แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของ ‘องค์กรสื่อ’ มีจริงหรือไม่?: เงื่อนไขจำเป็นเพื่อความยั่งยืน-ความเป็นมืออาชีพของสื่อในโลกผันผวน

“อุตสาหกรรมข่าวไทยกำลังเผชิญวิกฤตจากแหล่งรายได้จากโฆษณาที่ลดลง […] การพึ่งพา ‘เนื้อหาแบรนด์’ (branded content) ทำให้เส้นแบ่งระหว่าง ‘ความเป็นข่าว’ และ ‘การตลาด-การโฆษณา’ เลือนราง และบั่นทอน ‘ความเป็นอิสระทางบรรณาธิการ’ (editorial independence) จนอ่อนแอลง”[1]“Digital News Report 2025: Thailand,” Reuters Institute for the Study of Journalism, https://reutersinstitute.politics.ox.ac.uk/digital-news-report/2025/thailand (เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2025).

นี่คือส่วนหนึ่งของภาพสถานการณ์สื่อไทยที่ Reuters Institute for the Study of Journalism ฉายให้เห็นจากรายงาน Digital News Report Survey 2025 ซึ่งเพิ่งเผยแพร่ออกมาสู่สายตาสาธารณชนสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2025

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เม็ดเงินจากอุตสาหกรรมโฆษณาคือแหล่งทรัพยากรสำคัญที่หล่อเลี้ยงให้องค์กรสื่อจำนวนไม่น้อยทำหน้าที่ในการผลิตข่าวสารที่เป็นประโยชน์ออกมาสู่สาธารณะได้ แลกกับการที่ทำให้โฆษณาได้รับการมองเห็นเป็นวงกว้าง แต่ปัจจุบัน แหล่งรายได้จากโฆษณาเริ่มตกถึงมือองค์กรสื่อน้อยลง พวกเขาก็ต้อง ‘ปรับตัว’ เพื่อความอยู่รอด แต่ดูเหมือนว่าแนวทางการปรับตัวกลับวนกลับมาทำร้าย ‘ความเป็นสื่อ’ ที่ต้องเป็นอิสระปราศจาการแทรกแซงในการตัดสินใจนำเสนอข่าวสาร ซึ่งยิ่งลดทอนความน่าเชื่อถือและมูลค่าของสื่อจนอาจเป็นวงจรวิกฤตของทั้งวงการ

คำถามคือ องค์กรสื่อยังมีทางรอดทางการเงินและคุณค่าความเป็นสื่อดำรงอยู่ได้พร้อมกันมากแค่ไหน มีแนวทางอะไรหรือไม่ที่อาจเป็น ‘แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์’ ขององค์กรสื่อ   

วงจรวิกฤตที่องค์กรสื่อไทยไม่อาจหลุดพ้น?

วิกฤตแหล่งรายได้จากโฆษณาหดหายไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นเพียงแค่กับองค์กรสื่อเชิงวารสารศาสตร์ในไทยแต่อย่างใด แต่เป็นวิกฤตร่วมที่คุกคามองค์กรสื่อทั่วโลกมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสื่อในประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนาก็ตาม

ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตและการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล ซึ่งนำไปสู่การเติบโตของช่องทางสื่อออนไลน์อย่างเว็บไซต์และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ได้สั่นสะเทือนภูมิทัศน์สื่อและรูปแบบการประกอบธุรกิจ (business model) ขององค์กรสื่อทั่วโลก แม้ว่าเม็ดเงินจะหลั่งไหลไปที่ตลาดโฆษณาออนไลน์ แต่การแข่งขันระหว่างองค์กรสื่อกลับสูงขึ้นเนื่องจากผู้เล่นในสนามสื่อออนไลน์มีจำนวนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์เกิดใหม่หรือสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ที่หันมาบุกเบิกพื้นที่ข่าวในโลกออนไลน์ ขณะที่แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง Google และ Meta ก็ก้าวเข้ามาครองส่วนแบ่งในตลาดโฆษณาดิจิทัลระดับโลก โดยในปี 2023 สองบรรษัทแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ดังกล่าวครองส่วนแบ่งในตลาดโฆษณาดิจิทัลโลกเกินกว่าครึ่งที่ 54.4%[2]“Google, Meta, and Amazon Generate Over 60% of Global Digital Advertising Revenue,” Stocklytics, https://stocklytics.com/content/google-meta-and-amazon-generate-over-60-of-global-digital-advertising-revenue/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2025). อีกทั้งยังมีอำนาจเหนือองค์กรสื่อในการกำหนดว่าจะแสดงหรือไม่แสดงข่าวสารให้แก่ผู้รับสารผ่านอัลกอริทึม (algorithm) ยิ่งไปกว่านั้น การไหลเวียนและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ง่ายดายและฉับไวยังส่งผลให้ข่าวสารที่มีต้นทุนการผลิตไม่น้อยกลับถูกมองเสมือนว่าเป็นของฟรีที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าที่เคยเป็นมา กล่าวคือ โมเดลการประกอบธุรกิจสื่อแบบดั้งเดิมที่อิงรายได้จากการโฆษณาเป็นแหล่งรายได้สำคัญหลักเพื่อเป็นทุนและสร้างกำไรสำหรับการผลิตข่าวสารและบริการสู่สาธารณะในราคาที่จับต้องได้ไม่ใช่แนวทางที่ทำให้องค์กรสื่อสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนอีกต่อไปท่ามกลางภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป[3]Peter Deselaers, Kyle James, Roula Mikhael, Laura Schneider, More than Money: Rethinking Media Viability in the Digital Age (Bonn: Deutsche Welle Akademie, 2019), 2. ยังไม่นับว่าโลกกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่ผันผวนที่สุดครั้งหนึ่งในหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะจากวิกฤตโรคระบาด ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุ (และสุ่มเสี่ยงที่จะปะทุ) กลายเป็นสงคราม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือวิกฤตค่าครองชีพ ฯลฯ ซึ่งย่อมกระทบต่อรายได้ที่หล่อเลี้ยงองค์กรสื่อ

ในทำนองเดียวกัน องค์กรสื่อวารสารศาสตร์ในไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีสถานะเป็นองค์กรธุรกิจและใช้โมเดลธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาคเอกชนหรือภาครัฐเป็นหลัก ต่างต้องเผชิญกับปัญหาความอยู่รอดเช่นกัน การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสื่อออนไลน์ พร้อมเม็ดเงินโฆษณาที่หลั่งไหลสู่ตลาดโฆษณาออนไลน์ที่กว้างขึ้น คู่แข่งที่เพิ่มขึ้น (ยังไม่นับว่ามีสื่อบุคคลและอินฟลูเอนเซอร์ที่เติบโตขึ้นมาในระยะหลังอีก) และแพลตฟอร์มที่เก็บส่วนแบ่งไปมากขึ้น ยิ่งทำให้รายได้มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น แม้องค์กรสื่อที่ปรากฏในงานวิจัย ‘การจัดการกับงบประมาณโฆษณาจากภาครัฐและเอกชนขององค์กรสื่อ’ จะมีรายได้จากงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาคเอกชนหรือภาครัฐเป็นสัดส่วนเฉลี่ยแค่ 20-30% จากแหล่งรายได้ทั้งหมด แต่ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปกลับส่งผลให้รายได้ส่วนนี้มีความสำคัญ สภาวะเช่นนี้ส่งผลให้อำนาจต่อรองขององค์กรสื่อในการกำหนดรูปแบบหรือเงื่อนไขการรับลงโฆษณาต่ำลงเมื่อเทียบกับองค์กรผู้ลงโฆษณา จนอาจยอมประนีประนอมผ่อนปรนแนวปฏิบัติต่อข้อเรียกร้องขององค์กรผู้ลงโฆษณา เช่น ยอมไม่แปะป้ายแยกระหว่างเนื้อหาที่มีคุณค่าข่าวและเนื้อหาโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจน[4]เพิ่งอ้าง, 197-198. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเนื้อหาโฆษณาถูกพัฒนาจนมีลักษณะคล้ายงานเชิงวารสารศาสตร์ หรือกระทั่งถูกกดดันหรือแทรกแซงการตัดสินใจของกองบรรณาธิการในการนำเสนอ/ไม่นำเสนอข่าว[5]อริน เจียจันทร์พงษ์ และพรรษสิริ กุหลาบ, การปรับตัวขององค์กรข่าวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม: … Continue reading ‘ปัญหาความเป็นอิสระของสื่อ’ (independence) ที่ถูกเคลือบแคลงอยู่แล้วแต่เดิม ก็ยิ่งน่าสงสัยมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น สภาวะที่แพลตฟอร์มมีอำนาจกำหนดการมองเห็นข่าวสารของผู้รับสารบีบให้สื่อจำนวนไม่น้อยต้องปรับแนวทางการนำเสนอข่าวสารเพื่อเพิ่มการเข้าถึง (reach) การมีส่วนร่วม (engagement) หรือยอดรับชมเป็นเป้าหมายสำคัญ เพื่อแย่งชิงโอกาสในการขายพื้นที่โฆษณา อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวกลับกลายเป็นขีดจำกัดในการนำเสนอข่าวที่มีคุณภาพ กล่าวคือ องค์กรสื่อจำต้องยอมประนีประนอมคุณค่าความเป็นข่าวและคุณภาพของเนื้อหา เช่น ลดขนาดข่าว นำเสนอข่าวแบบตัดแปะ ให้ความสำคัญต่อการดึงความสนใจของผู้รับสารผ่านคลิกเบต (clickbait หรือที่ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยแบบเก๋ๆ ว่า ‘พาดหัวยั่วให้คลิก’) หรือนำเสนอข่าวแบบเน้นความเร้าอารมณ์[6]คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน, บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน … Continue reading

องค์กรสื่อต้องแสวงหารายได้เพื่อสร้างการเติบโตและความยั่งยืนของธุรกิจก็จริง แต่การทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารต้องไม่ละทิ้งมาตรฐานวิชาชีพเช่นกัน นั่นคือ ครบถ้วน รอบด้าน สมดุล เป็นธรรม ผ่านการตรวจสอบข้อมูล เป็นอิสระปราศจากการทับซ้อนของผลประโยชน์ และเชื่อถือได้ เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูล ‘คุณภาพ’ ที่ช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์รอบตัวและสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจได้ดีที่สุดในประเด็นที่ส่งผลต่อชีวิตและสังคม รวมไปถึงพิทักษ์ผลประโยชน์สาธารณะผ่านการตรวจสอบอำนาจรัฐและอำนาจทุนเมื่อกระทำการใดที่ขัดต่อผลประโยชน์สาธารณะ[7]Mark Deuze, “What is journalism? Professional identity and ideology of journalists reconsidered,” Journalism 6, no.4 (2005): 442-464, https://doi.org/10.1177/1464884905056815. ซึ่งการทำข่าวให้ได้คุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะย่อมมีต้นทุนการผลิตที่สูง มิพักต้องพูดถึงค่าเสียโอกาสจากการยืนหยัดอยู่บนมาตรฐานวิชาชีพโดยไม่เรียกรับผลประโยชน์เกินสมควร

อย่างไรก็ตาม เมื่อแรงกดดันจากความอยู่รอดทางธุรกิจส่งผลให้องค์กรสื่อจำต้องแลกกับความเป็นอิสระและการทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพสื่ออย่างมีคุณภาพ เส้นแบ่งระหว่างข่าวสารและงานโฆษณาจึงเริ่มพร่าเลือน และหากองค์กรสื่อยังคงแสวงหาความอยู่รอดทางธุรกิจภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ สมดุลของความเป็นสื่อยิ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเลือนหาย อาจกล่าวได้ว่า ยิ่งแสวงหาความอยู่รอดทางธุรกิจ ก็ยิ่งกลับถูกบีบให้สูญเสียความเป็นสื่อ ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็อาจกลายเป็นสิ่งหายากในนิเวศข้อมูลข่าวสาร

‘อยู่รอด’ ไม่เท่ากับ ‘ยั่งยืน’

นั่นคือชะตากรรมที่องค์กรสื่อไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือไม่?

นอกเหนือจากเม็ดเงินแล้ว อะไรคือเงื่อนไขที่องค์กรสื่อต้องบรรลุเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ในทางธุรกิจ โดยไม่สูญเสียความสามารถในการทำหน้าที่เป็นสถาบันทางสังคมที่มีหน้าที่ผลิตข่าวสารคุณภาพอย่างเป็นอิสระและยั่งยืนไปพร้อมกันได้

กรอบแนวคิดของตัวชี้วัด ‘ความสามารถในการดำรงอยู่ของสื่อ’ (Media Viability Indicators: MVI) ของ Deutsche Welle Academie (DW Academie)[8]ตัวชี้วัด Media Viability Indicators ถูกจัดกลุ่มออกเป็น 5 มิติ ได้แก่ 1. การเมือง 2. เศรษฐกิจ 3. ชุมชน 4. เทคโนโลยี 5. เนื้อหาและความเชี่ยวชาญ … Continue reading ช่วยชี้ให้เห็นแนวคิดว่าสื่อควรต้องดำเนินการอย่างไร ภายใต้บริบทแบบใด โดยเงื่อนไข ‘ส่วนหนึ่ง’ ที่น่าจะเป็น ‘จุดตั้งต้น’ หรือ ‘จุดคานงัด’ ที่สำหรับการพัฒนาโมเดลธุรกิจสื่อได้อย่างทรงพลังคือ การสร้างเสถียรภาพทางการเงิน พร้อมความเป็นอิสระทางการเงินผ่านการกระจายแหล่งรายได้ และการจัดองค์กรและนโยบายที่ปิดโอกาสแทรกแซงความเป็นอิสระขององค์กรสื่อ

1. เสถียรภาพทางการเงินขององค์กรสื่อ (Financial Stability of News Media Organization): แม้เสถียรภาพทางการเงินจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของสื่อ แต่เสถียรภาพทางการเงินคือ ‘กระดุมเม็ดแรก’ ที่ทำให้องค์กรสื่อดำรงอยู่ได้ อย่างไรก็ดี MVI เสนอว่าเงื่อนไขที่มีอิทธิพลต่อเสถียรภาพทางการเงินขององค์กรสื่อคือ การมีรายได้เท่าทุนหรือกำไรและความสามารถในการพัฒนาและกระจายแหล่งรายได้ที่หลากหลาย[9]Deutsche Welle Akademie, MVI Methodology (Bonn: Deutsche Welle Akademie, 2020), 31-36. ไม่ว่าจะมาจากแหล่งไหนก็ตาม

ในปัจจุบัน โมเดลการแสวงหารายได้ที่องค์กรธุรกิจสื่อหลายแห่งในโลกเลือกใช้มีหลากหลายแนวทาง เช่น (1) รายได้จากผู้บริโภคสื่อโดยตรง (reader revenue) อย่างรายได้จากระบบสมาชิก (subscription) ที่ผู้บริโภคสื่อต้องจ่ายค่าสมาชิกเพื่อแลกกับการเข้าถึงข่าวสาร รายได้จากระบบ membership ที่ผู้บริโภคสื่อจ่ายเงินสนับสนุนให้แก่องค์กรสื่อ โดยที่ยังเปิดเนื้อหาให้สาธารณะเข้าชมอย่างกว้างขวาง แต่จะมอบสิทธิหรือบริการบางอย่างเพิ่มเติมให้แก่ผู้ที่จ่ายเงินสนับสนุนเป็นการตอบแทนเพื่อสร้างความผูกพันต่อองค์กรและนำไปสู่การสร้างความเป็นชุมชน หรือรายได้จาก crowdfunding ที่ระดมทุนสนับสนุนเป็นรายโครงการหรือชิ้นงาน (2) รายได้จากเงินสนับสนุน (grant) เช่น เงินบริจาคจากมูลนิธิการกุศล องค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร หรือจากปัจเจกบุคคล (3) รายได้จากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากการผลิตข่าวสาร เช่น การจัดอีเวนต์ การจัดคอร์สเรียน หรือการรับผลิตสื่อ ฯลฯ (4) รายได้จากโฆษณา ไม่ว่าจะเป็น การลงโฆษณาโดยตรงจากผู้ลงโฆษณา (native advertisement) หรือ การลงเนื้อหาเชิงโฆษณา (sponsored content) โฆษณาอัตโนมัติ (programmatic advertisement) บนแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่ง MVI เสนอว่ารายได้ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ดิจิทัลไม่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพลตฟอร์มเป็นส่วนใหญ่ โดยองค์กรสื่อทั่วโลกจำนวนไม่น้อยกำลังพยายามพัฒนาแหล่งรายได้หรือเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งที่มาจากผู้บริโภคสื่อโดยตรงให้เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งรายได้ โดยองค์กรธุรกิจสื่อสามารถผสมผสานแหล่งรายได้หลายรูปแบบ เพื่อให้มีที่มาหลากหลายและช่วยกระจายความเสี่ยงในกรณีที่รายได้จากบางแหล่งหดหายไปด้วย

ทั้งนี้ การพัฒนาและกระจายแหล่งรายได้ที่หลากหลายไม่เพียงแค่ช่วยสร้างเสถียรภาพทางการเงินขององค์กรสื่อและลดภาวะการพึ่งพารายได้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่งมากเกินไปเท่านั้น แต่งานวิจัยยังชี้ว่า แนวทางเช่นนี้ช่วยลดแรงกดดันจากองค์กรเอกชนหรือภาครัฐผู้ลงโฆษณา/ผู้มอบเงินสนับสนุน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระทางบรรณาธิการ รวมถึงอาจช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองขององค์กรสื่อต่อองค์กรเอกชนหรือรัฐผู้ลงโฆษณาในกรณีที่มีเงินโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งรายได้ได้เช่นกัน[10]สฤณี และคณะ, การจัดการกับงบประมาณโฆษณาจากภาครัฐและเอกชนขององค์กรสื่อ, 19; Committee of experts on increasing resilience of media, Good practices for sustainable news media financing (Council of Europe, 2024), 9.

2. ความเป็นอิสระทางการเงินขององค์กรสื่อ (Financial Independence of News Media Organization): การกระจายแหล่งรายได้เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยสร้างเกราะปกป้องความเป็นอิสระทางการเงินขององค์กรสื่อได้ด้วย ซึ่ง MVI เสนอว่าความเป็นอิสระทางการเงินขององค์กรสื่อเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อการผลิตข่าวสารที่มีคุณภาพและสะท้อนการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการกระบวนการกลั่นกรองและตัดสินใจของกองบรรณาธิการอย่างแท้จริง โดยต้องปราศจากการแทรกแซงหรืออิทธิพลต่อแนวทางการนำเสนอข่าวสารจากองค์กรซึ่งเป็นแหล่งที่มาของรายได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเอกชน ภาครัฐ หรือองค์กรประเภทอื่นๆ และไม่ว่าเม็ดเงินที่จ่ายให้แก่องค์กรสื่อจะอยู่ในรูปแบบเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ เงินอุดหนุนจากภาครัฐ (กรณีประเทศไทย รัฐไม่มีมาตรการอุดหนุนสื่อ) หรือเงินบริจาคก็ตาม[11]Deutsche Welle Akademie, MVI Methodology, 37-44.

3. โครงสร้างทางธุรกิจ (Business Structure): MVI เสนอว่า โครงสร้างองค์กรสื่อ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างที่เป็นทางการ อย่างโครงสร้างความเป็นเจ้าขององค์กร โครงสร้างการบริหาร โครงสร้างการแบ่งแผนก/ฝ่ายภายในองค์กร หรือโครงสร้างอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การให้คุณค่าหรือความสำคัญต่อวาระใดๆ ของเจ้าของและผู้บริหารองค์กรสื่อ ขีดความสามารถของบุคลากร ความสัมพันธ์ภายในองค์กร ต่างเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระ คุณภาพของเนื้อหาเชิงวารสารศาสตร์ และความสามารถในการดำรงอยู่องค์กรสื่อ[12]เพิ่งอ้าง, 98-104.

องค์ประกอบเงื่อนไขที่องค์กรสื่อต้องพิจารณา เช่น การยึดมั่นขององค์กรสื่อต่อการผลิตเนื้อหาคุณภาพ, การบริหารภายใต้ขีดความสามารถทางธุรกิจเพื่อให้การดูแลกลยุทธ์และการดำเนินงานขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ, การมีกฎเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติในการแยกการทำงานระหว่างฝ่ายบรรณาธิการและฝ่ายขายเพื่อปกป้องความเป็นอิสระทางบรรณาธิการจากแรงกดดันทางธุรกิจ หรือการมีแผนก/บุคคลในองค์กรที่ใช้เวลาส่วนมากในการทำหน้าที่แสวงหารายได้ เป็นต้น[13]เพิ่งอ้าง.

องค์กรสื่อไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ แต่ระบบนิเวศต้องเอื้ออำนวยให้สื่อเป็นสื่อ

ท่ามกลางวิกฤตธุรกิจสื่อทั่วโลก องค์กรสื่อต่างพยายามแสวงหาและทดลองโมเดลทางเลือกใหม่ในการประกอบธุรกิจ แม้ในทางปฏิบัติจะไม่มีโมเดลแบบ ‘เสื้อเหมาโหล’ ที่พอดีตัวกับทุกคน แต่เงื่อนไขเหล่านี้คือหลักยืนเบื้องต้นที่ช่วยให้สื่อยังคงเป็นสื่อต่อไป

การพัฒนาโมเดลธุรกิจอาจเป็นจุดคานงัดสำคัญที่ทำให้องค์กรสื่อสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้และสามารถผลิตข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้ แต่เมื่อองค์กรสื่อคือสถาบันทางสังคม องค์กรสื่อจึงไม่สามารถถูกมองแยกออกจากระบบนิเวศโดยรวมได้

MVI เสนอว่า ความอยู่รอดอย่างยั่งยืนขององค์กรสื่อยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์กรสื่อ หรือไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์สื่อทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมของผู้รับสาร ความเชื่อมั่นของผู้รับสารต่อสื่อ ความรู้เท่าทันสื่อของพลเมือง สภาพตลาดอุตสาหกรรมข่าว เทคโนโลยีดิจิทัล ไปจนถึงสภาพแวดล้อมทางการเมือง การมีกรอบกฎหมายเอื้อต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอหน้า หรือสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแรงเพียงพอสำหรับการดำรงอยู่ขององค์กรสื่อและการบริโภคสื่อของผู้รับสาร เป็นต้น[14]Deselaers, James, Mikhael, Schneider, More than Money: Rethinking Media Viability in the Digital Age. ดังนั้น การทำให้องค์กรสื่อสามารถผลิตข่าวสารคุณภาพอย่างเป็นอิสระและยั่งยืนพร้อมระบบนิเวศที่เอื้อให้ที่เอื้อให้เกิดข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจึงยังมีจุดคานงัดจุดอื่นต้องปรับแก้เพื่อให้สื่อสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อได้อย่างแท้จริง

References
1 “Digital News Report 2025: Thailand,” Reuters Institute for the Study of Journalism, https://reutersinstitute.politics.ox.ac.uk/digital-news-report/2025/thailand (เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2025).
2 “Google, Meta, and Amazon Generate Over 60% of Global Digital Advertising Revenue,” Stocklytics, https://stocklytics.com/content/google-meta-and-amazon-generate-over-60-of-global-digital-advertising-revenue/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2025).
3 Peter Deselaers, Kyle James, Roula Mikhael, Laura Schneider, More than Money: Rethinking Media Viability in the Digital Age (Bonn: Deutsche Welle Akademie, 2019), 2.
4 เพิ่งอ้าง, 197-198.
5 อริน เจียจันทร์พงษ์ และพรรษสิริ กุหลาบ, การปรับตัวขององค์กรข่าวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม: กรณีศึกษาองค์กรสื่อกระแสหลัก (มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2022), บทสรุปผู้บริหาร.;เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และธิปไตร แสละวงศ์, รัฐและการแทรกแซงสื่อ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2558), บทสรุปผู้บริหาร.
6 คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน, บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 53 (2025), 6-7.
7 Mark Deuze, “What is journalism? Professional identity and ideology of journalists reconsidered,” Journalism 6, no.4 (2005): 442-464, https://doi.org/10.1177/1464884905056815.
8 ตัวชี้วัด Media Viability Indicators ถูกจัดกลุ่มออกเป็น 5 มิติ ได้แก่ 1. การเมือง 2. เศรษฐกิจ 3. ชุมชน 4. เทคโนโลยี 5. เนื้อหาและความเชี่ยวชาญ โดยแต่ละมิติประกอบไปด้วยตัวชี้วัดหลัก 5 ตัว (รวม 25 ตัว) ซึ่งสามารถแบ่งตามระดับการวิเคราะห์ได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. ระบบนิเวศโดยรวมของประเทศ 2. เครือข่าย และ 3. องค์กรสื่อ ซึ่งตัวชี้วัดทั้งหมดจะถูกออกแบบมาให้สะท้อนความสามารถในการดำรงอยู่ของสื่อในภาพรวม อย่างไรก็ตาม Deutsche Welle Akademie ระบุว่า ตัวชี้วัดถูกออกแบบมาให้ใช้วัดได้หลากหลายวิธี โดยสามารถดึงตัวชี้วัดหลักมาใช้ได้ตามความเหมาะสมของ ‘หัวข้อเฉพาะ’ ที่ต้องการวัด โดยในที่นี้ ผู้เขียนดึงเงื่อนไขจากตัวชี้วัดที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจขององค์กรสื่อที่ส่งผลต่อการผลิตเนื้อหาเชิงวารสารศาสตร์
9 Deutsche Welle Akademie, MVI Methodology (Bonn: Deutsche Welle Akademie, 2020), 31-36.
10 สฤณี และคณะ, การจัดการกับงบประมาณโฆษณาจากภาครัฐและเอกชนขององค์กรสื่อ, 19; Committee of experts on increasing resilience of media, Good practices for sustainable news media financing (Council of Europe, 2024), 9.
11 Deutsche Welle Akademie, MVI Methodology, 37-44.
12 เพิ่งอ้าง, 98-104.
13 เพิ่งอ้าง.
14 Deselaers, James, Mikhael, Schneider, More than Money: Rethinking Media Viability in the Digital Age.

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2025 101pub.org | All rights reserved.