ย่างเข้าเดือนเมษายน คนไทยต่างตั้งตารอวันหยุดยาวที่จะได้วางมือจากภาระการงาน เตรียมตัวพักผ่อน ออกไปท่องเที่ยว รื่นเริงไปกับเทศกาล และสำหรับหลายคนเทศกาลนี้คือโอกาสกลับบ้านไปหาครอบครัว ทว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ก็ดำเนินไปพร้อมกับอีกเทศกาลหนึ่งซึ่งชายไทยอายุ 21 จำนวนมากไม่อยากให้มาถึง คือเทศกาล ‘เกณฑ์ทหาร’ ซึ่งจะทำให้พวกเขาไม่ได้กลับไปทำงานของตัวเองอีก 1-2 ปี หากจับได้ ‘ใบแดง’
ในช่วงสามปีที่ผ่านมา กองทัพไทยและรัฐบาลแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนวิธีระดมกำลังพลด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์การสมัครเป็นพลทหาร จูงใจให้ชายไทยเข้ารับราชการทหารแบบ ‘สมัครใจ’ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่ายอดผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกก็ยังมีไม่มากพอ ขณะที่ยอดเรียกเกณฑ์ก็ยังไม่ลดลงต่ำพอ คำมั่นสัญญาที่จะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ‘ในอนาคต’ ที่ถูกพูดถึงทุกปีจึงอาจยังคงเป็นเพียงอนาคตที่เลือนราง
101 Public Policy Think Tank (101 PUB) ชวนทบทวนว่านโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถ ‘ยกเลิก’ การเกณฑ์ทหารได้อย่างแท้จริงหรือไม่? ยิ่งไปกว่านั้นเศรษฐกิจไทยจะต้องสูญเสียอีกเท่าไหร่กว่าจะถึงวันนั้น?
อนาคตที่ยังเลือนรางของ ‘กองทัพสมัครใจ’
ปี 2021 เป็นปีแรกที่กองทัพเริ่มเพิ่มช่องทางการรับสมัครผ่านออนไลน์พร้อมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อหวังเพิ่มจำนวนผู้มาสมัครรับใช้ชาติให้มากขึ้น โดยในปี 2024 ยอดผู้สมัครผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นจากปีแรกกว่า 4 เท่า ขณะเดียวกันยอดความต้องการกองกำลังของกองทัพก็มีแนวโน้มลดลง
อย่างไรก็ดี แนวโน้มข้างต้นนี้ก็ยังไม่มากพอที่จะปิดช่องว่างของ ‘ใบแดง’ หรือการบังคับเกณฑ์ทหารเพื่อมาเติมเต็มความต้องการที่ยังพร่องอยู่ได้โดยไว
ก่อนช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 กองทัพไทยมีความต้องการพลทหารราวปีละหนึ่งแสนนาย จากนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วในห้วงวิกฤตโรคระบาด โดยลดลงไปเหลือเพียง 5.8 หมื่นนายในปี 2022 ฉายภาพให้คนหนุ่มมองเห็นความหวังว่าการลุ้นใบดำ-ใบแดง อาจหมดไปในไม่ช้า
แท้จริงแล้ว ยอดความต้องการที่ลดลงไม่ได้สะท้อนถึงการปฏิรูปโครงสร้างการจัดสรรกำลังพลแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงผลมาจากการที่พลทหารซึ่งครบกำหนดประจำการเลือกที่จะ ‘สมัครใจอยู่ต่อ’ จำนวนมากในห้วงเวลาที่วิกฤตโรคระบาดยังไม่คลี่คลายลง ความต้องการเรียกเกณฑ์ใหม่จึงลดลงไปตามสัดส่วน จากนั้นความต้องการก็พุ่งกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมในปี 2023
แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ระบุจะลดยอดเรียกเกณฑ์ลงอีก โดยตั้งเป้าให้เหลือ 70,000 นาย[1]“’บิ๊กทิน’ ฮึ่ม สแกนยาเสพติดในค่าย ปรับลดทหารเกณฑ์เหลือ 7 หมื่นคน,” ไทยโพสต์, มีนาคม 27, 2024. https://www.thaipost.net/politics-news/558235/. แต่เป้าหมายนี้ยังห่างไกลจากปลายทาง ‘สมัครใจ 100%’ อีกไกลโข เพราะปัจจุบันกองทัพยังตั้งเป้ารับสมัครเพียงราว 2.7 หมื่นตำแหน่งต่อปี หมายความว่าต่อให้มีผู้มาสมัครและผ่านการคัดเลือกเต็มจำนวน กองทัพก็ยังคงต้องเกณฑ์กำลังพลเพิ่มอีกกว่าสี่หมื่นนายเพื่อให้ได้ครบตามยอดที่ต้องการ
สมัครใจที่ ‘ไม่จริง’
ปรากฏการณ์ที่พลทหาร ‘สมัครใจอยู่ต่อ’ จำนวนมากในช่วงโควิด-19 ชวนให้เราต้องหันมาทบทวนนิยามของคำว่า ‘สมัครใจ’ ในระบบเรียกเกณฑ์กำลังพลเสียใหม่ด้วย
นอกจากการรับสมัครออนไลน์ซึ่งเสร็จสิ้นไปก่อนเทศกาลเกณฑ์ทหารหลายเดือน ผู้ที่จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารยังมีทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการสมัครเป็นพลทหาร ณ สถานที่ทำการตรวจเลือกในวันเกณฑ์ทหาร หรือที่เรียกกันว่า ‘สมัครหน้างาน’ ในแต่ละปีมีผู้เลือกเส้นทางนี้ราวสองหมื่นคน เหตุผลสำคัญคือการ ‘สมัครใจ’ เป็นพลทหารมาพร้อมสิทธิในการลดเวลาประจำการลงกึ่งหนึ่ง ขณะที่หากไปรอลุ้นและจับได้ ‘ใบแดง’ จะต้องเข้าประจำการเต็มระยะเวลา 1-2 ปีขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษา
สำหรับผู้สมัครใจจำนวนหนึ่ง การเลือกสมัครหน้างานจึงหมายถึงการซื้อความแน่นอนให้กับการวางแผนอนาคตข้างหน้า ซึ่งยากจะสรุปว่าเป็นความสมัครใจมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ในทางตรงกันข้าม ในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่ามีผู้สมัครเต็มจำนวนความต้องการแทบทุกปีจนไม่ต้องมีการลุ้นจับใบดำ-ใบแดง เพราะการสมัครเป็นพลทหาร แม้มีค่าตอบแทนไม่สูงนักแต่ก็ถูกมองว่ามีความมั่นคงและมีโอกาสมากกว่าการหางานในพื้นที่ สภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานจึงเป็นอีกปัจจัยแวดล้อมที่มีส่วนตีกรอบทางเดินให้แคบลง
ผู้ที่สมัครเป็นทหารท่ามกลางภาวะโรคระบาดหรือเศรษฐกิจตกต่ำอาจตัดสินใจด้วยความ ‘สมัครใจ’ มากกว่าคนที่ต้องละทิ้งหน้าที่การงานของตนเองมาเป็นทหาร แต่ก็อาจสร้างข้อกังขาว่าแท้จริงแล้วพวกเขามีทางเลือกในชีวิตมากน้อยเพียงใด และกระทั่งแนวนโยบายที่กองทัพพยายามร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดหางานแก่พลทหารปลดประจำการ[2]“ทหารเกณฑ์ปลดประจำการเตรียมเฮ หลังซีพีจับมือกองทัพบกจัดหางานพร้อมพัฒนาทักษะ,” ไทยรัฐ ออนไลน์, กุมภาพันธ์ 24, 2023. https://www.thairath.co.th/news/local/2638485. ก็ยังสมควรได้รับการตั้งคำถามว่าเป็นภารกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายของกองทัพหรือไม่ ทักษะที่ได้จากการฝึกทหารจะตรงกับความต้องการของภาคเอกชนได้อย่างไร?
เกณฑ์ทหารหนึ่งครั้ง เศรษฐกิจพัง 5.7 หมื่นล้านบาท
ภาพของผู้ที่จับได้ใบแดงเป็นลมล้มพับลงไปกองกับพื้นโรงยิม กลายเป็นภาพคุ้นตาในช่วงเทศกาลเกณฑ์ทหาร การถูกบังคับให้ต้องทิ้งงาน บ้าน ครอบครัว ไปประจำอยู่ในค่ายทหารนาน 1-2 ปีไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนัก รวมถึงภาระของผู้ถูกบังคับเกณฑ์ทหารแต่ละคนก็อาจไม่เท่ากัน
ยิ่งไปกว่านั้น ความสูญเสียที่สามารถนับวัดได้อย่างชัดเจน คือ ‘ค่าเสียโอกาส’ ที่อาจทำให้พวกเขาต้องสูญเสียรายได้ที่ควรได้ไปโดยเฉลี่ยถึงราว 3.4 แสนบาท ตลอดระยะเวลาที่ต้องทิ้งงานเดิมไปฝึกเป็นพลทหาร
ระยะเวลาของการถูกเรียกไปเป็นทหารขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษาของผู้ถูกเกณฑ์ หากมีวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็จะถูกเรียกเกณฑ์เพียงหนึ่งปี ในทางกลับกัน หากมีวุฒิการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่านั้นก็จะต้อง ‘รับใช้ชาติ’ นานถึงสองปี
101 PUB คำนวณค่าจ้างที่หายไป จากค่าจ้างโดยเฉลี่ยของคนทำงานที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับผู้ถูกเกณฑ์ทหาร กล่าวคือ กลุ่มคนทำงานที่มีอายุระหว่าง 21 ถึง 26 ปีในแต่ละวุฒิการศึกษา ด้วยข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ[3]ค่าเสียโอกาสจึงคำนวณจากค่าจ้างของแรงงานนอกภาคเกษตรที่หายไประหว่างช่วงระยะเวลาที่ต้องประจำการอยู่ในกองทัพ
ในปี 2023 กลุ่มที่มีค่าเสียโอกาสจากการจับได้ใบแดงมากที่สุดคือกลุ่มวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. ซึ่งเสียไปราว 5.1 แสนบาท ขณะที่กลุ่มที่มีค่าเสียโอกาสน้อยที่สุดคือกลุ่มวุฒิการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ซึ่งเสียไปราว 2.4 แสนบาท นอกจากนี้ ต้นทุนด้านเวลาของแต่ละกลุ่มก็มีไม่เท่ากัน เพราะกลุ่มที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษาจะต้องรับใช้ชาตินานถึงสองปี
เมื่อนำค่าเสียโอกาสที่เกิดจากการจับได้ใบแดงของกลุ่มผู้ถูกเกณฑ์ตามวุฒิการศึกษาต่างๆ มาเฉลี่ยแล้ว พบว่าใบแดง 1 ใบจะมีค่าเสียโอกาสโดยเฉลี่ยราว 3.4 แสนบาท (ตารางที่ 1)
วุฒิการศึกษา | ระยะเวลาประจำการ | ค่าเสียโอกาส |
ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า | 2 ปี | 234,618 บาท |
มัธยมศึกษาตอนต้น | 2 ปี | 306,054 บาท |
มัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. | 2 ปี | 508,353 บาท |
ปริญญาตรีหรือ ปวส. | 1 ปี | 260,245 บาท |
เฉลี่ย | 342,422 บาท |
ที่มา: 101 PUB คำนวณจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023)
ในปี 2023 กองทัพไทยมียอดความต้องการทหารเกณฑ์สูงถึง 93,000 นาย โดยมีผู้สมัครทางออนไลน์ 10,158 คน และมีผู้สมัครหน้างาน 25,461 คน ซึ่งอาจมีทั้งผู้ที่สมัครด้วยความสมัครใจจริงและกลุ่มที่สมัครเพื่อต้องการร่นระยะเวลาประจำการในกองทัพให้สั้นลง เมื่อมีผู้สมัครเข้ามาน้อยกว่ายอดความต้องการ จึงยังมีจำนวนใบแดงทั้งสิ้น 57,383 ใบ กล่าวคือต้องมีผู้ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารโดยไม่สมัครใจอย่างน้อย 57,383 คน[4]101 PUB รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลของสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ, สำนักข่าวไทยโพสต์, พรรคก้าวไกล, และกระทรวงกลาโหม
เมื่อนำ ‘ค่าจ้างที่สูญไป’ โดยเฉลี่ยมาคูณกับจำนวนผู้ที่ถูกเกณฑ์ทหารโดยไม่สมัครใจขั้นต่ำ จะพบว่าการเกณฑ์ทหารครั้งนี้สร้างค่าเสียโอกาสในการหารายได้ของแรงงานอย่างน้อย 1.97 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แรงงานที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ ย่อมหมายถึงการผลิตสินค้าและบริการที่หายไปด้วยเช่นกัน จากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตในปี 2015 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด พบว่า ค่าจ้างแรงงานคิดเป็น 34.5% ของมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจไทย[5]สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้น มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญไปจริงจะมีค่ามากกว่าค่าจ้างที่สูญไปราว 3 เท่า หรืออย่างน้อย 5.7 หมื่นล้านบาท
นับรวม ‘สมัครใจไม่จริง’ ความเสียหายทางเศรษฐกิจยิ่งสูงขึ้นอีก
ตัวเลขมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา (2023) ราว 5.7 หมื่นล้านบาทที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวเลขความเสียหายที่เกิดจากการเกณฑ์ชายไทยเข้ากองทัพโดยไม่สมัครใจอย่างแน่ชัด อย่างไรก็ดี หากคำนึงว่ากลุ่มชายไทยที่เลือกสมัครหน้างานเป็นกลุ่มที่เลือกสมัครเพื่อต้องการร่นระยะเวลาประจำการในกองทัพ ซึ่งไม่ใช่เพราะความ ‘สมัครใจ’ มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการเกณฑ์ทหารปี 2023 อาจสูงถึงเกือบ 7 หมื่นล้านบาท
เมื่อคำนวณมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจย้อนหลังโดยการคำนึงถึงกลุ่มสมัครหน้างานดังกล่าว ความเสียหายต่อเศรษฐกิจในปี 2021 จะสูงถึง 79,921 หมื่นล้านบาท และกระทั่งในปี 2022 ซึ่งยอดเรียกเกณฑ์ลดลงอย่างมาก ก็ยังสร้างความเสียหายสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท
ความสูญเสียที่ประเมินไม่ได้ยังมีอีกมาก
ตัวเลขประมาณการต้นทุนที่เกิดจากการเกณฑ์ทหารที่กล่าวไปข้างต้นอาจยังน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะยังมีต้นทุนแฝงที่เกิดจากการเกณฑ์ทหาร ซึ่งไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างแน่ชัด อาทิ ต้นทุนที่เกิดจากการที่ผู้ถูกเกณฑ์ต้องไปทำงานใช้ทักษะไม่ตรงกับที่ตนเคยฝึกมาหรือมีอยู่ ทำให้การเกณฑ์ทหารไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าการรับสมัครผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีความพร้อมมากกว่า[6]Poutvaara, Panu, and Wagener, Andreas. “Conscription: economic costs and political allure,” The Economics of Peace and Security Journal 2, no. 1 (2007): 6-15. ต้นทุนที่ต้องเสียโอกาสในการฝึกฝนเก็บเกี่ยวทักษะเพิ่มเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ต้นทุนที่ผู้ต้องห่างไกลจากบ้าน ซึ่งไม่สามารถดูแลคนในครอบครัวได้ นอกจากนี้ต้นทุนแฝงอาจรวมไปถึงด้านสุขภาพจิตของผู้ถูกเกณฑ์เองอีกด้วย
แม้ระบบเกณฑ์ทหารแบบบังคับจะทำให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณสำหรับค่าจ้างทหารเกณฑ์น้อยกว่าระบบสมัครใจที่ต้องเพิ่มค่าตอบแทนให้ทัดเทียมกับค่าจ้างในตลาดแรงงานเพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาในกองทัพ แต่ก็เป็นที่เห็นชัดแล้วว่าต้นทุนของการเกณฑ์ทหารแบบบังคับไม่ได้มีแค่ด้านงบประมาณ หากแต่มีทั้งต้นทุนต่อตัวผู้ถูกเกณฑ์เอง ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม และต่อกองทัพเองอีกด้วย
การยกเลิกเกณฑ์ทหารยิ่งช้า ประเทศไทยยิ่งสูญเสีย ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและกองทัพจะต้องเร่งทบทวนนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารที่มีอยู่ในปัจจุบัน เปลี่ยนกองทัพไทยให้เป็นกองกำลัง ‘สมัครใจ’ ที่มีประสิทธิภาพ มีศักดิ์ศรีทัดเทียมอาชีพอื่น ทำให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นแผนและเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้การ ‘ยกเลิก’ เกิดขึ้นจริงได้ในกรอบเวลาของ ‘อนาคต’ ที่คนไทยฝากความหวังไว้ได้ เพื่อที่แรงงานและครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศจะได้ไม่ต้องเอาอนาคตมาเดิมพันกันในเทศกาลเกณฑ์ทหารรายปีอีกต่อไป
↑1 | “’บิ๊กทิน’ ฮึ่ม สแกนยาเสพติดในค่าย ปรับลดทหารเกณฑ์เหลือ 7 หมื่นคน,” ไทยโพสต์, มีนาคม 27, 2024. https://www.thaipost.net/politics-news/558235/. |
---|---|
↑2 | “ทหารเกณฑ์ปลดประจำการเตรียมเฮ หลังซีพีจับมือกองทัพบกจัดหางานพร้อมพัฒนาทักษะ,” ไทยรัฐ ออนไลน์, กุมภาพันธ์ 24, 2023. https://www.thairath.co.th/news/local/2638485. |
↑3 | ค่าเสียโอกาสจึงคำนวณจากค่าจ้างของแรงงานนอกภาคเกษตรที่หายไประหว่างช่วงระยะเวลาที่ต้องประจำการอยู่ในกองทัพ |
↑4 | 101 PUB รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลของสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ, สำนักข่าวไทยโพสต์, พรรคก้าวไกล, และกระทรวงกลาโหม |
↑5 | สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ |
↑6 | Poutvaara, Panu, and Wagener, Andreas. “Conscription: economic costs and political allure,” The Economics of Peace and Security Journal 2, no. 1 (2007): 6-15. |