ไปด้วยกัน ไปได้ไกล: ตีโจทย์เมืองยุคใหม่ ไม่ให้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

101 PUB

15 January 2024

‘เมือง’ ต่างๆ ในประเทศไทยตอบโจทย์ใครบ้าง?

เมื่อฟังเสียงเรียกร้องว่าด้วย ‘เมือง’ ในโลกออนไลน์ ดูเหมือนเมืองต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร เมืองใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ หรือเมืองรอง จะตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนน้อยกลุ่มเหลือเกิน คนจนเมืองยังหวังจะมีคุณภาพชีวิตดีกว่านี้ ผู้สูงอายุยังต้องการความช่วยเหลือเพื่อพึ่งพาตัวเอง เยาวชนยังรอการสนับสนุนเพื่อมุ่งหน้าสู่อนาคต ผู้หญิงยังต้องการความปลอดภัย กระทั่งมนุษย์เงินเดือนที่การเงินมั่นคงดี ก็ยัง ‘มี’ ไม่พอจะลงหลักปักฐาน

“เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?” เป็นคำถามที่ต้องตอบให้ชัดเจนก่อนไปต่อ เพราะอัตราเร็วของการเปลี่ยนแปลงในโลกศตวรรษที่ 21 สูงจนชวนใจหาย หากไม่ชะลอฝีเท้าสักนิดเพื่อทำความเข้าใจปัญหาของเมืองในปัจจุบัน และกวาดตาหาจุดอ่อนที่ซ่อนอยู่ก่อนไล่กวดกระแสการพัฒนาเมืองใหม่ ‘คน’ ในเมืองที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอยู่เดิมจะยิ่งถูกทิ้งห่างออกไป

ร่วมตีโจทย์ ตอบอนาคตของเมืองแห่งศตวรรษใหม่โดย อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, สุเมธ องกิตติกุล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา โดยมี ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) ร่วมกับ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการ The101.world เป็นผู้ชวนเสวนา

งานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเป็นเวทีที่ห้า ในซีรีส์เสวนาสาธารณะ Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ ซึ่งเป็นเวทีเสวนาสาธารณะที่จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากคนในแวดวงที่หลากหลาย เพื่อร่วมกำหนดโจทย์ใหม่ประเทศไทยและระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับบริบทโลกใหม่ จัดโดย 101 PUB และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ร่วมตีโจทย์นโยบายและโจทย์วิจัย เพื่อตอบอนาคตสังคมเศรษฐกิจไทย และหาคำตอบว่าเมื่อโลกเปลี่ยน ประเทศไทยเปลี่ยน โจทย์นโยบายและโจทย์วิจัยควรเปลี่ยนไปอย่างไร

หมายเหตุ: เรียบเรียงผ่านการเก็บความจากงานเสวนา  Research and Policy Dialogue: ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ #5: ‘เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’

อย่าใช้ ‘การไหลริน’ ของความเจริญเป็นตัวตั้งในการสร้างเมือง — อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

อภิวัฒน์ รัตนวราหะ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลือกตอบคำถามว่าเมืองในปัจจุบันทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วยการมองไปข้างหน้า สำหรับเขา เมืองทั้งหลายมุ่งหน้าสู่การเป็นเมืองดิจิทัล ภายใต้แนวคิดที่หลายคนได้ยินบ่อยครั้งคือเมืองอัจฉริยะ (Smart City) พร้อมกับที่เป็นเมืองแห่งความยั่งยืน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แม้เขาจะเตือนว่า ‘ความยั่งยืน’ ที่ว่านั้น ต้องแผ่ไปไกลกว่าขอบเขตของเมือง

“เราต่างรู้ว่าเมืองเป็นแหล่งเผาผลาญทรัพยากร วัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้สร้างเมืองไม่ได้มาจากตรงนี้เลย น้ำ อากาศ ดิน หิน ทราย มาจากที่อื่นทั้งหมด จึงกล่าวได้ว่าเมืองแผ่ไปทั้งโลกแล้ว แค่อาจไม่ได้เป็นตึกรามบ้านช่อง เพราะเราดึงทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ ดังนั้น ผมไม่ได้มองแค่จะทำอย่างไรให้ ‘ตัวเมือง’ มีประสิทธิภาพ แต่จะทำอย่างไรให้ ‘ห่วงโซ่’ การใช้ทรัพยากรของเมืองมีประสิทธิภาพ เมืองส่วนที่แผ่ไปถึงทะเลก็มี อย่างในการลอยกระทงครั้งที่ผ่านมา การมองว่าจะใช้โครงสร้างพื้นฐานในเมืองอย่างไรไม่พอแล้ว เราต้องถามด้วยว่าทรัพยากรทั้งหลายมาจากไหน และขยะของเราไปไหน”

“แล้วใครล่ะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในเมืองแบบนี้” อภิวัฒน์ถามต่อไป ก่อนจะยกตัวอย่างที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง คือผู้เลี้ยงชีพด้วยการขายขยะที่มักเข้าไม่ถึงสวัสดิการ เมื่อจำนวนขยะที่รีไซเคิลได้ลดลง คนกลุ่มนี้ย่อมได้รับผลกระทบโดยไร้การเยียวยา โจทย์ใหญ่ที่สุดโจทย์หนึ่งของเมืองในอนาคต จึงเป็นการใช้ ‘ความเป็นธรรม’ นำทางการพัฒนาเมือง

“ที่ผ่านมาเราใช้หลักการอรรถประโยชน์นิยมเป็นหลัก เราพยายามบอกว่าอะไรก็ตามที่เราพัฒนาในเมืองเป็นประโยชน์ส่วนรวม แต่ผมคิดว่าคำนี้เป็นมายาคติ เราไม่เคยสรุปให้ชัดเจนว่าประโยชน์ส่วนรวมคืออะไร การสร้างทางด่วน สวนสาธารณะ ทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น ประเทศไทยไปข้างหน้าได้ แต่ใครได้ประโยชน์จากประโยชน์ส่วนรวมที่เรากำลังสร้างบ้าง ทุกอย่างเกิดจากแนวคิดการไหลริน สร้างโน่นสร้างนี่ไปเดี๋ยวคนจนก็ได้ประโยชน์เอง ตราบใดที่เมืองโตขึ้น ตึกรามบ้านช่องดีขึ้น ถนนสวยขึ้น สวนเขียวขึ้น เราก็ทึกทักเองว่าดี ซึ่งแน่นอนว่างานวิจัยของเราไม่มีทางตาม (การพัฒนาเมือง) ทันหรอก เราต้องก้าวกระโดดด้วยความเชื่อมาตลอด แต่ถ้าจะมองไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน เราต้องคิดถึงหลักความเป็นธรรมมากกว่านี้”

อภิวัฒน์บอกว่าบางครั้งผู้ศึกษาการออกแบบผังเมืองเรียกตัวเองว่า ‘น้ำมันหล่อลื่นของทุนนิยม’ เพราะตอบได้ไม่เต็มปากว่าอาคารและทางด่วนที่ตนสร้างเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจริงหรือไม่นั่นเอง  

ยิ่งกว่านั้น งานวิจัยว่าด้วยความเป็นธรรมในการพัฒนาเมืองยังมีน้อยมาก โดยอภิวัฒน์ชี้ว่าข้อควรระวังในการดำเนินการวิจัย คือต้องแยกการแก้ไขปัญหาความยากจนจากการส่งเสริมความเป็นธรรมด้วย เพราะตราบใดที่กลุ่มทุนหรือเมืองยังเติบโตในอัตราสูงกว่าประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาส แปลว่าความเป็นธรรมไม่เกิดขึ้น แม้จะแก้ไขความยากจนได้บ้างก็ตาม ขณะเดียวกัน การนิยาม ‘ความเป็นธรรม’ ให้ชัดเจนในหมู่นักวิจัยก็จำเป็น

“บางทีเราก็หมกมุ่นกับวิธีวิจัยที่เราถนัด เราจะมีวิธีวิจัยที่คิดว่าตอบโจทย์การวิจัย ซึ่งไม่ได้ผิด แต่ถ้าจะตอบโจทย์เชิงนโยบายด้วย เราต้องถามตัวเองว่าจุดยืนด้านความเป็นธรรมของเราอยู่ที่ไหน ไม่อย่างนั้นงานวิจัยของเราอาจกลายเป็นการตอบโจทย์นายทุนไป” อภิวัฒน์กล่าว พร้อมเสนอว่าโจทย์วิจัยควรตั้งคำถามว่าสัดส่วนของผู้ด้อยโอกาสที่ได้ประโยชน์จากองค์ความรู้และโครงการนั้นๆ มีมากกว่าสัดส่วนของชนชั้นกลางและคนรวยมากน้อยเพียงใด

อภิวัฒน์บอกว่าบททดสอบสำคัญของการสร้างเมืองที่เป็นธรรม คือ ‘การเมือง’ โดยเฉพาะในการสร้างเสริมแนวคิดชุมชนนิยม (communitarianism) และการสร้างทรัพย์สินส่วนรวม เพราะย่อมผลักดันการนำทรัพยากรที่คนรวยเคยใช้ไปจัดสรรปันส่วนใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนจนได้ยาก โดยทางออกหนึ่งเชิงการวิจัยและนโยบาย คือการสนับสนุนให้มีทรัพย์สินสาธารณะในเมืองมากขึ้น ทรัพย์สินที่ว่านี้ไม่ใช่เพียงพื้นที่สาธารณะ แต่รวมถึงห้องสมุดประชาชน อินเทอร์เน็ตที่ไม่เก็บค่าใช้จ่าย และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ สำหรับทุกคน โดยทรัพย์สินนั้นต้องไม่ถูกตีตราว่าเป็นของผู้ด้อยโอกาส

“คนต้องไม่คิดว่าเพราะฉันจนฉันจึงได้รับสิ่งนี้ รถเมล์อย่างนี้เป็นของคนจนหรือ ทั้งที่จริงๆ ทุกคนต้องขึ้นได้ และคิดว่ามันดีพอ ที่อยู่อาศัย ถ้าคิดว่าเป็นของเฉพาะสำหรับคนจน คุณภาพก็จะต่ำ แต่เคหะสาธารณะ (public housing) ในประเทศอื่นไม่ได้แย่ เพราะไม่ได้จำกัดกลุ่มเป้าหมายให้เป็นคนกลุ่มหนึ่งของสังคมเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งที่ฉุดรั้งการวิจัยเพื่อพัฒนาเมืองที่เป็นธรรมในไทย โดยเฉพาะนอกเมืองหลวง คือการมีข้อมูลเกี่ยวกับเมืองที่ไม่ใช่กรุงเทพมหานครน้อยมาก อาทิ ข้อมูลการเดินทางของประชากรในเมืองรอง การผลิตงานวิจัยในสาขาวิชาที่ล้ำหน้าและมีลักษณะสหวิทยาการ เช่น วิทยาศาสตร์เมือง (urban sciences) จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย ทั้งที่ความก้าวหน้าในการพัฒนาเมืองในปัจจุบันไปถึงการผสมผสานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และมนุษยศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจเมืองแล้ว “เรามีแต่ขยะข้อมูล เอาขยะใส่เข้าไป ก็ได้แต่ขยะออกมา จะสัมผัสฟ้าได้ก็ต้องซับน้ำตาก่อน”

ทั้งนี้ สุเมธ องกิตติกุล จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเสริมว่า ‘ขอบเขต’ ของเมืองในไทยไม่ชัดเจนอีกด้วย ยากต่อการกำหนดหัวข้อการวิจัยที่แม่นยำ โดยปัจจุบัน นักวิจัยใช้เขตการปกครองเพื่อกำหนดขอบเขตของเมืองเป็นหลัก ซึ่งหลายครั้งไม่สอดคล้องกับสภาพจริง เช่น เมืองนั้นเป็นเมืองขยายที่มีลักษณะเป็นเมืองเลยเขตเทศบาลเมืองไป หรือความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานครที่ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัด โดยที่บางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครไม่อาจนับเป็นเมืองได้

ด้วยเหตุนี้ อภิวัฒน์จึงเห็นความจำเป็นของการกระจายความสามารถในการวิจัยให้ครอบคลุมโจทย์หลากหลายในประเทศ เพราะความไม่เป็นธรรมอีกรูปแบบหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทนั้น จะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองที่เติบโตกับเมืองที่หดตัวในอนาคต โดยเขาพบว่าร้อยละ 65 ของประชากรไทยอาศัยอยู่ในเมืองที่หดตัว แต่งบประมาณส่วนมากกลับถูกทุ่มให้การแก้ไขปัญหาความแออัดในเมืองที่เติบโตแล้ว ทั้งที่การจัดการเมืองที่หดตัวเป็นโจทย์ใหญ่ระดับโลก ทั้งนี้ อภิวัฒน์ยังเห็นความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างปริมาณงานวิจัยและการเติบโตของเมืองนั้นๆ

“ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองเริ่มต้นตั้งแต่การเลือกเมืองเพื่อทำวิจัยเลย ถ้าคนคิดว่าเมืองนั้นๆ สำคัญเพราะมีงานวิจัยเยอะ นโยบายก็จะตามไป หลายเมืองที่เราละเลยในงานวิจัยล้วนเป็นเมืองที่หดตัว เช่น กำแพงเพชร แทบจะนึกไม่ออกเลยว่าใครทำงานวิจัยเกี่ยวกับกำแพงเพชรบ้าง หรือเมืองที่เคยรุ่งเรืองอย่างทุ่งสงก็มีงานวิจัยน้อยมาก ซึ่งเมืองก็หดขนาดลงเรื่อยๆ” อภิวัฒน์อธิบาย “การวิจัยก็เป็นการสะสมทุนรูปแบบหนึ่ง การไปวิจัยก็เหมือนการลงทุน ยิ่งต้องลงทุนไปที่เดิม เพราะยิ่งวิจัยลึกลงไปยิ่งดี แต่ก็เท่ากับเราละเลยพื้นที่อื่นๆ ไป”

อย่างไรก็ตาม เขายังเห็นโอกาสในวิกฤตนี้ เพราะการเปลี่ยนผ่านเมืองรองเหล่านี้สู่การเป็นเมืองดิจิทัลที่ยั่งยืนย่อมใช้งบประมาณน้อยกว่าการเปลี่ยนผ่านกรุงเทพมหานครที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 25 ปี “ผมกลับมองว่าเมืองที่หดตัวคืออนาคตของไทย” อภิวัตน์บอก

กระนั้นก็มีกับดักที่มองข้ามไม่ได้ในการยกระดับเมืองรอง คือแนวคิด ‘กรุงเทพภิวัตน์’ หรือการผลักดันเมืองไปในทิศทางเดียวกับกรุงเทพมหานคร ทั้งที่แต่ละเมืองมีความต้องการและข้อจำกัดต่างกันไป อาทิ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีรูปแบบแตกต่างจากของเมืองหลวง โดยอาจเน้นพัฒนาแพลตฟอร์มเรียกรถที่ตอบโจทย์การเดินทางไปโรงพยาบาลของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ “เราถูกความเป็นอาณานิคมของกรุงเทพฯ ครอบงำ ก็ปลดปล่อยตัวเองแล้วกัน ทุกพื้นที่มีโอกาสและปัญหา แต่อาจยังขาดความสามารถในการปรับตัว จึงเป็นโจทย์ต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่เหล่านั้นมีโอกาสสร้างองค์ความรู้และพัฒนาตัวเอง”

หนึ่งในวิธี ‘เปิดโอกาส’ ของอภิวัฒน์คือการปันส่วนทุนวิจัยอย่างเหมาะสม ไม่จำกัดอยู่แต่ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพมหานคร โดยหากเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับเมืองรอง เช่น หนองบัวลำภู ผู้ได้รับทุนวิจัยก็ควรอยู่ในพื้นที่ และอาจลดบทบาทของผู้วิจัยในเมืองหลวงลงเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือในกรณีที่จำเป็น ทั้งนี้ แวดวงนักวิจัยเองต้องมองหาระเบียบวิธีวิจัยที่สอดคล้องกับโจทย์ที่แตกต่างกันด้วย เพื่อให้งานวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ และต่อยอดเป็นนโยบายพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพได้จริง

อย่าเป็นเมืองสวย น้ำใส ที่ ‘ขับ’ คนจนไปจนพ้นสายตา — ชาตรี ประกิตนนทการ

เมื่อถามว่าการพัฒนาเมืองในปัจจุบันมุ่งตอบโจทย์ใครกันแน่ ชาตรี ประกิตนนทการ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตอบทันทีว่า “ชนชั้นกลางขึ้นไป”

ชาตรีบอกว่าพื้นที่เมืองเก่าไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพมหานครเท่านั้น กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วยแนวคิด ‘การฟื้นฟูเมือง’ (urban revitalization หรือ urban rehabilitation) อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าคำเหล่านี้ปิดบังคุณลักษณะแท้จริงของแนวทางการพัฒนาเมืองเก่าจำนวนมาก ซึ่งดูจะเป็น ‘การแปลงเปลี่ยนชนชั้นของพื้นที่’ (gentrification) มากกว่า

“มันคือการเปลี่ยนแปลงพื้นที่หรือย่านในเมืองให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง นำไปสู่การกำจัดผู้มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำหรือคนชายขอบที่เคยอาศัยอยู่เดิม ถ้ารุนแรงมากก็จะทำให้เมืองไม่เป็นธรรม เหลื่อมล้ำ สนองประโยชน์คนกลุ่มเดียว” ชาตรีอธิบาย “โดยทั่วไปในกระบวนการนี้ คนจะสนใจตัวกระทำอย่างทุนนิยมและเอกชน แต่หลายประเทศเริ่มสนใจตัวกระทำใหม่คือรัฐ เพราะรัฐเห็นประโยชน์ และเริ่มก้าวเข้ามาหยอดนโยบายเพื่อเร่งกระบวนการนี้ ทั้งในจีน ฮ่องกง โปรตุเกส และหลายประเทศในลาตินอเมริกา”

โดยสาเหตุที่รัฐก้าวเข้ามานั้น คือการขจัดผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำจากเมืองเก่าด้วยวิธีนี้แนบเนียนและถูกต่อต้านน้อยกว่าการไล่รื้อและเวนคืนในอดีต อย่างไรก็ตาม ชาตรีไม่คิดว่าในกรณีประเทศไทย รัฐพยายามปิดบังการกระทำดังกล่าวของตน แต่อาจไม่รู้ว่าการกระทำนี้ส่งผลกระทบอย่างไร

เขาเล่าว่าประมาณ 40 ปีก่อน มีการย้ายหน่วยงานราชการจากพื้นที่เมืองเก่ากรุงเทพมหานครในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยให้เหตุผลว่าหน่วยงานราชการบริเวณดังกล่าวกระจุกตัวเกินไปจนแออัดและก่อมลพิษ ซึ่งแม้จะลดความแออัดได้จริง แต่ “การย้ายข้าราชการเป็นพันเป็นหมื่นคนออกไป ทำให้เศรษฐกิจระดับฐานรากหายไปด้วย จนเกิดการแปลงเปลี่ยนชนชั้นของพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว (tourism gentrification) เห็นได้ชัดเจนว่ากรุงเทพมหานครชั้นในเป็นอย่างนั้น คึกคักถึงสี่โมงครึ่ง จากนั้นก็เงียบ”

อีกผลกระทบโดยตรงต่อเขาและผู้คนที่ยังทำงานในพื้นที่คือการไม่มีอาหารอร่อยในราคาเอื้อมถึงได้ และอาหารราคาถูกก็มักมีคุณภาพหรือรสชาติไม่ดี เพราะผู้บริโภคส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวที่จะไปจากพื้นที่ในเวลาอันสั้น

ชาตรีบอกว่าหลังหน่วยงานราชการย้ายไป อาคารเก่าที่ไม่สวยงามนักจะถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่หรือเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ เช่น บริเวณป้อมพระสุเมรุ สวนนาคราภิรมย์ ฯลฯ ส่วนอาคารที่สวยงามหรือมีคุณค่าสูงจะถูกปรับเปลี่ยนการใช้สอย (adaptive reuse) เป็นพิพิธภัณฑ์หรือโรงแรมราคาสูง โดยบางพื้นที่เปิดให้ประมูล และกลายเป็นร้านกาแฟหรือโรงแรมขนาดเล็กที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น โดยนอกจากความพยายามย้ายหน่วยงานราชการ ชุมชนเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่หายไปจากพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะชุมชนของคนจนเมืองที่มีลักษณะแออัด ทั้งชุมชนป้อมมหากาฬ และชุมชนสะพานเหล็กที่พลิกโฉมจากแหล่งเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกเป็นคลองโอ่งอ่างที่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจร่วมกิจกรรมพายเรือคายัคในคลองได้ ชาตรีย้ำว่าทั้งหมดนี้ฟังดูดี แต่ทุกสิ่งย่อมมีข้อดีและข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นคลอง พิพิธภัณฑ์ หรือสวนสาธารณะ

“ขอเชื่อมโยงถึงงานวิจัยที่ไทยไม่ค่อยมี คือการแปลงเปลี่ยนชนชั้นของพื้นที่เพื่อสิ่งแวดล้อม (green gentrification) ซึ่งเกิดขึ้นด้วยบรรทัดฐานใหม่ที่ว่าโลกกำลังร้อนขึ้นและเมืองเสื่อมโทรมลงจึงต้องสร้างสวนธารณะ แต่เงื่อนไขในบางพื้นที่ก็ไม่เหมาะสม เพราะการสร้างสวนจะทำให้ค่าเช่าที่อยู่อาศัยสูงขึ้น เป็นที่หมายตาของกลุ่มทุนและบีบให้คนย้ายออก”

เขากล่าวถึงกรณีที่โด่งดังในต่างประเทศ คือไฮไลน์ (High Line) ในนิวยอร์กซึ่งเป็นสวนยาว 1.5 ไมล์ บนพื้นที่รกร้างข้างทางรถไฟย่านแมนฮัตตัน หลังเปิดใช้งานในปี 2009 ราคาที่ดินโดยรอบก็สูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 ทำให้มีผู้ย้ายออกจำนวนมาก นำไปสู่การจัดตั้งกลุ่ม PRADS (parks-related anti-displacement strategies) ผู้ศึกษาปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะ 

“ถ้าคุณติดตามข่าวการพัฒนาเมือง เราจะเห็นการยกตัวเลขบ่อยครั้งว่าสวนในเมืองของไทยไม่ถึงเกณฑ์ ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งจริง แต่เรามองใกล้ไปหน่อย ถ้าเราจะเพิ่มสวน เราต้องใส่ปัจจัยการแปลงเปลี่ยนชนชั้นลงไปด้วย ไม่ใช่ลืมคน ลืมความพยายามแบ่งเขต ลืมทุนนิยมที่พยายามหาโอกาส”

ไม่เพียงการขจัดผู้มีรายได้น้อยด้วยค่าเช่าที่อยู่อาศัย ชาตรีเห็นว่ากิจกรรมและสถาปัตยกรรมในพื้นที่เจ้าปัญหาเหล่านี้มุ่งตอบสนองวิถีชีวิตของชนชั้นกลางขึ้นไปหรือ ‘ชนชั้นสร้างสรรค์’ จนเกินควรอีกด้วย

“เรามีสวน เลนจักรยาน คลองสำหรับพายเรือคายัค พื้นที่ริมน้ำ และรถขายอาหาร ขณะเดียวกัน สิ่งที่หายไปจากพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่หย่อนใจในเมืองตอนนี้คือการตีไก่ การเล่นตะกร้อลอดห่วง การประกวดนกเขา การเล่นดอกไม้ไฟ และร้านนวดราคาถูก กิจกรรมเหล่านี้ถูกมองว่าไม่สวยงาม ไม่สะอาด ทำลายสนามหญ้า ดอกไม้ไฟอันตรายแน่นอน แต่ไม่จำเป็นต้องทิ้งไป หลายเมืองในญี่ปุ่นก็มีดอกไม้ไฟ”

ชาตรียังกล่าวถึงอีกหลายแนวคิดและกิจกรรมที่เขาต้องออกตัวว่า “พูดแล้วลำบากเพราะเพื่อนๆ จะเกลียด” กล่าวคือนโยบายและกิจกรรมเพื่อผลักดันเมืองเก่าเป็น ‘เมืองสร้างสรรค์’ ตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้หลายส่วนส่งผลดี แต่จำนวนมากและเขาคิดว่ามากกว่าครึ่งเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงฉาบฉวย ดึงนักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่พร้อมกับวิถีชีวิตของชนชั้นสร้างสรรค์

“ผมพูดเสมอว่ารากฐานที่แท้จริงของเมืองสร้างสรรค์คือเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ใช่กิจกรรม นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลีชื่อกุยโด ตาเบลลีนี (Guido Tabellini) เขียนบทความ “Creativity and Freedom” จากงานวิจัยที่ศึกษาว่าทำไมในประวัติศาสตร์ ศูนย์กลางวัฒนธรรมและศิลปะจึงขยับจากฟลอเรนซ์ไปปารีส ลอนดอน และนิวยอร์ก เหตุผลคือเมืองนั้นๆ มีเสรีภาพในการแสดงออกมากที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองร่วมสมัย ตราบใดที่เมืองไทยยังจับเจ้าของอาลัวพระเครื่อง เห็นคนสวมหัวโขนหยอดขนมครกแล้วโวยวาย ห้ามนักศึกษาเขียนภาพพระพุทธรูปอุลตราแมน ไทยจะไม่มีทางเป็นเมืองสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะระดมงบประมาณไปลงในกิจกรรมมากแค่ไหน”

สำหรับบทบาทของงานวิจัยในการบรรเทาปัญหาดังกล่าว ชาตรีเห็นว่าเป็นการเขย่าทัศนคติของสังคมต่อการแปลงเปลี่ยนชนชั้นของพื้นที่ ไม่ให้เห็นแต่แง่มุมเชิงบวก และไม่เห็นว่าเป็นธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงต้องศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของกระบวนการนี้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งในไทยและต่างประเทศ

“ตัวชี้วัดสำคัญคือการย้ายออกของคนในพื้นที่ ซึ่งงานวิจัยในไทยไม่เคยลงลึกเลย ย่านหนึ่งที่เราให้ความสนใจในฐานะย่านสร้างสรรค์คือย่านเจริญกรุง ตอนนี้มีแกลอรี มีอะไรมากมาย แต่มีใครศึกษาไหมว่าคนย้ายออกไปเท่าไร ผมว่ายังไม่มี อย่างน้อยก็ไม่เป็นรูปธรรม”

นอกจากเสนอผลกระทบแล้ว เขาเชื่อว่าหากโลกวิชาการสร้าง ‘แรงกระเทือน’ ต่อความเชื่อมั่นของชนชั้นสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นชนชั้นหลักที่สนับสนุนกระบวนการดังกล่าวย่อมจะเป็นประโยชน์มาก

“ย้อนกลับไปความสำเร็จเชิงนโยบายหรือวาทกรรมของรัฐ คือการแปลงผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งเป็นผลประโยชน์ส่วนรวม ต้องนับว่าเป็นผลสำเร็จทางความคิดด้วย ถ้าจะต่อสู้ เราต้องเผยให้เห็นว่า [การแปลงเปลี่ยนชนชั้นของพื้นที่] เป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มเดียว ด้วยงานวิจัยที่เผยให้เห็นโฉมหน้าของผู้ใช้ที่แท้จริงของเมือง”

เขาเองเชื่อว่าชนชั้นสร้างสรรค์มีเจตนาดี “แต่ตกอยู่ใต้วาทกรรมนั้นจึงเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่ากำลังออกเสียงเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ หรือทางเท้าที่เป็นระเบียบ แต่เราต้องเข้าไปเขย่าให้รู้ว่าสิ่งที่คุณพูด ภาษาที่คุณใช้ ทั้งหมดเป็นประโยชน์ของกลุ่มคุณต่างหาก”

ชาตรียกตัวอย่างกรณีสถานีรถไฟธนบุรี ซึ่งเดิมเป็นสถานีต้นทางของรถไฟสายใต้ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อผู้โดยสารเดินทางมาถึงก็จะขึ้นเรือต่อไปสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งไม่สะดวกอยู่เดิม และยิ่งทวีความไม่สะดวกเมื่อสถานีดังกล่าวกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

“คนตบมือทั้งเมือง แล้วก็ขยับสถานีนี้ออกไปอีกหน่อย เป็นอีกหน่อยแห่งความเจ็บปวดของการเดินทาง ไกลเกินกว่าจะเดิน ขึ้นมอเตอร์ไซค์ก็พะรุงพะรัง นั่งแท็กซี่ก็ใกล้เกินไป แต่ถูกกลบด้วยคำสรรเสริญเยินยอ ล่าสุดก็หัวลำโพง ที่จะยกเลิกแล้วสร้างเป็นอะไรทั้งหลาย เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ทำงาน ซึ่งพอจะชะลอได้บ้าง แต่ระยะทางจากจุดนี้ไปขึ้นรถไฟต่อก็ยังถ่างกว้างออกไปถึงบางซื่อ คนที่สนับสนุนก็คิดแค่ว่ามันเป็นภาษาสากลของการพัฒนาเมือง ไม่ได้คิดว่ามันทำร้ายหรือทำลายอะไร โจทย์ของการวิจัยคือหาว่าพวกเขาถูกหล่อหลอมมาอย่างไร”

ชาตรีทิ้งท้ายด้วยการหยิบยกแนวคิดการออกแบบเพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียม (universal หรือ inclusive design) ที่ต้องครอบคลุมขอบเขตกว้างขวางไปถึงการตอบโจทย์สุขภาพจิตของผู้อาศัย โดยเขาสนใจแนวคิดประสาทสถาปัตยกรรม (neuroarchitecture) ที่ผนวกรวมประสาทวิทยาศาสตร์กับการออกแบบ อาทิ การออกแบบโฉมหน้า (façade) ของเมืองที่ทำให้ผู้คนมีความสุขผ่านการใช้สีสันหลากหลาย เพราะหากสิ่งปลูกสร้างในเมืองมีลักษณะเป็นแบบแผนเดียวกันทั้งหมดจะสร้างความเครียดมากขึ้น จึงเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่มักพบในภาพยนตร์ดิสโทเปีย

“แต่คุณลองดูหนังคริสต์มาส เมืองจะดูมีความหลากหลาย ไม่ใช่นักออกแบบผังเมืองไม่รู้ แต่ศาสตร์นี้เข้ามาพิสูจน์ในระดับรายละเอียดว่ามันส่งผลจริง โรคซึมเศร้าส่วนหนึ่งก็เป็นผลของฮอร์โมน ศาสตร์นี้จะศึกษาความสูงของฝ้า ช่องเปิด ผิวสัมผัส ที่ลดปริมาณการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าได้ มันไม่ใช่สุนทรียภาพแบบเดิมๆ แต่ทำให้การออกแบบเมืองแก้ไขปัญหาของคนได้จริงๆ” ชาตรีกล่าวปิดท้าย

เมืองต้องอำนวยความสะดวกให้ ‘คน’ ไม่ใช่ ‘รถยนต์’ — สุเมธ องกิตติกุล

“หลายคนสับสนระหว่างการเดินทางของคนกับการเดินทางของรถ คิดว่าการจราจรคล่องตัวหมายถึงการเดินทางคล่องตัว ทั้งที่จริงๆ เป็นคนละเรื่องกันเลย” สุเมธ องกิตติกุล จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวเปิด

สุเมธเห็นว่าสังคมต้องคิดถึงการเคลื่อนที่ของเมือง (urban mobility) ซึ่งครอบคลุมวิธีเดินทางที่หลากหลายในการออกแบบระบบขนส่ง “สักปี 2000 ต้นๆ เราเริ่มเห็นปัญหาในการออกแบบเมืองโดยเฉพาะในระบบขนส่ง เรายังมองการเดินทางของคนในเขตเมืองเป็นการเดินทางของรถยนต์ ไม่ใช่ของคน การจัดการการขนส่งในเขตเมืองจึงเน้นบริหารการจราจรไม่ให้ติดขัด กลายเป็นติดกับดักนั้นไป หลายๆ ครั้งการออกแบบอาคาร กระทั่งที่ทำงานของผมเอง จะเห็นว่าไม่มีทางเข้าสำหรับคนเดินเท้าเลย มีเฉพาะถนนและพื้นผิวสำหรับนำรถยนต์เข้าสู่อาคาร เท่ากับทึกทักว่าทุกคนต้องขับรถเข้ามา”

สุเมธเห็นว่าปัจจุบันดูจะมีแต่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่เข้าใจปัญหานี้ จึงสร้างทางเชื่อมจากรถไฟฟ้าเข้าสู่อาคาร แต่ทางเชื่อมเหล่านี้ก็ยังไม่ครอบคลุมผู้เดินทางด้วยยานพาหนะอื่นๆ อาทิ รถประจำทาง น้อยห้างนักจะมีสถานที่สำหรับจอดรถประจำทางที่สะดวกและปลอดภัย

สำหรับเขา โจทย์ที่แท้จริงของการพัฒนาระบบขนส่งในเมืองไม่ใช่การหยุด ‘รถติด’ แต่เป็นการหยุด ‘คนติด’ อาจด้วยการออกแบบเมืองใหม่ที่กระจายความสะดวกให้หลากหลายวิธีเดินทาง และลดความสะดวกของผู้ใช้รถยนต์ลง ทั้งการเพิ่มค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้รถยนต์ และการทำให้การเดินทางด้วยวิธีอื่นสะดวกกว่า โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อคำนวณเปรียบเทียบการใช้ทรัพยากรแล้ว ย่อมได้ผลผลิตคือความสามารถในการเคลื่อนที่ของเมืองที่ดีกว่าการใช้รถยนต์

โดยประเด็นที่ลืมไม่ได้หากต้องการหลุดจากกับดัก คือระบบขนส่งมวลชนไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาการจราจรบนท้องถนน

“ระบบขนส่งมวลชนที่เริ่มมีบทบาทสำคัญในปัจจุบันคือรถไฟฟ้า มีคำถามต่อไปคือทำไมรถยังติดอยู่ ก็เพราะระบบขนส่งมวลชนที่ดีจะไม่แก้ไขปัญหารถติด มันเป็นโจทย์อีกโจทย์หนึ่ง”

ช่างเป็นตลกร้ายที่การสร้างถนนเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดกลับไม่ตอบโจทย์ใดเลย ไม่ว่าจะเป็นการจราจรบนท้องถนนหรือระบบขนส่งมวลชนที่ดีกว่า “สร้างไปเรื่อยๆ ไม่มีพื้นที่สร้างก็ทำทางยกระดับไป แต่ทำแล้วไม่แก้ไขอะไรเลย แถมสร้างปัญหาใหม่ด้วย ถ้าเป็นต่างประเทศ แทนที่จะสร้างถนนเพิ่มกลับเอาถนนออก หมายถึงค่อยๆ นำถนนสำหรับรถยนต์ออกไป แล้วนำทางเลือกอื่นในการเดินทางเข้ามาแทน”

สุเมธอธิบายต่อไปว่า “เราเห็นภาพถ่ายของเมืองในยุโรปในโซเชียลมีเดียเยอะแยะที่ในทศวรรษ 1970 จะเห็นรถยนต์ เห็นทางด่วน แต่พอถึงทศวรรษ 2000 ทางด่วนหายไป ถนนหายไปหรือแคบลง รถยนต์เข้าไปได้บ้าง แต่ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น รถติดก็เป็นเรื่องของรถ แต่จะไม่ปล่อยให้มีรถมาก”

ในกรณีไทย เขาเห็นว่าระบบการบริหารราชการเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งพัฒนาการดังกล่าว โดยนอกจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มีลักษณะครึ่งๆ กลางๆ ทำให้แก้ไขปัญหาระบบขนส่งนอกเมืองหลวงได้ยากแล้ว จำนวนผู้ดูแลระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครยังมากจนยากจะประสานงาน   

“เมือง ทางเท้า ถนน กรุงเทพมหานครดูแล รถไฟฟ้าด้วย แต่ไม่ใช่ทั้งหมด กรมการขนส่งทางบกดูแลรถประจำทาง ทำให้กำหนดนโยบายยาก ต่างจังหวัดก็คล้ายกัน แม้เทศบาลจะดูแลบางอย่าง แต่อำนาจจากส่วนกลางก็ยังมี ในยะลาถ้าจะกำหนดเส้นทางรถสองแถวสักเส้นหนึ่งต้องเดินไปที่สำนักงานขนส่ง คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แล้วผู้ว่าฯ มาจากไหน ก็มาจากส่วนกลาง ตรรกะในการออกแบบเมืองของเราไม่เอื้อให้พัฒนาการขนส่งสาธารณะ แล้วยังมีระบบสนับสนุนน้อยมาก ไม่มีเงินอุดหนุน”

ผลลัพธ์ก็เป็นอย่างที่หลายคนเห็น คือเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ใช้งานเพราะความสามารถในการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่แตกต่างกัน หลายคนต้องใช้เงินแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะด้วยการจ้างรถที่มีราคาสูงหรือซื้อรถยนต์ ซึ่งเพิ่มความรุนแรงให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มจำนวนอุบัติเหตุอีกทอดหนึ่ง

ปัจจัยสุดท้ายที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนคือทัศนคติของผู้บริหารเมือง เพราะเมื่อสถานการณ์ปัจจุบันเป็นผลรวมของหลากหลายปัญหาเช่นนี้ การเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อยุติปัญหาย่อมเสี่ยงจะส่งผลกระทบต่อคนหลายกลุ่ม จนกระเทือนความนิยมของผู้บริหารเมือง “แค่เดินไปถามคนเมืองว่าห้ามรถยนต์วิ่งบนถนนเส้นนี้ได้ไหม เรื่องยาวแล้ว ไม่มีใครอยากให้ทุนวิจัยประเด็นนี้ด้วย เพราะให้แล้วก็สร้างคำตอบที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ พอขาดงานวิจัยก็มาถามอีกว่าทำไมไม่สร้างถนนคนเดิน พอสร้างก็มีปัญหาในการเก็บค่าธรรมเนียมจากรถยนต์ที่จะเข้าไป หน่วยงานทำโน่นไม่ได้นะ ทำนี่ไม่ได้นะ เวลาเราเสนอแบบนี้ ทัศนคติของผู้บริหารเมืองจะทำให้เห็นเลยว่าเขาอยากได้คะแนนเสียงหรือประโยชน์สาธารณะ เพราะเขาอาจเสียคะแนนได้”

ถึงอย่างนั้น สุเมธยังมีความหวังในการผลิตงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาระบบขนส่งทั้งในและนอกเมืองหลวง โดยเขาเห็นว่าจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนงานวิจัยในประเด็นดังกล่าวในพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ฯลฯ ที่สภาพการจราจรจะเป็น “น้องๆ” กรุงเทพมหานครในไม่ช้า และหากไม่แก้ไขปัญหาตั้งแต่วันนี้ก็จะสายเกินไป ทั้งนี้ เขาเห็นด้วยกับอภิวัฒน์ที่ว่ารถไฟฟ้าไม่ได้ตอบโจทย์ทุกจังหวัด

“ถ้ามีผู้โดยสารเป็นแสนๆ คน รถไฟฟ้าก็ใช้ได้ ถ้าวันหนึ่งมีแค่ 200-300 คนใช้รถสองแถวหรือมินิบัสก็ได้ ไม่ถึงกับต้องมีรถประจำทาง รถประจำทางต้องมีผู้โดยสาร 2,000-3,000 คนโดยเฉลี่ยต่อวันถึงจะคุ้มทุน แต่แน่นอนว่ารถยนต์ส่วนบุคคลไม่ใช่คำตอบ”

สำหรับบรรดาเมืองรอง อาทิ ลำปาง ที่สุเมธเห็นว่ามีศักยภาพในการเติบโต เพราะเดิมเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นจุดที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกคักก่อนจะซบเซา เขาเห็นว่ารัฐบาลต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากกว่านี้ โดยปัจจุบันประเทศไทยยังใช้ประโยชน์จากรถไฟค่อนข้างน้อย สุเมธเชื่อว่าหากมีรถไฟทางคู่เชื่อมโยงจังหวัดส่วนใหญ่ เมืองรองเหล่านี้จะเติบโตขึ้นได้

ขณะที่โจทย์การวิจัยหลักในพื้นที่กรุงเทพมหานครคือ ‘การเพิ่มปริมาณการเดิน’ ที่โครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันไม่เอื้อให้เดินได้อย่างสะดวกสบาย สุเมธเห็นว่า “เรามีปัญหาการออกแบบตั้งแต่ต้น เพราะเราไม่ได้ออกแบบเมืองเพื่อการเดิน แต่ทำให้การเดินเป็นวิธีเดินทางเฉพาะกิจ แนวคิดหนึ่งที่ถึงผ่านไป 20-30 ปีแล้วก็ยังอยู่คือการสร้างสกายวอล์ก เปิดที่ไหนก็มีคนเดิน และเป็นที่นิยมด้วย ด้านหนึ่งผมคิดว่ามันตอบโจทย์อยู่บ้าง คือคนเมืองอยากเดินแต่ไม่มีที่เดิน แต่คำถามที่ตามมาคือสกายวอล์กไม่ได้ตอบโจทย์ทุกคน ดังนั้นต้องกลับมาแก้ไขปัญหาดั้งเดิม คือทำให้คนเดินบนพื้นดินได้”

กรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับเขาคือการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงทางยกระดับของญี่ปุ่น ถ้ามีทางข้ามลอยฟ้า ต้องมีลิฟต์และบันไดเลื่อน บริเวณใดไม่มีก็ต้องเดินบนพื้นและข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย เป็นต้น

“ประเด็นนี้วิจัยได้ แต่จะนำไปปฏิบัติอย่างไร โครงสร้างถนนบ้านเราให้พื้นที่ถนนมากที่สุด และมีแถบแคบๆ สองข้างทาง ซึ่งไม่ได้มีไว้ให้คนเดินด้วยซ้ำ แต่เอาไว้ลงเสาไฟฟ้า เมืองต่างๆ ในยุโรปเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว ในหนึ่งเขตทางจะมีพื้นที่สำหรับรถยนต์ไม่เกินร้อยละ 50 ที่เหลือเป็นทางเท้าหรือเลนจักรยานไป ขณะที่ราชดำรินี่เป็นถนนร้อยละ 95 อีกนิดก็เป็นทางเท้าของเอกชนแล้ว วันหนึ่งเจ้าของจะล้อมรั้วปิดก็ทำได้”

อีกปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันคือการ ‘ยก’ ระนาบทางรถไฟขึ้นจนทำให้การใช้รถยนต์เป็นวิธีเดินทางที่สะดวกที่สุดโดยปริยาย สุเมธเล่าว่าในหลายประเทศ รถไฟจะเคลื่อนที่บนระนาบเดียวกับถนนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เดินทางเชื่อมต่อสะดวก อาจมีการลอดใต้ถนนเพื่อให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมในเมือง หรือหากต้องยกระดับก็จะไม่สูงนัก แต่ไทยนั้น “ไม่มีตัวอย่างการออกแบบทางรถไฟที่ดีเลย เวลาออกแบบไม่ได้ก็มีสองทางเลือก คือยกเลิกเส้นทางหรือย้ายไปพื้นที่โล่งกว้างซึ่งไม่ตอบโจทย์การใช้งาน”

“กรณีสถานีรถไฟธนบุรีคือกรณีคลาสสิก ทางรถไฟเดิมในกรุงเทพฯ แทบจะอยู่ระดับเดียวกับพื้นดินทั้งหมด ต่อมาถูกปรับยกขึ้นไม่ให้ขวางทางรถยนต์ ผมเคยอยู่รอตเตอร์ดัม มีทางรถไฟผ่ากลางเมือง ช่วงก่อนปี 1990 ทางนี้ยกระดับขึ้น ต่อไปเมืองเห็นว่ามีปัญหาก็จับลงใต้ดินให้ใช้พื้นที่ข้างบนได้ คือมีบทเรียนและการเปลี่ยนแปลง แต่กรณีธนบุรีเห็นได้ชัดว่าไปไม่ถึงจุดนั้น ทั้งที่ควรจะยิงเส้นทางยาวจากพื้นที่ใต้ดินของหัวลำโพงไปธนบุรี แต่พอไม่มีงบประมาณ ไม่ให้ความสำคัญก็เบรกไว้เท่านั้น”

โดยสุเมธย้ำส่งท้ายว่าต้องลดจำนวนรถยนต์ในเขตเมืองลงพร้อมกันด้วย ผ่านการเพิ่มราคาและลดความสะดวกสบาย เมืองในหลายประเทศเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าพื้นที่ต่างๆ ของรถยนต์ ซึ่งสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ขณะที่รถยนต์ในไทยจอดบนถนนได้โดยไร้ค่าใช้จ่าย บางพื้นที่สำหรับจอดรถก็มีผู้จับจองไป การวิจัยย่อมมีส่วนช่วยกำหนดนโยบายในประเด็นนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงอย่างนั้น เรายังต้องกลับไปหาคำถามเดิมที่ว่า “ระบบบริหารราชการจะเอื้อให้ทำเช่นนั้นหรือไม่?”

หากไม่ควบคุมกลไกตลาด ความเท่าเทียมก็เป็นเพียง ‘ฝันกลางวัน’ — บุญเลิศ วิเศษปรีชา

บุญเลิศ วิเศษปรีชา จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเมื่อเขาเริ่มเจาะลึกชีวิตของคนจนเมืองราว 3-4 ปีที่แล้ว เขาเริ่มด้วยความ ‘หงุดหงิด’ เพราะดูเหมือนเมืองต่างๆ ที่เติบโตขึ้นในไทยจะไม่สนใจคนเหล่านี้แม้แต่น้อย

“วิสัยทัศน์เกี่ยวกับเมืองถูกครอบงำด้วยวิสัยทัศน์ของชนชั้นกลาง สวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ไม่ได้อยู่ในหัวของชาวบ้านเลย มีแต่การถูกไล่ที่และค่าเดินทาง”

บุญเลิศเห็นว่าแนวคิด ‘การไหลรินของความเจริญ’ เป็นมายาคติสำคัญที่สุดในการก่อร่างสร้างเมืองแห่งความเหลื่อมล้ำ ผ่านการทำให้เมืองเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยไม่ใส่ใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) นักภูมิศาสตร์เศรษฐกิจสายมาร์กซิสต์กล่าวว่าเมืองเป็นตัวการสำคัญที่อุ้มชูระบบทุนนิยม ผ่านการให้อำนาจแก่กลไกตลาดในการกำหนดความเป็นไปของเมือง

“ผมชอบแปล ขอแปล ‘gentrification’ ใหม่ เป็น ‘การทำให้เป็นย่านผู้ดี’ เป็นแนวทางการพัฒนาเมืองที่สะท้อนความรังเกียจคนจน ผมเคยเขียนงานเขียนชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับกระบวนการนี้เชิงสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นการมองเห็นคลองสวย น้ำใส ผ่านการไล่คนที่อาศัยอยู่ริมคลองออกไป บทความชิ้นหนึ่งของชาวต่างชาติก็เปรียบเทียบชุมชนคลองเป้งที่ทองหล่อกับศูนย์การค้าเดอะคอมมอนส์ ที่เกิดขึ้นได้เพราะชุมชนถูกไล่ไป และที่ถูกไล่ก็เพราะเป็นที่รังเกียจของชาวทองหล่อ แต่นำคลองมาเป็นข้ออ้าง การพัฒนาเมืองถูกครอบงำด้วยทรรศนะกระแสหลักนี้โดยไม่ถามว่าผลประโยชน์ตกกับใครกันแน่”

บุญเลิศอธิบายว่ามีผู้กล่าวถึงผลกระทบของแนวทางการพัฒนาเมืองเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ ในเวทีโลก และองค์การระหว่างประเทศก็พยายามบัญญัติศัพท์เพื่อกำหนดกรอบการพัฒนาเพื่อลดทอนความรุนแรงของกระบวนการดังกล่าว ทั้งเมืองน่าอยู่ (livable city) เมืองยั่งยืน (sustainable city) ก่อนจะเป็นเมืองครอบคลุม (inclusive city) ซึ่งผู้บริหารเมืองในไทยไล่กวดเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าการมีกรอบแนวคิดเมืองครอบคลุมเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนว่าคนจำนวนมากตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนาเมืองแล้ว

บุญเลิศเห็นว่าพื้นที่เป็นกรอบแนวคิดที่ละเลยไม่ได้หากศึกษาความเหลื่อมล้ำในเมือง “เวลาศึกษาความเหลื่อมล้ำในบริบทเมือง คนศึกษาเมืองมักพูดว่าคำสำคัญคือพื้นที่ คนที่สนใจประเด็นอื่นๆ อาจสนใจวิถีชีวิต รายได้ ข้าวของ แต่พื้นที่คือเครื่องบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของเมือง”

ทั้งนี้ เพราะการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นกรอบจะทำให้เห็นการแบ่งแยกพื้นที่อาศัยของคนเมืองต่างกลุ่ม (urban segregation) โดยเฉพาะคนเมืองที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่างกัน เช่น คอนโดมิเนียมย่านทองหล่อและชุมชนริมคลองในย่านเดียวกัน หรือการไล่รื้อชุมชนบางปิ้ง ถนนศรีนครินทร์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อที่ดินมีราคาสูงขึ้น หลังรถไฟฟ้าขยายเส้นทางจากสถานีสำโรงถึงสถานีปากน้ำ เปลี่ยนพื้นที่อาศัยของคนจนเมืองเป็นที่ตั้งคอนโดมิเนียมในพริบตา รวมถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งต้องเรียกร้องเป็นเวลานานกว่าจะได้รับการเยียวยาจากการรถไฟแห่งประเทศไทย

“นี่ไม่ใช่แค่การทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะต่อให้คุณอยู่ข้างหน้าก็จะถูกกวาดทิ้งไป คำถามคือเราจะปกป้องคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร”

สำหรับบุญเลิศ หนึ่งในแนวทางลดผลกระทบของการแบ่งแยกพื้นที่อาศัยคือการจัดสรรที่อยู่ที่ราคาจับต้องได้ (affordable housing) กระนั้น “กลับไม่ค่อยได้ยินประเด็นนี้ ทั้งที่บ้านเป็นความต้องการพื้นฐานและรัฐจัดการอย่างไม่มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของกลไกตลาด โดยไม่มีการแทรกแซงและยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ กลไกตลาดไม่เพียงพอสำหรับอุ้มชูคนตัวเล็กคนตัวน้อยอยู่แล้ว และนโยบายยังไม่อุ้มพวกเขาอีก”

โดยหลังการศึกษาในปี 2016 เขาพบว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์มีที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่าหนึ่งล้านบาทเพียงร้อยละ 9 ยิ่งกว่านั้น ข้อมูลล่าสุดยังชี้ว่าระหว่างปี 2015-2020 ไม่มีผู้ประกอบการรายใดขายบ้านในราคาต่ำกว่า 500,000 บาท ทั้งที่ผู้มีรายได้ไม่เกิน 24,000-25,000 บาทมีกำลังเพียงซื้อบ้านในราคานี้

“ลำพังภาคเอกชนผมเข้าใจได้ แต่มาตรการของรัฐกลับยิ่งซ้ำเติม นโยบายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของรัฐบาลมักมุ่งส่งเสริมภาคอสังหาริมทรัพย์ ฟังเหมือนจะเอื้อให้คนมีที่อยู่อาศัย แต่ไม่ใช่ ที่มีทุกปีคือกำหนดว่าถ้าคุณซื้อบ้านและเสียดอกเบี้ย คุณนำดอกเบี้ยไปลดหย่อนภาษีได้ ฟังดูดี แต่หลายคนที่ไม่มีปัญญาผ่อนบ้านไม่ได้ประโยชน์จากข้อกำหนดนี้เลย” บุญเลิศอธิบาย

“เวลาเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลก็ลดค่าธรรมเนียมการโอนบ้าง ลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะบ้าง ซึ่งเป็นการนำเงินลดหย่อนของเราไปเป็นโปรโมชั่นของภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะถือว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีประโยชน์ แต่คุณไม่จำเป็นต้องอุ้มบริษัทเหล่านี้เมื่อมีคนจำนวนมากที่ไม่อาจเข้าถึงสิทธิประโยชน์นี้เลย เพราะมีรายได้น้อยหรือรายได้ไม่มั่นคง”

ปัจจุบัน ดูเหมือนไม่เพียงผู้มีรายได้น้อยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ เพราะผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยเผยว่าดัชนีการเพิ่มขึ้นของรายได้อยู่ที่ร้อยละ 10 ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้นกว่าร้อยละ 40-50 แล้ว

“ผมเปิดอ่านนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติอย่างละเอียด ขอพูดสั้นๆ ว่าฝันกลางวัน รัฐบาลมีโครงการเยอะแยะ ทั้งบ้านเอื้ออาทรและบ้านมั่นคง บ้านเอื้ออาทรมุ่งสร้าง 600,000 หน่วยในห้าปี ผ่านไปสิบปีสร้างได้ไม่ถึงครึ่ง บ้านมั่นคงมุ่งสร้าง 280,000 หน่วยในสามปี ผ่านไปเกินสิบปี ครึ่งหนึ่งก็ยังไม่ถึงเหมือนกัน เพราะคุณไม่มีที่ดินให้คนจน การตัดสินด้วยกลไกตลาดบีบให้คนจนไปอยู่ชานเมือง แต่อยู่ชานเมืองแล้วประกอบอาชีพไม่ได้ เลยต้องยักแย่ยักยันกันอยู่อย่างนี้”

แต่หากการสลัดระบบทุนนิยมดูจะเป็นฝันที่ไกลเกินเอื้อม เราจะเดินต่ออย่างไร? บุญเลิศตอบว่าต้องกำกับดูแลกลไกตลาดให้ตอบสนองความต้องการของผู้คนในสังคมได้ครอบคลุมกว่านี้ โดยโจทย์การวิจัยที่จะสนับสนุนความหวังดังกล่าวนั้น เขาสนใจโจทย์ ‘สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง’ (right to the city) ที่เน้นการรับฟังเสียงของคนทุกกลุ่มเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาเมืองมากที่สุด เพราะความเปลี่ยนแปลงของเมืองถูกชี้นำโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่และรัฐที่ตอบสนองกลุ่มทุนมากเกินไปมานานเกินควร     

โจทย์อื่นๆ ที่เขาสนใจคือการสร้างเมืองเพื่อผู้คน ไม่ใช่ผลกำไร (Cities For People, Not For Profit) ซึ่งหนึ่งในวิธีแปลงโจทย์วิจัยนี้เป็นรูปธรรมคือการให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยที่คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้นั่นเอง

“ที่ผ่านมาเวลาเราพูดถึงความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย เราคิดถึงการซื้อ แต่ประเทศที่มีความมั่นคงนั้นจะเน้นให้เช่าที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพมากกว่า ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งนี้เราก็จะติดอยู่ในเกมเดิม”

เขาอธิบายต่อไปว่าที่ผ่านมา งานวิจัยเกี่ยวกับคนจนเมืองโดยมากสนใจผู้คนในสลัมหรือคนไร้บ้าน แต่คนกลุ่มใหญ่ที่ยังถูกหลงลืม คือกลุ่มผู้เช่าห้องราคาถูกในเมือง เช่น บริเวณชุมชนวัดดวงแข ที่หลายคนเช่าห้องคุณภาพต่ำราคา 1,000 บาทด้วยความจำเป็นในการทำงาน “เราต้องขยายเรื่องทำนองนี้ แทนที่จะสนใจแต่การซื้อขายบ้าน ต้องทำให้ที่ดินของรัฐตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น เพราะคอขวดของปัญหาที่อยู่อาศัยคือที่ดิน”

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่เปราะบางในหลายมิติและรัฐมองข้ามไปคือผู้สูงอายุรายได้น้อยในเมือง ซึ่งจำนวนมากเข้าไม่ถึงสวัสดิการ หลายคนไม่มีลูกหลานดูแล และยังต้องดิ้นรนจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัยในวัยนี้ “เวลาเราพูดถึงที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ เรามักนึกถึงโครงการใหญ่ๆ ทั้งหลายของภาคเอกชน กลไกตลาดโอบรับผู้มีกำลังซื้ออีกแล้ว” บุญเลิศบอก “การเคหะแห่งชาติบอกว่าจะสร้างบ้านสำหรับผู้สูงอายุ แต่ไม่มีใครย้ายไปหรอก พวกเขาอยากอยู่ที่เดิม โจทย์คือเราจะทำให้บ้านของพวกเขาปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุได้อย่างไรต่างหาก เกิดหกล้ม ติดเตียง จะยิ่งลำบากแค่ไหน”

ยังไม่รวมถึงผู้พิการ ผู้หญิงที่หาความปลอดภัยในเมืองไม่ได้ และแรงงานข้ามชาติ ที่บุญเลิศเห็นว่ายังไม่มีมาตรการยกระดับคุณภาพชีวิตในเขตเมืองของคนเหล่านี้เลย

เขาทิ้งท้ายด้วยการเน้นความสำคัญของการผลิตงานวิจัยเพื่อสร้างเมืองที่โอบรับผู้คนทุกชนชั้น เพราะลำพังการพึ่งพางานวิจัยจากโลกตะวันตกนั้นไม่เพียงพอ รวมถึงไม่ตอบโจทย์การพัฒนาเมืองเท่ากับงานวิจัยในบริบทใกล้เคียงกัน “เมืองในประเทศกำลังพัฒนามีภาคส่วนที่ไม่เป็นทางการจำนวนมากและต้องให้ความสนใจ อย่างหาบเร่แผงลอยที่อยู่ในงานวิจัยของอาจารย์นฤมล นิราทร อย่างนี้ มันอาจฟังดูเชย แต่จะอยู่กับเราไปอีกแสนนาน” บุญเลิศทิ้งท้าย

จงสร้างเมืองที่ไม่ทอดทิ้งใคร ในประเทศที่ไม่ทิ้งเมืองใดไว้ข้างหลัง — พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ

เพราะคำนึงถึงกับดักชนชั้นสร้างสรรค์ เทศบาลนครยะลาในความดูแลของพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ จึงให้ความสำคัญแก่การมีส่วนร่วมของประชากรทุกกลุ่ม ถึงอย่างนั้น เขายังสังเกตว่าคนกลุ่มใหญ่ที่ร่วมออกเสียงเพื่อการพัฒนาเมืองบ่อยครั้งมักไม่ใช่ชนชั้นล่าง ซึ่งอาจถูกทอดทิ้งอย่างง่ายดายหากผู้กำหนดนโยบายไม่ออกแบบกลไกเพื่อขยายเสียงเล็กๆ เหล่านี้

ในฐานะนายกเทศมนตรีนครยะลา พงษ์ศักดิ์ศรัทธาในความเข้มแข็งของท้องถิ่น เพราะเชื่อว่าท้องถิ่นที่ก้าวหน้า มอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้อาศัยได้ และเป็นก้าวแรกสู่สังคมที่เป็นธรรมทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ “อย่างเชียงรายมีโรงเรียนนานาชาติที่ดีเท่ากับโรงเรียนดีๆ ในกรุงเทพฯ นครศรีธรรมราชมีนิทรรศการเมตาเวิร์ส ถามว่าเบี้ยผู้สูงอายุมาจากไหน เดิมรัฐบาลไม่มี เทศบาลก็เป็นต้นคิด แต่ไม่ได้ให้ถ้วนหน้า จนนักการเมืองระดับประเทศมองว่าเป็นโอกาส คือการแข่งขันระหว่างเทศบาลในที่สุดจะเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนได้”     

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเห็นคำว่า ‘เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ พงษ์ศักดิ์จึงจำแนกการทอดทิ้งเป็นสองระดับทันที โดยคำถามแรกที่เขาถามตัวเองคือ “ยะลาถูกทิ้งไว้ที่ไหน?”

“เวลามีความไม่สงบ ยะลาถูกทิ้งทันที ถ้าจะเชิญศิลปินหรือวิทยากรมาแล้วต้องจ่ายค่ามัดจำ ที่อื่นจ่าย 30,000 บาท แต่ยะลาต้องจ่ายถึง 80,000 บาท ถ้าเกิดเหตุระเบิดขึ้นมา บางคนก็เกิดท้องเสียฉับพลัน ไม่มาเลย”

เพื่อไม่ให้ยะลาถูกทิ้งห่างนักในระดับประเทศ เขาจึงต้องหันไปลดอัตราการทอดทิ้งในระดับที่สอง ผ่านการทำความรู้จักผู้คนในเมือง ‘ทุกคน’ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักชนชั้นสร้างสรรค์ที่กล่าวถึงข้างต้น

“ระหว่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 เราลงพื้นที่และได้เห็นว่าเด็กๆ ในเขตเทศบาลยากจนเกือบทั้งหมด ช่วงนั้นธนาคารโลกบอกว่าเด็กจะมีภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) คิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000-800,000 บาทต่อคน เราเลยจัดการให้ทุกคนมีแท็บเล็ต เพราะเมื่อหักลบแล้วก็ยังคุ้ม สำหรับเด็กโต เรามีบริการให้คำปรึกษารายบุคคลเพื่อให้เข้าใจความถนัดและความต้องการก่อนจะไปต่อระดับสูงขึ้น เพราะเด็กกลุ่มนี้มีต้นทุนต่ำ เราต้องทำให้พวกเขาไม่แพ้เพื่อนมากเกินไป”

ไม่เพียงส่งเสริมเด็กๆ ทุกกลุ่มเท่านั้น เขายังสนใจการอุดช่องว่างทางเศรษฐกิจของเหล่าผู้ปกครอง ด้วยการหารือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) เพื่อจัดบริการให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครอง เพราะเทศบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอ ด้วยความหวังว่าหากสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้ผู้ปกครองได้ โอกาสในชีวิตของคนเหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อไปถึงเด็กๆ ด้วย

พงษ์ศักดิ์บอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับหลายคนที่เห็นว่าอินเทอร์เน็ตจะเป็นฟันเฟืองลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองน้อยใหญ่ในไทย “ผมคิดว่าการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ยิ่งนานวันกลับยิ่งมากในโลกดิจิทัล คนยิ่งตามไม่ทันกันมากขึ้น อย่างอุปกรณ์ที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบางครอบครัวก็ไม่มี บางเมืองก็ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตฟรี เทศบาลนครยะลามีก็จริง แต่ไม่ได้ครอบคลุมทุกจุด จะจัดหาอุปกรณ์ให้ชาวบ้านก็ทำไม่ได้ด้วยระเบียบต่างๆ”

เมื่อระเบียบรัดรึงการพัฒนาเมืองเช่นนี้ พงษ์ศักดิ์จึงสนใจข้อจำกัดในการลดความเหลื่อมล้ำที่มาจากกฎหมายเป็นพิเศษ “เช่น ภาษีที่ดินและปลูกสร้าง ผมว่ายิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ วันข้างหน้าคนมีที่ดินจะไม่มีปัญญาเสียภาษี และต้องขายที่ดินให้นายทุน เพราะภาษีทุกวันนี้มาจากมูลค่าของที่ดิน ไม่ใช่ความสามารถในการจ่าย อย่างพื้นที่สีลม ถึงเป็นข้าราชการระดับซี 8 หรือซี 9 มีเงินเดือน 50,000-60,000 บาท เจอภาษีที่ดิน 30 ล้านบาท จะเอาที่ไหนจ่าย”

เขายอมรับว่าเทศบาลไม่อาจช่วยเหลือทุกคนได้ แต่ควรช่วยเหลือได้มากกว่านี้ พงษ์ศักดิ์เล่าว่าขณะเดินหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เขาเห็นผู้สูงอายุติดเตียงจำนวนมาก หลายคนยากจน ลูกหลานต้องทิ้งจานชามอาหารไว้ให้เพราะต้องไปทำงาน แต่ผู้สูงอายุไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้ จานชามเหล่านี้จึงมีมดตอมทั่ว เขาหวังจะติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ลูกหลานเห็นความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ แต่ทำไม่ได้ด้วยข้อบังคับต่างๆ ทำได้เพียงติดตั้งอุปกรณ์ขยายสัญญาณไวไฟเพื่อ ‘เลี่ยง’ ระเบียบนั้น

“สังคมไทยควรเปลี่ยนวิธีคิด อย่าต้องตื่นมานั่งคิดว่าผมจะเลี่ยงระเบียบอย่างไร มานั่งคิดดีกว่าว่าวันนี้จะสร้างสรรค์อะไรให้ประชาชน ถ้าจะทำให้ท้องถิ่นดูดซับความเหลื่อมล้ำได้ เราต้องแก้ไขอะไรอีกมาก” พงษ์ศักดิ์ย้ำ

เขากล่าวต่อไปถึงการผูกขาดอำนาจการตัดสินใจของส่วนกลาง ที่หลายครั้งมาตรการและนโยบายต่างๆ ไม่สอดคล้องกับการเติบโตของท้องถิ่น อาทิ มาตรการทางภาษีที่กำหนดโดยกระทรวงการคลัง ที่กำหนดให้ยะลาเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนเขต 3 ซึ่งผู้ได้ประโยชน์สูงสุดคือนายทุน โดยที่ผู้บริหารเมืองซึ่งมาจากการเลือกตั้งอย่างเขาไม่อำนาจเปลี่ยนแปลง

พงษ์ศักดิ์เชื่อว่าการลดอำนาจการตัดสินใจของท้องถิ่นเช่นนี้มีแต่จะซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำระหว่างเมือง เมื่อทรัพยากรกระจุกอยู่ในกรุงเทพมหานคร ไม่กระจายไปตอบสนองความต้องการของพื้นที่ต่างๆ ย่อมทวีความเข้มข้นของความเคลื่อนไหวท้องถิ่นนิยมเพื่อดึงทรัพยากรไปพัฒนาท้องถิ่นของตน ซึ่งแม้จะมีข้อดี แต่ก็ฉุดรั้งความเท่าเทียมระหว่างเมืองเช่นกัน

ไม่เพียงผลกระทบในวันนี้ นายกเทศมนตรีนครยะลายังกังวลถึงผลกระทบใน ‘อนาคต’ เมื่อเยาวชนขาดสายสัมพันธ์กับภูมิลำเนา หรือไม่รู้สึกผูกพันกับประเทศของตนด้วย “วันนี้ผมอยากสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เด็กยากจนที่พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ได้ก็ทำไม่ได้ อยากมีโครงการ PPP (Public-Private Partnership – โครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน) เพื่อจัดหาทุนให้เด็กที่ได้รางวัลจากเวทีประกวดนวัตกรรมอย่างเครื่องตรวจวัดคุณภาพทุเรียนก็ไม่ได้ ระเบียบไม่อนุญาต ทั้งที่มันจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมหาศาล ไม่ใช่ทุกอย่างต้องไปกระจุกที่กรุงเทพฯ ถ้าเด็กๆ รู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง พวกเขาก็จะไม่รู้สึกรักชาติ หรือไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ”

เมื่อให้ความสำคัญกับความเข้มแข็งของท้องถิ่นเช่นนี้ โจทย์การวิจัยที่พงษ์ศักดิ์สนใจจึงเป็นการวิจัยเพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างไม่ต้องสงสัย

“ผมเคยตั้งคำถามต่อมหาวิทยาลัยบางแห่ง ว่าคุณเป็นมหาวิทยาลัยประจำภูมิภาคหรือประจำจังหวัดหนึ่งๆ กันแน่ ทำไมสุดท้ายตอบสนองความต้องการของบางจังหวัดเท่านั้น ทำไมยะลาเหมือนเราถูกลืม ไม่ว่าผมจะมีแนวคิดอย่างไรผมก็ต้องการหลักวิชาสนับสนุน ดังนั้นงานวิจัยต้องสนใจความต้องการของแต่ละจังหวัดมากกว่านี้”

ความสามารถในการหารายได้ของท้องถิ่นก็เป็นอีกประเด็นที่เขาสนใจ “ผมเห็นด้วยกับการเก็บค่าจอดรถมาก อาจต้องกำหนดย่านการค้า สำหรับจอดรถขนส่งสินค้า โดยเฉพาะ กำหนดที่จอดรถบรรทุก และต้องกระตุ้นการหมุนเวียนของรถยนต์ในที่ต่างๆ แต่ทั้งหมดนี้ผูกอยู่กับคณะกรรมการที่มีหน้าที่จัดระบบจราจร มีตำรวจเป็นประธาน เทศบาลมีหน้าที่เพียงทาสี ผมเคยเกือบฟ้องกรมการขนส่งทางบกในประเด็นที่จอดรถ เพราะเทศบาลรับถ่ายโอนสถานีขนส่งมา และรถต้องจอดในสถานี แต่สุดท้ายเจ้าของรถไม่นำรถเข้าสถานี ไปจอดในบ้านของตัวเอง แต่เทศบาลไม่มีดาบจะลงโทษ นี่คือปัญหาการกระจายอำนาจทั้งสิ้น เราทำอะไรไม่ได้เลย เป็นแค่เสือกระดาษ”

ในระดับสูงขึ้นไป พงษ์ศักดิ์เห็นว่าพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ต้องปรับปรุงเสียที โดยอาศัยข้อเสนอแนะจากงานวิจัย ทั้งนี้เพื่อแก้ไขอำนาจหน้าที่ของเทศบาลเมือง เทศบาลนคร และตำบล ซึ่งปัจจุบันไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ที่ยังร่างฉบับที่ 3 ไม่แล้วเสร็จ ทั้งที่การเพิ่มความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นจะเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขันของประเทศอีกทอดหนึ่ง

“อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับระเบียบคือบางครั้งในการตรวจสอบ คำว่า ‘ความคุ้มค่า’ นี่เป็นปัญหามาก ทางลาดสำหรับผู้พิการ มีผู้ใช้สิบคน ผมลงทุนสองล้านบาท หน่วยงานตรวจสอบบอกว่าไม่คุ้มค่า แต่จำเป็นไหมเล่า ดังนั้นต้องตีความกันให้ได้ว่าความคุ้มค่าคืออะไร ผมเองในฐานะผู้ดูแลท้องถิ่นคิดว่าพวกเราพร้อม แต่อะไรๆ ก็เป็นรายจ่ายไปหมด”

พงษ์ศักดิ์ย้ำอีกครั้งว่าท้องถิ่นควรหารายได้ด้วยตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากส่วนกลางเท่านั้น ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อผลกำไรของผู้บริหารเมือง แต่เพื่อจุนเจือผู้ด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ของตน

“ตอนนี้ผมสร้างห้องเรียนนวัตกรรม (Fab Learn Lab) พาเด็กเก่งๆ มาใช้ห้องปฏิบัติการโดยที่เทศบาลสนับสนุน แต่ผมไม่ได้ต้องการแค่นั้น เพราะมันควรจะสร้างรายได้ได้ เทศบาลก็ควรสนับสนุนได้ วันนี้เพิ่งหารือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคด้วย เพราะเทศบาลอยากร่วมมือกับการไฟฟ้าในการสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เรามีสินทรัพย์คือที่ดินอยู่แล้ว จะได้ส่งเสริมให้ยะลาเป็นเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมดี”

สำหรับพงษ์ศักดิ์ การมีสิ่งแวดล้อมดีจะทำให้ยะลาไล่กวดเมืองอื่นๆ ได้ในอนาคต และไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างที่เป็นอยู่ หรืออย่างน้อยต้องไม่ถูกทิ้งห่างออกไป “ยะลาของเราสะอาดที่สุด ทุนที่สองที่เรามีคือสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ก็มีความอุดมสมบูรณ์ของดิน และความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผมคิดว่าเทรนด์ในอนาคตคือการทำงานจากทุกที่ในโลก และผมจะได้ประชากรคุณภาพมาอยู่ในเมือง ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ผมก็จะไม่มีอำนาจต่อรองเลย ยะลาจะเป็นเมืองที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีก และในอีกมุมหนึ่ง เราก็นำรายได้จากจุดนี้ไปช่วยเหลือคนต่อไปได้ด้วย”

อภิวัฒน์ร่วมทิ้งท้ายด้วยการเสริมว่าโจทย์การวิจัยหนึ่งที่อาจช่วยเหลือท้องถิ่นได้และเขาสนใจมานานคือ ‘การพัฒนาพันธบัตรเทศบาล’ เพราะในอนาคตรายได้จากภาษีจะไม่มาก การคลังสาธารณะระดับเมืองจะเป็นโจทย์สำคัญยิ่งในประเทศไทย แต่กลับมีผู้เชี่ยวชาญอยู่น้อยมาก

“จุดนี้ต้องมีนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้ท้องถิ่นหรือเมืองเจ๊งจากการเป็นรัฐสวัสดิการ พร้อมกับที่หลีกเลี่ยงการพึ่งพานายทุนเพื่อการพัฒนาเมือง” อภิวัฒน์อธิบาย

เพราะถึงอย่างไรการไหลรินของความเจริญก็ไม่ใช่คำตอบ ไม่ว่าจะจากกลุ่มทุนถึงผู้ยากไร้ หรือจากเมืองหลวงสู่เมืองใดก็ตาม

วิจัย/เขียน

101 PUB

บทความที่เกี่ยวข้อง

งบบริหารจัดการน้ำ: จัดสรรกันอย่างไร จะแก้น้ำท่วม/แล้งได้ไหม?

ไทยจัดสรรงบประมาณสำหรับบริหารจัดการน้ำกว่าหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี ทว่าเมื่อเข้าฤดูฝนครั้งใดก็ปรากฎว่ายังคงเกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง ชวนให้ตั้งคำถามว่าขณะที่น้ำไหลอยู่ที่นั่น งบประมาณไหลไปที่ไหน?

อ่านอนาคต เคาะโจทย์ ‘แพลตฟอร์ม’ ทำอย่างไรให้เติบโตได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

101 ชวนตีโจทย์เศรษฐกิจแพลตฟอร์มในยุคที่เศรษฐกิจดิจิทัลไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว หาคำตอบร่วมกับผู้เชี่ยวชาญว่าโอกาสของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเหล่านี้จะนำไปสู่โอกาสแห่งชีวิตผู้คนในสังคมได้อย่างเป็นธรรมหรือไม่และอย่างไร

30 April 2024

อ่านอนาคต ตีโจทย์(แรง)งานไทย เราควรปรับตัวอย่างไรในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

101 ชวนอ่านอนาคตตลาดแรงงานไทย พร้อมทั้งตีโจทย์สำคัญว่าในยุคที่ทุกคนขนานนามว่าเป็นยุค ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ แรงงานและตัวแสดงที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวอย่างไร ผ่านบทสนทนากับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ

8 April 2024
1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.