ตรวจระบบเลือกตั้ง: พรรคการเมืองได้ ส.ส. ตรงกับเสียงที่เราให้ไปแค่ไหน?

ตรวจระบบเลือกตั้ง: พรรคการเมืองได้ ส.ส. ตรงกับเสียงที่เราให้ไปแค่ไหน?

ตลอดสองเดือนหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา ‘คะแนนเสียง’ และ ‘จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)’ ของพรรคการเมืองเป็นประเด็นร้อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงแทบทุกวัน – “พรรคนั้นมีที่นั่งเท่านี้;” “พรรคเธอกับพรรคฉันมีที่นั่งพอกัน;” “แต่พรรคฉันได้คะแนนเสียงเยอะกว่าพรรคเธอหลายล้านเสียง” ฯลฯ – ประเด็นข้างต้นยังเชื่อมโยงไปสู่โจทย์การเมืองอื่นที่สำคัญ อย่างการจัดตั้งและการทำงานของว่าที่รัฐบาล

เบื้องหลังตัวเลขชวนอลหม่านนี้คือ ‘ระบบเลือกตั้ง’ ซึ่งเป็นกติกาและกลไกที่ ‘แปลง’ คะแนนจากบัตรเลือกตั้งของเรา ออกมาเป็นผลลัพธ์ที่นั่ง ส.ส. ว่าใครหรือพรรคใดจะแพ้ชนะและมีอำนาจแค่ไหน หากระบบเปลี่ยน คะแนนที่ประชาชนมอบให้แบบเดียวกันอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต่างกันมากก็ได้ ระบบเลือกตั้งจึงถือเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลยิ่งต่อทิศทางการเมือง ตลอดจนโครงสร้างของระบบการเมืองทั้งหมด

หนึ่งในเป้าหมายพื้นฐานของระบบเลือกตั้ง คือ การสร้างสภาให้เป็น ‘ตัวแทน’ ของประชาชนผู้สนับสนุนอุดมการณ์ นโยบาย และพรรคการเมืองได้อย่าง ‘ทั่วถึงและเป็นธรรม’ ถึงกระนั้น ระบบเลือกตั้งของไทยในปัจจุบันกลับบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ไม่ดีนัก ทำให้พรรคมีสัดส่วน ส.ส. ‘ไม่สอดคล้อง’ กับเสียงสนับสนุนจากประชาชน และต้องแข่งขันกันในสนามเลือกตั้งอย่าง ‘ไม่เท่าเทียม’

ท่ามกลางกระแสผลักดันให้แก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ 101 PUB ชวนสำรวจ ‘ความไม่ได้สัดส่วน’ ระหว่างคะแนนเสียงกับที่นั่ง ส.ส. ของพรรคการเมืองภายใต้ระบบเลือกตั้งปัจจุบัน ผ่านผลเลือกตั้งครั้งล่าสุด พร้อมขบคิดแนวทางปรับปรุงระบบให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อชวนทุกคนมาสนทนา-ออกแบบระบบเลือกตั้งที่ใช่ – กำหนดอนาคตใหม่ของการเมืองไทยร่วมกัน

ระบบเลือกตั้งควรเอื้อให้ได้สภาซึ่งมีความเป็นตัวแทนที่ดี-ทำงานได้ และส่งเสริมพรรคการเมือง

ระบบเลือกตั้งสมาชิกสภา ‘ผู้แทนฯ’ ควรมีเป้าหมายพื้นฐานในการสร้างสภาให้เป็น ‘ตัวแทน’ ที่สะท้อนความต้องการของประชาชนอันหลากหลายได้จริง ไม่ตกหล่น หรือทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้เปรียบ-เสียเปรียบเกินไป ความหลากหลายนี้ครอบคลุมตั้งแต่มิติพื้นที่ภูมิศาสตร์ อุดมการณ์ นโยบาย การสนับสนุนพรรค-ผู้นำการเมือง ไปจนถึงลักษณะประชากร เช่น อายุ เพศสภาพ ชาติพันธุ์ และชนชั้น[1]Electoral System Design: An Overview of the New International IDEA Handbook (Stockholm: International IDEA, 2005), 6-7.

เป้าหมายดังกล่าวสำคัญยิ่ง เพราะเป็นตัวตัดสินว่าเสียงของประชาชนกลุ่มหนึ่งๆ จะมี ‘ที่ทาง’ อย่างเหมาะสมหรือไม่? ถูกนับรวม รับฟัง และมีอิทธิพลต่อการเมืองแค่ไหน? ทำให้พวกเขารู้สึกว่าการเลือกตั้ง ‘มีความหมาย’ เพียงใด? ถึงที่สุดแล้ว ก็จะส่งผลถึงความเชื่อมั่นของประชาชน รวมถึงความชอบธรรมและประสิทธิภาพของระบบการเมือง

อย่างไรก็ดี การสร้างสภาให้เป็นตัวแทนที่ดีมิใช่เป้าหมายเดียวของระบบเลือกตั้ง ระบบยังควรเอื้อต่อการสร้างสภา รัฐบาล และฝ่ายค้านที่ ‘ทำงานได้’ โดยสภาต้องเป็นพื้นที่ประนีประนอมความหลากหลาย และจัดการความขัดแย้งที่มีประสิทธิผลและยั่งยืน รัฐบาลพึงจัดตั้งง่าย เข้มแข็ง ผลักดันนโยบาย-บริหารประเทศได้จริง และถูกตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม ส่วนฝ่ายค้านก็ควรมีศักยภาพเพียงพอจะตรวจสอบถ่วงดุลและขึ้นมาเป็นรัฐบาลใหม่แทนที่รัฐบาลในเวลานั้น[2]เพิ่งอ้าง, 7-9.

ระบบเลือกตั้งยังพึงเสริมสร้างพรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง แต่ละพรรคพัฒนาเป็นสถาบันจัดทำและแข่งขันข้อเสนอนโยบายในฐานะผู้แทนประชาชนที่มีเอกภาพ ไม่กีดกันแบ่งแยกคนต่างกลุ่มอย่างสุดโต่ง ขณะที่จำนวนพรรคโดยรวมไม่มากหรือน้อยจนเกินไป ท้ายที่สุด ระบบควรเอื้อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ-ให้คุณให้โทษสถาบันและบุคคลที่ทำหน้าที่ผู้แทนของตนได้ง่ายด้วย[3]เพิ่งอ้าง, 8.

เป้าหมายเหล่านี้หลายครั้งมักขัดแย้งกันเอง ระบบเลือกตั้งแต่ละแบบจึงมีจุดแข็ง-จุดอ่อนในการบรรลุเป้าหมายแต่ละเรื่องแตกต่างกัน ‘ไม่มีระบบสมบูรณ์แบบ’ ที่เหมาะจะนำไปใช้ได้ทุกหนแห่ง สังคมแต่ละสังคมต้องตกลงร่วมกันว่า จะออกแบบระบบโดยให้น้ำหนักหรือวางสมดุลระหว่างเป้าหมายต่างๆ อย่างไร จึงจะตอบโจทย์ทางการเมืองและสอดคล้องกับบริบทเฉพาะของตนได้ดีที่สุด

ไทยใช้ระบบเลือกตั้งคู่ขนาน: หนึ่งเขตหนึ่งคน + บัญชีรายชื่อ

ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ของไทยในปัจจุบันประกอบด้วย 2 ระบบคู่ขนานกัน ได้แก่ ‘ระบบหนึ่งเขตหนึ่งคน’ สำหรับเลือก ส.ส. 400 คน และ ‘ระบบบัญชีรายชื่อ’ สำหรับอีก 100 คน รวมทั้งสิ้น 500 คน[4]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 [2017] และที่แก้ไขเพิ่มเติม, ม. 83. โดยการลงคะแนนและคำนวณคะแนนเป็นที่นั่ง ส.ส. ในสองระบบจะแยกขาดจากกัน

ระบบหนึ่งเขตหนึ่งคน (first-past-the-post voting, FPTP) แบ่งประเทศเป็น 400 เขตเลือกตั้ง แต่ละเขตมี ส.ส. หนึ่งคน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครหนึ่งคน และผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุด – ไม่ว่าเท่าใดก็ตาม – จะชนะเป็น ส.ส. ประจำเขตนั้น[5]เพิ่งอ้าง, ม. 85. เช่นในเขตหนึ่ง หากผู้สมัครจากพรรค ก., พรรค ข., พรรค ค., และพรรค ง. ได้คะแนน 33%, 32%, 31%, และ 4% ตามลำดับ ผู้สมัครพรรค ก. ก็จะชนะเป็น ส.ส. ขณะที่ผู้สมัครที่เหลือจะสอบตก จนมีการเรียกกันว่าเป็นระบบอันดับหนึ่งกินรวบ

ส่วนระบบบัญชีรายชื่อ (list proportional representation voting, List PR) จะใช้ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว โดยมี ส.ส. 100 คน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองหนึ่งพรรค แล้วพรรคก็จะได้ ส.ส. ตามสัดส่วนคะแนนเสียงที่ได้รับ[6]เพิ่งอ้าง, ม. 90-91. ถ้าปรับคะแนนจากตัวอย่างล่าสุดมาใช้กับระบบนี้ พรรค ก., พรรค ข., พรรค ค., และพรรค ง. จะได้ ส.ส. 33 ที่นั่ง, 32 ที่นั่ง, 31 ที่นั่ง, และ 4 ที่นั่ง ตามลำดับ

ระบบเลือกตั้งไทยทำให้พรรคได้ ส.ส. ไม่สอดคล้องกับเสียงสนับสนุน

ระบบเลือกตั้งคู่ขนานของไทยมีแนวโน้มจะทำให้พรรคการเมืองมีสัดส่วน ส.ส. ในสภา ‘ไม่สอดคล้อง’ กับสัดส่วนคะแนนเสียงที่ได้รับจากประชาชน – พรรคบางประเภทได้เปรียบ มี ส.ส. มากเกินไป บางประเภทเสียเปรียบ มีน้อยเกินไป – ด้วยพรรคเป็นผู้แทนอุดมการณ์และนโยบายที่ประชาชนสนับสนุน จึงกล่าวได้ว่า ระบบจะสร้างสภาที่สะท้อนความหลากหลายในมิตินี้ได้ ‘ไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรม’ มากนัก

หากแยกวิเคราะห์รายระบบย่อย ลักษณะดังกล่าวปรากฏชัดกว่าในระบบหนึ่งเขตหนึ่งคน เพราะมีเพียงคะแนนซึ่งเลือกผู้สมัคร-พรรคอันดับหนึ่งในแต่ละเขตเท่านั้น ที่ถูกแปลงเป็นที่นั่ง ส.ส. เสียงของประชาชนที่เลือกผู้สมัคร-พรรคอื่นจะ ‘ไร้ความหมาย’ ไม่ถูกสะท้อนผ่านสภา

สมมติว่าทั้งประเทศมี ส.ส. ระบบนี้สองคน โดยคะแนนเสียงในทั้งสองเขตเลือกตั้งเหมือนกับตัวอย่างในหัวข้อที่ผ่านมา พรรค ก. ที่ได้คะแนน 33% ในแต่ละเขต ก็จะชนะเป็น ส.ส. ของทั้งสองเขต (100%) ขณะที่คะแนนส่วนใหญ่ตกหล่นไป (พรรค ข.+ค.+ง. 67% ได้ ส.ส. 0%) โดยคะแนนพรรคที่ตกหล่นบางพรรคแทบไม่น้อยไปกว่าคะแนนของผู้ชนะเลย (พรรค ข. 32% เทียบกับพรรค ก. 33%)

ในแง่นี้ ระบบหนึ่งเขตหนึ่งคนมักเอื้อให้ผู้สมัครจากพรรคอันดับหนึ่งในแต่ละเขตได้เปรียบ หลายครั้งเป็นพรรคใหญ่ระดับชาติที่ถนัดทำงานพื้นที่ หรือยึดโยงกับ ‘บ้านใหญ่’ ที่มีเครือข่ายอุปถัมภ์เหนียวแน่น-อิทธิพลสูงในท้องถิ่นนั้น แล้วกดพรรคขนาดกลาง-เล็ก และพรรคเชิงอุดมการณ์-ประเด็นให้เสียเปรียบ ในกรณีของพรรคประเภทหลัง ฐานเสียงของพรรคมีแนวโน้มจะไม่ยึดโยงหรือกระจุกตัวในพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ฉะนั้น แม้มีผู้สนับสนุนทั่วประเทศมากระดับหนึ่ง ก็อาจยากที่จะชนะเลือกตั้งในเขตใดได้

บางครั้ง การวางกติกาให้อันดับหนึ่งกินรวบนี้ยังอาจพลิกขั้วผู้ชนะ ‘ตรงข้าม’ กับความต้องการของคนส่วนใหญ่ เช่น พรรค ก. เป็นขั้วแนวคิดที่หนึ่ง และพรรค ข.-ค. เป็นขั้วที่สอง เท่ากับว่าเสียงข้างมาก 63% สนับสนุนขั้วที่สอง แต่เนื่องจากแยกลงคะแนนให้ผู้สมัครสองพรรค (พรรค ข. 32% และ พรรค ค. 31%) สุดท้าย ผู้สมัครพรรค ก. ซึ่งได้คะแนนสูงสุดที่ 33% จึงชนะเป็น ส.ส. ทั้งที่เป็นเสียงข้างน้อย

ในทางกลับกัน ระบบบัญชีรายชื่อจะจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ให้แก่พรรคการเมืองได้ ‘ทั่วถึง’ และ ‘เป็นธรรมตามสัดส่วน’ คะแนนเสียงมากกว่า เพราะทุกคะแนนถูกนำมาคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส. เปิดโอกาสให้พรรคทุกขนาดทุกประเภทแข่งขันกันเข้าสู่สภาโดย ‘เท่าเทียม’ ประชาชนก็ไม่ต้องกังวลว่า การลงคะแนนของตนอาจนำไปสู่ผลลัพธ์พลิกขั้วในทำนอง ‘ตาอยู่เอาพุงปลาไปกิน’

อย่างไรก็ดี ด้วยระบบบัญชีรายชื่อใช้เลือก ส.ส. เพียง 1 ใน 5 ของสภา และแยกขาดจากระบบหนึ่งเขตหนึ่งคนจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอจะให้พรรคการเมืองมีสัดส่วน ส.ส. ‘รวมทั้งสภา’ สอดคล้องกับเสียงสนับสนุน พรรคประเภทที่ได้เปรียบ-เสียเปรียบในระบบหนึ่งเขตหนึ่งคน ก็มีแนวโน้มจะได้เปรียบ-เสียเปรียบภายใต้ระบบเลือกตั้งภาพใหญ่ในทำนองเดียวกัน

จริงอยู่ว่าผู้เลือกตั้งลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งแต่ละใบ – แต่ละระบบ – ด้วยเจตนารมณ์ต่างกัน ระบบหนึ่งเลือกคนเป็นผู้แทนของพื้นที่ อีกระบบเลือกพรรคเป็นผู้แทนระดับชาติ แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้แทนเขตเหล่านั้นก็มักทำงาน-ออกเสียงในสภาร่วมกันเป็นพรรค การออกแบบระบบเลือกตั้งให้พรรคมี ส.ส. โดยรวมได้สัดส่วนกับคะแนนเสียงสนับสนุนทั่วประเทศ จึงสำคัญต่อการสร้างสภาให้สะท้อนความหลากหลายทางอุดมการณ์ นโยบาย และการสนับสนุนพรรคการเมืองของประชาชนอย่างทั่วถึง-เป็นธรรมยิ่งขึ้น

เลือกตั้ง 2023: ก้าวไกลได้ ส.ส. น้อยไป 41 ที่นั่ง – ภูมิใจไทยมากไป 56 ที่นั่ง – เสรีรวมไทยใช้คะแนนเสียงมากกว่าพลังประชารัฐ 25 เท่าเพื่อได้ ส.ส. 1 คน

ตรวจระบบเลือกตั้ง: พรรคการเมืองได้ ส.ส. ตรงกับเสียงที่เราให้ไปแค่ไหน?

ผลการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งล่าสุด (พฤษภาคม 2023)[7]ข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (2023) ยืนยันว่า ระบบเลือกตั้งในปัจจุบันสร้างสภาที่พรรคการเมืองมีสัดส่วน ส.ส. ‘ไม่สอดคล้อง’ กับคะแนนเสียงเลือกพรรคในระบบบัญชีรายชื่อ[8]ในความเป็นจริง หากระบบเลือกตั้งเปลี่ยนไปในแนวทางที่เอื้อให้พรรคการเมืองมีจำนวน ส.ส. ได้สัดส่วนกับคะแนนเสียงที่ได้รับ … Continue reading

หากแปลงคะแนนดังกล่าวออกมาเป็น ‘จำนวน ส.ส. ที่พรรคพึงมี’ โดยปราศจากเงื่อนไขอื่น[9]ใช้คะแนนเสียงที่มิได้งดออกเสียงทั้งหมด คำนวณเป็นสัดส่วนโดยตรง โดยไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำในการได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ … Continue reading พรรคก้าวไกลได้คะแนน 14.4 ล้านเสียง ซึ่งคิดเป็น 38.4% ของคะแนนรวม ก็ควรได้ ส.ส. 38.4% จากที่นั่งทั้งหมดในสภา หรือ 192 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทย 146 ที่นั่ง (29.2%) พรรครวมไทยสร้างชาติ 64 ที่นั่ง (12.8%) พรรคภูมิใจไทย 15 ที่นั่ง (3.0%) พรรคประชาธิปัตย์ 12 ที่นั่ง (2.4%) พรรคประชาชาติ 8 ที่นั่ง (1.6%) พรรคพลังประชารัฐ 7 ที่นั่ง (1.4%) พรรคเสรีรวมไทย 5 ที่นั่ง (1.0%) พรรคไทยสร้างไทย 5 ที่นั่ง (1.0%) และพรรคเล็กอื่นรวมกันอีก 46 ที่นั่ง (9.2%)

เมื่อเทียบกับจำนวน ส.ส. จริงภายใต้ระบบเลือกตั้งปัจจุบัน พบว่าบางพรรค ‘เสียเปรียบ’ จากระบบ คือได้ ส.ส. จริงต่ำกว่าจำนวน ส.ส. พึงมี เช่น พรรคก้าวไกลได้ ส.ส. จริง 151 ที่นั่ง น้อยกว่าที่พึงมีถึง 41 ที่นั่ง (-8.2%) พรรครวมไทยสร้างชาติน้อยไป 28 ที่นั่ง (-5.6%) พรรคเพื่อไทยน้อยไป 5 ที่นั่ง (-1.0%) และพรรคเสรีรวมไทยน้อยไป 4 ที่นั่ง (-0.8%) พรรคขนาดเล็กอื่นเกือบทั้งหมดก็ล้วนได้ ส.ส. น้อยกว่าที่ควร โดยมี 19 พรรคที่พึงได้ ส.ส. 1-2 คน แต่กลับไม่ได้เข้าสภาเลย

ขณะเดียวกัน หลายพรรคก็ ‘ได้เปรียบ’ อย่างบิดเบี้ยว คือได้ ส.ส. จริงสูงเกินจำนวน ส.ส. พึงมี เช่น พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. จริง 71 ที่นั่ง มากกว่าที่พึงมีถึง 56 ที่นั่ง (+11.2%) พรรคพลังประชารัฐมากไป 33 ที่นั่ง (+6.6%) พรรคประชาธิปัตย์มากไป 13 ที่นั่ง (+2.6%) พรรคชาติไทยพัฒนามากไป 7 ที่นั่ง (+1.4%) และพรรคประชาชาติ ไทยสร้างไทย และเพื่อไทรวมพลังมากไปพรรคละ 1 ที่นั่ง (+0.2%)

ความไม่สอดคล้องข้างต้นย่อมหมายความว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้ ส.ส. แต่ละที่นั่งมา ‘ยากง่ายไม่เท่ากัน’ โดยเฉลี่ย พรรคต้องอาศัยคะแนนเสียงราว 0.8 แสนคะแนนเพื่อให้ได้ ส.ส. หนึ่งที่นั่ง แต่บางพรรคกลับใช้คะแนนสูงกว่านั้น และได้ ส.ส. ยากเป็นพิเศษ เช่น พรรคเสรีรวมไทยใช้ 3.5 แสนคะแนน พรรคประชาธิปไตยใหม่ 2.7 แสนคะแนน และพรรคใหม่ 2.5 แสนคะแนน

ตรงกันข้าม บางพรรคกลับใช้คะแนนต่ำและได้ ส.ส. ง่ายมาก เช่น พรรคพลังประชารัฐใช้ 0.1 แสนคะแนน พรรคภูมิใจไทย 0.2 แสนคะแนน และพรรคชาติไทยพัฒนา 0.2 แสนคะแนน น่าตกใจว่าพรรคเสรีรวมไทยต้องใช้คะแนนมากกว่าพรรคพลังประชารัฐถึง 25.1 เท่า เพื่อให้ได้เก้าอี้ ส.ส. หนึ่งที่นั่ง

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่า ระบบเลือกตั้งในปัจจุบันทำให้พรรคการเมืองแข่งขันกันในสนามเลือกตั้งอย่าง ‘ไม่เท่าเทียม’ พรรคขนาดเล็กเสียเปรียบมากที่สุด พรรคที่มีอิทธิพลรายท้องถิ่น-ถนัดทำงานพื้นที่ได้เปรียบมากที่สุด ส่วนพรรคขนาดใหญ่อย่างก้าวไกลและเพื่อไทย แม้จะได้เปรียบในระบบหนึ่งเขตหนึ่งคน[10]หากเปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ยต่อหนึ่งที่นั่ง ส.ส. ในระบบหนึ่งเขตหนึ่งคน พรรคก้าวไกลได้ ส.ส. ระบบนี้คนมากกว่าที่พึงมี 8 ที่นั่ง (+2.0%) … Continue reading แต่กลับเสียเปรียบในผลเลือกตั้งภาพรวม เพราะสามารถระดมความสนับสนุนต่อพรรคในระบบบัญชีรายชื่อได้มากเสียยิ่งกว่าระบบแรก[11]พรรคก้าวไกลได้คะแนนในระบบหนึ่งเขตหนึ่งคนรวมทุกเขต 9.7 ล้านเสียง ระบบบัญชีรายชื่อ 14.4 ล้านเสียง ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ 9.3 ล้านเสียง และ 11.0 … Continue reading

ปรับระบบเลือกตั้งให้สะท้อนเสียงประชาชนอย่างสมดุลขึ้น

ควรย้ำว่าความไม่ได้สัดส่วนระหว่างจำนวน ส.ส. กับคะแนนเสียง หรือการสะท้อนความหลากหลายทางอุดมการณ์และนโยบาย มิใช่เป้าหมายเดียวของระบบเลือกตั้ง และไม่สามารถใช้เป็นมาตรวัดเดียวในการประเมินคุณภาพของระบบได้ แต่หากสังคมไทยเห็นพ้องกันว่า สภาควรสะท้อนความหลากหลายมิติดังกล่าวอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมยิ่งขึ้น – ไม่ควรปล่อยให้เสียงของประชาชนหลายกลุ่มตกหล่น หรือมีโอกาสถูกรับฟังอย่างไม่เสมอภาคกัน – 101 PUB เสนอให้ปรับระบบเลือกตั้งตามแนวทางต่อไปนี้

ระบบเลือกตั้งยังควรประกอบด้วยสองระบบย่อยดังเดิม ให้ประชาชนมีสิทธิทั้งเลือกบุคคลเป็นผู้แทนพื้นที่ และเลือกพรรคการเมืองเป็นผู้แทนอุดมการณ์และนโยบายระดับชาติ ไม่ต้องเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ ‘เพิ่มสัดส่วน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อในสภา’ เพื่อลดน้ำหนักผลกระทบเรื่องความไม่ได้สัดส่วนจากระบบหนึ่งเขตหนึ่งคน โดยอาจเปลี่ยนอัตราส่วนระหว่าง ส.ส. ระบบหนึ่งเขตหนึ่งคนกับระบบบัญชีรายชื่อ จากปัจจุบันที่ 400:100 เป็น 300:200 หรือ 250:250 เป็นต้น

อีกเรื่องหนึ่งที่อาจปรับควบคู่กันคือ ความสัมพันธ์ระหว่างระบบย่อยสองระบบ จากปัจจุบันที่เป็นระบบคู่ขนานแยกขาดจากกัน ไปสู่ ‘ระบบจัดสรรปันส่วนผสม’ (mixed-member proportional system, MMP) หมายความว่า ใช้คะแนนเลือกพรรคการเมืองในระบบบัญชีรายชื่อมากำหนดจำนวน ส.ส. รวมในสภาที่พรรคพึงมีไว้ก่อน จากนั้น หากพรรคได้ ส.ส. ในระบบหนึ่งเขตหนึ่งคนเท่าใด ก็ให้ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มเติมจนครบตามจำนวนพึงมี[12]ในกรณีที่พรรคได้ ส.ส. ระบบหนึ่งเขตหนึ่งคนเท่ากับหรือมากกว่าจำนวน ส.ส. พึงมีแล้ว ก็จะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มเติมอีก โดยในกรณีหลัง … Continue reading

ตัวอย่างเช่น ถ้าสภามี ส.ส. ทั้งสิ้น 500 คน พรรค ก. ได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ 33% ก็จะพึงมี ส.ส. รวมในสภา 165 คน (33%) หากพรรคได้ ส.ส. เขตแล้ว 140 คน ก็จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 25 คน รวมกันเป็น 165 คนตามจำนวนพึงมี ระบบนี้จะทำให้สัดส่วน ส.ส. รวมของแต่ละพรรคสอดคล้องกับคะแนนเสียงที่ได้รับมากกว่าระบบปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น การปรับระบบเลือกตั้งตามข้อเสนอข้างต้นยังเอื้อให้สภาสะท้อนความหลากหลายทางลักษณะประชากรได้ดีขึ้น เพราะภายใต้ระบบหนึ่งเขตหนึ่งคนที่ครอบงำระบบเลือกตั้งในปัจจุบัน คนชายขอบ-มีอภิสิทธิ์ต่ำในสังคม – เช่น เยาวชน[13]เยาวชนขาดผู้แทนของคนรุ่นตนในสภา อีกทั้งยังขาดสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งอย่างเสมอภาคกับคนกลุ่มอื่น (ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, … Continue reading ผู้หญิง-LGBTQ+ ชาติพันธุ์กลุ่มน้อย และแรงงาน – มักมีโอกาสน้อยที่จะชนะเป็นอันดับหนึ่งและได้เป็น ส.ส.

เมื่อสะท้อนความหลากหลายทุกมิติได้ถ้วนทั่ว สภาก็จะเป็นพื้นที่ประนีประนอมที่ดีขึ้น กฎหมายและนโยบายถูกกำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงคนทุกกลุ่มยิ่งขึ้น ลดโอกาสที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะผูกขาดอำนาจ-บงการทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนได้ ท้ายที่สุด การเพิ่มสัดส่วนและบทบาทของระบบบัญชีรายชื่อยังจะช่วยส่งเสริมพรรคการเมือง ให้พัฒนาเป็นสถาบันจัดทำและแข่งขันข้อเสนอนโยบายในฐานะผู้แทนประชาชน ซึ่งมีเอกภาพและเข้มแข็งยิ่งขึ้น

แค่สะท้อนเสียงไม่พอ ต้องเอื้อให้ตั้งรัฐบาล-ทำงานง่าย

ต้องไม่ลืมว่าสังคมประกอบด้วยผู้คนที่แตกต่างหลากหลายมาก หากระบบเลือกตั้งเอื้อให้สภาสะท้อนความหลากหลายนี้ได้ดีขึ้น อาจส่งผลให้มีพรรคการเมืองขนาดกลาง-เล็กในสภามากเกินไป จนการบรรลุข้อตกลงในสภาและการจัดตั้งรัฐบาลยากขึ้น ระบบการเมืองมีเสถียรภาพลดลง ฉะนั้น การปรับระบบเลือกตั้งตามข้อเสนอในส่วนที่ผ่านมา จำเป็นต้องวางกลไกป้องกันผลเสียข้างต้นควบคู่ไปด้วย

101 PUB เสนอให้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำในการได้รับจัดสรร ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ โดยพรรคต้องได้รับคะแนนในระบบนี้อย่างน้อย 1% หรือมี ส.ส. ในระบบหนึ่งเขตหนึ่งคนอย่างน้อย 5 ที่นั่ง พรรคที่ไม่ผ่านเกณฑ์จะไม่ได้ ส.ส. ในระบบนี้เลย เพื่อลดจำนวน ‘พรรคจิ๋ว’ ในสภา จากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวมีจำนวน 9 พรรค

นอกจากนี้ ยังควรปรับกติกาการลงมติในญัตติบางประเภทของสภา ให้ญัตติผ่านความเห็นชอบได้ง่ายขึ้น ปัจจุบัน สภามักใช้กติกาว่าหากญัตติได้เสียง ‘เห็นชอบเกินครึ่งหรือเกินเสียงไม่เห็นชอบ’ ก็จะ ‘ผ่านความเห็นชอบ’ แต่อาจปรับใหม่เป็น หากได้เสียง ‘ไม่เห็นชอบเกินครึ่ง’ จึงจะ ‘ไม่ผ่านความเห็นชอบ’ สมมติว่าญัตติหนึ่งได้เสียงเห็นชอบ 35% ไม่เห็นชอบ 40% และงดออกเสียง 25% ญัตตินี้จะไม่ผ่านความเห็นชอบภายใต้กติกาปัจจุบัน แต่จะผ่านภายใต้กติกาตามข้อเสนอ กติกาเช่นนี้อาจใช้กับการรับหลักการร่างพระราชบัญญัติและการเลือกนายกรัฐมนตรี

มาตรการอื่นที่อาจพิจารณาใช้ประกอบ ได้แก่ การลดขนาดองค์ประชุมขั้นต่ำในระหว่างที่สภามิได้กำลังลงมติสำคัญ รวมถึงการกำหนดให้ผู้เสนอให้สภาลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาพร้อมกัน หากสภามีมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีคนเดิม ก็ให้ถือว่าเห็นชอบบุคคลที่เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไปโดยปริยาย

สังคมไทยต้องสร้างบทสนทนาเพื่อออกแบบระบบเลือกตั้งร่วมกัน

ระบบเลือกตั้งถือเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญยิ่งในระบอบประชาธิปไตย ทำหน้าที่เป็นกลไกแปรเจตนารมณ์ของประชาชนที่แตกต่างหลากหลาย ให้กลายเป็นสภา ‘ผู้แทน’ หนึ่งในเป้าหมายพื้นฐานของระบบ จึงควรสามารถสร้างสภาที่สะท้อนความหลากหลายนั้นได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งหมายรวมถึงความหลากหลายในการสนับสนุนอุดมการณ์ นโยบาย และพรรคการเมืองของประชาชนด้วย

อย่างไรก็ดี ระบบเลือกตั้งของไทยในปัจจุบันยังบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ไม่ดีนัก ทำให้คะแนนเสียงของประชาชนถูกแปลงมาเป็นจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองอย่างไม่ได้สัดส่วน 101 PUB จึงเสนอให้ปรับระบบเลือกตั้งใหม่ โดยเพิ่มสัดส่วน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ และใช้คะแนนเลือกพรรคในระบบนี้กำหนดจำนวน ส.ส. รวมทั้งสภาของแต่ละพรรค (ระบบ MMP) ควบคู่ไปกับวางกลไกป้องกันมิให้มีพรรคจิ๋วมากเกินไปในสภา อันจะเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพของรัฐบาลและระบบการเมือง

ประเด็นข้างต้นเป็นเพียงโจทย์สำคัญโจทย์หนึ่งในการขบคิดเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งเท่านั้น ท่ามกลางกระแสผลักดันการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การสร้างสรรค์บทสนทนาเพื่อออกแบบระบบเลือกตั้งที่ใช่สำหรับสังคมไทยร่วมกัน นับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการก่อร่างสร้างประชาธิปไตยให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

References
1 Electoral System Design: An Overview of the New International IDEA Handbook (Stockholm: International IDEA, 2005), 6-7.
2 เพิ่งอ้าง, 7-9.
3 เพิ่งอ้าง, 8.
4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 [2017] และที่แก้ไขเพิ่มเติม, ม. 83.
5 เพิ่งอ้าง, ม. 85.
6 เพิ่งอ้าง, ม. 90-91.
7 ข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (2023)
8 ในความเป็นจริง หากระบบเลือกตั้งเปลี่ยนไปในแนวทางที่เอื้อให้พรรคการเมืองมีจำนวน ส.ส. ได้สัดส่วนกับคะแนนเสียงที่ได้รับ พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงของประชาชนอาจเปลี่ยนตามไปเช่นกัน
9 ใช้คะแนนเสียงที่มิได้งดออกเสียงทั้งหมด คำนวณเป็นสัดส่วนโดยตรง โดยไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำในการได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ แล้วปัดทศนิยมด้วยวิธีเหลือเศษสูงสุด (largest remainder method)
10 หากเปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ยต่อหนึ่งที่นั่ง ส.ส. ในระบบหนึ่งเขตหนึ่งคน พรรคก้าวไกลได้ ส.ส. ระบบนี้คนมากกว่าที่พึงมี 8 ที่นั่ง (+2.0%) พรรคเพื่อไทยมากไป 11 ที่นั่ง (+2.8%)
11 พรรคก้าวไกลได้คะแนนในระบบหนึ่งเขตหนึ่งคนรวมทุกเขต 9.7 ล้านเสียง ระบบบัญชีรายชื่อ 14.4 ล้านเสียง ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ 9.3 ล้านเสียง และ 11.0 ล้านเสียงตามลำดับ
12 ในกรณีที่พรรคได้ ส.ส. ระบบหนึ่งเขตหนึ่งคนเท่ากับหรือมากกว่าจำนวน ส.ส. พึงมีแล้ว ก็จะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มเติมอีก โดยในกรณีหลัง พรรคจะได้ ส.ส. เกินจำนวน ส.ส. พึงมี ส่งผลให้จำนวน ส.ส. รวมในสภาเกินจำนวนที่กำหนดไว้ (overhang seat)
13 เยาวชนขาดผู้แทนของคนรุ่นตนในสภา อีกทั้งยังขาดสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งอย่างเสมอภาคกับคนกลุ่มอื่น (ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม,” 101 Public Policy Think Tank, 26 ตุลาคม 2022, https://101pub.org/youth-participation-in-policy-process/; วรดร เลิศรัตน์, “ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี?: ขยายสิทธิให้เสียงเยาวชนมีความหมาย,” 101 Public Policy Think Tank, 13 มิถุนายน 2022, https://101pub.org/lowering-voting-age-to-15/)

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

วรดร เลิศรัตน์

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม

ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาการขาดช่องทางการมีส่วนร่วมอย่าง ‘มีความหมาย’ ของเยาวชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ และเสนอแนวทางขยายช่องทางดังกล่าว เพื่อให้นโยบายตอบสนองปัญหาและความต้องการของเยาวชนได้ดีขึ้น

ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี?: ขยายสิทธิให้เสียงเยาวชนมีความหมาย

ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี?: ขยายสิทธิให้เสียงเยาวชนมีความหมาย

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาของระบอบการเมืองไทยที่ทำให้เสียงเยาวชนไร้ความหมาย เข้าใจถึงเหตุผลในการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี และร่วมขบคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่เสียงเยาวชนควรถูกรับฟังผ่านการเลือกตั้งมากขึ้น

4 ปีสภาตามสั่ง?: กระบวนการนิติบัญญัติไทยในรัฐบาลประยุทธ์ 2

101 PUB ร่วมกับ WeVis ชวนดูการทำงานของกระบวนการนิติบัญญัติของสภาประยุทธ์ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การเสนอจนถึงการประกาศกฎหมายบังคับใช้จริง

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.