เพราะมีเลือกตั้งรอบใหม่ ประเทศไทยเลยเป็นประชาธิปไตยขึ้นมานิดหน่อย(?)

จากการรายงานของ Freedom House ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาระบุว่า ในปี 2024 มีเพียง 17 ประเทศจาก 195 ประเทศทั่วโลกที่มีคะแนนความมีเสรีภาพเพิ่มขึ้น น่าดีใจว่าประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นมาถึง 6 คะแนน จากเดิมที่ได้ 30 เพิ่มขึ้นมาเป็น 36 เต็ม 100 คะแนน และยังได้เลื่อนระดับจากประเทศ ‘ไม่เสรี’ กลายเป็นประเทศที่ ‘เสรีบางส่วน‘ ด้วย[1]Fredom House, FREEDOM IN THE WORLD 2024, 2024.

คะแนนความมีเสรีภาพของไทยสูงที่สุดในรอบ 7 ปี

การเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม ปี 2023 ที่ผ่านมาเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คะแนนความมีเสรีภาพของไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านสิทธิทางการเมือง หรือ political right ที่เพิ่มขึ้นมาจาก 6 คะแนนเป็น 12 คะแนน แต่ถึงอย่างนั้น คะแนนด้านเสรีภาพของพลเมืองในประเทศไทยกลับไม่เพิ่มขึ้นดังภาพ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านเสรีภาพของพลเมืองที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

ภาพที่ 1: กราฟแสดงคะแนนด้านเสรีภาพของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2018-2024
ที่มา: Freedom House 2018-2024

คะแนนด้านสิทธิทางการเมืองของไทยเพิ่มขึ้น

20232024คะแนนเต็ม
กระบวนการการเลือกตั้ง1312
ความเป็นพหุนิยมทางการเมืองและการมีส่วนร่วม3616
การทำงานของรัฐบาล2312

ตารางแสดงคะแนนด้านสิทธิทางการเมืองของไทยในปี 2023 และ 2024
ที่มา: Freedom House

คะแนนเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองของประเทศไทยหลังการเลือกตั้งใหญ่ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากชัยชนะของแกนนำพรรคฝ่ายค้านเดิม และความพ่ายแพ้ของพรรคอนุรักษนิยม-ทหาร ทำให้ดูเหมือนว่าอำนาจของกองทัพและองค์กรในเงามืดอื่นๆ จะมีน้อยลงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

สัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีเพศสภาพเป็นหญิง หรือมีเพศวิถีหลากหลายที่เพิ่มขึ้น ยังมีส่วนช่วยให้คะแนนเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองของไทยเพิ่มขึ้น โดยพบว่าข้อมูลเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2023 แสดงให้เห็นถึงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นเพศหญิงอยู่ที่ 19.8% ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่ปี 1971 เป็นต้นมา และยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอีก 4 คนด้วย[2]เปิดสถิติ ความหลากหลายทางเพศสภาไทย 2566Today, 1 มิถุนายน 2566.

นอกจากนี้ ไทยยังได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจากการที่มีนายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรีมีอำนาจในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลด้วย แต่ก็ยังพบว่าการกำหนดนโยบายยังได้รับอิทธิพลจากกลุ่มขั้วอำนาจเก่าอย่างสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ได้รับคะแนนเพิ่มมาเพียง 1 คะแนนเท่านั้น จากเดิมที่ได้ 0 คะแนนมาตั้งแต่ปี 2018 

แม้ว่าไทยจะได้รับคะแนนในส่วนนี้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนก็พบว่าคะแนนของประเทศไทยในส่วนนี้อยู่ลำดับที่ 6 จาก 11 ประเทศ โดยคะแนนของไทยยังต่ำกว่ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไนดารุสซาลาม และติมอร์-เลสเต แต่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว ที่ได้รับเพียง 2 เต็ม 40 คะแนน หรือประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยอย่างเวียดนาม ก็ยังได้เพียง 4 เต็ม 40 คะแนน

อย่างไรก็ดี คะแนนของ Freedom House แสดงให้เห็นว่าไทยยังต้องปรับปรุงพัฒนาระบบการเมืองอีกมาก ทั้งในเรื่องของกติกาการเลือกตั้ง สิทธิในการตั้งพรรคการเมืองของประชาชน ไปจนการทำงานที่โปร่งใสของรัฐบาลเอง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ไทยไม่ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นเลยตั้งแต่ปี 2018 

จุดสำคัญที่ต้องพัฒนาคือทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นร่มใหญ่ของกฎหมายทั้งประเทศถูกร่างขึ้นโดยมีประชาชนทุกกลุ่มเป็นหัวใจสำคัญผ่านองค์กรร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแทนของประชาชน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญควรมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนให้ได้มากที่สุด และยึดโยงกับประชาชนทุกเพศ วัย ไปจนถึงกลุ่มชาติพันธ์ุ นอกจากนี้ยังต้องมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการร่าง และสุดท้าย สภาร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นสภาที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ถูกตีกรอบอำนาจ

เสรีภาพในการแสดงออก นิติธรรม สิทธิของปัจเจกบุคคล 
คงที่มาตลอด 7 ปีหลังสุด

20232024คะแนนเต็ม
เสรีภาพในการแสดงออกและความเชื่อ6316
สิทธิในการสมาคมและสิทธิในสหภาพแรงงาน3612
หลักนิติธรรม5516
อิสระของเอกชนและสิทธิส่วนบุคคล101016

ตารางแสดงคะแนนด้านเสรีภาพของพลเมืองของไทยในปี 2023 และ 2024
ที่มา: Freedom House

ถึงแม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งที่ดูเหมือนว่าจะโปร่งใสกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2019 ก็ตาม แต่คะแนนด้านเสรีภาพของประชาชนก็ยังคงที่อยู่ที่ 24-26 คะแนนมาตั้งแต่ปี 2018 โดยในปีล่าสุด คะแนนด้านนี้ของไทยอยู่ที่ 24 จาก 40 คะแนน และคงที่เช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2022

เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างประเทศในกลุ่มอาเซียน คะแนนด้านเสรีภาพของพลเมืองของประเทศไทยในปีล่าสุดก็อยู่อันดับที่ 6 จาก 11 ประเทศ เช่นเดียวกับคะแนนด้านสิทธิทางการเมือง โดยไทยมีคะแนนมากกว่าลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และบรูไนดารุสซาลาม แต่ก็ยังน้อยกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และติมอร์-เลสเต 

คะแนนด้านเสรีภาพการของการแสดงออกและความเชื่อ เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่เพิ่มขึ้นเลยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เรายังเห็นความพยายามของฝ่ายอนุรักษนิยมในการปิดกั้นความคิดที่ดูจะเป็นประเด็นอ่อนไหวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีในกรณีของ ณัฐพล ใจจริง และ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ โดยอ้างว่าวิทยานิพนธ์และหนังสือที่ตีพิมพ์จากวิทยานิพนธ์นั้นเป็นการบิดเบือนความจริงและทำให้เชื้อพระวงศ์ที่ถูกกล่าวถึงเสียหาย[3]ศาลแพ่งไต่สวนนัดแรกคดีทายาทกรมพระยาชัยนาทฯ ฟ้องนักวิชาการ-“ฟ้าเดียวกัน” เรียก 50 ล้านBBC News ไทย, 9 พฤศจิกายน 2021. หรือในกรณีของการสอบปากเปล่าในโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองที่ถูกกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) เดินทางไปยื่นหนังสือให้ยกเลิกการสอบถึงโรงเรียน [4]สพฐ. สั่งยกเลิกข้อสอบปากเปล่า ร.ร.มัธยมวัดธาตุทอง มอบเขตพื้นที่ฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงมติชน ออนไลน์, 12 มีนาคม 2024.

เสรีภาพในการชุมนุมก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากอีกตัวอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะมีการรับรองเสรีภาพด้านการชุมนุมไว้ในรัฐธรรมนูญ[5]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44. แต่ในความเป็นจริง การชุมนุมก็มักจะจบลงด้วยความรุนแรง การกดปราบผู้เห็นต่างทางการเมืองดูจะเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะยังไม่ปรากฎว่ามีการใช้ความรุนแรงทางกายภาพกับผู้เห็นต่าง แต่ก็พบว่ามีการใช้กฎหมายมากดปราบผู้ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองและยังไม่ปรากฎว่ามีการพยายามนำผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนในรัฐบาลก่อนหน้ามาลงโทษแต่อย่างใด

คะแนนด้านหลักนิติธรรมคงที่มาตลอด 7 ปี

หลักนิติธรรมในไทยที่ยังไม่มั่นคงก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงเสรีภาพของประชาชนในไทยที่ถูกกระทบได้ง่ายด้วยกระบวนการ(อ)ยุติธรรม 

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากคนในประเทศมากเท่ากฎแห่งกรรม ความบิดเบี้ยวในกระบวนการยุติธรรมจากการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงกระบวนการที่ถูกแทรกแซงได้ง่าย แต่ตรวจสอบได้ยาก และงานที่ล้นมือของศาล ทำให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนในประเทศต่ำกว่าค่าเฉลี่ยความเชื่อมั่นในโลก 

“บุคคลทุกคนย่อมเสมอกันต่อหน้ากฎหมาย…” เป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติไว้รัฐธรรมนูญ[6]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27. แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่มีเงินมากกว่า มียศถาบรรดาศักดิ์มากกว่า หรือแม้แต่มีความรู้มากกว่าย่อมได้เปรียบมากกว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ชั้นสืบสวนสอบสวน ไปจนถึงเมื่ออยู่หน้าบัลลังก์ศาล

References
1 Fredom House, FREEDOM IN THE WORLD 2024, 2024.
2 เปิดสถิติ ความหลากหลายทางเพศสภาไทย 2566Today, 1 มิถุนายน 2566.
3 ศาลแพ่งไต่สวนนัดแรกคดีทายาทกรมพระยาชัยนาทฯ ฟ้องนักวิชาการ-“ฟ้าเดียวกัน” เรียก 50 ล้านBBC News ไทย, 9 พฤศจิกายน 2021.
4 สพฐ. สั่งยกเลิกข้อสอบปากเปล่า ร.ร.มัธยมวัดธาตุทอง มอบเขตพื้นที่ฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงมติชน ออนไลน์, 12 มีนาคม 2024.
5 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44.
6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27.

บทความที่เกี่ยวข้อง

Soft Power without Power, without Future?

Soft Power without Power, without Future?

101 PUB ชวนสำรวจว่ารัฐบาลเดินหน้านโยบาย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ หรือ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ แบบใด? และไปถึงไหน? มีประเด็นอะไรที่น่าจับตาต่อไปในปีหน้า

ภาษีรถติดทำอย่างไรให้เวิร์ค?

ปัญหารถติดเป็นปัญหาโลกแตกของคนกรุงเทพฯ มาโดยตลอด รัฐบาลล่าสุดได้ผลักดันภาษีรถติด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้รถเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วภาษีรถติดจะได้ผลหรือไม่? รัฐบาลต้องทำอะไรควบคู่กันไปด้วย?

ปรับนโยบายให้ 'เห็นหัว' เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

ปรับนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

คิด for คิดส์ ชวนทำความรู้จักแนวคิด CYIA (Child and Youth Impact Assessment) ซึ่งหลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือปรับปรุงนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสำรวจแนวทางการนำ CYIA มาใช้ประเมินนโยบายในรูปแบบ ‘ร่างกฎหมาย’ ในไทย

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2025 101pub.org | All rights reserved.