ประเด็นสำคัญ
- นโยบายปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรืออาชญากรรมข้ามชาติมุ่งเป้าที่มาตรการความมั่นคง ทั้งๆ ที่ชีวิตชายแดนเต็มไปด้วยความทับซ้อนของประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากความมั่นคง
- แผนชายแดนระดับชาติครอบคลุมความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงมนุษย์ และการเติบโตร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในทางปฏิบัติกลับแยกส่วน เน้นความมั่นคง และขาดการรักษาสมดุลอย่างรอบด้าน
- ทางเลือกเชิงนโยบายคือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ควบคู่กับมาตรการความมั่นคง และกระชับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
คราใดที่ปัญหายาเสพติดระบาด แรงงานต่างด้าวทะลัก อาชญากรหนีออกทางช่องทางธรรมชาติ ศูนย์รวมพนันออนไลน์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นประเด็นที่จับตาของสังคม สมมติฐานแรกที่เกิดขึ้นคงหนีไม่พ้น ความหละหลวมของมาตรการควบคุมชายแดน หรือเรียกได้ว่าชายแดนรับจบทุกปัญหา
ชายแดนนั้นบริหารจัดการยาก นอกจากสภาพพรมแดนธรรมชาติที่ยากต่อการตรวจตรา ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเปิดโอกาสให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การข้ามแดนมาหางานทำ การค้ามนุษย์ แหล่งผลิตยาเสพติด ทุนสีเทา พนันออนไลน์ ตลอดจนการเป็นฐานที่มั่นของอาชญากรข้ามชาติ ปัญหาชายแดนคอยกัดเซาะชีวิตและเศรษฐกิจอย่างไม่จบสิ้น การใช้นโยบายความมั่นคง ตรวจตราเข้มงวด สกัดจับ ปราบปรามจึงดูเหมือนหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ชายแดนไม่ได้มีเฉพาะด้านมืดที่เป็นภัยคุกคามเท่านั้น ชายแดนยังทำหน้าที่ในฐานะประตูการค้า เป็นพื้นที่เศรษฐกิจแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่ขับเคลื่อนด้วยวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนชายแดนที่แขวนอยู่กับความผันผวนของสถานการณ์และนโยบายความมั่นคง หลายครั้งที่มาตรการระงับการค้าขาย หรือปิดด่านพรมแดนได้หยุดปากท้องและวิถีชีวิตของชุมชนชายแดน
101 PUB ชวนสำรวจสภาพการณ์และทิศทางนโยบายชายแดน ท่ามกลางภัยคุกคามสมัยใหม่ที่มีพลวัตและไร้พรมแดนมากขึ้น แต่ชีวิตผู้คนยังดำรงชีวิตตามวิถีชุมชนและเศรษฐกิจชายแดน เพื่อเสนอแนวทางการออกแบบนโยบายชายแดนที่สมดุลระหว่างความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ในแบบที่ปากท้องคนชายแดนอยู่ได้ อาชญากรอยู่ยาก
ชีวิตชายแดนไม่ได้มีแค่ทุนสีเทา
เมืองชายแดนเต็มไปด้วยความทับซ้อนทั้งมิติการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในอดีต เมืองชายแดนเคยมีเสน่ห์ดึงดูดผู้คนทั่วประเทศให้เดินทางมาท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย เช่น ตลาดแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก จ.เชียงราย, ตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว, ตลาดอินโดจีน จ.มุกดาหาร, ตลาดริมเมย จ.ตาก หรือตลาดด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี แม้ว่าสภาพแวดล้อมของเมืองชายแดนจะเปลี่ยนไปหลังการระบาดของโควิด-19 ที่มีการปิดด่านพรมแดน รวมถึงการขยายตัวของ E-Commerce ส่งผลให้ตลาดชายแดนหลายแห่งซบเซาลง เป็นช่องโหว่ให้ธุรกิจสีเทาแทรกซึมมาขยายอิทธิพล แต่เมืองชายแดนยังคงมีสถานะเป็นช่องทางนำเข้า-ส่งออกสินค้า จุดเชื่อมต่อการขนส่งข้ามพรมแดน และมีวิถีชีวิตและสังคมที่มักถูกมองข้ามจากนโยบายความมั่นคง

ชายแดนในฐานะประตูการค้า
ปี 2567 การค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และมาเลเซีย รวมกันมีมูลค่าสูงถึง 976,921 ล้านบาท (ขยายตัวจากปี 2566 ประมาณ 5.1%) โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านมูลค่า 602,132 ล้านบาท (ขยายตัวจากปีก่อน 3.8%) คิดเป็น 5.71% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และนำเข้าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน 374,789 ล้านบาท (ขยายตัวจากปีก่อน 7.2%) คิดเป็น 3.44% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย[1]กรมการค้าต่างประเทศ. (28 มกราคม 2568). การค้าชายแดนและผ่านแดนไทยเดือนมกราคม 2568 โตต่อเนื่อง +2.7% ส่งออกไปจีน +18.0% เมียนมา +13.9%. Facebook.
แม้ยังไม่อาจพึ่งเป็นตลาดช่องทางการค้าหลักให้กับประเทศได้ แต่หากเทียบในแง่ต้นทุนการขนส่งที่ต่ำ ระยะทางสั้น และใช้เวลาขนส่งรวดเร็ว ประกอบกับอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น สะท้อนว่าประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นตลาดที่สำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค (Regional Supply Chains) ซึ่งอาจถือเป็นกลไกรองรับความเสี่ยง (Safety Net) จากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกจากสงครามการค้าได้ ทั้งนี้มูลค่าข้างต้นยังไม่นับรวมการค้าผ่านแดนไปยังประเทศที่สามซึ่งมีอัตราการเติบโตเช่นเดียวกัน
ไม่ว่าสถานการณ์ชายแดนในมิติความมั่นคงจะเป็นเช่นไร แต่ชายแดนยังคงมีสถานะเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงภูมิภาค ทั้งนี้ การค้าชายแดนจะเติบโตต่อไปได้ต้องอาศัยระบบนิเวศชายแดนที่มีเสถียรภาพและปลอดภัย
ชายแดนในมิติการค้าแบบไม่เป็นทางการ
สถิติมูลค่าการค้าข้างต้นเก็บจากการขนส่งผ่านพิธีการศุลกากรซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นทางการ แต่พื้นที่ชายแดนยังมีเศรษฐกิจฐานรากซึ่งไม่ได้ถูกนับสถิติคือ ‘เศรษฐกิจชายแดนแบบไม่เป็นทางการ’ ซึ่งอยู่ในทั้งรูปแบบการค้าสินค้าและบริการ เช่น การเดินทางข้ามแดนของประชาชนสองฝั่งประเทศเพื่อจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากสร้างรายได้ให้กับร้านค้าน้อยใหญ่ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยแล้ว ยังสร้างรายได้ให้แรงงานรายวัน/รายเดือน คนรับจ้างแบกหาม คนขับเรือข้ามฟาก ฯลฯ
ชายแดนในมิติสังคมและวัฒนธรรม
อีกหนึ่งจุดเด่นของชายแดนคือ พื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมร่วมของประชาชนสองฝั่งประเทศ มีสายสัมพันธ์เครือญาติที่ถูกแบ่งแยกด้วยเส้นเขตแดนของรัฐชาติสมัยใหม่ ดังปรากฏการเดินทางข้ามแดนเพื่อไปไหว้พระขอพรในประเทศเพื่อนบ้าน เที่ยวงานเทศกาล หรือเยี่ยมเยียนสานสัมพันธ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทย
เหล่านี้คือชีวิตชายแดนที่มิอาจประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินได้ และมักถูกมองข้ามจากการออกแบบนโยบายชายแดนที่ให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติเป็นตัวตั้ง ดังนั้นเมื่อเกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศ หรืออาชญากรรมข้ามชาติ รัฐบาลสองประเทศใช้มาตรการที่เข้มงวด หรือประกาศปิดด่านพรมแดน สิ่งที่สูญเสียไปไม่ใช่เฉพาะเม็ดเงินจากการนำเข้า-ส่งออกระหว่างประเทศ มูลค่าจากการท่องเที่ยว แต่รวมถึงวิถีชีวิตและปากท้องของประชาชนทั้งสองฝั่งประเทศ
มิจฉาชีพ vs. คนชายแดน ใครอยู่ใครไปด้วยนโยบายปิดชายแดน?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าชายแดนก็มีเรื่องสีเทาหรือกระทั่งดำตั้งแต่การเป็นฐานการผลิตยาเสพติด คาสิโน และการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นตำนานโด่งดังอย่างสามเหลี่ยมทองคำและบริเวณอื่นๆ รวมถึงปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ซึ่งก็คือการใช้พื้นที่ชายแดนของไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานที่ตั้งของกลุ่มอาชญากรรมหลอกลวงให้เหยื่อโอนเงินให้ หรือรู้จักกันในชื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยปัญหานี้ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นที่คาดการณ์ว่าในปี 2566 มีเหยื่อสูญเสียเงินมูลค่ากว่า 18,000-37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การเติบโตของกลุ่มธุรกิจสีเทานี้ได้ส่งผลให้ชายแดนในลุ่มแม่น้ำโขงก้าวขึ้นเป็นฐานในการก่ออาชญากรรมออนไลน์ระดับโลก[2]United Nations Office on Drugs and Crime. (2024, October). Transnational organized crime and the convergence of cyber-enabled fraud, underground banking and technological innovation in Southeast Asia: A shifting threat landscape. United Nations Office on Drugs and Crime, Regional Office for Southeast Asia and the Pacific.
แม้ว่าส่วนใหญ่อาชญากรรมออนไลน์จะตั้งฐานอยู่ในพรมแดนของประเทศเพื่อนบ้าน แต่ขบวนการเหล่านี้จำเป็นต้องพึ่งพาชายแดนไทยด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง สัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งซื้อหรือลักลอบมาจากฝั่งไทย แรงงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งที่สมัครใจและเป็นเหยื่อถูกหลอกไปทำงานก็ต้องเดินทางไปจากฝั่งไทย สถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นประเด็นความมั่นคงชายแดนในรูปแบบใหม่ซึ่งนอกจากสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแล้ว ยังกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบายชายแดนดังที่นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ในนโยบายที่ 8-9 ซึ่งระบุว่า
“รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้นควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด … รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงที โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้านและสร้างกลไกร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์”[3]สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (12 กันยายน 2567). คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี.
หลังจากนั้น วันที่ 30 มกราคม 2568 นายกรัฐมนตรีได้เปิดปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด Seal Stop Safe ผนึกกำลัง 51 อำเภอชายแดน โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่าภายใต้นโยบายนี้ “จำเป็นต้องเพิ่มกำลัง ผนึกกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้ง 51 ชายแดน เพื่อให้เกิดความมั่นคงขึ้น ในส่วนของรัฐพร้อมดูแลสนับสนุนทหารและอาสาสมัครอย่างครอบคลุมทุกมิติ” นอกจากนี้ยังดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาอาชญากรรมตามแนวชายแดน รวมถึงขบวนการค้ามนุษย์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการลักลอบเผาป่าต้นเหตุของฝุ่น PM 2.5
นโยบายนี้กำหนดระยะเวลาดำเนินงานไว้ 6 เดือนระหว่างกุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2568 ตั้งเป้าผลงานที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การไม่มีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดผ่านด่านตรวจ จุดตรวจ และท่าเทียบเรือ บริเวณชายแดนทั้งช่องทางปกติและช่องทางธรรมชาติ และการลักลอบขนส่งผ่านระบบโลจิสติกส์ พัสดุภัณฑ์ เป็นต้น
ทั้งนี้ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่าเคยดำเนินมาตรการการลักษณะนี้มาก่อนแล้ว แต่ขาดความร่วมมือและการสื่อสารที่เพียงพอ ซึ่งพื้นที่ชายแดนระยะทางกว่า 2,400 กิโลเมตร การดูแลของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจอาจไม่ทั่วถึง[4]กรมประชาสัมพันธ์. (30 มกราคม 2568). นายกฯ สั่งผนึกกำลัง 51 อำเภอชายแดน เปิดปฏิบัติการ “Seal Stop Safe” สางปัญหายาเสพติด.
สาระสำคัญของนโยบาย Seal Stop Safe คือการยกระดับความเข้มงวดการเข้า-ออก จุดผ่านแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ตรวจตราแรงงานต่างด้าว ให้หน่วยงานที่ให้บริการด้านสาธารณูปโภค เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค ตรวจสอบการจำหน่ายไฟฟ้าและน้ำประปาไม่ให้สนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย ส่วนจังหวัดที่ติดกับชายแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมียนมาและสปป.ลาว ให้ประสานงานเพื่อยกระดับความเข้มงวดในการข้ามแดนทุกรูปแบบ ตั้งแต่ด่านถาวร จุดผ่อนปรนการค้า จุดผ่อนปรนพิเศษ จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนเพื่อการท่องเที่ยว และช่องทางธรรมชาติ และให้มีระบบติดตามประเมินผลนำมาพิจารณาความดีความชอบแก่ผู้ปฏิบัติงาน[5]สำนักข่าวอินโฟเควสท์. (27 กุมภาพันธ์ 2568). มท.1 เดินหน้าปฏิบัติการ Seal Stop Safe สั่งยกระดับคุมเข้มชายแดนไทย หยุดวงจรยาเสพติด-อาชญากรรม.
กองทัพบกในฐานะหน่วยงานหลักในพื้นที่ชายแดนได้จัดสรรกำลังพลตามนโยบาย Seal Stop Safe ลาดตระเวนและตรวจตราพื้นที่ชายแดน โดยใช้เทคโนโลยีและยุทโธปกรณ์มาเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันชายแดน โดยตั้งแต่ตุลาคม 2567 สามารถจับกุมขบวนการค้ายาเสพติด ควบคุมผู้ลักลอบเข้าเมือง ลักลอบค้าสิ่งของผิดกฎหมาย และตรวจยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ส่งสัญญาณซึ่งคาดว่าจะเป็นเครื่องมือของแก๊งคอลเซ็นเตอร์[6]กองทัพบกไทย. (15 กุมภาพันธ์ 2568). ทบ. นำสื่อมวลชนสายทหาร ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยเฉพาะกิจ.
ภายหลังจากปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดมาหลายปี รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนด้วยการตัดกระแสไฟฟ้าที่ส่งไปยังเมียนมา 5 จุดบริเวณจังหวัดเมียวดีและท่าขี้เหล็ก และการระงับการส่งออกน้ำมัน ตามมติที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติครั้งที่ 2/2568 ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568

อย่างไรก็ดี ผู้เฝ้าสังเกตการณ์ในเมียวดีหลายฝ่ายพบว่าอาคารที่ต้องสงสัยว่าเป็นฐานของขบวนการฯ ยังคงเปิดไฟใช้งานตามปกติ ขณะที่ประชาชนไทยทั้งประเทศยังคงได้รับโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยมีข้อสังเกตว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการเตรียมตัวรับมือล่วงหน้าอย่างดี ทั้งเครื่องปั่นไฟ ซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่น และซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว ทดแทนการพึ่งพาจากชายแดนไทย มิหนำซ้ำยังมีตัวชี้วัดเป้าหมายการหลอกลวงเหยื่อด้วยมูลค่าที่สูงขึ้น[7]PPTV Online. (6 กุมภาพันธ์ 2568). ตัดไฟ-ตัดเน็ตแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่สะเทือน ทำงานปกติ-ทำยอดมากกว่าเดิม? PPTVHD36.
อย่างไรก็ตามผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์เท่านั้น แต่วิถีชีวิตคนชายแดนก็โดยผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยราคาค่าน้ำมันในฝั่งเมืองเมียวดีสูงขึ้น ทำให้สถานที่ราชการ ตลาด และโรงพยาบาลในฝั่งเมียนมาต้องใช้เครื่องปั่นไฟและโซลาร์เซลล์ ขณะที่ประชาชนบางส่วนต้องใช้ตะเกียงส่องสว่างในครัวเรือน มาตรการดังกล่าวจึงกระทบต่อประชาชนและสังคมในวงกว้าง[8]ประชาชาติธุรกิจ. (21 กุมภาพันธ์ 2568). ตัดไฟทุบค้าชายแดน 9 หมื่นล้าน ดีเซลราคาพรวด 63บาท/ลิตร. และอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางอ้อมต่อประชาชนไทยพื้นที่ชายแดน เพราะหากโรงพยาบาลในฝั่งเมียนมาไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อาจต้องลักลอบข้ามมาฝั่งไทยทางช่องทางธรรมชาติเพื่อมารักษาพยาบาล หรือหากเกิดการขาดแคลนน้ำมัน เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงอาจเกิดปัญหาการลักลอบเข้าเมืองและการลักขโมยในชุมชนชายแดนของไทย[9]Thai PBS. (5 กุมภาพันธ์ 2568). “มั่นคง” ส่องชายแดนไทย-เมียนมา หลังตัดไฟ-อินเทอร์เน็ต เมียวดี. Thai PBS.
นโยบายซีลชายแดนและการตัดกระแสไฟฟ้าตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าต้นตอของปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมออนไลน์ข้ามฝั่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นเครื่องมือของนโยบายนี้คือการเพิ่มสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่างๆ เพิ่มทรัพยากร เครื่องมือ และงบประมาณเพื่อคุมเข้มตลอดแนวชายแดนไม่ให้มีอะไรเล็ดลอดเข้ามาได้ จึงเกิดคำถามว่านโยบายการซีลชายแดนเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายในการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนเพียงใด แตกต่างจากอำนาจหน้าที่ปกติของหน่วยงานในพื้นที่ชายแดนอย่างไร และหากรัฐบาลจะรับมือกับประเด็นชายแดนที่มีแนวโน้มความแปรผันและทวีความรุนแรงขึ้น นโยบายลักษณะนี้จะสร้างเสถียรภาพด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และชุมชนชายแดนได้ยั่งยืนเพียงใด
รัฐบาลวางแผนบริหารชายแดนแบบสมดุล แต่ทำจริงใช้ความมั่นคงนำ
โจทย์ที่รัฐบาลและสังคมต้องคิดต่อคือ แม้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะมีต้นตออยู่ที่ชายแดน แต่หลังการใช้มาตรการเข้มงวดได้ประจักษ์ชัดว่าขบวนการเหล่านี้ก่ออาชญากรรมในพื้นที่ไซเบอร์ ไม่ได้ยึดติดฐานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์หรือกายภาพ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบและก่ออาชญากรรมอย่างไร้พรมแดนต่อไปได้
ณ วันนี้ปัญหาชายแดนจึงมิใช่เรื่องของคนในปริมณฑลไกลปืนเที่ยงอีกต่อไป แต่รุกล้ำเข้ามาถึงโทรศัพท์มือถือและบัญชีธนาคารของคนไทยทั่วประเทศ และเดิมพันด้วยวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนด้วยความยาวของพรมแดนไทยยาวกว่า 5,671 กิโลเมตร แน่นอนว่ารัฐไม่สามารถทุ่มสรรพกำลังทั้งทรัพยากรมนุษย์และงบประมาณลงไปควบคุมตลอดแนวเขตแดนทุกตารางนิ้วได้ ประเทศไทยจะดำเนินนโยบายชายแดนอย่างไร และมีทางเลือกในการบริหารกิจการชายแดนที่สามารถรักษาสมดุลความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม พร้อมรับมือกับภัยคุกคามสมัยใหม่อย่างไร

ปัจจุบันการบริหารกิจการชายแดนอยู่ภายใต้แผนหลักสองฉบับ (รองจากยุทธศาสตร์ชาติ) ได้แก่ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) และแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง (พ.ศ. 2566-2570) แผนดังกล่าวกำหนดบทบาทและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยโครงสร้างนโยบายและแผนชายแดน มีรายละเอียดดังนี้
นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชายแดน ดังนี้
หมวดประเด็นความมั่นคง นโยบายและแผนความมั่นคงที่ 3 การรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติพื้นที่ชายแดน “มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและประชาชนในพื้นที่ มีความมั่นคง ปลอดภัย มีศักยภาพในการป้องกันและแก้ไขภัยคุกคามทุกรูปแบบ มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของมนุษย์อย่างสมดุล และเป็นพื้นที่แห่งความร่วมมือกับประเทศรอบบ้านในการป้องกันภัยคุกคามและปัญหาความมั่นคง แก้ไขปัญหาคงค้าง รวมถึงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยสร้างสภาพแวดล้อมในพื้นที่ชายแดนให้มีความปลอดภัยและมีศักยภาพในการป้องกันและแก้ไขภัยคุกคาม ยกระดับและพัฒนาจุดผ่านแดนให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันภัยคุกคามและเชื่อมโยงเศรษฐกิจ การค้า และการสัญจรข้ามแดน ตลอดจนสามารถแก้ปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศรอบบ้านให้เกิดความสมดุลระหว่างผลประโยชน์แห่งชาติและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” (กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานเจ้าภาพ)[10]สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ. (2565). นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566–2570).
การกำหนดนโยบายชายแดนระดับชาติให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลระหว่างความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงมนุษย์ในฐานะที่เป็นองคาพยพของระบบนิเวศชายแดน ซึ่งมีทั้งมิติการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติและความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านทับซ้อนกันอยู่ นโยบายและแผนระดับชาติฉบับนี้จึงเป็นกรอบใหญ่ในการกระจายนโยบายสู่การปฏิบัติของแต่ละหน่วยงาน
ขณะที่ แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งเป็นแผนรองรับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงและนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติฯ ให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงกับการส่งเสริมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการชายแดน กำหนดตัวชี้วัด 4 ประการ ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบป้องกันตามแนวชายแดนด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างน้อยร้อยละ 85 ของจังหวัดชายแดนทั้งหมดภายในปี 2570 2) มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี 3) เป้าหมายในการสำรวจและจัดหาหลักเขตของไทยอยู่ที่ร้อยละ 80 ภายในปี 2570 4) ความสำเร็จของการพัฒนาระบบสนับสนุนบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนสำเร็จร้อยละ 85 ในปี 2570 โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงาน 9 ประการ ดังนี้
แนวทางดำเนินการ | หน่วยงานรับผิดชอบหลัก | แผนปฏิบัติราชการ (2566-2570) |
1. พัฒนาระบบป้องกันพื้นที่ชายแดนระบบป้องกันชายแดน | กระทรวงกลาโหม | แผนฯ 5 ปี กระทรวงกลาโหม, กองบัญชาการกองทัพไทย |
2. พัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลการสัญจรข้ามแดน | สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง | แผนฯ 5 ปี สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง |
3. พัฒนาความเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน | กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง | แผนฯ 5 ปี กระทรวงการคลัง, กรมศุลกากร |
4. การเตรียมความพร้อมในการยกระดับจุดผ่านแดน | กระทรวงมหาดไทย | แผนฯ กระทรวงมหาดไทย, กรมการปกครอง |
5. การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ชายแดน | กระทรวงแรงงาน | แผนฯ 5 ปี กระทรวงแรงงาน, กรมจัดการงาน |
6. การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพข้ามแดน | กระทรวงสาธารณสุข | แผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุขชายแดน |
7. พัฒนาระบบการติดตาม เฝ้าระวัง แจ้งเตือน ป้องกันโรคระบาดในพืชและสัตว์ รวมถึงควบคุมสุขอนามัยพืชและสุขอนามัยสัตว์ข้ามพรมแดน | กระทรวงเกษตรฯ | แผนฯ 5 ปี กระทรวงเกษตร, กรมวิชาการเกษตร, กรมปศุสัตว์, กรมประมง |
8. ดำเนินการจัดระเบียบหรือควบคุมพื้นที่ที่มีปัญหาเขตแดน | สภาความมั่นคงแห่งชาติ | แผนฯ 5 ปี กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ,กรมแผนที่ทหาร |
9. จัดทำฐานข้อมูลความมั่นคงชายแดน | สภาความมั่นคงแห่งชาติ | แผนปฏิบัติการด้านการบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง |
ที่มา: สรุปข้อมูลจาก แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง (พ.ศ. 2566-2570)[11]สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ. (2566). แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง (พ.ศ. 2566–2570).
แผนฯ ใหญ่ส่งต่องานชัดเจน แผนฯ ย่อยแยกกันทำ?
เมื่อศึกษาลงไปในรายละเอียดการส่งต่อแผนนโยบายภาพใหญ่สู่การปฏิบัติจริงที่บรรจุในแผนปฏิบัติราชการของแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง พบว่าแต่ละหน่วยงานเจ้าภาพได้บรรจุประเด็นชายแดนในแผนปฏิบัติราชการตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ ส่งผลให้การดำเนินงานโครงการตามแผนฯ ของแต่หน่วยงานมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายที่ขาดการเชื่อมโยงระหว่างกันตามเป้าประสงค์ของแผนระดับชาติ
ตัวอย่าง แผนปฏิบัติราชการ (ปี 2566-2570) ของหน่วยงานรับนโยบายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชายแดน
กระทรวงกลาโหม
- ผลผลิต/โครงการ: 2.3.4.7 โครงการสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง (อาทิ การจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน … การค้ามนุษย์ การหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย การคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาติพื้นที่ชายแดนฯ)
- ตัวชี้วัด: 1) ความสำเร็จของการจัดกำลังสนับสนุนการปฏิบัติตามแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติและปัญหาวิกฤติด้านความมั่นคงจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ ไม่น้อยกว่า 90% ของภารกิจที่ได้รับมอบ 2) ความสำเร็จในการบูรณการกับหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง 100% ของภารกิจที่ได้รับมอบ[12]กระทรวงกลาโหม. (2566). แผนปฏิบัติราชการ ระยะ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐). สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม.
กระทรวงมหาดไทย: ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน
- ผลผลิต/โครงการ: 4) การอำนวยการและประสานงานนโยบายกิจการต่างประเทศ กิจการชายแดน และผู้อพยพ
- ตัวชี้วัด: จำนวนครั้งในการเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ และจำนวนครั้งในการออกติดตามพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา 40 ครั้ง เป็นต้น
- ผลผลิต/โครงการ: 7) ผลผลิตการรักษาความมั่นคงภายใน
- ตัวชี้วัด: จำนวนครั้งในการออกหนังสือผ่านแดน 2 ล้านครั้ง เป็นต้น[13]กระทรวงมหาดไทย. (2566). แผนปฏิบัติราชการ ระยะ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐). สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย.
กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง
- ผลผลิต/โครงการ: 4.2.1 เรื่อง พัฒนากระบวนการงานทางศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและระบบโลจิสติกส์ แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ในพื้นที่ชายแดน/เขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น โครงการวัดระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปล่อยสินค้า TRS เป็นต้น
- ตัวชี้วัด: 1) ระดับความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ต่ำกว่า 90% 2) ระยะเวลาภายใต้กระบวนการ TRS คงที่หรือลดลง 3)การปรับกระบวนงานทางศุลกากรให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปตามแผนดิจิทัลระยะ 5 ปี
- ผลผลิต/โครงการ: 4.2.3 เรื่อง พัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากรให้มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงกัน เช่น โครงการพัฒนาระบบ CCTV และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อการควบคุมทางศุลกากร ระยะที่ 4 รองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น
- ตัวชี้วัด: 1) ระดับความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อการดำเนินงานด้านการปกป้องสังคมของกรมศุลกากร ไม่ต่ำกว่า 90% 2) สัดส่วนการตรวจพบความผิดจากการใช้ข้อมูลล่วงหน้าต่อการจับกุมรวมเท่ากับหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยของสัดส่วน 3 ปีย้อนหลัง 3) จำนวนการจับกุมคดีลักลอบและหลีกเลี่ยงภาพรวมเท่ากับหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยของผลการจับกุม 3 ปีย้อนหลัง เป็นต้น[14]กรมศุลกากร. (2566). แผนปฏิบัติราชการ ระยะ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐). กองยุทธศาสตร์และแผนงาน.
จากตัวอย่างข้างต้นแสดงถึงบทบาทของแต่ละหน่วยงานซึ่งนำนโยบายชายแดนมาสู่การปฏิบัติ แต่สิ่งที่ตกหล่นจากการนำนโยบายชายแดนไปปฏิบัติคือการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการรักษาสมดุลระหว่างความมั่นคงกับมิติของความมั่นคงมนุษย์ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการเติบโตร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงปรากฏแนวทางการจัดการปัญหาชายแดนที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงและการเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยของชายแดนเป็นวาระหลัก
กรณีศึกษา: ชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ซีลชายแดนเข้ม แต่แลกมาด้วยผลกระทบเชิงลบ
ปัญหาชายแดนสีเทาเกิดขึ้นทั่วโลกไม่ได้มีแค่ไทยเท่านั้นที่ใช้นโยบายซีลชายแดน หลังโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2568 ประกาศนโยบาย “ปิดผนึกชายแดนตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง” (Seal the Border on Day 1) ออกคำสั่งขับไล่และส่งกลับผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายออกจากชายแดนทางใต้ของสหรัฐฯ เนื่องจากทรัมป์มองว่าผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายสร้างปัญหาให้กับชาวอเมริกัน ทั้งด้านการจ้างงาน สวัสดิภาพ และความปลอดภัยของสาธารณะ ความกดดันในโรงเรียน โรงพยาบาล และชุมชน ในแต่ละปีสหรัฐฯ ต้องสูญเสียเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับผู้อพยพซึ่งทรัมป์ประกาศว่าจะใช้มาตรการทางกฎหมายทุกช่องทางที่มีเพื่อแก้ไขวิกฤตนี้[15]The White House. (2025, January 22). Fact sheet: President Donald J. Trump protects the states and the American people by closing the border to illegals via proclamation.
พื้นที่ชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก เป็นศูนย์กลางของอาชญากรรมและธุรกิจสีเทา ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และการฟอกเงิน นโยบายหลักที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้คือมาตรการเข้มงวดบริเวณชายแดน เช่น สร้างกำแพงกั้นแนวพรมแดน ใช้เทคโนโลยีสอดแนม ตรวจจับผู้อพยพและส่งกลับ รวมถึงการใช้มาตรทวิภาคีกดดันเม็กซิโกให้ปราบปรามอาชญากรรมภายในประเทศอย่างเด็ดขาด

แต่ผลที่ตามมาก่อให้เกิดผลกระทบในมุมกลับ เนื่องจากกลุ่มอาชญากรสามารถปรับตัวและหาช่องทางในการลำเลียงยาเสพติดด้วยวิธีการใหม่ๆ เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับ เช่น ขุดอุโมงค์ใต้ดิน ใช้โดรนลำเลียงของผิดกฎหมาย สรรหาวัตถุดิบใหม่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ขณะที่ผู้อพยพก็หลีกเลี่ยงการตรวจคนเข้าเมือง โดยหันไปพึ่งกลุ่มอาชญากรจึงตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ สะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่ประเทศที่มีสรรพกำลังและงบประมาณที่เพียบพร้อมก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาชายแดนอย่างยั่งยืนได้ โดยการใช้มาตรการความมั่นคงนำ ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มอาชญากรยังสามารถปรับตัวและสรรหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อรับมือกับมาตรการที่เข้มงวดได้เป็นอย่างดี[16]Dudley, S., Asmann, P., & Dittmar, V. (2023, June). Unintended consequences: How US immigration policy foments organized crime on the US-Mexico border. InSight Crime.
ชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกเป็นบทเรียนที่สอดคล้องกับนโยบายการแก้ปัญหาชายแดนของไทยที่ต้องคิดต่อว่าการแก้ปัญหาโดยให้ความสำคัญกับมิติความมั่นคงเป็นหลักเป็นเพียงทางเลือกเดียวหรือไม่
ฟื้นชีวิตชายแดน ค้าขายเติบโต คนชายแดนอยู่ได้ มิจฉาชีพอยู่ยาก
แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนมีความซับซ้อนและมิอาจละเลยต่อประเด็นความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ ดังนั้นความมั่นคงจึงยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแก้ปัญหาชายแดน แต่บริบทสถานการณ์โลกสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไป อาชญากรข้ามชาติปรับกลยุทธ์ดำเนินงานแบบไร้พรมแดน จัดสรรรายได้และผลกำไรผ่านการฟอกเงินและสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งยากต่อการตรวจจับทางกายภาพ บางมาตรการอาจจึงไม่ได้สร้างผลกระทบให้เหล่าอาชญากร แต่กลับสร้างผลกระทบทางอ้อมเป็นบาดแผลให้กับสังคม ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ชายแดนที่ต้องทำมาค้าขายลำบากขึ้น ปริมาณอุปสงค์-อุปทานผันแปรไปตามนโยบายจากส่วนกลาง การเดินทางข้ามแดนตามวิถีท้องถิ่นได้ยากขึ้น จึงเป็นโจทย์สำคัญต่อการออกแบบนโยบายชายแดนที่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่

แก้ปัญหาทุนเทาชายแดนที่ต้นตอ
สาเหตุที่พื้นที่ชายแดนกลายเป็นที่นิยมของธุรกิจสีเทามาจากปัจจัยหลักคือช่องว่างการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองชายแดนในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในพื้นที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับบางพื้นที่อำนาจรัฐบาลส่วนกลางเข้าไม่ถึง อยู่ใต้อิทธิพลของกองกำลังชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมียนมา จึงเป็นช่องโหว่ให้ธุรกิจสีเทาเลือกเข้ามาใช้พื้นที่ชายแดนดำเนินกิจการเพราะห่างไกลจากการโดนปราบปราม ยิ่งไปกว่านั้นการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) ในหลายประเทศมีการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานแล้ว แต่ขาดการใช้ประโยชน์ และขาดการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงคาสิโนและศูนย์รวมความบันเทิงที่ไม่สร้างผลกำไร กลุ่มธุรกิจสีเทาจึงใช้ช่องว่างเหล่านี้มาเป็นฐานในการทำอาชญากรรมออนไลน์
เพื่ออุดช่องว่างให้ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านสามารถแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ในพื้นที่ชายแดนร่วมกันได้ ทางเลือกในการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนควบคู่กับการปราบปรามคือ การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนร่วมกันระหว่างสองประเทศ เช่น การเจรจาระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย-สปป.ลาว เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2568 ที่เน้นย้ำว่าต้นตอสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์จะได้ผลยั่งยืนต้องทำไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศ[17]Thai PBS. (20 กุมภาพันธ์ 2568). ไทย-ลาว จับมือปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หนุนค้าชายแดน. Policy Watch.
นอกจากนี้การพัฒนา SEZ ที่มีอยู่มาเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนได้ ผ่านการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมสีเขียว เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เกษตรแปรรูป การผลิตอาหารแห่งอนาคต อาหารปลอดภัย ฯลฯ โดยใช้กลไกเชิงสถาบันและกลไกเชิงกฎหมายมาบริหารจัดการ SEZ ให้มีสิทธิประโยชน์ที่ดึงดูดการลงทุน มีกลไกตรวจสอบที่มาของแหล่งทุนปิดช่องทางการฟอกเงิน มีตลาดรองรับ สร้างการจ้างงาน สร้างรายได้ให้ท้องถิ่นชายแดน พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ยกระดับการบริการสมัยใหม่ และร้อยเรียงห่วงโซ่คุณค่าระดับอนุภูมิภาค (Sub-Regional Value Chains) ร่วมกันระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อันเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการยับยั้งบทบาทของอาชญากรข้ามชาติในพื้นที่ชายแดน โดยที่ผ่านมาการพัฒนา SEZ ที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากความคุ้มทุนของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่ชายแดน ดังนั้นการจะปัดฝุ่น SEZ มาใช้ประโยชน์อีกครั้งจำเป็นต้องออกแบบนโยบายที่คำนึงถึงห่วงโซ่คุณค่าข้ามพรมแดนและการกระจายการผลิต ให้ไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้ประโยชน์ร่วมกัน หรือในรูปแบบของ ‘เมืองแฝดเขตเศรษฐกิจพิเศษคู่’ เพื่อเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาพื้นที่โดยใช้เศรษฐกิจนำ[18]สำนักข่าวชายขอบ. (18 เมษายน 2568). มุมมองของ ศ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ต่อแหล่งอาชญากรรมโลก ชเวโก๊กโก่-KK Park. โดยอาศัยศักยภาพของพื้นที่ เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม หรือภาคบริการมาเป็นโจทย์ในการดึงประสิทธิภาพท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์
ปราบทุนเทาอย่างเท่าทันด้วย Cybersecurity
เมื่อปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ปฏิบัติการแบบไร้พรมแดน การมุ่งปราบปรามฐานที่ตั้งบริเวณชายแดนไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ ดังปรากฏการปรับตัวของกลุ่มขบวนการที่สามารถวางกลยุทธ์และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว สามารถเคลื่อนย้ายฐานที่ตั้งได้ง่ายดาย ดังนั้นการใช้นโยบายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ระดับชาติจึงเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับรองรับอาชญากรรมในรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อชะลอธุรกรรมการเงินเพื่อตรวจสอบก่อนไปถึงมือมิจฉาชีพ หรือ ‘มาตรการหน่วงเงิน’ เป็นการยืดเวลาให้เหยื่อมีโอกาสตัดสินใจเพิ่มขึ้น และสถาบันการเงินสามารถตรวจสอบความผิดปกติของบัญชีก่อนอนุมัติจ่ายเงินให้บัญชีปลายทาง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมสุจริตของบุคคลทั่วไป สามารถออกแบบได้ว่าลักษณะการโอนเงินแบบใดที่ต้องหน่วงเงิน หรือการกำหนดวงเงิน และการพิจารณาความผิดปกติของบัญชีปลายทางโดยสถาบันการเงิน โดยหลายประเทศได้ใช้มาตรการหน่วงเงินมาเป็นกลไกชะลอความเสียหายจากการหลอกลวงออนไลน์ เช่น ออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร[19]กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์. (24 มกราคม 2568). หน่วงแค่โจร ไม่หน่วงเศรษฐกิจ: แนวทางลดลูกหลงของ ‘มาตรการหน่วงเงิน’. 101 PUB.
เปิดโอกาสท้องถิ่นสองประเทศร่วมบริหารชายแดน
บทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ชายแดนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับมือปัญหาความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม เนื่องจากทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการรายใหญ่-รายย่อย และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ชายแดนต่างเป็นผู้ที่รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาชายแดนและนโยบายจากส่วนกลาง รับรู้และเข้าใจสถานการณ์ปัญหาต่างๆ เป็นอย่างดี ดังนั้นการกำหนดนโยบายชายแดนควรส่งเสริมบทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับท้องถิ่นของทั้งสองประเทศในการกำหนดนโยบายชายแดน และการแก้ปัญหาเฉพาะของแต่ละพื้นที่ เช่น บทบาทของคณะกรรมการชายแดนไทย-เมียนมา (TBC) เป็นต้น ควบคู่กับการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมบริเวณชายแดนโดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น เช่น การส่งเสริมการค้าชายแดนและการสานต่อวัฒนธรรมประเพณีระหว่างประชาชนสองประเทศซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการรักษาความมั่นคง การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมชายแดนได้อย่างยั่งยืน อันนำมาซึ่งการลดอิทธิพลและบทบาทของกลุ่มธุรกิจสีเทา