ประเด็นสำคัญ
- คดีผู้บริโภคในปี 2022 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นสูงถึง 821,504 คดี หากผู้บริโภครวมตัวกันเพื่อฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม ก็จะเป็นการช่วยลดภาระงานของศาล นอกจากนี้การชดเชยความเสียหายต่อผู้บริโภคยังทั่วถึงและเท่าเทียมมากกว่าด้วย
- แต่การจะฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มก็ต้องให้ศาลพิจารณาก่อนว่าจะรับเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ ซึ่งในกระบวนการนี้ ศาลใช้ระยะเวลาพิจารณานานและการพิจารณาของศาลยังไม่มีความแน่นอน
- เมื่อศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนผู้บริโภคที่เสียหายต้องนำเงินไปให้ศาลเพื่อใช้ในระหว่างการพิจารณาคดี แต่เงินที่ต้องนำไปให้ศาลนั้นก็มีมูลค่าสูงกว่า 100,000 บาท ในจำนวนนั้น เงินเกือบทั้งหมดเป็นค่าประกาศลงหนังสือพิมพ์
- การรวมตัวกันของผู้เสียหายในไทยเป็นเรื่องยาก เนื่องจากแพลตฟอร์มกลางในการรวมตัว นอกจากนี้ ยังพบว่าในการพิจารณาคดีไม่สามารถให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์แทนผู้เสียหายได้ เนื่องจากพยานหลักฐานจากองค์กรเหล่านี้จะมีน้ำหนักมากกว่า และสุดท้าย เมื่อผู้บริโภคชนะคดี การประกาศให้รับเงินชดเชยกลับเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ก่อให้เกิดความเสียหาย
ผู้ขายไม่ส่งของ โดนโก่งราคา ซื้อของมาแล้วไม่ตรงปก เมื่อประสบปัญหาเหล่านี้ ทางเลือกของผู้บริโภคในการทวงถามความยุติธรรมและค่าชดเชยความเสียหาย นอกจากไปฟ้อง สคบ. คือ การฟ้องคดีผู้บริโภค ซึ่งมีทั้งการฟ้องคดีผู้บริโภครายบุคคล ที่ปรากฏยอดสูงกว่า 8.6 แสนคดีในปี 2021 และการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ที่เป็นการฟ้องคดีในอุดมคติของทางศาลและผู้เสียหาย เนื่องจากการฟ้องคดีแบบกลุ่มนี้จะนำไปสู่การลดภาระงานของศาล การลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหาย และคุ้มครองผู้เสียหายอย่างทั่วถึงเท่าเทียม
อย่างไรก็ดี การฟ้องคดีแบบกลุ่มในไทยยังมีปัญหาอีกมากที่รอการแก้ไข 101 PUB ชวนสำรวจอุปสรรคขัดขวางการเข้าถึงกระบวนการฟ้องคดีแบบกลุ่มของผู้บริโภค ทำความเข้าใจถึงปัญหาและความล้าหลังของกฎหมาย พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไข เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความยุติธรรมที่ทั่วถึงและเท่าเทียมอย่างแท้จริง
คดีผู้บริโภคล้นมือ ทางแก้คือการฟ้องคดีแบบกลุ่ม?
การฟ้องคดีแบบกลุ่ม (class action) เป็นกระบวนการที่กฎหมายอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก และเสียหายในเรื่องเดียวกัน โดยตั้ง ‘โจทก์’ เสมือนตัวแทนของผู้เสียหายทั้งหมด (class representative) ที่ต้องการฟ้องคดีและดำเนินกระบวนการทางศาล ผู้เสียหายทั้งหมดจึงไม่ต้องเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมเลยก็ได้ ซึ่งทำให้ผู้เสียหายบางรายที่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอ หรือเห็นว่าเป็นความเสียหายเล็กน้อยมีโอกาสได้รับการคุ้มครองและชดเชย[1]“การดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตามข้อเสนอร่างแก้ไขวิธีพิจารณาความแพ่ง”, iLaw, มกราคม 30, 2015, สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2566. ถือเป็น ‘การฟ้องคดีคนเดียวแต่คุ้มครองทั้งกลุ่ม’
7 ปีทีผ่านมา มีคดีผู้บริโภคเฉลี่ยถึง 8 แสนคดี/ปี
ในปัจจุบันผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเองมากขึ้น เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดทำให้การฟ้องคดีง่ายขึ้น ในระยะ 10 ปีหลัง การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในศาลชั้นต้นมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 378,564 คดีในปี 2012 มาเป็น 821,504 คดี ในปี 2022[2]หนังสือรายงานสถิติคดีของศาลยุติธรรมแยกตามปีพุทธศักราช, สำนักงานศาลยุติธรรม.
จำนวนคดีที่เพิ่มสูงขึ้นในทางหนึ่งหมายถึงภาระหน้าที่ของศาลเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคแยกกันฟ้องเป็นรายคดี การคิดค่าเสียหายอาจได้รับไม่เท่าเทียมกัน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายก็จะมีเฉพาะผู้ที่ฟ้องเป็นคดี ด้านผู้เสียหายรายอื่นที่เสียหายเหมือนกัน แต่ไม่ได้ฟ้องเป็นคดีความก็จะไม่ได้รับการชดเชย อนึ่ง ถึงแม้ว่าศาลจะสามารถรวมคดีเพื่อพิจารณาได้ แต่ก็ยังไม่ทำให้จำนวนคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาลลดลง ซ้ำยังเพิ่มขึ้นด้วย
โดยหลักการ ‘ฟ้องแบบกลุ่ม’ คุ้มครองได้ทั่วถึง-เท่าเทียม
ในประเทศไทยเริ่มมีการศึกษาเรื่องการฟ้องคดีแบบกลุ่มตั้งแต่ปี 2002[3]มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 มกราคม 2545. โดยมีต้นแบบจาก Federal Rules of Civil Procedure (FRCP) Rule 23 ของสหรัฐอเมริกา[4]นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ , “ … Continue reading และมีความพยายามในการนำเรื่องนี้มาพิจารณาในสภาผู้แทนฯ ในช่วงปี 2011 น่าเสียดายที่ร่างกฎหมายฉบับนั้นต้องตกไปเนื่องจากยุบสภา[5]ระบบสารสนเทศด้านนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2566. แต่ท้ายที่สุดแล้วความพยายามในการเพิ่มการฟ้องคดีแบบกลุ่มในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็สำเร็จในปี 2014
การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคแบบกลุ่ม ไม่ใช่แค่การลดจำนวนคดีที่จะขึ้นสู่ชั้นศาล แต่ยังเป็นการช่วยผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายแม้จะเป็นความเสียหายเล็กน้อยด้วย
- ผู้เสียหายไม่ต้องฟ้องเป็นคดีเองทุกคน แต่ให้ตัวแทนผู้เสียหายเป็นโจทก์ ซึ่งก็ทำให้ค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีลดลงไป เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีก็จะมีสมาชิกกลุ่มทั้งหมดรับผิดชอบร่วมกัน
- เมื่อมีการฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม บุคคลที่ได้รับการชดเชยจึงไม่ใช่แค่โจทก์ แต่เป็นผู้เสียหายทั้งหมดที่เสียหายแบบเดียวกัน
- จากการที่ฟ้องคดีรวมกันเป็นคดีเดียว คำตัดสินของศาลก็ย่อมมีคำตัดสินเดียว ทำให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยที่เท่าเทียมกัน
ต้องให้ศาลพิจารณาก่อนว่าเป็นการฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือไม่
หลักการฟ้องคดีแบบกลุ่มข้างต้นเป็นเพียงหลักการเชิงทฤษฎี ยังมีความยุ่งยากอีกหลายประการที่ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนยังเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม
ศาลใช้เวลานานเกินควร ในการพิจารณาว่า ‘เป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่’
ในการฟ้องคดีแบบกลุ่มนั้น ใช่ว่าเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแล้วศาลจะรับเป็นคดีแบบกลุ่มทันที แต่ต้องทำคำร้องเพื่อให้ศาลพิจารณาก่อนว่าจะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ และในขั้นตอนนี้ ศาลจะเปิดโอกาสให้คู่ความโต้แย้งกันเพื่อแสดงหลักฐานให้ศาลเห็นว่าเหตุใดศาลจึงต้องรับหรือไม่รับเป็นคดีที่พิพาทกันอยู่เป็นคดีแบบกลุ่ม ซึ่งยิ่งทำให้ใช้ระยะเวลาในกระบวนการยุติธรรมยาวนานมากขึ้น
ในการฟ้องคดีแบบกลุ่มที่ผ่านมา อาทิ คดีที่ผู้บริโภคฟ้องต่อบริษัท Mazda และพวก เนื่องจากได้รับรถยนต์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ศาลใช้เวลา 2 ปีในการตัดสินว่าจะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่[6]มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), “เฮ! ศาลอุทธรณ์ รับ คดี ‘มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ – ดีเซล’ เป็นคดีกลุ่ม”, 28 เมษายน 2563, … Continue reading การรับเป็นคดีแบบกลุ่มกรณีการโฆษณาเกินจริงของกระทะโคเรียคิงก็ใช้เวลาถึง 5 ปี [7]มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), “ผู้บริโภคเฮ! ศาลสั่งรับ “คดีกระทะโคเรียคิงโฆษณาเกินจริง” เป็นคดีกลุ่ม … Continue reading เป็นต้น สาเหตุที่ทั้ง 2 คดีใช้ระยะเวลานานก็เนื่องมาจากการที่ศาลเปิดโอกาสให้คู่ความได้โต้แย้งกันตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลอุทธรณ์[8]ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/12 วรรคสาม ตอนท้าย. โดยในคดี Mazda ข้างต้นพบว่าเดิมศาลชั้นต้นจะไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่ม แต่ผู้บริโภคที่เสียหายโต้แย้งไปยังศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ก็ให้รับเป็นคดีแบบกลุ่ม[9]มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), “เฮ! ศาลอุทธรณ์ รับ คดี ‘มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ – ดีเซล’ เป็นคดีกลุ่ม”, 28 เมษายน 2563, … Continue reading แต่ในคดีของกระทะโคเรียคิงนั้นตรงข้ามกับคดี Mazda อย่างสิ้นเชิง โดยพบว่าศาลชั้นต้นนั้นรับไว้เป็นคดีแบบกลุ่มแต่แรก แต่เนื่องจากผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาล จึงได้โต้แย้งไปยังศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ก็ยืนยันให้รับเป็นคดีแบบกลุ่ม
หลักเกณฑ์ของศาลไม่แน่นอน
นอกจากการพิจารณาว่าเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ของศาลจะกินระยะเวลานานแล้ว การวินิจฉัยของศาลยังมีความไม่แน่นอนด้วย กรณีตัวอย่างเช่นการฟ้องค่ายโทรศัพท์ 3 ค่ายใหญ่ (ในขณะนั้น) คือ TRUE DTAC และ AIS เรื่องการคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาที ซึ่งทั้ง 3 คดียื่นฟ้องพร้อมกันด้วยความเสียหายเดียวกัน ต่างกันแค่จำเลยทั้ง 3 เท่านั้น แต่ผลของการพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ของศาลนั้นไม่เหมือนกันเลย
- ในคดีของ TRUE ได้มีการไกล่เกลี่ยกันนอกชั้นศาลในช่วงเดือนมิถุนายน 2019[10]โสภณ หนูรัตน์, สัมภาษณ์, 28 สิงหาคม 2023.โดยทางผู้ให้บริการยินยอมจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เสียหาย คดีจึงจบไป
- ในคดีของ AIS ศาลชั้นต้นรับเป็นคดีแบบกลุ่ม แต่ในวันที่ 3 สิงหาคม 2021 อุทธรณ์ตัดสินไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่ม โดยศาลอ้างว่า ‘การดำเนินคดีแบบกลุ่มนั้นไม่ได้ให้ความเป็นธรรมและไม่ได้มีประสิทธิภาพไปมากกว่าการดำเนินคดีทั่วไป นอกจากนี้ยังกล่าวเลยไปถึงการคำนวณค่าเสียหายที่ผู้เสียหายร้องขอต่อศาลว่าไม่ได้มีหลักการและวิธีการคำนวณที่แน่นอน โดยศาลกล่าวว่าผู้เสียหายต้องเป็นผู้ชี้แจงว่าค่าบริการที่เก็บเกินไปมีทั้งหมดเท่าไร หากดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างคดีผู้บริโภคทั่วไป ภาระหน้าที่นี้จะเป็นของผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้เสียหายมากกว่า และที่สำคัญ ศาลให้เหตุผลที่ไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่มว่าผู้ให้บริการมีการคิดค่าโทรศัพท์เป็นวินาทีเป็นโปรโมชั่นหนึ่ง และผู้ใช้บริการสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือเปลี่ยนไปใช้ค่ายโทรศัพท์อื่นได้ตลอดเวลา’[11]มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), “คดีฟ้องกลุ่มเอไอเอส ศาลตัดสินไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีกลุ่ม แจงไม่ระบุวิธีคำนวณค่าเสียหายตามเงื่อนไข”, … Continue reading
- และสุดท้าย คดีของ DTAC ศาลชั้นต้นมีคำตัดสินไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่ม และในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2021 ศาลอุทธรณ์ก็ยืนยันคำตัดสินของศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลว่าการคิดค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายนั้นไม่สามารถคิดเหมือนกันได้ เนื่องจากผู้เสียหายบางคนได้รับส่วนลดจากผู้ประกอบการ และศาลต้องพิจารณาผู้ใช้บริการที่มารวมตัวกันฟ้องรายบุคคลว่าได้ถูกกระทำละเมิดหรือผิดสัญญาจริงหรือไม่ และค่าเสียหายของผู้เสียหายแต่ละรายเป็นเท่าไร และสุดท้ายศาลก็ยังคงยืนยันว่า ‘การดำเนินคดีแบบกลุ่มมิได้เป็นธรรมหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีสามัญ’[12]มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), “ซ้ำรอยเดิม! ศาลตัดสินไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีกลุ่ม คดีฟ้องกลุ่มดีแทค … Continue reading
ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาที่ศาลใช้หรือคำตัดสินของศาลจะเห็นว่าขาดทั้งความรวดเร็วและความแม่นยำ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากระบบยุติธรรมไทยที่ใช้การศึกษาคำตัดสินจากฎีกาก่อนหน้า เมื่อเกิดกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ๆ ศาลจึงขาดหลักพิง ซ้ำยังไม่มีคู่มือในการดำเนินกระบวนพิจารณาให้ศาล ศาลจึงต้องอาศัยการตีความเอง
นอกจากนี้ แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้มีเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มในการดำเนินกระบวนพิจารณา เนื่องจากการดำเนินคดีแบบกลุ่มใช้ระบบไต่สวน ไม่ใช่ระบบกล่าวหาอย่างคดีแพ่งปกติ จึงต้องการผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือ แต่ในปี 2022 กลับพบว่ายังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มเลย แต่อาศัยเจ้าพนักงานคดีผู้บริโภคมาช่วยในกระบวนพิจารณา[13]จิณณะ แย้มอ่วม, “ทนายความกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มภาคปฏิบัติ”, … Continue reading
การเริ่มพิจารณาคดีแบบกลุ่มมีต้นทุนสูง
เมื่อศาลรับคดีใดเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้โจทก์นำเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแบบกลุ่มมาให้ศาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง[14]ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/14 วรรคแรก. ซึ่งเงินค่าใช้จ่ายเหล่านั้น โดยหลักแล้วเป็นค่าใช้จ่ายในการประกาศรับเป็นคดีแบบกลุ่มของศาลลงหนังสือพิมพ์ และค่าส่งคำตัดสินของศาลให้แก่ผู้เสียหายในกลุ่มนั้น ซึ่งเงินทั้งสองส่วนนี้ เมื่อลองนำมาคำนวณในกรณีที่มีผู้เสียหาย 20 คน และการประกาศลงหนังสือพิมพ์ใช้เงิน 33,000 บาท/วัน ก็จะรวมเป็นเงินถึง 106,000 บาท
จะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายส่วนมากที่โจทก์ต้องนำมาให้ศาลนั้น เป็นค่าประกาศลงหนังสือพิมพ์ ซึ่งการคิดค่าประกาศลงหนังสือพิมพ์ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ในหนังสือพิมพ์ที่ใช้และบริเวณที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ด้วย กล่าวคือ ยิ่งใช้พื้นที่ในการประกาศมาก ก็ยิ่งเป็นภาระต่อโจทก์มาก และในทางปฏิบัติก็พบว่าการประกาศเรื่องนี้ลงหนังสือพิมพ์ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งขัดต่อหลักการของการฟ้องคดีแบบกลุ่มที่ต้องการลดภาระทางการเงินของผู้เสียหาย ดังที่ปรากฏในภาพ
การที่กฎหมายกำหนดให้ประกาศลงหนังสือพิมพ์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับรู้รับทราบนั้น เป็นเรื่องที่ดีในช่วงเวลาที่การฟ้องคดีแบบกลุ่มยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร (ปี 2011) ซึ่งในขณะนั้นสื่อออนไลน์ยังไม่เป็นที่นิยมนัก แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาวะสังคมในปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ไม่ใช่เรื่องที่ตอบโจทย์ของการประกาศสู่สาธารณะอีกต่อไป การประกาศลงหนังสือพิมพ์จึงไม่ใช่แค่ภาระทางด้านการเงินของโจทก์ แต่ยังแสดงถึงความล้าสมัยของกฎหมายอีกด้วย
ถึงแม้ว่าในปี 2016 จะมีการออกข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา เพื่อให้เผยแพร่คำสั่งให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มในพื้นที่อื่น เช่น ปิดประกาศไว้ที่ศาล หรือเว็บไซต์ของศาลหรือสำนักงานศาลยุติธรรม หรือวิธีการอื่นใดตามที่เห็นสมควรแล้ว[15]ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม พ.ศ. 2559 ข้อ 29 แต่การประกาศลงหนังสือพิมพ์ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำเนื่องจากถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และต่อให้ศาลจะไม่ได้กำหนดว่าเงินที่โจทก์ต้องนำมาให้ศาลในครั้งแรกต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ศาลต้องใช้ แต่หากเงินที่นำมาวางต่อศาลไม่เพียงพอ ศาลก็จะเรียกให้นำเงินมาวางเพิ่ม[16]ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/14 วรรคท้าย.
หากผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ไม่นำเงินค่าใช้จ่ายมาวางต่อศาลก็จะมีผลเสียตามมา กล่าวคือ หากไม่นำเงินมาวางต่อศาลภายใน 7 วันแรก ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่ม และให้ดำเนินคดีต่อไปอย่างคดีปกติ ในกรณีที่ศาลสั่งให้นำเงินมาวางเพิ่มก็อาจส่งผลร้ายกว่านั้น คือศาลจะถือว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์นั้นทิ้งฟ้อง[17]ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/14 วรรคท้าย. และสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาลต่อไป ทั้งนี้ ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลจะอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มคนอื่นเข้ามาแทนที่โจทก์ในกรณีทิ้งฟ้องก็ได้[18]ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/25.
นอกจากค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมาให้ศาลตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว การฟ้องคดีก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นเช่นเดียวกับการฟ้องคดีแบบทั่วไป อาทิ ค่าปรึกษาทนาย ค่าเดินทางไปศาลก่อนที่ศาลจะรับเป็นคดีแบบกลุ่ม แต่การพิจารณาคดีแบบกลุ่มที่ใช้ระยะเวลานาน รวมถึงการเปิดโอกาสให้คู่ความได้โต้แย้งกัน ย่อมนำมาสู่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าศาลต้องรับเป็นคดีแบบกลุ่ม ค่าใช้จ่ายแฝงเหล่านี้ก็เป็นต้นทุนที่โจทก์ต้องแบกรับภาระไว้ก่อนด้วย
อนึ่ง หากผู้เสียหายรวมตัวกันได้น้อยในตอนแรก ค่าใช้จ่ายของโจทก์เฉลี่ยต่อรายก็จะสูง เมื่อเป็นเช่นนี้ เป้าประสงค์ของการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่มุ่งช่วยเหลือกลุ่มผู้เสียหายที่ไม่มีทุนทรัพย์มากก็จะไม่สัมฤทธิ์ผล การจะช่วยเหลือผู้เสียหายที่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอจำต้องรวมผู้เสียหายให้ได้จำนวนมากเพื่อเฉลี่ยค่าใช้จ่ายให้ถูกลง แต่การจะรวมผู้เสียหายให้ได้กลุ่มใหญ่นั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากประเทศไทยเองก็ยังขาดศูนย์กลางที่คอยประสานและรวมตัวผู้เสียหายไว้ด้วยกัน
ผู้เสียหายขาดระบบประสานงานในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม
หากผู้เสียหายรวมตัวกันได้มาก ไม่ใช่แค่เรื่องภาระค่าใช้จ่ายรายบุคคลเท่านั้นที่จะลดลง แต่พื้นที่ในการกระจายข่าวเรื่องการฟ้องคดีก็จะมากขึ้นด้วย เพียงแต่ในประเทศไทย การรวมตัวผู้เสียหายยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไม่มีศูนย์กลางที่จะทำระบบนี้ขึ้นมา ซึ่งนั่นก็อาจทำให้ผู้เสียหายพลาดโอกาสตั้งแต่การเริ่มเป็นสมาชิกกลุ่มผู้เสียหายเพื่อติดตามการฟ้องคดี ไปจนถึงการรับเงินค่าชดเชยก็ได้
ผู้เสียหายไม่ทราบถึงการรวมตัวกันฟ้องคดีแบบกลุ่ม ทำให้มีผู้เสียหายตกหล่นและไม่ลดจำนวนคดีในศาล
การรวมตัวผู้เสียหายแบบออนไลน์นั้นเกิดขึ้นเฉพาะบางกรณีที่มีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคช่วยเหลือเท่านั้น และยังเป็นการรวมตัวที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว ไม่ใช่การรวมตัวตั้งแต่เริ่มกระบวนการแต่อย่างใด
เมื่อไม่มีศูนย์กลางในการกระจายข่าวสาร ก็นำไปสู่กรณีที่ผู้เสียหายบางรายไม่ทราบเรื่องการรวมตัวกันฟ้องคดีแบบกลุ่มแต่แรก และแยกไปฟ้องเป็นคดีเอง จริงอยู่ที่การฟ้องคดีในปัจจุบันนั้นทำได้ง่ายดายและสะดวกมากขึ้น เพียงแต่การฟ้องคดีเองก็เป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ให้กับผู้เสียหาย ทั้งในเรื่องเวลาและเงิน การได้รับเงินชดเชยก็อาจจะได้รับไม่เท่ากับผู้เสียหายที่รวมกันฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม นอกจากนี้ การที่ผู้เสียหายหลายรายไม่ทราบถึงการรวมตัวกันฟ้องคดีและแยกไปฟ้องคดีเอง ย่อมทำให้คดีในศาลนั้นมีจำนวนมากขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว การกล่าวว่าการนำกระบวนการพิจารณาคดีแบบกลุ่มมาใช้จะทำให้คดีในศาลลดลงก็ไม่เกิดขึ้นจริง
องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคช่วยเป็นโจทก์ได้ยากทำให้พยานหลักฐานในชั้นศาลมีน้ำหนักน้อยกว่า
การจะเป็นโจทก์ในการฟ้องคดีแบบกลุ่มนั้น กฎหมายได้กำหนดคุณสมบัติสำคัญไว้ว่าโจทก์ต้องเป็นสมาชิกกลุ่มที่มีทั้งคุณสมบัติในการเป็นโจทก์ ซึ่งหมายถึงตัวแทนในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม มีส่วนได้เสียในความเสียหายของสมาชิกกลุ่ม และสุดท้ายคือต้องได้สิทธิในการเป็นสมาชิกกลุ่มมาโดยชอบ[19]ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/12 วรรคแรก (5). ถ้าหากต้องการให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคมาช่วยเป็นโจทก์ให้ เพื่อให้คำร้องและพยานหลักฐานมีน้ำหนักมากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ศาลต้องตีความว่าองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคนั้นสามารถเป็นโจทก์ได้หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้อนุญาตไว้โดยตรง
อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี การให้หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์แทนผู้เสียหายในคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มนั้นเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจเอาไว้[20]จุฑามาศ วัฒนะศิริขจร “ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีผู้บริโภค”, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, 9 มีนาคม 2555.
การประกาศให้รับค่าชดเชยขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ ผู้เสียหายบางรายอาจไม่ทราบและไม่ได้รับค่าชดเชย
จากคำพิพากษาคดี Mazda 2 ที่ปรากฏในสื่อ พบว่าศาลได้พิพากษาให้การจ่ายเงินชดเชยนั้นเป็นเรื่องของผู้ประกอบการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต้องดำเนินการเอง โดยศาลจะกำหนดเพียงระยะเวลาที่ผู้เสียหายสามารถรับเงินชดเชยได้เท่านั้น ซึ่งการที่ผู้เสียหายต้องติดตามจากผู้ประกอบการเอง นั่นอาจทำให้การได้รับค่าชดเชยไม่ทั่วถึง
ในสหรัฐอเมริกาการรับเงินชดเชยจากการฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มได้มีการรวบรวมไว้เป็นเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวยังระบุถึงคดีที่ยังมีการเปิดให้รับเงินชดเชย คดีที่จบไปแล้ว และคดีที่ยังอยู่ในกระบวนการของศาลด้วย
นอกจากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น การขาดการประสานงานระหว่างผู้เสียหายยังมีผลอื่นที่ตามมาด้วย เช่น ผู้เสียหายไม่ทราบเรื่องการนัดไต่สวนหรือนัดสืบพยาน ผู้เสียหายไม่ทราบความคืบหน้าของคดี ไปจนถึงเรื่องที่กฎหมายกำหนดกรอบเวลาเอาไว้ เช่น การกำหนดวันเพื่อให้สมาชิกแจ้งความประสงค์ออกจากกลุ่มตามประกาศที่ต้องส่งให้สมาชิกกลุ่มเท่าที่ทราบเมื่อศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว[21]ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/15. ซึ่งหากขาดการติดต่อประสานงานระหว่างสมาชิกกลุ่มก็จะออกจากการเป็นสมาชิกไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น[22]ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/16 วรรคสอง. ซึ่งหากมีแพลตฟอร์มกลางเพื่อช่วยเหลือในเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้สมาชิกทราบถึงความคืบหน้าในคดีแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ต่อโจทก์และสมาชิกกลุ่มในส่วนการติดต่อประสานงานไปจนถึงการคำนวณค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในกระบวนพิจารณาคดีด้วย
พัฒนาการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ขยายความคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค
1. ทำให้หลักเกณฑ์การรับคดีแบบกลุ่มของศาลชัดเจน
จากการที่ศาลไม่มีคู่มือการดำเนินงานหรือระเบียบการรับเป็นคดีแบบกลุ่ม ทำให้การพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ใช้เวลานานและไม่มีความแน่นอน หากมีระเบียบคู่มือให้ศาลปฏิบัติเพื่อให้ศาลเกิดความเข้าใจเรื่องของคดีแบบกลุ่มมากขึ้น การพิจารณาคดีของศาลก็จะใช้เวลาน้อยลงและมีความแน่นอนมากขึ้น ไม่ต้องรอให้มีการตัดสินคดีก่อนหน้าเพื่อเป็นหลักให้ศาล
นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดขอบเวลาที่ชัดเจนในการพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ เพื่อป้องกันการโต้แย้งซึ่งใช้เวลานานของโจทก์และจำเลย และเพื่อให้การพิจารณาคดีในขั้นต่อไปสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น และในทางที่ดีที่สุด ศาลก็จะไม่เกิดคดีค้างปีด้วย
2. ทำให้ผู้เสียหายเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
แม้ว่าในปัจจุบัน กฎหมายจะกำหนดให้สามารถประกาศในสื่อออนไลน์หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ แต่การลงหนังสือพิมพ์ก็ยังเป็นสิ่งที่โจทก์ต้องทำเนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น ควรแก้ตัวบทกฎหมายให้การประกาศลงหนังสือพิมพ์เป็นทางเลือกหนึ่งมากกว่าบังคับให้โจทก์ต้องทำ ทั้งนี้ก็เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องนำไปให้ศาลเมื่อศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว และเพื่อให้กฎหมายสอดคล้องกับสภาวะทางสังคมในปัจจุบันด้วย
ด้านหนึ่ง การที่กฎหมายกำหนดให้โจทก์มีเวลารวบรวมเงินเพื่อนำไปให้ศาลแค่ 7 วันนั้นเป็นเวลาที่น้อยเกินไป ส่งผลให้การจะฟ้องคดีผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ต้องมีทุนทรัพย์พอสมควร และยังทำให้ผู้เสียหายในกรณีอื่นที่มีทุนทรัพย์น้อยไม่กล้ารวมตัวกันไปฟ้องคดีต่อศาล ดังนั้น หากเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์มีเวลารวบรวมทั้งเงินมากขึ้น ก็จะเป็นการช่วยเหลือโจทก์ที่เป็นผู้เสียหายในคดีนั้นๆ และยังทำให้ผู้เสียหายในคดีอื่นที่กำลังจะเริ่มฟ้องคดีมีความกล้าฟ้องคดีมากขึ้นแม้ทุนทรัพย์จะน้อย
3. จัดทำระบบรวบรวมผู้เสียหาย
การรวบรวมผู้เสียหายที่ไม่เป็นระบบทำให้ผู้เสียหายขาดโอกาสได้รับการชดเชย และยังทำให้การติดต่อประสานงานระหว่างผู้เสียหายในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการมีแพลตฟอร์มกลางจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงในการตกหล่นของผู้เสียหาย เพิ่มโอกาสให้ผู้เสียหายและบุคคลภายนอกได้เข้ามาเห็นความคืบหน้าของคดี และยังทำให้การประกาศรับเงินค่าชดเชยไม่ไปตกเป็นภาระของผู้ประกอบการที่แพ้คดี แต่เป็นภาระของรัฐที่ต้องอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้
ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่มของไทยโดยเฉพาะในคดีผู้บริโภคต้องเปิดช่องให้องค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนด้วย ด้วยเหตุนี้ ไม่เพียงแค่พยานหลักฐานจะมีน้ำหนักมากขึ้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคได้ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในทุกกระบวนการด้วย
↑1 | “การดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตามข้อเสนอร่างแก้ไขวิธีพิจารณาความแพ่ง”, iLaw, มกราคม 30, 2015, สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2566. |
---|---|
↑2 | หนังสือรายงานสถิติคดีของศาลยุติธรรมแยกตามปีพุทธศักราช, สำนักงานศาลยุติธรรม. |
↑3 | มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 มกราคม 2545. |
↑4 | นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ , “ “การดำเนินคดีแบบกลุ่ม”: ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่มของไทยและบทบาท “ใหม่” ของศาล”, วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 40 ฉบับที่ 2 , มิถุนายน, 2011. |
↑5 | ระบบสารสนเทศด้านนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2566. |
↑6, ↑9 | มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), “เฮ! ศาลอุทธรณ์ รับ คดี ‘มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ – ดีเซล’ เป็นคดีกลุ่ม”, 28 เมษายน 2563, สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2566. |
↑7 | มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), “ผู้บริโภคเฮ! ศาลสั่งรับ “คดีกระทะโคเรียคิงโฆษณาเกินจริง” เป็นคดีกลุ่ม โดยกำหนดเงื่อนไขให้เฉพาะกลุ่มที่ซื้อกระทะภายใน 17 พ.ค. 60 และยังไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหาย”, 25 กุมภาพันธ์ 2565 สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2566. |
↑8 | ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/12 วรรคสาม ตอนท้าย. |
↑10 | โสภณ หนูรัตน์, สัมภาษณ์, 28 สิงหาคม 2023. |
↑11 | มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), “คดีฟ้องกลุ่มเอไอเอส ศาลตัดสินไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีกลุ่ม แจงไม่ระบุวิธีคำนวณค่าเสียหายตามเงื่อนไข”, 18 สิงหาคม 2564 สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2566. |
↑12 | มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), “ซ้ำรอยเดิม! ศาลตัดสินไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีกลุ่ม คดีฟ้องกลุ่มดีแทค คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที”, 3 พฤศจิกายน 2564, สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2566. |
↑13 | จิณณะ แย้มอ่วม, “ทนายความกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มภาคปฏิบัติ”, เอกสารประกอบงานสัมมนา“ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายในตลาดทุน (Class Action)” โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, 18 กรกฎาคม 2565, สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566. |
↑14 | ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/14 วรรคแรก. |
↑15 | ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม พ.ศ. 2559 ข้อ 29 |
↑16, ↑17 | ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/14 วรรคท้าย. |
↑18 | ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/25. |
↑19 | ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/12 วรรคแรก (5). |
↑20 | จุฑามาศ วัฒนะศิริขจร “ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีผู้บริโภค”, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, 9 มีนาคม 2555. |
↑21 | ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/15. |
↑22 | ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/16 วรรคสอง. |