื่อสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายปฏิรูปการกำกับการแข่งขัน ที่มีผลกระทบต่อรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดย 101 PUB ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประจำประเทศไทย

15 November 2024

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.