ขับเคลื่อนพลังงานสะอาดแบบไทยๆ ทำค่าไฟแพงแบบเทียมๆ

“ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องใส่ใจเรื่องพลังงานสะอาด ที่ทำให้คนไทยทุกครัวเรือนต้องมีต้นทุนต่ำ” นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้กล่าวกับที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 26 พ.ย. 2024[1]https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/90648 ถือเป็นทิศทางที่ดีในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน โดยไม่สร้างภาระให้กับประชาชนจนเกินไป

แม้จะมีคำกล่าวที่สวยหรูออกมา แต่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติชุดปัจจุบัน ก็ยังคงดำเนินการตามแนวทางรับซื้อไฟฟ้าแบบเดิม ที่ถูกอนุมัติไว้ในยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา[2]มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 165) 9 มีนาคม 2566 ทั้งที่มีปัญหาในหลายชั้น ทั้งความจำเป็นในการซื้อ ความโปร่งใสในการดำเนินการ และการกำหนดราคารับซื้อที่สูงโดยไม่จำเป็น สุ่มเสี่ยงว่าผลประโยชน์ของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอาจไม่ได้ตกอยู่กับประชาชน

101 PUB – Public Policy Think Tank ชวนผู้อ่านประเมินแนวทางการขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าสะอาดแบบไทยๆ ที่ควรจะมีศักยภาพยกระดับนโยบายพลังงานของประเทศไทย ทั้งความยั่งยืน ความคุ้มค่า และความมั่นคง แต่สุดท้ายอาจไม่ได้แปลงศักยภาพเหล่านั้นให้เป็นความจริง และประชาชนกลับต้องกลายเป็นผู้จ่ายราคาของการเปลี่ยนผ่านโดยไม่จำเป็น

3 ความท้าทายของนโยบายพลังงาน

ในยุคที่อุปกรณ์เครื่องจักรรอบตัวเราต่างล้วนใช้ไฟฟ้า ด้วยความสะดวกสบายและประสิทธิภาพในการทำงาน การเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและขีดความสามารถในการทำธุรกิจ โดยในการเข้าถึงนี้มักจะต้องตอบ 2 โจทย์ใหญ่ คือ (1) การมีไฟฟ้าที่มั่นคงไว้ใจได้ (Reliable) มีการผลิตเพียงพอ เสถียร สามารถตอบโจทย์ด้านปริมาณได้จริง และ (2) ราคาไฟฟ้าที่เป็นธรรม (Equitable) โดยมีค่าไฟที่สะท้อนต้นทุนจริง ประชาชนเอื้อมถึง ไม่ใช่เพียงว่ามีไฟฟ้าให้ใช้ในปริมาณมาก คุณภาพการจ่ายไฟดี แต่มาด้วยราคาที่สูงเกินกว่าจะจ่ายไหว

การผลิตไฟฟ้าในอดีตมักจะนึกถึงการหาสมดุลระหว่าง 2 ประเด็นหลักนี้แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วและส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้น ประชาคมโลกจึงเพิ่มความสนใจในเป้าหมายใหม่ คือ (3) การผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืน (Sustainable) การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมัน ได้กลายเป็นเป้าใหญ่ในการเลิกใช้งาน เนื่องจากเป็นตัวการใหญ่ที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การดำเนินนโยบายไฟฟ้าในยุคปัจจุบัน จึงต้องจัดการความท้าทาย 3 ด้าน (Energy Trilemma) ให้ลงตัว เชื้อเพลิงบางอย่างอาจมั่นคงแต่ไม่เป็นมิตรต่อโลกหรือมีราคาแพง และในขณะเดียวกันของที่มีความยั่งยืนก็อาจแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายสูง หรือไม่เสถียรพอให้พึ่งพาได้ การเลือกส่วนผสมของการผลิตไฟฟ้าจึงต้องอาศัยการหาสมดุลและทำให้ลงตัว

World Energy Trilemma Report 2024 ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 60 จาก 99 ในการจัดการความท้าทายทั้ง 3 ด้านนี้[3]ซึ่งมีการให้อันดับซ้ำ หากเรียงตามคะแนนโดยไม่ซ้ำ ประเทศไทยจะอยู่ในอันดับที่ 84 จาก 126 ประเทศที่มีการจัดอันดับ โดยถูกตัดเกรดให้ความมั่นคง และความเอื้อมถึงของพลังงานไฟฟ้าอยู่ในเกรด C ในขณะที่ความยั่งยืนไฟฟ้าของไทยอยู่ในเกรด D เท่านั้น และเมื่อดูประเทศที่สามารถตอบโจทย์ได้ดี ก็มักจะเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงด้านพลังงานและมุ่งสู่พลังงานสะอาดอย่างรวดเร็ว[4]World Energy Council. World Energy Trilemma 2024: Evolving with Resilience and Justice

เปลี่ยนผ่านสู่ไฟฟ้าสะอาด ได้มากกว่าความยั่งยืน
เปลี่ยนผ่านสู่ไฟฟ้าสะอาด ได้มากกว่าความยั่งยืน

ในอดีต การหาสมดุลระหว่าง 3 เป้าหมายนี้เป็นเรื่องท้าทาย แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ได้เปิดทางเลือกใหม่ๆ ให้เกิดการพัฒนาที่ ‘ทะลุ’ ความท้าทายทั้ง 3 ด้านนี้ไปพร้อมกันได้มากยิ่งขึ้นจากสถานะปัจจุบัน

แน่นอนว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความยั่งยืนมากกว่าทางเลือกอื่น ทั้งปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่า และสุ่มเสี่ยงจะสร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เรื่องดังกล่าวไม่เพียงดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่จะทำให้ธุรกิจไทยยังมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ด้วย เนื่องจากมาตรการทางการค้าและกำแพงภาษีมีแนวโน้มเชื่อมโยงกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เช่นมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM ของสหภาพยุโรป เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับตัว

ในด้านความมั่นคงทางพลังงาน การกระจุดตัวด้านเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ความมั่นคงทางพลังงานของไทยมีคะแนนน้อย เนื่องจากไฟฟ้าของไทยผลิตจากก๊าซธรรมชาติมากกว่าครึ่ง ขณะเดียวกัน ไทยยังมีปัญหาในการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเหลือใช้เพียงประมาณ 6 ปีเท่านั้น[5]ไทยมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว 4.58 ล้านล้าน ลบ.ฟ. ขณะที่มีการผลิต 787.2 พันล้าน ลบ.ฟ. ต่อปี ตามข้อมูลรายงานประจำปี 2023 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สุ่มเสี่ยงที่จะต้องพึ่งพาก๊าซนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ในอนาคต หากยังไม่ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า

การผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนผ่านพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ทำให้ไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองภายในประเทศ โดยที่ไทยก็มีศักยภาพในการเก็บเกี่ยวไฟฟ้าได้สูง และเมื่อประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและต้นทุนถูกลงอย่างมาก ก็ทำให้สามารถเก็บและจ่ายไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ก้าวข้ามจากข้อจำกัดเดิมในอดีตที่เวลาการผลิตและการใช้งานอาจไม่ตรงกัน [6]ดูตัวอย่างจากต่างประเทศเพิ่มเติม https://greennetwork.asia/brief/unveiling-the-importance-of-renewable-energy-to-solve-the-energy-trilemma/

ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์
ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์
ที่มา: Solargis
ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม
ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม
ที่มา: Vortex

ในด้านความเป็นธรรมทางพลังงาน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นยังช่วยเพิ่มความเป็นธรรมในการเข้าถึงไฟฟ้าให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันได้ ในทางตรง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนที่ถูกกว่าไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลตั้งแต่ปี 2018 แล้ว

ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิง
ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิง
ที่มา: Agora อ้างอิงใน Climate Finance Network Thailand

นอกจากนี้ การติดตั้งพลังงานหมุนเวียนยังสามารถทำได้ในระดับครัวเรือนหรือชุมชน ช่วยให้แต่ละพื้นที่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อเข้ากับระบบสายส่งไฟฟ้าและโรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ จึงช่วยให้แต่ละพื้นที่พึ่งพาตนเองได้

จากทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดไม่ใช่การต้องเสียสละทำความดีเพื่อช่วยโลก แต่เป็นสิ่งที่มีศักยภาพช่วยทำให้ระบบไฟฟ้าของไทยยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรมได้มากยิ่งขึ้นจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยไม่ต้องแลกด้วยเป้าหมายด้านใดด้านหนึ่ง

ขับเคลื่อนไฟฟ้าสะอาดแบบไทยๆ ทำค่าไฟแพงแบบเทียมๆ

แม้เราจะกล่าวถึงศักยภาพมากมาย แต่อย่าลืมว่าที่นี่คือประเทศไทย การดำเนินนโยบายขับเคลื่อนสู่พลังงานสะอาดมักเจออุปสรรคแปลกๆ รายทางด้วยความเข้าใจผิดที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ตั้งแต่เรื่องความผันผวนของการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ไม่สามารถจัดการได้ การเพิ่มต้นทุนโรงงานไฟฟ้าเดิม การเพิ่มต้นทุนในระบบสายส่งไฟฟ้า และกำลังการผลิตของพลังงานหมุนเวียนที่พึ่งพาไม่ได้จนต้องสำรองไฟฟ้าเท่ากับพลังงานหมุนเวียน [7]TDRI. ความเชื่อ (Myths) และข้อเท็จจริง (Reality) เกี่ยวกับการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวนเข้ามาในระบบไฟฟ้า. 2018. จนที่ผ่านมาประเทศไทยเปลี่ยนผ่านพลังงานได้ช้าและน้อยจนเกินไป สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าสะอาดจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ยังมีส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 10 และยังตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นน้อยเกินกว่าที่ควร และจะไม่ทันต่อเป้าหมายการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ

การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ
การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ
ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (2024)

ในปัจจุบัน เริ่มมีการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่วิธีการรับซื้อกลับน่าสงสัย และอาจทำให้คนไทยต้องใช้ไฟแพงเกินไปโดยไม่จำเป็น ดังเช่นโครงการ “จัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง” ที่ดำเนินการปี 2022 ต่อเนื่องมาถึงปี 2023

การซื้อขายไฟฟ้าในรอบดังกล่าว มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้า 5,203 เมกะวัตต์ (Megawatts: MW)[8]ระเบียบคณะรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Fee-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง. 27 … Continue reading โดยเน้นที่พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นส่วนใหญ่ โดยตั้งราคารับซื้อแบบตายตัวสำหรับไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบบนดิน 2.1679 บาท/หน่วย พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 2.8331 บาท/หน่วย และพลังงานลม 3.1014 บาท/หน่วย[9]อัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed-in Tariff และอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565. ถ้าหากดูจากการประเมินต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของผู้เชี่ยวชาญระดับโลกแล้ว จะพบว่าต้นทุนต่ำกว่าราคารับซื้อไม่น้อย โดยในกรณีของไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1.5-1.7 บาท/หน่วยเท่านั้น แปลว่าราคารับซื้อนั้นสูงกว่าต้นทุนร้อยละ 20-40 พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานมีต้นทุนราว 2.2 บาท/หน่วย ขณะที่พลังงานลมมีการประเมินต้นทุนไว้แยกกันในกรณีของการติดตั้งบนบท ซึ่งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้า 1.13 บาท/หน่วย และกังหันลมทะเลที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้า 2.36 บาท/หน่วย[10]IRENA. Renewable Power Generation Costs in 2023. September 2024. และ Lazard. 2023 Levelized Cost of Energy+. คำนวณโดย 101 PUB ทำให้เห็นว่าราคาที่รับซื้อนั้นน่าดึงดูดสำหรับผู้ประกอบการอย่างมาก

อันที่จริง หน่วยงานรัฐอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เองก็คงทราบดีว่าราคาที่ตั้งมานั้นสูงเกินไป เนื่องจากมีผู้เสนอขายไฟฟ้าเข้ามามากถึง 670 ราย ปริมาณไฟฟ้ารวม 17,400 เมกะวัตต์ สูงกว่าที่ต้องการรับซื้อจริงกว่า 3 เท่า และเมื่อคัดกรองคุณสมบัติแล้ว ก็ยังมีผู้ผ่านการพิจารณา 318 ราย ปริมาณไฟฟ้ารวม 7,729 เมกะวัตต์ ซึ่งก็ยังเกินกว่าความต้องการซื้ออยู่ดี[11]https://thaipublica.org/2023/03/prime-minister-purchases-renewable-electric/ วิธีการนี้ทำให้คนไทยอาจต้องใช้ไฟฟ้าแพงเกินจริง ขณะที่ผู้ประกอบการก็ต้องเผชิญกับเกณฑ์การคัดเลือกที่ไม่แน่นอนไปด้วย

ไทยรับซื้อไฟฟ้าสะอาดราคาแพง ทั้งที่แนวโน้มต้นทุนถูกลง
ไทยรับซื้อไฟฟ้าสะอาดราคาแพง ทั้งที่แนวโน้มต้นทุนถูกลง

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วควรแก้อย่างไร? การกำหนดราคาและปริมาณรวมพร้อมกันเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากจะไม่มีกลไกปรับตัวให้ความต้องการซื้อและขายตรงกัน เหมือนเช่นที่รัฐกำหนดทั้งปริมาณและราคาการขายสลากกินแบ่งตายตัว จนทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาการขายแพงเกินจริงได้เสียที หากรัฐมีปริมาณการรับซื้อที่ชัดเจนอยู่แล้ว ก็ควรใช้วิธีการประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งกันลดราคา จนกว่าปริมาณการขายจะเท่ากับความต้องการซื้อ

แม้ว่าการประมูลในกรณีการซื้อขายไฟฟ้าอาจไม่ใช่คำตอบที่ทำให้ราคาต่ำเท่ากับต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal cost) ได้อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์หวังเอาไว้ เนื่องจากแต่ละรายประเมินอุปสงค์เพียงส่วนที่เหลืออยู่จากที่รายอื่นประมูลแล้วเท่านั้น [12]Peter Cramton. Competitive Bidding Behavior in Uniform-Price Auction Markets. 2004. แต่การจูงใจให้แข่งกันลดราคาตามกลไกการประมูลก็คงยังช่วยให้เกิดการซื้อขายด้วยราคาต่ำกว่าการกำหนดตายตัวที่อัตราสูงมากอย่างที่ทำมา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากในอดีตที่มีผู้เสนอขายมากกว่าความต้องการซื้อถึง 3 เท่า ก็คงกล่าวได้ว่าราคารับซื้อคงสามารถถูกลงกว่าที่ประกาศได้พอสมควร

ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายคงกังวลเรื่องการประมูลที่แข่งขันกันดุเดือดแล้วอาจทำให้ผู้ประกอบการไม่คุ้มทุนจนแข่งไม่ได้ ซึ่งจะมากระทบกับความมั่นคงทางพลังงานของไทย อย่างที่มีปัญหาในบางสาขาที่เกิดการประมูลใบอนุญาตกันจนแพงเกินกว่ามูลค่าจริง แต่ในกรณีนี้ รัฐเป็นผู้รับซื้อตามราคาและปริมาณที่ตกลงไว้จากการประมูล ทำให้ประเมินรายได้ได้ค่อนข้างชัดเจน ประกอบกับต้นทุนที่เป็นเรื่องเชิงเทคนิคที่ประเมินล่วงหน้าได้พอสมควร จึงน่าจะมีปัญหาคำสาปของผู้ชนะ (winner’s curse) น้อย แตกต่างจากการประมูลใบอนุญาต ที่ผู้ประกอบการเอาใบอนุญาตไปเร่หารายได้ที่มีความไม่แน่นอนสูง

แม้การรับซื้อรอบที่ผ่านมาจะเกิดการเสนอขายที่มากเกินความต้องการ (ที่ประเทศไทยอาจไม่ได้ต้องการจริง) รัฐก็ยังคงเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่มเติมโดยใช้กลไกเดิมต่อไป คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในวันที่ 9 มีนาคม 2023 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ยังคงมีมติเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมจำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการที่มีผู้เสนอขายจำนวนมากมาก่อนหน้านี้ จนได้ออกมาเป็นประกาศรับซื้อไฟฟ้ารอบเพิ่มเติมในปี 2024 ในช่วงรอยต่อระหว่างนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และแพทองธาร ชินวัตร[13]ประกาศ กกพ. เรื่อง ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567. ประกาศรับซื้อรอบใหม่นี้ ก็ยังคงใช้วิธีการรับซื้อรูปแบบเดิม ด้วยราคาเดิมที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2022 อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีพลังงานสะอาดนั้นได้ก้าวหน้ามากขึ้น ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าก็ยิ่งต่ำลง ทำให้ราคาดังกล่าวก็ยิ่งห่างจากต้นทุนหรือสิ่งที่ควรจะเป็นมากกว่าเดิม และด้วยการประกาศรับซื้อที่มีระยะเวลาล่วงหน้าค่อนข้างนาน ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีการติดตั้งและส่งมอบในปีท้ายๆ จะยิ่งมีต้นทุนที่ต่ำลงไปอีก

และแม้จะมีการเปิดรับซื้อรอบใหม่ แต่ด้วยตรรกะที่ต้องการรองรับผู้ที่ยื่นเสนอรอบก่อนและผ่านเกณฑ์คัดเลือกคุณสมบัติมาแล้ว จึงมีการจัดลำดับความสำคัญให้รับซื้อจากผู้ที่ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติในครั้งก่อนไว้ด้วย ซึ่งยิ่งทำให้การแข่งขันซึ่งเกิดขึ้นได้น้อยอยู่แล้ว ยิ่งแยกชั้นและแข่งขันกันน้อยลงยิ่งกว่าเดิม

ด้วยกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ จึงทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงเกินความจำเป็น โดยอาจมากถึง 4,200 ล้านบาท/ปี ตามการคำนวณของนายวรภพ วิริยะโรจน์ สส. พรรคประชาชน[14]คณะ กมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจ พร้อมด้วย สส.พรรคประชาชน แถลงข่าวกรณี สนพ. และ กกพ. ไม่เข้าชี้แจงตามคำเชิญของคณะ กมธ.

จะซื้อไฟทำไมในเมื่อมีเกินพอ?

หลายคนอาจเคยได้ยินมาแล้วว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงเกินกว่าความต้องการใช้งานจริง ในปี 2023 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตตามสัญญาในระบบไฟฟ้าอยู่มากถึง 53,852 เมกะวัตต์ แต่ในช่วงที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุดนั้น กลับใช้เพียง 34,131 เมกะวัตต์ ซึ่งแปลว่าในวันที่มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าสูงสุดนั้น เราก็ยังเดินเครื่องเพียงร้อยละ 63 เท่านั้น[15]สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน. รายงานสถิติพลังงานของประเทศไทย 2567. 2024.

การมีกำลังการผลิตสำรองสูงนั้นเหมือนจะดีในด้านการสร้างความมั่นคงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ในสัญญาโรงไฟฟ้านั้นมักจะมีการคิด ‘ค่าพร้อมจ่าย’ (Availability Payment: AP) และค่าพลังไฟฟ้า (Capacity Payment: CP) ที่ไม่ว่าเอกชนจะเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบหรือไม่ก็ต้องจ่ายเงินให้กับผู้สร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งในเชิงระบบมีความสำคัญในฐานะเป็นแรงจูงใจให้กับการเตรียมพร้อมจ่ายไฟฟ้าสำรองในเวลาที่มีความต้องการใช้สูงเกินกว่าที่คาดการณ์ แต่เมื่อไทยมีการทำสัญญาโรงงานไฟฟ้าเกินกว่าความต้องการใช้งานอย่างมากมาโดยตลอด ทำให้เงินดังกล่าวกลายเป็นเหมือนเงินกินเปล่าของเอกชนไป ซึ่ง Just Power ประเมินว่าคนไทยได้ค่าความพร้อมเหล่านี้ไปเกือบ 5 หมื่นล้านบาทในปีล่าสุด และในช่วง 16 ปี ต้องจ่ายไปเงินรวมแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท[16]https://justpow.co/infographic-availability-payment/

การดำเนินการซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรอบนี้ แม้จะบอกว่าไม่มีการจ่ายค่าความพร้อมให้กับรายใหม่ แต่เมื่อพวกเขาสามารถผลิตไฟฟ้าออกมาได้ด้วยต้นทุนต่ำกว่าที่รับซื้อเดิม ก็ควรต้องรับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งเหล่านี้เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับคนไทย แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจต้องลดการรับซื้อไฟฟ้าจากสัญญาเดิม ซึ่งทำให้ต้องจ่ายค่าความพร้อมให้กับโรงไฟฟ้า ต้นทุนที่ควรจะถูกลงได้ ส่วนหนึ่งจึงวนกลับไปอยู่ในมือของโรงไฟฟ้าที่รัฐต้องจ่ายค่าความพร้อมให้

การซื้อพลังงานหมุนเวียนจำนวนเล็กน้อย-ล่วงหน้ามาก-ราคาแพงนี้ จึงอาจไม่ได้สำคัญในเชิงระบบและอาจไม่ได้มีความจำเป็นมากนัก ซึ่งถ้าหากจะทำ รัฐควรมีแผนในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้

แค่ซื้อไฟฟ้าสะอาดยังไม่พอ ต้องมีแผนแร่งปลดระวางไฟฟ้าสกปรก

ถึงอย่างไรเสีย การเปลี่ยนผ่านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและระบบไฟฟ้าของไทยสูง ไปสู่พลังงานสะอาดก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้ทำให้ก้าวหน้าจนเป็นทางเลือกที่ถูกและไว้ใจได้ ในขณะเดียวกันก็มีแรงกดดันจากมาตรการทางการค้าและการเมืองในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ควรจะทำอย่างไร คนไทยถึงจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้?

แค่ซื้อไฟฟ้าสะอาดยังไม่พอ ต้องมีแผนเร่งปลดระวางไฟฟ้าสกปรก
แค่ซื้อไฟฟ้าสะอาดยังไม่พอ ต้องมีแผนเร่งปลดระวางไฟฟ้าสกปรก

การเปลี่ยนผ่านของไทยด้วยการเพิ่มพลังงานสะอาดนั้นเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่ควรจะทำควบคู่กันไปนั้น คือ ‘การเร่งลดไฟฟ้าสกปรก’ เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มกำลังการผลิตโดยไม่ได้ใช้งาน จนคนไทยต้องจ่ายเงินฟรีไปกับค่าไฟที่ไม่ได้ใช้ และในขณะเดียวกันก็ยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในยุคที่โลกใช้กำแพงภาษีสีเขียวมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การรับซื้อพลังงานสะอาดของไทยไม่ได้มาพร้อมกับแผนการเปลี่ยนผ่านอย่างชัดเจนเท่าไหร่นัก เพราะในระหว่างที่มีการซื้อพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นนี้ ก็วางแผนสร้างโรงงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 8 แห่ง กำลังผลิต 6,300 เมกะวัตต์[17]อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์. PDP 2024 เร่ง หรือ รั้งพาไทยไปสู่เป้าพลังงานสะอาด. เอกสารนำเสนอประกอบการสัมมนา. 19 กรกฎาคม 2024. และร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2024) ก็ยังมองว่า พลังงานหมุนเวียนของไทยจะยังมีสัดส่วนราวร้อยละ 45 (รวมพลังงานน้ำที่ซื้อจากต่างประเทศ) ในปี 2030 ที่ไทยเคยประกาศเป้าหมายไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 40 จากปัจจุบัน ซึ่งด้วยอัตราการเปลี่ยนผ่านนี้คงจะยังไม่เพียงพอให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ และในปีสุดท้ายของการวางแผนคือปี 2037 พลังงานหมุนเวียนจะยังมีสัดส่วนราวร้อยละ 60 ซึ่งยังเหลือไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกจำนวนมาก โดยในเชิงกำลังการผลิตแทบไม่ได้ลดลงจากเดิมเลย[18]สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024). 20 มิถุนายน 2024.

สรุปโรงไฟฟ้าใหม่ 12 ปี PDP 2024
สรุปโรงไฟฟ้าใหม่ 12 ปี PDP 2024
ที่มา: อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ (2024)

การเปลี่ยนผ่านสู่ไฟฟ้าสีเขียวได้กลายเป็นแนวทางที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ในวันที่ 30 กันยายน 2024 สหราชอาณาจักรปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายของประเทศลงอย่างเป็นทางการ ตามเป้าหมายการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศภายในปี 2030 และกลายเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G7 ที่ยกเลิกการผลิตพลังงานจากถ่านหินทั้งหมด ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้เพิ่มสัดส่วนขึ้นจากร้อยละ 7 เมื่อปี 2010 กลายเป็นมากกว่าร้อยละ 50 ในปี 2024 แล้ว[19]https://www.bbc.com/news/articles/c5y35qz73n8o

ประเทศออสเตรเลียไม่เพียงแต่ทำตามแผนความเป็นกลางทางคาร์บอนที่เคยให้ไว้ แต่ยังทำได้เร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 5 ปี โดยมีการคาดการณ์ใหม่ออกมาว่าจะปลดระวางโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินถึงร้อยละ 90 ภายในปี 2034-2035 และจะปลดระวางทั้งหมดภายในปี 2038 โดยอ้างถึงต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น ความมั่นคงในการจัดหาเชื้อเพลิงที่ต่ำลง รวมไปถึงการแข่งขันที่เข้ามาจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ซึ่งในแผนของประเทศออสเตรเลียนั้นคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์บนหลังคาเรือนเพิ่มขึ้นจากแผนเดิมถึง 18 กิกะวัตต์[20]https://www.unsw.edu.au/newsroom/news/2023/12/coal-will-be-all-but-gone-by-2034-under-australias-latest-energy

เรื่องเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ารัฐไทยยังไม่ได้มีแผนการและเจตจำนงในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความยั่งยืนและเป็นธรรมที่มากพอ หากแต่ประกาศซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเล็กๆ น้อยๆ เป็นรอบไป โดยไม่ได้เร่งรัดการลดไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลที่นับวันจะยิ่งเป็นตัวปัญหาของระบบไฟฟ้าไทย สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนต้องเป็นผู้จ่ายราคาของการเปลี่ยนผ่านสูงเกินความจำเป็น และประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเปลี่ยนผ่านทั้งความยั่งยืน ความเป็นธรรม และความมั่นคงไว้ใจได้ก็อาจเกิดไม่เต็มที่

อ่านเพิ่มเติม

References
1 https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/90648
2 มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 165) 9 มีนาคม 2566
3 ซึ่งมีการให้อันดับซ้ำ หากเรียงตามคะแนนโดยไม่ซ้ำ ประเทศไทยจะอยู่ในอันดับที่ 84 จาก 126 ประเทศที่มีการจัดอันดับ
4 World Energy Council. World Energy Trilemma 2024: Evolving with Resilience and Justice
5 ไทยมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว 4.58 ล้านล้าน ลบ.ฟ. ขณะที่มีการผลิต 787.2 พันล้าน ลบ.ฟ. ต่อปี ตามข้อมูลรายงานประจำปี 2023 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
6 ดูตัวอย่างจากต่างประเทศเพิ่มเติม https://greennetwork.asia/brief/unveiling-the-importance-of-renewable-energy-to-solve-the-energy-trilemma/
7 TDRI. ความเชื่อ (Myths) และข้อเท็จจริง (Reality) เกี่ยวกับการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวนเข้ามาในระบบไฟฟ้า. 2018.
8 ระเบียบคณะรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Fee-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง. 27 กันยายน 2022.
9 อัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed-in Tariff และอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565.
10 IRENA. Renewable Power Generation Costs in 2023. September 2024. และ Lazard. 2023 Levelized Cost of Energy+. คำนวณโดย 101 PUB
11 https://thaipublica.org/2023/03/prime-minister-purchases-renewable-electric/
12 Peter Cramton. Competitive Bidding Behavior in Uniform-Price Auction Markets. 2004.
13 ประกาศ กกพ. เรื่อง ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567.
14 คณะ กมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจ พร้อมด้วย สส.พรรคประชาชน แถลงข่าวกรณี สนพ. และ กกพ. ไม่เข้าชี้แจงตามคำเชิญของคณะ กมธ.
15 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน. รายงานสถิติพลังงานของประเทศไทย 2567. 2024.
16 https://justpow.co/infographic-availability-payment/
17 อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์. PDP 2024 เร่ง หรือ รั้งพาไทยไปสู่เป้าพลังงานสะอาด. เอกสารนำเสนอประกอบการสัมมนา. 19 กรกฎาคม 2024.
18 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024). 20 มิถุนายน 2024.
19 https://www.bbc.com/news/articles/c5y35qz73n8o
20 https://www.unsw.edu.au/newsroom/news/2023/12/coal-will-be-all-but-gone-by-2034-under-australias-latest-energy

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

ฉัตร คำแสง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไทยต้องสูญเสียอะไรบ้าง หากการแก้ปัญหาโลกรวนยังไปไม่ถึงไหน?

101 PUB ชวนสำรวจผลกระทบและความสูญเสียของ ‘วิกฤตโลกรวน’ ที่กำลังฉายชัดขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย พร้อมประเมินความพร้อมของแผนและนโยบายรับมือของไทยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รัฐบาลใหม่ต้องคิดใหญ่ ยกเครื่องประเทศไทยด้วยการลงทุนสีเขียว

เมื่อวิกฤตโลกรวนรอไม่ได้ การลงทุนสีเขียวหรือการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่ อาจเป็นโจทย์ที่ประเทศไทยต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย: ตีโจทย์ยุคโลกเดือดอย่างไรเพื่ออยู่ร่วมให้ได้-ไปต่อให้เป็น

ตีโจทย์วิจัยและนโยบายเพื่อรับมือ ‘โลกเดือด’ ผ่านข้อถกเถียงทางวิทยาศาสตร์ แนวคิดใหม่ว่าด้วยการผลิตอาหาร และความยุติธรรม

14 December 2023

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.