เศรษฐกิจต้องสูญเสียอีกเท่าไหร่ กว่าจะเป็นกองทัพ ‘สมัครใจ’

ย่างเข้าเดือนเมษายน คนไทยต่างตั้งตารอวันหยุดยาวที่จะได้วางมือจากภาระการงาน เตรียมตัวพักผ่อน ออกไปท่องเที่ยว รื่นเริงไปกับเทศกาล และสำหรับหลายคนเทศกาลนี้คือโอกาสกลับบ้านไปหาครอบครัว ทว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ก็ดำเนินไปพร้อมกับอีกเทศกาลหนึ่งซึ่งชายไทยอายุ 21 จำนวนมากไม่อยากให้มาถึง คือเทศกาล ‘เกณฑ์ทหาร’ ซึ่งจะทำให้พวกเขาไม่ได้กลับไปทำงานของตัวเองอีก 1-2 ปี หากจับได้ ‘ใบแดง’

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา กองทัพไทยและรัฐบาลแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนวิธีระดมกำลังพลด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์การสมัครเป็นพลทหาร จูงใจให้ชายไทยเข้ารับราชการทหารแบบ ‘สมัครใจ’ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่ายอดผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกก็ยังมีไม่มากพอ ขณะที่ยอดเรียกเกณฑ์ก็ยังไม่ลดลงต่ำพอ คำมั่นสัญญาที่จะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ‘ในอนาคต’ ที่ถูกพูดถึงทุกปีจึงอาจยังคงเป็นเพียงอนาคตที่เลือนราง

101 Public Policy Think Tank (101 PUB) ชวนทบทวนว่านโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถ ‘ยกเลิก’ การเกณฑ์ทหารได้อย่างแท้จริงหรือไม่? ยิ่งไปกว่านั้นเศรษฐกิจไทยจะต้องสูญเสียอีกเท่าไหร่กว่าจะถึงวันนั้น?

อนาคตที่ยังเลือนรางของ ‘กองทัพสมัครใจ’

ปี 2021 เป็นปีแรกที่กองทัพเริ่มเพิ่มช่องทางการรับสมัครผ่านออนไลน์พร้อมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อหวังเพิ่มจำนวนผู้มาสมัครรับใช้ชาติให้มากขึ้น โดยในปี 2024 ยอดผู้สมัครผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นจากปีแรกกว่า 4 เท่า ขณะเดียวกันยอดความต้องการกองกำลังของกองทัพก็มีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ดี แนวโน้มข้างต้นนี้ก็ยังไม่มากพอที่จะปิดช่องว่างของ ‘ใบแดง’ หรือการบังคับเกณฑ์ทหารเพื่อมาเติมเต็มความต้องการที่ยังพร่องอยู่ได้โดยไว

ก่อนช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 กองทัพไทยมีความต้องการพลทหารราวปีละหนึ่งแสนนาย จากนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วในห้วงวิกฤตโรคระบาด โดยลดลงไปเหลือเพียง 5.8 หมื่นนายในปี 2022 ฉายภาพให้คนหนุ่มมองเห็นความหวังว่าการลุ้นใบดำ-ใบแดง อาจหมดไปในไม่ช้า

แท้จริงแล้ว ยอดความต้องการที่ลดลงไม่ได้สะท้อนถึงการปฏิรูปโครงสร้างการจัดสรรกำลังพลแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงผลมาจากการที่พลทหารซึ่งครบกำหนดประจำการเลือกที่จะ ‘สมัครใจอยู่ต่อ’ จำนวนมากในห้วงเวลาที่วิกฤตโรคระบาดยังไม่คลี่คลายลง ความต้องการเรียกเกณฑ์ใหม่จึงลดลงไปตามสัดส่วน จากนั้นความต้องการก็พุ่งกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมในปี 2023

ทหารสมัครใจเพิ่มขึ้น แต่อีกนานแค่ไหน 'บังคับเกณฑ์' ถึงจะหมดไป?
ภาพที่ 1: จำนวนทหารเกณฑ์แยกรายที่มา
ที่มา: 101 PUB รวบรวมและคำนวณจากสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ, สำนักข่าวไทยโพสต์, พรรคก้าวไกล, และกระทรวงกลาโหม

แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ระบุจะลดยอดเรียกเกณฑ์ลงอีก โดยตั้งเป้าให้เหลือ 70,000 นาย[1]“’บิ๊กทิน’ ฮึ่ม สแกนยาเสพติดในค่าย ปรับลดทหารเกณฑ์เหลือ 7 หมื่นคน,” ไทยโพสต์, มีนาคม 27, 2024. https://www.thaipost.net/politics-news/558235/. แต่เป้าหมายนี้ยังห่างไกลจากปลายทาง ‘สมัครใจ 100%’ อีกไกลโข เพราะปัจจุบันกองทัพยังตั้งเป้ารับสมัครเพียงราว 2.7 หมื่นตำแหน่งต่อปี หมายความว่าต่อให้มีผู้มาสมัครและผ่านการคัดเลือกเต็มจำนวน กองทัพก็ยังคงต้องเกณฑ์กำลังพลเพิ่มอีกกว่าสี่หมื่นนายเพื่อให้ได้ครบตามยอดที่ต้องการ

สมัครใจที่ ‘ไม่จริง’

ปรากฏการณ์ที่พลทหาร ‘สมัครใจอยู่ต่อ’ จำนวนมากในช่วงโควิด-19 ชวนให้เราต้องหันมาทบทวนนิยามของคำว่า ‘สมัครใจ’  ในระบบเรียกเกณฑ์กำลังพลเสียใหม่ด้วย

นอกจากการรับสมัครออนไลน์ซึ่งเสร็จสิ้นไปก่อนเทศกาลเกณฑ์ทหารหลายเดือน ผู้ที่จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารยังมีทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการสมัครเป็นพลทหาร ณ สถานที่ทำการตรวจเลือกในวันเกณฑ์ทหาร หรือที่เรียกกันว่า ‘สมัครหน้างาน’ ในแต่ละปีมีผู้เลือกเส้นทางนี้ราวสองหมื่นคน เหตุผลสำคัญคือการ ‘สมัครใจ’ เป็นพลทหารมาพร้อมสิทธิในการลดเวลาประจำการลงกึ่งหนึ่ง ขณะที่หากไปรอลุ้นและจับได้ ‘ใบแดง’ จะต้องเข้าประจำการเต็มระยะเวลา 1-2 ปีขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษา

สำหรับผู้สมัครใจจำนวนหนึ่ง การเลือกสมัครหน้างานจึงหมายถึงการซื้อความแน่นอนให้กับการวางแผนอนาคตข้างหน้า ซึ่งยากจะสรุปว่าเป็นความสมัครใจมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ในทางตรงกันข้าม ในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่ามีผู้สมัครเต็มจำนวนความต้องการแทบทุกปีจนไม่ต้องมีการลุ้นจับใบดำ-ใบแดง เพราะการสมัครเป็นพลทหาร แม้มีค่าตอบแทนไม่สูงนักแต่ก็ถูกมองว่ามีความมั่นคงและมีโอกาสมากกว่าการหางานในพื้นที่ สภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานจึงเป็นอีกปัจจัยแวดล้อมที่มีส่วนตีกรอบทางเดินให้แคบลง

ผู้ที่สมัครเป็นทหารท่ามกลางภาวะโรคระบาดหรือเศรษฐกิจตกต่ำอาจตัดสินใจด้วยความ ‘สมัครใจ’ มากกว่าคนที่ต้องละทิ้งหน้าที่การงานของตนเองมาเป็นทหาร แต่ก็อาจสร้างข้อกังขาว่าแท้จริงแล้วพวกเขามีทางเลือกในชีวิตมากน้อยเพียงใด และกระทั่งแนวนโยบายที่กองทัพพยายามร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดหางานแก่พลทหารปลดประจำการ[2]“ทหารเกณฑ์ปลดประจำการเตรียมเฮ หลังซีพีจับมือกองทัพบกจัดหางานพร้อมพัฒนาทักษะ,” ไทยรัฐ ออนไลน์, กุมภาพันธ์ 24, 2023. https://www.thairath.co.th/news/local/2638485. ก็ยังสมควรได้รับการตั้งคำถามว่าเป็นภารกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายของกองทัพหรือไม่ ทักษะที่ได้จากการฝึกทหารจะตรงกับความต้องการของภาคเอกชนได้อย่างไร?

เกณฑ์ทหารหนึ่งครั้ง เศรษฐกิจพัง 5.7 หมื่นล้านบาท

ภาพของผู้ที่จับได้ใบแดงเป็นลมล้มพับลงไปกองกับพื้นโรงยิม กลายเป็นภาพคุ้นตาในช่วงเทศกาลเกณฑ์ทหาร การถูกบังคับให้ต้องทิ้งงาน บ้าน ครอบครัว ไปประจำอยู่ในค่ายทหารนาน 1-2 ปีไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนัก รวมถึงภาระของผู้ถูกบังคับเกณฑ์ทหารแต่ละคนก็อาจไม่เท่ากัน

ยิ่งไปกว่านั้น ความสูญเสียที่สามารถนับวัดได้อย่างชัดเจน คือ ‘ค่าเสียโอกาส’ ที่อาจทำให้พวกเขาต้องสูญเสียรายได้ที่ควรได้ไปโดยเฉลี่ยถึงราว 3.4 แสนบาท ตลอดระยะเวลาที่ต้องทิ้งงานเดิมไปฝึกเป็นพลทหาร

ระยะเวลาของการถูกเรียกไปเป็นทหารขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษาของผู้ถูกเกณฑ์ หากมีวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็จะถูกเรียกเกณฑ์เพียงหนึ่งปี ในทางกลับกัน หากมีวุฒิการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่านั้นก็จะต้อง ‘รับใช้ชาติ’ นานถึงสองปี

101 PUB คำนวณค่าจ้างที่หายไป จากค่าจ้างโดยเฉลี่ยของคนทำงานที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับผู้ถูกเกณฑ์ทหาร กล่าวคือ กลุ่มคนทำงานที่มีอายุระหว่าง 21 ถึง 26 ปีในแต่ละวุฒิการศึกษา ด้วยข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ[3]ค่าเสียโอกาสจึงคำนวณจากค่าจ้างของแรงงานนอกภาคเกษตรที่หายไประหว่างช่วงระยะเวลาที่ต้องประจำการอยู่ในกองทัพ

ในปี 2023 กลุ่มที่มีค่าเสียโอกาสจากการจับได้ใบแดงมากที่สุดคือกลุ่มวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. ซึ่งเสียไปราว 5.1 แสนบาท ขณะที่กลุ่มที่มีค่าเสียโอกาสน้อยที่สุดคือกลุ่มวุฒิการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ซึ่งเสียไปราว 2.4 แสนบาท นอกจากนี้ ต้นทุนด้านเวลาของแต่ละกลุ่มก็มีไม่เท่ากัน เพราะกลุ่มที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษาจะต้องรับใช้ชาตินานถึงสองปี

เมื่อนำค่าเสียโอกาสที่เกิดจากการจับได้ใบแดงของกลุ่มผู้ถูกเกณฑ์ตามวุฒิการศึกษาต่างๆ มาเฉลี่ยแล้ว พบว่าใบแดง 1 ใบจะมีค่าเสียโอกาสโดยเฉลี่ยราว 3.4 แสนบาท (ตารางที่ 1)

วุฒิการศึกษาระยะเวลาประจำการค่าเสียโอกาส
ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า2 ปี234,618 บาท
มัธยมศึกษาตอนต้น2 ปี306,054 บาท
มัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช.2 ปี508,353 บาท
ปริญญาตรีหรือ ปวส.1 ปี260,245 บาท
เฉลี่ย342,422 บาท
ตารางที่ 1: ประมาณการค่าเสียโอกาสของผู้ที่จับได้ใบแดงจำแนกตามกวุฒิการศึกษา
ที่มา: 101 PUB คำนวณจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023)

ในปี 2023 กองทัพไทยมียอดความต้องการทหารเกณฑ์สูงถึง 93,000 นาย โดยมีผู้สมัครทางออนไลน์ 10,158 คน และมีผู้สมัครหน้างาน 25,461 คน ซึ่งอาจมีทั้งผู้ที่สมัครด้วยความสมัครใจจริงและกลุ่มที่สมัครเพื่อต้องการร่นระยะเวลาประจำการในกองทัพให้สั้นลง เมื่อมีผู้สมัครเข้ามาน้อยกว่ายอดความต้องการ จึงยังมีจำนวนใบแดงทั้งสิ้น 57,383 ใบ กล่าวคือต้องมีผู้ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารโดยไม่สมัครใจอย่างน้อย 57,383 คน[4]101 PUB รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลของสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ, สำนักข่าวไทยโพสต์, พรรคก้าวไกล, และกระทรวงกลาโหม

เมื่อนำ ‘ค่าจ้างที่สูญไป’ โดยเฉลี่ยมาคูณกับจำนวนผู้ที่ถูกเกณฑ์ทหารโดยไม่สมัครใจขั้นต่ำ จะพบว่าการเกณฑ์ทหารครั้งนี้สร้างค่าเสียโอกาสในการหารายได้ของแรงงานอย่างน้อย 1.97 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แรงงานที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ ย่อมหมายถึงการผลิตสินค้าและบริการที่หายไปด้วยเช่นกัน จากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตในปี 2015 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด พบว่า ค่าจ้างแรงงานคิดเป็น 34.5% ของมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจไทย[5]สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้น มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญไปจริงจะมีค่ามากกว่าค่าจ้างที่สูญไปราว 3 เท่า หรืออย่างน้อย 5.7 หมื่นล้านบาท

นับรวม ‘สมัครใจไม่จริง’ ความเสียหายทางเศรษฐกิจยิ่งสูงขึ้นอีก

ตัวเลขมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา (2023) ราว 5.7 หมื่นล้านบาทที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวเลขความเสียหายที่เกิดจากการเกณฑ์ชายไทยเข้ากองทัพโดยไม่สมัครใจอย่างแน่ชัด อย่างไรก็ดี หากคำนึงว่ากลุ่มชายไทยที่เลือกสมัครหน้างานเป็นกลุ่มที่เลือกสมัครเพื่อต้องการร่นระยะเวลาประจำการในกองทัพ ซึ่งไม่ใช่เพราะความ ‘สมัครใจ’ มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการเกณฑ์ทหารปี 2023 อาจสูงถึงเกือบ 7 หมื่นล้านบาท

เมื่อคำนวณมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจย้อนหลังโดยการคำนึงถึงกลุ่มสมัครหน้างานดังกล่าว ความเสียหายต่อเศรษฐกิจในปี 2021 จะสูงถึง 79,921 หมื่นล้านบาท และกระทั่งในปี 2022 ซึ่งยอดเรียกเกณฑ์ลดลงอย่างมาก ก็ยังสร้างความเสียหายสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท

นับรวม ‘สมัครใจไม่จริง’ ความเสียหายทางเศรษฐกิจยิ่งสูงขึ้นอีก
ภาพที่ 2: มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สูญไปจากการเกณฑ์ทหาร
ที่มา: 101 PUB รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ, สำนักข่าวไทยโพสต์, พรรคก้าวไกล, และกระทรวงกลาโหม       
หมายเหตุ: ค่าจ้างคิดเป็น 34.5% ของมูลค่าเศรษฐกิจ

ความสูญเสียที่ประเมินไม่ได้ยังมีอีกมาก

ตัวเลขประมาณการต้นทุนที่เกิดจากการเกณฑ์ทหารที่กล่าวไปข้างต้นอาจยังน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะยังมีต้นทุนแฝงที่เกิดจากการเกณฑ์ทหาร ซึ่งไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างแน่ชัด อาทิ ต้นทุนที่เกิดจากการที่ผู้ถูกเกณฑ์ต้องไปทำงานใช้ทักษะไม่ตรงกับที่ตนเคยฝึกมาหรือมีอยู่ ทำให้การเกณฑ์ทหารไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าการรับสมัครผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีความพร้อมมากกว่า[6]Poutvaara, Panu, and Wagener, Andreas. “Conscription: economic costs and political allure,” The Economics of Peace and Security Journal 2, no. 1 (2007): 6-15. ต้นทุนที่ต้องเสียโอกาสในการฝึกฝนเก็บเกี่ยวทักษะเพิ่มเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ต้นทุนที่ผู้ต้องห่างไกลจากบ้าน ซึ่งไม่สามารถดูแลคนในครอบครัวได้ นอกจากนี้ต้นทุนแฝงอาจรวมไปถึงด้านสุขภาพจิตของผู้ถูกเกณฑ์เองอีกด้วย

แม้ระบบเกณฑ์ทหารแบบบังคับจะทำให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณสำหรับค่าจ้างทหารเกณฑ์น้อยกว่าระบบสมัครใจที่ต้องเพิ่มค่าตอบแทนให้ทัดเทียมกับค่าจ้างในตลาดแรงงานเพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาในกองทัพ แต่ก็เป็นที่เห็นชัดแล้วว่าต้นทุนของการเกณฑ์ทหารแบบบังคับไม่ได้มีแค่ด้านงบประมาณ หากแต่มีทั้งต้นทุนต่อตัวผู้ถูกเกณฑ์เอง ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม และต่อกองทัพเองอีกด้วย

การยกเลิกเกณฑ์ทหารยิ่งช้า ประเทศไทยยิ่งสูญเสีย ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและกองทัพจะต้องเร่งทบทวนนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารที่มีอยู่ในปัจจุบัน เปลี่ยนกองทัพไทยให้เป็นกองกำลัง ‘สมัครใจ’ ที่มีประสิทธิภาพ มีศักดิ์ศรีทัดเทียมอาชีพอื่น ทำให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นแผนและเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้การ ‘ยกเลิก’ เกิดขึ้นจริงได้ในกรอบเวลาของ ‘อนาคต’ ที่คนไทยฝากความหวังไว้ได้ เพื่อที่แรงงานและครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศจะได้ไม่ต้องเอาอนาคตมาเดิมพันกันในเทศกาลเกณฑ์ทหารรายปีอีกต่อไป

References
1 “’บิ๊กทิน’ ฮึ่ม สแกนยาเสพติดในค่าย ปรับลดทหารเกณฑ์เหลือ 7 หมื่นคน,” ไทยโพสต์, มีนาคม 27, 2024. https://www.thaipost.net/politics-news/558235/.
2 “ทหารเกณฑ์ปลดประจำการเตรียมเฮ หลังซีพีจับมือกองทัพบกจัดหางานพร้อมพัฒนาทักษะ,” ไทยรัฐ ออนไลน์, กุมภาพันธ์ 24, 2023. https://www.thairath.co.th/news/local/2638485.
3 ค่าเสียโอกาสจึงคำนวณจากค่าจ้างของแรงงานนอกภาคเกษตรที่หายไประหว่างช่วงระยะเวลาที่ต้องประจำการอยู่ในกองทัพ
4 101 PUB รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลของสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ, สำนักข่าวไทยโพสต์, พรรคก้าวไกล, และกระทรวงกลาโหม
5 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
6 Poutvaara, Panu, and Wagener, Andreas. “Conscription: economic costs and political allure,” The Economics of Peace and Security Journal 2, no. 1 (2007): 6-15.

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

สรวิศ มา

วิจัย/เขียน

สรัช สินธุประมา

บทความที่เกี่ยวข้อง

Soft Power without Power, without Future?

Soft Power without Power, without Future?

101 PUB ชวนสำรวจว่ารัฐบาลเดินหน้านโยบาย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ หรือ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ แบบใด? และไปถึงไหน? มีประเด็นอะไรที่น่าจับตาต่อไปในปีหน้า

ภาษีรถติดทำอย่างไรให้เวิร์ค?

ปัญหารถติดเป็นปัญหาโลกแตกของคนกรุงเทพฯ มาโดยตลอด รัฐบาลล่าสุดได้ผลักดันภาษีรถติด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้รถเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วภาษีรถติดจะได้ผลหรือไม่? รัฐบาลต้องทำอะไรควบคู่กันไปด้วย?

จะแก้ ‘สุขภาพจิต’ ได้แค่ไหน ด้วยนโยบายแก้ ‘ยาเสพติด’ ?

รัฐทุ่มแก้ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด ตั้ง ‘มินิธัญญารักษ์’ ทุกจังหวัด แต่อาจยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพจิตอย่างรอบด้าน

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2025 101pub.org | All rights reserved.